บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

24 พฤษภาคม 2565

 

เศรษฐกิจของประเทศแกนหลักมีแนวโน้มเผชิญปัจจัยลบจากปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ ท่ามกลางความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่างตะวันตกกับชาติผู้นำในเอเชีย

 

จีนลดดอกเบี้ยเพื่อป้องกันเศรษฐกิจชะลอตัวแรง ขณะที่ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานอาจยังยืดเยื้อแม้ทางการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ในเดือนเมษายนอัตราการว่างงานแตะระดับ 6.1% สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ขณะที่ราคาบ้านเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% YoY ต่ำสุดในรอบกว่า 6 ปี

เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มอ่อนแอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่สำคัญ ล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันทยอยลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 5,500 รายจากที่เคยพุ่งเกินกว่า 32,000 ราย ทางการได้ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในนครเซี่ยงไฮ้โดยอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร รวมถึงสถาบันการเงินกลับมาเปิดบริการ หลังจากทยอยอนุญาตให้สถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมบางส่วนกลับมาผลิตได้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้มาตรการเข้มงวดดังกล่าวมีผลเชิงลบต่อกิจกรรมการผลิตกระทบตลาดแรงงานและการใช้จ่าย ขณะที่ปัญหาการขาดสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงกดดันจีน ความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการเติบโตเหล่านี้ ส่งผลให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปี ลงสู่ระดับ 4.45% เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ถือเป็นการปรับลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี สะท้อนความจำเป็นในการออกมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง

สำหรับมาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดนั้นได้ส่งผลให้ภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานรุนแรงขึ้น ทั้งในจีนรวมถึงหลายประเทศซึ่งยังต้องเผชิญผลกระทบจากสงครามในยูเครน ล่าสุดสหภาพยุโรปวางแผนคว่ำบาตรเพิ่มเติมโดยจะยุติการนำเข้าน้ำมันรัสเซียทั้งหมดภายใน 6 เดือน ด้านฟินแลนด์และสวีเดนได้ยื่นคำขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การนาโต้  สถานการณ์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อจะยิ่งสร้างปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานต่อไป



 

เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปท่ามกลางความเสี่ยงหลายด้าน  แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอย ในเดือนเมษายนยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 8.2% YoY ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 22 ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6.4% เติบโตต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2564 ล่าสุดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พฤษภาคม แตะระดับต่ำสุดในรอบ 63 ปี

ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง (เดือนเมษายนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 41 ปี) เศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีสัญญาณบวก ทั้งด้านการใช้จ่าย การผลิต และการจ้างงาน ซึ่งจะหนุนเฟดให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ล่าสุดประธานเฟดได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะดึงอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯสู่ระดับที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ แม้จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยดุลยภาพในระยะยาว (Neutral interest rate) วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับความไม่แน่นอนที่กดดันการเติบโตทั้งผลกระทบจากวิกฤตยูเครนที่ลากยาวและการล็อกดาวน์ในจีน แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอย เนื่องจากเครื่องชี้หลายตัวสะท้อนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจส่วนรวม


 

การฟื้นตัวของญี่ปุ่นอาจล่าช้าออกไป ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอกกดดันการส่งออกและภาวะเงินเฟ้อ GDP ไตรมาส 1/2565 กลับมาหดตัว 1.0% QoQ annualized ด้านการส่งออกเดือนเมษายนเติบโต 12.5% YoY ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปแตะระดับ 2.5% สูงสุดในรอบกว่า 7 ปี

ความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกทั้งวิกฤตยูเครนและการล็อกดาวน์ในจีนเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่ 2 สะท้อนจากการชะลอตัวของการส่งออก ขณะที่การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะลดทอนอำนาจซื้อและกดดันการบริโภคในระยะถัดไป แม้จะมีปัจจัยบวกจากการนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กที่ได้รับวัคซีน 3 เข็มในเดือนพฤษภาคมเพื่อเตรียมเปิดประเทศในเดือนมิถุนายนก็ตาม ขณะที่ความแตกต่างของนโยบายการเงินกับชาติตะวันตกสร้างความผันผวนต่อค่าเงินเยน ส่งผลให้พื้นที่ในการทำนโยบายมีจำกัด การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงยังคงช้าเมื่อเทียบกับประเทศแกนหลักอื่น



 


 

เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็ง ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอ่อนแอ อาจหนุนให้ทางการคงดอกเบี้ยนโยบายถึงสิ้นปี

 

การขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะช่วยลดทอนผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และพยุงความเชื่อมั่นของภาคอุตสากรรมที่อ่อนแอ  ในเดือนเมษายนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 86.2 จาก 89.2 เดือนมีนาคม รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 95.9 จาก 99.6 เดือนมีนาคม สาเหตุสำคัญจากความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากราคาวัดถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าขนส่ง ขณะที่กำลังซื้อในประเทศได้รับแรงกดดันจากภาวะค่าครองชีพที่สูงและปัญหาหนี้ครัวเรือน 

จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวนและปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตของทุกภาคอุตสาหกรรม ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและประชาชน ล่าสุดรัฐบาลอนุมัติขยายมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็น 5 บาท/ลิตร (จากเดิมลด 3 บาท/ลิตร สิ้นสุดวันที่ 20 พฤษภาคมนี้) มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม ถึง 20 กรกฎาคม 2565  เพื่อจะช่วยลดระดับราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงจนกระทบต่อภาระค่าครองชีพและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจากผลการประเมินของวิจัยกรุงศรีพบว่า หากกรณีมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลขึ้น 2 บาท/ลิตร จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อรวมสะสมใน 5 ไตรมาสเพิ่มขึ้น 0.49ppt จากกรณีฐาน และจะกระทบต่อ GDP ในอีก 3 ไตรมาสถัดไปลดลง  0.17ppt จากกรณีฐาน และหากมีการปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้น 5 บาท จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อรวมสะสมใน 5 ไตรมาสเพิ่มขึ้น 1.23 ppt จากกรณีฐาน และกระทบต่อ GDP ในอีก 3 ไตรมาสถัดไปลดลง  0.43 ppt จากกรณีฐาน
 


 

ไทยอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอกน้อยกว่าเพื่อนบ้าน อาจหนุนให้กนง.คงดอกเบี้ยในปีนี้เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังฟื้นช้า ล่าสุดผู้ว่าธปท.ชี้ว่ากนง. ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามเฟดซึ่งมีแนวโน้มเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดการพุ่งขึ้นเงินเฟ้อ  อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายและตลาดเงินผันผวน



วิจัยกรุงศรีคงคาดการณ์ว่ากนง. จะไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เนื่องจาก (i) แม้อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่เหนือกรอบเป้าหมาย แต่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อไม่ได้กระจายเป็นวงกว้าง โดยมีสัญญาณเล็กน้อยของแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นในภาคบริการ เนื่องจากอุปสงค์ยังคงอ่อนแอท่ามกลางตลาดแรงงานที่ซบเซา (ii) ไทยรองรับความเสี่ยงต่อผลกระทบจากภายนอกได้ดีกว่าบางประเทศ สะท้อนจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในอันดับที่เข้มแข็งรองจากไต้หวันและเกาหลี ซึ่งช่วยลดความกังวลเงินทุนไหลออก และ (iii) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปีนี้จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดการระบาด  โดย GDP ไตรมาสแรกของไทยเติบโตเพียง 2.2% YoY ซึ่งอ่อนแอกว่าเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาค นอกจากนี้ จากข้อมูลคาดการณ์ของ IMF พบว่าระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยตลอดทั้งปี 2565 จะยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด 1.5% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดแล้วราว 1.6-13.4%  ดังนั้น แม้จะมีแรงกดดันต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังอ่อนแอเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน จึงอาจมีผลต่อการปรับนโยบายของกนง. นอกจากนี้ สำหรับไทยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ไม่น่าจะช่วยบรรเทาเงินเฟ้อด้านอุปทาน และอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง


 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา