อุทกภัยปี 2567: ความเสี่ยง และผลกระทบ

อุทกภัยปี 2567: ความเสี่ยง และผลกระทบ

13 กันยายน 2567

บทสรุปผู้บริหาร


ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนของประเทศไทย มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่บางพื้นที่จะเผชิญกับอุทกภัยที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยมีสัญญาณสำคัญ อาทิ 1) ดัชนี ONI ที่ลดลงสู่ระดับปกติ (Neutral) และกำลังลดลงต่อเนื่องสู่ระดับลานีญา ที่ทำให้คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าระดับปกติ 2) อิทธิพลจากพายุประจำปี 3) ดัชนี PDO และ IOD ที่มีทิศทางลดลงหรืออยู่ใน Negative Phase (ต่ำกว่า -0.5) ทำให้ไทยมีแนวโน้มได้รับอิทธิพลของพายุชัดเจนขึ้น 4) ดัชนีมรสุมที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศรอบๆ ประเทศในระยะสั้นมีค่าใกล้เคียงระดับปกติ ซึ่งเอื้อต่อการเกิดฝนตกในพื้นที่รอบข้างของประเทศไทย โดยวิจัยกรุงศรีประเมินว่าพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคใต้ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างซึ่งเป็นทางน้ำผ่าน และภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำและเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ ครัวเรือน โรงงาน เครื่องจักร สินค้าเกษตร ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคได้ ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในปี 2567 นี้จะอยู่ที่ 8.6 ล้านไร่ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราว 3.1 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 43.4 พันล้านบาท (กรณีฐาน) ทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมรวมกันอยู่ที่ 46.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น -0.27% ของ GDP

 

ความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปี 2567

 

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ประเทศไทยเผชิญสภาพอากาศร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผลผลิตเกษตรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ อาทิ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย จนเกิดปัญหาอุปทานขาดแคลน (Supply Shortage) ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องขาดแคลนวัตถุดิบ จึงไม่มีผลผลิตเพื่อส่งมอบให้กับคู่ค้า   ตลอดจนระดับราคาสินค้าสูงขึ้น และต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ภาวะเอลนีโญจะอ่อนกำลังลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ (Neutral) แต่กลับมีแรงส่งมากพอที่จะเปลี่ยนสู่ภาวะลานีญา (La Niña) เร็วขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุทกภัยและความเสี่ยงน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยมีเครื่องบ่งชี้สำคัญจากสภาพอากาศและปัจจัยแวดล้อม ดังนี้

1) ดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) เป็นค่าดัชนีชี้วัดอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกแนวเส้นศูนย์สูตร โดยข้อมูลดัชนีฯ ล่าสุด ณ เดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 0.1 แสดงถึงภาวะปกติ (Neutral1/) (ภาพที่ 1) อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าดัชนีที่มีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้โอกาสการเกิดปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña2/) สูงขึ้น และคาดการณ์ว่าจะเข้าสู่ภาวะลานีญาในเดือนตุลาคม 2567 (ภาพที่ 2) โดยอุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรจะมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้มีปริมาณฝนเกิดขึ้นมากกว่าปกติ3/
 






 

2) ช่วงครึ่งหลังปี 2567 (กรกฎาคม-ธันวาคม) คาดว่าปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าค่าปกติ5/ 15.0-16.0% ทำให้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซาก (Flood-prone Areas หรือ Flood Bed) อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณน้ำฝนที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปีซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนสะสมทั้งปีลดระดับลงมาอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยที่ 1,688 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าปกติหรือค่าเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลัง6/ แต่ยังต่ำกว่าระดับมหาอุทกภัยปี 2554 ที่มีปริมาณฝนสะสมถึง 1,948 มิลลิเมตร (ภาพที่ 3) ซึ่งสูงกว่าค่าปกติถึง 20.0%

ทั้งนี้ แม้ช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะมีความเสี่ยงอุทกภัยจากปริมาณน้ำฝนที่สูงขึ้น แต่ยังเป็นความเสี่ยงที่ต่ำกว่าปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ปรากฏการณ์เอลนีโญระดับรุนแรงทำให้ประเทศไทยแล้งจัดและมีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าปกติถึง -17.1% จึงมีพื้นดินที่แห้ง และมีความสามารถในการกักเก็บหรืออุ้มน้ำในช่วงครึ่งปีหลังมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 ที่มีปริมาณน้ำและความชื้นในดินสะสมที่สูงกว่ามาตั้งแต่ต้นปี





3) ปริมาณพายุ จากสถิติย้อนหลัง 73 ปี โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปีจะมีพายุหมุนเขตร้อน (พายุดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่น) ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยราว 2-3 ลูกต่อปี   โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยลดลงเหลือประมาณ 1-2 ลูก  และในปี 2567 วิจัยกรุงศรีคาดว่าประเทศไทยจะเผชิญพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนที่เข้ามาในประเทศรวม 1-2 ลูกซึ่งน้อยกว่ามหาอุทกภัยปี 2554 ที่มีพายุเข้าไทยถึง 5 ลูก โดยช่วงที่ต้องเฝ้าระวังคือช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญภาวะฝนตกชุก (ภาพที่ 5) โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือซึ่งอยู่ในแนวเคลื่อนที่ของพายุ จึงอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในช่วงเวลาดังกล่าวได้ (ภาพที่ 6)




4) อิทธิพลของพายุและลมมรสุม นอกจากพายุหลักที่เคลื่อนที่เข้าสู่ประเทศโดยตรงแล้ว ไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากอิทธิพลของพายุและลมมรสุม ที่แม้จะไม่ได้เข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงแต่อาจเคลื่อนที่เข้าบริเวณประเทศเพื่อนบ้านและต่อมาสลายตัวหรือเปลี่ยนทิศทาง แต่ยังคงส่งอิทธิพลต่อปริมาณฝนในไทยได้ โดยพื้นที่ด้านทิศตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเผชิญอิทธิพลจากพายุ กระแสน้ำอุ่น และลมมรสุมจากมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากดัชนี  Pacific Decadal Oscillation (PDO)7/  และดัชนี Western Pacific Monsoon ที่มีค่าเป็นลบและมีทิศทางขาลงซึ่งบ่งชี้ปริมาณฝนที่มากขึ้น ขณะที่พื้นที่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทยจะเผชิญอิทธิพลจากพายุ กระแสน้ำอุ่น และลมมรสุมจากมหาสมุทรอินเดีย ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น บ่งชี้จากดัชนี Indian Ocean Dipole (IOD)8/ และดัชนี Indian Monsoon Index ที่เป็นลบและมีทิศทางขาลงเช่นกัน


5) ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 ปริมาณน้ำทั้งหมดในเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ที่ 44,622 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 62.9% ของปริมาตรความจุน้ำในอ่างเก็บกัก ซึ่งแม้จะเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 14 ปี9/ แต่ยังต่ำกว่าปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยซึ่งมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 53,189 ล้านลูกบาศก์เมตร (76.4% ของปริมาตรความจุฯ) (ภาพที่ 8) เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,821 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 55.4% ของปริมาตรความจุฯ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 6 ปี10/

 

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าปัจจัยต่างๆ ข้างต้นจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปกติ ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูฝนจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อน (Water Supply) ที่เดิมอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา11/ สะท้อนถึงโอกาสเกิดอุทกภัยที่สูงขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา (ช่วงกลางฤดูฝน) ปริมาณฝนทยอยเพิ่มมากขึ้นทั่วทุกภาค และเมื่อเข้าสู่เดือนกันยายน-ตุลาคม (ช่วงปลายฤดูฝน) ปริมาณฝนยิ่งทวีมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ พื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางส่วนของภาคใต้จัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างซึ่งเป็นทางน้ำผ่าน และภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำและเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งหากเกิดอุทกภัยขึ้นจะสร้างความเสียหายเพิ่มเติมแก่ภาคการเกษตรต่อจากความเสียหายจากภัยแล้งในช่วงต้นปี โดยความเสียหายจะครอบคลุมไปถึงพื้นที่เกษตร สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน เครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนเส้นทางคมนาคมและสาธารณูปโภคต่างๆ


สถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาของปี

 

ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 ประเทศไทยเผชิญมรสุมที่พัดผ่านประเทศและหย่อมความกดอากาศต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดอุทกภัยในบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง12/ ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 8 กันยายน 256713/ มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 50 จังหวัด โดย ณ วันที่ 8 กันยายน เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 40 จังหวัด และยังคงมีอีก 10 จังหวัดที่ยังเผชิญอุทกภัยอยู่14/ (ภาพที่ 9) โดยเฉพาะในช่วง 30 วันที่ผ่านมา (9 สิงหาคม - 7 กันยายน 2567)15/ มีพื้นที่ประสบอุทกภัยถึง 1.4 ล้านไร่ บ้านเรือนได้รับผลกระทบจำนวน 1.8 แสนหลังคาเรือน โดยจังหวัดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ เชียงราย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2.7 แสนไร่ รองลงมาเป็นสุโขทัย (2.0 แสนไร่) นครพนม (1.5 แสนไร่) พะเยา (1.4 แสนไร่) และ พิจิตร (1.2 แสนไร่) สำหรับพื้นที่ทำการเกษตรที่เสียหาย ได้แก่ พื้นที่ปลูกข้าวที่เสียหาย 3.1 แสนไร่ รองลงมาเป็นข้าวโพด (4,280 ไร่) อ้อย (935 ไร่) และมันสำปะหลัง (654 ไร่)


 

ความเสี่ยงอุทกภัยที่กำลังจะมาถึงในช่วงที่เหลือของปี

 

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ความเสี่ยงอุทกภัยในปี 2567 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนกันยายน-ตุลาคม ที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ทุกภาคยกเว้นภาคใต้ และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมสำหรับภาคใต้ จากอิทธิพลของร่องมรสุม และพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศไทย16/ เป็นประจำทุกปี และเมื่อพิจารณาปัจจัยร่วมอื่นๆในการเข้าสู่ฤดูฝนทั้งสภาพอากาศและปัจจัยแวดล้อมที่ส่งสัญญาณภาวะอุทกภัย วิจัยกรุงศรีจึงได้คาดการณ์ความเสี่ยงและพื้นที่เสี่ยงภายใต้สมมติฐาน ดังนี้

  1. จำนวนพายุจรที่เข้าสู่ประเทศไทย คาดว่าอย่างน้อยจะอยู่ที่ 1-2 ลูก และคาดว่าปริมาณน้ำฝนที่มาพร้อมกับพายุจะสูงกว่าค่าปกติ จากผลของการเข้าสู่ภาวะลานีญาในช่วงเดือนกันยายนเป็นต้นไป

  2. ปริมาณน้ำฝน คาดว่าผลกระทบจากลานีญาจะทำให้ปริมาณน้ำฝนในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยความเสียหายในแต่ละกรณีจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝน

  3. พื้นที่ฝนตก แม้ว่าเขื่อนขนาดใหญ่และกลาง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 จะยังสามารถรองรับน้ำได้มากกว่า 40% แต่หากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอยู่นอกเหนือพื้นที่รับน้ำของเขื่อน ความเสียหายก็จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะภาคกลางที่เผชิญความเสี่ยงสูงหากฝนตกใต้เขื่อนหรือนอกเขตพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากหรือพื้นที่รับน้ำ17/ (ภาพที่ 10)

  4. แนวโน้มสถานการณ์น้ำในลำน้ำสายหลัก ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ไหลลงมาตามเส้นทางลุ่มน้ำ โดยหากปริมาณน้ำฝนและพื้นที่ฝนตกมีปริมาณมากกว่าความสามารถในการไหลและขอบพื้นที่รับน้ำของแม่น้ำ อาจทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่โดยรอบเส้นทางน้ำได้ (ภาพที่ 10)

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมและการคาดการณ์ แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงอุทกภัยในปี 2567 นี้ได้ อาทิ ภาวะน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทย หรือปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สูงขึ้นโดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงและความเสียหายจากอุทกภัยได้เนื่องจากจะทำให้ระบายน้ำได้ช้า ขณะที่การเตรียมมาตรการรับมืออุทกภัยของภาครัฐ อาทิ การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่มีประสิทธิภาพ การกำจัดสิ่งกีดขวางเส้นทางน้ำ การเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรในพื้นที่เสี่ยง การจัดสรรน้ำและการส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพ การตรวจความมั่นคงของทำนบ (Embankment dam) พนังกั้นน้ำ (Retaining wall) และระบบสาธารณูปการต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน จะช่วยลดความเสี่ยงอุทกภัยในหลายพื้นที่ได้




 

น้ำท่วมใครว่าดีกว่าฝนแล้ง: ผลกระทบของอุทกภัยในปัจจุบันต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2567

 

อุทกภัยสามารถสร้างความเสียหายได้หลากหลายประเภทมากกว่าภัยแล้ง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน โรงงาน เครื่องจักร ยานพาหนะ เส้นทางคมนาคม และสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่พืชเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบตามปริมาณน้ำและความรุนแรงในการไหลผ่านพื้นที่ โดยหากระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและระบายได้เร็ว ก็จะไม่ก่อความเสียหายโดยสิ้นเชิงแก่พืชบางประเภท แต่มวลน้ำที่ไหลอย่างรุนแรงและแช่ขังในระดับสูงติดต่อกันหลายวันจะสร้างความเสียหายแก่พืชประเภท ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง รวมถึงพืชสวนและพืชไร่ต่างๆ เป็นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลนได้

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้ประเมินพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งปี 2567 ภายใต้การจำลองสถานการณ์ 3 ฉากทัศน์18/ และประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ตารางที่ 2) ดังนี้
 

  • กรณีดีที่สุด (Best case) หรือกรณีที่เกิดความเสียหายน้อยสุด จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 6.2 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 2.2 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 31.2 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายรวม 33.4 พันล้านบาท หรือราว -0.19% ของ GDP

  • กรณีฐาน (Base case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 3.1 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 43.4 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายรวม 46.5 พันล้านบาท หรือราว -0.27% ของ GDP

  • กรณีเสียหายมากสุด (Worst case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11.0 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 4.0 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 55.5 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายรวม 59.5 พันล้านบาท หรือราว -0.34% ของ GDP


 

ทั้งนี้ ระดับความเสียหายจากอุทกภัยต่อเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับ 1) ปริมาณน้ำฝนและการบริหารจัดการน้ำ 2) พื้นที่ที่เกิดอุทกภัย 3) ตำแหน่งที่ตั้งหน่วยเศรษฐกิจ (ครัวเรือน โรงงาน พื้นที่เกษตร) ดังนั้น หากพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยอยู่ในบริเวณที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง เช่น เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม แหล่งพื้นที่เกษตรที่สำคัญ หรือเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ได้รับความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งทำให้ความเสียหายต่อเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีคาดว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะไม่รุนแรงเท่ากับมหาอุทกภัยในปี 2554 และจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ธนาคารโลก (World Bank) ประเมินมูลค่าความเสียหายไว้สูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท20/ เนื่องจากคาดว่าในปี 2567 จะมีปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่า และมีพื้นที่รองรับน้ำที่มากกว่า ทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง นอกจากนี้ ความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ก้าวหน้าขึ้น (อาทิ ระบบเตือนภัย การซ่อมแซมบำรุง งบประมาณสนับสนุน) ประกอบกับการพัฒนาระบบป้องกันของภาคเอกชนที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม ยังช่วยลดทอนผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

1/ ดัชนี ONI ระดับเกณฑ์ปกติ (Neutral) จะมีค่าอยู่ระหว่าง -0.5oC ถึง 0.5oC ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวหมายถึงอุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรมีแนวโน้มกลับมาอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ย
2/ ลานีญา (La Niña) เป็นปรากฎการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรลดลงผิดปกติ ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดความชุ่มชื้นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทำให้ฝนตกมากกว่าปกติ โดยความรุนแรงของภาวะลานีญาสามารถบ่งชี้ได้จากดัชนี ONI Index โดยหากค่าดัชนีฯ อยู่ระหว่าง -0.5oC ถึง -0.9oC จะจัดว่าเป็นภาวะลานีญาระดับอ่อน (Weak La Niña) ค่าระหว่าง -1.0oC ถึง -1.4oC คือภาวะลานีญาระดับปานกลาง  (Moderate La Niña) ค่าระหว่าง -1.5oC ถึง -2.0oC คือภาวะลานีญาระดับรุนแรง (Strong La Niña) และหากค่าดัชนีฯ ต่ำกว่า -2.0oC จะบ่งชี้ภาวะลานีญาระดับรุนแรงมาก (Very Strong La Niña) ในทางกลับกัน หากดัชนีฯ มีค่าเป็นบวกจะบ่งชี้ปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño) โดยสามารถใช้หลักการเดียวกันในการบ่งชี้ความรุนแรง
3/ ระดับปกติ หมายถึง ปริมาณฝนเฉลี่ยของไทยในคาบ 30 ปี (พ.ศ.2534-2563)
4/ มหาสมุทรแปซิฟิกแนวเส้นศูนย์สูตรบริเวณ 5oN-5oS และ 170oW-120oW ซึ่งเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า Nino 3.4 Region
5/ ระดับปกติ หมายถึง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในคาบ 30 ปี (พ.ศ.2534-2563)
6/ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในคาบ 30 ปี อยู่ที่ 1,623 มิลลิเมตร
7/ Pacific Decadal Oscillation (PDO) เป็นปรากฎการณ์ความต่างของอุณหภูมิน้ำทะเลฟากตะวันออกและฟากตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณ 20oN หากค่าเป็นลบ (Negative Phase) น้ำทะเลในฟากตะวันออกจะอุ่น ทำให้มีแนวโน้มเกิดฝนในทวีปเอเชียบริเวณประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่าปกติ ทั้งนี้ปรากฎการณ์ดังกล่าวจะสลับค่าบวก/ลบเฉลี่ยรอบละ 30 ปี ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2567 ดัชนี PDO มีค่าเป็นลบที่ -3.0
8/ Indian Ocean Dipole (IOD) หรือ Dipole Mode Index (DMI) เป็นการเคลื่อนไหวไปมาสลับกันระหว่างกระแสน้ำอุ่นด้านตะวันตกและตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียบริเวณ 50oE-70oE, 10oS-10oN และ 90oE-110oE, 10oS-0oN ถ้าค่าเป็นลบ (Negative Phase)กระแสน้ำอุ่นจะไปรวมตัวด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้ฝนตกเพิ่มขึ้นในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2567 ดัชนี IOD มีค่าเป็นลบที่ -0.3
9/ ข้อมูลย้อนหลังเท่าที่มี (Available Data) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2567 (14 ปี) โดยค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ ณ สิ้นเดือนสิงหาคมในแต่ละปี อยู่ที่ 59.3% ของปริมาตรความจุน้ำในอ่างเก็บกัก
10/ ข้อมูลย้อนหลังเท่าที่มี (Available Data) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2567 (6 ปี) โดยค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลาง ณ สิ้นเดือนสิงหาคมในแต่ละปี อยู่ที่ 53.6% ของปริมาตรความจุน้ำในอ่างเก็บกัก
11/ ระดับสูงสุดของน้ำในเขื่อนแต่ละเดือนที่เกิดขึ้นย้อนหลังตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554-2566 (กรอบขอบเทาบนของน้ำในเขื่อนในแต่ละภาค ในภาพที่ 8)
12/ โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติได้ประเมินผลกระทบอุทกภัยที่มีพื้นที่เสียหายจำนวน 7 จังหวัด (กำแพงเพชร อุทัยธานี พะเยา ตาก อุตรดิตถ์ สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี) ไว้ที่ 8.6 พันไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 100.5 ล้านบาท
13/ ที่มา : เอกสารสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ปี 2567 ณ วันที่ 8 กันยายน 2567 จัดทำโดย สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน
14/ จังหวัดที่ยังประสบอุทกภัย ได้แก่ เชียงราย สุโขทัย ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง สระบุรี อยุธยา หนองคาย อุดรธานี นครพนม
15/ การประเมินผลกระทบและความเสียหายได้จากการวิเคราะห์โดยประมาณยังมิได้ผ่านการตรวจสอบสภาพพื้นที่จริง ที่มา: สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
16/ ที่มา : การคาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทยราย 3 เดือน เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2567 ออกประกาศ 26 สิงหาคม 2567
17/ พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากในช่วงปี 2554 - 2563 (9 ปี) และพื้นที่รับน้ำประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง และทุ่งบางกุ่ม ซึ่งใช้น้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก ส่วนทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ และทุ่งเจ้าเจ็ด ใช้รับน้ำที่ส่งผ่านทางแม่น้ำน้อย สำหรับทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ทุ่งโพธิ์พระยาใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีน ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งพระพิมล และทุ่งรังสิตใต้ใช้น้ำนอนคลองในพื้นที่
18/ บนสมมติฐานพื้นที่ได้รับผลกระทบในปัจจุบัน ประกอบกับความน่าจะเป็นในการเกิดอุทกภัยในช่วงที่เหลือของปี โดยใช้ข้อมูลย้อนหลังจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ
19/ คำนวณโดยวิจัยกรุงศรี ข้อมูลพื้นที่ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2567 บนสมมติฐานว่าพื้นที่เกษตรเสียหายราว 60-70% ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยมูลค่าความเสียหาย = ( ผลผลิตเสียหาย = พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง x ผลผลิตต่อไร่ ) x ราคาพืชผลเกษตรเฉลี่ยปี 2567
20/ ที่มา: 04 Thailand’s National Adaptation Plan - ศูนย์องค์ความรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (mnre.go.th)
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา