นอกจากนี้ โครงสร้างด้านสถาบันเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อการเลือกใช้แนวทาง Facilitative approach ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดในการผลักดันโครงการริเริ่มด้านการชำระเงินต่าง ๆ [14] เช่น การพัฒนาระบบพร้อมเพย์ และมาตรฐานคิวอาร์ (Standardized QR code) เป็นต้น จึงมีแนวโน้มว่าความร่วมมือ Open banking จะเกิดขึ้นในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ขณะที่ในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Open banking นั้น ประเทศไทยจัดว่ามีความพร้อมในระดับหนึ่ง อาทิ การประกาศใช้ระบบดิจิทัลด้านอัตลักษณ์ (National Digital Identification: NDID) เมื่อปี 2019 และในปี 2020 ธปท. ได้ออกแนวทางการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometrics) โดยเฉพาะการตรวจดูใบหน้า เพื่อเป็นมาตรฐานในการนำไปให้บริการทางการเงินที่ปลอดภัยและสอดคล้องกับกฎหมาย โดยธนาคารพาณิชย์เริ่มให้บริการเปิดบัญชีธนาคารทางช่องทางออนไลน์โดยใช้การยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know-Your-Customer: e-KYC) แล้ว
ดังนั้น คาดว่าหน่วยงานกำกับฯ ของไทยจะทำหน้าที่เป็นผู้นำการขับเคลื่อนความร่วมมือและจะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์อย่างใกล้ชิดในการสนับสนุนการดำเนินการพัฒนา Open API ขณะเดียวกันจะกำกับดูแลระบบการเงินรวมถึงการให้ใบอนุญาตบริษัทเทคโนโลยีในการให้บริการทางการเงินที่เกี่ยวกับ Open banking เพื่อให้การพัฒนาเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบระเบียบและจะมีการควบคุมความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้แต่จะไม่ใช้กฎเกณฑ์บังคับซึ่งโมเดลการพัฒนานี้เปรียบได้กับการดัดลวดตามลำต้นตะโกซึ่งภาครัฐจะช่วยประคับประคองการเติบโตของภาคบริการทางการเงิน
หากการพัฒนาเป็นไปอย่างช้าๆ และระมัดระวังเช่นนี้ ผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อธนาคารพาณิชย์ในไทยคือธนาคารทุกรายจะสามารถปรับตัวได้ เนื่องจากการพัฒนาอย่างช้าๆ นี้จะช่วยกันไม่ให้ Bigtech จากต่างประเทศไหลทะลักเข้ามาแข่งกันให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจอื่นซึ่งจะทำให้ระบบนิเวศทางการเงินเปลี่ยนแปลงเร็วจนธนาคารบางรายไม่สามารถตามได้ทัน ด้วยเงื่อนไขนี้ จึงเป็นไปได้ว่าเราจะได้เห็น Fintech และ Bigtech ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในลักษณะหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Partner) เพื่อให้บริการทางการเงินแบบครบวงจรมากกว่าจะเข้ามาแข่งขันกับธนาคารโดยตรง
ในด้านขอบเขตของข้อมูล คาดว่าประเทศไทยจะมีการขยายขอบเขตของข้อมูลที่จะมีการทำ Open API เป็นระยะ ๆ โดยในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการเฉพาะข้อมูลผลิตภัณฑ์การเงินของธนาคารและบัญชีกระแสรายวัน และ ธปท. จะวางมาตรฐานด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับ Interoperability ของ Open API และโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ๆ ในอนาคต เมื่อการพัฒนาสำเร็จคาดว่าจะมีการทดลองใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุม (Sandbox) และเปิดให้ใช้ทั่วไปในระยะต่อไป และคาดว่าหน่วยงานกำกับฯ จะผลักดันการทำ Open API เพื่อครอบคลุมข้อมูลการเงินประเภทอื่นต่อไป สำหรับการพัฒนาความร่วมมือในภาคบริการอื่นเพื่อให้เกิด Open data ต่อข้อมูลของประชาชนทุกประเภทนั้นอาจยังเป็นเรื่องห่างไกล จากทั้งปัจจัยเชิงสถาบันและปัจจัยด้านภาคธุรกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังคงมีโอกาสเกิดขึ้นได้หากนโยบายส่งเสริมในภาคการเงินซึ่งถือว่าเป็นโครงการนำร่อง (Pilot project) นี้ประสบผลสำเร็จด้วยดี โดยสามารถสรุปแนวโน้มของแนวทางการส่งเสริม Open banking ของไทยเทียบกับประเทศอื่นตามภาพที่ 8
“WHAT WE HOPE FOR”: ความหวังของ Open Banking ในไทย
ทุกวันนี้แนวทางการส่งเสริม Open banking ในหลาย ๆ ประเทศยังไม่หยุดนิ่ง แต่จุดร่วมที่แทบทุกประเทศให้ความสำคัญคือการวางมาตรฐานความปลอดภัยด้านข้อมูล โดยประเทศที่ยึดถือแนวทาง Market-driven approach เริ่มให้ความสำคัญต่อการวางมาตรฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูล ขณะที่สหภาพยุโรปที่ใช้แนวทาง Prescriptive approach เริ่มประสบปัญหาในการปฏิบัติจริงเนื่องจาก Open API ที่แต่ละธนาคารต่างพัฒนาขึ้นมานั้นไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการพัฒนาต่อยอดและการใช้งานจริง จนทางการต้องพยายามเข้ามาวางมาตรฐานด้านเทคนิคเพิ่มเติมในภายหลัง ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปกลับกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยไว้อย่างละเอียดและเข้มงวด ซึ่งสร้างความยากลำบากต่อการใช้บริการบางขั้นตอนที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว
ประสบการณ์ในต่างประเทศสะท้อนบทเรียนว่า Open banking ควรมีการวางมาตรฐานในด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องความปลอดภัย และมาตรฐานทางด้านเทคนิคไว้ตั้งแต่แรก เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกันได้โดยง่าย ขณะเดียวกันการกำหนดมาตรฐานจำเป็นต้องคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานของประชาชน เพื่อให้นวัตกรรมการเงิน Open banking ที่เกิดใหม่สามารถใช้งานได้อย่างแพร่หลาย
ประเทศไทยมีทางเลือกอะไรบ้าง? รูปแบบ “Open Banking” ของสหราชอาณาจักร และรูปแบบ “India Stack” ของอินเดียเป็นรูปแบบที่น่าสนใจต่อการนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เนื่องจากทั้งสองรูปแบบนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรและอินเดีย และเกิดผลสำเร็จขึ้นจริงในทางปฏิบัติ แม้ว่าทั้งสองรูปแบบจะแตกต่างกันก็ตาม โดยสหราชอาณาจักรใช้แนวทาง Prescriptive approach ที่เน้นกฎเกณฑ์บังคับ ขณะที่อินเดียใช้แนวทาง Facilitative approach ที่ภาครัฐมุ่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ เพื่อให้สถาบันการเงินพัฒนาต่อยอดได้
Box ที่ 2: Open Banking Initiative ของสหราชอาณาจักร กรอบการส่งเสริม Open banking ที่เป็นมากกว่าทฤษฎี แต่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติจริงและคำนึงถึงประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้งาน
กรอบการพัฒนานี้เกิดขึ้นไล่เลี่ยกับ PSD2 ของสหภาพยุโรป โดยตั้งแต่ปี 2016 สหราชอาณาจักรเริ่มออก Guideline สำหรับ Open banking และในปีต่อมา CMA บังคับให้ธนาคารหลัก 9 แห่ง [15] ต้องพัฒนา Open API เพื่อเปิดเผยข้อมูลบัญชีกระแสรายวันของลูกค้า และประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2018 ทำให้ผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจากลูกค้า (Consent) สามารถเรียกดูและใช้ข้อมูลบัญชีธนาคารของลูกค้ารายนั้นๆ ได้ ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของแอปพลิเคชันที่ให้บริการรวมทุกบัญชีธนาคารของลูกค้าไว้ในแอปพลิเคชันเดียว (Account Aggregator) เพื่อให้ลูกค้าบริหารเงินของตนได้อย่างสะดวกในที่เดียว นอกจากนั้นยังสามารถเรียกข้อมูลจากต่างธนาคารเพื่อใช้ขอสินเชื่อ และยังให้บริการให้คำปรึกษาด้านการเงินและ PFM อีกด้วย
แม้ว่ากฎ Open Banking จะคล้ายคลึงกับ PSD2 ของสหภาพยุโรป แต่จุดต่างสำคัญที่ทำให้ธุรกิจในสหราชอาณาจักรพัฒนาได้เร็ว คือ กฎของสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับการดำเนินการ (Implementation) ซึ่งเน้นให้เกิดการใช้งานจริงอย่างแพร่หลายด้วย ไม่ใช่เพียงแค่วางกรอบการทำงานในทางทฤษฎีเท่านั้น ซึ่งการดำเนินการประกอบด้วย 3 ด้าน คือ
1) สร้างมาตรฐานโดยคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience: UX) เช่น นอกจากธนาคารพาณิชย์หลัก 9 แห่งแล้ว ผู้ให้บริการทางการเงินทุกรายต้องทำ Standardized open API เพื่อให้ช่องทาง API ที่ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลสามารถสื่อสารด้วยภาษาเดียวกันได้ ซึ่งทำให้การเชื่อมต่อกับระบบอื่น ๆ สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาเทคนิคการเปลี่ยนแอปพลิเคชันโดยอัตโนมัติ (App-to-App redirection) ทำให้ระบบการรับรองการใช้ข้อมูล (Authentication) บนแพลตฟอร์มของธนาคารราบรื่นยิ่งขึ้น โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องออกจากแอปพลิเคชันเพื่อเข้าไปหน้าเว็บไซต์ของบริษัทผู้ถือข้อมูลบ่อยครั้ง ทำให้การใช้งานสะดวกและเกิด UX ที่ดี ซึ่งข้อปฏิบัติทั้งหมดนี้ได้มีการเผยแพร่แก่สาธารณชนในแนวทางที่ว่าด้วยประสบการณ์ของผู้ใช้ Open banking (Open Banking Customer Experience Guidelines)
2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการทำงานจริง ทั้งสำหรับนำมาใช้เป็นมาตรฐานในข้อ (1) และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงสนับสนุนการทำงานด้านอื่น ๆ เช่น การดูแล Sandbox เพื่อการพัฒนา Open banking ประเภทต่าง ๆ สร้างช่องทางสื่อสารสองทางกับผู้บริโภค ตอบข้อเรียกร้องจากนักพัฒนาและภาคธุรกิจ สร้างความกระจ่างในข้อปฏิบัติและมาตรฐานต่าง ๆ ที่ทางการได้ประกาศใช้ และให้ข้อมูลเพื่อช่วยธนาคารและบริษัทนักพัฒนาที่เกี่ยวข้องหากันเจอในการร่วมมือกันพัฒนา ทดสอบ หรือแก้ไขปัญหาที่มีการร้องเรียน เป็นต้น
3) จัดให้มีสถาบัน (Institutional body) ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแล Open banking โดยตรง โดย Open Banking Implementation Entity (OBIE) ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน Open banking จนเสร็จสิ้นและติดตามการบริการให้เป็นไปโดยสะดวกเรียบร้อย โดยทำงานร่วมกับธนาคารทั้ง 9 แห่งอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ OBIE ก่อตั้งโดย CMA มีอำนาจสั่งการให้ธนาคารปฏิบัติตาม และได้รับเงินสนับสนุนหลักจากธนาคารทั้ง 9 แห่ง
Box ที่ 3: India Stack การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เป็นเอกภาพ
ทางการอินเดียต้องการปฏิรูปภาคการเงินเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ภาครัฐจึงเข้ามาวางโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะทางการเงินที่จำเป็นเพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มีคุณสมบัติเชื่อมต่อกันได้ (Interoperability) อย่างเป็นเอกภาพ สามารถรองรับการใช้งานของประชากรกว่าพันล้านคน โครงการนี้มีการวางราง (Rails) ไว้สามชั้นคือ การระบุอัตลักษณ์ การชำระเงิน และการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเป็นรากฐานให้ภาคเอกชนสามารถสร้างแอปพลิเคชันการเงินนานาประเภทมาต่อยอดได้ (Stack)
รางที่ 1 การระบุอัตลักษณ์ (Identity) ทางการอินเดียได้ริเริ่มสร้างอัตลักษณ์ทางชีวภาพเฉพาะตน (Biometric identity) สำหรับพลเมืองทุกคนตั้งแต่ปี 2009 ภายใต้โครงการ Aadhaar จากนั้นไม่นานในปี 2012 โครงการ Aadhaar ได้พัฒนาระบบ e-KYC เพื่อให้สามารถยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการออนไลน์ในการทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ได้ในราคาประหยัดและรวดเร็ว โครงการนี้นับเป็นพื้นฐานสำคัญก้าวแรกในการนำประชาชนหลายร้อยล้านคนเข้าสู่ระบบการเงิน โดยจากข้อมูลของธนาคารโลก อินเดียใช้เวลาเพียง 6 ปีในการเพิ่มการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากในธนาคารกว่าเท่าตัว ทำให้ประชาชนมีบัญชีธนาคารในสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 35 ในปี 2011 เป็นร้อยละ 80 ในปี 2017
รางที่ 2 การชำระเงิน ในปี 2016 ธนาคารกลางอินเดียและธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมกันพัฒนาระบบการโอนเงิน (Unified Payment Interface: UPI) ที่ใช้ช่องทาง Open API ระบบนี้เอื้อให้ผู้บริโภคโอนเงินได้หลายวิธีนอกจากการใช้เลขบัญชีธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้รหัส UPI หมายเลขโทรศัพท์ รหัสธนาคาร รหัส Aadhaar หรือ QR code คล้ายคลึงกับการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ของไทย โดยใช้ได้ทั้งระหว่างผู้บริโภคกันเอง (C2C) บริษัทกับผู้บริโภค (B2C) หรือระหว่างบริษัท (B2B) อีกทั้งบริษัทเทคโนโลยีรายใหม่ที่ถูกกำกับดูแลก็สามารถใช้ระบบ UPI นี้ทำงานหลังบ้านเพื่อให้บริการโอนเงินลูกค้าได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ใช้งานสามารถใช้แอปพลิเคชันของธนาคารเดียวทำธุรกรรมของธนาคารอื่น ๆ ได้อีกด้วย ปัจจุบันการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลของอินเดียทำผ่านระบบ UPI ถึงกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนธุรกรรมทั้งหมดและเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประชาชนหันมาทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น
รางที่ 3 การแลกเปลี่ยนข้อมูล ในปี 2016 ธนาคารกลางอินเดียได้วางกรอบการทำธุรกิจสำหรับผู้ให้บริการ Account Aggregator (AA) เพื่อให้ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงิน ทั้งข้อมูลธนาคาร กองทุน ประกันภัย และการออม นั้นมี 1) ความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประชาชนมีความไว้วางใจที่จะใช้บริการ 2) การป้องกันบริษัทเข้ามาเอาเปรียบโดยขอใช้ข้อมูลแต่ฝ่ายเดียว (Free-riding) โดยผู้ขอใช้ข้อมูลต้องยินยอมเปิดข้อมูลให้ผู้อื่นได้ใช้ด้วย และ 3) การหลีกเลี่ยงการขัดประโยชน์ (Conflict of interest) ที่อาจเกิดขึ้นหาก AA ได้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลและอาจเล็งผลประโยชน์จากการได้ครอบครองข้อมูลมากกว่ามุ่งเน้นการให้บริการ ด้วยรูปแบบที่ธนาคารกลางอินเดียวางกรอบนี้ AA จะไม่สามารถเห็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการได้ แต่จะทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลางที่ส่งเฉพาะความยินยอม (Consent) ของผู้ใช้บริการให้แก่แอปพลิเคชันปลายทางเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้ใช้บริการยินยอมให้มีการใช้ข้อมูลของตนเพื่อขอสินเชื่อผ่าน AA แล้ว ข้อมูลหลักฐานการเงินของผู้ใช้บริการจะถูกส่งจากธนาคารที่ถือข้อมูลไปให้บริษัทผู้ปล่อยสินเชื่อโดยตรงผ่าน Open API (ภาพที่ 9) ซึ่งจะเพิ่มอำนาจให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลสามารถกำหนดการใช้งานของข้อมูลของตน แทนที่จะเปิดให้บริษัทรายใหญ่มีสิทธิครอบครองข้อมูลและนำไปใช้เพื่อการอื่นได้ นอกจากนี้ อินเดียมีแผนที่จะผลักดันการขยายกรอบ AA นี้ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นด้วย เช่น สาธารณสุขและโทรคมนาคม
มุมมองวิจัยกรุงศรี: นโยบายส่งเสริม Open Banking ที่เหมาะสมสำหรับไทย
จากการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีเกม ความร่วมมือระหว่างธนาคารเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการทำ Open banking ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่แต่ละธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดที่ต่างกัน หรือมีการลงทุนและสร้างพันธมิตรทางธุรกิจไปมากแล้ว นอกจากนี้ บทบาทของภาครัฐที่เป็นเพียงแค่ในฐานตัวกลางที่คอยช่วยส่งสัญญาณจะไม่เพียงพอที่จะย้ายดุลยภาพจากจุดปัจจุบันไปสู่ดุลยภาพของความร่วมมือที่นำมาซึ่งประโยชน์โดยรวมที่สูงขึ้น ดังนั้น “ตัวกลาง” จำเป็นต้องแทรกแซง โดยมีสองทางเลือกคือ (1) เพิ่มผลตอบแทนให้ธนาคารขนาดใหญ่หากร่วมมือเปิดข้อมูล หรือ (2) ลดผลตอบแทนหรือมีบทลงโทษธนาคารขนาดใหญ่ที่ไม่ให้ความร่วมมือ แต่ในทางปฏิบัติแล้วมาตรการดังกล่าวอาจทำได้ยากเนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะนำมาสู่ความสำเร็จของมาตรการนี้คือจำนวนผลตอบแทนหรือบทลงโทษที่มากพอจะเปลี่ยนดุลยภาพได้ ซึ่งด้วยโลกแห่งความเป็นจริงที่ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ตัวกลางจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าควรให้รางวัลหรือมีบทลงโทษเป็นมูลค่าจึงจะเพียงพอให้ธนาคารขนาดใหญ่เปลี่ยนใจ ดังนั้น วิธีการที่มีประสิทธิผลในสถานการณ์แบบนี้ คือ ใช้อำนาจของตัวกลางในการประกาศบังคับให้ทุกธนาคารต้องร่วมมือ ซึ่งจะทำให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดต่อระบบการเงิน
นอกจากนี้ ท่ามกลางกระแสเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมการเงินโลกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทั้งกระแสเทคโนโลยีและความเสี่ยงจากเทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเลือกได้ นอกจากนี้ การปิดกั้นความเสี่ยงจากเทคโนโลยีจะต้องแลกมาด้วยการสูญเสียโอกาสจากนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าวมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ซึ่งท้ายที่สุดอาจกลับกลายเป็นความเสี่ยงที่ภาคการเงินไทยจะเดินหน้าอย่างเชื่องช้าจนเป็นอุปสรรคต่อการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดจนอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ จนทำให้แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ ดังนั้น โมเดลการพัฒนานวัตกรรมในแบบ Facilitative ที่เปรียบเหมือนกับการขึ้นโครงลวดดัดนำลำต้นตะโกอาจจะทำให้ต้นไม้ที่จะถูกครอบด้วยโครงลวดนี้แคระแกร็น เติบโตไม่ทันต้นไม้อื่นในป่าใหญ่ และมีโอกาสที่จะล้มตายด้วยแรงต้านจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในที่สุด
ทั้งนี้ การเลือกเดินไปในแนวทาง Prescriptive approach ไทยควรเรียนรู้ประสบการณ์ในหลายประเทศเพื่อนำมาปรับสูตรในการวางรากฐานและสร้างความร่วมมือที่เหมาะสมกับบริบทของไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้างในระยะยาว ตัวอย่างจากสหภาพยุโรปที่เลือกใช้แนวทางเด็ดขาดนี้ให้บทเรียนแก่เราว่า แม้ว่ากฎเกณฑ์จากทางการจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้สามารถพัฒนา Open API ได้เร็ว แต่หากกฎกติกา “ตึง” และ “ตายตัว” ในทุกรายละเอียดและมองข้ามแง่มุมของการใช้งานจริง (Practicality) ไป อาจทำให้การดำเนินการยุ่งยากจนกฎกลับกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนา Open banking เสียเอง ดังนั้น การวางโครงสร้างที่ดีจึงเป็นอีกบทบาทจำเป็นของตัวกลาง นอกจากนี้ เราอาจพิจารณาปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้แก่ Open banking ในประเทศอย่างสหราชอาณาจักรและอินเดียควบคู่ไปด้วย
วิจัยกรุงศรีมีข้อเสนอสำหรับแนวทางการพัฒนา Open banking ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ดังนี้
- ภาครัฐจำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์บังคับให้เกิดความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงินในลักษณะ Prescriptive approach เนื่องจากตลาดต้องการตัวกลางที่จะป้องกัน Coordination failure หรือการติดอยู่ใน Sub-optimal equilibrium ในทฤษฎีเกม
- ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยเรียนรู้จากความสำเร็จของกรณีสหราชอาณาจักร ที่เน้นให้ระบบ (1) เชื่อมต่อได้ง่าย (Interoperability) เช่น กำหนด API มาตรฐาน (Standardized API) และเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานเดิมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว คล้ายคลึงกับกรณีของอินเดีย (2) มี UX (User experience) ที่ดี และ (3) สนับสนุนการพัฒนาของบริษัทเอกชน (Functionality support) โดยอาจพิจารณาจัดตั้งสถาบันคล้ายกับ OBIE ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีอำนาจในการสั่งการสถาบันการเงิน สนับสนุนการดำเนินการของภาคเอกชน รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานกำกับอื่นๆ ในภาคการเงิน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการเปิด Open API ของข้อมูลการเงินทั้งระบบ
- ในด้านขอบเขตข้อมูล ภาครัฐควรวาง Roadmap เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนา Open API ของข้อมูลประเภทต่าง ๆ ที่ชัดเจน โดยในระยะแรกอาจทำ Open API เฉพาะข้อมูลพื้นฐาน เช่น รายละเอียดของผลิตภัณฑ์การเงินและค่าธรรมเนียมของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคาร ก่อนขยายขอบเขตไปยังข้อมูลบัญชีกระแสรายวันและข้อมูลธุรกรรมการชำระเงิน จากนั้นควรสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาให้เกิด Open API ข้อมูลด้านการเงินอื่น ๆ ตลอดจนข้อมูลในภาคบริการอื่น ๆ นอกภาคการเงิน ซึ่งจะช่วยให้ระบบนิเวศการเงินอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและสามารถผลักดันนวัตกรรมทางการเงิน เช่น การนำปัจจัยอื่นที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้อย่างน่าเชื่อถือมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อ (Information-based lending) ได้อีกด้วย เนื่องจากข้อมูลนั้นคล้ายกับตัวต่อเลโก้ ยิ่งมีตัวต่อหลากหลายประเภท นักประดิษฐ์ก็จะยิ่งสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้เป็นทวีคูณ
- การพัฒนาควรเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเดิมของไทย กอปรกับควรวางกรอบกติกาเพื่อป้องกันการเข้ามาฉวยโอกาสและเอารัดเอาเปรียบด้านข้อมูล เพื่อให้ความร่วมมือของสถาบันการเงินสามารถเกิดได้ง่ายขึ้น โดยประยุกต์ใช้แนวคิดของอินเดีย เช่น ระบบ UPI ที่เอื้อให้แพลตฟอร์มโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารสามารถทำธุรกรรมของต่างธนาคารได้ด้วย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาการบริการต่อยอดจากแพลตฟอร์มของธนาคารที่ต่างคนต่างลงทุนพัฒนาเองไปมากแล้ว มากกว่าการเน้นส่งเสริมให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่แข่งกับแพลตฟอร์มโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารในปัจจุบัน ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยลดแรงต้านต่อการสร้างความร่วมมือระหว่างธนาคารทั้งรายใหญ่และรายเล็ก นอกจากนี้ ควรออกแบบกรอบกติกาที่ป้องกันปัญหาการขัดประโยชน์ (Conflict of interest) ให้แก่บริษัท Account Aggregator (AA) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางจากการครอบครองข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลของประชาชนถูกเรียกใช้งานเพียงเท่าที่จำเป็นและไม่ถูกครอบครองโดย AA ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม แต่ให้ข้อมูลไหลตรงจากธนาคารที่ถือข้อมูลไปยังธนาคารผู้ให้บริการอีกแห่งโดยตรง และควรวางกติกาที่ชัดเจนเพื่อป้องกันปัญหาการเอาเปรียบใช้ข้อมูลแต่ฝ่ายเดียว (Free rider) โดยควรเน้นย้ำบทบาทในการเป็นทั้งผู้ให้และผู้ใช้ข้อมูลของธนาคาร เพื่อให้ธนาคารได้ประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ด้วย
-
ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาศักยภาพในการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบการเงิน [16] โดยจำเป็นต้องผสานการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถดูแลความเสี่ยงได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เช่น ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่อาจคุกคามระบบ Open banking ได้ เช่น การโจรกรรมข้อมูลของประชาชน ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนมีระบบการปฏิบัติการที่ทนทานและยืดหยุ่น (Operational resilience) ที่สามารถฟื้นคืนสภาพจากปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในด้านความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูล ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจต่อสิทธิและอำนาจทางกฎหมายของตนในการใช้ข้อมูล (Data-protection-right literacy) รวมถึงสร้างความเข้าใจต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน (Digital literacy) เช่น การหลอกลวงประชาชนให้ยินยอมนำข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ เป็นต้น
โดยสรุป Open banking เป็นกระแสที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “The Next Best Thing” ในภาคการเงิน เพราะจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ธนาคารและบริษัทเทคโนโลยีสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงินได้อีกมากมาย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนและธุรกิจได้อย่างมหาศาล หากไทยมีระบบ Open API ในภาคการเงินที่ดี จะสามารถเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้รวดเร็วในระยะยาวโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังไร้เรี่ยวแรง แต่ปัจจัยสำคัญที่จะชี้ชะตาความสำเร็จของ Open banking ในไทยนั้นขึ้นอยู่กับบทบาทของภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคการเงินที่อาจจำเป็นต้องออกกฎเกณฑ์แทรกแซงตลาดที่มีผลกระทบภายนอกเชิงบวก (Positive externality) เพื่อสร้างกลไกให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนสำเร็จ นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับฯ ควรทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อพัฒนาระบบการเงินที่ง่ายต่อการใช้งานจริงและเกิดประโยชน์ในวงกว้างในระยะยาว ดังนั้น ถ้าหาก Open banking คือ อนาคตของภาคการเงินไทยที่เปรียบเสมือนเปลวไฟลุกโชติช่วง การริเริ่มที่ดีของทางการก็เปรียบได้กับไม้ขีดไฟที่ช่วยจุดประกายความหวังของเรา
Endnotes
ABS & MAS. (2018). Finance-as-a-Service: API playbook. ABS-MAS Financial World.Allchin, C., Austen, M., Fine, A., & Moynihan, T. (2016). Modular financial services: the new shape of the industry. Oliver Wyman.
McKinsey & Company. (2019). The last pit stop? Time for bold late-cycle moves. McKinsey Global Banking Annual Review.
Bank of International Settlements. (2019). Report on open banking and application programming interfaces. Basel Committee on Banking Supervision.
Bank of International Settlements. (2019). Big tech in finance: opportunities and risks. BIS Annual Economic Report.
Bank of Thailand. (2019). Payment systems roadmap no.4 (2019-2021).
D’Silva, D., Filkova, Z., Packer, F., & Tiwari, S. (2019) The design of digital financial infrastructure: lessons from India. Bank of International Settlements. BIS Papers (106).
Hong Kong Monetary Authority. (2018). Open API framework for the Hong Kong Banking Sector.
Jirakitpaibool, C. (2019). GDPR vs Personal Data Protection Act. Medium Blog.
Nixon, K., Wood, T., & Katsufuji, S. (2018). Asia-Pacific financial services regulatory outlook 2019: trust, technology and transformations. Deloitte Asia Pacific Services Limited.
Rothwell, G. (2018). The brave new world of open banking in APAC. Accenture.
Sahamati. (2020). Sahamati – collective of the account aggregator ecosystem. Retrieved Mar 4, 2020 from http://sahamati.or.in/
Tomlinson, N., Robinson, M., & Doyle, M. (2017) How to flourish in an uncertain future: Open banking and PSD2. Deloitte LLP.
The ODI & Fingleton. (2019). Open Banking, preparing for lift off. A joint work between The ODI and Fingleton. Tracxn. (2019). Open banking aggregation APIs. Tracxn Business Model Report.
Tracxn. (2019). Open banking aggregation APIs. Tracxn Business Model Report.
ข้อมูลการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ Retrieved Aug, 5 2020 from Wikipedia website
ข้อมูลประวัติธนาคารไทยพาณิชย์ ช่วง 50-100 ปี จากพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย Retrieved Aug, 5 2020 from https://www.thaibankmuseum.or.th/exhibition-permanent/detail?id=979/
1/ ข้อมูลจากพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย และการสัมภาษณ์ผู้จัดการธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง
2/ ข้อมูลธนาคารอิเล็กทรอนิกส์อ้างอิงจากเว็บไซต์ Wikipedia
3/ อ้างอิงจาก Allchin, C., Austen, M., Fine, A., & Moynihan, T. (2016). Oliver Wyman และ McKinsey Global Banking Annual Review. (2019)
4/ หรือทั้ง 2 ธนาคารมีโอกาสที่มากกว่า 0 ในการเปิดข้อมูล
5/ และถ้าธนาคารเล็กคาดว่าธนาคารใหญ่มีโอกาสมากกว่า 1/3 ที่จะเปิดข้อมูล ธนาคารเล็กจึงจะเลือกเปิดข้อมูลเช่นกัน
6/ อ้างอิงจาก BIS Report on open banking and application programming interfaces. (2019) และ Rothwell, G. (2018). Accenture
7/ อ้างอิงจาก Tomlinson, N., Robinson, M., & Doyle, M. (2017). Deloitte LLP.
8/ อ้างอิงจาก The ODI & Fingleton. (2019).
9/ ABS & MAS. (2018).
10/ Hong Kong Monetary Authority. (2018).
11/ D’Silva, D., Filkova, Z., Packer, F., & Tiwari, S. (2019). BIS Papers (106).
12/ อ้างอิงจาก BIS Annual Economic Report 2019
13/ อ้างอิงจาก Jirakitpaibool, C. (2019)
14/ อ้างอิงจาก Payment systems roadmap no.4 (2019-2021) ของ ธปท.
15/ ได้แก่ AIB Group UK, Bank of Ireland (UK), Barclays Bank, HSBC Group (including First Direct and M&S), Lloyds Banking Group (including Bank of Scotland and Halifax), Nationwide Building Society, NatWest Group (including NatWest, Royal Bank of Scotland and Ulster Bank), Northern Bank Limited (trading as Danske Bank), และ Santander UK
16/ อ้างอิงจาก Nixon, K., Wood, T., & Katsufuji, S. (2018). Deloitte Asia Pacific Services Limited