การเงินสีเขียวในอาเซียน: เส้นทางสู่โอกาสและความท้าทายในอนาคต

การเงินสีเขียวในอาเซียน: เส้นทางสู่โอกาสและความท้าทายในอนาคต

30 กันยายน 2567

บทนำ

 

ในปัจจุบันภูมิภาคเอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รุนแรงมากที่สุดในโลก ทั้งในด้านจำนวนผู้เสียชีวิตและมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ ซึ่งการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่สิ้นสุดยุคโลกร้อน (Global Warming) เข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือและแรงผลักดันในระดับนานาชาติ ที่ผ่านมาทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียน1/ จึงได้แสดงความร่วมมือผ่านการลงนามในความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ2/  ในการประชุม COP263/  โดยได้ให้คำมั่นที่จะร่วมจำกัดอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส และประกาศคำมั่นสัญญาเพื่อไปสู่จุดหมายดังกล่าว ผ่านการกำหนดเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)



 

ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้แนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทวีความสำคัญขึ้นมาก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ได้ให้นิยามว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” เป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์และความเท่าเทียมทางสังคมดีขึ้น ขณะเดียวกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมถอยของระบบนิเวศน์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีเป้าหมายที่จะสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามคำอธิบายของธนาคารโลกนั่นเอง ทั้งนี้ การเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวโดยเร็วนั้น จำเป็นต้องอาศัยเงินทุนเข้ามาขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Investment) และกลไกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญ คือ “การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม” หรือ “การเงินสีเขียว” (Green Finance)4/

บทความนี้จะวิเคราะห์ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “การเงินสีเขียว” ในแง่มุมต่างๆ ดังนี้ (1) บทบาทของภาคส่วนต่างๆ และเครื่องมือทางการเงินเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (2) พัฒนาการของการเงินสีเขียวในอาเซียน (3) โอกาสของภาคธนาคารในตลาดการเงิน
สีเขียว และ (4) ความท้าทายของตลาดการเงินสีเขียว โดยบทความนี้จะเน้นไปที่การเงินสีเขียวใน 6 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

 

บทบาทของภาคส่วนต่างๆ และเครื่องมือทางการเงินเพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

 

ผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจสามารถมีส่วนร่วมผลักดันการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนผ่านการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างผลตอบแทนทางการเงินไปพร้อมกับผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลงทุนด้านพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เทคโนโลยีสะอาด เกษตรกรรมที่ยั่งยืน การจัดการขยะ การอนุรักษ์น้ำ เป็นต้น


บทบาทของภาคส่วนต่างๆ
 

  • ภาครัฐ: สามารถสนับสนุนการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมผ่านการกำหนดนโยบายภายในประเทศ รวมถึงวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านกายภาพและด้านกฎระเบียบเพื่อรองรับและสนับสนุนให้ภาคส่วนอื่นๆ สามารถลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมและริเริ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียว นอกจากนี้ ภาครัฐเองก็ควรมีบทบาทเป็นผู้นำด้านการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งการลงทุนจากภาคเอกชน

  • ภาคเอกชน: สามารถนำประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหรือกระบวนการทำงานที่ลด จำกัด กักเก็บ หรือยุติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ  ทั้งนี้ การลงทุนจะมีขนาดมหาศาลในช่วงเริ่มต้นและจะค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา

  • วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprises: SMEs) และภาคครัวเรือน: สามารถมีส่วนร่วมโดยเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน

  • ความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ: ปัจจุบันเกือบทุกเขตเศรษฐกิจทั่วโลกได้มีการลงนามในความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution) เป็นเสมือนหมุดหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้วยแรงผลักดันจากประชาคมแล้ว ยังส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านข้อมูลและการเงินผ่านกองทุนระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นอีกด้วย


เนื่องจากการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องใช้เงินทุน ดังนั้นภาคการเงิน ซึ่งประกอบไปด้วยสถาบันการเงิน ตลาดทุน ตลอดจนแหล่งระดมทุนต่างๆ จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุน ตลอดจนพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์รวมถึงบริการทางการเงินสีเขียวที่เหมาะกับผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเกิดการปรับตัวในระยะสั้นต่อเนื่องถึงระยะกลาง อีกทั้งจะเป็นตัวกลางรักษาสมดุลระหว่างความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาวอีกด้วย

 

เครื่องมือทางการเงินสำหรับการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม: บริบทในอาเซียน

 

ความต้องการเงินทุนลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละภาคส่วนนำมาซึ่งการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียวเพื่อตอบโจทย์การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งธนาคารโลกและ Climate Bonds Initiative (CBI)5/ ได้จำแนกประเภทเครื่องมือทางการเงินสีเขียวไว้ ดังนี้

1)  เงินอุดหนุน (Grant) มักเป็นเงินให้เปล่าจากภาครัฐหรือหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างแรงจูงใจหรือเร่งการใช้ประโยชน์จากลงทุนของภาคเอกชนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยสำหรับโครงการบางประเภทอาจถือเป็นเงินช่วยเหลือที่มอบให้เพื่ออุดหนุนการขาดทุนในส่วนแรก อย่างไรก็ตาม เครื่องมือทางการเงินชนิดนี้มีความเสี่ยงสูงในแง่การผลักดันโครงการให้บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากโครงการไม่ได้มีภาระในการคืนเงินทุนให้แก่ผู้มอบเงินอุดหนุน

2)  ตราสารทุนและการร่วมทุน (Equity instruments) เป็นการจัดหาเงินทุนในรูปแบบความเป็นเจ้าของ มักเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในโครงการที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาหรือโครงการที่มีความเสี่ยงสูง เครื่องมือประเภทนี้จึงมาพร้อมกับความคาดหวังของ
นักลงทุนว่าจะได้รับผลตอบแทนทางการเงินที่สูงเมื่อโครงการประสบความสำเร็จ เครื่องมือทางการเงินประเภทนี้ เช่น หุ้น (Stock) การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership) กิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity)6/ เป็นต้น

3)  สินเชื่อและตราสารหนี้ (Debt instruments) เป็นการจัดหาเงินทุนในรูปแบบของการกู้เงิน จึงเหมาะกับโครงการที่มีความเสี่ยงต่ำหรือประเมินแล้วว่ามีความสามารถในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดเวลา เครื่องมือประเภทนี้ อาทิ สินเชื่อสีเขียว (Green Loans) ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้สีเขียว (Green Corporate Bond) และพันธบัตรสีเขียว (Green Sovereign Bonds) รวมไปถึงเครื่องมือทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลามอย่าง
ศุกูกสีเขียว (Green Sukuk)7/ อีกด้วย

นอกเหนือไปจากเครื่องมือทางการเงินสีเขียวข้างต้น ยังมีเครื่องมือทางการเงินด้านความยั่งยืนอื่นๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับการระดมทุนไปยังโครงการหรือกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์กว้างขวางขึ้น โดยครอบคลุมเป้าหมายด้านความยั่งยืน อันได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และการกำกับดูแล (Environment, Social, and Governance: ESG) ได้มากกว่าหนึ่งด้านผ่านการระดมทุนในครั้งเดียว ซึ่งได้แก่ ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เป็นเครื่องมือที่ผู้ระดมทุนสามารถนำเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ/หรือ การพัฒนาทางสังคม และสินเชื่อและตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Loan and Bond) เป็นเครื่องมือที่มีเงื่อนไขในการปรับผลตอบแทน โดยอ้างอิงกับความสำเร็จหรือผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัทผู้ระดมทุน8/

4)  เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เป็นกลไกในการถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk sharing) หรือกลไกในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของโครงการ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการกู้ยืม (Leverage) ของบริษัทที่จะลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ อาทิ การประกันสินเชื่อ (Credit Guarantee) เครื่องมือถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Sharing Facility) และเครื่องมือป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ (Default swap)


 

นอกจากเครื่องมือทางการเงินข้างต้น หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการระดมทุนในประเทศต่างๆ รวมถึงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศได้จัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) เพื่อเป็นเครื่องมืออ้างอิงที่จะช่วยให้เกิดความเข้าใจและความมั่นใจในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น โดยกลุ่มอาเซียนได้มีความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการเงินการคลังในการจัดทำมาตรฐานของอาเซียนเพื่อจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ ASEAN Taxonomy for Sustainable Finance (ASEAN Taxonomy) เช่นกัน โดยปัจจุบันมีการเผยแพร่ออกมาแล้วถึง 3 ฉบับ9/ ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับหลักการและกรอบการทำงานในภาพรวมของ ASEAN Taxonomy รวมถึงรายละเอียดในการประเมินและการจัดกลุ่มกิจกรรมของภาคธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง ภาคการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ ภาคการผลิต และการจัดการน้ำและของเสีย

ในบรรดาเครื่องมือทางการเงินสีเขียว การระดมทุนในรูปแบบของการสินเชื่อและตราสารหนี้เป็นที่นิยมในอาเซียนและเหมาะสมกับบริบทของการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมในอาเซียนมากกว่ารูปแบบตราสารทุนหรือการร่วมทุน เนื่องจาก ประการแรก สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบสำหรับสินเชื่อหรือตราสารหนี้ได้รับการพัฒนามากที่สุดเมื่อเทียบกับเครื่องมือทางการเงินสีเขียวอื่นๆ และหลายประเทศในอาเซียนกำลังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากรอบการกำกับดูแลตราสารหนี้สีเขียวอย่างต่อเนื่อง ประการที่สอง ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบผลของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมจากผู้ออกตราสารหนี้ได้ง่ายกว่า ขณะที่หากธุรกิจที่ระดมทุนโดยใช้ตราสารทุนที่ไม่ได้มีเป้าหมายการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จะมีความซับซ้อนในขั้นตอนของการเปิดเผยข้อมูลและการตรวจสอบการใช้เงินทุนอีกด้วย ประการที่สาม ตราสารทุนหรือการร่วมทุนมักถูกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับระดมทุนในโครงการที่มีเทคโนโลยีเฉพาะทางเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา หรือโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งยังไม่แพร่หลายนักในอาเซียนเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประการที่สี่ การสนับสนุนจากภาครัฐทั้งการอุดหนุนและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่การลงทุนในตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่ดึงดูดผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจให้สนใจการลงทุนในตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น ที่ผ่านมาเครื่องมือทางการเงินสำหรับการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมในอาเซียนจึงมุ่งเน้นไปที่พัฒนาการของตลาดสินเชื่อหรือตราสารหนี้เป็นหลัก



 

พัฒนาการของการลงทุนและการเงินสีเขียวในอาเซียน

 

ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการออกสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวตั้งแต่ปี 2559-2566 รวมทั้งสิ้นประมาณ 58.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ10/ โดยมี 6 ประเทศที่มีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวอย่างสม่ำเสมอนับตั้งแต่ปี 2559 ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ที่ผ่านมา เราได้เห็นพัฒนาการทั้งในด้านการเติบโตของตลาดและความหลากหลายของเครื่องมือทางการเงินใน 6 ประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อสีเขียว หุ้นกู้สีเขียว พันธบัตรสีเขียว และศุกูกสีเขียว รวมทั้งยังได้เห็นพัฒนาการของผู้เล่นที่มีบทบาทในตลาดและการจัดสรรเงินทุนไปในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายมากขึ้น


พัฒนาการของตลาดสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียว จำแนกตามประเภทเครื่องมือทางการเงิน

 
  • สินเชื่อสีเขียว เป็นเครื่องมือที่มีมูลค่าการระดมทุนมากที่สุดในอาเซียน โดยกว่าร้อยละ 80 เป็นการระดมทุนโดยบริษัทรายใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในภาคการเงิน (Non-Financial Corporate) ส่วนที่เหลือเป็นการระดมทุนโดยสถาบันการเงินภาคเอกชน (Financial Corporate) และรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อสีเขียวมีการเปิดเผยข้อมูลที่จำกัดจึงทำให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมและการใช้เงินทุนไม่มากนัก

  • ตราสารหนี้สีเขียว ประกอบด้วยหุ้นกู้สีเขียวที่ออกโดยภาคเอกชนและพันธบัตรสีเขียวที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ได้รับความนิยมรองลงมาจากสินเชื่อสีเขียว แต่มีประเภทของผู้ระดมทุนที่หลากหลายกว่า ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินภาคเอกชน บริษัทรายใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ภาคการเงิน รัฐบาลระดับประเทศและท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ รวมถึงธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ในภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้การจัดสรรเงินทุนกระจายไปยังโครงการที่มีวัตถุประสงค์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทรายใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ภาคการเงิน นอกจากนี้ สถาบันการเงินและภาครัฐก็มีบทบาทในการใช้เครื่องมือนี้มากขึ้นเมื่อเทียบกับสินเชื่อสีเขียว ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกพันธบัตรสีเขียวเป็นครั้งแรกในปี 2565 และรัฐบาลไทยและฟิลิปปินส์มีการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรนั้นถูกนำไปใช้ในโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ/หรือ สังคม

  • ศุกูกสีเขียว เป็นอีกตราสารทางการเงินหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในตลาดการเงินสีเขียวอาเซียน มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 13 ของตลาดสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวในอาเซียน เนื่องจากได้รับความนิยมมากในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศดังกล่าวใช้ศุกูกสีเขียวในการระดมทุนอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มที่จะเป็นเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในทั้งสองประเทศต่อไป


พัฒนาการของตลาดสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียว จำแนกตามประเทศ

 
  • สิงคโปร์ มีการออกสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวเป็นมูลค่ารวมมากที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 61 ของมูลค่าฯ ในอาเซียน ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการเงินสีเขียวของอาเซียน11/ ทำให้ตลาดสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวของสิงคโปร์เติบโตของอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญคือความเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกมายาวนาน จึงมีสถาบันการเงินขนาดใหญ่จำนวนมากที่พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินให้แก่การลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงส่งผลให้ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเติบโตของสินเชื่อสีเขียวในหลากหลายสกุลเงินสำหรับการลงทุนในโครงการอาคารสีเขียว (Green Buildings)12/

  • อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีการออกสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวมากเป็นอันดับที่สองในอาเซียน มีผู้เล่นหลักคือรัฐบาลที่ออกศุกูกสีเขียวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561-2566 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าสามในสี่ของสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวที่ระดมทุนในประเทศ โดยมีเป้าหมายการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ภาคพลังงาน การก่อสร้างอาคารสีเขียว ภาคการขนส่งที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย จึงถือว่าได้ตลาดการเงินสีเขียวในอินโดนีเซียมีภาครัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก

  • ไทย มีบริษัทเอกชนรายใหญ่เป็นผู้เล่นหลักในตลาดการเงินสีเขียว โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของการระดมทุนถูกจัดสรรไปยังภาคพลังงาน ในขณะที่รัฐบาลไทยได้ออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกในปี 2563 ซึ่งเงินถูกนำไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ด้านสิ่งแวดล้อม) และโครงการช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ด้านสังคม) โดยตั้งแต่ปี 2561-2566 การระดมทุนผ่านตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนคิดเป็นประมาณร้อยละ 23 และ 65 ของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน13

  • ฟิลิปปินส์ แม้ว่าจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่บุกเบิกการออกหุ้นกู้สีเขียวตั้งแต่ปี 2559 ทว่าตลาดเติบโตช้า จึงถูกแซงหน้าโดยสิงคโปร์ อินโดนีเซียและไทย นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์มีเพียงหุ้นกู้สีเขียวเท่านั้น จึงสะท้อนถึงความไม่หลากหลายของเครื่องมือระดมทุนสีเขียว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมการระดมทุนไปยังโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหลังจากการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเมื่อปี 2565

  • มาเลเซีย เป็นผู้นำด้านเครื่องมือทางการเงินอิสลามเพื่อสิ่งแวดล้อมของโลก โดยเป็นประเทศแรกของโลกที่บุกเบิกการออกศุกูกสีเขียวในปี 2560 และเป็นประเทศที่มีมูลค่าศุกูกสีเขียวมากที่สุดในโลกจนถึงปี 2563 แม้ว่าศุกูกสีเขียวทั้งหมดในมาเลเซียจะออกโดยภาคเอกชนและคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 87 ของตลาดสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียว แต่ในปี 2564 รัฐบาลมาเลเซียได้ออกศุกูกเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sukuk) เพื่อการระดมทุนสำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อม และ/หรือ สังคมด้วย

  • เวียดนาม มีตลาดสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 4 ของมูลค่ารวมในอาเซียน โดยตั้งแต่ปี 2559 สินเชื่อสีเขียวเป็นเครื่องมือระดมทุนเพียงชนิดเดียว จนกระทั่งในปี 2564 เริ่มใช้หุ้นกู้สีเขียวในการระดมทุนเป็นครั้งแรก ซึ่งความหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้นสะท้อนถึงระดับการพัฒนาของตลาดการเงินสีเขียวที่เพิ่มขึ้นในเวียดนาม อีกทั้งรัฐบาลก็เริ่มให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและมุ่งพัฒนากรอบการระดมทุนสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพลังงานหมุนเวียน

  • สปป.ลาวและกัมพูชา มีการออกหุ้นกู้สีเขียวเป็นครั้งแรกในปี 2566 แม้ว่ามูลค่ารวมของทั้งสองประเทศเป็นเพียงร้อยละ 1 ของมูลค่ารวมในอาเซียน แต่นับว่าเป็นหมุดหมายที่สำคัญของทั้งสองประเทศและเป็นพัฒนาการที่สำคัญของตลาดการเงินสีเขียวในอาเซียน

 






พัฒนาการของการจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ (ปี 2559-2565)

 

การกระจายของการจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมไปในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในอาเซียนเริ่มมีความหลากหลายที่เด่นชัดมากขึ้น เช่น พลังงานหมุนเวียน โครงการก่อสร้างอาคารสีเขียว การขนส่ง การจัดการทรัพยากรน้ำ อุตสาหกรรมการผลิต การจัดการของเสีย และการใช้ที่ดิน เป็นต้น แม้ว่าจะยังไม่ใช่โครงการที่เน้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่มากนักก็ตาม

โครงการอาคารสีเขียวเป็นการลงทุนที่ได้รับการจัดสรรเงินทุนจากสินเชื่อหรือตราสารหนี้สีเขียวมากที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยภาคพลังงาน โดยทั้งสองภาคส่วนข้างต้นได้รับการจัดสรรเงินทุนรวมกว่าร้อยละ 80 ของสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวที่ระดมทุนในอาเซียน อย่างไรก็ดี หากพิจารณารายประเทศพบว่าเงินทุนที่ถูกจัดสรรไปยังโครงการอาคารสีเขียวกว่าร้อยละ 80 มาจากการระดมทุนในสิงคโปร์เพียงประเทศเดียว ซึ่งมีตลาดการเงินสีเขียวขนาดใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ยังเป็นการระดมทุนจากสินเชื่อสีเขียวเป็นหลัก จึงอาจไม่ใช้เครื่องสะท้อนพัฒนาการของภาคส่วนที่ได้รับการระดมทุนผ่านสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวในอาเซียนได้ ขณะเดียวกัน ประเทศอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย เวียดนามและฟิลิปปินส์ มักจัดสรรเงินทุนไปยังโครงการด้านพลังงานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 50 ของการจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับภูมิทัศน์การจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่ภาคพลังงานได้รับการจัดสรรเงินทุนมากที่สุด ตามมาด้วยโครงการอาคารสีเขียวและภาคการขนส่ง

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอาเซียนที่ได้รับการจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ โดยในกรณีของอินโดนีเซียซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้เล่นหลัก มีการจัดสรรเงินทุนไปยังโครงการด้านต่างๆ อย่างสมดุลมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีทั้งภาคส่วนใหญ่ทั้ง 2 อุตสาหกรรมข้างต้น ขณะที่ภาคการขนส่ง การจัดการของเสีย และการใช้ที่ดินได้รับเงินทุนเป็นสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียวางเป้าหมายของศุกูกสีเขียวไว้ว่า ต้องจัดสรรเงินทุนให้กระจายไปยังภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งความหลากหลายของภาคส่วนที่ได้รับการจัดสรรเงินทุนที่สมดุลกับความต้องการของอุตสาหกรรมถือเป็นสัญญาณของตลาดที่มีการพัฒนาอย่างเต็มที่ (Maturing Market)

อย่างไรก็ตาม การผลักดันไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวของภูมิภาคอาเซียนยังจำเป็นต้องมีการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกมาก โดยเฉพาะจากภาคเอกชนในทุกอุตสาหกรรม ดังนั้น การเร่งระดมทุนผ่านเครื่องมือการเงินสีเขียวที่เหมาะสมไปยังภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จะเป็นทั้งโอกาสและหน้าที่ขององค์กรที่มีศักยภาพในการระดมทุน ซึ่งภาคธนาคารสามารถมีบทบาทเป็นผู้นำหลักได้




 

ศักยภาพการเติบโตของการเงินสีเขียวและโอกาสของภาคธนาคารในอาเซียน

 

มูลค่าของภาคการเงินสีเขียวในอาเซียนนั้นมีโอกาสเติบโตอยู่อีกมาก โดยองค์การสหประชาชาติได้ประเมินขนาดตลาดดังกล่าวในอาเซียนระหว่างปี 2559-2573 ไว้ที่ประมาณ 2.3-3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ14/ ซึ่งเมื่อนำไปเทียบกับตัวเลขจริง ณ สิ้นปี 2566 จะเห็นได้ว่าส่วนต่างดังกล่าวหรือที่เรียกว่าช่องว่างของการระดมทุนสีเขียว (Green Financing Gap) นี้ มีมูลค่าถึงกว่า 2.25-2.95 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ15/ จึงเป็นทั้งโอกาสและความจำเป็นของสถาบันการเงินอย่างธนาคารที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการเป็นตัวกลางทางการเงินในการระดมทุนและจัดสรรเงินทุนเพื่อปรับตัวสู่โลกเศรษฐกิจสีเขียว

ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ แทบทุกอุตสาหกรรมมีการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งของภาคธนาคารที่จะสามารถนำเสนอเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่มีนวัตกรรม เข้าหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของนักลงทุน และมีลักษณะเหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม (Tailored Financing) ให้แก่ภาคธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่ SMEs หรือแม้แต่ภาคครัวเรือน โดยโอกาสจะอยู่ในการจัดหาเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งอาจแตกต่างกันในลักษณะการระดมทุน ขนาดของเงินทุนที่ต้องการ ระยะเวลาของเครื่องมือทางการเงิน และกลุ่มนักลงทุนเป้าหมาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาคธนาคารยังสามารถ (1) ผสมผสานเครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่างๆ เข้าด้วยกันให้เหมาะสมกับรูปแบบของการลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผสมเงินทุนจากหลายแหล่งรวมกัน (Blended Finance) หรือเงินกู้ร่วม (Syndicated Loan) กับสถาบันการเงินอื่นๆ (2) นำเสนอเครื่องมือทางการเงินที่เป็นกลไกในการถ่ายโอนความเสี่ยงหรือกลไกในการเพิ่มความน่าเชื่อถือของโครงการ อาทิ การประกันสินเชื่อ (Credit Guarantee) เครื่องมือถ่ายโอนความเสี่ยง (Risk Sharing Facility) ตลอดจนเครื่องมือป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ (Default swap) เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับการระดมทุน และ (3) นำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเฉพาะด้าน เช่น ตราสารหนี้รับมือเหตุภัยพิบัติ (Catastrophe Bond) ตราสารหนี้ที่ระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) การจัดสรรเงินทุนสำหรับการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Finance)16/ เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินเหล่านี้ยังมีโอกาสพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมได้อีกมาก 

ทั้งนี้ โอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวของภาคธนาคารสำหรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และการจัดสรรเงินทุนไปสู่ SMEs และภาคครัวเรือน มีดังนี้


1)  โอกาสการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรม

ในแทบทุกภาคอุตสาหกรรมล้วนมีโอกาสในการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ สามารถลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยก้าวแรกที่สำคัญสู่เป้าหมาย Net Zero คือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เนื่องจากเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเป็นสัดส่วนมากที่สุดกว่าร้อยละ 75 ในบรรดาก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยกว่าร้อยละ 90 ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อย มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

ข้อมูลจาก Our World in Data ระบุว่า ในปี 2563 ภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดคือภาคไฟฟ้าและความร้อน ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนร้อยละ 38 ตามมาด้วยภาคการขนส่งที่ร้อยละ 15 ภาคการผลิตและการก่อสร้างที่ร้อยละ 12.8 และภาคการเกษตรที่ร้อยละ 12.1



ดังนั้น อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนจึงมีศักยภาพในการลงทุนอย่างชัดเจนในทุกภูมิภาครวมถึงอาเซียน เนื่องจากในระดับโลก ภาคการผลิตพลังงานและไฟฟ้าพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลักกว่าร้อยละ 83 หลายภูมิภาคทั่วโลกจึงเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนควบคู่ไปกับลดการใช้พลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอาเซียนได้ให้คำมั่นต่อเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ทำให้ต้องเร่งการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคนี้ โดยภาครัฐของแต่ละประเทศอาเซียนได้กำหนดเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนให้เหมาะสมกับทรัพยากรของตน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพื่อสนับสนุนภาคส่วนนี้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับภาคธนาคารในอาเซียนที่จะเป็นตัวกลางทางการเงินแก่อุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังมาแรงนี้ได้


 

นอกจากการลงทุนในโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังมีโอกาสในการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและปรับเปลี่ยนวัสดุหรือวิธีการผลิต เช่น การลงทุนเครื่องจักรที่ใช้พลังงานน้อยลงสำหรับภาคการผลิต การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งสาธารณะสำหรับภาคขนส่ง การใช้วัสดุที่ลดการใช้พลังงานในการปรับอากาศหรือการใช้วัสดุรีไซเคิลในการภาคการก่อสร้าง การปรับปรุงประสิทธิภาพการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ การใช้เทคโนโลยีดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในอุตสาหกรรมหนักอย่างปิโตรเคมี17/ รวมถึงการกำจัดของเสียในภาคการเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมที่ยังคงมีความสำคัญของอาเซียน เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น ภาคธนาคารยังสามารถมีบทบาทในการชี้นำเงินทุนไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การลงทุนในการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมที่มีอุปสรรคในการลดการปล่อยคาร์บอน (Hard-to-abate Sectors)18/ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ไม่ควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แม้ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการเงินทุนมากพร้อมกับเครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อน ภาคธนาคารก็สามารถช่วยลดข้อจำกัดด้านการเงินและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้ โดย Rocky Mountain Institute19/ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่าธนาคารต้องร่วมมือกับลูกค้าในภาคส่วนนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อทำความเข้าใจกระบวนการลดการปล่อยคาร์บอน และร่วมพัฒนากลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านที่เข้ากับบริบทความท้าทายของลูกค้า รวมทั้งธนาคารยังต้องพัฒนาความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ เช่น ไฮโดรเจนสีเขียว (Green hydrogen) เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF)20/ เป็นต้น เพื่อให้สามารถประเมินการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ


2)  โอกาสในการจัดสรรเงินทุนไปสู่ SMEs และภาคครัวเรือน

ในการจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม เราไม่อาจละเลยหน่วยย่อยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ SMEs  ตลอดจนภาคครัวเรือน ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคที่ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับหน่วยเศรษฐกิจระดับรากหญ้าเหล่านี้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งโอกาสของภาคธนาคารในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน ได้แก่

  • สินเชื่อและไมโครไฟแนนซ์สีเขียว (Green Microfinance) เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ภาคธนาคารสามารถนำเสนอแก่ SMEs เพื่อการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธนาคารสามารถออกแบบไมโครไฟแนนซ์สีเขียวให้มีวงเงินขนาดเล็กและเงื่อนไขการให้กู้ยืมที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยระบุวัตถุประสงค์ของการให้กู้ยืมที่ครอบคลุมไปถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต การทำการเกษตรที่ยั่งยืน การจัดการของเสีย เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคครัวเรือน ในฐานะผู้บริโภคหลักของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็สามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวเช่นกัน การสนับสนุนทางการเงินไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยสีเขียว (Green Mortgage) สำหรับติดตั้งโซล่าเซลล์ หรือสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า (Green Auto Loan) สามารถกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดสรรไมโครไฟแนนซ์สีเขียวแก่ครัวเรือนจึงไม่เพียงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตและส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันอีกด้วย

  • การประกันภัยสีเขียว เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สถาบันการเงินสามารถออกแบบเพื่อตอบโจทย์การป้องกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อ SMEs และครัวเรือนได้ เช่น การประกันภัยพืชผลทางการเกษตรจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองทางการเงินต่อความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การประกันภัยจากการหยุดชะงักในการผลิตพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ภาคธนาคารสามารถทำหน้าที่แบ่งปันความรู้และข้อมูลแก่ลูกค้ารายย่อยเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านเพื่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ด้วย


โอกาสของภาคธนาคารสามารถขยายสู่ระดับสากลได้ด้วย ASEAN Taxonomy ซึ่งจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่เข้ากับบริบทการลงทุนของอาเซียน ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการเงินและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในตลาดทุน ภาคธนาคาร และการประกันภัย เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวของอาเซียน แม้ปัจจุบันการบังคับใช้และการเปิดเผยข้อมูลยังเป็นแบบสมัครใจ แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาความโปร่งใสในอนาคต โดย ASEAN Taxonomy มีหลักเกณฑ์คล้ายคลึงกับ EU Taxonomy ของสหภาพยุโรป และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอื่นๆ เช่น Climate Bonds Initiative Taxonomy และรายการหมวดหมู่โครงการตามหลักการตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond Principles) ความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวในอาเซียน ช่วยให้สามารถจำแนกผลิตภัณฑ์และการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบริบทของภูมิภาค ขณะเดียวกันก็ดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกด้วยหลักเกณฑ์ที่เป็นสากลได้อีกด้วย

ภาคธนาคารที่ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม และเข้าร่วมในการจัดสรรเงินทุนโดยใช้ประโยชน์จากเกณฑ์มาตรฐานที่มีอยู่ จะมีโอกาสสร้างกระแสรายได้ใหม่ซึ่งเกิดจากผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินสีเขียวที่นำเสนอแก่ลูกค้า ตั้งแต่บริษัทรายใหญ่ไปจนถึงธุรกิจ SMEs และครัวเรือน อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินสีเขียวยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกฝ่าย ทั้งภาคธนาคาร นักลงทุน และลูกค้า ธนาคารในฐานะตัวกลางจึงต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการเพื่อสร้างตลาดการเงินสีเขียวที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

 

ความท้าทายของตลาดการเงินสีเขียว

 

แม้ว่าทั่วโลกจะตื่นตัวต่อการจัดสรรเงินทุนไปยังโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา แต่สำหรับภูมิภาคอาเซียน การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับทั้งภาคธนาคารและนักลงทุน ส่งผลให้การเติบโตของตลาดการเงินสีเขียวในอาเซียนในช่วงที่ผ่านมายังห่างไกลกับศักยภาพและโอกาสที่มีอีกมาก โดยความท้าทายหลักของการระดมทุนในตลาดการเงินสีเขียวมักมาจากลักษณะเฉพาะของโครงการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม และความท้าทายบางประการในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ดังนี้


1)  โครงสร้างต้นทุนและผลตอบแทนที่ไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยง ผลตอบแทนและความเสี่ยงถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของโลกการลงทุน แต่โครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Project) มักให้ผลกำไรน้อยกว่าโครงการที่ปล่อยมลพิษสูง (Brown Project) อีกทั้งยังมีต้นทุนสูงกว่า มีค่าใช้จ่ายล่วงหน้าสูง (High Up-front Cost) และมีระยะเวลาคืนทุนที่ยาวนานกว่า ตัวอย่างเช่น โครงการพลังงานหมุนเวียนที่ต้องการเงินลงทุนสูงในระยะแรก ดังนั้น นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีและโครงการค้ำประกันสินเชื่อ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างตลาดพลังงานหมุนเวียน21/ ขณะที่นักลงทุนมักมองว่าโครงการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมมีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะโครงการที่ใช้เทคโนโลยีใหม่หรือยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ซึ่งหลายโครงการยังไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งขัดกับเป้าหมายของนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ต้องการผลตอบแทนสูงในระยะสั้น ดังนั้น ด้วยกลไกตลาด นักลงทุนจึงมักเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และมองข้ามโครงการด้านสิ่งแวดล้อมไป

2)  ข้อจำกัดในด้านข้อมูล ทำให้นักลงทุนสามารถประเมินความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนได้ยาก เนื่องจากในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามักมีข้อจำกัดของปริมาณและความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม

3)  ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบเกี่ยวกับการเงินสีเขียว แม้ว่าในภูมิภาคจะมีความร่วมมือในการจัดทำ ASEAN Taxonomy แต่ประเทศต่างๆ ยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดทำกรอบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นของตนเองเพื่อให้เข้ากับบริบทด้านการลงทุนและสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียนก็ยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนากรอบกฎระเบียบภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว นอกจากนี้ ในอนาคตกฎระเบียบเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ครอบคลุมเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็น จึงอาจทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจในเงื่อนไขที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้า ซึ่งทำให้การวางแผนการลงทุนระยะยาวมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

4)  การขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของตลาดการเงินสีเขียวในแง่ของการระดมทุน เนื่องจากยังมีนักลงทุนที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงอาจยังมองไม่เห็นความจำเป็นในการเร่งจัดสรรเงินทุนไปยังโครงการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม

จากความท้าทายข้างต้น ภาครัฐสามารถมีบทบาทช่วยลดความเสี่ยงและส่งเสริมการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียวได้โดยตรงผ่านการให้เงินอุดหนุนหรือให้สิทธิประโยชน์การลงทุน เพื่อช่วยเหลือโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงจะขาดทุนในช่วงแรก นอกจากนี้ โครงการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมมักมีลักษณะเป็นสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ที่มีผลประโยชน์ในวงกว้างต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ภาครัฐซึ่งโดยหลักการแล้วมีหน้าที่จัดสรรโครงการที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม อาจต้องมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการริเริ่มลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดการลงทุนส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมจากภาคเอกชน (Crowding-in) นอกจากนี้ การพัฒนากรอบกฎหมายการเงินสีเขียวให้มีความชัดเจนควบคู่ไปกับการพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว และช่วยสร้างมาตรฐานที่ดีให้แก่ตลาดการเงินสีเขียวในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญและประโยชน์ของการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

 

ขณะเดียวกัน ภาคธนาคารสามารถสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศหรือธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ ในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและช่วยดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุน เช่น (1) กลไกในการบริหารความเสี่ยง (Risk-sharing Mechanism) เช่น การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships) และการค้ำประกันสินเชื่อสีเขียวโดยรัฐบาล โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ เป็นต้น (2) การผสมเงินทุนจากหลายแหล่งรวมกัน (Blended Finance) เช่น การใช้เงินทุนจากภาครัฐหรือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเป็นเงินลงทุนตั้งต้นในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน  ในขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนทางการเงินแก่นักลงทุนด้วย (3) เงินกู้ร่วม (Syndicated Loan) ที่สถาบันการเงินหลายแห่งร่วมกันจัดหาแหล่งเงินกู้ขนาดใหญ่สำหรับลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการกระจายความเสี่ยงระหว่างสถาบันการเงิน และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับการลงทุนอีกด้วย

ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากเงินทุนภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของตลาดการเงินสีเขียวให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ในอนาคตอีกด้วย

 

มุมมองวิจัยกรุงศรี

 

การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือการเงินสีเขียว (Green Finance) มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การผลักดันไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้เล่นทุกระดับในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการบริโภค ซึ่งล้วนต้องการเงินทุนสำหรับการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Investment) ดังนั้น ภาคส่วนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง

อาเซียนเป็นอีกภูมิภาคหนึ่งที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ไปจนถึงองค์การระหว่างประเทศ มีการตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการพัฒนาการเงินสีเขียวและการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการระดมทุนและการจัดสรรเงินทุนไปยังโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมต่างๆ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีพัฒนาการทั้งในด้านจำนวนผู้เล่นในตลาด เครื่องมือทางการเงิน และการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ วิจัยกรุงศรียังเห็นว่าแต่ละประเทศในอาเซียนยังมีโอกาสและความท้าทายในตลาดการเงินสีเขียวอยู่มาก ดังปรากฏตามตารางที่ 3





 

อาจกล่าวได้ว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคที่ยังมีการระดมทุนผ่านสินเชื่อหรือตราสารหนี้สีเขียวเป็นจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับระดับศักยภาพของตนเอง และเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ในขณะที่ความต้องการพลังงานและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคกำลังเติบโตจากปัจจัยด้านจำนวนประชากรและการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม จะสามารถช่วยดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและพลังงานสะอาด อันจะเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนในระยะยาว

เมื่อหันกลับมามองหน่วยงานภาครัฐในอาเซียน พบว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประเทศต่างๆ ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน เมื่อบวกกับปัจจัยพื้นฐานอย่างความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของอาเซียน รวมไปถึงความมือระหว่างประเทศในการจัดทำ ASEAN Taxonomy นับว่าเป็นปัจจัยเชิงบวกที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวของภูมิภาค อย่างไรก็ตาม กฎหมายและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนยังคงไม่แน่นอน ขณะเดียวกันภาครัฐยังขาดบทบาทเชิงรุกในการเป็นผู้ริเริ่มการลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งปริมาณโครงการลงทุนใน Pipeline ที่ยังมีจำนวนไม่มาก และที่สำคัญยังขาดแคลนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลที่สำคัญในด้านการเงินและโครงการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคได้

อันที่จริงแล้ว ประเทศในอาเซียนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนเพียงเฉพาะภายในภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนจากภูมิภาคอื่นให้เข้ามาลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะนักลงทุนจากภูมิภาคที่ตลาดการเงินสีเขียวมีการเติบโตที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะนำมาทั้งเงินทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ดังนั้น ภาคธนาคารในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลักของภาคการเงินจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางสนับสนุนการระดมทุนและจัดสรรเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมไปยังผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจที่ต้องการเงินทุนเพื่อปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งการมุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมและนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวที่ตอบโจทย์ลูกค้า จะนำมาซึ่งโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ให้ธนาคาร ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ แม้ตลาดการเงินสีเขียวจะยังมีความท้าทาย แต่ความร่วมมือระหว่างภาคธนาคาร ภาครัฐ และองค์กรระหว่างประเทศ จะช่วยลดความเสี่ยงผ่านเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม นำไปสู่การพัฒนาตลาดการเงินสีเขียวที่แข็งแกร่งในอนาคต

 

References

 

ASEAN Taxonomy Board. (2021, November). ASEAN TAXONOMY FOR SUSTAINABLE FINANCE. Retrieved from https://asean.org/wp-content/uploads/2022/06/ASEAN_Taxonomy_V1_final_310522.pdf

Alliance for Transformative Action on Climate and Health. (n.d.). Commitment tracker. Retrieved from https://www.atachcommunity.com/our-impact/commitment-tracker/

ASEAN+3 Macroeconomic Research Office. (2023). Chapter 2. On the Road to Net Zero. Retrieved from https://amro-asia.org/wp-content/uploads/2023/04/Chapter-2-Full_1.pdf

Asian Development Bank (ADB) and the Global Green Growth Institute. (2022, November). SURVEY ON GREEN BONDS AND SUSTAINABLE FINANCE IN ASEAN. Retrieved from https://www.adb.org/publications/survey-green-bonds-sustainable-finance-asean

Asian Development Bank (ADB). (n.d.). คู่มือการออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม. Retrieved from https://www.thaibma.or.th/Doc/esg/green-bonds-factsheet-th.pdf

Centre for Research on the Epidemiology of Disasters (CRED). (2024, April 5). 2023 Disasters in numbers. Retrieved from https://reliefweb.int/attachments/305f0dbc-ee04-4631-a518-0238240c41aa/2023_EMDAT_report.pdf

Climate Bonds Initiative . (2023). Interactive Data Platform. Retrieved from https://www.climatebonds.net/market/data/

Climate Bonds Initiative. (2019, January 22). ASEAN Green Finance State of the market 2018. Retrieved from https://www.climatebonds.net/files/files/ASEAN_SotM_18_Final_03_web.pdf

Climate Bonds Initiative. (2019, January 22). ASEAN Green Financial Instruments Guide. Retrieved from https://www.climatebonds.net/files/reports/asean_green_fin_istruments_cbi_012019_0.pdf

Climate Bonds Initiative. (2020, April 14). ASEAN Green Finance State of the market 2019. Retrieved from https://www.climatebonds.net/files/reports/cbi_asean_sotm_2019_final.pdf

Climate Bonds Initiative. (2021, April 29). ASEAN Sustainable Finance State of the Market 2020. Retrieved from https://www.climatebonds.net/files/reports/asean-sotm-2020.pdf

Climate Bonds Initiative. (2022, June 15). ASEAN Sustainable Finance State of the Market 2021. Retrieved from https://www.climatebonds.net/files/reports/cbi_asean_sotm2022_final.pdf

Climate Bonds Initiative. (2023, May 2). ASEAN Sustainable Finance State of the Market 2022. Retrieved from https://www.climatebonds.net/files/reports/cbi_asean_sotm_2022_02f.pdf

Climate Bonds Initiative. (2024, May 2). Sustainable Debt Global State of the Market Report 2023. Retrieved from https://www.climatebonds.net/files/reports/cbi_sotm23_02h.pdf

Duggal, H. (2021, November 14). Infographic: What has your country pledged at COP26? Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2021/11/14/infographic-what-has-your-country-pledged-at-cop26

Furness, V. (2022, November 11). Explainer: Decoding COP27: the many shades of green bonds. Retrieved from World Economic Forum: https://www.weforum.org/agenda/2022/11/decoding-cop27-the-many-shades-green-bonds/

Green Network. (2018, March 2). อาคารเขียวไทยที่ใช่ ตามเกณฑ์มาตรฐาน TREES. Retrieved from https://www.greennetworkthailand.com/trees-building-standard/

Hardcastle, D., Tsukamoto, Y., Tan, K., Harris, T., Park, K.-A., & Lee, B. (2024 , April 15). Southeast Asia's Green Economy 2024 Report. Retrieved from https://www.bain.com/globalassets/noindex/2024/bain_report_
southeast_asias_green_economy_2024.pdf

Harnett, T. H. (2024, January 19). How Global Banks See Transition Finance in 2024. Retrieved from https://rmi.org/how-global-banks-see-transition-finance-in-2024/

Hussain, M. (2013, April 3). Financing renewable energy options for developing financing instruments using public funds (English). Retrieved from World Bank Group: http://documents.worldbank.org/curated/en/196071468331818432/Financing-renewable-energy-options-for-developing-financing-instruments-using-public-funds

International Energy Agency. (2024, January). Renewables 2023 Analysis and forecasts to 2028. Retrieved from https://www.iea.org/reports/renewables-2023#overview

International Renewable Energy Agency (IRENA). (2022, September). Renewable Energy Outlook for ASEAN Towards a Regional Energy Transition. Retrieved from https://www.irena.org/-/media/Files/IRENA/Agency/Publication/2022/Sep/IRENA_Renewable_energy_outlook_ASEAN_2022.pdf

Joint Research Centre (JRC), the European Commission’s science and knowledge service. (2024). GHG EMISSIONS OF ALL WORLD COUNTRIES. Luxembourg: Publications Office of the European Union.

Krushelnytska, O. (2017, January). Introduction to Green Finance. Retrieved from Global Environment Facility: https:
//www.thegef.org/sites/default/files/publications/Introduction%20to%20Green%20Finance%20ENG.pdf

Larsen, M. (2019, November 22). A growing toolbox of sustainable finance instruments. Retrieved from https://greenfdc.org/a-growing-toolbox-of-sustainable-finance-instruments/?cookie-state-change=1726678446791

Lu, M. (2023, November 8). Visualizing All the World’s Carbon Emissions by Country. Retrieved from https://www.visualcapitalist.com/carbon-emissions-by-country-2022/

Maizland, L. (2021, November 15). COP26: Here’s What Countries Pledged. Retrieved from Council on Foreign Relations: https://www.cfr.org/in-brief/cop26-heres-what-countries-have-pledged

Mingsakul, P. (2024, April 11). Green Financing: Accelerating the Green Transition. Retrieved from Krungsri Research: https://www.krungsri.com/en/research/research-intelligence/green-Financing

NGThai. (2023, August 19). รู้จัก TAXONOMY กติกาด้านการเงินและภาษี เพื่อการเปลี่ยนผ่านภาคธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ. Retrieved from National Geographic: https://ngthai.com/sustainability/50727/thailand-taxonomy/

Public Debt Management Office. (2020, July 24). สบน. จับมือ ADB และรัฐวิสาหกิจออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม. Retrieved from https://www.pdmo.go.th/pdmomedia/documents/2020/Jul/แถลงข่าวออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน%20v11.pdf

Ritchie, H., Rosado, P., & Roser, M. (2020). Breakdown of carbon dioxide, methane and nitrous oxide emissions by sector. Retrieved from https://ourworldindata.org/emissions-by-sector

Ritchie, H., Rosado, P., & Roser, M. (2020). CO₂ emissions by fuel. Retrieved from https://ourworldindata.org/emissions-by-fuel

Satafang, N. (2024, March 8). Green Deposits for Greater Sustainability. Retrieved from Krungsri Research: https://www.krungsri.com/en/research/research-intelligence/green-deposits-2024

Thailand Greenhouse Gas Management Organization. (n.d.). NDC (Nationally Determined Contribution). Retrieved from https://www.tgo.or.th/2023/index.php/th/page/ndc-nationally-determined-contribution-198

The Securities and Exchange Commission, Thailand. (2024, July 8). ก.ล.ต. เข้าร่วมเป็นสมาชิก ASEAN Taxonomy Board จัดทำมาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอาเซียน. Retrieved from https://www.sec.or.
th/TH/Pages/News_Detail.aspx?SECID=10913

The Securities and Exchange Commission, Thailand. (n.d.). Sustainable Finance Ecosystem of Thailand Capital Market. Retrieved from https://www.sec.or.th/TH/Pages/SustainableFinance.aspx

The Stock Exchange of Thailand. (n.d.). Sustainable Investment. Retrieved from https://setsustainability.com/page/sustainable-investment

The Stock Exchange of Thailand. (n.d.). Sustainable Supply Chain. Retrieved from https://setsustainability.com//page/sustainable-supply-chain

United Nations Environment Programme (UNEP) and DBS,. (2017, November). Green Finance Opportunities in ASEAN. Retrieved from https://www.dbs.com/iwov-resources/images/sustainability/img/Green_Finance_
Opportunities_in_ASEAN.pdf

Wood, J. (2021, November 9). What does net-zero emissions mean and how can we get there? Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2021/11/net-zero-emissions-cop26-climate-change/

World Bank. (2021, August 5). Sustainable Finance. Retrieved from https://www.worldbank.org/en/topic/financialsector/brief/sustainable-finance

World Bank and Institute of Finance and Sustainability. (2022, November). Unleashing Sustainable Finance in Southeast Asia. Retrieved from World Bank: https://openknowledge.worldbank.org/handle/10986/38341?_gl
=1*1hpr20x*_gcl_au*MTc5OTkyMDkzMy4xNzI2Njc2NDcw

World Meteorological Organization. (2024 , April 23). WMO report: Asia hit hardest by climate change and extreme weather. Retrieved from https://news.un.org/en/story/2024/04/1148886

แจงสี่เบี้ย. (2021, July 21). SMEs ไทยจะพลิกฟื้นโตยั่งยืนอย่างไรภายใต้ภูมิทัศน์โลกใหม่การเงินสีเขียว (ตอนที่ 2). กรุงเทพธุรกิจ.


1/ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน (ASEAN) ประกอบด้วยประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม
2/ เป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2558 โดยปัจจุบันมีประเทศภาคีสมาชิกร่วมลงนามในความตกลงปารีสแล้วทั้งสิ้น 197 ประเทศ และประเทศภาคีต้องกำหนดกลไกในการบรรลุความตกลงปารีส เรียกว่า “การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution)” ของประเทศทุกๆ 5 ปี ที่จะรายงานความก้าวหน้าระดับชาติและกำหนดความพยายามสูงสุดที่เป็นไปได้ตามขีดความสามารถของแต่ละภาคี
3/ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) สมัยที่ 26 หรือ COP26 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร
4/ เครื่องมือในการระดมทุนและการจัดสรรเงินทุนไปยังโครงการ ข้อริ่เริ่ม หรือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว สามารถดูเพิ่มเติมได้จากบทความวิจัยกรุงศรีเรื่อง “Green Financing เครื่องมือทางการเงินเพื่อพัฒนาโลกไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว”
5/ องค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานเพื่อเพิ่มการลงทุนในตลาดตราสารหนี้สำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
6/ กิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity: PE) เป็นอีกหนึ่งช่องทางการระดมทุนสำหรับธุรกิจเกิดใหม่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ธุรกิจที่ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจ และธุรกิจที่ต้องอาศัยนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากผู้ลงทุนที่สนใจ ซึ่งอาจเป็นการระดมเงินจากผู้ลงทุนทั่วไปผ่านการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือระดมเงินในวงจำกัดจากผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนที่มีฐานะการเงินดี (สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, 2557)
7/ ศุกูก หรือตราสารหนี้อิสลามที่ผลตอบแทนจากการลงทุนมาจากการมีส่วนร่วมในธุรกรรมและรับความเสี่ยงร่วม (Climate Bonds Initiative)
8/ https://sustainablefinance.sec.or.th/Bond
9/ ASEAN Taxonomy ฉบับแรกถูกเผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564
10/ ข้อมูลตาม CBI Interactive Data Platform ณ สิ้นปี 2566
11/ ข้อริเริ่มตามแผนปฏิบัติการการเงินสีเขียวของสิงคโปร์ ปี 2030 (Green Finance Action Plan) เปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน 2562
12/ โครงการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารด้วยแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพของอาคารในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวัฏจักรชีวิต (life cycle) ของตัวอาคาร ครอบคลุมขั้นตอนการเลือกพื้นที่ทำเล การออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินการ การดูแล การซ่อมแซมปรับปรุง รวมไปถึงการทำลายตัวอาคาร เพื่อเป้าหมายหลักในการลดผลกระทบจากอาคารก่อสร้างหรือสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างต่างๆ (Built Environment) ที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้คน (Human Health) และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ (Natural Environment) (Green Network, 2018) ทั้งนี้ เกณฑ์สำหรับโครงการอาคารสีเขียวอาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหน่วยงานผู้กำหนดเกณฑ์ในแต่ละประเทศ
13/ ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) 
14/ โอกาสการเงินสีเขียวแบ่งตามภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนี้ 1) โครงการโครงสร้างพื้นฐาน 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 0.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) ภาคพลังงาน 0.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 4) อาหาร การเกษตรและการใช้ที่ดิน 0.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (United Nations Environment Programme and DBS, 2017)
15/ การคำนวนของผู้เขียนจากมูลค่าสินเชื่อและตราสารหนี้สีเขียวที่ออกในอาเซียนมูลค่ารวม 50.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี 2559-2565 โดยไม่รวมการระดมทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินสีเขียวประเภทอื่น และไม่รวมเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนที่มีวัตถุประสงค์ครอบคลุมการลงทุนสีเขียว
16/ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและ ThaiBMA
17/ ดูเพิ่มเติมได้จากบทความวิจัยกรุงศรีเรื่อง “แนวทางสู่เป้าหมาย Net Zero ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี”
18/ อุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงและต้นทุนการเปลี่ยนผ่านที่สูงมาก เช่น การบิน น้ำมันและก๊าซ เหมืองแร่ และอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็กและซีเมนต์ เป็นต้น เนื่องด้วยข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยีหรือต้นทุนในการเปลี่ยนผ่านที่ยังคงสูงมาก ประกอบกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่ซับซ้อน อาทิ การลงทุนในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน การลงทุนเปลี่ยนแปลงกระบวนการใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น จึงนำมาซึ่งความต้องการเงินทุนที่มากขึ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน
19/ องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งเน้นปรับปรุงแนวทางการใช้พลังงานของสหรัฐอเมริกา
20/ ดูเพิ่มเติมได้จากบทความวิจัยกรุงศรีเรื่อง “CORSIA กับอนาคตการบินที่ยั่งยืน”
21/ Global Environment Facility, World Bank (2005)

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา