บทสรุปผู้บริหาร
ปี 2567 ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจากภาวะเอลนีโญ (El Niño) สู่ลานีญา (La Niña) โดยช่วงครึ่งปีแรกคาดว่าสถานการณ์เอลนีโญยังคงส่งผลกระทบต่อไทย แม้จะได้อานิสงส์จากร่องมรสุมในปี 2566 ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อน ณ ปัจจุบันอยู่ในระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ย ขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทานยังคงเผชิญปัจจัยลบ อาทิ อุณหภูมิและคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น อัตราการระเหยของน้ำเร็วขึ้น ภาวะฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งนำมาสู่ภาวะภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ ภาคเกษตร และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าพืชที่อ่อนไหวต่อภัยแล้งและปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง อ้อย และมันสำปะหลัง รวมถึงพืชสำคัญอื่นๆ อาทิ ข้าวโพด ผลไม้ ไม้ยืนต้น ซึ่งพืชบางประเภทส่งผลกระทบอุตสาหกรรมปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ โดยอาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจได้ราว 51.3 พันล้านบาทในกรณีฐาน ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลัง ประเทศไทยเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะอุทกภัยในบางพื้นที่ โดยสัญญาณสำคัญมาจากดัชนีสมุทรศาสตร์ อาทิ ดัชนี ONI มีแนวโน้มลดลงสู่ระดับปกติ (Neutral) และลดระดับสู่ลานีญาเป็นลำดับถัดไป ประกอบกับดัชนี PDO และ IOD ที่มีแนวโน้มเป็นช่วงลบหรือ Negative Phase (ต่ำกว่า -0.5) ทำให้ไทยมีแนวโน้มได้รับอิทธิพลของพายุชัดเจนขึ้น โดยพื้นที่เสี่ยงได้แก่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อหน่วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ ครัวเรือน โรงงาน เครื่องจักร และสินค้าเกษตร ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในปี 2567 นี้จะอยู่ที่ 1.7 ล้านไร่ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราว 260 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 4.2 พันล้านบาท (กรณีฐาน) ทำให้ความเสียหายจากภัยแล้งและน้ำท่วมในปี 2567 รวมกันอยู่ที่ 55.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็น -0.31% ของ GDP และทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นได้ 0.32-0.35%
สัญญาณการเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ El Niño สู่ La Niña
ในปี 2567 ประเทศไทยยังเผชิญภาวะเอลนีโญ (El Niño1/) อย่างต่อเนื่อง แต่ความรุนแรงค่อยๆ ลดลง สะท้อนจากค่าดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดค่าอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกแนวเส้นศูนย์สูตร ณ เดือนธันวาคม 25662/ มีค่าสูงกว่าปกติในระดับรุนแรงมาก (Very Strong El Niño) ที่ระดับ 2.0oC ซึ่งเข้าใกล้ค่าดัชนีรุนแรงสูงสุดในประวัติศาสตร์ (Historically strong)3/ 4 ช่วง ได้แก่ พ.ศ. 2515 (2.1oC) พ.ศ. 2525-2526 (2.2oC) พ.ศ. 2540 (2.4oC) พ.ศ. 2558 (2.6oC) อย่างไรก็ตาม ภาวะเอลนีโญส่วนใหญ่ในช่วงต้นปีจะทยอยลดความรุนแรง ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ดัชนี ONI จะปรับลดลงเข้าสู่เกณฑ์ปกติ4/ (Neutral) ในปีนี้ และจะเข้าสู่ภาวะลานีญา (La Niña1/) ในที่สุด (ภาพที่ 1) ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้ประเมินความเป็นไปได้ของภาวะเอลนีโญตาม 3 ฉากทัศน์ (ภาพที่ 2) ได้แก่
-
กรณีฐาน (Base case): ดัชนี ONI เริ่มปรับตัวลงในเดือนมกราคม 2567 เข้าสู่เกณฑ์ปกติช่วงเดือนมิถุนายน 2567 และเปลี่ยนเป็นลานีญาในเดือนสิงหาคม 2567
-
กรณีเลวร้าย (Worse case หรือ Stronger El Niño than expected): ในกรณีนี้ ในเดือนมีนาคม 2567 ดัชนี ONI จะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับรุนแรงใกล้เคียงกับปี พ.ศ. 2525-2526 และปี พ.ศ. 2540 และทยอยปรับลดลงจนเข้าสู่ระดับปกติในเดือนกันยายน 2567 และลดลงจนกลายเป็นลานีญาในเดือนพฤศจิกายน 2567
-
กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst case หรือ Historical high): สำหรับกรณีนี้ ในเดือนเมษายน 2567 ดัชนี ONI จะแตะระดับสูงสุดในรอบ 74 ปีเช่นเดียวกับ พ.ศ. 2558 และจะทยอยลดลงจนเข้าสู่ระดับปกติในเดือนกันยายน 2567 และลดลงจนกลายเป็นลานีญาในเดือนธันวาคม 2567
ภาวะเอลนีโญในปี 2567 จะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
ตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางปี 2567 ไทยยังคงเผชิญกับภาวะเอลนีโญที่ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้นและคลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น เนื่องจากน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะแถบเส้นศูนย์สูตรอุ่นขึ้น และไหลไปทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ฝั่งทวีปอเมริกาใต้) ทำให้กระแสลมนำพาอากาศร้อนและแห้งไปยังแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มากขึ้น และส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าปกติ สอดคล้องกับการคาดการณ์ล่าสุดโดยกรมอุตุนิยมวิทยา6/ ที่คาดว่าอุณหภูมิของไทยจะสูงกว่าค่าปกติ 1.0-1.5oC และสูงกว่าช่วงฤดูร้อนปี 2566 โดยคาดการณ์อุณหภูมิสูงสุดจะอยู่ที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือที่ระดับ 43.0-44.5oC รองลงมาเป็นภาคกลางและตะวันออกที่ระดับ 42.0-44.0oC สำหรับภาคใต้ กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะอยู่ที่ระดับ 40.0-41.0oC ซึ่งอุณหภูมิในครั้งนี้จัดอยู่ในเกณฑ์ “อากาศร้อนจัด”7/ ในขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดทั้งประเทศเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1oC โดยอุณหภูมิที่สูงนี้อาจนำมาซึ่งภัยธรรมชาติ อาทิ ไฟป่า ปัญหาฝุ่นและหมอกควัน ตลอดจนการเจ็บป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและพืชพรรณเสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปะการังฟอกขาว ปัญหาการเติบโตและแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ ปัญหาภาคเกษตรพืชผลเสียหายจากการขาดน้ำหรืออุณหภูมิความร้อนที่สูง อันอาจนำไปสู่การขาดแคลนอาหารและการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้ในที่สุด
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 คาดว่าประเทศไทยยังคงเผชิญภาวะฝนทิ้งช่วง แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ภาวะเอลนีโญอาจทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงต่อเนื่อง โดยความรุนแรงจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นหากค่าดัชนี ONI ยังอยู่ในโซนของเอลนีโญ (ภาพที่ 4) ซึ่งจะส่งผลให้ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2567 ประเทศไทยมีระยะเวลากักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนสั้นลง ส่งผลให้พื้นที่แล้งซ้ำซากบริเวณนอกเขตชลประทานอาจขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้
แม้ว่าจะมีแนวโน้มสูงที่ดัชนี ONI จะเข้าสู่เกณฑ์ปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 แต่ด้วยระยะการกักเก็บน้ำฝนที่คาดว่าจะสั้นลง ตลอดจนผลกระทบจากภาวะเอลนีโญที่น่าจะยังส่งผลต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้คาดว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกในปีนี้จะลดลง แต่ยังใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่าปริมาณฝนในปี 2567 จะลดลงราว 1%-3% จากค่าปกติ8/ หรืออยู่ที่ระดับประมาณ 1,613 มิลลิเมตร ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 30 ปีย้อนหลัง (ภาพที่ 5) ขณะที่ในปี 2568 ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% จากค่าปกติ อยู่ที่ระดับ 1,700-1,800 มิลลิเมตร ซึ่งยังคงห่างจากระดับในปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัย (ปริมาณฝน 1,948 มิลลิเมตร) และปี 2560 ที่เกิดอุทกภัยเป็นวงกว้าง (ปริมาณฝน 2,016 มิลลิเมตร) ทั้งนี้ ปริมาณฝนในปี 2567-2568 ดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้ (Useable Water) มีแนวโน้มเพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้จริง โดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะได้อานิสงส์จากอุณหภูมิที่ลดลงและความชื้นที่สูงขึ้น เอื้อการเพาะปลูก
แม้ว่าในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2566 จะมีปริมาณฝนสูงกว่าปกติมากจากร่องมรสุม ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและในเขื่อน ณ เดือนมกราคม 2567 เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่เหนือระดับค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำใช้การได้ (Usable Water) ในเขื่อนของแต่ละภูมิภาค (ภาพที่ 6) ส่งผลให้ในปี 2567 พื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ในเขตชลประทานยังคงได้อานิสงส์จากปริมาณน้ำที่เพียงพอ ในทางกลับกัน พื้นที่นอกเขตชลประทานจะยังคงเผชิญความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ปริมาณฝนและความชื้นลดลง ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานกว่า 32 จังหวัดอาจเผชิญความเสียหายทางการเกษตรหรืออัตราการให้ผลผลิตที่ลดลง (ภาพที่ 7)
ผลกระทบของภัยแล้งต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรม
วิจัยกรุงศรีประเมินว่าภาวะเอลนีโญในปีนี้จะยังคงสร้างผลกระทบต่อเนื่องต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงปี 2567 ดังนี้
1) ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร
ภาวะภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อพืชสำคัญหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมถึงผลไม้ต่างๆ อาทิ มะม่วง ทุเรียน สับปะรด แต่ระดับความเสียหายจะแตกต่างกันไปตามบริบทที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของพืช พื้นที่และภูมิภาคที่เพาะปลูก ช่วงเวลาเพาะปลูก และช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ยกตัวอย่างเช่นไม้ยืนต้น อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะม่วง ทุเรียน โดยธรรมชาติแล้วจะสามารถทนแล้งได้นานกว่าพืชระยะสั้นหรือพืชล้มลุก แต่ปริมาณผลผลิตอาจลดลงตามพื้นที่ปลูกในแต่ละภูมิภาค แต่ในกรณีพืชล้มลุก อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ผลกระทบจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงฤดูเพาะปลูก ช่วงระยะเติบโต และช่วงเก็บเกี่ยว
วิจัยกรุงศรีจึงได้ประเมินผลกระทบในแง่ผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง อันได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อภัยแล้งและยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมปลายน้ำต่างๆ9/ (ตารางที่ 1) ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้อาจส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) ได้
เมื่อพิจารณาหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก อาทิ 1) ความครอบคลุมของพื้นที่ชลประทานและระดับน้ำในเขื่อนที่จำกัด 2) ภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช 3) สภาพอากาศที่แห้งแล้งและอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ความชื้นในดินลดต่ำลง ตามการระเหยของน้ำที่มากขึ้นทำให้พืชมีโอกาสเสียหายจากการขาดน้ำ 4) ต้นทุนการเพาะปลูกที่สูง (อาทิ ค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าในการสูบน้ำ ค่าใช้จ่ายในการปราบศัตรูพืชและวัชพืช) เป็นต้น จึงคาดว่าในปี 2567 ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่อาจเสียหายมาก ได้แก่ ข้าว และอ้อย โดยพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบสูงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก (ภาพที่ 6) ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรลดลง ขณะที่ในปี 2568 ความเสียหายจะค่อยๆ ผ่อนคลายลง จากการเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งอุณหภูมิที่ลดลงและความชื้นที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
2) ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต
ในการประเมินผลกระทบภัยแล้งต่อระบบเศรษฐกิจนั้น เรายังต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร วิจัยกรุงศรีจึงได้วิเคราะห์โครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร โดยเลือกเฉพาะพืชหลักที่อาจได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง อันได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-output Table) ปี 2558 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์โครงสร้างการผลิต
ผลการวิเคราะห์พบว่าความสูญเสียที่เกิดจากภัยแล้งไม่ได้จำกัดอยู่ที่ภาคเกษตรเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายไปถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream Industry) จากความต้องการใช้สินค้าที่ลดลงตามการผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง ตลอดจนอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream Industry) ที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ ต้องเผชิญความเสียหายในรูปแบบของการลดกำลังการผลิตหรือการจัดหาวัตถุดิบทดแทนซึ่งทำให้ภาระด้านต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ภัยแล้งไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และบริการ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย
3) มุมมองวิจัยกรุงศรี: ผลกระทบของภัยแล้งต่อ GDP
เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ โดยศึกษาจากภาวะเอลนีโญช่วงปี พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2525-2526 พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะมีระดับความรุนแรงและการปรับสู่ภาวะปกติใกล้เคียงกัน วิจัยกรุงศรีจึงคาดการณ์ว่าในปี 2567 ภัยแล้งจะฉุดให้ GDP โดยรวมลดลง -0.29% ในกรณีฐาน และในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจลดลงถึง -0.66%
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าขนาดของผลกระทบต่อ GDP ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เกิดภาวะเอลนีโญและปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ ดังนั้น ภัยแล้งในครั้งนี้จะส่งผลรุนแรงต่อ GDP หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำและแนวโน้มการเกิดฝนในช่วงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไปเป็นสำคัญ โดยในเบื้องต้นวิจัยกรุงศรีได้ประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 กรณีตามสมมติฐานการเกิดเอลนีโญ (ตารางที่ 2) ดังนี้
-
กรณีฐาน (Base case): ความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 51.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ GDP ขยายตัวลดลง -0.29% จากกรณีปกติที่ไม่มีภัยแล้ง
-
กรณีเลวร้าย (Worse case หรือ Stronger El Niño than expected): มูลค่าความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 85.1 พันล้านบาท ส่งผลให้ GDP ขยายตัวลดลง -0.47%
-
กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst case หรือ Historical high): ก่อให้เกิดความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 118.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ GDP ขยายตัวลดลง -0.66%
ท่วมใครว่าดีกว่าฝนแล้ง: แนวโน้มการเกิดอุทกภัยมีความเสี่ยงสูงขึ้น หลังเอลนีโญคลี่คลายลง
นอกจากภัยแล้งแล้ว ในปี 2567 นี้ ประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงต่ออุทกภัยเพิ่มเติม ผลจากสภาพอากาศและปัจจัยแวดล้อมที่ส่งสัญญาณ ดังนี้
1) ดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) จากแบบจำลองทั้ง 3 กรณี ที่มีทิศทางปรับลดลงเข้าสู่ระดับลานีญา (หรือดัชนีมีค่าเป็นลบ) อย่างรวดเร็ว โดยในกรณีฐาน มีแนวโน้มที่ไทยจะเผชิญภาวะลานีญาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้ปริมาณฝนเกิดขึ้นมากกว่าปกติ ขณะที่ในกรณีเลวร้ายและเลวร้ายที่สุดนั้น แม้จะอยู่ในช่วงเอลนีโญระดับอ่อน (Weak El Niño) ในเดือนสิงหาคม 2567 และระดับปกติ (Neutral) ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 แต่ก็มีแนวโน้มสูงที่ปริมาณฝนจะกลับมาสู่ภาวะปกติในเวลาเดียวกัน อิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนที่คาดว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ของทุกปีจะส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญฝนตกชุก (ภาพที่ 8) อันอาจส่งผลให้ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ (ภาพที่ 9)
2) ปี 2567 คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคมมีแนวโน้มมากกว่าระดับปกติ10/ ราว 10-15% ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนนี้มีโอกาสเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันโดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซาก (Flood-prone Areas หรือ Flood Bed) อย่างไรก็ตามความเสี่ยงน้ำท่วมเป็นวงกว้างโดยรวมยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากปริมาณฝนที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปีจะทำให้ปริมาณน้ำฝนสะสมทั้งปีกลับมาอยู่ระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ที่ประมาณ 1,613 มิลลิเมตร ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับมหาอุทกภัยปี 2564 ที่มีปริมาณฝนอยู่ที่ 1,948 มิลลิเมตร (ภาพที่ 5)
3) ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย11/ โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2567 ปริมาณน้ำทั้งหมดในเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ที่ 51,166 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 72% ของปริมาตรความจุน้ำในอ่างเก็บกัก ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 13 ปี12/ และสูงกว่าปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยซึ่งมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 46,783 ล้านลูกบาศก์เมตร (67% ของปริมาตรความจุฯ) (ภาพที่ 10) เช่นเดียวกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอยู่ที่ 74% ของปริมาตรความจุฯ สูงกว่าปี 2554 ที่ระดับ 68% ซึ่งระดับน้ำที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยนี้สะท้อนถึงความสามารถในการกักเก็บน้ำที่เหลือน้อยลง ดังนั้นหากปริมาณฝนมากกว่าระดับปกติและไหลเข้าเขื่อนเกินปริมาตรความจุในอ่างกักเก็บ อาจจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำเพื่อรักษาสภาพเขื่อนไม่ให้เสียหาย ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุทกภัยที่สูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ใต้เขื่อน
4) ปริมาณพายุ13/ ในปี 2567 วิจัยกรุงศรีคาดว่าประเทศไทยจะเผชิญพายุหมุนเขตร้อนจำนวน 1-2 ลูก โดยเดือนที่พายุจะเคลื่อนที่เข้ามาในประเทศไทยมากที่สุดคือช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม อย่างไรก็ตาม จากสถิติปริมาณพายุที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 ลูกต่อปี14/ (ภาพที่ 3) และในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยที่ 1-2 ลูก15/
5) อิทธิพลของพายุ นอกจากปริมาณพายุหลักแล้ว ไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากอิทธิพลของพายุที่แม้จะไม่ได้เข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง แต่อาจจะสลายตัวในบริเวณประเทศเพื่อนบ้านหรือเปลี่ยนทิศทางเข้าสู่ประเทศไทยได้ สะท้อนจากค่าดัชนีสมุทรศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้แก่ Pacific Decadal Oscillation (PDO)16/ และ Indian Ocean Dipole (IOD)17/ ซึ่งในเดือนมกราคม 2567 ดัชนี PDO มีค่าเป็นลบที่ -1.5 ขณะที่ IOD มีค่าเป็น 0.7 (ภาพที่ 11) แต่หากพิจารณาทิศทางแล้วค่า IOD มีแนวโน้มทยอยลดต่ำอยู่ในช่วงขาลง สะท้อนถึงแนวโน้มปริมาณฝนที่จะเข้าสู่ไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่กลับมาอยู่ในระดับปกติ
ด้วยปัจจัยข้างต้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในช่วงครึ่งหลังปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเข้าสู่ฤดูฝนอันจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อน (Water Supply) ที่เดิมอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย ทยอยเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนถึงความเสี่ยงการเกิดภาวะอุทกภัย อย่างไรก็ตามคาดว่าความเสียหายยังคงจำกัดเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซากโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง (ภาพที่ 12) ซึ่งจะสร้างความเสียหายเพิ่มเติมแก่เกษตรกรต่อจากภัยแล้งในช่วงต้นปี โดยความเสียหายจะครอบคลุมไปถึงสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน ของใช้อุปโภคบริโภค และเส้นทางคมนาคมอีกด้วย
ผลกระทบของอุทกภัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
อุทกภัยสามารถสร้างความเสียหายได้หลากหลายประเภทมากกว่าภัยแล้ง ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือน โรงงาน เครื่องจักร ยานพาหนะ เส้นทางคมนาคม และสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่พืชเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบตามปริมาณน้ำและความรุนแรงในการไหลผ่านพื้นที่ โดยหากระดับน้ำท่วมทยอยเพิ่มขึ้นไม่มากและระบายได้เร็วจะไม่ก่อความเสียหายโดยสิ้นเชิงแก่พืชบางประเภท แต่หากการไหลของน้ำรุนแรงและแช่ขังในระดับสูงหลายวัน จะเกิดความเสียหายมากแก่พืชประเภท ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง รวมถึงพืชสวนและพืชไร่ต่างๆ และจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลนได้
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีได้ประเมินพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ภายใต้การจำลองสถานการณ์และประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 ฉากทัศน์18/ (ตารางที่ 3) ตามกรณีการเกิดเอลนีโญ ดังนี้
- กรณีฐาน (Base case) จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 1.7 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 260 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 4.2 พันล้านบาท หรือส่งผลให้ GDP ลดลง -0.025% จากกรณีปกติ
- กรณีเลวร้าย (Worse case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 1.3 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 195 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 3.2 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ที่ -0.019%
- กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 0.9 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 130 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้าเกษตรเสียหาย 2.1 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายต่อ GDP ที่ -0.012%
ทั้งนี้ ขนาดของผลกระทบต่อ GDP ขึ้นอยู่กับ 1) ปริมาณน้ำฝนและการบริหารจัดการน้ำ 2) พื้นที่ที่เกิดอุทกภัย 3) ตำแหน่งที่ตั้งหน่วยเศรษฐกิจ (ครัวเรือน โรงงาน พื้นที่เกษตร) ดังนั้น หากพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยอยู่ในบริเวณที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง เช่น เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม แหล่งพื้นที่เกษตรที่สำคัญ หรือเส้นทางคมนาคมสำคัญได้รับความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งทำให้ความเสียหายต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมและการคาดการณ์ แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงอุทกภัยในปี 2567 นี้ได้ อาทิ ภาวะน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทย หรือปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สูงขึ้นโดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงและความเสียหายจากอุทกภัยได้เนื่องจากจะสามารถระบายน้ำได้ช้า ขณะที่การเตรียมมาตรการรับมืออุทกภัยของภาครัฐ อาทิ การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนที่มีประสิทธิภาพ การกำจัดสิ่งกีดขวางเส้นทางน้ำ การเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรในพื้นที่เสี่ยง การจัดสรรน้ำและการส่งน้ำที่มีประสิทธิภาพ การตรวจความมั่นคงของทำนบ (Embankment dam) พนังกั้นน้ำ (Retaining wall) และระบบสาธารณูปการต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน จะช่วยลดความเสี่ยงอุทกภัยในหลายพื้นที่ได้
ผลกระทบวิกฤตภัยแล้งและน้ำท่วมต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ
เมื่อรวมผลกระทบของทั้งภัยแล้งและอุทกภัยเข้าด้วยกันใน 3 ฉากทัศน์ จะสามารถประเมินความเสียหายตลอดห่วงโซ่อุปทานที่จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้ (ตารางที่ 4) ดังนี้
-
กรณีฐาน (Base case) ความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 55.8 พันล้านบาท ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวลดลง -0.31% จากกรณีปกติ
-
กรณีเลวร้าย (Worse case) มูลค่าความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 88.5 พันล้านบาท ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวลดลง -0.49% จากกรณีปกติ
-
กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst case) ก่อให้เกิดความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 120.9 พันล้านบาท ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวลดลง -0.67% จากกรณีปกติ
นอกจากนี้ ทั้งภัยแล้งและอุทกภัยยังสามารถส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อได้ เนื่องจากจะส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรลดลงและนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอุปทานในห่วงโซ่การผลิต จนนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะราคาข้าว น้ำตาล น้ำมันพืช ตลอดจนราคาพืชผักต่างๆ ส่งผลให้ต้นทุนการบริโภคในบ้านและร้านอาหารนอกบ้านของครัวเรือน และต้นทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากการปรับขึ้นราคาทางตรงและทางอ้อม (Second-round Effect) ทำให้ผลกระทบรวมต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับสูงขึ้นได้ราว 0.32 - 0.35%19/ นอกจากนี้ ในทางปฎิบัติ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องนิยมปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นจำนวนเต็มบาทต่อหน่วยสินค้า ดังนั้นผลต่ออัตราเงินเฟ้อจึงอาจสูงกว่าที่ประเมินไว้เบื้องต้นนี้ได้
1/ เอลนีโญ (El Niño) เป็นปรากฎการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดความแห้งแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยความรุนแรงของภาวะเอลนีโญสามารถบ่งชี้ได้จากดัชนี ONI Index โดยหากค่าดัชนีฯ อยู่ระหว่าง 0.5-0.9 จะจัดว่าเป็นภาวะเอลนีโญระดับอ่อน (Weak El Niño) ค่าระหว่าง 1.0-1.4 คือภาวะเอลนีโญระดับปานกลาง (Moderate El Niño) ค่าระหว่าง 1.5-1.9 คือภาวะเอลนีโญระดับรุนแรง (Strong El Niño) และถ้ามากกว่า 2.0 จะบ่งชี้ภาวะเอลนีญาระดับรุนแรงมาก (Very Strong El Niño) ในทางกลับกัน หากดัชนีฯ มีค่าเป็นลบจะบ่งชี้ปรากฎการณ์ลานีญา (La Niña) โดยสามารถใช้หลักการเดียวกันในการบ่งชี้ความรุนแรง
2/ El Niño/Southern Oscillation (ENSO) เป็นปรากฎการณ์ตามฤดูกาลซึ่งคงอยู่เป็นเวลานานอย่างน้อยหลายเดือน ทำให้ค่าดัชนีที่ใช้เป็นค่าเฉลี่ย อาทิ DJF แสดงถึงเฉลี่ยเดือนธันวาคม มกราคม และกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ค่าดัชนี ONI ล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2566 จึงเป็นค่าเฉลี่ย 3 เดือนของเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2566 และมกราคม 2567
3/ พิจารณาเริ่มตั้งแต่มีฐานข้อมูลในปี พ.ศ. 2493 หรือ 74 ปีย้อนหลัง
4/ ค่าดัชนี ONI ระดับเกณฑ์ปกติ (Neutral) จะมีค่าดัชนีอยู่ระหว่าง -0.5oC ถึง 0.5oC ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวหมายถึงอุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรมีแนวโน้มกลับมาอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ย
5/ มหาสมุทรแปซิฟิกแนวเส้นศูนย์สูตรบริเวณ 5oN-5oS และ 170oW-120oW ซึ่งเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า Nino 3.4 Region
6/ ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 ณ วันที่ 25 มกราคม 2567
7/ ตามเกณฑ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา อุณหภูมิของอากาศร้อนจะอยู่ที่ระดับ 35.0-39.9oC และเกณฑ์อากาศร้อนจัดจะอยู่ที่ 40.0oC ขึ้นไป
8/ กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าปริมาณฝนในช่วงฤดูร้อนในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 30% จากค่าปกติ ที่มา : การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 ณ วันที่ 25 มกราคม 2567
9/ ปัจจัยที่นำมาพิจารณา ช่วงเดือนที่ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ พื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน ประเภทของผลผลิต ความน่าจะเป็นที่ผลผลิตเสียหาย และราคาสินค้า ณ ปัจจุบัน
10/ ระดับปกติ หมายถึง ปริมาณฝนเฉลี่ยในคาบ 30 ปี (พ.ศ.2534-2563)
11/ ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำในเขื่อน ณ เดือนมกราคม ในรอบปี 2554 - 2566 อยู่ที่ 67.6% ของปริมาตรความจุน้ำในอ่างเก็บกัก
12/ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554-2566 (13 ปี)
13/ ได้แก่ ดีเปรสชั่น โซนร้อน และไต้ฝุ่น
14/ เฉลี่ยปี พ.ศ.2494-2566 (73 ปี)
15/ เฉลี่ยปี พ.ศ.2557-2566 (10 ปี)
16/ Pacific Decadal Oscillation (PDO) เป็นปรากฎการณ์ความต่างของอุณหภูมิน้ำทะเลฟากตะวันออกและฟากตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณ 20oN หากค่าเป็นลบ (Negative Phase) น้ำทะเลในฟากตะวันออกจะอุ่น ทำให้มีแนวโน้มเกิดฝนในทวีปเอเชียบริเวณประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียงมากกว่าปกติ ทั้งนี้ปรากฎการณ์ดังกล่าวจะสลับค่าบวก/ลบเฉลี่ยรอบละ 30 ปี
17/ Indian Ocean Dipole (IOD) หรือ Dipole Mode Index (DMI) เป็นการเคลื่อนไหวไปมาสลับกันระหว่างกระแสน้ำอุ่นด้านตะวันตกและตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียบริเวณ 5oE-7oE, 1oS-1oN และ 9oE-11oE, 1oS-0oS ถ้าค่าเป็นลบ (Negative Phase) กระแสน้ำอุ่นจะไปรวมตัวด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ส่งผลให้ฝนตกเพิ่มขึ้นในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
18/ บนสมมติฐานว่าพื้นที่เกษตรเสียหายราว 50-60% ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด
19/ คำนวณโดยวิจัยกรุงศรี จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์