กัญชง: พืชเศรษฐกิจใหม่ โอกาสและความท้าทาย

กัญชง: พืชเศรษฐกิจใหม่ โอกาสและความท้าทาย

02 กรกฎาคม 2564

กัญชง: พืชเศรษฐกิจใหม่ โอกาสและความท้าทาย

 

กัญชงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากรัฐบาลประกาศปลดล็อคให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้ ด้วยคุณประโยชน์ที่หลากหลายประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นทำให้กัญชงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย สามารถต่อยอดเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มหาศาล การที่ไทยมีความสามารถด้านการเพาะปลูกและการผลิตสูง จึงมีโอกาสที่จะกลายเป็นผู้เล่นหน้าใหม่และสามารถเกาะเกี่ยวการเติบโตในตลาดกัญชงโลกได้ ทั้งนี้ การปลดล็อคการประกอบธุรกิจกัญชงได้เชื่อมโยงไปสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมอย่างน้อย 5 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร ยาและอาหารเสริม เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ด้วยมูลค่าตลาดกัญชงรวมประมาณ 15.8 พันล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม เกษตรกรและผู้ประกอบการยังคงเผชิญความท้าทายหลายด้าน เช่น การพัฒนาสายพันธุ์กัญชงให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ความชัดเจนของกฎหมายในการรับรองเพื่อประกอบธุรกิจ เป็นต้น
 

ไทยปลดล็อคกัญชง ผลักดันสู่การเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่

 

กัญชง (Hemp) เป็นพืชตระกูล Cannabis sativa L. เช่นเดียวกับกัญชา (Marijuana) มีปริมาณสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC (สารที่มีฤทธิ์ทำให้มึนเมาและเสพติด) ไม่เกิน 1% ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งน้อยกว่ากัญชา แต่มีสาร Canabidiol หรือ CBD (สารที่มีสรรพคุณทางยา) สูงกว่ากัญชา (ภาพที่ 1) ปัจจุบันกัญชงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศไทย ภายหลังรัฐบาลประกาศปลดล็อคให้สามารถ “ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง” เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของการขออนุญาตนำไปใช้ประโยชน์ (1) ตามภารกิจของหน่วยงานของรัฐ (2) ใช้เส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต และใช้ในครอบครัวเท่านั้น (ปลูกได้ครอบครัวละไม่เกินหนึ่งไร่) (3) ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม (4) ในทางการแพทย์ (5) ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย หรือปรับปรุงพันธุ์ และ (6) ในการผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง (รายละเอียดภาพที่ 2)

การปลดล็อคดังกล่าวโดยเฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมนับเป็นความพยายามครั้งสำคัญของภาครัฐที่จะผลักดันให้กัญชงกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่[1] ต่างจากกัญชาซึ่งยังถูกจัดเป็นสารเสพติดและอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น[2] โดยกัญชงสามารถต่อยอดเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างมาก โดยเฉพาะ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมปลายน้ำสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร ยาและอาหารเสริม เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล


 

คุณประโยชน์หลากหลาย ต่อยอดเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

 

กัญชงมีสรรพคุณมากมาย อาทิ ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ช่วยให้นอนหลับสบาย รักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะหรือไมเกรน (Box 1) โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ช่อดอก ใบ เมล็ด เปลือก ลำต้น กิ่งก้าน และราก ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย (Box 2) ตัวอย่างเช่น ช่อดอก นิยมสกัดเอาสารกลุ่ม Phytocannabinoids[3] ที่มีคุณสมบัติทางยา อาทิ CBD (สามารถบริโภคโดยตรง หรือนำไปเป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล และเวชสำอางต่างๆ) Terpenes (ให้กลิ่นที่นำมาผลิตน้ำหอมและน้ำมันหอมระเหย) ใบ นำมาสกัดเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่ม ปุ๋ยชีวภาพ ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง แผ่นใยไม้อัด ไฟเบอร์กลาส เปลือก ลำต้น ทำเป็นเส้นใย นิยมนำมาทําเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เชือก เสื้อเกราะกันกระสุนชั้นดีที่มีน้ำหนักเบา เยื่อกระดาษ วัสดุหีบห่อ ฉนวนกันความร้อน ไบโอพลาสติก แกนลำต้น มีน้ำหนักเบาใช้ทำอิฐ หรือผสมคอนกรีต (Hempcrete) สำหรับงานก่อสร้าง ส่วนประกอบรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ น้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง (อาทิ โปรตีน วิตามินอี โอเมก้า)


 
 

ความต้องการในตลาดโลกสูงและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

 

ปี 2563 ตลาดกัญชงโลกมีมูลค่า 4.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ภาพที่ 3) จำแนกตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (อาทิ ครีมทาหน้า ครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ล้างมือ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ) 1.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 37.1% ของมูลค่าตลาดกัญชงโลก) รองลงมาได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม (25.2%) สิ่งทอ (18.6%) และผลิตภัณฑ์ยา (11.6%) (ภาพที่ 4) แต่หากจำแนกตามการแปรรูป พบว่า กัญชงถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันมากที่สุด มีมูลค่า 2.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 45.2% ของมูลค่าตลาดกัญชงโลก) รองลงมาได้แก่ เมล็ดกัญชง (28.8%) และเส้นใย (20.0%) (ภาพที่ 5) ในระยะข้างหน้า Allied Market Research คาดว่าตลาดกัญชงโลกจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 21.6% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 (แต่ยังถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดกัญชาโลก[4])




 

ผลิตภัณฑ์มีราคาสูง ผลตอบแทนดี

 

สารสกัดกัญชงมีราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ความบริสุทธิ์ กระบวนการสกัด สามารถจำแนกได้ 4 ประเภท ดังนี้

  1. Full Spectrum CBD คือ CBD ที่ยังคงมีสาร Phytocannabinoids อื่นๆ และสาร THC เจือปนอยู่ อีกทั้งยังมีสารที่ให้กลิ่น_(Terpenes) และสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (Flavonoids)                                                                                                                                                                                                                    
  2. CBD Isolate คือ สาร CBD บริสุทธิ์ มักทำให้อยู่ในรูปแบบผลึกหรือผง จึงเรียกว่า CBD Crystalline หรือ CBD Powder มีสีขาวละเอียด รสจืด ไม่มีกลิ่น นำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 900-1,300 ดอลลาร์สหรัฐ                                                                                                                                  
  3. Broad Spectrum CBD หรือ CBD Distillate คือ สาร CBD ที่ยังคงมีสารอื่นๆ เจือปนอยู่ดังประเภทที่ 1 แต่ทำการสกัดหรือแยกเฉพาะสาร THC ออก หรืออาจเจือปนอยู่บ้างแต่ไม่เกินกฎหมายกำหนดของแต่ละประเทศ ทำให้มีความต้องการสูง ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2,400-4,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ                                                                         
  4. Water Soluble CBD คือ สาร CBD ที่ละลายน้ำได้ (สาร CBD ประเภท 1-3 ละลายน้ำไม่ได้ จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันเป็นตัวทำละลาย เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น กรดไขมัน หรือ Medium-chain Triglyceride) ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1,850-3,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ


 

บริษัทที่ประกอบธุรกิจกัญชงในตลาดโลกส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน และออสเตรเลีย มีอัตราการเติบโตของรายได้สูงถึง 70-100% ต่อปี (ช่วงปี 2560-2562) แต่เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงต้นของการลงทุน มีต้นทุนการวิจัยและพัฒนาสูง ส่งผลให้กำไรโดยรวมยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก


 

การปลดล็อคกัญชงของไทยได้สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่

 

ที่ผ่านมากัญชงยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ทำให้ตลาดในประเทศยังมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นงานหัตถกรรมพื้นฐานที่ถักทอผ้าจากใยกัญชงจำหน่ายโดยศูนย์ศิลปาชีพ ทั้งนี้ มูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชง ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา โดยในปี 2557 สวพส. ได้ส่งเสริมการปลูกกัญชงในเชิงพาณิชย์ ที่บ้านใหม่คีรีราษฎร์และบ้านใหม่ยอดคีรี ตําบลคีรีราษฎร์ อําเภอพบพระ จังหวัดตาก ในพื้นที่ 97 ไร่ ปัจจุบันได้ขยายไปถึง 150 ไร่ ส่งผลให้ไทยนำเข้าสินค้ากึ่งวัตถุดิบที่ทำจากกัญชงมีมูลค่าประมาณ 4.71 ล้านบาท ในปี 2558 และลดลงเหลือ 2.36 ล้านบาท ในปี 2563 (ภาพที่ 7)



 

การที่ภาครัฐได้ปลดล็อคการประกอบธุรกิจกัญชงได้สร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมใหม่ ดังนี้

  • อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ จัดหาเมล็ดพันธุ์ พัฒนาสายพันธุ์พืช เพาะปลูก ตั้งแต่การจัดหา/นำเข้าเมล็ดพันธุ์ (ที่มิใช่การปลูก) จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ เพื่อนำมาเพาะปลูกในเชิงพาณิชย์ (ขายทั้งต้นหรือบางส่วนของพืช) รวมถึงการพัฒนาสายพันธุ์พืชเป็นของตนเองเพื่อให้ได้ค่า CBD หรือ THC ตรงตามความต้องการของตลาด โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน แปลงทดลองของมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาต่างๆ หรือผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่เริ่มทดลองปลูกเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน หรือหน่วยงานภาครัฐ                                                                                                                                                                          
  • อุตสาหกรรมกลางน้ำ ได้แก่ โรงสกัด สารสกัด น้ำมัน ผลิตภัณฑ์กัญชง ผู้ประกอบการที่ทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบขั้นต้น เช่น การสกัดสาร CBD ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการผลิตน้ำมันจากเมล็ดกัญชง ผงกัญชง กากกัญชง ด้ายกัญชง ใยกัญชง เป็นต้น โดยผู้ประกอบการกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยา อาหารเสริม อาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีการสกัด                                                     
  • อุตสาหกรรมปลายน้ำ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่นำสารสกัด หรือผลิตภัณฑ์กัญชงขั้นกลางมาเป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ อุตสาหกรรมขั้นปลายที่น่าจะมีศักยภาพและมีการนำกัญชงไปใช้มากที่สุดสามารถจัดแบ่งเป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหญ่ ดังนี้ (1) เครื่องดื่ม ประกอบด้วย เครื่องดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มให้พลังงาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟและสมุนไพรพร้อมรับประทาน (2) อาหาร ประกอบด้วยเครื่องปรุงอาหาร เบเกอรี่ อาหารเส้นและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซีเรียลและธัญพืช ขนมขบเคี้ยว (3) ยาและอาหารเสริม รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพทางกีฬา วิตามิน ผลิตภัณฑ์จัดการน้ำหนัก และผลิตภัณฑ์สมุนไพรดั้งเดิม (4) เครื่องแต่งกายและรองเท้า (5) ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ประกอบด้วย สบู่ แชมพู ยาสีฟัน น้ำหอม น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และเครื่องสำอาง

 

ใน 5 ปีข้างหน้า คาดมูลค่าตลาดกัญชงไทยอยู่ที่ 15.8 พันล้านบาท

 

วิจัยกรุงศรีประมาณการมูลค่าอุตสาหกรรมกัญชงของไทย โดยพิจารณาจากมูลค่าของอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีศักยภาพในการนำกัญชงไปใช้ เพื่อเป็นฐานในการประเมิน ร่วมกับสัดส่วนกัญชงที่คาดว่าจะถูกนำไปใช้ในแต่ละอุตสาหกรรม[5] โดยประเมินผลได้ดังนี้

  • ปี 2564 คาดว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีกัญชงผสมจะมีมูลค่า 280 ล้านบาท รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง 240 ล้านบาท ยาและอาหารเสริมจากกัญชง 50 ล้านบาท เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยใยกัญชง 30 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลประเมินว่ายังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลักในปีแรก ทั้งนี้ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการนำกัญชงไปใช้มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท (ตารางที่ 3)                                                                                                                                                         
  • ทั้งนี้ ประเมินว่าผลิตภัณฑ์กัญชงไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐปลดล็อคการประกอบธุรกิจ โดยตลาดกัญชงไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 126% ต่อปี (ตารางที่ 3)

 

อุตสาหกรรมกัญชงไทยอยู่ตรงไหน

 

ไทยมีศักยภาพในการเพาะปลูกพิจารณาจาก

  • ประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้สามารถปลูกในพื้นที่เปิดได้ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 18-33 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะสมต่อการปลูกกัญชง นอกจากนี้ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นเฉลี่ย 3-4 เดือน ทำให้สามารถปลูกได้ 2-3 รอบต่อปี ในขณะที่ประเทศในยุโรปต้องปลูกในพื้นที่ปิดเพื่อควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งมีต้นทุนการเพาะปลูกสูง (ตารางที่ 4)                                                                                                                                                             
  • ไทยมีองค์ความรู้และฐานข้อมูลดี สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้ทำการวิจัยและพัฒนากัญชงมากว่า 10 ปีจนสามารถพัฒนาพันธุ์กัญชงผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นรายแรก อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านเมล็ดพันธุ์ ทำให้มีประชาชน วิสาหกิจชุมชน นิติบุคคลมาติดต่อขอซื้อสายพันธุ์เป็นจำนวนมากกว่า 600 รายการในช่วงปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา                                                                                                                                                                                                            
  • การเพาะปลูกกัญชงในไทยทำได้หลากหลายวิธี ขึ้นกับความต้องการผลผลิตและต้นทุนการเพาะปลูก กล่าวคือ แบบกลางแจ้งเหมาะสมกับการปลูกเพื่อเอาเส้นใย ก้าน เมล็ด เพราะมีต้นทุนการเพาะปลูกต่ำสอดคล้องกับราคาสินค้าที่ไม่สูงมาก ขณะที่ระบบปิดเหมาะกับการเพาะปลูกเพื่อเอาสารสกัดจากช่อดอก เนื่องจากต้องอาศัยการควบคุมคุณภาพระดับสูง (ตารางที่ 4)

 

เกษตรกรและโรงงานแปรรูปเริ่มทยอยประกอบธุรกิจ กัญชงมีกฎหมายควบคุมธุรกิจที่ค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะเอกสารการขออนุญาตที่ค่อนข้างจำเพาะและรัดกุม อาทิ หนังสือตรวจสอบประวัติอาชญากรรม กรรมสิทธิ์ที่ดิน แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ปลูก แบบแปลนอาคารหรือโรงเรือน แผนการผลิต แผนการใช้ประโยชน์ มาตรการรักษาความปลอดภัย และวิธีการทำลายส่วนของกัญชงที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้ การขออนุญาตนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมจะต้องทำควบคู่กันทั้งจากผู้ปลูกและผู้แปรรูป โดยเกษตรกรจะต้องมีความพร้อมตั้งแต่การระบุสายพันธุ์กัญชง[6] รวมถึงแผนจำหน่ายให้ผู้ประกอบการรายใด ขณะที่ผู้ประกอบการจะต้องมีความพร้อมด้านการลงทุนเนื่องจากจะต้องระบุแผนการใช้ประโยชน์และวิธีการทำลายส่วนที่เหลือ สรุปได้ดังนี้

  • เกษตรกร ต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมทั้งพื้นที่เพาะปลูก แผนการผลิต แผนการใช้ประโยชน์ การรักษาความปลอดภัย และต้องมีผู้ประกอบการแปรรูปที่รับซื้อผลผลิตที่ชัดเจน หรือมีการทำ Contract Farming ไว้แล้ว โดยปัจจุบัน มีเกษตรกรมาลงทะเบียนขออนุญาตปลูกกัญชงเป็นจำนวนมาก ทำให้คาดว่าผลผลิตกัญชงจะทยอยเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมมากขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2564 เป็นต้นไป                                                                                                                                                                                      
  • โรงงานแปรรูป ต้องมีความพร้อมในการสกัดเป็นน้ำมัน/ผง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงเผชิญข้อจำกัดด้านวัตถุดิบเนื่องจากเมล็ดพันธุ์กัญชงที่ขึ้นทะเบียนในไทยทั้ง 4 สายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ที่ให้เส้นใยเท่านั้น อีกทั้งไม่สามารถนำเข้าเมล็ดเพื่อนำมาสกัดในเชิงพาณิชย์ได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรอผลผลิตกัญชงสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปี 2564

อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางยังเผชิญข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ การนำกัญชงไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำเป็นต้องอาศัยกฎหมายลูกในการรับรองเพื่อประกอบธุรกิจ โดยในปัจจุบัน มีเพียงอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางที่มีราชกิจจานุเบกษารองรับ[7] อย่างไรก็ตาม การนำกัญชงมาใช้ในอุตสาหรรมดังกล่าวยังมีเงื่อนไขเฉพาะ เช่น อาหารและเครื่องดื่มให้ใช้ส่วนผสมจากกัญชงได้เพียงเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง และโปรตีนจากเมล็ดกัญชง ส่วนเครื่องสำอางให้ใช้ส่วนผสมที่ได้จากน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง โดยวัตถุดิบกัญชงจะต้องมาจากผู้ประกอบการในประเทศเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำเข้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขั้นปลายยังคงต้องรอวัตถุดิบจากผู้ประกอบการโรงสกัด ซึ่งการผลิตออกมาเป็นเกรดมาตรฐาน (ตามมาตรฐานอาหารและยา) จำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาสายพันธุ์และผลิตพันธุ์น้ำมัน/สารสกัด โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายเชิงอุตสาหกรรม/พาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจกัญชงเป็นจำนวนมาก (ตารางที่ 2)
 

ความท้าทายในการประกอบธุรกิจกัญชงในไทย

 
  • เกษตรกร จะต้องคำนึงถึงตลาดรองรับ ชนิดของสายพันธุ์ ความรู้ความเข้าใจในการปลูก ราคาขาย ความสามารถในการแข่งขัน สภาพอากาศ เทคโนโลยีในการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตและคุณภาพตามความต้องการของตลาด[8] เช่น การปลูกเพื่อเอาเส้นใยหรือเมล็ดมีอุปสรรคไม่มากนักเนื่องจากได้ผลผลิตที่ค่อนข้างแน่นอนในเชิงปริมาณ แต่การเพาะปลูกเพื่อเอาสารสกัด CBD มีความแปรปรวนสูงกว่าเนื่องจากสารสกัดที่อยู่ในเมล็ดพันธุ์จะมีความผันผวนสูงต่อสภาพแวดล้อมที่กัญชงเติบโต                                                   
  • ผู้ประกอบการขั้นกลางและขั้นปลาย ต้องคำนึงหลายประเด็น ได้แก่
    • เงื่อนไข/มาตรฐานการผลิตที่เข้มงวด เช่น ปริมาณสาร THC ที่ไม่เกิน 0.001% ในอาหารหรือเครื่องดื่ม การติดฉลากสินค้า การโฆษณา และการตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ
    • ลิขสิทธิ์/สิทธิบัตรกัญชง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมกลางน้ำที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานสูง
    • ความคุ้มค่าในการลงทุน ซึ่งบริษัทกัญชงหลายแห่งในต่างประเทศแม้จะมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่สูงแต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงโดยเฉพาะต้นทุนจาก โรงงานเครื่องจักรสกัด ค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา รวมถึงสายพันธุ์กัญชงที่เหมาะสมต่อกระบวนการผลิต
    • ความสามารถในการแข่งขัน ผู้ผลิตเข้ามาในตลาดมากขึ้น รวมถึงคู่แข่งจากต่างประเทศ
    • การสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ทั้งด้านการรักษาความปลอดภัย หรือผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชง
    • ข้อจำกัดของตลาดส่งออก แม้ว่าสหประชาชาติเริ่มผ่อนคลายในการนำสาร CBD มาใช้ แต่การใช้งานยังต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ ทำให้หลายประเทศยังคงจัดให้กัญชงเป็นสารเสพติด ซึ่งเป็นข้อจำกัดในด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย                                                                                                       
  • ตลาดสำหรับการซื้อขายยังอยู่ระหว่างการพัฒนาและจัดตั้ง[9] ถึงแม้ว่าการซื้อขายกัญชงจะเป็นการซื้อขายโดยตรง (ระบบ Contract_Farming) ระหว่างผู้ซื้อและผู้ปลูก แต่ราคาจะถูกกำหนดโดยตลาดกลางกัญชงซึ่งมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้จัดตั้ง โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย การกำหนดมาตรฐานสินค้า การกำหนดราคากลางโดยใช้ระบบ Network เชื่อมโยงทุกตลาดเป็นระบบตลาดเดียว (Single Central Market) และกำหนดขั้นตอนการซื้อขายที่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีบทบาทหลักในการจัดหาตลาด  หรือเครือข่ายตลาดเพื่อเป็นช่องทางให้เกษตรกรรายย่อยสามารถจำหน่ายไปยังภาคอุตสาหกรรม โรงงานสกัด และผู้แปรรูปได้                                                                          
  • ข้อจำกัดด้านกฎหมาย ได้แก่ (1) กัญชงที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต้องได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศเท่านั้น ไม่อนุญาตให้นำเข้ามาสกัด แต่สามารถส่งออกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศได้ (2) การขออนุญาตปลูกจะต้องมีผู้รับซื้อที่ชัดเจน ไม่อนุญาตให้ปลูกโดยที่ยังไม่มีแหล่งรับซื้อ ไม่มีแผนการผลิต หรือแผนการใช้ประโยชน์ (3) คุณภาพและมาตรฐานต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะสาร THC ที่ต้องไม่เกิน 0.2% ของน้ำหนักแห้ง หรือขึ้นอยู่กับประเภทผลิตภัณฑ์ที่นำกัญชงไปผสม และ (4) กฎหมายรองรับในการนำกัญชงมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันมีการประกาศกฎหมายอนุญาตให้ใช้เมล็ด น้ำมัน และสารสกัดจากเมล็ดกัญชงในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางได้  ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ อยู่ระหว่างการอนุมัติหรือพิจารณาออกประกาศเพิ่มเติม[10]                                                        
  • การต่อต้านของกระแสสังคมและวัฒนธรรม ปัจจุบันการรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง และคุณประโยชน์จากกัญชงยังไม่เป็นที่ทั่วถึงมากนัก เนื่องจากกฎหมายไทยจัดพืชกัญชงให้อยู่ในกลุ่มยาเสพติดมาเป็นเวลานาน

 

References

 



 

[1] กัญชง เพาะปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย ประเทศไทยสามารถปลูกในพื้นที่เปิดได้ตลอดทั้งปี เพราะสภาพอากาศเอื้ออำนวย (ขณะที่ประเทศในยุโรปต้องปลูกในพื้นที่ปิดเพื่อควบคุมอุณหภูมิ ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูง) ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นเฉลี่ย 3-4 เดือน ทำให้สามารถปลูกได้ 2-3 รอบต่อปี  (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ วัตถุประสงค์ และวิธีเพาะปลูก)
[2] ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) 2562 ออก ณ วันที่ 30 ส.ค. 2562 ไม่ได้ถอดพืชกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด โดยระบุว่า ทุกส่วนของพืชกัญชา ทั้งใบ ดอก ยอด ผล รวมทั้งวัตถุหรือสารต่างๆ เช่น ยาง น้ำมันในพืชกัญชา ยังคงเป็นยาเสพติด
[3] สารที่ได้จากกัญชงหรือกัญชามีมากกว่า 150 ชนิด อาทิ CBD  CBG  THC  CBC  CBN  CBV  CBGV  CBCV  เป็นต้น
[4] จากรายงาน Global Cannabis Market ประเมินมูลค่ากัญชาโลกปี 2563 อยู่ที่ 2.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็น กัญชาเพื่อการแพทย์ 6.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น  26.7% ของมูลค่าตลาดกัญชาโลก กัญชาเพื่อการสันทนาการ 1.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วน 73.3% (ที่มา: Mordor Intelligence)
[5] พิจารณาจากความเป็นไปได้ทั้งด้านการผลิตของห่วงโซ่อุปทาน การตลาด กฎหมายและการสนับสนุนจากภาครัฐ การนำไปใช้และการลงทุนของภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรม สถานการณ์และแนวโน้มของแต่ละอุตสาหกรรมปลายน้ำของไทย 
[6] พันธุ์จากเมล็ดพันธุ์รับรอง (เมล็ดพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนในไทยเป็นสายพันธุ์ที่ให้เส้นใยเท่านั้น) พันธุ์ในไทยที่ไม่ใช่เมล็ดพันธุ์รับรอง และพันธุ์ที่มาจากการนำเข้า ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่ใช้จะต้องให้สาร THC ไม่เกิน 1.0% ต่อน้ำหนักแห้ง
[7] เครื่องสำอางที่ได้รับอนุญาตแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ (1) ผลิตภัณฑ์ช่องปาก ผลิตภัณฑ์จุดซ่อนเร้น และ Soft Gelatin Capsules ต้องมีสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.001% และ  (2) เครื่องสำอางทุกประเภทยกเว้นข้อ 1 ต้องมีสาร THC ไม่เกิน 0.2%
[8] กรมวิชาการเกษตรได้จำแนกต้นทุนการผลิต พบว่า ต้นทุนการผลิตต่อไร่กรณีผลิตเป็นเมล็ดกัญชงจะอยู่ที่ประมาณ 8,242 บาท/ไร่ รายได้ประมาณ 26,250 บาท/ไร่ กำไรสุทธิ ประมาณ 18,007.82 บาท/ไร่ สำหรับต้นทุนต้นสดอยู่ที่ประมาณ 9,029 บาท/ไร่ รายได้ต่อไร่ประมาณ 22,500 บาท กำไรสุทธิประมาณ 12,471 บาท/ไร่ ระยะเวลาการผลิต 180 วัน
[9] ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อน การส่งเสริมการปลูก พืชกัญชง โดยครอบคลุมการผลิตและการตลาดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในแต่ละพื้นที่
[10] ถ้าเป็นกลุ่มสมุนไพรคาดว่าจะใช้ได้เพียงสารสกัดกัญชง ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารใช้ได้เพียงเมล็ดกัญชง น้ำมันกัญชง และโปรตีนจากเมล็ดกัญชง

 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา