Sustainable Tourism จับตาการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ใส่ใจความยั่งยืน 

Sustainable Tourism จับตาการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ใส่ใจความยั่งยืน

10 กันยายน 2567

บทสรุปผู้บริหาร

 

การขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นในหลายๆ ประเทศ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ปัจจุบันรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก โดยมีปัจจัยหนุนจากความตื่นตัวด้านความยั่งยืนของผู้บริโภค และเป้าหมายการมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในหลายด้าน ได้แก่ การพัฒนาต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ต่างๆ การผลักดันให้ภาคธุรกิจ ’วัด-ลด-ชดเชย’ การปล่อยคาร์บอน รวมถึงการสนับสนุนการขอรับรองมาตรฐานความยั่งยืน อย่างไรก็ดี แม้ธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจขนส่ง จะมีโอกาสขยายตลาดเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจความยั่งยืน แต่ขณะเดียวกันก็เผชิญแรงกดดันให้ต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจภายใต้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เข้มงวดขึ้น

 

“การท่องเที่ยว” เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่มาพร้อมกับผลกระทบ

 

ภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยและสร้างงานให้กับคนไทยจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 ความน่าดึงดูดของแหล่งท่องเที่ยวไทยท่ามกลางการแข่งขันกับประเทศอื่น การพึ่งพานักท่องเที่ยวจากบางประเทศมากเกินไป และการเปิดรับนักท่องเที่ยวจนเกินระดับที่เหมาะสม (Overtourism) โดยเฉพาะปัญหา Overtourism ที่ส่งผลต่อคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น1/ โดยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในโลก เช่น อ่าวมาหยาของไทย2/ เกาะซิปาดันของมาเลเซีย และเกาะโบรากาของฟิลิปปินส์ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากเกินไปจนต้องปิดรับนักท่องเที่ยวชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวที่เน้นรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากพร้อมๆ กัน (Mass Tourism) โดยไม่ได้ใส่ใจประเด็นความยั่งยืนนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ดังนี้
 

มิติสิ่งแวดล้อม
 

ภาคการท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ในปี 2562 กิจกรรมการท่องเที่ยวรวมกันทั้งโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 3.9-5.4 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือราว 8-11% ของปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ทั้งโลก โดยประมาณครึ่งหนึ่งมาจากกิจกรรมการเดินทาง รองลงมา ได้แก่ ร้านขายสินค้าต่างๆ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นแหล่งที่มาของอาหาร และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เช่น การนำเที่ยว การจัดการการเดินทาง (ภาพที่ 1) ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมปล่อยคาร์บอนราว 6% ของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ธุรกิจการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น สนามบิน ท่าเรือ และที่พัก ต่างส่งผลให้ปริมาณคาร์บอนจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย



 

จะเห็นได้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นจากทุกกิจกรรมในภาคการท่องเที่ยว เริ่มตั้งแต่การเดินทาง การเข้าพักในโรงแรม ไปจนถึงการบริโภค และการจัดการขยะหลังบริโภค

  • การเดินทาง: การปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางมีสัดส่วนมากที่สุดในภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการเดินทางด้วยเครื่องบินซึ่งปล่อยคาร์บอนโดยรวมสูงที่สุด ตามมาด้วยการขนส่งทางถนน ในขณะที่การขนส่งทางน้ำและทางรางปล่อยคาร์บอนในสัดส่วนน้อยกว่า ทั้งนี้ การปล่อยคาร์บอนส่วนใหญ่จากการเดินทางเป็นการปล่อยทางตรง (Scope 1) จากการใช้น้ำมัน (ภาพที่ 2) แต่หากพิจารณาการปล่อยคาร์บอนต่อผู้โดยสาร (Carbon emission per passenger) แล้ว การเดินทางด้วยเครื่องบินและเรือมีปริมาณการปล่อยคาร์บอนต่อผู้โดยสารมากที่สุด เนื่องจากยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักและเผชิญต้นทุนสูงกว่าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด


 
  • การพักแรม: สำหรับธุรกิจโรงแรมแล้ว การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญเป็นการปล่อยทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Scope 2) โดยเฉพาะจากการใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ รวมถึงพลังงานไฟฟ้าและความร้อน อย่างไรก็ตาม ปริมาณคาร์บอนส่วนใหญ่มาจากการปล่อยทางอ้อมของกิจกรรมเกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน (Scope 3) เช่น การกำจัดของเสีย การจัดการอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้หากพิจารณาข้อมูลจาก Cornell Hotel Sustainability Benchmarking Index3/ ในปี 2567 จะพบว่า โรงแรมทั่วโลกปล่อยคาร์บอนโดยเฉลี่ย 0.026 ตันต่อห้องที่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก (tCO2e/Occupied Room) โดยห้องพักในยุโรปและอเมริกามีความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนต่ำกว่าในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศฝั่งตะวันตกใช้พลังงานหมุนเวียนในธุรกิจโรงแรมมากกว่า (ภาพที่ 3)



 
  • การบริโภคและการจัดการขยะ: อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มปล่อยคาร์บอนราว 10% ของภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการบริโภคอาหารก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ราว 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลกยังถูกทิ้งให้เป็นขยะอาหาร (Food Waste)4/ ซึ่งธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดขยะอาหารมากที่สุด เห็นได้จากโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่ทิ้งอาหารราว 50 กิโลกรัมต่อการให้บริการบุฟเฟ่ต์ 1 ครั้ง5/ ทั้งนี้ หากขยะอาหารไม่ได้ถูกนำไปกำจัดอย่างเหมาะสม และถูกทิ้งในหลุมฝังกลบ จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) สูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า6/ นอกจากนี้ กิจกรรมการท่องเที่ยวยังส่งผลให้การใช้พลาสติกเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งขยะพลาสติก และขยะบรรจุภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวทั่วโลกทำให้ปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรเพิ่มขึ้นปีละ 8 ล้านตัน7/  

 

ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็สร้างผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเช่นกัน ตัวอย่างเช่น 60% ของรีสอร์ทบริเวณชายฝั่งทะเลแคริบเบียนต้องเผชิญความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้รูปแบบการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป โดยนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการเดินทางในฤดูร้อน และเลือกไปเที่ยวเมืองที่มีอากาศเย็นแทนเมืองร้อน นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังทำให้ปริมาณหิมะบนเทือกเขาแอลป์ลดลง 8.4% ต่อทศวรรษ ซึ่งส่งผลต่อแหล่งท่องเที่ยวประเภทสกีรีสอร์ทอีกด้วย8/

เมื่อหันกลับมามองที่ไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ประเมินว่า ผลกระทบของภาวะโลกรวนต่อการท่องเที่ยวในไทยจะแตกต่างกันไปตามภูมิภาค โดยคาดว่าในช่วงปี 2563-2572 ภาคใต้บริเวณชายฝั่งอันดามันจะมีฤดูฝนสั้นลงซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณน้ำจืด ส่วนฝั่งอ่าวไทยจะมีฝนตกมากขึ้น ซึ่งจะกระทบการท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีความเสี่ยงด้านน้ำท่วมจากปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้น ในขณะที่บริเวณภาคเหนือจะมีจำนวนวันที่อากาศเย็นลดลงซึ่งส่งผลต่อจุดเด่นด้านสภาพอากาศที่เป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยว9/ และท้ายที่สุด แหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเผชิญความเสี่ยงด้านภัยแล้งเป็นสำคัญ10/


มิติสังคมและชุมชน
 

แม้ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแหล่งการจ้างงานและสร้างรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น แต่การขยายตัวของกิจกรรมการท่องเที่ยวอาจส่งผลกระทบต่อสังคมในด้านต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและค่านิยม อาทิ วิถีชีวิต การแต่งกาย และอาหาร ซึ่งเป็นผลจากการเปิดเมืองเพื่อรับนักท่องเที่ยว จนอาจทำให้สูญเสียเอกลักษณ์บางประการได้ การทำลายมรดกทางวัฒนธรรม อาทิ โบราณสถาน ประเพณี และภูมิปัญญา ความขัดแย้งระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากนักท่องเที่ยวที่ไม่เคารพธรรมเนียมและวัฒนธรรมคนท้องถิ่น อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของเมืองท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นด้านการคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร เป็นภาคส่วนหนึ่งที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor Intensive) จึงอาจพบการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ หรือแรงงานชั่วคราวที่ได้รับค่าจ้างและมีสภาพการทำงานที่ไม่เป็นธรรม

ดังที่ได้เห็นแล้วว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกนำมาทั้งรายได้และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จึงเป็นที่มาของแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลเชิงบวกจากกิจกรรมการท่องเที่ยว 
 

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคืออะไร และทำไมต้องให้ความสำคัญ


รู้จักการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) คือแนวคิดการท่องเที่ยวที่มุ่งลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม พร้อมๆ กับสร้างความพึงพอใจและประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น โดยแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อาจประกอบไปด้วย 3 มิติหลัก ดังนี้ (ภาพที่ 4)

  • มิติสิ่งแวดล้อม เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรและความหลากหลายทางธรรมชาติ การใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะและของเสียอย่างเหมาะสม การลดปริมาณพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastic) การเดินทางที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

  • มิติสังคม เช่น การให้ความสำคัญและเคารพวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

  • มิติเศรษฐกิจ เช่น การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม การสร้างอาชีพและรายได้แก่ชุมชน และการขจัดความยากจน



นอกจากการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแล้ว ยังมีแนวคิดการท่องเที่ยวอื่นๆ ที่คล้ายกัน โดยมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) การท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟู (Regenerative Tourism) ซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวเหล่านี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้นในปัจจุบัน


ทำไมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงมีความสำคัญ


1) จากตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche) สู่ตลาดใหญ่ (Mass)

ก่อนหน้านี้ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนถือเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) สำหรับผู้ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือชุมชน แต่ตลาดดังกล่าวเติบโตอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพสูงพอที่จะได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก (Mass Market) โดย Future Market Insights คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2567-2577 ตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 20% ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ (Nature-based Tourism) มีแนวโน้มครองส่วนแบ่งเกิน 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดในปี 256711/

การเติบโตของตลาดการท่องเที่ยวยั่งยืน ได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ใส่ใจความยั่งยืนมากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจของ Booking.com12/ ในปี 2567 ที่พบว่า นักท่องเที่ยว 3 ใน 4 ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นภายในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยเกินกว่าครึ่งตั้งใจลดการใช้พลังงานและเลือกการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งกว่า 40% ของนักท่องเที่ยวยังรู้สึกผิดเมื่อเลือกวิธีการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนน้อยกว่า สอดคล้องกับผลสำรวจของ Agoda13/ ที่พบว่านักท่องเที่ยวในเอเชียเกือบ 4 ใน 5 คนให้ความสำคัญและยินดีเลือกแพ็คเกจการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในขณะที่คนไทยกว่า 84% เต็มใจที่จะท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เห็นได้จากผลสำรวจของ Euromonitor International14/ ในปี 2566 ที่พบว่าเกือบ 80% ของนักท่องเที่ยวยินดีที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


2) โลกมุ่งสู่ความยั่งยืน ภาคการท่องเที่ยวก็เช่นกัน

เป้าหมายด้านความยั่งยืนในเวทีโลกมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นฉันทามติการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการมุ่งไปสู่ Net Zero ในปี 2593 (ค.ศ. 2050)15/ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวเองจำเป็นต้องปรับตัวตามกระแสของโลก ในฐานะที่เป็นทั้ง
ผู้มีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกรวนและยังเป็นผู้รับผลกระทบอีกด้วย
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นมิติสำคัญภายใต้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (The 2030 Agenda for Sustainable Development)16/ ดังนั้น ที่ผ่านมาเราจึงเห็นการผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยหน่วยงานระหว่างประเทศ อาทิ องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Tourism) ที่ริเริ่มโครงการต่างๆ เช่น โครงการลดพลาสติกจากการท่องเที่ยว (Global Tourism Plastics Initiative) ซึ่งมีองค์กรกว่า 200 แห่งทั่วโลกได้ลงนามเพื่อมุ่งสู่การเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และโครงการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของธุรกิจโรงแรมในยุโรป (Hotel Energy Solutions)17/ สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) ที่กำหนดหลักเกณฑ์และรับรองมาตรฐานความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว โรงแรม และบริษัทนำเที่ยวทั่วโลก18/ นอกจากนี้ หลายๆ ประเทศได้ผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนผ่านนโยบายระดับประเทศ เช่น ภูฏาน ที่เก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวคนละ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อคืน เพื่อนำไปใช้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม รวมถึงปลูกป่าเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน19/ และ โครเอเชีย ที่บังคับใช้กฎหมายการท่องเที่ยวฉบับใหม่ในปี 2567 เพื่อลดปัญหา Overtourism และกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่แหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องถิ่น20/
 


สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทย
 

ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทย
 

แม้ภาคการท่องเที่ยวของไทยในภาพรวมจะยังแข่งขันได้ในเวทีโลก แต่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยยังคงตามหลังหลายประเทศอยู่ พิจารณาจากผลการจัดอันดับด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว (Travel and Tourism Development Index) ของ World Economic Forum (WEF) ในปี 2567 ที่ในภาพรวมไทยอยู่ในอันดับที่ 47 จาก 119 ประเทศ โดยเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย (ภาพที่ 5) แต่นับว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยในปีนี้ลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2562 และ 2564 ที่ได้อันดับที่ 41 และ 35 ของโลก ตามลำดับ และที่สำคัญ ไทยยังทำผลงานได้ไม่ดีนักในมิติความยั่งยืนของการท่องเที่ยว21/ โดยได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน เอเชียแปซิฟิก และโลก ในขณะที่ประเทศในยุโรป และอเมริกาเป็นผู้นำในด้านดังกล่าว ข้อค้นพบข้างต้น สอดคล้องกับผลการจัดอันดับด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Travel Index Ranking) ของ Euromonitor International ในปี 2565 ที่ไทยค่อนข้างรั้งท้าย โดยอยู่ในอันดับที่ 80 จาก 99 ประเทศ ขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปยังคงเป็นผู้นำ โดยเฉพาะ 3 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน ฟินแลนด์ และออสเตรีย



 

หากเจาะลึกลงไปในมิติความยั่งยืนจากรายงานของ WEF พบว่าไทยยังเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการใช้พลังงานทางเลือกและการจัดการน้ำเสียในธุรกิจท่องเที่ยว จึงอาจเป็นผลให้โรงแรมในไทยยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก22/ นอกจากนี้ ไทยยังต้องพัฒนาด้านการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมถึงด้านความยั่งยืนจากฝั่งอุปสงค์ ที่ในปัจจุบันยังคงพึ่งพานักท่องเที่ยวในฤดูกาลท่องเที่ยว (Peak season) มากเกินไป


นโยบายและมาตรการด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน


แม้การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยจะเผชิญความท้าทายหลายด้าน อย่างไรก็ดี ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับโลกยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการด้านความยั่งยืนเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งอาจแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้

1) กำหนดพื้นที่ต้นแบบและแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) โดยมุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria) ปัจจุบัน อพท. กำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 9 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ 1) หมู่เกาะช้าง 2) เมืองพัทยา 3) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร 4) จังหวัดเลย 5) เมืองโบราณอู่ทอง 6) เมืองเก่าน่าน 7) ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 8) คุ้งบางกระเจ้า และ 9) เชียงราย โดยพื้นที่พิเศษเหล่านี้หลายแห่งได้รับรางวัลด้านความยั่งยืนระดับโลกด้วย (ภาพที่ 6) นอกจากนี้ อพท. ยังได้พัฒนามาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard)23/ ซึ่งได้รับการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก24/ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะองค์กรระดับท้องถิ่น

ในขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ผลักดันการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Carbon Neutral Tourism) ด้วยแนวคิด “ปรับ-ลด-ชดเชย” กล่าวคือ ปรับการดำเนินธุรกิจเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และชดเชยการปล่อยด้วยคาร์บอนเครดิต โดยพัฒนาต้นแบบธุรกิจท่องเที่ยวที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามแนวคิดดังกล่าว เช่น บ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี และฟาร์มสเตย์ไร่คืนรัง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น25/


2) เตรียมความพร้อมให้ธุรกิจสามารถวัด ลด และชดเชยคาร์บอน

เนื่องจากธุรกิจในไทยจำนวนมาก รวมถึงในภาคการท่องเที่ยว ยังขาดความพร้อมด้านการวัดการปล่อยคาร์บอนจากธุรกิจ หน่วยงานต่างๆ จึงพยายามพัฒนาเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อาทิ เว็บไซต์คำนวณปริมาณคาร์บอนสำหรับธุรกิจโรงแรม (CF-Hotels) โดย ททท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจโรงแรมเตรียมความพร้อมเพื่อขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) ตามมาตรฐานต่างๆ รวมถึงนำไปสู่การวางแผนลดคาร์บอนต่อไป26/ ทั้งนี้ ณ 26 สิงหาคม 2567 มีโรงแรมเข้าร่วมรายงานข้อมูลคาร์บอน 342 แห่ง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันได้ 87,641 tCO2e ในช่วงปี 2560 ถึงกรกฎาคม 256727/ นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน Zero Carbon ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวประเมินการปล่อยคาร์บอนได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวเองก็สามารถตรวจสอบปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมท่องเที่ยวของตน และยังเป็นช่องทางในการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนอีกด้วย28/


3) ส่งเสริมการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

หน่วยงานในไทยให้การรับรองความยั่งยืนของธุรกิจท่องเที่ยวประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่ง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการมอบสัญลักษณ์หรือรางวัลเพื่อการันตีความใส่ใจถึงความยั่งยืน เช่น ตราสัญลักษณ์โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) และดาวแห่งความยั่งยืนในธุรกิจท่องเที่ยว (STAR) ทั้งนี้จะกล่าวถึงมาตรฐานการรับรองความยั่งยืนโดยละเอียดในหัวข้อถัดไป


การท่องเที่ยวไทยกับมาตรฐานความยั่งยืน


ด้วยการผลักดันจากภาครัฐและความตื่นตัวด้านความยั่งยืนของภาคธุรกิจ ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวในไทยได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับสากลมากขึ้น โดยมีตัวอย่างการรับรองความยั่งยืนที่สำคัญ ดังนี้ (สรุปในภาพที่ 11)


1) การรับรองความยั่งยืนในประเทศ

  • ตราสัญลักษณ์โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มออกเครื่องหมายรับรองโรงแรมที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใส่ใจสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และท้องถิ่น โดยในปี 2562-2566 มีโรงแรมที่ผ่านการรับรองรวม 306 แห่ง29/ แบ่งเป็นระดับเหรียญทอง 121 แห่ง เหรียญเงิน 102 แห่ง และเหรียญทองแดง 83 แห่ง อย่างไรก็ตาม จำนวนโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคิดเป็นเพียง 1% ของโรมแรมทั่วประเทศเท่านั้น30/ นอกจากนี้ แม้ Green Hotel จะกระจายอยู่ใน 34 จังหวัดทั่วประเทศ แต่ราว 3 ใน 4 ของที่พักเหล่านี้ อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี ขณะที่โรงแรมสีเขียวในเมืองรองยังมีสัดส่วนน้อย (ภาพที่ 6) อีกทั้งโรงแรมที่ได้รับรอง Green Hotel มักเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ สะท้อนว่าความสนใจด้านการจัดการโรงแรมสีเขียวยังกระจุกอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลักและธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พัฒนาต่อยอด Green Hotel จนได้รับการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลภายใต้ชื่อ ‘Green Hotel Plus’ เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ทำให้มาตรฐานของไทยมีโอกาสได้รับการยอมรับในระดับโลกยิ่งขึ้น31/ จึงคาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการโรงแรมมากขึ้นด้วย


 
  • Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มอบประกาศนียบัตร STAR หรือ “ดาวแห่งความยั่งยืน” ให้แก่ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า บริษัททัวร์ ผู้ให้บริการขนส่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ (3 – 5 ดาว) ตามความสามารถในการผ่านเกณฑ์เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals: STGs)32/ ซึ่ง ณ 1 สิงหาคม 2567 มีผู้ประกอบการที่ได้รับดาวรวม 830 แห่งทั่วประเทศ แบ่งออกเป็นธุรกิจ 5 ดาว 651 แห่ง 4 ดาว 70 แห่ง และ 3 ดาว 109 แห่ง โดยธุรกิจที่พักและโฮมสเตย์มีสัดส่วนมากที่สุดราว 60% ของการรับรองทั้งหมด (ภาพที่ 7) ทั้งนี้ จำนวนการรับรองภายใต้โครงการ STAR เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเพียง 478 แห่ง เมื่อ 3 มกราคม 256733/ สะท้อนถึงความตระหนักด้านความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจท่องเที่ยวไทย

 
  • รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) ทุกๆ 2 ปี ททท. จะมอบรางวัลให้กับแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก และรายการท่องเที่ยวในหลากหลายสาขา เช่น แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ชุมชน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ททท. ได้เพิ่มรางวัลประเภทการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเพื่อความยั่งยืน (Low Carbon & Sustainability) ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลประเภทดังกล่าว ได้แก่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตำบลบางกอบัว จังหวัดสมุทรปราการ สยามเบย์ชอร์ รีสอร์ท จังหวัดชลบุรี และพีชฮิลรีสอร์ท จังหวัดภูเก็ต34/
 

2) การรับรองความยั่งยืนระดับโลก

  • Green Destinations เป็นหน่วยงานประเมินความยั่งยืนของสถานที่ท่องเที่ยว (Destination) ด้วยเกณฑ์ที่ผ่านการรับรองโดยสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ในทุกๆ ปี จะมีการประกาศรางวัล Green Destinations Top 100 Stories ซึ่งคัดเลือกจากแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกที่มีจุดเด่นด้านความยั่งยืน โดยแหล่งท่องเที่ยวของไทยที่ได้รับรางวัลแล้วในปี 2563-2566 มีจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1) ตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย 2) ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน 3) ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย 4) เกาะหมาก จังหวัดตราด 5) บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 6) วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสาปยา จังหวัดชัยนาท 7) อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และ 8) อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์35/ (ภาพที่ 8) ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อต้นปี 2567 เชียงคานยังได้รับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับเหรียญเงินจาก Green Destinations36/ ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกในอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย ต่อจากญี่ปุ่น และไต้หวัน จะสังเกตได้ว่าแหล่งท่องเที่ยวไทยได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่มีเพียงแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและชุมชน โดยล่าสุดในปี 2566 แหล่งท่องเที่ยวไทยที่ได้รับรางวัลมีจำนวน 4 แห่ง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นรางวัลในมิติสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ (ภาพที่ 9)



 


 

  • EarthCheck คือองค์กรที่ให้การรับรองความยั่งยืนในมิติผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จะได้รับเครื่องหมาย “EarthCheck Certified” เพื่อใช้แสดงมาตรฐานความยั่งยืน ทั้งนี้ โรงแรมในไทยที่ยังอยู่ในช่วงเวลาที่ได้รับรองจาก EarthCheck ณ สิงหาคม 2567 มีจำนวน 9 แห่ง37/ ซึ่งล้วนเป็นโรงแรมหรูหราขนาดใหญ่ในพื้นที่ 4 จังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ ได้แก่ กรุงเทพฯ กระบี่ ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี เช่น เครือโรงแรมบันยันทรี และเครือโรงแรมเคมปินสกี้

  • Green Globe เป็นองค์กรประเมินธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยธุรกิจในไทยที่ได้การรับรองจาก Green Globe แล้วมีจำนวน 15 แห่ง38/ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือโรงแรมต่างชาติในประเทศไทย เช่น เครือโรงแรมเมอเวนพิค พูลแมน และโซฟิเทล



 

นอกจากมาตรฐานข้างต้นแล้ว ยังมีเครื่องหมายรับรองความยั่งยืนจากหน่วยงานสากลอื่นๆ เช่น Travelife, Rainforest Alliance, Green Key และ Vireo Srl ซึ่งกำหนดเกณฑ์ความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยสามารถออกเครื่องหมายแก่ธุรกิจต่างๆ
ทั้งที่พัก บริษัทตัวแทนท่องเที่ยว รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวด้วย


 

โอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจท่ามกลางกระแสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

ตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยมีศักยภาพในการเติบโตที่สอดคล้องกับทิศทางของโลก โดย Future Market Insights ประมาณการว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยจะมีมูลค่า 33.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.1 พันล้านบาท) ในปี 2567 และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15.8% จนมีมูลค่าเป็น 143.9 ล้านดอลลาร์ สหรัฐ (ราว 4.9 พันล้านบาท) ในปี 257739/ ทั้งนี้ รูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นในไทย ได้แก่

  • การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Tourism) จะกลายเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ โดยเน้นการวัด ลด และชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรมการท่องเที่ยว ตัวอย่างต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในไทย ได้แก่ เกาะหมาก ซึ่งได้รับเลือกจาก Green Destinations ให้เป็น 1 ใน 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของโลก ในปี 2565 โดยมาตรการลดคาร์บอนในเกาะหมากมีหลากหลาย เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับเรือโดยสารและการเกษตร การลดปริมาณพลาสติก และการสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ได้ออก “ธรรมนูญเกาะหมาก” ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันในการท่องเที่ยวที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และยังพัฒนาเครื่องมือคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์แบบออนไลน์ (Koh Mak Low Carbon Calculator) อีกด้วย นอกจากเกาะหมากแล้ว ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำกว่า 100 เส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งรวบรวมโดยสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย40/ โดยมีทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น การชมอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒธรรม

  • การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) เป็นการท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยชุมชนเพื่อให้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวตกอยู่กับคนในชุมชน มักมีกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน อาหารท้องถิ่น การทำงานฝีมือ การพักแบบโฮมสเตย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ผลสำรวจภายใต้โครงการ SWITCH-Asia พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่นิยมท่องเที่ยวโดยชุมชนในไทยคือ กลุ่มครอบครัว ผู้สูงอายุ คนวัยทำงาน และกลุ่มรายได้สูง โดยจุดหมายปลายทาง 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต สุโขทัย น่าน และเชียงราย ตามลำดับ41/ ตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวประเภทนี้ เช่น ชุมชนบ้านไร่กองขิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนำภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลรักษาสุขภาพมาใช้ในการท่องเที่ยว โดยใช้พืชและสมุนไพรที่หาได้จากในชุมชน42/ และชุมชนตำบลบ่อสวก จังหวัดน่าน ที่นักท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านงานหัตถกรรมพื้นบ้าน อาทิ การทำเครื่องปั้นดินเผา และการทอผ้า43/


การเติบโตของกระแสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ธุรกิจขนส่ง ร้านอาหาร หรือบริษัททัวร์ แต่ในขณะเดียวกันธุรกิจเหล่านี้จะเผชิญความท้าทายในการปรับการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยธุรกิจหลักซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียสำคัญและจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน มีดังนี้

  • ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร: เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานสูงในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเผชิญแรงกดดันจากผู้บริโภคที่เริ่มให้ความสำคัญกับปัจจัยความยั่งยืนมากขึ้นเมื่อเลือกที่พักหรือร้านอาหาร แต่ธุรกิจเหล่านี้ยังต้องก้าวข้ามความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการปล่อยคาร์บอนทางอ้อม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถลดคาร์บอนได้หลายแนวทาง อาทิ การดำเนินธุรกิจตามมาตรฐานโรงแรมสีเขียว (Green Hotel) ของไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการได้รับการรับรองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรฐานอาคารสีเขียว เช่น มาตรฐาน LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ของสหรัฐอเมริกา และมาตรฐาน TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) ของไทย โดยการผ่านมาตรฐานเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรอื่นๆ นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารควรจัดการขยะอาหารและของเสียอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงเลือกจัดหาวัตถุดิบจากคู่ค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุรีไซเคิลหรือย่อยสลายได้ รวมถึงใช้สินค้าจากท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน

  • ธุรกิจขนส่ง: มีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในภาคการท่องเที่ยว และยังต้องพึ่งพาน้ำมันจากพลังงานฟอสซิลในสัดส่วนที่สูง อย่างไรก็ดี การขนส่งรูปแบบต่างๆ กำลังก้าวไปสู่การลดคาร์บอนอย่างจริงจังมากขึ้น อาทิ สายการบินหลายแห่งทั่วโลกและในไทยได้ทดลองใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) แล้ว อีกทั้งการเดินทางทางอากาศในอนาคตอาจลดการปล่อยคาร์บอนลงได้จากการใช้เครื่องบินไฟฟ้า เครื่องบินไฮบริด หรือเครื่องบินพลังงานทางเลือก ยิ่งไปกว่านั้น สายการบินยังสามารถเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวร่วมชดเชยคาร์บอนจากการเดินทางได้อีกด้วย44/ นอกจากนี้ ธุรกิจคาร์บอนต่ำอื่นๆ ที่มีโอกาสเติบโต ได้แก่ ธุรกิจให้บริการยานพาหนะร่วมเดินทางผ่านแอปพลิเคชัน (Ride sharing) เช่น มูฟมี (Muvmi) ซึ่งเป็นรถสามล้อสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้า 100% ธุรกิจให้เช่าใช้จักรยานเพื่อเดินทางในเมืองท่องเที่ยว (Bike sharing)

  • ธุรกิจจัดการการท่องเที่ยว: แพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน และแพ็คเกจท่องเที่ยวแบบออนไลน์ (Online travel agencies) เป็นกลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อกระแสความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการแสดงเครื่องหมายที่พักรักษ์โลก การระบุข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของเที่ยวบิน การเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวชดเชยคาร์บอนจากการเดินทาง และสมทบเงินเพื่อโครงการสิ่งแวดล้อม (ภาพที่ 12) ทั้งนี้การปรับตัวของแพลตฟอร์มเหล่านี้อาจสร้างแรงกดดันต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการที่พักต้องแสดงความรักษ์โลกตามมาตรฐานของ Booking.com เพื่อไม่ให้กลายเป็นโรงแรมที่ไม่ถูกเลือกโดย “นักท่องเที่ยวสายกรีน”



 
โอกาสและความท้าทายในระบบนิเวศของการท่องเที่ยว (Tourism ecosystem) ไม่ได้เกิดกับธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หากแต่เป็นธุรกิจที่ล้วนเชื่อมโยงกันผ่านห่วงโซ่มูลค่าในระบบนิเวศของการท่องเที่ยวทั้งสิ้น ดังนั้น ธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องปรับตัวไปพร้อมๆ กัน เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
 

มุมมองวิจัยกรุงศรี: การท่องเที่ยวไทยจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างไร

 

แม้ภาคการท่องเที่ยวจะเป็น “ดาวเด่น” ของเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน แต่ดาวดวงนี้กำลังเผชิญความท้าทายนานับประการในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากจนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และท้ายที่สุดอาจย้อนกลับมากระทบความสามารถในการแข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการผลักดันให้ไทยมุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องอาศัยการปฏิรูปหรือเปลี่ยนผ่านในหลายด้านพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานสะอาด การจัดการขยะ การบริหารห่วงโซ่อุปทาน การมีส่วนร่วมของสังคมและชุมชน ดังนั้น เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยยังคงเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคม วิจัยกรุงศรีมองว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยว ควรดำเนินการดังนี้

  • ประเมินผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวประเภทต่างๆ จำเป็นต้องรู้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจของตนเอง โดยเฉพาะการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทว่าธุรกิจไทยยังไม่มีความพร้อมในด้านดังกล่าวเท่าที่ควร เห็นได้จากการมีธุรกิจเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่รายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ ทั้งนี้ยังไม่นับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อีกจำนวนมากที่ไม่สามารถวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันธุรกิจท่องเที่ยวอาจใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เช่น เว็บไซต์ CF-Hotels แอปพลิเคชัน Zero Carbon และแพลตฟอร์มของ SET ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา45/ เพื่อเป็นเครื่องมือเตรียมความพร้อมสู่การวัด รายงาน และทวนสอบ ตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากในอนาคตการรายงานข้อมูลเหล่านี้มีแนวโน้มจะเปลี่ยนจากภาคสมัครใจในปัจจุบันเป็นภาคบังคับ เช่น การรายงานของธุรกิจสายการบินภายใต้กลไกการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (CORSIA) และการเปิดเผยข้อมูลตาม (ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย

  • เร่งลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยวปล่อยคาร์บอนตั้งแต่การเดินทาง การเข้าพัก ไปจนถึงการบริโภคอาหาร จึงทำให้การลดคาร์บอนในภาคการท่องเที่ยวมีความท้าทาย และต้องอาศัยมาตรการอย่างครอบคลุม ทั้งการผลักดันการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาการขนส่งสาธารณะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ อาทิ การขยายเส้นทางรถเมล์ไฟฟ้าและโครงข่ายระบบราง การสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน อาทิ การกำหนดสัดส่วนการใช้ SAF ในการบิน การส่งเสริมธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารสีเขียว โดยสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจปรับเปลี่ยนตามเกณฑ์ความยั่งยืน และจูงใจผู้บริโภคให้เลือกใช้บริการธุรกิจเหล่านี้ ส่วนในด้านการจัดการขยะจากการท่องเที่ยว อาจพิจารณามาตรการที่น่าสนใจ เช่น มาตรการคิดค่าถุงพลาสติกในสหราชอาณาจักร หรือการเก็บมัดจำและคืนเงินบรรจุภัณฑ์ (Deposit Return Scheme) ในยุโรป ซึ่งช่วยให้ขยะพลาสติกลดลงได้จริง46/ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งบางราย โดยเฉพาะ SMEs อาจยังต้องอาศัยการเรียนรู้และลองผิดลองถูก ดังนั้น การพัฒนาต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวและต้นแบบธุรกิจยั่งยืนจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

  • ขอรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากในประเทศและต่างประเทศ มาตรฐานความยั่งยืนจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวที่สร้างผลเชิงบวก ซึ่งมาตรฐานเหล่านี้ไม่ใด้พิจารณาเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม แต่ยังครอบคลุมถึงมิติสังคม ชุมชน และอื่นๆ ที่ธุรกิจพึงปฏิบัติตาม แม้ผู้ประกอบการอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการปรับกระบวนการทำงาน หรือการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน แต่ในท้ายที่สุด ธุรกิจอาจลดต้นทุนได้จากการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานและทรัพยากรต่างๆ อีกทั้งยังมีโอกาสขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจของ Booking.com ที่พบว่านักเดินทางเกือบครึ่งหนึ่งมองว่าโรงแรมที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าดึงดูดใจมากกว่าที่พักอื่นๆ ดังนั้น ธุรกิจที่ไม่ผ่านมาตรฐานเหล่านี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกๆ ของผู้บริโภคอีกต่อไป หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจไม่ได้รับการส่งเสริมทางการตลาดจากหน่วยงานการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องด้วย47/


นอกจากผู้ดำเนินนโยบาย และผู้ประกอบการท่องเที่ยวแล้ว ภาคการเงินเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายประเภท เช่น สินเชื่อเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Transition Loan)48/ พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond)49/ และบัตรเครดิตที่ให้ส่วนลดแก่ผู้เข้าพักในโรงแรมสีเขียว50/ ในท้ายที่สุดแล้ว การสนับสนุนจากภาคการเงินจะเป็นอีกหนึ่งแรงส่งที่ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเปลี่ยนผ่านสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติได้

 

​References

Bain & Company. (2023). ”Sustainable Tourism: An Untapped Opportunity for Green Growth”. Retrieved from https://www.bain.com/globalassets/noindex/2023/bain_brief_sustainable_tourism_an_untapped_opportunity_for_green_growth-english.pdf

Booking.com. (2024). ”Sustainable Travel 2024”. Retrieved from https://news.booking.com/download/904910bb-db77-4886-9ead-accbf87ad891/sustainabletravelreport2024.pdf

Euromonitor International. (2023). ”Sustainable Travel Index: Ramping Up Action for Positive Change”. Retrieved from Euromonitor International´s market research database

National Statistical Office. (2023). “The 2022 Accommodation Survey”. Retrieved from https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2023/20230929154600_61861.pdf

Thailand Science Research and Innovation. (2020). ”The future of Thai tourism and global warming”. Retrieved from https://researchcafe.tsri.or.th/the-future-of-thai-tourism/  

Thanayut Boonthong et al. (2021). "Sustainable Tourism: Opportunities and Challenges for the Thai Tourism Sector". Retrieved from https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/regional-articles/reg-article-2021-16.html

World Economic Forum. (2023). ”Rising global temperatures are already affecting the tourism industry - here's how”. Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2023/08/temperatures-tourism-climate-impact/

World Economic Forum. (2024). ”How travel and tourism can reach net zero”. Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2024/01/travel-tourism-industry-net-zero/

World Travel & Tourism Council. (2021). “A Net Zero Roadmap for Travel & Tourism”. Retrieved from https://wttc.org/Portals/0/Documents/Reports/2021/WTTC_Net_Zero_Roadmap.pdf

 

 

1/ Centre for Sustainable Tourism (ZENAT), https://www.umweltbundesamt.de/sites/default/files/medien/1410/publikationen/texte_53-2019_paper-sustainable-tourism-en_190429.pdf 
2/ Thai PBS, https://www.thaipbs.or.th/news/content/279964 
3/ เป็นฐานข้อมูลที่จัดทำโดย Cornell Center for Hospitality Research เป็นประจำทุกปี โดยรวบรวมข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอน การใช้พลังงาน และน้ำ จากโรงแรมมากกว่า 27,000 แห่ง ใน 83 ประเทศทั่วโลก (ที่มา: Greenview, https://greenview.sg/services/chsb-index/) 
4/ TDRI, https://tdri.or.th/foodwaste/#01dish  
5/ Travelife, https://asia.travelife.info/wp-content/uploads/2024/05/PATAs-practical-path-to-reduce-Plastic-and-Food-waste.pdf
6/ TGO, https://ghgreduction.tgo.or.th/th/download-tver/120-tver-gwp-emission-factor/2692-global-warming-potential-gwp-t-ver.html   
7/ United Nations Environnent Programme, https://www.unep.org/news-and-stories/story/how-can-tourism-fix-its-plastic-problem#:~:text=This%20is%20a%20huge%20industry%3A%20between%201980%20and,of%20plastic%20that%20enter%20the%20ocean%20every%20year.  
8/ World Economic Forum, https://www.weforum.org/agenda/2023/08/temperatures-tourism-climate-impact/  
9/ Thailand Science Research and Innovation, https://researchcafe.tsri.or.th/the-future-of-thai-tourism/  
10/ United Nations Development Programme, https://www.undp.org/stories/climate-impact-thailand-th   
11/ Future Market Insights, https://www.futuremarketinsights.com/reports/sustainable-tourism-sector-overview-and-analysis  
12/ กลุ่มตัวอย่างคือนักท่องเที่ยวที่มีแผนจะเดินทางในปี 2567 กว่า 30,000 คน จาก 34 ประเทศ 
13/ กลุ่มตัวอย่างคือนักท่องเที่ยวกว่า 10,000 คน ในทวีปเอเชีย 10 ประเทศ 
14/ กลุ่มตัวอย่างคือนักท่องเที่ยวกว่า 40,000 คน ทั่วโลก
15/ อ่านความคืบหน้าของเป้าหมายด้านความยั่งยืนระดับโลกได้ที่บทความ “บทสรุป COP28 และก้าวต่อไปของการรับมือโลกรวน” https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/cop28-2024  
16/ United Nations, https://sdgs.un.org/topics/sustainable-tourism  
17/ UN Tourism, https://www.unwto.org/sustainable-development 
18/ GSTC, https://www.gstcouncil.org/certified-sustainable-destinations/  
19/ ภูฏานเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นลบ (Carbon Negative) (ที่มา: SpringNews, https://www.springnews.co.th/keep-the-world/sustainable/849698) 
20/ euronews, https://www.euronews.com/travel/2024/05/05/could-croatia-be-the-most-sustainable-travel-destination-in-europe-its-tourism-minister-ho 
21/ คะแนนในมิติความยั่งยืนของการท่องเที่ยว พิจารณาจากตัวชี้วัดด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงาน 2) ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การจ้างงาน ค่าจ้าง และความเท่าเทียมทางเพศ และ 3) ความยั่งยืนของความต้องการท่องเที่ยว เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาล ความสนใจในแหล่งท่องเที่ยว (ที่มา: WEF, https://www.weforum.org/publications/travel-tourism-development-index-2024/) 
22/ โรงแรมไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.061 ตันต่อห้องที่เข้าพัก สูงกว่าระดับเฉลี่ยของโลกที่ 0.026 tCO2e แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ 0.069 tCO2e (ที่มา: Cornell Hotel Sustainability Benchmarking Index 2024)
23/ DASTA, https://www.dasta.or.th/th/article/1495   
24/ GSTC, https://www.gstcouncil.org/thailand-sustainable-tourism-management-standard-is-now-gstc-recognized /
25/ TAT, https://www.tatnewsthai.org/news_detail.php?newsID=5225 
26/ โรงแรมสามารถนำข้อมูลที่รายงานใน CF-Hotels ไปใช้ขอรับรองเครื่องหมายดาวแห่งความยั่งยืน (STAR) ของ ททท. ในมิติการมุ่งลดก๊าซเรือนกระจก (STG 13 Climate Action) ซึ่งเป็น 1 ใน 3 มิติขั้นพื้นฐานของ STAR อีกด้วย
27/ สถานประกอบการที่เข้าร่วมอาจรายงานปริมาณคาร์บอนที่ลดได้เมื่อเทียบกับปีฐาน หรือปริมาณคาร์บอนที่ลดได้จากการทำกิจกรรมลดคาร์บอน (ที่มา: TAT, https://cf-hotels.com/) 
28/ Bangkok Post, https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2610421/zero-carbon-tourist-app-launched  
29/ โดยทั่วไปกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมประกาศผลการรับรอง Green Hotel ทุกปี โดยประกาศนียบัตรมีอายุครั้งละ 3 ปี แต่โรงแรมบางแห่งได้รับการขยายอายุการรับรองในช่วงโควิด-19 ซึ่ง ณ กันยายน 2567 มีโรงแรมไทยจำนวน 238 แห่ง ที่ยังอยู่ในอายุการรับรอง 
30/ การสำรวจที่พักแรมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สถานประกอบการที่พักแรมทั่วประเทศไทยมีจำนวน 30,786 แห่ง (ที่มา: NSO, https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2023/20230929154600_61861.pdf) 
31/ GSTC, https://www.gstcouncil.org/thailands-green-hotel-plus-gains-gstc-recognized-standards-status/  
32/ เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals: STGs) กำหนดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมายย่อย ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยภายใต้โครงการ STAR สถานประกอบการจะ 1) ได้รับ 3 ดาวเมื่อผ่านเกณฑ์ STG  ขั้นพื้นฐาน 3 ข้อ ได้แก่ STG 13 (Climate Action) STG 16 (Safety for All) และ STG 17 (Partnership for STGs) 2) ได้รับ 4 ดาว เมื่อผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน และข้ออื่นๆ รวม 9 ข้อ และ 2) ได้รับ 5 ดาว เมื่อผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน และข้ออื่นๆ รวม 12 ข้อ ทั้งนี้ ประกาศนียบัตรมีอายุการรับรองครั้งละ 2 ปี 
30/ การสำรวจที่พักแรมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สถานประกอบการที่พักแรมทั่วประเทศไทยมีจำนวน 30,786 แห่ง (ที่มา: NSO, https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2023/20230929154600_61861.pdf) 
31/ GSTC, https://www.gstcouncil.org/thailands-green-hotel-plus-gains-gstc-recognized-standards-status/  
32/ เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals: STGs) กำหนดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมายย่อย ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยภายใต้โครงการ STAR สถานประกอบการจะ 1) ได้รับ 3 ดาวเมื่อผ่านเกณฑ์ STG ขั้นพื้นฐาน 3 ข้อ ได้แก่ STG 13 (Climate Action) STG 16 (Safety for All) และ STG 17 (Partnership for STGs) 2) ได้รับ 4 ดาว เมื่อผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน และข้ออื่นๆ รวม 9 ข้อ และ 2) ได้รับ 5 ดาว เมื่อผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน และข้ออื่นๆ รวม 12 ข้อ ทั้งนี้ ประกาศนียบัตรมีอายุการรับรองครั้งละ 2 ปี 
30/ การสำรวจที่พักแรมโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สถานประกอบการที่พักแรมทั่วประเทศไทยมีจำนวน 30,786 แห่ง (ที่มา: NSO, https://www.nso.go.th/nsoweb/storage/survey_detail/2023/20230929154600_61861.pdf) 
31/ GSTC, https://www.gstcouncil.org/thailands-green-hotel-plus-gains-gstc-recognized-standards-status/  
32/ เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals: STGs) กำหนดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมายย่อย ครอบคลุมมิติสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยภายใต้โครงการ STAR สถานประกอบการจะ 1) ได้รับ 3 ดาวเมื่อผ่านเกณฑ์ STG ขั้นพื้นฐาน 3 ข้อ ได้แก่ STG 13 (Climate Action) STG 16 (Safety for All) และ STG 17 (Partnership for STGs) 2) ได้รับ 4 ดาว เมื่อผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน และข้ออื่นๆ รวม 9 ข้อ และ 2) ได้รับ 5 ดาว เมื่อผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน และข้ออื่นๆ รวม 12 ข้อ ทั้งนี้ ประกาศนียบัตรมีอายุการรับรองครั้งละ 2 ปี (ที่มา: TAT, https://www.tatstar.org/) 
33/ Thairath, https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2753903   
34/ TAT, https://tourismawards.tourismthailand.org/awards-winner/gold-awards/low-carbon 
35/ Dailynews, https://www.dailynews.co.th/news/2814105/  
36/ แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับเหรียญเงินต้องผ่านเกณฑ์ความยั่งยืนอย่างน้อย 70% ของจำนวนเกณฑ์ทั้งหมด ขณะที่แหล่งท่องเที่ยว Top 100
37/ โรงแรมและสถานที่ที่ได้รับ EarthCheck มี 529 แห่งทั่วโลก ณ สิงหาคม 2567
38/ โรงแรมอีก 18 แห่งกำลังอยู่ระหว่างการขอการรับรอง Green Globe ณ สิงหาคม 2567 (ที่มา: Green Globe, https://www.greenglobe.com/asia-pacific-indian-ocean-members) 
39/ Future Market Insights, https://www.futuremarketinsights.com/reports/thailand-sustainable-tourism-market  
40/ TEATA, https://carbonneutral.tours/elements/carbon-neutrality-tourism-routes/ 
41/ โครงการ SWITCH-Asia ได้รับการสนับสนุนโดยสหภาพยุโรป อ่านผลสำรวจเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.travelife.info/wp-content/uploads/2024/05/Community-based-tourism-and-human-rights.pdf  
42/ DASTA, https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/community/content/12/  
43/ DASTA, https://cbtthailand.dasta.or.th/webapp/community/content/42/  
44/ เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน ผลิตจากวัตถุดิบชีวมวลหรือของเหลือจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม จึงปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าน้ำมันเครื่องบินแบบปกติราว 80% (สามารถอ่านแนวทางมุ่งสู่ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบินได้ที่บทความ “CORSIA กับอนาคตการบินที่ยั่งยืน”)
45/ The Stock Exchange of Thailand, https://www.set.or.th/th/about/setsource/news-release/article/532-set-carbon   
46/ Bangkokbiznews, https://www.bangkokbiznews.com/environment/1138084   
47/ ททท. พยายามขยายจำนวนธุรกิจที่ได้รับดาวแห่งความยั่งยืน (STAR) ซึ่งธุรกิจที่ไม่ได้ STAR อาจไม่ได้รับการส่งเสริมทางการตลาด (ที่มา: Dailynews, https://www.dailynews.co.th/news/3765431/)     
48/ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาออกสินเชื่อธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Krungsri SME Transition Loan) โดยมีระยะสินเชื่อยาว 10 ปี ดอกเบี้ยพิเศษ 3.5% ใน 2 ปีแรก (ที่มา: Krungsri, https://www.krungsri.com/th/business/loans/krungsri-sme-transition-loan) 
49/ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) วงเงิน 3,000 ล้านบาทโดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารออมสินเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย การระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปสนับสนุนภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน อาทิ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวทางทะเล การประมง การเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำการจัดการและบำบัดน้ำเสีย (ที่มา: Bangkokbiznews, https://www.bangkokbiznews.com/environment/1137556) 
50/ บัตรเครดิต KTC ให้ส่วนลดเพิ่มเติมแก่ผู้เข้าพักใน Green Hotel เพื่อส่งเสริมการใช้บริการ Green Hotel (ที่มา: KTC, https://www.ktc.co.th/ktcworld/travel-service/travel-story/thailand/green-hotel-accommodation-closer-to-nature) 

 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา