บทนำ
ปี 2566 ประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ (El Niño) และจะเข้าสู่ภาวะนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 2567-2568 ส่งผลให้ไทยเผชิญอุณหภูมิและคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น ภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและในเขื่อนที่ลดลง ซึ่งนำมาสู่ปัญหาภาวะภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำใช้การได้ในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ ภาคเกษตร และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าพืชที่อ่อนไหวต่อภัยแล้งและปริมาณน้ำที่ลดน้อยลง อันได้แก่ข้าวนาปรังและมันสำปะหลัง จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในปี 2566 ขณะที่ปี 2567-2568 ผลกระทบเชิงลบจะเริ่มขยายเป็นวงกว้างมากขึ้นในพืชสำคัญหลายชนิด อาทิ อ้อย ข้าวโพด ผลไม้ ไม้ยืนต้น ซึ่งพืชบางประเภทสามารถส่งผลกระทบอุตสาหกรรมปลายน้ำมากกว่าต้นน้ำ อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจได้ราว 5.0 หมื่นล้านบาท (ในกรณีฐาน) คิดเป็น 0.29% ของ GDP และเสียหายได้มากถึง 7.8 หมื่นล้านบาท หรือ 0.45% ของ GDP
สัญญาณชี้ชัด ไทยจะเผชิญภาวะ El Niño
หลังจากที่เผชิญกับภาวะลานีญา (La Niña) ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 จนถึงต้นปี 2566 ที่ส่งผลให้ให้อุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและฝนตกชุกกว่าปกติ ในช่วงที่เหลือของปี 2566 นี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่เผชิญภาวะเอลนีโญ (El Niño) ชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจากค่าดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดค่าอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกแนวเส้นศูนย์สูตรที่กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (Neutral) หรือมีค่าดัชนีระหว่าง -0.5 oC ถึง 0.5 oC ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวหมายถึงอุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรมีแนวโน้มกลับมาอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ย หลังจากอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตั้งแต่ปี 2563 สะท้อนว่า ณ ตอนนี้ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนอยู่ในระดับปกติ[1] (ภาพที่ 1) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงทิศทางจะพบว่าค่าดัชนี ONI มีทิศทางปรับสูงขึ้น โดยปรับขึ้นจากระดับลานีญาขั้นอ่อน (Weak La Niña [2]) เข้าสู่ระดับปานกลางทิศทางลบ (Neutral Negative) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และขยับขึ้นสู่ระดับปานกลางทิศทางบวก (Neutral Positive) ในเดือนเมษายน 2566 ที่ระดับ 0.1 ประกอบกับแนวโน้มความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะเอลนีโญในระยะถัดไปมีค่าสูงถึงกว่า 90% ต่อเนื่องจนถึงไตรมาสแรกปี 2567 (ภาพที่ 2) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยการสลับเปลี่ยนไปมาระหว่างภาวะเอลนีโญและลานีญาที่จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก ๆ 2-5 ปี[3]
ทั้ง 3 ปัจจัยจึงบ่งชี้ว่าในช่วงปลายปี 2566 นี้ ต่อเนื่องจนถึงปี 2567 ไทยจะเผชิญภาวะเอลนีโญอย่างค่อนข้างแน่นอน โดยในช่วงเดือนมิถุนายน 2566 มีแนวโน้มที่ค่าดัชนีจะสูงเกินระดับ 0.5 oC หรือบ่งชี้การเข้าสู่ภาวะเอลนีโญระดับอ่อน (Weak El Niño) และมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญรุนแรง (Strong El Niño) ในเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนจากเส้นค่าเฉลี่ยแบบจำลองเชิงพลวัต (Dynamic Average : DYN AVG) ในภาพที่ 3 ทั้งนี้ โดยปกติภาวะเอลนีโญจะกินเวลายาวนานราว 8-19 เดือนต่อรอบ
ภาวะเอลนีโญในปี 2566-2568 จะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
- อุณหภูมิและคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น เนื่องจากน้ำอุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะแถบเส้นศูนย์สูตรจะอุ่นขึ้นและไหลไปทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ฝั่งทวีปอเมริกาใต้) ทำให้กระแสลมนำพาอากาศร้อนและแห้งไปยังแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญอุณหภูมิที่สูงกว่าค่าปกติ ซึ่งอาจนำมาสู่ภัยธรรมชาติ อาทิ การเกิดไฟป่าตลอดจนปัญหาฝุ่นและหมอกควันได้ ทั้งนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังอาจส่งผลต่อทรัพยากร ธรรมชาติและพืชพรรณ อาทิ ปัญหาปะการังฟอกขาว ปัญหาการเติบโตและแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำ ปัญหาภาคเกษตรพืชผลเสียหาย การขาดแคลนอาหาร ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้ในที่สุด
- ฝนทิ้งช่วง แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศว่าปีนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 แต่ภาวะเอลนีโญอาจทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงบ่อยขึ้น และอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 ทำให้ประเทศไทยมีระยะเวลากักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนสั้นลง ส่งผลให้พื้นที่แล้งซ้ำซากบริเวณนอกเขตชลประทานอาจขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้
- ปริมาณน้ำฝนที่ตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย วิจัยกรุงศรีกรุงศรีคาดว่าปริมาณฝนในปี 2566 จะลดลงราว 5-10% จากค่าปกติ5/ หรืออยู่ที่ระดับประมาณ 1,484 มิลลิเมตร ใกล้เคียงกับปี 2557 ที่เป็นช่วงก่อนเกิดภัยแล้งในปี 2558 ซึ่งมีปริมาณฝน 1,420 มิลลิเมตร สำหรับในปี 2567 ประเทศไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเอลนีโญอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ปริมาณฝนคาดว่าจะลดลง 10-15% จากค่าปกติ อยู่ที่ราว 1,382 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับภาวะภัยแล้งปี 2562 ที่มีระดับปริมาณฝน 1,343 มิลลิเมตร (ภาพที่ 4) ซึ่งปริมาณฝนที่ลดลงต่อเนื่องนี้จะทำให้ปี 2567-2568 มีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำใช้การได้ (Useable Water) ไม่เพียงพอกับปริมาณความต้องการใช้จริง
- ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและในเขื่อนที่ลดลง จากข้อ 2) และ 3) บวกกับฝนที่ตกนอกเขื่อน ส่งผลให้ปริมาณน้ำกักเก็บทั้งในธรรมชาติและในเขื่อนมีแนวโน้มลดต่ำลงกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะประสบภัยแล้งชัดเจนมากขึ้น ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับภัยแล้งในปี 2561 (ภาพที่ 5)
ความเสียหายจากภัยแล้งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะเอลนีโญและการจัดสรรน้ำ
จากภาพรวมอุปทานน้ำที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2566 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศอยู่ที่ 38,390 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 54% ของปริมาตรความจุน้ำในอ่างเก็บกัก ซึ่งต่ำกว่าปี 2561 ที่เป็นช่วงก่อนเกิดภัยแล้งปี 2562 โดยมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 42,813 ล้านลูกบาศก์เมตร (60% ของปริมาณความจุฯ) แต่สิ่งที่น่าจับตามองในปี 2566 นี้คือปริมาณน้ำใช้ได้จริง ณ เดือนพฤษภาคม 2566 นี้อยู่ที่ระดับ 21% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าระดับในช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่อยู่ที่ระดับ 27% (ภาพที่ 5) ซึ่งหากภาวะเอลนีโญมีความรุนแรง ปริมาณฝนที่ตกจะยิ่งต่ำกว่าค่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้ยิ่งน้อยลงและทำให้ความเสียหายจากภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นการจัดสรรน้ำจึงมีความสำคัญอย่างมาก แต่ด้วยความต้องการใช้น้ำในปัจจุบันที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ทั้งจากภาคเกษตร อุตสาหกรรม ตลอดจนการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภค ประกอบกับปัญหาอื่นๆ เช่น อัตราการระเหยของน้ำจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงทำให้ต้องระบายน้ำจืดจากเขื่อนเพื่อมาผลักดันน้ำเค็ม ปัญหาฝนตกนอกเขื่อนทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนเพื่อกักเก็บได้น้อยลง ดังนั้นหากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ผลกระทบจะขยายไปในวงกว้าง กล่าวคือ ไม่จำกัดเฉพาะภาคเกษตรเท่านั้นแต่ส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุตสาหกรรมและภาพรวมเศรษฐกิจในที่สุด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำ 4 ประเภท ที่สามารถเรียงตามลำดับความสำคัญได้ ดังนี้
-
น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการประปา
-
น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐาน[6] เช่น การผลักดันน้ำเค็ม การผลักดันน้ำเสีย และเพื่อการรักษาสมดุลของสิ่งมีชีวิตลุ่มน้ำ[7] เป็นต้น
-
น้ำเพื่อการเกษตรกรรม โดยเฉพาะเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้ง (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายนปีถัดไป)
-
น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมที่ต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิต[8]
ดังนั้นการกักเก็บและการวางแผนบริหารจัดการน้ำจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะแม้ว่าน้ำต้นทุนอาจจะเพียงพอในปีนี้ แต่หากจัดสรรไม่ดีจะส่งผลต่อปริมาณน้ำที่ต้องใช้ในปีถัดไป
ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงห่วงโซ่อุตสาหกรรม
วิจัยกรุงศรีประเมินว่าภาวะเอลนีโญในครั้งนี้คาดว่าจะยาวนานต่อเนื่อง 1-2 ปี โดยจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2566-2568 ดังนี้
1) ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร
ภาวะภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อพืชสำคัญหลายชนิดประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมถึงผลไม้ต่างๆ อาทิ มะม่วง ทุเรียน สับปะรด อย่างไรก็ตาม ระดับความเสียหายต่อพืชสำคัญจะมีบริบทที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับประเภทของพืช พื้นที่และภูมิภาคที่เพาะปลูก ช่วงเวลาเพาะปลูก และช่วงเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต ยกตัวอย่างเช่น ไม้ยืนต้น อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะม่วง ทุเรียน โดยธรรมชาติแล้วจะสามารถทนแล้งได้นานกว่าพืชระยะสั้นหรือพืชล้มลุก แต่ยังคงได้รับผลกระทบในรูปแบบของปริมาณผลผลิตที่ลดลงตามพื้นที่ปลูกในแต่ละภูมิภาค แต่ในกรณีพืชล้มลุก อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด ผลกระทบจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงฤดูเพาะปลูก ช่วงระยะเติบโต และช่วงเก็บเกี่ยว
วิจัยกรุงศรีจึงได้ประเมินผลกระทบในแง่ผลผลิตพืชสำคัญที่ลดลง โดยพืชกลุ่มนี้ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ภัยแล้งและยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมปลายน้ำต่างๆ[9] โดยผลกระทบสามารถสรุปได้ในตารางที่ 1 ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้อาจส่งผลให้ระดับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาภาวะอุปทานขาดแคลน (Supply shortage) ได้
เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อจำกัดด้านการครอบคลุมของพื้นที่ชลประทาน ฝนทิ้งช่วง ปริมาณพื้นที่เพาะปลูกที่ต้องอาศัยปริมาณน้ำมาก ระดับน้ำในเขื่อนที่จำกัด และต้นทุนการเพาะปลูกที่สูง จึงคาดว่าในปี 2566 ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่อาจเสียหายมาก ได้แก่ ข้าวและมันสำปะหลัง ขณะที่ในปี 2567-2568 ความเสียหายจะครอบคลุมพืชหลายชนิดมากขึ้น โดยพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบสูงอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก สำหรับภาคกลางผลกระทบจะตกอยู่กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นหลัก (ภาพที่ 5) ซึ่งผลผลิตที่ลดลงนี้จะส่งผลให้รายได้ครัวเรือนภาคเกษตรและตลาดแรงงานทางอ้อม (Indirect Labor) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยเผชิญความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นได้อีกด้วย
2) ผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิต
ในการประเมินผลกระทบภัยแล้งต่อระบบเศรษฐกิจนั้น เรายังต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร วิจัยกรุงศรีจึงได้วิเคราะห์โครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร โดยเลือกเฉพาะพืชหลักที่อาจได้รับความเสียหายจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง อันได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-output Table) ปี 2558 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์โครงสร้างการผลิต
ผลการวิเคราะห์พบว่าความสูญเสียที่เกิดจากภัยแล้งไม่ได้จำกัดอยู่ที่ภาคเกษตรเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายไปถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream Industry) จากความต้องการใช้สินค้าที่ลดลงตามการผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง ตลอดจนอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream Industry) ที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ ต้องเผชิญความเสียหายในรูปแบบของการลดกำลังการผลิตหรือการจัดหาวัตถุดิบทดแทนซึ่งทำให้ภาระด้านต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ภัยแล้งไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และบริการ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย (ภาพที่ 6)
3) มุมมองวิจัยกรุงศรี: ผลกระทบของภัยแล้งต่อ GDP
เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากภัยแล้งช่วงปี 2557-2559 และ 2561-2562 ที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะมีระดับความรุนแรงใกล้เคียงกับภาวะแล้งในครั้งนี้ วิจัยกรุงศรีจึงคาดการณ์ว่าในครั้งนี้ ภัยแล้งจะฉุดให้ GDP โดยรวมในปี 2566 ลดลง 0.1% จากกรณีฐาน และ GDP ในปี 2567-2568 ลดลงเฉลี่ยปีละ 0.3% จากกรณีฐาน
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษายังพบว่าขนาดของผลกระทบต่อ GDP ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เกิดภาวะเอลนีโญและปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ ดังนั้น ภัยแล้งในครั้งนี้จะส่งผลรุนแรงต่อ GDP หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำและแนวโน้มการเกิดฝนในระยะต่อไปเป็นสำคัญ โดยในเบื้องต้นวิจัยกรุงศรีประเมินว่าภาวะเอลนีโญจะกินเวลายาวนานถึงปี 2568 จึงได้จำลองสถานการณ์และประเมินผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกเป็น 2 ช่วงเวลา 3 กรณี (ตารางที่ 2) ดังนี้
-
ช่วงปี 2566 (ช่วงเริ่มต้นเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ)
-
กรณีดี (Best case) ความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 14,736 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% ของ GDP
-
กรณีฐาน (Base case) มูลค่าความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 18,241 ล้านบาท คิดเป็น 0.11% ของ GDP
-
กรณีเลวร้าย (Worst case) ก่อให้เกิดความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด 22,522 ล้านบาท คิดเป็น 0.13% ของ GDP
-
ช่วงปี 2567-2568 (ช่วงที่เข้าสู่ภาวะเอลนีโญเต็มรูปแบบ) ความเสียหายในช่วง 2 ปีนี้จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะเอลนีโญในแต่ละช่วง และปริมาณน้ำใช้การได้ที่เหลือต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า
-
กรณีดี จะสร้างความเสียหายมูลค่าต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดปีละ 22,077 ล้านบาท คิดเป็น 0.13% ของ GDP โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดกรณีนี้ในปี 2567
-
กรณีฐาน มูลค่าความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดปีละ 50,174 ล้านบาท คิดเป็น 0.29% ของ GDP
-
กรณีเลวร้าย ความเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดปีละ 77,837 ล้านบาท คิดเป็น 0.45% ของ GDP โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดกรณีนี้ในปี 2568
[1] ระดับปกติ หมายถึง ปริมาณฝนเฉลี่ยในคาบ 30 ปี (พ.ศ.2534-2563)
[2] เอลนีโญ (El Niño) เป็นปรากฎการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดความแห้งแล้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ โดยความรุนแรงของภาวะเอลนีโญสามารถบ่งชี้ได้จากค่าดัชนี ONI Index โดยหากค่าดัชนีฯ อยู่ระหว่าง 0.5-0.9 จะจัดว่าเป็นภาวะเอลนีโญระดับอ่อน (Weak El Niño) ค่าระหว่าง 1.0-1.4 คือภาวะเอลนีโญระดับปานกลาง (Moderate El Niño) ค่าระหว่าง 1.5-2.0 คือภาวะเอลนีโญระดับรุนแรง (Strong El Niño) และถ้ามากกว่า 2.0 จะบ่งชี้ภาวะเอลนีญาระดับรุนแรงมาก (Very Strong El Niño) ในทางกลับกัน หากดัชนีฯ มีค่าเป็นลบจะบ่งชี้ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) โดยสามารถใช้หลักการเดียวกันในการบ่งชี้ความรุนแรง
[3] ภาวะเอลนีโญจะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุกๆ 2-5 ปี โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2561-2562 ขณะที่ภาวะเอลนีโญระดับรุนแรงจะเกิดทุกๆ 10-15 ปี ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2558-2559 จึงมีความเป็นไปได้ที่ภาวะเอลนีโญในปี 2566-2567 จะเป็นระดับรุนแรง
[4] มหาสมุทรแปซิฟิกแนวเส้นศูนย์สูตรบริเวณ 5oN-5oS และ 170oW-120oW ซึ่งเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า Nino 3.4 Region
[5] กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่าลดลงที่ระดับ 5% จากค่าปกติ ที่มา : ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2566 ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566
[6] อาทิ การผลักดันน้ำเค็มเพื่อป้องกันน้ำกร่อยในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงและเพื่อป้องกันความเสียหายแก่เครื่องจักรที่ใช้ทำน้ำประปา การกักเก็บระดับน้ำเพื่อรักษาโครงสร้างของเขื่อน การผลักดันน้ำเสีย รวมถึงใช้รักษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ เป็นต้น
[7] อาทิ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำ พืชประจำถิ่น
[8] การขาดแคลนน้ำในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ผลกระทบคาดว่าจะอยู่ในวงจำกัดเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการประเมินและเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง กักเก็บน้ำ และมีการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง โดยเฉพาะโรงงานที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอ่างกักเก็บน้ำภายในนิคมฯ ส่วนโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลเพื่อใช้ร่วมกับน้ำประปาอีกทั้งการนำน้ำที่ผ่านการรีไซเคิลมาใช้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบทางอ้อม อาทิ ปริมาณผลผลิตการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบมีจำนวนลดลง คุณภาพสินค้าไม่คงที่ ระดับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าบริหารจัดการน้ำ
[9] ปัจจัยที่นำมาพิจารณา ช่วงเดือนที่ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ พื้นที่ในและนอกเขตชลประทาน ประเภทของผลผลิต ความน่าจะเป็นที่ผลผลิตเสียหาย และราคาสินค้า ณ ปัจจุบัน