บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

30 มกราคม 2567

ความหวังเรื่อง soft-landing ชัดเจนมากขึ้นในสหรัฐ ส่วน BOJ ส่งสัญญาณใกล้ยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบ


สหรัฐ

เศรษฐกิจสหรัฐที่ขยายตัวดีกว่าคาดและเงินเฟ้อที่ชะลอตัว หนุนภาพการชะลอตัวแบบ soft-landing ในปี 2567 โดยดัชนี PMI เบื้องต้น (Flash PMI) ภาคการผลิตในเดือนมกราคมอยู่ที่ 50.3 พลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน ส่วนดัชนี PMI เบื้องต้นภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.9 สูงสุดในรอบ 7 เดือน สำหรับตัวเลขประมาณการครั้งแรกของ GDP ไตรมาส 4/2566 ขยายตัว 3.3% QoQ สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 2.0% ด้านเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี Headline PCE ทรงตัวที่ 2.6% YoY ในเดือนธันวาคม ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจาก Core PCE ชะลอตัวลงสู่ระดับ 2.9% YoY จากเดือนก่อนที่ 3.2%

แม้ตลาดมีความคาดหวังต่อการเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มากขึ้นหลังดัชนี PCE พื้นฐานของสหรัฐชะลอตัวลงมากกว่าคาดในเดือนธันวาคมและต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 อย่างไรก็ตาม จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การบริโภค รวมถึงตัวเลขการจ้างงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ประกอบกับผลกระทบจากความตึงเครียดในทะเลแดง คาดส่งผลให้เงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งสอดคล้องกับภาพเศรษฐกิจที่คาดเป็น soft-landing ในปีนี้ ดังนั้น วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะไม่เร่งรีบในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อป้องกันเงินเฟ้อที่อาจกลับมาเร่งตัวสูงขึ้น โดยประเมินว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% จนถึงกลางปีนี้ก่อนเริ่มปรับลดในช่วงต้นไตรมาส 3/2567



 

ญี่ปุ่น

ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยลดลงหลังยอดส่งออกในไตรมาส 4/2566 ออกมาดีกว่าคาด ในเดือนธันวาคม ยอดส่งออกจากญี่ปุ่นโต 9.8% YoY สูงสุดในรอบ 1 ปี จากที่หดตัว -0.2% ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนยอดนำเข้าลดลง -6.8% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 6.2 หมื่นล้านเยน ขณะที่ในเดือนมกราคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงสู่ระดับ 1.6% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน จากเดือนก่อนที่ 2.4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ระดับ 1.6% จากเดือนก่อนที่ 2.1%

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ส่งสัญญาณใกล้ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบจากแนวโน้มเงินเฟ้อระยะยาวที่คาดกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% ผ่านแนวโน้มค่าจ้างแรงงานที่ปรับขึ้นซึ่งจะผลักดันให้ราคาสินค้าและบริการขึ้นตาม นอกจากนี้ ยอดส่งออกที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2566 ที่ปรับขึ้นสู่ระดับ 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาส 4/2566 ได้ ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า BOJ จะเริ่มพิจารณาออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-loose policy) หรือยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบภายในครึ่งแรกของปีนี้



 

จีน

ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยบางประเภท และอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย คาดช่วยพยุงเศรษฐกิจระยะสั้น ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย re-lending และ re-discount สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจด้านเกษตรกรรมเหลือ 1.75% จากเดิม 2% โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 25 มกราคม รวมถึงลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายลง 50 bps ซึ่งเป็นการปรับลดมากสุดในรอบ 2 ปี จากอัตราเฉลี่ยในเดือนธันวาคมที่ 7.4% โดยมีผลบังคับใช้วันที่ 5 กุมภาพันธ์ นอกจากนี้  PBOC จะอนุญาตให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ใช้อสังหาฯเชิงพาณิชย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินจากธนาคาร เพื่อให้บริษัทดังกล่าวนำเงินไปชำระหนี้สิน สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของจีนเริ่มกระเตื้องภายหลังลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี เมื่อวันที่ 22 มกราคม

การลดอัตราดอกเบี้ย re-lending และ re-discount ประกอบกับการลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย ซึ่งจะอัดฉีดเงินเข้าระบบ 1 ล้านล้านหยวน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ เมื่อประกอบกับมาตรการทางการคลังอื่น ๆ อาทิ Special Sovereign Bond คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง และจะส่งผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น ท่ามกลางวิกฤตในภาคอสังหาฯและความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจที่อ่อนแอ รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง (เช่น ภาระหนี้ที่สูง เป็นต้น)

 



 

การส่งออกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตเล็กน้อยหลังจากหดตัวในปีก่อน ขณะที่คลังปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 แต่ประเมินองค์ประกอบหลักของ GDP ปรับดีขึ้น


มูลค่าส่งออกเดือนธันวาคมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 คาดส่งออกในปีนี้จะพลิกโตได้ 2.5% หลังจากที่หดตัว 1% ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนธันวาคมอยู่ที่  22.8 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.7% YoY และหากหักสินเค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าส่งออกขยายตัวเหลือ 2.1% โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ น้ำตาลทราย (+43.2%)ข้าว (+27.4%) ยางพารา (+13.2%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วน  ประกอบ (+4.3%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+3.9%) และเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+2.5%) ด้านตลาดส่งออกพบว่าขยายตัวในตลาดสหรัฐ (+0.3%) จีน (+2.0%) และอาเซียน5   (+18.0%) ส่วนตลาดที่หดตัว อาทิ ญี่ปุ่น (-3.7%) สหภาพยุโรป (-5.3%) และ CLMV (-9.4%) สำหรับการส่งออกทั้งปี 2566 มีมูลค่ารวม 284.6 พันล้านดอลลาร์ หดตัว 1.0% เทียบกับปี 2565 ที่มูลค่า 287.4 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.7%

การส่งออกของไทยที่ทยอยกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2566 สอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกของหลายๆ ประเทศในเอเชียที่ปรับดีขึ้น    วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปี 2567 อาจจะกลับมาขยายตัวได้ราว 2.5% ปัจจัยหนุนจากการบรรเทาของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการขยายตัวของการค้าโลก โดยองค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ปริมาณการค้าโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.3% จากเติบโตเพียง 0.8% ในปี 2566 นอกจากนี้ ยังมีผลบวกจากปัจจัยเฉพาะ เช่น วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ความต้องการสินค้าเกษตรเพื่อรองรับความมั่นคงทางอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค (Regionalization) อย่างไรก็ตาม คาดว่าการขยายตัวของการส่งออกยังกระจุกตัวในบางกลุ่มสินค้า (ยังไม่ฟื้นตัวแบบ broad –based) ขณะเดียวกันยังเผชิญกับปัจจัยลบจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้าและเพิ่มความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า



 

สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1.8% แต่ปรับเพิ่มคาดการณ์การบริโภคการลงทุนภาคเอกชน และดุลการค้า ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 และ 2567 โดยคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 1.8% และ 2.8% (ไม่รวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต) ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากเดือนตุลาคม 2566 ที่เคยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 2.7% และ 3.2% ตามลำดับ สาเหตุสำคัญจากสศค.ประเมินว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดอยู่มาก เนื่องจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์  ขณะเดียวกันด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตที่ 4.4% (รวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต) จากคาดการณ์ปี 2566 ขยายตัวที่ 2.5%  

จากการประเมิน GDP ปี 2566 ของสศค.  ว่าจะเติบโตที่ 1.8% ยังคงเป็นตัวเลขคาดการณ์โดยอาศัยข้อมูลจริงที่มีอยู่ถึง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 และหากพิจารณารายละเอียดในการปรับประมาณการเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของสศค.แล้ว จะพบว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ของ GDP ในปี 2566 มีการปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในครั้งก่อนหน้า (ตุลาคม 2566) อาทิ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัด (ดังตาราง) ทั้งนี้ การประเมินแรงส่งต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงยังคงต้องรอติดตามข้อมูลจริงอย่างเป็นทางการจากทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งจะเปิดเผยตัวเลข GDP ใน Q4/2566 และทั้งปี 2566 รวมทั้งองค์ประกอบหลักของ GDP ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้

 

 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา