บทวิเคราะห์เศรษฐกิจประจำสัปดาห์

เศรษฐกิจมหภาค

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินประจำสัปดาห์

04 ธันวาคม 2566

ข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศสำคัญส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 ตัดลดความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย


สหรัฐ

ตลาดลดน้ำหนักภาวะ higher for longer ของดอกเบี้ยสหรัฐลงจากช่วงก่อนหน้า จากตัวเลขเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคม ดัชนีราคา PCE ชะลอลงสู่ 3.0% YoY จากเดือนก่อนที่ 3.4% ส่วนดัชนีราคา Core PCE ชะลอลงสู่ 3.5% YoY จากเดือนก่อนที่ 3.7% ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จัดทำโดย ISM อยู่ที่ 46.7 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และดัชนี PMI ภาคการผลิตที่จัดทำโดย S&P Global ลดลงสู่ 49.4 จาก 50.0 นอกจากนี้ นายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดสายเหยี่ยว ระบุว่านโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเข้มงวดมากเพียงพอต่อการชะลอเศรษฐกิจสหรัฐและสามารถนำเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ได้ โดยไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม

การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีทิศทางชะลอตัวจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นภายใต้สภาวะเงินออมภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับต่ำและค่าจ้างที่โตช้าลง สอดคล้องกับ Beige Book ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีสัญญาณชะลอตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น ด้านความเห็นของประธานเฟดล่าสุดระบุว่าเฟดจำเป็นต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยต้องสร้างความสมดุลในการดำเนินนโยบายการเงินไม่ให้คุมเข้มหรือผ่อนคลายมากเกินไป ทั้งนี้ จากเหตุผลข้างต้นรวมถึงแนวโน้มเงินเฟ้อที่คาดว่าจะชะลอลงต่อ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.25-5.50% จนถึงกลางปี 2567

 

 

ยูโรโซน

โอกาสที่ยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาส 4 ยังอยู่ในระดับสูง หลังเครื่องชี้ต่างๆ สะท้อนว่าเศรษฐกิจอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ในเดือนตุลาคม การขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนชะลอจากเดือนก่อนที่ 0.8% YoY ลงมาที่ 0.6% สอดคล้องกับปริมาณเงิน M3 ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ -1.0% จากผลของนโยบายการเงินตึงตัว ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอจาก 2.9% ลงมาที่ 2.4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอจาก 4.2% ลงมาที่ 3.6% ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 นอกจากนี้ ดัชนี HCOB PMI ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 44.2 จากเดือนก่อนที่ 43.1 ทำระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน แต่ยังอยู่ในโซนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16

เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในวงกว้างบ่งชี้ถึงโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยของยูโรโซนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีปัจจัยกดดันหลักมาจาก (i) ภาวะตึงตัวทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง (ii) การส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึง (iii) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่คาดว่าจะทยอยลดลงต่อในปีหน้าภายใต้ตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยลดทอนผลกระทบเชิงลบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงและช่วยให้การหดตัวของเศรษฐกิจไม่รุนแรง (mild recession) ทั้งนี้ จากเหตุผลดังกล่าว วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายไปแล้วในการประชุมเดือนตุลาคมที่ผ่านมาและมีแนวโน้มคงไว้ที่ระดับ 4.00% ยาวไปจนถึงช่วงไตรมาส 2 ของปี 2567
 


 

จีน

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญความไม่แน่นอน ขณะที่การเติบโตภาคบริการอ่อนแอสุดนับตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศ จากผลสำรวจของ Caixin และ S&P Global ระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 50.7 ในเดือนพฤศจิกายน จาก 49.5 ในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม สวนทางกับการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิต ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับ 49.4 จาก 49.5 อีกทั้งดัชนี PMI ภาคบริการยังลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ที่ระดับ 50.2 จาก 50.6   

เครื่องชี้ดังกล่าวสะท้อนว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเกิดขึ้นในบางกลุ่มและการเติบโตยังอ่อนแอ โดยภาคการผลิตของธุรกิจขนาดกลางและเล็กเริ่มฟื้นตัวตามแรงหนุนของมาตรการภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของธุรกิจขนาดใหญ่กลับหดตัว ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ด้านกำไรของภาคอุตสาหกรรมชะลอลงแรงสู่ 2.7% YoY ในเดือนพฤศจิกายนจาก 11.9% ในเดือนตุลาคม โดยในช่วง 10 เดือนแรก กลุ่มที่กำไรเพิ่มขี้น ได้แก่ ไฟฟ้าและพลังงาน เครื่องจักร และอุตสาหกรรมทั่วไป ส่วนกลุ่มที่กำไรลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี  วัตถุดิบ ถ่านหินและปิโตรเลียม และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ธุรกิจในภาคบริการเริ่มสูญเสียแรงส่งจากการเปิดประเทศท่ามกลางการหดตัวของคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ ล่าสุด The Economist ระบุว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญภาวะ Long-Covid และผลกระทบจากโควิดยังคงสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจอีกนาน




 

สิ้นสุดวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้นหลังกนง.มีมติคงไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีที่  2.50% ขณะที่ธปท.ระบุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีสัญญาณดีขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศ


กนง.คงดอกเบี้ยไว้ที่ 2.50% ชี้เป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ด้านวิจัยกรุงศรีคาดมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยไว้ตลอดทั้งปี 2567 การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50%  โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เป็นขยายตัว 2.4% และ 3.8% ในปี 2567 (กรณีรวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต) จากเดิมคาด 2.8% และ 4.4% ตามลำดับ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ปรับลดคาดการณ์ลงอยู่ที่ 1.3% ในปี 2566 และ 2.2% ในปี 2567 (เดิมคาด 1.6% และ 2.6%) เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลงอยู่ที่ 1.3% ในปี 2566 และ 1.5% ในปี 2567 (เดิมคาด 1.4% และ 2.0%) นอกจากนี้ ยังได้มีการประเมินกรณีไม่นับรวมดิจิทัลวอลเล็ต โดยคาด  GDP ปี 2567 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.2% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ที่ 2.0% และ 1.2% ตามลำดับ

ล่าสุดแม้กนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามคาด แต่การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ตลาดเริ่มมีการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีมีมุมมองว่ากนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ตลอดทั้งปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากถ้อยแถลงของกนง.ในครั้งล่าสุดซึ่งระบุว่า (i) “เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก”  (ii) “อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปัจจุบันที่ลดลงเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในปี 2567” และ (iii) “อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่กำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้อยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวและช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า”

 



 

อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นในเดือนตุลาคม ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีเติบโตต่อเนื่อง ธปท.รายงานเศรษฐกิจโดยรวมเดือนตุลาคมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (+1.7% MoM sa vs -1.3% เดือนกันยายน) สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น (+1.4% vs -1.6%) ทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง ขณะที่กิจกรรมในภาคบริการชะลอลงบ้างตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ปรับฤดูกาลออกแล้วลดลงในเดือนตุลาคม หลังจากเร่งไปมากในเดือนก่อน (-1.4% vs +4.8%)  ส่งผลให้การผลิตภาค อุตสาหกรรมยังซบเซาต่อเนื่อง 

วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นใกล้ระดับ 4% YoY จากเติบโตเพียง 1.5% ใน 3Q โดยมีแรงหนุนจาก (i) ภาคท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นและได้อานิสงส์จากมาตรการยกเว้นการทำวีซ่า (Visa-Free Scheme) แก่นักท่องเที่ยวหลายประเทศ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติใน 4Q คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ 7.5 ล้านคน เทียบกับ 7 ล้านคนใน 3Q (ii) การกระเตื้องขึ้นของภาคส่งออก โดยคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ราว 7% YoY ใน 4Q จาก -2% ใน 3Q ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารยังเติบโตและกำลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี    ประกอบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ซึ่งจีนมีการล็อคดาวน์) และ (iii) ผลเชิงบวกจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ทั้งทางด้านค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการเดินทาง รวมถึงมาตรการพักหนี้เกษตรกร  


Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา