ปลดล็อกสุขภาพจิตด้วย AI ผู้ช่วยส่วนตัวในยุคดิจิทัล

ปลดล็อกสุขภาพจิตด้วย AI ผู้ช่วยส่วนตัวในยุคดิจิทัล

03 กุมภาพันธ์ 2568

บทนำ

 

ในยุคปัจจุบันที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจสร้างแรงกดดันต่อวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้การดูแลสุขภาพจิตได้รับความสนใจไม่แพ้สุขภาพกาย เมื่อรวมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด จึงเริ่มมีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์เพื่อดูแลจิตใจมากขึ้น โดย AI สามารถเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้และประมวลผลข้อมูลอย่างแม่นยำ อีกทั้งยังทำงานได้ตลอดเวลาไม่มีวันเหนื่อยล้า ทำให้สามารถติดตามอารมณ์และให้คำแนะนำที่เหมาะสมเฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงช่วยให้ผู้ใช้ที่กำลังเผชิญกับความเครียด หรือปัญหาทางจิตใจอื่นๆ เข้าถึงคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตได้ง่ายและสะดวกผ่านแอปพลิเคชันได้ตลอด 24 ชั่วโมง

การประยุกต์ใช้ AI เพื่อสุขภาพจิตนอกจากจะแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ยังช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นการยกระดับการดูแลสุขภาพจิตในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สำหรับองค์กรต่างๆ การลงทุนใน AI ทั้งแบบมาตรการเชิงรุกและเชิงป้องกันเพื่อสนับสนุนสุขภาพจิตของพนักงาน ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างคุณค่าและเพิ่มผลผลิตในการทำงาน แต่ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยทางจิตใจและความรู้สึกผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กร ซึ่งจะทำให้พนักงานสามารถบริการลูกค้าได้ดีขึ้น และส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในระยะยาว


สุขภาพจิตของคนไทยปัญหาใหญ่ที่ต้องการผู้ช่วย

 

สุขภาพจิตของคนไทยจัดว่าเป็นปัญหาสำคัญในสังคมไทยที่ไม่สามารถละเลยได้อีกต่อไป โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข1/ ระบุว่าในปี 2566 จากประชากรทั้งสิ้น 65 ล้านคน มีคนไทยถึง 10 ล้านคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต แต่กลับมีผู้ที่ได้รับการรักษาเพียง 2.9 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพจิต โดยประเทศไทยมีบุคลากรที่ทำงานด้านสุขภาพจิตในปี 2565 คิดเป็นอัตราส่วน 8.99 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งประกอบด้วยจิตแพทย์ 1.28 คน นักจิตวิทยา 1.57 คน และพยาบาลจิตเวช 6.14 คนต่อประชากรแสนคน2/  อัตราส่วนโดยรวมดังกล่าวต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ ทั้งในส่วนของค่าเฉลี่ยโลกที่ 13 คนและค่าเฉลี่ยสำหรับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงที่ 14.7 คนต่อประชากรแสนคน3/



 

นอกจากปัญหาขาดแคลนบุคลากรแล้ว วัยทำงานยังเป็นกลุ่มที่พบปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าช่วงวัยอื่น4/ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความเครียด เมื่อความเครียดสะสมเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสมก็จะพัฒนาไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่ใหญ่ขึ้น และปลายทางอาจจบลงที่ความเจ็บป่วย เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety disorder) โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) และโรคซึมเศร้า (Depression) โดยผลการสำรวจสุขภาพจิตพนักงานไทยในปี 2566 ของกรมสุขภาพจิต พบว่ากว่าร้อยละ 40 ของคนวัยทำงานมีระดับความเครียดสูง5/ สอดคล้องกับผลสำรวจของสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เดือนมิถุนายน ปี 2567 พบว่าวัยทำงานกว่าร้อยละ 70 โทรมาปรึกษาเรื่องความเครียด วิตกกังวล และไม่มีความสุขในการทำงาน6/

เมื่อความต้องการบำบัดสุขภาพจิตมีมากขึ้นโดยเฉพาะจากกลุ่มวัยทำงาน ในขณะที่ไม่มีบุคลากรที่ทำงานด้านการแพทย์เพียงพอ การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตจึงเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ 
 

ทำความรู้จัก AI เพื่อสุขภาพจิต

 

AI เพื่อสุขภาพจิตคืออะไร

 

AI เพื่อสุขภาพจิต (AI in Mental Health) หมายถึง การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) วิเคราะห์ ตรวจจับ และประมวลผลสภาวะทางจิตใจเพื่อวินิจฉัยหรือบำบัดสุขภาพจิตให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของอาการ7/ หรืออาจกล่าวได้ว่า AI ทำหน้าที่เป็น นักบำบัดเสมือน (Virtual Therapists) ที่ช่วยบำบัดผู้ที่ต้องการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตได้ตลอดเวลา ซึ่งเทคโนโลยีหลักที่อยู่เบื้องหลังการวินิจฉัยหรือบำบัดปัญหาสุขภาพจิต ได้แก่

  1. Machine Learning (ML) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก เช่น ข้อมูลจากบันทึกสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Health Records: EHR) บันทึกพฤติกรรมของผู้ป่วย เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคจิตเภท (Schizophrenia)8/ ได้อย่างแม่นยำ รวมไปถึงแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมตามลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ ML ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตในผู้ป่วยใหม่ โดยเรียนรู้จากฐานข้อมูลผู้ป่วยที่เคยมีอาการเหล่านั้นมาก่อน9/ ทั้งนี้ ในบริบทของประเทศไทย การเก็บข้อมูลจากระบบ EHR จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ด้านข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 7 ว่าด้วยข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลถือเป็นความลับและไม่สามารถเปิดเผยได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล10/ และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ที่กำหนดให้การเก็บรวบรวมและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล11/

  2. Natural Language Processing (NLP) เป็นเทคโนโลยีที่เน้นการวิเคราะห์และประมวลผลภาษาและการสื่อสารของมนุษย์ โดย NLP สามารถตรวจจับอารมณ์และความรู้สึกของผู้ใช้ทั้งจากรูปแบบการพูด เช่น ระดับเสียง โทนเสียง และจังหวะพูด รวมไปถึงบันทึกการสนทนาหรือข้อความ ซึ่งแชทบอทที่ใช้ NLP จะสื่อสารกับผู้ใช้ในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติและสามารถตอบคำถาม ให้คำแนะนำ หรือแม้กระทั่งจัดทำแผนการรักษาที่เหมาะสมตามข้อมูลที่ได้รับจากผู้ใช้12/

  3. Computer Vision (CV) เป็นเทคโนโลยีที่ตรวจจับและวิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้าของผู้ใช้ ว่าผู้ใช้กำลังมีความสุข ความเศร้า หรือความวิตกกังวล แม้ผู้ใช้จะแสดงออกทางสีหน้าเพียงเล็กน้อย แต่ CV ก็สามารถบ่งชี้สภาพจิตใจของผู้ใช้ได้ อีกทั้ง CV ยังสามารถใช้วิเคราะห์ท่าทางและภาษากายของผู้ใช้ผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น การวิเคราะห์พฤติกรรมการนอนหลับโดยบ่งชี้จากการขยับตัว การพลิกตัว ตลอดจนการนอนหลับไม่สนิท13/ ซึ่งคุณภาพการนอนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าหรือมีภาวะเครียด 

 

ตลาด AI เพื่อสุขภาพจิต

 

การนำ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อสุขภาพจิตกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน โดย Polaris Market Research วิเคราะห์ว่าตลาด AI เพื่อสุขภาพจิตทั่วโลกในปี 2566 มีมูลค่า 921.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะมีขนาดถึง 10,334.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2575 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยสะสมที่ร้อยละ 30.8 ต่อปี (CAGR)14/ สะท้อนว่าตลาด AI เพื่อสุขภาพจิตมีศักยภาพที่จะเป็นหนึ่งในตลาดเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง โดยผลการศึกษาของ Grand View Research15/ พบว่า โรคที่ได้รับการบำบัดจาก AI มากที่สุดคือ โรควิตกกังวล ซึ่งมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของตลาด รองลงมาคือ โรคซึมเศร้า (ร้อยละ 30) โรคนอนไม่หลับ (ร้อยละ 8) โรคจิตเภท (ร้อยละ 5) และโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)16/ (ร้อยละ 4) ตามลำดับ

 

ตัวอย่างความเจ็บป่วยทางจิตใจที่สามารถบำบัดได้ด้วย AI

 
  • โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า

เป็นกลุ่มโรคที่มักพบได้มากในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต โดยสามารถใช้การบำบัดด้วย AI ผ่านแชทบอท เช่น Wysa และ Youper เพื่อช่วยผู้ที่มีภาวะเหล่านี้ได้ โดยแชทบอทจะใช้เทคนิคบำบัดจิตด้วยการปรับความคิดและพฤติกรรมที่เรียกว่า Cognitive Behavior Therapy (CBT)17/ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ทำให้ชีวิตไม่มีความสุข เช่น หากผู้ใช้มองโลกในแง่ร้ายหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรง แชทบอทจะช่วยให้ผู้ใช้มีทัศนคติในแง่บวกมากขึ้น พร้อมทั้งแนะนำวิธีการรับมือกับความรู้สึกเชิงลบในสถานการณ์ที่หลากหลาย

  • โรคนอนไม่หลับ

เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหานอนหลับยาก ซึ่งสามารถเกิดได้ในหลายรูปแบบ เช่น นอนไม่หลับเมื่อต้องการหลับ ตื่นกลางดึกและไม่สามารถนอนหลับต่อได้ หรือแม้กระทั่งตื่นเช้ามากและไม่สามารถนอนต่อจนถึงเวลาตื่นปกติได้18/ สามารถบำบัดด้วยแอปพลิเคชัน เช่น Calm และ Headspace ที่เน้นการทำสมาธิและการผ่อนคลายจิตใจ อีกทั้งยังมีการเล่าเรื่องพร้อมกับเสียงธรรมชาติและดนตรีบำบัด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้มีสมาธิและจิตใจที่สงบยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อคุณภาพการนอนหลับของผู้ใช้

  • โรคจิตเภท

แม้โรคจิตเภทส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง  แต่ก็ยังมีแอปพลิเคชันที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการรักษาเพื่อช่วยควบคุมอาการของโรคได้ เช่น Health Storylines19/ ออกแบบมาให้ผู้ใช้บันทึกอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมไปถึงติดตามการบริโภคยา โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลที่บันทึกไว้เพื่อสร้างรายงานสุขภาพที่เปิดให้แพทย์หรือผู้ดูแลร่วมติดตามได้ ทำให้สื่อสารและประเมินอาการได้สะดวกขึ้น

  • โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ

เป็นโรคที่สามารถบำบัดด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ซึ่งวิธีที่พบบ่อยคือ Virtual Reality Exposure Therapy (VRET) โดยวิธีการบำบัดนี้จะให้ผู้ป่วยเผชิญกับความทรงจำหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอาการ PTSD ผ่านแบบจำลองเสมือนจริงทีละน้อย ภายใต้การดูแลของนักบำบัดที่มีประสบการณ์20/ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสฝึกฝนวิธีรับมือกับอารมณ์และความทรงจำในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ โดย VR สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่ต้องออกไปเผชิญกับสภาวะจริงในโลกภายนอกซึ่งอาจมีความเสี่ยงสูง

 

ประโยชน์และความท้าทายจากการดูแลจิตใจด้วย AI

 

ประโยชน์ของการใช้ AI เพื่อสุขภาพจิต


1) เข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ง่ายตลอด 24 ชั่วโมง และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

ผู้ใช้สามารถเข้าถึง AI ในรูปแบบของแชทบอทได้ตลอดเวลา อีกทั้งผู้ใช้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลบุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิตสามารถใช้แชทบอทช่วยประเมินสถานะสุขภาพจิตเบื้องต้นและให้คำแนะนำในช่วงเวลาที่ผู้ใช้ต้องการ ซึ่งช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ได้ และช่วยเพิ่มการเข้าถึงการดูแลรักษาทางสุขภาพจิต (Access to mental health care)21/ นอกจากนี้ การใช้ AI ยังช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญโดยตรงตลอดเวลา  จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจิตที่อาจมีมูลค่าสูง ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน Headspace ได้ร่วมกับบริษัทยาชั้นนำแห่งหนึ่งในปี 2565 เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายจากการใช้แอปพลิเคชัน Headspace ดูแลสุขภาพจิตพนักงาน โดยพบว่าการใช้แอปพลิเคชัน Headspace ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจิตของพนักงานได้มากถึงร้อยละ 1522/

2) ช่วยรักษาความเป็นส่วนตัวและลดอคติที่เกิดจากมนุษย์

ผู้ใช้บางรายรู้สึกอึดอัดใจที่จะพูดคุยกับแพทย์หรือนักบำบัดแบบตัวต่อตัวด้วยความรู้สึกอายหรือกระดากใจที่จะเล่าเรื่องส่วนตัวให้ผู้อื่นฟัง แต่การใช้ AI สามารถช่วยลดความรู้สึกเหล่านั้นได้เนื่องจากผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นมนุษย์ จึงอาจ “เปิดใจ” ได้มากกว่า นอกจากนี้ การใช้ AI คัดกรองหรือวินิจฉัยสุขภาพจิตยังช่วยลดข้อผิดพลาดจากมนุษย์ที่อาจมีอคติในการวินิจฉัย ตลอดจนลดข้อผิดพลาดจากการวินิจฉัยเมื่อบุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยล้าและไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่23/

3) ลดภาระของผู้เชี่ยวชาญ

AI ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยแชทบอทจะสามารถให้คำปรึกษาแก่บุคคลที่ต้องการคำปรึกษาเบื้องต้นและตรวจสอบอารมณ์ของบุคคลเหล่านั้นก่อนที่จะส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญหากจำเป็น ซึ่งช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถจัดสรรเวลาให้กับผู้ที่มีอาการซับซ้อนหรืออาการรุนแรงมากกว่า24/ ตัวอย่างการใช้งาน AI ในลักษณะนี้ ได้แก่ แอปพลิเคชัน DMIND ที่เป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย AI จะประเมินอารมณ์เบื้องต้นของผู้ใช้งานออกมาเป็นคะแนน หากคะแนนอยู่ในเกณฑ์มีภาวะซึมเศร้า นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับภายใน 7 วัน หรือหากคะแนนอยู่ในเกณฑ์มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง นักจิตวิทยาจะติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง25/

4) สามารถจับสัญญาณเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิต

AI เพื่อสุขภาพจิตใช้เทคนิคการบำบัดทางจิตวิทยาแบบ CBT เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้ผ่านการสนทนากับแชทบอท การผสมผสานเทคนิคดังกล่าวช่วยให้ AI สามารถตรวจจับสัญญาณเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิตเพื่อป้องกันแต่เนิ่นๆ ไม่ให้ผู้ใช้มีอาการที่รุนแรงขึ้น26/
 

ความท้าทายของการใช้ AI เพื่อสุขภาพจิต

 

แม้ว่า AI จะมีศักยภาพในการดูแลสุขภาพจิตเชิงบวก แต่การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในด้านนี้ก็ยังคงมีความท้าทายอยู่หลายประเด็นดังนี้  

1) ความปลอดภัยของข้อมูล

AI เพื่อสุขภาพจิตจำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากเพื่อพัฒนาโมเดลให้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคหรือให้คำแนะนำด้านสุขภาพจิต ด้วยเหตุนี้ การป้องกันการละเมิดความเป็นส่วนตัว การขัดหลักจริยธรรมและการรั่วไหลของข้อมูล27/ จึงจัดว่าเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างระบบให้ปลอดภัยต่อการโจมตีทางไซเบอร์ โดยข้อมูลที่นำมาใช้พัฒนาโมเดล AI จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยทั้งสิ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักการคุ้มครองข้อมูลผู้ป่วยตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) ดังนั้น ผู้พัฒนา AI เพื่อสุขภาพจิตจำเป็นต้องคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและรักษาความลับอย่างเข้มงวด ตลอดจนปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าข้อมูลทางสุขภาพจิตซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่อนไหวจะถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์อย่างเหมาะสม  

2) ยังคงต้องมีการวินิจฉัยจากมนุษย์

แม้ว่า AI จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตมากขึ้น แต่ในปัจจุบัน AI ยังไม่สามารถเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกที่ซับซ้อนของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้ง28/ ดังนั้นการรักษาอาการป่วยทางจิตยังจำเป็นต้องมีจิตแพทย์วินิจฉัยอาการควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีบำบัดสุขภาพจิต

3) อคติของข้อมูล (Data bias)

เนื่องจากรูปแบบ AI เพื่อสุขภาพจิตจะขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ใช้ฝึกฝนเพื่อพัฒนาโมเดล ดังนั้นหากข้อมูลตั้งต้นมีความเอนเอียงจะทำให้ AI มีอคติในการวินิจฉัยหรือให้คำแนะนำผู้ป่วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความแม่นยำในการประเมินหรือแนะนำการรักษา29/ ทั้งนี้ การที่ AI จะทำงานได้อย่างเที่ยงตรงและยุติธรรมจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนด้วยข้อมูลที่ครอบคลุมกลุ่มประชากรที่หลากหลาย ทั้งในเชิงอายุ เชื้อชาติและวัฒนธรรม
 

ตัวอย่างแอปพลิเคชันและแกดเจ็ตในปัจจุบัน

 

  • Wysa  

Wysa เป็นแอปพลิเคชันสนับสนุนด้านสุขภาพจิตที่ใช้เทคนิคบำบัดทางด้านความคิดและพฤติกรรม (CBT) เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจและปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมของตนเอง Wysa ทำงานผ่านการสนทนากับผู้ใช้ในรูปแบบข้อความ (Text-based) คล้ายกับการคุยกับเพื่อนผ่านแชทบอท AI ชื่อ Pocket Penguin โดยสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก แอปพลิเคชันนี้จะประเมินสุขภาพจิตของผู้ใช้เมื่อเริ่มใช้งาน เช่น ตรวจสอบความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าหรือระดับความวิตกกังวล โดยข้อมูลที่ได้รับจะช่วยให้ AI เข้าใจสภาวะจิตใจของผู้ใช้ โดยรายงานของ Wysa พบว่าผู้ใช้ที่เผชิญภาวะซึมเศร้ามีอาการดีขึ้นถึงร้อยละ 3130/ นอกจากนี้ Wysa ยังให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญผ่านข้อความด้วยเช่นกัน


 

  • Youper

Youper เป็นแอปพลิเคชันที่ทำงานผ่านการสนทนาในรูปแบบข้อความ โดยใช้เทคนิค CBT ที่เข้าใจอารมณ์ของผู้ใช้ และสามารถสนทนากับผู้ใช้อย่างเป็นธรรมชาติ โดย Youper มีฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของตนเองเพื่อที่จะเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ Youper ยังผ่านการศึกษาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดแล้วว่าสามารถลดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าได้จริง หลังจากใช้งานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์31/


 

  • Headspace

Headspace เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมสำหรับทำสมาธิ (Meditation) และฝึกฝนการมีสติ (Mindfulness) ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยลดความเครียดและช่วยให้ผู้ใช้นอนหลับได้ดีขึ้น32/ แอปพลิเคชันนี้มีโปรแกรมที่ช่วยให้ผู้ใช้ฝึกสมาธิและสติในชีวิตประจำวัน เช่น การฝึกหายใจผ่อนคลายความเครียด การผ่อนคลายร่างกาย และการรับรู้ถึงอารมณ์ความคิดในขณะนั้น นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์เฉพาะสำหรับช่วยให้นอนหลับ เช่น ฟีเจอร์ Sleepcast ซึ่งจะเล่านิทานที่ช่วยให้ผู้ใช้ผ่อนคลายและหลับง่ายขึ้น รวมถึงฟีเจอร์ Soundscape ที่จะเปิดเสียงธรรมชาติอย่างเสียงฝนตกหรือเสียงน้ำไหล และฟีเจอร์ Sleep Music ที่เปิดดนตรีที่ออกแบบให้ผู้ใช้นอนหลับได้ดีขึ้น


 

  • Friend

Friend เป็นอุปกรณ์ AI สวมใส่ในรูปแบบจี้สร้อยคอ โดยผู้ใช้สามารถคุยโต้ตอบกับ Friend ผ่านเสียงพูดขณะกดปุ่มบนจี้ โดยอุปกรณ์นี้สามารถฟังเสียงสภาพแวดล้อมรอบข้างของผู้ใช้ (Ambience noise) ได้ตลอดเวลาผ่านไมโครโฟนที่อยู่ภายในจี้ และสามารถส่งข้อความไปยังแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือผ่าน Bluetooth เพื่อโต้ตอบกับผู้ใช้ได้ทันที โดย Friend ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ใช้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเสมือนมีเพื่อนพูดคุยอยู่ข้างๆ เนื่องจาก Friend สามารถเริ่มต้นบทสนทนาก่อนได้เอง หรืออาจกล่าวได้ว่า Friend มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวเปิดให้สั่งจองล่วงหน้าแล้วที่ราคา 99 ดอลลาร์สหรัฐ และจะเริ่มจัดส่งในต้นปี 2568 เฉพาะในสหรัฐฯ และแคนาดาเท่านั้น33/


 

  • Moflin

มอฟลิน (Moflin) เป็นสัตว์เลี้ยงหุ่นยนต์ลักษณะคล้ายหนูแฮมสเตอร์ที่มีระบบ AI ทำให้มอฟลินสามารถเรียนรู้และปรับตัวตามอารมณ์ของเจ้าของหรือผู้ใช้งานได้ โดยเน้นการโต้ตอบแบบใกล้ชิดและจะตอบสนองต่อการกอดและการลูบหัวผ่านเซนเซอร์ตรวจจับการสัมผัสและการเคลื่อนไหว ทำให้เจ้าของรู้สึกเหมือนมีสัตว์เลี้ยงจริงๆ ที่ต้องดูแล ซึ่งพัฒนาการของมอฟลิน เช่น การแสดงอารมณ์ที่หลากหลายและการสร้างความผูกผันกับเจ้าของจะขึ้นอยู่กับวิธีที่เจ้าของปฏิบัติต่อมัน ทั้งนี้ มอฟลินถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเพื่อนที่คอยสนับสนุนด้านอารมณ์แก่ผู้ใช้ โดยสามารถช่วยบรรเทาความรู้สึกเหงาและเครียดได้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ปัจจุบันมอฟลินมีราคาอยู่ 59,400 เยน หรือราว 398 ดอลลาร์สหรัฐ โดยวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 256734/


 

AI เพื่อสุขภาพจิตกับการประยุกต์ใช้ในองค์กร

 

สุขภาพจิตของพนักงานเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน35/ โดยหลังจากประยุกต์ใช้ AI เพื่อดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน อาจทำให้องค์กรพัฒนา/เปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ดังนี้

  • สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง (Open organizational culture) การนำ AI มาประยุกต์ใช้ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองสามารถแสดงออกและสื่อสารเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างปลอดภัยและไม่รู้สึกกังวลว่าจะถูกมองในแง่ลบหรือถูกวิจารณ์ (Without stigma) นอกจากนี้ ผลการวิคราะห์ที่แม่นยำของ AI ยังช่วยให้องค์กรเข้าใจแนวโน้มและปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียดและสภาพจิตใจของพนักงานในภาพรวม ช่วยให้ผู้บริหารและพนักงานร่วมกันสร้างพื้นที่ทำงานที่ใส่ใจและมีความเห็นอกเห็นใจต่อกันมากขึ้น

  • ขับเคลื่อนองค์กรได้ด้วยนวัตกรรม การนำเทคโนโลยี AI เพื่อดูแลสุขภาพจิตของพนักงานช่วยให้องค์กรดูทันสมัยและก้าวหน้า สะท้อนถึงความพร้อมต่อการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล อีกทั้งช่วยให้องค์กรเป็นที่จดจำว่าเป็นสถานที่ทำงานที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตยุคใหม่ และทำให้องค์กรน่าสนใจต่อบุคลากรทั้งภายในและภายนอก

  • ดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพ องค์กรที่มีนโยบายด้านสุขภาพจิตที่ดี มีสวัสดิการทางด้านสุขภาพจิตที่แตกต่างจากองค์กรอื่น อาทิ มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ36/ และมีสวัสดิการส่งเสริมให้พนักงานออกกำลังกายมากขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับสมัครสมาชิกฟิตเนส37/ ตลอดจนติดตั้งแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการฝึกสติและสมาธิให้พนักงานใช้38/ มีโอกาสดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing) เข้ามาทำงานด้วยมากขึ้น ในขณะเดียวกัน พนักงานในองค์กรจะมีความสุขในการทำงานและรู้สึกผูกพันกับองค์กรมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการลาออกลดลง

  • มีภาพลักษณ์ที่ดี องค์กรที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety)39/ ในการทำงานผ่านการดูแลสุขภาพจิตของพนักงานด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น ให้สวัสดิการเป็น AI เพื่อสุขภาพจิต อาจช่วยสร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า นักลงทุน และสังคมโดยรวม ซึ่งส่งผลดีต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ขององค์กรในระยะยาว

การดูแลสุขภาพจิตของพนักงานด้วย AI จัดว่าเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในองค์กรควบคู่ไปกับการลงทุนในนวัตกรรม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้พนักงานมีสภาวะจิตใจที่ดีและมีมุมมองเชิงบวกต่อการทำงาน แต่ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนาองค์กรในยุคดิจิทัลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สุขภาพจิตของพนักงานจะดีขึ้นได้นั้นอาจอาศัยเพียง AI เพื่อสุขภาพจิตเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นฐานขององค์กร วิสัยทัศน์ของผู้นำในองค์กร และนิยามความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตของแต่ละองค์กรด้วยเช่นกัน

 

มุมมองวิจัยกรุงศรี

 

เนื่องจากความเครียดจากการทำงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นองค์กรควรเริ่มดูแลสุขภาพจิตของพนักงานตั้งแต่ระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะประยุกต์ใช้ AI เพื่อสุขภาพจิตเพื่อจัดการความเครียดซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟ (Burnout) รวมไปถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตอื่นๆ โดยองค์กรต่างๆ รวมถึงธนาคารอาจพิจารณาประยุกต์ใช้แนวทางต่อไปนี้

  • การดูแลพนักงานเชิงรุก (Proactive Employee Support)

องค์กรอาจประยุกต์ใช้โปรแกรมดูแลสุขภาพจิตของพนักงานแบบครบวงจร (Employee Assistance Program)40/ โดยเริ่มต้นด้วยการใช้ AI ประเมินสุขภาพจิตของพนักงานเพื่อระบุปัญหาหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และใช้ผลการวิเคราะห์นี้เพื่อออกแบบโปรแกรมบำบัดที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล และยังเปิดให้พนักงานปรึกษาผู้เชี่ยวชาญรวมถึงรับการบำบัดผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยโปรแกรมดังกล่าวไม่เพียงช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงานและเพิ่มความผูกพันระหว่างพนักงานกับองค์กร แต่ยังจะช่วยลดการขาดงานของพนักงาน ลดพฤติกรรมการทำงานที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่แม้เข้างานเต็มเวลา (Presenteeism) รวมไปถึงลดอัตราการลาออก กรณีตัวอย่างได้แก่ บริษัทรายใหญ่บริษัทหนึ่งในสหรัฐฯ ที่มีพนักงานกว่า 5 หมื่นคน หลังจากใช้โปรแกรมดังกล่าวสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือเฉลี่ย 580 ดอลลาร์สหรัฐต่อพนักงาน 1 คน41/ นอกจากนี้ องค์กรอาจติดตั้ง AI เพื่อสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชันขององค์กรที่พนักงานใช้งานประจำทุกวัน เพื่อกระตุ้นหรือแนะนำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิต (Proactive Nudges) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานให้เป็นไปในเชิงบวกโดยไม่กดดัน เช่น แจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาพัก แจ้งเตือนเมื่อพนักงานทำงานเกินเวลา หรือแม้กระทั่งแนะนำให้พนักงานทำกิจกรรมยามว่างที่ช่วยให้ผ่อนคลายจากงานประจำ เช่น เดินเล่นหรือยืดเส้นยืดสายแบบง่ายๆ

  • การดูแลพนักงานเชิงป้องกัน (Preventive Employee Support)

ความเครียดเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิต ดังนั้นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในหน่วยงานที่พนักงานต้องให้บริการลูกค้าโดยตรงและทำงานภายใต้ความกดดันสูง จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยป้องกันไม่ให้พนักงานเกิดภาวะเครียดรุนแรง โดยในกรณีของธนาคาร ลักษณะงานที่ AI สามารถแบ่งเบาภาระงานของพนักงานมากที่สุดคือ Call Center ด้วยการใช้ Chatbot และผู้ช่วยเสมือน (Virtual Assistant) เพื่อให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งธนาคารสามารถพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยี Generative AI42/ เพื่อให้พนักงานประจำสาขาใช้หาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือข้อกำหนดต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำขึ้น นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สินเชื่อบ้านเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เผชิญกับความกดดันจากการทำงานโดยเฉพาะปัจจุบันที่สภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ การประยุกต์ใช้ AI พัฒนาบริการสินเชื่อบ้านด้วยวิธีประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยไม่ต้องตรวจสอบสถานที่จริง43/ สามารถช่วยแบ่งเบาภาระงานของเจ้าหน้าที่ได้ โดยเฉพาะภาระงานด้านเอกสารและการเดินทางไปตรวจสอบสถานที่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความเครียดสะสมในระยะยาว

เมื่อสุขภาพจิตที่ดีของพนักงานส่งผลโดยตรงต่อผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กรด้วย ดังนั้น การลดความเครียดควบคู่กับการเพิ่มขวัญกำลังใจของพนักงานจะนำไปสู่ผลงานที่ดีขึ้น ต้นทุนที่ลดลง และเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะได้รับบริการจากพนักงานที่มุ่งมั่นและใส่ใจ ส่งผลให้ลูกค้าพึงพอใจและไว้วางใจที่จะมาใช้บริการกับองค์กรมากขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจได้

 

References

 

Alison Cerezo (2024): “Bridging Mental Health Disparities with Culturally Responsive AI” Retrieved October 24 2024 from mpathic AI » Bridging Mental Health Disparities with Culturally Responsive AI - mpathic AI

Anoushka Thakkar et al. (2024): “Artificial intelligence in positive mental health: a narrative review” Retrieved October 21 2024 from Frontiers | Artificial intelligence in positive mental health: a narrative review

Beth Castle (2024): “29 Companies That Offer Mental Health Support Benefits” Retrieved October 28 2024 from 29 Companies That Offer Mental Health Support Benefits | InHerSight

Claire de Oliveira et al. (2022): “The Role of Mental Health on Workplace Productivity: A Critical Review of the Literature” Retrieved October 28 2024 from The Role of Mental Health on Workplace Productivity: A Critical Review of the Literature | Applied Health Economics and Health Policy

David B. Olawade et al. (2024): “Enhancing mental health with Artificial Intelligence: Current trends and future prospects” Retrieved October 21 2024 from Enhancing mental health with Artificial Intelligence: Current trends and future prospects

Emily Price (2024): “Casio’s Moflin robot wants to be your next AI emotional support pet” Retrieved October 25 2024 from Moflin is a fuzzy AI pet designed to help adults destress

Gael Cooper (2024): “AI-Powered Necklace Will Be Your Friend for $99” Retrieved October 25 2024 from AI-Powered Necklace Will Be Your Friend for $99 - CNET

Grand View Research (2024): “AI In Mental Health Market Size & Trends” Retrieved October 22 2024 from AI In Mental Health Market Size, Share, Growth Report, 2030

Headspace (2023): “Headspace Care Cost Impact Report” Retrieved October 24 2024 from Headspace Care Cost Impact Analysis

Headspace (2024): “About Headspace” Retrieved October 25 2024 from About Us - Headspace

Kaytee Gillis (2024): “The Impact of AI in the Mental Health Field” Retrieved October 24 2024 from The Impact of AI in the Mental Health Field | Psychology Today

Logan Jones (2023): “From a Therapist’s Perspective: The Pros and Cons of AI in Mental Health” Retrieved October 24 2024 from  Pros and Cons of AI in Mental Health - Clarity Cooperative

Mohamed Terra et al. (2023): “Opportunities, applications, challenges and ethical implications of artificial intelligence in psychiatry: a narrative review” Retrieved October 25 2024 from Opportunities, applications, challenges and ethical implications of artificial intelligence in psychiatry: a narrative review | The Egyptian Journal of Neurology, Psychiatry and Neurosurgery | Full Text

Polaris Market Research (2024): “Artificial Intelligence (AI) in Mental Health Market” Retrieved October 22 2024 from Artificial Intelligence (AI) in Mental Health Market Growth Report, 2024-2032

RippleMatch (2022): “17 Companies That Prioritize the Mental Health of Their Employees” Retrieved October 28 2024 from 17 Companies That Prioritize the Mental Health of Their Employees

World Health Organization (2020): “Mental Health Atlas” Retrieved October 18 2024 from 9789240036703-eng.pdf

Wysa (2023): “The Business Case for AI-led Mental Health Support” Retrieved October 28 2024 from Wysa-Business-Case.pdf

Wysa (2024): “Mental Health, redefined” Retrieved October 25 2024 from Wysa - Everyday Mental Health

XRHealth (2024): “Using Virtual Reality to Treat PTSD: Breakthroughs and Benefits” Retrieved October 22 2024 from Virtual Reality Treatment for PTSD: Innovative Therapy Solutions- XR Health

Yan-Ying Li et al. (2022): “A Vision-Based System for In-Sleep Upper-Body and Head Pose Classification” Retrieved October 21 2024 from A Vision-Based System for In-Sleep Upper-Body and Head Pose Classification - PMC

Yelena Lavrentyeva (2024): “The big promise AI holds for mental health” Retrieved October 24 2024 from AI in Mental Health - Examples, Benefits & Trends — ITRex

Youper (2024): “Clinically validated AI for mental healthcare” Retrieved October 25 2024 from Clinically Validated AI For Mental Healthcare - Youper

คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ (2020): “Psychological safety – ความปลอดภัยทางจิตใจ” Retrieved October 28 2024 from Psychological safety – ความปลอดภัยทางจิตใจ - คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (2024): “PTSD ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง” Retrieved October 22 2024 from PTSD ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD ตอนที่ 1) - รามา แชนแนล

ชาติสยาม หม่อมแก้ว (2022): “DMIND แอปพลิเคชั่นเพื่อคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้านวัตกรรม AI จากนักวิจัยคณะแพทย์และวิศวะ จุฬาฯ” Retrieved October 24 from DMIND แอปพลิเคชั่นคัดกรองซึมเศร้า – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญา มิ่งสกุล (2023): “Generative AI เทคโนโลยีพลิกโฉมโลก” Retrieved October 28 2024 from Generative AI

พบแพทย์ (2022): “รู้จัก Cognitive Behavioral Therapy บำบัดจิตโดยปรับความคิดและพฤติกรรม” Retrieved October 22 2024 from รู้จัก Cognitive Behavioral Therapy บำบัดจิตโดยปรับความคิดและพฤติกรรม - พบแพทย์

โรงพยาบาลกรุงเทพ (2024): “โรคจิตเภท (Schizophrenia)” Retrieved October 21 2024 from โรคจิตเภท (Schizophrenia) | โรงพยาบาลกรุงเทพ | Bangkok Hospital

โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (2022): “อย่างไรถึงเรียกว่าโรคนอนไม่หลับ” Retrieved October 22 2024 from อย่างไรถึงเรียกว่าโรคนอนไม่หลับ | โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ (2024): “วัยแรงงาน เผชิญความเครียด วิตกกังวล ผลสำรวจชี้ มีปัญหาสุขภาพจิต42.7%” Retrieved October 18 2024 from "วัยแรงงาน" เผชิญความเครียด วิตกกังวล ผลสำรวจชี้ มีปัญหาสุขภาพจิต42.7%  | Hfocus.org

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2024): “MIO จิตวิทยาสติสร้างสุขในองค์กร: สู่ Model ความยั่งยืน” Retrieved October 18 2024 from MIO จิตวิทยาสติสร้างสุขในองค์กร: สู่ Model ความยั่งยืน - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (2007): “พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550” Retrieved October 21 2024 from 25621124013609AM_17.pdf

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2024): “Mental Health ปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง” Retrieved October 18 2024 from 2567_article_q1_001.pdf

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (2019): “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562” Retrieved October 21 2024 from T_0052.PDF




1/ Mental Health ปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง (nesdc.go.th) 
2/ ภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 (nesdc.go.th) 
3/ Mental Health Atlas 2020 (who.int)
4/ กรมสุขภาพจิตเผยวัยทำงานเสี่ยงเกิดเครียดได้สูง แนะ 10 วิธีดูแลใจให้มีสุขรายวัน มีผลงานดีขึ้น (th.rajanukul.go.th/) 
5/ MIO จิตวิทยาสติสร้างสุขในองค์กร: สู่ Model ความยั่งยืน - สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) (thaihealth.or.th) 
6/ "วัยแรงงาน" เผชิญความเครียด วิตกกังวล ผลสำรวจชี้ มีปัญหาสุขภาพจิต 42.7%  (Hfocus.org)
7/ตัวอย่างเช่น Artificial intelligence in mental health - Wikipedia, Enhancing mental health with Artificial Intelligence: Current trends and future prospects - ScienceDirect
8/โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคที่มีความผิดปกติของบุคลิกภาพ รวมไปถึงด้านการรับรู้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ โรคจิตเภท (Schizophrenia) | โรงพยาบาลกรุงเทพ | Bangkok Hospital
9/ Frontiers | Artificial intelligence in positive mental health: a narrative review (frontiersin.org)
10/ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (dms.go.th)
11/ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (ratchakitcha.soc.go.th)
12/ Frontiers | Artificial intelligence in positive mental health: a narrative review (frontiersin.org)
13/ A Vision-Based System for In-Sleep Upper-Body and Head Pose Classification - PMC (nih.gov)
14/ Artificial Intelligence (AI) in Mental Health Market Growth Report, 2024-2032 (polarismarketresearch.com)
15/ AI In Mental Health Market Size, Share, Growth Report, 2030 (grandviewresearch.com)
16/ โรค PTSD คือ ความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากเผชิญกับเหตุการณ์คุกคามที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ PTSD ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD ตอนที่ 1) - รามา แชนแนล
17/ Cognitive Behavioral Therapy คือวิธีการทำจิตบำบัดรูปแบบหนึ่ง โดยใช้วิธีพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ หรือการรับรู้ของตนเองที่อาจผิดเพี้ยนไปจากความจริง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ รู้จัก Cognitive Behavioral Therapy บำบัดจิตโดยปรับความคิดและพฤติกรรม - พบแพทย์ (pobpad.com)
18/ อย่างไรถึงเรียกว่าโรคนอนไม่หลับ | โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (bumrungrad.com)
19/ แอปพลิเคชัน Health Storylines มีการจำกัดการใช้งานเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเท่านั้น สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Health Storylines™
20/ Virtual Reality Treatment for PTSD: Innovative Therapy Solutions- XR Health
21/ The Impact of AI in the Mental Health Field | Psychology Today
22/ Headspace Care Cost Impact Analysis (hubspotusercontent-na1.net)
23/ Pros and Cons of AI in Mental Health - Clarity Cooperative
24/ AI in Mental Health - Examples, Benefits & Trends — ITRex (itrexgroup.com)
25/ DMIND แอปพลิเคชั่นคัดกรองซึมเศร้า – จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
26/ Pros and Cons of AI in Mental Health - Clarity Cooperative
27/ Artificial intelligence in positive mental health: a narrative review (nih.gov)
28/ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการรักษา ซึ่ง AI ยังไม่สามารถทดแทนความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจที่มนุษย์มีต่อกันได้ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Opportunities, applications, challenges and ethical implications of artificial intelligence in psychiatry: a narrative review | The Egyptian Journal of Neurology, Psychiatry and Neurosurgery | Full Text (springeropen.com) 
29/ Ibid
30/ Wysa - Everyday Mental Health 
31/ Clinically Validated AI For Mental Healthcare - Youper 
32/ About Us - Headspace 
33/ AI-Powered Necklace Will Be Your Friend for $99 - CNET
34/ Moflin is a fuzzy AI pet designed to help adults destress
35/ The Role of Mental Health on Workplace Productivity: A Critical Review of the Literature | Applied Health Economics and Health Policy 
36/ Intuit บริษัทสัญชาติอเมริกันที่เชี่ยวชาญการพัฒนาซอฟต์แวร์ ออกโปรแกรม Well Minds ที่ให้วงเงินสูงสุด 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจิตของพนักงาน ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงบริการที่ปรึกษาและโปรแกรมสุขภาพจิตอื่นๆ ที่ช่วยให้พนักงานดูแลสุขภาพจิตได้ดียิ่งขึ้น อ่านเพิ่มเติมได้ที่ 29 Companies That Offer Mental Health Support Benefits | InHerSight
37/ Thermo Fisher Scientific บริษัทสัญชาติอเมริกันที่เป็นผู้นำในด้านการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องมือ และบริการทางวิทยาศาสตร์ ให้บริการที่หลากหลายแก่กลุ่มลูกค้าทางด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรมต่างๆ สนับสนุนสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อพนักงาน เช่น โปรแกรมสุขภาพ ค่าสมัครสมาชิกฟิตเนส และการจัดตารางงานที่ยืดหยุ่น เพื่อให้พนักงานมีความสุขและสุขภาพที่ดี อ่านเพิ่มเติมได้ที่ 17 Companies That Prioritize the Mental Health of Their Employees 
38/ Genpact บริษัทสัญชาติอเมริกันที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการให้บริการด้านการเงินและบัญชี การวิเคราะห์ข้อมูล และเทคโนโลยี ได้ใช้แอปพลิเคชัน Headspace เพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานโดยมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ผลที่ได้คือร้อยละ 87 ของพนักงานรู้สึกเครียดน้อยลง และร้อยละ 76 รู้สึกมีสมาธิมากขึ้นในกิจกรรมประจำวัน อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Genpact Case Study.pdf 
39/ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.psy.chula.ac.th/th/feature-articles/psychological-safety/
40/ Employee Assistance Program (EAP) หรือโปรแกรมช่วยเหลือพนักงาน เป็นโปรแกรมสวัสดิการที่บริษัทมอบให้พนักงาน เพื่อช่วยให้พนักงานสามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต ทั้งเรื่องงาน ความสัมพันธ์ ปัญหาทางการเงิน หรือปัญหาอื่นๆ ในชีวิตส่วนตัว โดยให้บริการผ่านนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาที่เชี่ยวชาญ อ่านเพิ่มเติมได้ที่ What Is an Employee Assistance Program (EAP)? - AIHR 
41/ Wysa-Business-Case.pdf 
42/ Generative AI เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ประเภทหนึ่งที่สามารถสร้างผลลัพธ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่ (Existing data) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Generative AI
43/ Bangkok Post - Krungsri Embraces AI to Simplify Customer Lives

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา