ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมหลัง COVID-19
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในระยะสั้น หากยังส่งผลระยะยาวผ่านการเปลี่ยนแปลงของ Megatrend ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป การท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์รายบุคคลมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ รวมถึงความใส่ใจในสุขภาพและอนามัย ภูมิทัศน์ของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลต่อรูปแบบความต้องการของนักท่องเที่ยวและรูปแบบทางธุรกิจของผู้ประกอบการโรงแรม ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาระดับรายได้ รวมถึงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นในห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นชุมชนท้องถิ่น หรือกระทั่งธุรกิจอื่นๆ
ในระยะข้างหน้า ปัจจัยกำหนดความสำเร็จของธุรกิจโรงแรมไม่เพียงมาจากสถานที่ตั้ง ห้องพัก ราคา และสิ่งอำนวยความสะดวกเท่านั้น หากยังมาจากความร่วมมือกับชุมชนและธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ความสามารถในการปรับตัว และการบริหารจัดการความเสี่ยง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเร่งปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจก่อนที่การเดินทางระหว่างประเทศจะกลับสู่สภาพปกติเพื่อกอบกู้ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมให้กลับมาเติบโตแข็งแกร่งเหมือนเช่นเคย ทั้งยังสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาว
ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมของไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วและสร้างรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมากต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผลกระทบในครั้งนี้รุนแรงและมีแนวโน้มจะยาวนาน บทความชิ้นนี้ได้วิเคราะห์ทิศทางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายใต้บริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเสนอแนวทางการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนวิเคราะห์ภูมิทัศน์ของการท่องเที่ยวในอนาคตช่วงหลังวิกฤตโรคระบาด เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมสามารถปรับตัวได้ทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อธุรกิจโรงแรมรุนแรงและมีแนวโน้มยาวนาน
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกออกมาตรการปิดเมือง (Lockdown) เพื่อควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ (ภาพที่ 1) ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกหดตัวเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกลดลง 72% YoY โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (-82% YoY) ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกยังอยู่ในภาวะคับขัน หลายประเทศรวมทั้งไทยเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดรุนแรงและมีแนวโน้มยาวนาน เนื่องจาก (1) การพัฒนาวัคซีน ซึ่งรวมถึงประสิทธิภาพของการป้องกันเชื้อ การผลิตและแจกจ่าย ยังมีความไม่แน่นอน (2) แม้จะเริ่มผลิตและแจกจ่ายวัคซีนไปในหลายประเทศแล้ว แต่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แนะนำว่าการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) จำเป็นต้องมีการฉีดให้ครอบคลุม 65-70% ของจำนวนประชากร ซึ่งต้องใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล และ (3) ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจะไม่ฟื้นตัวเร็วเหมือนวิกฤตในอดีต โดย University of California ประเมินว่า หลังการแพร่ระบาดยุติลง ความกังวลของประชาชนที่มีต่อโรคระบาดจะยังดำรงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือน นอกจากนี้ รายได้และกำลังซื้อที่ลดลงรุนแรงทำให้ความต้องการเดินทางซึ่งถือว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
ภาคท่องเที่ยวของไทยทรุดหนัก การประกาศใช้ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน (25 มีนาคม 2563) และมาตรการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (3 เมษายน 2563 - 30 กันยายน 2563) ทำให้ในช่วงเมษายน-กันยายน 2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ตุลาคม 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาได้จำนวนจำกัด ตามมาตรการ Special Tourist Visa (STV) ภายใต้ข้อจำกัดที่เข้มงวด อาทิ การกักตัว 14 วัน การตรวจสุขภาพก่อน/หลังเดินทาง การทำประกันชีวิต ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 81.4% YoY นำโดยชาวจีน (-87.7% YoY) และอินเดีย (-85.5% YoY) วิจัยกรุงศรีประเมินว่าไทยจะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 2563 จากที่เคยได้รับจำนวน 1.9 ล้านล้านบาทในปี 2562
ธุรกิจโรงแรมของไทยได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นประวัติการณ์ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั่วประเทศในช่วง 11 เดือนแรกอยู่ที่ 29.3% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 69.7% ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อห้องพักทั่วประเทศหดตัว 73.6%
ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น ลดราคาห้องพัก ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการ เน้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ลดค่าใช้จ่าย และหารายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น หลายโรงแรมเปิดให้บริการ Work From Hotel แทนการ Work From Home รวมถึงร่วมมือกับ Application สั่งอาหารออนไลน์จากร้านอาหารในโรงแรม (ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 4-5 ดาว) นอกจากนี้ หลายโรงแรม (บางแห่งร่วมมือกับสถานพยาบาล/โรงพยาบาล) ให้บริการใช้เป็นที่กักตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (Alternative State Quarantine: ASQ) และอีก 9 จังหวัด (Alternative Local State Quarantine: ALSQ) ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) ชลบุรี (พัทยา) ปราจีนบุรี บุรีรัมย์ มุกดาหาร เชียงใหม่ พังงา และเชียงราย (ข้อมูล ณ 8 มกราคม 2564) เพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาในไทยและต้องกักตัวตามนโยบายของภาครัฐ ขณะเดียวกันมีโรงแรมขนาดกลางและเล็กหลายแห่งต้องปิดกิจการ
Megatrend ที่มีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้รับอิทธิพลจากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของโลก (Global Megatrend) ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลให้การมอง Megatrend ที่มีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยก่อนการแพร่ระบาด ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมได้รับแรงขับเคลื่อนจาก Megatrend ได้แก่ การขยายตัวของจำนวนชนชั้นกลาง การหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และวิถีท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสุขภาพ อย่างไรก็ตาม COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อปัจจัยดังกล่าว บางอย่างถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น บางอย่างถูกชะลอลง วิจัยกรุงศรีจึงได้วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อธุรกิจโรงแรมในอนาคตโดยหลักๆ มี 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรและสังคม (Demographic and social change) (2) การปรับการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์รายบุคคล (Individualization) (3) การนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจและระบบควบคุมอัตโนมัติ (Digital transformation and automation) และ (4) สุขภาพและความสะอาดมาอันดับหนึ่ง (Health and hygiene)
I. การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรและสังคม (Demographic and social change)
หลายปีที่ผ่านมา Megatrend ด้านประชากรและสังคมมักพูดถึงการขยายตัวของจำนวนชนชั้นกลาง (Growing middle class) โดยเฉพาะในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนอุปสงค์ของการท่องเที่ยวในอนาคต อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อกลุ่มชนชั้นกลางจากภาวะการว่างงานที่เพิ่มขึ้นและรายได้ที่ลดลง (ที่มา World Bank) ทำให้ภาพการมองแรงขับเคลื่อนอุปสงค์ของการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่มองแบบ “เหมารวม” (Broad-based approach) มาเป็นแบบ “เฉพาะเจาะจง” (Targeted approach) ขึ้นกับรูปแบบความต้องการและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในแต่ละช่วงวัย (Generation) ดังนี้
- กลุ่ม Gen Y และ Gen Z เป็นกลุ่มที่ทันสมัย จึงนิยมใช้เทคโนโลยีมาสร้างความสะดวกสบายในการท่องเที่ยว ชื่นชอบการเดินทางแบบผจญภัยและมีจุดประสงค์ท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ มักเดินทางคนเดียว เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่มเล็ก แม้คนกลุ่มนี้กลัวโรคระบาดอยู่บ้างแต่พร้อมที่จะออกเดินทางอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีงบประมาณจำกัดและจำนวนวันพักสั้น
- กลุ่ม Gen X เน้นการท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดประสบการณ์ประทับใจ การท่องเที่ยวกับครอบครัว การท่องเที่ยวเชิงกีฬา หรือการเดินทางเพื่อธุรกิจ หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 กลุ่ม Gen X จะมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ Gen X มักเป็นกลุ่มที่มีครอบครัวและต้องดูแลผู้สูงวัย จึงมีความกังวลต่อการเดินทางมากกว่ากลุ่ม Gen Z และ Gen Y การใช้จ่ายเพื่อการเดินทางจะใช้งบประมาณไม่สูงนัก มักเดินทางในช่วงวันหยุดยาวและระยะไม่ไกลมาก
- กลุ่ม Baby-boomers และ Silver hair ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีการคาดการณ์ว่ากลุ่มนี้มีศักยภาพในการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงและไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการท่องเที่ยว แต่หลังการแพร่ระบาด คนกลุ่มนี้จะมีความรู้สึกกังวลในการเดินทางมากเป็นพิเศษ เนื่องจากข้อมูลเชิงประจักษ์ชี้ว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะมีอาการข้างเคียงจากการติดเชื้อรุนแรงกว่าเมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่อาการป่วยหนักและเป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ประกอบการโรงแรมจึงจำเป็นต้องหากลยุทธ์ที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้คนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในเรื่องความสะอาด
II. การปรับการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์รายบุคคล (Individualization)
ภาคการท่องเที่ยวที่ผ่านมามักให้ความสำคัญกับการสร้างจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวใหม่ๆ (Emerging destinations)[1] เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มวัย แต่วิกฤต COVID-19 ได้ทำให้ความต้องการและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย อีกทั้งการสร้างสถานที่ท่องเที่ยวใหม่มักใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งทรัพยากรมนุษย์ เวลา และงบประมาณ จึงอาจไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจหลังวิกฤต ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเน้นการวิเคราะห์ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่แตกต่างและหลากหลาย เพื่อเสนอบริการที่ตอบโจทย์รายบุคคล ไม่ว่าจะเป็นแบบแผนการเดินทาง กิจกรรมที่สนใจ และงบประมาณที่เหมาะสม โดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้กระบวนการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลมีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละรายมากขึ้น เช่น การประชาสัมพันธ์และการทำการตลาดเจาะนักท่องเที่ยวตามกลุ่มวัย เน้นดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ เป็นต้น
III. การนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจและระบบควบคุมอัตโนมัติ (Digital transformation and automation)
ที่ผ่านมาเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิต ตั้งแต่การสื่อสาร การเรียนรู้ ความคิด กระทั่งพฤติกรรมการบริโภค ส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ อาทิ ระบบการจองและชำระเงินแบบออนไลน์ อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องมือช่วยสนับสนุนการตลาด เริ่มตั้งแต่การสื่อสารสร้างแรงบันดาลใจให้อยากใช้บริการ ใช้เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกขณะอยู่ในโรงแรมหรือที่พัก ตลอดจนมีระบบการประเมินหลังการใช้บริการ กระทั่งต่อยอดให้เกิดการกลับมาใช้บริการซ้ำ ทั้งนี้ ภายใต้ฐานวิถีชีวิตใหม่ (New normal) หลังวิกฤต COVID-19 (เช่น การรักษาระยะห่าง การลดการสัมผัสโดยตรง) ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมมีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้งานมากขึ้นเป็นเท่าทวี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวและรักษาความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ยังช่วยยกระดับห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว (Tourism value chain) ซึ่งมีความซับซ้อนเนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจจำนวนมาก อาทิ โรงแรม บริษัทนำเที่ยว การขนส่ง ธุรกิจอาหาร ค้าปลีก ผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ประกอบการธุรกิจท้องถิ่น ฯลฯ ช่วยให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่สามารถเชื่อมโยงกันผ่าน Platform ต่างๆ รวมถึงพัฒนาต่อยอดธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่แตกต่างและหลากหลาย
ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจโรงแรมมีดังนี้
- การใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics and Artificial Intelligence) อาทิ หุ่นยนต์ในแผนกต้อนรับ การเช็คอินเข้าห้องพักด้วยหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ให้ข้อมูลการท่องเที่ยวที่สามารถประมวลผลการแปลภาษาอัตโนมัติ หุ่นยนต์ส่งกระเป๋าเดินทางและบริการในห้องพัก หุ่นยนต์ทำความสะอาดเชื้อโรคโดยระบบ UV หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย เป็นต้น ขณะที่นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์สามารถสื่อสารตอบโต้กับมนุษย์ได้เสมือนมนุษย์จริง ทั้งยังสามารถทำงานที่ซับซ้อนได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ และมีประสิทธิผล
- การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตให้สามารถควบคุมอุปกรณ์ภายในห้องพัก (Internet of Things: IoT) เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เข้าพักและตอบโจทย์พฤติกรรมการลดการสัมผัสโดยตรง นอกจากนี้ยังสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่ อาทิ ห้องพักอัจฉริยะ (Smart hotel rooms) ซึ่งผู้เข้าพักสามารถควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าในห้องจากจุดเดียว การเชื่อมระบบควบคุมจากอุปกรณ์มือถือ หรือการใช้เสียงควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ปรับความสว่าง อุณหภูมิ เปิดปิดโทรทัศน์ ลำโพง เป็นต้น
- การใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยผู้ประกอบการนำเสนอบริการและผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวรายบุคคล เช่น การเสนอแพ็กเกจท่องเที่ยวที่ตรงใจ ด้วยจังหวะเวลาและช่องทางที่เหมาะสม รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตเพื่อคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์ แนวโน้มตามฤดูกาล และความชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในโซเชียลมีเดียเพื่อดูแนวโน้มตลาดและความสนใจของนักท่องเที่ยว
IV. สุขภาพและอนามัยมาอันดับหนึ่ง (Health and hygiene)
ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในอนาคตจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพและอนามัยมากขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนหันมาสนใจดูแลสุขภาพ เห็นได้จากกระแสการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพและกีฬา เช่น การปั่นจักรยาน วิ่งมาราธอน รวมถึงความนิยมการออกกำลังกาย หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 นักท่องเที่ยวจะให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับนโยบายด้านสาธารณสุขของจุดหมายปลายทางและสุขภาพอนามัยของสถานที่ท่องเที่ยว ขณะที่กิจกรรมกลางแจ้งจะได้รับความนิยมมากขึ้น (เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น แออัด หรือพื้นที่ปิด) ผู้ประกอบการจึงควรร่วมมือกับชุมชนรอบข้าง เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้มีความปลอดภัย สะอาด ปราศจากความเสี่ยงต่อโรค
4B ทิศทางการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมของไทย
จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังแพร่ระบาดทั่วโลก วิจัยกรุงศรีจึงได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มที่เป็นไปได้ของการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยและแนวทางการปรับตัวของธุรกิจโรงแรม โดยใช้ความคล่องตัวของการเดินทาง (Travel mobility) และความกังวลโรคระบาด (Fears) เป็นปัจจัยหลักในการวิเคราะห์ จากรูปที่ 8 ให้แกนนอนเป็นมิติของความคล่องตัวของการเดินทาง โดยฝั่งซ้ายเป็น “การเปิดเสรีการเดินทาง” และฝั่งขวา คือ “การปิดพรมแดน” หรือการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ส่วนแกนตั้งเป็นมิติของความกังวลโรคระบาด โดยด้านบน นักท่องเที่ยวรู้สึก “กลัว” กับการเดินทาง และด้านล่าง นักท่องเที่ยวรู้สึก “สนุก” กับการเดินทาง ทำให้สามารถแบ่งระยะการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวออกเป็น 4 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1: เที่ยวไทย... เริ่มใหม่อีกครั้ง (Begin over)
ช่วงแรกเป็นช่วงที่ผู้คนยังมีความกังวลโรคติดต่อทำให้นักท่องเที่ยวบางกลุ่มกลัวการเดินทาง ขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศยังถูกจำกัด ผู้คนในประเทศยึดมาตรการรักษาระยะห่างทางกายภาพอย่างเคร่งครัด ดังนั้น รูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้จึงเป็นการเดินทางระยะสั้น ใช้เวลาเดินทางไม่นาน นิยมใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง และเน้นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนไม่พลุกพล่าน
วิจัยกรุงศรีมองว่า ในช่วงนี้ควรให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศสำหรับทุกกลุ่มวัยเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการรองรับการท่องเที่ยวของกลุ่ม Gen Z และ Gen Y ที่มีความกลัวโรคน้อยกว่า ในขณะเดียวกันธุรกิจโรงแรมยังสามารถใช้มาตรการรักษาระยะห่างที่เข้มงวดเพื่อรองรับกลุ่ม Gen X และ Baby boomer ที่มีกำลังซื้อสูงกว่า
นักท่องเที่ยวในประเทศส่วนใหญ่พร้อมกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยเน้นสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆ และใช้เวลาพัก 2-3 คืน สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้สำรวจความคิดเห็นของคนไทยเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวในไตรมาส 3/2563 และความคาดหวังเกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 กับนักท่องเที่ยวชาวไทยจำนวน 400 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10-25 พฤษภาคม 2563 เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เฉพาะคนมีรายได้ 10,000 บาทขึ้นไป พบว่า คนไทย 64% มีแผนเดินทางไปต่างจังหวัด โดยในจำนวนนี้ 35% ต้องการเดินทางไปจังหวัดใกล้เคียงและพักค้างคืน อีก 27% เดินทางข้ามภาค และ 25% เดินทางไปจังหวัดใกล้เคียงแต่ไม่พักค้างคืน สำหรับระยะเวลาการค้างคืน ส่วนใหญ่มีแผนการพักค้างระหว่าง 1-3 วัน (76%) รองลงมา 4-6 วัน (15%) และมากกว่า 7 วัน (5%) โดยนักท่องเที่ยวต้องการเข้าพักที่โรงแรมมากที่สุด (41%) รองลงมา คือ รีสอร์ท (29%) และบ้านตนเอง/บ้านญาติ (25%) ทั้งนี้ แม้ว่าผลการสำรวจดังกล่าวจะจัดทำขึ้นนานแล้ว แต่สามารถสะท้อนมุมมองที่น่าสนใจ กล่าวคือ ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศรุนแรงที่สุด มาตรการ Lockdown เข้มงวดที่สุด (ช่วงไตรมาส 2/2563) และความรู้สึกกลัวมีมากที่สุด ทว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความมั่นใจและวางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวในอีกไม่ช้า จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้คาดว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศชั่วคราวและน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 2/2564
การปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในช่วงที่ 1:
- สร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration: SHA) มาใช้ยกระดับความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว เพื่อสร้างภาพลักษณ์เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสะอาดปราศจากโรค
- ใช้แคมเปญด้านราคาเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Z Gen Y และ Gen X และดึงดูดให้นักท่องเที่ยวพำนักนานขึ้นเป็นประมาณ 4-5 คืน เพื่อเพิ่มรายได้
- ปรับรูปแบบการบริการเพื่อลดการสัมผัสทางกายภาพ เช่น การเช็คอินทางออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีปลอดภัยไร้เงินสดเป็นทางเลือก
- ร่วมมือกับชุมชนทำแผนฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและทรัพยากรธรรมชาติ ทำโครงการท่องเที่ยวแบบนวัตวิถี[2] พร้อมทำระบบการจองสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใช้ในแต่ละวันไม่ให้แออัดจนเกินไป
ช่วงที่ 2: ไทยเที่ยวไทย... สนุกได้ทุกจังหวัด (Boost fun)
ในช่วงนี้ ยังมีการปิดพรมแดนระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่นักท่องเที่ยวในประเทศเริ่มคลายความกังวล ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวมีความหลากหลายและสามารถครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม การเดินทางในประเทศจะมีระยะทางยาวมากขึ้น และรูปแบบการเดินทางครอบคลุมเครื่องบิน เรือ และรถยนต์ส่วนตัว
วิจัยกรุงศรีมองว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมควรเน้นการยกระดับจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศให้กลับมาเท่ากับช่วงก่อนการเกิดCOVID-19 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่ม Baby-boomers และ Silver hair เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง มีเวลาในการท่องเที่ยวนานกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ โดยวิทยาลัย ดุสิตธานีได้ทำการวิเคราะห์ความต้องการท่องเที่ยวของกลุ่มคนสูงอายุพบว่าส่วนใหญ่ท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน มักเดินทางกับครอบครัว ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวแบบเนิบช้า (Slow life) ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของผู้สูงอายุใช้ระยะเวลานาน อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มนี้ใช้เวลานานในการตัดสินใจเลือกซื้อบริการ เนื่องจากเน้นความคุ้มค่า คุณภาพ และความปลอดภัย
การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative tourism) จะมีความเป็นไปได้ ซึ่งเป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยจะเน้นการสร้างประสบการณ์ การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมกับศิลปะวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสัมผัส สื่อสารกับชุมชนและวิถีชีวิตที่มีอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ดังตัวอย่างความสำเร็จของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในประเทศจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ (1) บ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่ ให้บริการบ้านพักแบบโฮมสเตย์และโฮมลอดจ์ที่ได้มาตรฐาน มีการทำผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค กิจกรรมชิมอาหารขึ้นชื่อของชุมชน และการแสดงรำขันดอกเพื่ออำนวยพรให้กับนักท่องเที่ยว และ (2) บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ จ.สุโขทัย นำเสนอกิจกรรมสร้างสรรค์ด้านศิลปะ/หัตถกรรมและนาฏศิลป์พื้นบ้าน กิจกรรมเครื่องปั้นดินเผา “ศิลาดล” การพิมพ์พระ และการทอผ้า ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดในประเทศไทยต่างมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ท้องถิ่นที่โดดเด่นแตกต่างกัน จึงควรสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้ครบวงจรตลอดห่วงโซ่มูลค่า ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศได้มากขึ้น
การปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในช่วงที่ 2:
- เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในประเทศ – โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม Silver hair ที่มีความกังวลด้านสุขอนามัยมากกว่ากลุ่มอื่น
- ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดยนำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม
- ผู้ประกอบการโรงแรมควรร่วมมือกับชุมชนในท้องถิ่นส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น วัดวาอาราม ร้านอาหาร เป็นต้น เพื่อให้ทุกจังหวัดมีจุดขายที่แข็งแกร่ง
- การปรับลดค่าใช้จ่ายยังคงจำเป็น เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา
ช่วงที่ 3: จับคู่... กู้ท่องเที่ยวไทย (Bubble tourism)
ช่วงนี้เป็นช่วงของการเปิดพรมแดนการเดินทางระหว่างประเทศบางส่วน แต่ผู้คนและชุมชนยังมีความหวาดกลัวการแพร่ระบาด การท่องเที่ยวจึงเป็นในลักษณะจับคู่เดินทาง (Bubble Tourism) ซึ่งจะเป็นการทำข้อตกลงของรัฐร่วมกันในการเดินทางระหว่างประเทศที่จับคู่โดยไม่ต้องมีการกักตัว โดยไทยอาจเลือกทำข้อตกลงร่วมกับประเทศที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี และนักท่องเที่ยวมีความชื่นชอบการเดินทางมาไทย อาทิ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และออสเตรเลีย (ภาพที่ 12) โดยภาครัฐให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย ซึ่งอาจร่วมมือกับบริษัทประกันภัย หรือมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคที่ชัดเจน
นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเชื่อมั่นมากขึ้นที่จะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ยังมีความระมัดระวัง การศึกษาของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่สำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 200 คน ในช่วงวันที่ 1-20 พฤษภาคม 2563 พบว่า 52% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีแผนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศหลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 และนักท่องเที่ยว 31% มีแผนท่องเที่ยวต่างประเทศเมื่อผลิตวัคซีนได้แล้ว (ภาพที่ 13) ขณะเดียวกัน การวิจัยของ figgy.com และ Ctrip (เว็บบริษัทจัดการท่องเที่ยวออนไลน์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของจีน และเป็นอันดับ 2 ของโลก) พบว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่นักท่องเที่ยวจีนนึกถึงภายหลังวิกฤต COVID-19 รองลงมาได้แก่ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2563)
วิจัยกรุงศรีประเมินว่าการจับคู่ท่องเที่ยวระหว่างประเทศอาจเกิดขึ้นในปี 2564 ในระยะแรกอาจเริ่มเปิดเป็นรายพื้นที่เพื่อควบคุมและคัดกรองโรคได้ง่าย อาทิ จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เช่น ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เป็นต้น แม้ว่าในช่วงแรกการจับคู่ท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาไทยมากเท่าที่ควร แต่น่าจะช่วยเพิ่มความพร้อมต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป
การปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในช่วงที่ 3:
- สร้างความมั่นใจเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย และแนวทางการควบคุมโรคระบาด ซึ่งไทยเคยได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกด้านการบริหารจัดการสถานการณ์ COVID-19 ได้เป็นอย่างดีมาแล้ว และมีโรงแรมหลายแห่งทั่วประเทศได้รับตราสัญลักษณ์ SHA ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว
- สร้างกลุ่มพื้นที่ (Cluster) หรือจังหวัดนำร่องในการเป็นต้นแบบการรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ ทั้งนี้ควรจะเป็นพื้นที่ที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลัก และเป็นพื้นที่ปิด (เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย) เพื่อความสะดวกในการควบคุมโรค
ช่วงที่ 4: กอบกู้... เที่ยวไทยให้สนุก (Build-Back-Better)
นับเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง มีการเปิดพรมแดนการเดินทางระหว่างประเทศอย่างเสรี และผู้คนกลับมาสนุกกับการเดินทางท่องเที่ยว ช่วงนี้นักท่องเที่ยวมีความสบายใจในการเดินทางเหมือนก่อนเกิด COVID-19 เนื่องจากมีการใช้วัคซีนอย่างแพร่หลาย การเดินทางโดยเครื่องบินกลับสู่สภาพปกติ จำนวนนักท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกลับมาคึกคักดังเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจ การจัดประชุมนานาชาติ รวมถึงการจัดแสดงสินค้า แม้ว่าระยะเวลาของการฟื้นตัวเข้าสู่ช่วงนี้ยังมีความไม่แน่นอน แต่หากพัฒนาการในช่วงที่ 3 ผ่านพ้นไปด้วยดี ประกอบกับประเทศส่วนใหญ่เริ่มมีความมั่นใจและทยอยเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกประเทศได้มากขึ้น เหล่านี้จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการก้าวเข้าสู่ช่วงแห่งการฟื้นฟู ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมของไทยจึงควรต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการเร่งเสริมจุดแข็งและซ่อมจุดอ่อน (ดูเพิ่มที่ Box 1) เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับอนาคตของการท่องเที่ยวซึ่งมีลักษณะอย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้
Box 1: ศักยภาพของการท่องเที่ยวไทยในอนาคต
ไทยเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวสูง The Travel & Tourism Competitiveness Index ของ World Economic Forum (WEF) ระบุอันดับความสามารถด้านการท่องเที่ยวของไทยปี 2562 อยู่ที่ 31 (จาก 139 ประเทศทั่วโลก) ปรับดีขึ้นจากอันดับ 34 ในปี 2560 โดยไทยมีจุดแข็งอยู่ที่ความโดดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการนักท่องเที่ยว และด้านราคา แต่มีจุดอ่อนอยู่ที่ความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม (ภาพที่ 14)
วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองแรงโน้มถ่วง (Gravity model) เพื่อศึกษาความชื่นชอบของนักท่องเที่ยวจาก 48 ประเทศ พบว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวหลายประเทศ โดยได้รับการจัดอันดับติด 10 อันดับแรกจุดหมายปลายทางของเกือบทุกประเทศที่ทำการการศึกษา (ภาพที่ 15) โดยนักท่องเที่ยวจากอินเดีย รัสเซียและกัมพูชามองไทยเป็นจุดหมายท่องเที่ยวอันดับ 2 ขณะที่จีนและมาเลเซียมองไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางอันดับ 8 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศหากวิกฤต COVID-19 คลี่คลาย
จากแบบจำลองเดียวกัน พบว่า สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และราคาเป็นสามปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจท่องเที่ยว ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมมีอิทธิพลน้อยที่สุด
เมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาไทยมากที่สุด 20 อันดับแรกพบว่า สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ ราคา และความปลอดภัย เป็นปัจจัยสำคัญสามอันดับแรกในการตัดสินใจท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจากจีนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก ตามด้วยความพร้อมทาง ICT และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ขณะที่นักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านราคา
ไทยมีแนวโน้มเผชิญกับภาวะการแข่งขันด้านท่องเที่ยวที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากประเทศต่างๆ กำลังเร่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงหนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะประเทศที่เริ่มเปิดให้เดินทางเข้าออกและเป็นตลาดใหม่ในเวทีการท่องเที่ยว อาทิ เวียดนาม ซึ่งมีความได้เปรียบด้านทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่ยังใหม่และยังมีอยู่มาก อีกทั้งลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศคล้ายคลึงกับไทย ทั้งยังมีแผนจะขยายโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน บางประเทศได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากนักลงทุนต่างชาติ (โดยเฉพาะจีน) ซึ่งมีส่วนหนุนให้การลงทุนก่อสร้างโครงการพื้นฐานต่างๆ เป็นรูปธรรมเร็วขึ้น
ความหนาแน่นของสถานที่ท่องเที่ยวเป็นปัญหาหลักของการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไป การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวเป็นปัญหาสำคัญของการท่องเที่ยวไทยมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลซึ่งมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเร่งประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ แต่ขาดการพัฒนาสถานที่ดังกล่าวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต ผนวกกับขาดการจัดการที่เหมาะสม จึงเกิดความแออัดของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พัทยา ภูเก็ต หัวหิน เชียงใหม่ ทำให้เสน่ห์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวลดลง ซึ่งมีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมองหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่คล้ายคลึงกับไทย โดยเฉพาะในประเทศอาเซียนด้วยกัน อาทิ เวียดนาม เมียนมา และฟิลิปปินส์
การเดินทางข้ามภูมิภาคมีแนวโน้มลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวในภูมิภาคเดียวกันและในประเทศจะเพิ่มขึ้น จากความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลกและความกังวลเรื่องโรคระบาด ทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มให้ความสนใจท่องเที่ยวในประเทศตนเองและเดินทางในภูมิภาคเดียวกันทดแทนการเดินทางระยะไกลต่างภูมิภาค ส่วนหนึ่งเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ หลายประเทศมีแนวโน้มสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ทดแทนความไม่แน่นอนของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของ World Tourism Organization (UNWTO) ที่ระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวข้ามทวีป
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สถานที่ท่องเที่ยวแนววัฒนธรรมและความพร้อมทางด้าน ICT มีความสำคัญเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการนักท่องเที่ยว การคมนาคมทางบก และปัจจัยด้านสุขภาพ ขณะที่การคมนาคมทางอากาศและค่าใช้จ่ายมีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวลดลง (ภาพที่ 16)
ความต้องการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปลดทอนความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจท่องเที่ยวของไทย เมื่อมองไปข้างหน้า ปัจจัยที่เคยเป็นจุดเด่นของไทย เช่น บุคลากรด้านการท่องเที่ยว การคมนาคมทางอากาศ และราคา มีความสำคัญลดลง ขณะที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นจุดอ่อนของไทยกลับมีความสำคัญเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หลายประเทศเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการนักท่องเที่ยว พัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวและเปิดประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศใกล้เคียง ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ราคาถูกกว่า ทำให้ข้อได้เปรียบด้านการท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มลดลงในอนาคต
แม้ปัจจุบันศักยภาพในการแข่งขันของไทยในตลาดการท่องเที่ยวโลกจะอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ช่องว่างขีดความสามารถของไทยกับประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มลดลง ทำให้มุมมองการท่องเที่ยวของไทยที่มีต่อประเทศอื่นๆ อาจเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่แข่งขันมาเป็นร่วมมือกันมากขึ้น โดยไทยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากเดิมที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาเป็นการรับและกระจายต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงลดการแข่งขันด้านราคาระหว่างกัน แต่ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างความหลากหลายในการท่องเที่ยวด้วย โดยปัจจัยที่มีผลต่อความร่วมมือกัน ได้แก่ นโยบายการออกวีซ่าระหว่างกัน (Visa policy) โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมระหว่างกัน เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-พนมเปญ-โฮจิมินห์, ภูเก็ต-พังงา-ระนอง-ทะเลพม่า หรือรถไฟหาดใหญ่-กัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ เป็นต้น
Box 2: เทคโนโลยีที่จะมีบทบาทต่อการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่
- เทคโนโลยีดิจิทัลและอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อกับข้อมูลข่าวสารได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยในปัจจุบัน Deloitte คาดว่ามากกว่า 80% ของประชากรโลกมี Smart phone อย่างน้อย 1 เครื่อง ขณะเดียวกัน ประชากรประมาณ 33% ในประเทศพัฒนาแล้ว และ 50% ในประเทศกำลังพัฒนาใช้มือถือภายในห้านาทีหลังจากตื่นนอน แสดงให้เห็นว่า คนจำนวนมากใช้ Smart devices เป็นประจำโดยเฉพาะการติดต่อสื่อสารและค้นหาข้อมูล นักท่องเที่ยวสามารถสืบค้นข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมสามารถทำการตลาดผ่าน Social media หรือใช้ Application ต่างๆ อาทิ การจองห้องพัก (โดยตรงกับโรงแรมและผ่าน OTA) การจองรถ แผนที่ดิจิทัล เป็นต้น
- เทคโนโลยีโลกเสมือน ได้แก่ Augmented reality และ Virtual reality ซึ่งเป็นการผสมผสานวัตถุหรือสถานที่จำลองไว้กับโลกจริง โดยผ่านการรับรู้จากการมองเห็น สัมผัส เสียง หรือแม้กระทั่งกลิ่น โดยเทคโนโลยีโลกเสมือนสามารถเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การเลือกสถานที่ การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ที่ให้ความรู้หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การใช้ Google street view เพื่อดูสถานที่ต่างๆ หรือใช้ในการนำทาง
- การวิเคราะห์ข้อมูลจะช่วยยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการในธุรกิจให้สามารถตอบสนองลูกค้าได้ดีขึ้น ปัจจุบันมีข้อมูลเกิดใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว การเดินทาง และที่ตั้ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ความต้องการของนักท่องเที่ยวและสามารถตอบสนองความต้องการได้เหมาะสมและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ความสามารถในการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความแตกต่างระหว่าง Brand
ปรับกลยุทธ์ธุรกิจโรงแรมให้พร้อมรับมือภูมิทัศน์ของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป
วิจัยกรุงศรีมองว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะยังซบเซาในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ก่อนจะทยอยฟื้นตัวพร้อมไปกับการเกิดวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ (New normal) การดำเนินธุรกิจแบบเดิมอาจไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมจึงควรเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน อาทิ การบริหารจัดการสภาพคล่อง การตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้ตรงใจ การบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงการหาโอกาสใหม่ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว โดยมีรายละเอียดดังนี้
Box 3: ข้อเสนอแนะทางนโยบาย (Industry Policy Recommendations)
- การพัฒนาแผนปฏิบัติงานด้านการป้องกันการแพร่ระบาดและมาตรฐานด้านสุขภาพ (Outbreak control measures and health standards) จากนี้ไปผู้คนจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสุขภาพมากขึ้น การออกใบรับรองตามมาตรฐาน (Certification) จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวและลูกค้าของโรงแรม จึงควรมีการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าใจในมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศ และให้ความรู้กับพนักงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรค
- มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศยังจำเป็นต่อผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม โดยเฉพาะในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ ดังนั้น วิจัยกรุงศรีมองว่า การขยายเวลามาตรการ ”เราเที่ยวด้วยกัน” ไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปี 2564 จะช่วยพยุงสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงมาตรการวันหยุดยาวเพื่อกระตุ้นให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ
- เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยการเร่งเสริมจุดแข็งและซ่อมจุดอ่อน จากการวิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขัน (ดูเพิ่มที่ Box 1) วิจัยกรุงศรีเสนอให้เสริมจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติ ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ประกอบกับให้ความรู้ไปยังท้องถิ่นเพื่อช่วยพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในเมืองรอง จัดหาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ และพยายามซ่อมแซมจุดอ่อนในระดับพื้นที่ เช่น เพิ่มความเข้มข้นในด้านความปลอดภัย ยกระดับการให้ความสำคัญกับสุขภาพและอนามัย เดินหน้าพัฒนาปรับปรุงด้านความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โรงแรมในอนาคตต้องให้บริการที่หลากหลายและสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าจะเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมควรมีมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนโรงแรมเป็นศูนย์พักฟื้นผู้ป่วย ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องอาศัยเงินลงทุนและทักษะใหม่นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจโรงแรมแบบเดิม การช่วยเหลือจากภาครัฐจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จะส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยว รวมถึงช่วยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการและกำลังแรงงาน (Reskill / Upskill) ในธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมต่อไป
[1] จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวแห่งใหม่ อาทิ บุรีรัมย์ สระบุรี เป็นต้น
[2] นวัตวิถี (นวัตกรรม+วิถีชีวิต) หมายถึง การท่องเที่ยวที่เน้นส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรม เรียนรู้ความเป็นอยู่ อาหารการกิน ฯลฯ ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่มีการนำสินค้าในชุมชนออกไปขายภายนอก
[3] ต้นทุนคงที่ประกอบด้วยค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค และค่าบริหารโรงแรม