บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

05 เมษายน 2565

 

แนวโน้มการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักมีความแตกต่างกัน ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่

 

อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯที่เพิ่มตามราคาพลังงานเผชิญปัจจัยกดดันจากค่าจ้างที่อาจซ้ำเติมสถานการณ์ให้รุนแรงขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) เพิ่มขึ้น 5.4% YoY สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี ส่วนในเดือนมีนาคมค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงเพิ่มสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปีที่ 5.6% ขณะที่อัตราการว่างงานแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดที่ 3.6% ล่าสุดจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มีนาคมลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2513 ที่ 1.307 ล้านราย

ตลาดแรงงานของสหรัฐฯยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอัตราค่าจ้างที่เพิ่มต่อเนื่องและสูงขึ้นกว่าคาด สร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อเป็นวงจรต่อเนื่อง (Wage-price spiral) รวมถึงราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นจากความตึงเครียดของสงครามยูเครนยิ่งส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น ซึ่งจะหนุนเฟดให้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในเดือนพฤษภาคม โดยอาจเห็นการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยสะสมทั้งหมดประมาณ 200 bps ภายในสิ้นปีนี้ ด้านแรงกดดันที่เกิดจากการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับอัตราดอกเบี้ยแรงและเร็วกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเพิ่มสู่ระดับที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Inverted yield curve) และสร้างความกังวลว่าอาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ทั้งนี้ จากข้อมูลย้อนหลังถึงปี 2508 พบว่ามีเหตุการณ์ Inverted yield curve 8 ครั้ง แต่เกิดภาวะถดถอยภายใน 1 ปี เพียง 3 ครั้ง จีงชี้ว่าไม่จำเป็นที่จะเกิดภาวะถดถอยเสมอไป


 

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกอาจเพิ่มทั้งจากความตึงเครียดในยูเครนและปัญหาการระบาดในจีน ในยูโรโซนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมีนาคมลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนที่  56.5 ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีนาคม 2564 ที่ 108.5 ส่วนอัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.5% สำหรับจีนนั้นดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตเดือนมีนาคมปรับตัวลงต่ำกว่า 50 (สะท้อนการหดตัว) อีกครั้งในรอบ 7 เดือน สู่ระดับ 48.8 โดยค่า PMI ทั้งภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตต่างปรับลงสู่แดนหดตัวพร้อมกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563

เศรษฐกิจของประเทศแกนหลักทั้งยูโรโซนและจีนกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการเติบโต โดยในยูโรโซนนั้นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้บั่นทอนความเชื่อมั่น ภาคการผลิตและการใช้จ่าย ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวและอาจสร้างความยุ่งยากในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ (Policy dilemma) ส่วนในจีนสถานการณ์โรค COVID-19 รวมถึงนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดที่แม้จะยืดหยุ่นขึ้นแต่ยังมีความเข้มงวดมากหากเทียบกับหลายประเทศนั้นได้สร้างผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจเนื่องจากมีการล็อคดาวน์ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญทั้งกวางโจว เซินเจิ้น และเซี่ยงไฮ้ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 8.9% ของ GDP ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งจากวิกฤตยูเครนและการระบาดในจีนส่งผลให้ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานของโลกรุนแรงขึ้น คาดว่าภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานโลกอาจลากยาวต่อเนื่องถึงปี 2566



 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากวิกฤตยูเครน ในเดือนกุมภาพันธ์อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 2.7% ดีกว่าตลาดคาด ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 0.2% YoY ส่วนในเดือนมีนาคมดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564

แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากการยกเลิกมาตรการกึ่งภาวะฉุกเฉิน แต่ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลงในเดือนมีนาคมสะท้อนความกังวลต่อผลกระทบของวิกฤตยูเครนต่อญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานโดยมีสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 31% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมด รวมทั้งปัญหาการชะงักงันของอุปทานจากปัจจัยดังกล่าว ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับปัญหาส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรเมื่อเทียบกับสหรัฐฯที่ส่งผลให้นักลงทุนปรับลดการถือครองพันธบัตรญี่ปุ่น โดยธนาคารกลางญี่ปุ้น (BOJ) ได้เข้ามาเสนอซื้อพันธบัตรโดยไม่จำกัดจำนวน เพื่อคงมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield curve control) สะท้อนถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อหนุนเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวต่อเนื่องท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น


 

 

วิจัยกรุงศรีคงคาดการณ์กนง.จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตลอดทั้งปี เพื่อหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความเปราะบางท่ามกลางแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ

 

เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ได้แรงหนุนจากภาคส่งออกที่เติบโตดี ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศชะลอลงเล็กน้อย โดยมูลค่าการส่งออกกลับมาเติบโตในอัตราเลขสองหลัก (+16% YoY) ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม จากการกลับมาเปิดลงทะเบียนเข้าประเทศผ่านระบบ Test & Go  ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์  ส่วนการใช้จ่ายในประเทศ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเติบโตชะลอลง (+2.3% จาก 5.0%) เป็นผลจากสถานการณ์การระบาดในประเทศที่กลับมารุนแรงขึ้น ประกอบกับราคาพลังงานและราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้น บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลง อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐยังเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยพยุงการใช้จ่ายภาคครัวเรือน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง (+4.3% จาก 7.8%) ตามการลดลงของการนำเข้าสินค้าทุนเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนภาคก่อสร้างค่อนข้างทรงตัว



 

แม้ในช่วงต้นปีเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว แต่ในระยะข้างหน้ายังมีปัจจัยลบทั้งจากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโอมิครอนในไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจกดดันความเชื่อมั่นและกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ปัจจัยภายนอกจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอนและอาจยืดเยื้อในไตรมาส 2_กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะยุโรป จึงอาจส่งผลต่อ (i) การค้าระหว่างประเทศจากความต้องการสินค้าและบริการชะลอลง ปัญหาหรืออุปสรรคในการขนส่ง รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานของสินค้าบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย (ii) ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น กระทบต่อทั้งต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ และค่าครองชีพของประชาชนบั่นทอนการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน


 

กนง.ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เล็กน้อย แต่ปรับเพิ่มเงินเฟ้อสูงเหนือกรอบเป้าหมาย วิจัยกรุงศรีคาดดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวที่ 0.50% ตลอดทั้งปี การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) (วันที่ 30 มีนาคม) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง ล่าสุดกนง.ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2565 เติบโต 3.2% จากเดิมคาด 3.4%  เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการปรับขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของปีนี้ กนง.ได้ปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้นเป็น 4.9% จากเดิมคาด 1.7% ผลจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นสำคัญ

แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้มีแนวโน้มสูงเกินกรอบเป้าหมาย (1-3%)  วิจัยกรุงศรียังคงคาดการณ์ว่ากนง.จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.50% ตลอดจนถึงสิ้นปี เนื่องจาก (i) อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำจากรายได้ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว (ii) การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่วนใหญ่กระจุกตัวในหมวดพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลักซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นชั่วคราว   (iii) อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย ขณะที่กนง.ระบุว่า “แม้เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูงกว่า 5% ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ปี 2565 แต่จะทยอยปรับลดลงและจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงต้นปี 2566”   และ (iv) ถ้อยแถลงของกนง.ระบุว่า ”ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ” โดยจากประมาณการ GDP ล่าสุดของธปท.ที่ 3.2% ประเมินว่าระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเท่ากับก่อนเกิดการระบาด Covid-19_ได้อาจเป็นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า




Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา