EVFTA เปิดโอกาสใหม่ทางการค้า-การลงทุนของเวียดนาม แต่อาจสร้างความเสี่ยงต่อไทย

EVFTA เปิดโอกาสใหม่ทางการค้า-การลงทุนของเวียดนาม แต่อาจสร้างความเสี่ยงต่อไทย

16 มกราคม 2563

ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) เป็นความตกลงแรกของเวียดนามที่เปิดเสรีการค้าเกือบทุกรายการสินค้า อีกทั้งยังครอบคลุมการเปิดเสรีการบริการและการลงทุนในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่เวียดนามมีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ ลดการผูกขาดของกิจการของรัฐ และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ประเด็นเหล่านี้ไม่เพียงสร้างความโดดเด่นให้กับ EVFTA แต่ยังช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ด้านการค้าและการลงทุนให้แก่เวียดนาม แม้ในระยะแรก เวียดนามอาจเผชิญความท้าทายในการปรับตัวให้สอดรับกับเงื่อนไขและมาตรฐานที่สูงขึ้นภายใต้ความตกลงนี้ แต่ในระยะต่อไปจะทำให้เวียดนามมีศักยภาพในการส่งออกมากขึ้น สามารถดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ และช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราสูงขึ้น ที่สำคัญจะช่วยให้เวียดนามเพิ่มแต้มต่อและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว สำหรับประเทศไทยอาจได้รับผลข้างเคียงเชิงลบ โดยสินค้าไทยมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ขณะเดียวกันการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU อาจส่งผลให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกชิงส่วนแบ่งตลาดในเวียดนามและ EU มากขึ้นในระยะนับจากนี้
 

EVFTA เป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกของเวียดนามที่มีการเปิดเสรีการค้าเกือบ 100%

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2019 ทางการเวียดนามและสหภาพยุโรป (The European Union: EU) ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU- Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) [1] ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ความตกลงดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในครึ่งแรกของปี 2020 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 รัฐสภายุโรป (European Parliament) จะจัดให้มีการลงมติเห็นชอบความตกลงฯ และเมื่อทางการ EU และเวียดนามได้แจ้งการเสร็จสิ้นกระบวนการตามกฎหมายต่อกันแล้ว ความตกลงจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 เดือนหลังจากนั้น สำหรับความตกลง EVFTA ฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าครั้งสำคัญของเวียดนามในการเชื่อมโยงประเทศสู่เวทีการค้าการลงทุนระดับโลก โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ (1) ความตกลง EVFTA มีระดับการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกือบ 100% สูงสุดในบรรดาความตกลงที่เวียดนามลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว[2] กล่าวคือ เมื่อทั้งสองฝ่ายลดภาษีนำเข้าระหว่างกันครบตามข้อผูกพันภายใต้ความตกลงฯ สัดส่วนสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าทั้งหมดจะครอบคลุมร้อยละ 99 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างสองฝ่าย (กล่าวคือ EU จะยกเว้นภาษีนำเข้าให้เวียดนามคิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 99.2 และเวียดนามจะยกเว้นภาษีเป็นสัดส่วนร้อยละ 98.3) (2) เวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนถัดจากสิงคโปร์ ที่ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกับ EU3/ และ (3) เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนารายแรกที่บรรลุความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูง [4] กับ EU ซึ่งนอกเหนือจากการเปิดเสรีการค้าการลงทุนในเชิงปริมาณ (ในลักษณะของการลดอัตราภาษีนำเข้าหรือการเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ) ยังรวมถึงการปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐาน ความเท่าเทียมในการแข่งขัน ตลอดจนการยกระดับความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทางเทคนิคระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสของเวียดนามในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป
 

 

เวียดนามเปิดเสรีการค้า-การลงทุนในระดับสูงสุดภายใต้ความตกลง EVFTA​

ความตกลง EVFTA เป็นความตกลงทวิภาคีที่มีการเปิดเสรีการค้าสินค้าในระดับสูงเกือบ 100% ซึ่งสูงสุดในบรรดา FTA ที่เวียดนามมีอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการเปิดเสรีด้านบริการที่ครอบคลุมสาขามากขึ้นโดยนักลงทุนของสองฝ่ายสามารถเข้าถือครองหุ้นได้ในสัดส่วนสูงกว่านักลงทุนจากประเทศอื่นและสูงสุดถึง 100% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของธุรกิจนั้น ๆ ได้  ไม่เพียงเท่านี้ ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงแรกที่ทางการเวียดนามเปิดกว้างให้นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าประมูลสัญญาของภาครัฐได้

  • การเปิดเสรีการค้าสินค้า EU จะลดภาษีให้เวียดนามในสัดส่วนสินค้าที่มากกว่าและกรอบเวลาที่สั้นกว่าเวียดนาม (ภาพที่ 2) สรุปได้ดังนี้
    • EU จะยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าแก่เวียดนามเป็นสัดส่วนร้อยละ 85.6 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกัน (Tariff lines) ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และจะทยอยยกเว้นภาษีเพิ่มเติมจนมีสัดส่วนร้อยละ 99.2 ภายในระยะเวลา 8 ปีนับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (ตารางที่ 1) ที่เหลือร้อยละ 0.8 ของรายการสินค้าทั้งหมด จะได้รับโควตายกเว้นภาษีนำเข้า (Tariff Quotas: TRQs) โดยสินค้าสำคัญที่ EU เสนอให้ TRQs แก่เวียดนาม อาทิ ปลาทูน่ากระป๋อง ข้าว ข้าวโพด และน้ำตาล เป็นต้น (ภาคผนวกที่ 1)
    • เวียดนาม จะยกเว้นภาษีนำเข้าแก่ EU เป็นสัดส่วนร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าที่มีการค้าระหว่างกันทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ และจะทยอยยกเว้นภาษีเพิ่มเติมจนมีสัดส่วนร้อยละ 98.3 ภายในระยะเวลา 11 ปีนับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ที่เหลืออีกร้อยละ 1.7 จะทยอยลดภาษีตามกรอบเวลาหรือให้ TRQs ตามที่เวียดนามได้ตกลงไว้กับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)

สำหรับกรอบระยะเวลาการลดภาษีนำเข้าของเวียดนามแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามวัตถุประสงค์การนำเข้า

  1. กลุ่มที่เวียดนามยกเว้นภาษีนำเข้าแก่ EU ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ เป็นสินค้ากลุ่มต้นน้ำและกลางน้ำเพื่อป้อนความต้องการในห่วงโซ่การผลิตของเวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าต้นน้ำซึ่งเวียดนามยังต้องพึ่งพาการนำเข้าด้วยเหตุผลต่าง ๆ  ทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ กำลังการผลิตไม่เพียงพอ ตลอดจนห่วงโซ่การผลิตยังไม่ครอบคลุม สินค้าสำคัญ อาทิ (i) สิ่งทอ (เช่น เส้นด้าย เส้นใย และผ้าผืน) เป็นสินค้าต้นน้ำสำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13 ของการส่งออกทั้งหมด และ(ii) เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นกลุ่มสินค้าพื้นฐานเพื่อใช้ในการผลิตที่เวียดนามได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้าแก่โครงการลงทุนต่าง ๆ  ภายใต้นโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศ ปัจจุบันเวียดนามนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้มากเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนเกือบร้อยละ 10 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด (ตารางที่ 2)
  2. กลุ่มที่เวียดนามทยอยปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจาก EU ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่เวียดนามสามารถผลิตได้เองภายในประเทศ แต่ผู้ประกอบการท้องถิ่นยังต้องการเวลาในการปรับตัวหรือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ เคมีภัณฑ์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น (ตารางที่ 2)


  • การเปิดเสรีด้านบริการ ภายใต้ EVFTA เวียดนามมีการเปิดเสรีในระดับสูงกว่าที่ตกลงไว้กับ WTO และสูงกว่าความตกลงอาเซียน

ปัจจุบันเวียดนามเปิดเสรีด้านบริการแก่ประเทศต่าง ๆ  โดยอาศัยหลักการลดและเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคการลงทุนและการให้บริการครอบคลุม 12 สาขาหลักตาม WTO5/ และได้เปิดเสรีด้านบริการภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreement: ASEAN FTA) [6] ในระดับที่สูงกว่า WTO  ทั้งนี้ เวียดนามเปิดเสรีด้านบริการภายใต้ EVFTA ในระดับสูงสุดของทุกความตกลงที่ประเทศมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ครอบคลุมรูปแบบบริการทั้ง 4 รูปแบบ (Mode) ได้แก่ Mode 1 - การให้บริการข้ามพรมแดน Mode 2 - การบริโภคในต่างประเทศ Mode 3 - การจัดตั้งธุรกิจ และ Mode 4- การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาเพื่อให้บริการ7/ (เปิดให้เฉพาะการเดินทางเพื่อกิจกรรมทางธุรกิจ อาทิ การเจรจาต่อรองทางธุรกิจ และโอนย้ายภายในบริษัท) จากตารางที่ 3 จะเห็นว่า เวียดนามเปิดเสรี Mode 1 และ Mode 2 เกือบทุกสาขาบริการ (สาขาที่ไม่เปิดเสรี อาทิ บริการทางการเงินบางประเภท การขนส่งบางประเภท) และใน Mode 3 เปิดเสรีให้ EU ถือหุ้นได้ในสัดส่วนสูงกว่าที่เปิดให้นักลงทุนจากอาเซียน อีกทั้งยังเปิดเสรีบริการหลายสาขาในระดับสูงสุดคือ ไม่มีเงื่อนไขในการลงทุน สำหรับ EU การเปิดเสรีของสมาชิกแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปในแต่ละสาขาบริการ [8]

  • การเปิดเสรีการลงทุน: ภายใต้ความตกลง EVFTA เวียดนามเปิดเสรีในระดับสูงกว่าทุกความตกลงที่ประเทศมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
    • การเปิดเสรีการลงทุนในสาขาการผลิต เวียดนามและ EU เปิดเสรีการลงทุนเกือบทุกสาขา มีข้อยกเว้นเพียงบางสาขา โดยเวียดนามขอยกเว้นการเปิดเสรีในสาขาสงวน (ภาคผนวกที่ 3) และ EU ไม่เปิดเสรีการลงทุนในสาขาการผลิต/การกระจาย/การส่งไฟฟ้า การผลิตก๊าซ การกระจายสินค้าเชื้อเพลิงจากก๊าซ และการผลิตไอน้ำและน้ำร้อน นอกจากนี้ การเปิดเสรีการลงทุนในสาขาการผลิตของเวียดนามภายใต้ EVFTA มีระดับการเปิดเสรีสูงกว่าความตกลงอาเซียนด้วยเงื่อนไขที่น้อยกว่าโดยเปรียบเทียบหรือไม่มีเงื่อนไขเลย อาทิ การผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์จากกระดาษ (ISIC2101) การผลิตผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก (ISIC2520) การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน (ISIC2930) ซึ่งเวียดนามเปิดเสรีโดยไม่มีเงื่อนไขภายใต้ EVFTA ส่วนความตกลงอาเซียนมีเงื่อนไขว่าต้องมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
    • สำหรับการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาบริการ นักลงทุนจาก EU สามารถลงทุนในเวียดนามได้เสรีและถือหุ้นได้ในสัดส่วนสูงสุดถึง 100% ในหลายสาขาบริการ และสูงกว่าที่นักลงทุนจากอาเซียนได้รับอนุญาต จากตารางที่ 4 จะเห็นได้ว่า เวียดนามเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลง EVFTA ในระดับสูงกว่ากฎหมายการลงทุนของประเทศและสูงกว่าความตกลงอาเซียนซึ่งเป็นความตกลงที่ต่างชาติได้รับอนุญาตให้ลงทุนสูงสุดในปัจจุบัน อาทิ ธุรกิจการค้าส่ง/ค้าปลีก ซึ่งนักลงทุนจาก EU สามารถลงทุนได้สูงสุด 100% และไม่ต้องทำการประเมินความต้องการทางเศรษฐกิจ (Economic Need Test: ENT) หลังการลงทุนมาเป็นระยะเวลา 5 ปี และธุรกิจบริการขนส่งทางทะเล ทางราง ทางถนน และทางน้ำ นักลงทุนจาก EU สามารถลงทุนในทุกสาขาย่อยได้สูงสุดร้อยละ 70 นับเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าความตกลงอาเซียนที่กำหนดให้ลงทุนในบางสาขาได้สูงสุดร้อยละ 49 เท่านั้น ขณะที่สมาชิก EU ทุกประเทศจะเปิดเสรีการลงทุนโดยไม่มีข้อจำกัดในสาขาบริการแก่นักลงทุนจากเวียดนามในสาขาไปรษณีย์การส่งพัสดุ การค้าส่ง-ค้าปลีกยานยนต์ การค้าส่งอุปกรณ์เทอร์มินอลสำหรับโทรคมนาคม และการค้าปลีกอาหาร เป็นต้น ส่วนสาขาที่เหลือจะมีการเปิดเสรีในระดับที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ เวียดนามและทุกประเทศใน EU จะเปิดเสรีการลงทุนระหว่างกันภายใต้ความตกลง EVFTA และจะยกเลิกความตกลงด้านการลงทุนระดับทวิภาคี (Bilateral Investment Treaties: BITs) ฉบับเดิมระหว่างเวียดนามและสมาชิก EU แต่ละประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 21 ฉบับ

  • การเปิดเสรีด้านอื่น ๆ : ความตกลง EVFTA ยังเป็นความตกลงฯ ที่มีมาตรฐานสูงและครอบคลุมกว่าความตกลงอื่นที่เวียดนามมีอยู่ โดยเฉพาะการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานและสัญญาของรัฐได้ อีกทั้งยังให้ความคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของนักลงทุนต่างชาติ
การประมูลงานและสัญญาของรัฐ (Public contracts): เป็นครั้งแรกที่เวียดนามเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าประมูลงานของรัฐได้
ภายใต้ความตกลง EVFTA นักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานและสัญญาของรัฐ ที่อยู่ภายใต้อำนาจระดับกระทรวงของเวียดนาม รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (อาทิ ถนน ท่าเรือ) สาธารณูปโภคต่าง ๆ  (ครอบคลุมการจำหน่ายไฟฟ้า การดำเนินการระบบราง กิจการโรงพยาบาลของรัฐ 34 แห่ง) ตลอดจนสัญญางานของกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ นอกจากนี้ ยังสามารถเสนอราคาประมูลงานของรัฐบาลเวียดนามภายใต้ข้อตกลงการประมูลภาครัฐ (Government Procurement Agreement: GPA) ได้
การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GIs): ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ความคุ้มครองสิทธิดังกล่าวของแต่ละฝ่ายตามความตกลงสากลภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งเป็นครั้งแรกของเวียดนามที่มีความตกลงด้านนี้
  1. ทั้งสองฝ่ายตกลงให้ความคุ้มครองระหว่างกันตามความตกลงสากล โดยเฉพาะความตกลงว่าด้วยสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Trade - Related Aspect of Intellectual Property Rights: TRIPS) ภายใต้ WTO ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 7 ประเภท ได้แก่ ลิขสิทธิ์และสิทธิอื่นที่เกี่ยวข้อง เครื่องหมายการค้า แบบอุตสาหกรรม สิทธิบัตร การออกแบบวงจรรวมการคุ้มครองข้อมูลสารสนเทศที่ไม่เปิดเผย และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
  2. ความคุ้มครองดังกล่าว จะเอื้อให้นักลงทุนของทั้งสองฝ่ายสามารถปกป้องผลประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาของตน นอกจากนี้ผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิจะได้รับการเยียวยาตามแนวทางที่ได้ตกลงกันไว้
  3. ภายใต้ความตกลง EVFTA เวียดนามจะคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของ EU รวม 169 รายการ ครอบคลุมสินค้าประเภทไวน์ วิสกี้แชมเปญ เบคอน ชีส แฮม เป็นต้น ขณะที่ EU จะคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของเวียดนาม 39 รายการ ครอบคลุมสินค้าประเภทชา กาแฟ ข้าว ส้ม ส้มโอ เป็นต้น โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ได้รับการคุ้มครองเป็นสินค้าเกษตรและอาหาร (ภาคผนวกที่ 4)
  4. กิจการรัฐวิสาหกิจและกิจการผูกขาด: ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการแข่งขันที่มีความเท่าเทียม เป็นธรรมและโปร่งใส และลดการผูกขาดของรัฐ โดยอาศัยหลักการเชิงพาณิชย์ (Commercial considerations) อาทิ การกำหนดราคา คุณภาพ และการตลาด ทั้งนี้ เวียดนามได้ยกเว้นการเปิดเสรีบางประเด็น อาทิ ประเด็นการแปรรูป/การกระจายหุ้น/การถอนหุ้น/การปรับโครงสร้างของรัฐวิสาหกิจ และการยกเว้นข้อตกลงด้านการดำเนินงานตามหลักการเชิงพาณิชย์และความโปร่งใสสำหรับกิจการรัฐวิสาหกิจ 6 ราย ได้แก่ Vietnam Oil and Gas Group (PETROVIETNAM) Vietnam Electricity (EVN) Vietnam National Coal-Minerals Holding Corporation Limited (Vinacomin) State Capital Investment Corporation (SCIC) และ Debt and Asset Trading Corporation (DATC) เป็นต้น
  5. กลไกระงับข้อพิพาท: ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการหลีกเลี่ยงและระงับข้อพิพาทระหว่างกัน โดยมีการหารือร่วมกัน หรือจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเป็นตัวกลางในการจัดการปัญหา

EVFTA สร้างความได้เปรียบด้านการค้า ดึงดูดการลงทุน และหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนาม

ในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกของเวียดนามไป EU เติบโตแข็งแกร่งและได้เปรียบในการแข่งขันด้านภาษีจากสิทธิพิเศษ Standard GSP โดย EU เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของเวียดนาม คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 17 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในปี 2018 (ภาพที่ 3) ขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตของการส่งออกของเวียดนามไป EU ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 18.1 ต่อปี แข็งแกร่งกว่าการส่งออกโดยรวมที่ขยายตัวร้อยละ 17.5 ต่อปี  ส่วนหนึ่งเนื่องจากเวียดนามได้เปรียบด้านภาษีซึ่ง EU จัดเก็บจากเวียดนามภายใต้สิทธิพิเศษ Standard GSP ตั้งแต่ปี 2009 ทำให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ต่ำกว่าอัตราภาษีเฉลี่ยที่ EU จัดเก็บจากประเทศต่าง ๆ  ที่ร้อยละ 4.6 (Source: Eurostat) ทั้งนี้ เวียดนามเป็นหนึ่งใน 2 ประเทศอาเซียนที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีประเภท Standard GSP จาก EU (ตารางที่ 5) โดยสิทธิพิเศษดังกล่าวจะยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าจำนวนร้อยละ 66 ของรายการสินค้านำเข้าทั้งหมดของ EU จากประเทศนั้น ๆ ส่วนรายการสินค้าที่เหลือ (ร้อยละ 44) จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในอัตราที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทสินค้า ทำให้ภาษีเฉลี่ยภายใต้สิทธิ Standard GSP ต่ำกว่าภาษีเฉลี่ยที่ EU จัดเก็บจากการนำเข้าปกติ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสินค้าบางรายการ โดยเฉพาะสินค้าอ่อนไหว จะไม่เข้าข่ายการยกเว้นภาษี และมีอัตราภาษีนำเข้าในอัตราสูงกว่าระดับเฉลี่ย อาทิ สินค้าในกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง สินค้าเกษตร และอาหาร เป็นต้น (ภาพที่ 4)
 

  • EVFTA ช่วยให้เวียดนามมีความได้เปรียบด้านการแข่งขันในตลาด EU แม้สิทธิพิเศษ Standard GSP จะสิ้นสุดลง
โดยทั่วไป สิทธิพิเศษ Standard GSP ของ EU จะสิ้นสุดลงใน 2 กรณี คือ (1) ประเทศนั้น ๆ ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอื่นที่เทียบเท่าหรือมากกว่าสิทธิพิเศษ Standard GSP  หรือ (2) ประเทศนั้น ๆ มีสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง-สูงหรือรายได้สูง สำหรับเวียดนามเข้าเกณฑ์ข้อแรก เนื่องจากสิทธิประโยชน์จากความตกลง EVFTA มากกว่า Standard GSP อย่างชัดเจน กล่าวคือ ภายใต้ความตกลง EVFTA เวียดนามได้รับการยกเว้นภาษีทันทีสำหรับจำนวนสินค้ามากถึงร้อยละ 85.6 ของรายการสินค้าทั้งหมดที่ EU นำเข้าจากเวียดนาม และการยกเว้นภาษีจะครอบคลุมสินค้าเกือบทั้งหมดในอีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าสิทธิพิเศษ Standard GSP ที่ลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าร้อยละ 66 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมดเท่านั้น สำหรับตัวอย่างสินค้าที่เวียดนามได้รับการยกเว้นภาษีทันทีภายใต้ความตกลงฯ และไม่ได้รับลดภาษีภายใต้สิทธิพิเศษ Standard GSP เช่น กาแฟและชา(มีสัดส่วนร้อยละ 3.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเวียดนามไป EU) ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง (ร้อยละ 2.5) และเฟอร์นิเจอร์และเครื่องนอน (ร้อยละ 2.6) เป็นต้น นอกจากนี้ เมื่อเวียดนามเปลี่ยนสถานะเป็นประเทศรายได้ปานกลาง-สูง (ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเวียดนามจะยกระดับสถานะของประเทศได้ราวปี 2035) ความตกลง EVFTA จะเป็นหลักประกันให้เวียดนามยังคงได้เปรียบทางภาษีในการส่งออกไปตลาด EU ต่อไป เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ  รวมถึงไทยที่ยังไม่มีความตกลงการค้าเสรีกับ EU
  • ผลจากการเปิดเสรีการค้า คาดว่าจะทำให้การส่งออกและการลงทุนของเวียดนามเพิ่มขึ้นชัดเจน
ในการวิเคราะห์ผลกระทบจากการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าภายใต้ความตกลง EVFTA วิจัยกรุงศรี ใช้แบบจำลอง Global Trade Analysis Project (GTAP) เพื่อประเมินผลเบื้องต้นต่อการส่งออก การลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนามและประเทศอื่น ๆ  รวมทั้งไทย โดยสามารถสรุปผลได้ดังนี้

1)การลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใต้ความตกลง EVFTA จะทำให้การส่งออกของเวียดนามไป EU เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 นำโดยสิ่งทอและอาหาร

เมื่อพิจารณาผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม (ภาพที่ 5) พบว่า มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไป EU จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 โดยสินค้าที่ได้ผลบวกจากการยกเว้นภาษีภายใต้ความตกลงฯ มากที่สุดคือ สินค้ากลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนัง และรองเท้า รองลงมาคือ กลุ่มอาหารเครื่องดื่มและยาสูบ และกลุ่มอุปกรณ์การขนส่ง และกลุ่มสินค้าเกษตร ประมงและป่าไม้ ทั้งนี้ ขนาดของผลเชิงบวกจะขึ้นอยู่กับส่วนต่างภาษีระหว่างก่อนและหลังความตกลง EVFTA กล่าวคือ สินค้าที่จะได้รับผลเชิงบวกสูง คือ สินค้าที่อัตราภาษีลดลงมากซึ่งช่วยให้การส่งออกของเวียดนามแข่งขันด้านราคาได้เพิ่มขึ้นและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น  สำหรับสินค้าที่อาจส่งออกได้ลดลงเนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรไปใช้ในสาขาการผลิตที่ได้รับผลเชิงบวกแทน หรืออาจมีการนำเข้าจาก EU มาทดแทนการผลิต เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น

เมื่อเปรียบเทียบผลกระทบจากความตกลง EVFTA ของเวียดนามกับประเทศอื่น ๆ  ในตลาดโลก พบว่า มูลค่าการส่งออกโดยรวมของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน (+1.44%) อีกทั้งยังมีผลทางบวกต่อการส่งออกของหลายประเทศและการส่งออกของโลกโดยรวม (+0.02%) อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกของไทยอาจได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุดโดยเปรียบเทียบ (ภาพที่ 6)

2)การลงทุนในเวียดนามจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากการย้ายฐานการผลิตเพื่อใช้สิทธิทางภาษี

ปัจจุบัน EU เป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 6 ของเวียดนาม มีมูลค่าการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI) ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5.6 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในเวียดนาม (ภาพที่ 7) สำหรับสาขาการลงทุนสำคัญที่ EU เข้าไปลงทุนสูงสุด ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า และภาคอสังหาริมทรัพย์

ในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงของ EU ในเวียดนามเติบโตค่อนข้างแข็งแกร่งเฉลี่ยร้อยละ 10.5 ต่อปี (CAGR 2009-2018) โดยประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่จาก EU เกือบทุกประเทศมีการลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นมากในอัตราเลขสองหลัก (ภาพที่ 8) สะท้อนความสนใจของนักลงทุนต่อตลาดเวียดนาม เมื่อประกอบกับผลบวกจากการเปิดเสรีการค้าภายใต้ความตกลง EVFTA จะยิ่งช่วยดึงดูดการลงทุนเข้าสู่เวียดนามในอนาคต
จากภาพที่ 9 จะเห็นว่า การยกเว้นภาษีนำเข้าจะส่งผลให้การลงทุนของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ขณะที่การลงทุนรวมในหลายประเทศ รวมถึงไทย ปรับลดลง ซึ่งอาจเป็นผลจากการขยายการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตเข้าสู่เวียดนาม

ทั้งนี้ ด้วยแรงหนุนจากการส่งออก การลงทุน และความได้เปรียบในการแข่งขันจากการยกเว้นภาษีนำเข้า คาดว่าจะทำให้ GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.267 ขณะที่ GDP ในหลายประเทศรวมทั้งไทยได้รับผลเชิงลบ สำหรับประเทศที่ได้รับผลกระทบทางลบมากที่สุดจะเป็นกัมพูชาซึ่งมีโครงสร้างการส่งออกที่พึ่งพาตลาด EU ค่อนข้างมาก (คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา) และมีโครงสร้างการส่งออกคล้ายคลึงกับเวียดนาม โดยเฉพาะสินค้าเครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูป

  • การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุน รวมถึงความร่วมมืออื่น ๆ ภายใต้ EVFTA จะยิ่งส่งผลเชิงบวกต่อเวียดนามในระยะยาว

​การวิเคราะห์ข้างต้นเป็นการประเมินผลกระทบเฉพาะในส่วนของการเปิดเสรีการค้าหรือผลจากการยกเว้นภาษีนำเข้าของ EU และเวียดนามเท่านั้นเมื่อพิจารณาถึงประเด็นอื่น ๆ ที่อยู่ภายใต้ความตกลง EVFTA พบว่า มีนัยสำคัญต่อการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมถึงโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของเวียดนาม ประเด็นดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่
  1. การเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุนในเชิงลึกและกว้างมากขึ้นภายใต้ความตกลง EVFTA เอื้อให้เวียดนามมีโอกาสดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น กล่าวคือ นักลงทุนจาก EU สามารถถือหุ้นในธุรกิจต่าง ๆ ได้ในสัดส่วนสูงขึ้นและสูงกว่าความตกลงการค้าเสรีอื่นที่เวียดนามมีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังสามารถลงทุนในสาขาธุรกิจที่หลากหลายและครอบคลุมสาขาธุรกิจมากกว่าความตกลงอื่นที่เวียดนามบังคับใช้อยู่
  2. การเปิดกว้างด้านการประมูลงานและสัญญาของรัฐ เป็นโอกาสดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยนักลงทุนจาก EU สามารถเข้าร่วมประมูลงานของรัฐและเข้าร่วมโครงการลงทุนของภาครัฐได้เป็นครั้งแรก ขณะที่เวียดนามจะได้ประโยชน์จากการสรรหาผู้รับงานที่หลากหลาย มีประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยให้การดำเนินโครงการต่าง ๆ สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. ความร่วมมือด้านต่างๆ ภายใต้ความตกลงฯ จะส่งผลเกื้อหนุนการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว นอกเหนือจากการเปิดเสรีด้านการค้า บริการ และการลงทุนแล้ว ความตกลง EVFTA ยังมีประเด็นครอบคลุมถึงการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม การลดการผูกขาดของรัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ ประเด็นเหล่านี้ช่วยยกระดับมาตรฐานการค้าและการลงทุนของเวียดนามให้เข้าใกล้ความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น สำหรับความคืบหน้าของประเด็นเหล่านี้ยังมีปัจจัยหนุนจากในประเทศ อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ให้เข้มแข็งและครอบคลุมห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น  โดยรวมแล้วคาดว่าจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจและอุตสาหกรรมของเวียดนามให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป

EVFTA อาจส่งผลเชิงลบต่อไทย จากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางภาษี รวมทั้งผลกระทบจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างเวียดนามและ EU

  • ผลจากการยกเว้นภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลง EVFTA จะส่งผลสุทธิทางลบต่อการส่งออกของไทยโดยรวมไปเวียดนามและ EU

ผลจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade diversion) และการย้ายฐานการลงทุน (Investment relocation) ที่เกิดขึ้นจากความตกลง EVFTA จะทำให้ประเทศอื่นมีแนวโน้มได้รับผลกระทบเชิงลบ ผลจากการวิเคราะห์ (ภาพที่ 6 และภาพที่ 9) พบว่า การส่งออกโดยรวมของไทยจะลดลงร้อยละ 0.005 และไทยจะมีการลงทุนรวมลดลงร้อยละ 0.052 แม้ในเชิงตัวเลขจะไม่มากนักแต่ผลเชิงลบต่อไทยอยู่ในลำดับต้นเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

เมื่อพิจารณาเฉพาะตลาด EU และเวียดนาม (จากภาพที่ 11) จะพบว่า การยกเว้นภาษีนำเข้าของทั้งสองฝ่ายจะส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลงสุทธิร้อยละ 0.02 โดยสินค้าส่งออกหลักหลายรายการมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลสุทธิเชิงลบ โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่นกลุ่มอุปกรณ์การขนส่งและสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ อุปกรณ์การขนส่ง (ลดลงร้อยละ 0.35) ยานยนต์และส่วนประกอบ (ลดลงร้อยละ 0.31) และอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ (ลดลงร้อยละ 0.04) เป็นต้น สินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางในการผลิต เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ลดลงร้อยละ 0.02) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงร้อยละ 0.005) นอกจากนี้ สินค้าเหล่านี้มีการพึ่งพาตลาด EU และเวียดนามค่อนข้างมาก จึงเป็นกลุ่มที่ควรระมัดระวัง สำหรับสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและสินค้าต้นน้ำ มีโอกาสได้ประโยชน์ด้านการส่งออกตามการขยายห่วงโซ่การผลิตจากการเปิดเสรีการค้า อาทิ สิ่งทอ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.48) สินค้าเกษตร (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.43) ผลิตภัณฑ์แร่อโลหะ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและถ่านหิน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.10) เป็นต้น อย่างไรก็ดี กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มน้อย ผลบวกที่มีต่อไทยจึงอาจไม่มากนัก

  • การส่งออกไทยไปเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 จากการสูญเสียความได้เปรียบทางภาษี

ในปัจจุบันไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับต้นๆ ของเวียดนาม (ภาพที่ 12) เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้านภาษีจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนเมื่อเวียดนามเปิดเสรีการค้าภายใต้ความตกลง EVFTA อัตราภาษีนำเข้าที่เวียดนามเก็บจากสินค้า EU จะลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 4.8 (ภาพที่ 13) เหลือร้อยละ 0 เวียดนามจึงมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าจาก EU ทดแทนสินค้าจากไทย ผลการศึกษาของวิจัยกรุงศรี พบว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างเวียดนามและ EU จะทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังเวียดนามลดลงร้อยละ 0.17 (ภาพที่ 14) สำหรับในปีแรกที่ความตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้สัดส่วนสินค้าที่เวียดนามลดภาษีนำเข้าให้ EU ทันทีจะอยู่ที่ร้อยละ 48.5 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเชิงลบในระยะแรก ได้แก่ โพรลิเอทิลีน (HS390120/ HS390210) เครื่องส่งวิทยุ/โมเด็ม/แลนด์ไร้สาย (HS851762) ไดโอด/อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (HS854140) และแผงวงจรไฟฟ้า (HS854231) เป็นต้น

  • การส่งออกไทยเผชิญความท้าทายมากขึ้น จากการเปิดเสรีด้านบริการ การลงทุน และความร่วมมือด้านอื่น ๆ  ภายใต้ EVFTA

แม้ขนาดผลกระทบในเชิงตัวเลขจากการยกเว้นภาษีนำเข้าของ EU และเวียดนามที่มีต่อไทยอาจไม่สูงนัก แต่การส่งออกและการลงทุนของไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความท้าทายมากขึ้นในระยะข้างหน้า จากปัจจัยสำคัญดังนี้

  1. ไทยอาจเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการที่เวียดนามเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยในตลาดเวียดนาม มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดเสรีการลงทุนภายใต้ความตกลง EVFTA (เพิ่มเติมจากการเปิดเสรีการค้า) จะยิ่งเอื้อให้เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจาก EU และประเทศอื่น ๆ เข้าสู่ประเทศมากขึ้นเพื่อเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตของเวียดนามและอาศัยสิทธิประโยชน์ของความตกลงฯ ในการขยายการส่งออกไปตลาด EU ขณะทีในตลาด EU สินค้าไทยอาจถูกชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออกหลักที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับสินค้าส่งออกหลักของเวียดนามไป EU อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่มแบบถัก/แบบนิตหรือโครเชต์ ปลาและครัสตาเชียน เคมีภัณฑ์ และยานยนต์ ขณะที่ตลาด EU มีความสำคัญต่อการส่งออกไทยในฐานะตลาดส่งออกอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนร้อละ 9.7 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย รองจากจีน และสหรัฐฯ (ปี 2018)
  2. ความตกลง EVFTA อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการจ้างงานในประเทศได้ โดยเฉพาะธุรกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปตลาดเวียดนามและ EU ค่อนข้างมาก อาทิ กลุ่มผลไม้และลูกนัต (สัดส่วนการส่งออกไปเวียดนามคิดเป็นร้อยละ 36 ของการส่งออกลูกนัตทั้งหมดของไทย) เครื่องดื่ม (สัดส่วนร้อยละ 26) และยังมีรายการที่นอกเหนือจากสินค้าในกลุ่ม 10 อันดับแรกนี้ เช่น ผ้าผืนที่ถักแบบนิตหรือโครเชต์ (ร้อยละ 34) ซึ่งจะเผชิญแรงกดดันจากการลดภาษีของเวียดนามที่ให้กับสินค้าจาก EU ทันทีที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ และยาสูบ (สัดส่วนร้อยละ 40) เป็นต้น

EVFTA อาจสร้างความท้าทายต่อเวียดนามในระยะสั้น แต่เกื้อหนุนการเติบโตในระยะยาว ขณะที่ไทยเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น

ความตกลง EVFTA ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2020 นับเป็นก้าวสำคัญของเวียดนามในการเปิดโอกาสใหม่ๆ ด้านการค้า การลงทุน ตลอดจนการปรับตัวและพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับความตกลงฯ อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีและมาตรฐานต่าง ๆ ภายใต้ความตกลง EVFTA อยู่ในระดับสูงกว่าความตกลงอื่น ๆ ที่เวียดนามมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ทำให้เวียดนามอาจเผชิญความท้าทายหลายด้าน อาทิ 1) ความยากลำบากในการปรับตัวของภาคการผลิตให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ด้านแหล่งกำเนิดสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาการผลิตเครื่องนุ่งห่ม อันเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของประเทศ เนื่องจากเวียดนามขาดแคลนอุตสาหกรรมผลิตเส้นใยและสิ่งทออันเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำสำคัญ ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบมากถึงร้อยละ 60-80 ของวัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ในการผลิต (แหล่งนำเข้าหลักคือจีนและอาเซียน) ขณะที่ EU กำหนดเงื่อนไขสำหรับสินค้านำเข้าจากเวียดนามต้องใช้วัตถุดิบจากเวียดนามหรือจากเกาหลีใต้เท่านั้น (เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นคู่ภาคีความตกลงการค้าเสรีกับ EU เช่นกัน) 2) การปรับตัวและพัฒนามาตรฐานต่าง ๆ ตามความตกลงฯ อาทิ มาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures-SPS) มาตรฐานคุณภาพอากาศ (Ambient Air Quality Standards) เป็นต้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ทรัพยากรทุนและทรัพยากรบุคคลจำนวนมากในการดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานดังกล่าว 3) การพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ  ให้สอดคล้องกับความตกลงฯ อาทิ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจและกิจการรัฐอื่น ๆ การส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมในตลาด การรักษาสิทธิมนุษยชน และการยกระดับมาตรฐานแรงงาน เป็นต้น

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า โดยรวมแล้วความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) จะส่งผลบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามในระยะยาว โดยเฉพาะประโยชน์ในการขยายการส่งออก การลงทุน และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม จากการวิเคราะห์โดยแบบจำลอง GTAP (ตารางที่ 8) พบว่า การยกเว้นภาษีจะส่งผลเชิงบวกให้เวียดนามทุกด้าน โดยมูลค่าการส่งออกโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.0 การลงทุนรวมของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.267 สำหรับสินค้าที่เวียดนามมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้ากลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนัง และรองเท้า กลุ่มอาหารเครื่องดื่มและยาสูบ กลุ่มอุปกรณ์การขนส่ง และกลุ่มสินค้าเกษตร ประมงและป่าไม้ ขณะที่ไทยจะได้รับผลทางลบ กล่าวคือ การส่งออกโดยรวม การลงทุน และอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจจะลดลง แม้ในเชิงตัวเลขอาจไม่มากนัก แต่อยู่ในระดับสูงอันดับต้นๆ โดยเปรียบเทียบกับหลายประเทศ โดยสินค้าที่ไทยมีโอกาสได้รับผลเชิงลบ อาทิ กลุ่มอุปกรณ์การขนส่ง สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรและอุปกรณ์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และที่สำคัญ ความตกลง EVFTA จะยิ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกโดยรวมของเวียดนามทิ้งห่างไทยมากขึ้น ล่าสุด มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในปี 2019 อยู่ที่ 263 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แซงหน้าไทยที่มีมูลค่าส่งออกราว 246 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ภาพที่ 18)

ไม่เพียงผลเชิงบวกที่เวียดนามจะได้รับจากการยกเว้นภาษีนำเข้าซึ่งทำให้การส่งออกของเวียดนามไปยัง EU มีความได้เปรียบด้านราคาและสินค้าจากเวียดนามยังมีโอกาสเข้าร่วมห่วงโซ่การผลิตของ EU มากขึ้นแล้ว เวียดนามยังได้ผลบวกเพิ่มเติมจากความพิเศษของ EVFTA ที่เหนือกว่าความตกลงอื่น ๆ ทั้งจากการเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมการประมูลของรัฐ การลดการผูกขาดของกิจการของรัฐ การส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ ความพิเศษเหล่านี้คาดว่าสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้แก่เวียดนามทั้งในด้านการขยายการส่งออก ดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศ และพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป
 






 

[1] ทางการเวียดนามและ EU ได้ลงนามความตกลง 2 ฉบับ ประกอบด้วย ความตกลงการค้าเสรี EVFTA และความตกลงการคุ้มครองการลงทุน (The EU-Vietnam Investment Protection Agreement: EVIPA) ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองการลงทุน การระงับข้อพิพาท และการไกล่เกลี่ย เป็นต้น   
[2] ปัจจุบันเวียดนามมีความตกลงการค้าเสรีรวม 10 ฉบับ (ทั้งระดับพหุภาคีและทวิภาคี) ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลีใต้ เวียดนาม-ญี่ปุ่น เวียดนาม-เกาหลีใต้ เวียดนาม-ชิลี –เวียดนาม-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย อาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) 
[3] สำหรับความคืบหน้าล่าสุดคือ สหภาพยุโรปและสิงคโปร์ได้ลงนามความตกลงการค้าเสรี The EU-Singapore FTA: EUSFTA) แล้ว และอยู่ระหว่างรอบังคับใช้ความตกลงฯ  ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการเจรจา ขณะที่มาเลเซียอยู่ระหว่างการระงับการเจรจาชั่วคราว (อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ) สำหรับไทย อยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับไทย และรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยเพื่อประกอบการพิจารณาฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย- EU (ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ข้อมูล ณ 21 พฤศจิกายน 2562)
[4] นอกเหนือจากการเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนแล้ว ความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงยังครอบคลุมไปถึงประเด็นด้านข้อกำหนดด้านพิธีการศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า กิจการรัฐวิสาหกิจ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายการปกป้องและเยียวยาทางการค้า ความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถและความร่วมมือด้านต่าง ๆ  เป็นต้น
[5] WTO ได้จำแนกประเภทของบริการไว้ 12 สาขาหลัก เพื่อเป็นพื้นฐานในการเจรจาการค้าบริการ ได้แก่ บริการธุรกิจ (Business services) บริการการสื่อสาร (Communication services) บริการก่อสร้าง (Construction and related engineering services) บริการจัดจำหน่าย (Distribution services) บริการการศึกษา (Education services) บริการการเงิน (Financial services) บริการสิ่งแวดล้อม (Environment services) บริการสุขภาพ (Health related and social services) บริการท่องเที่ยว (Tourism and travel related services) บริการนันทนาการ วัฒนธรรม และกีฬา (Recreation, cultural, and sporting services) และบริการอื่น ๆ  โดยอิงการจำแนกประเภทของ UN Central Product Classification (CPC) ทั้งนี้ แต่ละประเทศสมาชิก WTO ได้เปิดเสรีการค้าบริการในแต่ละสาขาไว้ในระดับที่แตกต่างกัน 
[6] การเปิดเสรีบริการอาเซียนอยู่ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Framework Agreement in Services: AFAS) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 1995 โดยใช้หลักการเปิดเสรีเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องแบบก้าวหน้า (Progressive Liberalization) และปัจจุบันได้เปิดเสรีภายใต้ “ข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 9” (Source: The Association of the Southeast Asian Nations) อย่างไรก็ดี ล่าสุดสมาชิกอาเซียนเกือบทุกประเทศ (ยกเว้นฟิลิปปินส์) ได้ลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement: ATISA) มาใช้แทน AFAS หากลงนามครบแล้ว จะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันหลังสมาชิกลงนามและแจ้งต่อเลขาธิการอาเซียนหลังดำเนินการภายในแล้วเสร็จ (ข้อมูล ณ 13 กันยายน 2562)
[7] European Commission. “Specific Commitments on Cross-Border Supply of Services”.
[8] European Commission. “Liberalisation Of Investment, Trade In Services And Electronic Commerce”.

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา