EXECUTIVE SUMMARY
ปี 2565 ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ (2) การทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ (3) ผู้บริโภคกลุ่มรายได้ระดับกลาง-บน ยังมีศักยภาพการใช้จ่ายอยู่มาก นอกจากนี้ การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ยังช่วยกระตุ้นยอดขายได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ถูกกดดันจากค่าครองชีพที่เร่งขึ้น ทำให้ยอดขายเติบโตไม่มากที่ระดับ 3.0-4.0% สำหรับปี 2566-2568 ธุรกิจได้แรงหนุนการเติบโตที่ระดับเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี จาก (1) กำลังซื้อมีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี (2) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 ภายในปี 2568 (3) การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ช่วยเพิ่มการจ้างงานและปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ และ (4) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มโอกาสสร้างรายได้แก่ธุรกิจ
ทิศทางการดำเนินธุรกิจของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ มีแนวโน้มขยายสาขาหน้าร้านควบคู่กับการพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ท่ามกลางการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากผู้ประกอบการที่เร่งขยายฐานลูกค้าให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น เพื่อหนุนการเติบโตของรายได้ในระยะยาว
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ปี 2566-2568 ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยเฉพาะการทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง รวมถึงความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ตามมา อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนทรงตัวระดับสูง โดยการเติบโตของธุรกิจแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ดังนี้
-
ห้างสรรพสินค้า: คาดว่ายอดขายจะเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่เฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี จาก 3.5% ปี 2565 ผลจากความกังวล COVID-19 บรรเทาลง และผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม Omnichannel และการใช้เทคโนโลยี 5G และ AR เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้บริโภค ผนวกกับมีการขยายการลงทุนสู่ประเทศที่มีศักยภาพทางการตลาด จึงช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ต่อเนื่อง
-
ดิสเคาท์สโตร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต/ซูเปอร์เซ็นเตอร์: คาดว่ายอดขายจะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี จาก 3.0% ปี 2565 ผลจากผู้ประกอบการขยายสาขาด้วยรูปแบบที่หลากหลายเหมาะสมกับพื้นที่ และกระจายไปในแหล่งชุมชนทั่วประเทศ ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาช่องทางแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อเนื่อง และยังจำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าร้านค้าประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจะเผชิญการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่ไม่มีความแตกต่างหรือเป็นสินค้าใกล้เคียงกับที่วางขายในร้านค้าปลีกรูปแบบอื่นๆ
-
ซูเปอร์มาร์เก็ต: ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง 6.0-7.0% ต่อปี จาก 6.0% ปี 2565 เป็นการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกประเภทอื่น เนื่องจากมีกลยุทธ์การตลาดที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางบนถึงบนที่มีกำลังซื้อสูง มีจุดแข็งด้านคุณภาพของสินค้า และมีกลยุทธ์ต่างๆ อาทิ (1) การปรับรูปแบบร้านค้าเป็นไลฟ์สไตล์พรีเมี่ยมซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นสินค้านำเข้าราคาแพง (2) การขยายสาขาในจังหวัดที่มีกำลังซื้อสูง และ (3) การพัฒนารูปแบบการขายผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค ซูเปอร์มาร์เก็ตยังมีความได้เปรียบจากขนาด และมีการขยายสาขาในแหล่งชุมชนใหญ่ จึงมีผลประกอบการดีต่อเนื่อง
-
ร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ท: คาดยอดขายจะเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี จาก 4.5% ปี 2565 ผลจากการมีสาขาจำนวนมากกระจายไปในทุกพื้นที่ ทั้งยังมีการเพิ่มสินค้าประเภทอาหารพร้อมทานและเพิ่มบริการการขายผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการเปิดสาขาของคู่แข่งในพื้นที่เดียวกันและคู่แข่งทางอ้อม โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดในรูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงมีการขยายเครือข่ายของผู้ประกอบการรายใหญ่ผ่านร้านค้าโชห่วย ส่งผลให้ยอดขายต่อสาขาของร้านสะดวกซื้ออาจไม่สูงเช่นในอดีต โดยร้านสะดวกซื้อที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ยังสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง ขณะที่ร้านสะดวกซื้อทั่วไปจะมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากกว่า
ข้อมูลพื้นฐาน
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมค้าส่งค้าปลีกซึ่งมีมูลค่า 2.7 ล้านล้านบาทในปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.9% จากปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 16.7% ของ GDP สูงเป็นอันดับสองรองจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วน 27.0% ผู้ประกอบการมักเป็นนายทุนรายใหญ่ที่มีเครือข่ายสาขาจำนวนมาก และเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ จึงมีอํานาจต่อรองเหนือผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า[1] มีการบริหารจัดการร้านค้าอย่างเป็นระบบ ซึ่งรวมถึงระบบขนส่งและกระจายสินค้าที่ทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์และการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาใช้ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาด
ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และเมืองหลักที่มีความเป็นสังคมเมืองสูง โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) นโยบายรัฐเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติซึ่งมีเทคโนโลยีการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ามาลงทุนธุรกิจค้าปลีกได้[2] (2) ลักษณะร้านค้าตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย อาทิ ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าหลายประเภทในที่แห่งเดียวตั้งแต่อาหาร ของใช้ส่วนบุคคล และของใช้ในครัวเรือน (ภาพที่ 2) อีกทั้งราคาสินค้ามักต่ำกว่าร้านค้าปลีกดั้งเดิม (Traditional trade) และ (3) การลงทุนขยายสาขาต่อเนื่องเพื่อขยายฐานลูกค้า
ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ส่วนใหญ่เป็นทุนไทยรายใหญ่ มีฐานะกิจการมั่นคง มีศักยภาพและความสามารถในการสร้างรายได้ ซึ่งเป็นผลจากความได้เปรียบด้านขนาด เงินทุน เครือข่ายสาขา และการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบ อาทิ กลุ่ม Central กลุ่ม Charoen Pokphand (CP) กลุ่ม Thai Charoen Corporation (TCC) กลุ่ม The Mall และกลุ่ม Saha Pathanapibul (ตารางที่ 2)
การแข่งขันของธุรกิจค่อนข้างรุนแรง จากสินค้าที่คล้ายคลึงกัน จำนวนสาขาที่มีมาก และยังต้องแข่งขันกับธุรกิจการค้าออนไลน์ที่เติบโตต่อเนื่องจากการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตได้สะดวก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 สะท้อนจากปี 2564 ยอดขายสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากระดับปี 2562 (ภาพที่ 3) อย่างไรก็ตาม การซื้อขายสินค้าออนไลน์ยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าค้าปลีกทั้งหมด เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการซื้อขายหน้าร้าน (ออฟไลน์) (ที่มา: สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์: ETDA) จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการเพิ่มสัดส่วนยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขึ้น
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขยายสาขาอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงปี 2563-2564 โดยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (BMR)[6] มีพื้นที่ค้าปลีกสะสมเพิ่มขึ้น 1.3% ในปี 2564 อยู่ที่ 7.93 ล้านตารางเมตร (ภาพที่ 4) โดยพื้นที่ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า (สัดส่วน 61.9% และ 3.3% ของพื้นที่ค้าปลีกใน BMR) ทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2563 ส่วนคอมมูนิตี้มอลล์ (สัดส่วน 14.0%) เพิ่มขึ้นถึง 8.3% (เทียบกับ 1.1% ปี 2563) ซูเปอร์สโตร์ (สัดส่วน 14.5%) เพิ่มขึ้น 1.6% และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน (สัดส่วน 6.2%) เพิ่มขึ้น 0.3% ส่วนในต่างจังหวัด ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายใหญ่ เช่น 7-Eleven, Lotus’s และ Big C ยังคงเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง ทั้งยังขยายเครือข่ายโดยเป็นพันธมิตรกับร้านค้าโชห่วย ซึ่งกระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ หากพิจารณาด้านจำนวนสาขา พบว่า ณ สิ้นปี 2564 ร้านสะดวกซื้อมีสัดส่วนจำนวนสาขาสูงสุดที่ 90.3% ของสาขาร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 89.1% ปี 2563 รองลงมา คือ ซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ตามลำดับ (ภาพที่ 5)
สถานการณ์ที่ผ่านมา
ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ซบเซาจากการแพร่ระบาดหลายระลอกของ COVID-19 ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2563 ก่อนกระเตื้องขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ซึ่งภาครัฐทยอยผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรค (เช่น ลดระยะเวลาเคอร์ฟิว และขยายเวลาเปิดดำเนินการของร้านค้า) รวมถึงการทยอยผ่อนคลายเกณฑ์เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเทศกาลปลายปี ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมขยับดีขึ้น
ปี 2565 ยอดขายของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยจะกลับมาเติบโตในอัตรา 3.0-4.0% เทียบกับที่หดตัว -9.0% ในปี 2564 อานิสงส์จาก
-
การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับมาเกือบเป็นปกติ หลังทางการประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ตุลาคม
-
การทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ต้นปี และยกเลิกระบบ Test & Go รวมถึงเริ่มต้นเปิดประเทศเต็มรูปแบบสำหรับผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2565 ทั้งยังยกเลิกการลงทะเบียน Thailand pass (1 กรกฎาคม 2565) ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยแล้ว 5.7 ล้านคน (มกราคม-ตุลาคม) และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีจะอยู่ที่ 10.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากจาก 4.3 แสนคนในปีก่อน ช่วยหนุนธุรกิจค้าปลีกในทำเลท่องเที่ยวหรือมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ
-
รายได้ภาคเกษตรปรับดีขึ้นต่อเนื่อง (ช่วง 9 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้น 14.4% YoY) หนุนให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นตามมา
-
มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ อาทิ คนละครึ่งเฟส 4-5 (มีนาคม-เมษายน และกันยายน-ตุลาคม) ช้อปดีมีคืน (ตั้งแต่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์) และเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 (กรกฎาคม-ตุลาคม) และ
-
การเติบโตต่อเนื่องของธุรกิจ E-commerce สะท้อนจากดัชนีการสั่งสินค้าทางไปรษณีย์ โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต ช่วง 8 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 45.9% YoY (ภาพที่ 6) ขณะที่ยอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้ประกอบการ เช่น Lotus’s เติบโตมากกว่า 400% จากปีก่อนหน้า และสอดคล้องกับ Global Digital Stat 2021 (โดย We Are Social และ Hootsuit) รายงานอัตราการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกซื้อมากที่สุด ได้แก่ สินค้ากลุ่มสุขภาพ กลุ่มแฟชั่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าสำหรับทารกและเด็ก และสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ Priceza คาดว่าตลาด E-commerce ปี 2565 มีแนวโน้มเติบโต 30% จากปี 2564
แม้จะมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ธุรกิจค้าปลีกยังอยู่ภายใต้ปัจจัยกดดัน จากค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ลดทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มรายได้กลาง-ล่างที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ผนวกกับดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มเพิ่มภาระหนี้ครัวเรือน (ผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ 89.3% ของ GDP สูงสุดในรอบ 16 ปีจาก 88.2% ณ ไตรมาส 2) สำหรับกำลังซื้อกลุ่มรายได้ระดับปานกลาง-บนเริ่มชะลอการใช้จ่ายลง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนในเดือนพฤษภาคม (ภาพที่ 7) และสอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกที่ผันผวนในทิศทางชะลอลง (ภาพที่ 8) และพบว่าผู้บริโภคมียอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ (Spending per bill) เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่ความถี่ในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และเน้นการซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็นเท่านั้น (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ค้าปลีก)
ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีการขยายสาขาต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มร้านสะดวกซื้อที่เปิดสาขาตามพื้นที่ชุมชน ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และซูเปอร์สโตร์ที่ขยายพื้นที่ค้าปลีกหรือเปิดใหม่ (ณ ไตรมาส 2/2565 พื้นที่คอมมูนิตี้มอลล์ +2.0% YoY และซูเปอร์สโตร์ +3.0% YoY) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังปรับรูปแบบร้านค้าและสินค้า เช่น การปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านสุขอนามัยมากขึ้น และพัฒนาช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่าน E-commerce รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น ได้แก่ (1) การใช้ Digital platform omnichannel[7] เช่น การเปิดร้านค้าออนไลน์ผ่าน Webstore การพัฒนา Mobile application การบริการจัดส่งสินค้าออนไลน์ (Quick commerce) และการร่วมมือกับธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online marketplace) อื่น เช่น Lazada Shopee และ JD Central (2) การทำการตลาด Online to Offline[8] (O2O) เช่น การให้บริการ Personal shopper (บริการส่วนตัวในการเลือกซื้อสินค้า) Call & Shop และ Chat & Shop การขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social commerce) เช่น Facebook, Line และ e-Ordering เป็นต้น และ (3) การรับชำระค่าสินค้าผ่านช่องทางชำระเงินดิจิทัล เช่น Alipay (Online banking), WeChat Pay และ Dolfin รวมถึงผ่านระบบออนไลน์ของธนาคารในประเทศ ทั้งนี้ การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น
สถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในแต่ละประเภท สรุปได้ดังนี้
แนวโน้มธุรกิจ
ปี 2566-2568 ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี (ภาพที่ 13) โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) กำลังซื้อมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเติบโตในอัตรา 3.0-4.0% ต่อปี (ภาพที่ 14) (2) การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 (นักท่องเที่ยวไทยจะอยู่ที่ 185 ล้านทริป (ใกล้เคียงกับปี 2562) ภายในปี 2567 ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 42 ล้านคน ในปี 2568) (ภาพที่ 15) หนุนรายได้ร้านค้าปลีกในทำเลแหล่งท่องเที่ยว (3) การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐที่มีแผนดำเนินการต่อเนื่อง ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ มีการจ้างงานและเพิ่มรายได้ และจะหนุนให้มีการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ตามมา (4) การเติบโตต่อเนื่องของภาคการค้าออนไลน์ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 13.6% ต่อปี (ที่มา: e-Conomy SEA 2021) (5) มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (มีผล 1 ตุลาคม 2565) ช่วยหนุนการบริโภคในประเทศ การออก Visa อนุญาตให้พำนักในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษแก่ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพการใช้จ่ายสูง 4 กลุ่ม[9] จะช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย และ (6) การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ซึ่ง IMF คาดว่าจะอยู่ในช่วง 3.5-6.5% จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการค้าปลีกในจังหวัดชายแดนและจังหวัดหลักในภูมิภาค
แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แต่ละประเภทสรุปได้ดังนี้
-
ห้างสรรพสินค้า: คาดว่ายอดขายจะเร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญที่เฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปี จาก 3.5% ปี 2565 ผลจากความกังวล COVID-19 บรรเทาลง และผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์ม Omnichannel และการใช้เทคโนโลยี 5G และ AR เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้บริโภค ผนวกกับมีการขยายการลงทุนสู่ประเทศที่มีศักยภาพทางการตลาด จึงช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ต่อเนื่อง
-
ดิสเคาท์สโตร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต/ซูเปอร์เซ็นเตอร์: คาดว่ายอดขายจะเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี จาก 3.0% ปี 2565 ผลจากผู้ประกอบการขยายสาขาด้วยรูปแบบที่หลากหลายเหมาะสมกับพื้นที่ และกระจายไปในแหล่งชุมชนทั่วประเทศ ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาช่องทางแพลตฟอร์มดิจิทัลต่อเนื่อง และยังจำหน่ายสินค้าในราคาต่ำกว่าร้านค้าประเภทอื่น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจะเผชิญการแข่งขันรุนแรง เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่ไม่มีความแตกต่างหรือเป็นสินค้าใกล้เคียงกับที่วางขายในร้านค้าปลีก Format อื่น
-
ซูเปอร์มาร์เก็ต: ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง 6.0-7.0% ต่อปี จาก 6.0% ปี 2565 เป็นการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกประเภทอื่น เนื่องจากมีกลยุทธ์การตลาดที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางบนถึงบนที่มีกำลังซื้อสูง มีจุดแข็งด้านคุณภาพของสินค้า และมีกลยุทธ์ต่างๆ อาทิ (1) การปรับรูปแบบร้านค้าเป็นไลฟ์สไตล์พรีเมี่ยมซูเปอร์มาร์เก็ตที่เน้นสินค้านำเข้าราคาแพง (2) การขยายสาขาในจังหวัดที่มีกำลังซื้อสูง และ (3) การพัฒนารูปแบบการขายผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภค ซูเปอร์มาร์เก็ตยังมีความได้เปรียบจากขนาด และมีการขยายสาขาในแหล่งชุมชนใหญ่ จึงมีผลประกอบการดีต่อเนื่อง
-
ร้านสะดวกซื้อ/มินิมาร์ท: คาดยอดขายจะเติบโตเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี จาก 4.5% ปี 2565 ผลจากการมีสาขาจำนวนมากกระจายไปในทุกพื้นที่ ทั้งยังมีการเพิ่มสินค้าประเภทอาหารพร้อมทานและเพิ่มบริการการขายผ่านออนไลน์ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จากการเปิดสาขาของคู่แข่งในพื้นที่เดียวกันและคู่แข่งทางอ้อม โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดในรูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงมีการขยายเครือข่ายของผู้ประกอบการรายใหญ่ผ่านร้านค้าโชห่วย ส่งผลให้ยอดขายต่อสาขาของร้านสะดวกซื้ออาจไม่สูงเช่นในอดีต โดยร้านสะดวกซื้อที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ยังสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง ขณะที่ร้านสะดวกซื้อทั่วไปจะมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากกว่า
ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่มีแนวโน้มขยายสาขาต่อเนื่องควบคู่การพัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ รวมถึงการพัฒนาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่และการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะต่างๆ มาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การขยายสาขาล่าช้าออกไป ขณะที่ผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างการรับรู้ด้านแอปพลิเคชันเพื่อกระตุ้นยอดขาย ท่ามกลางรูปแบบการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สำหรับรูปแบบการขยายสาขาจะมีโมเดลที่หลากหลาย อาทิ
-
การเปิดร้านค้าโมเดลขนาดเล็กลง/ใหญ่ขึ้นจากโมเดลปกติ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการหาทำเล และทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย เพื่อรุกตลาดที่ยังไม่ครอบคลุม
-
การเปิดร้านค้ารูปแบบใหม่ อาทิ Lifestyle shopping mall ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากในอำเภอขนาดใหญ่หรือจังหวัดขนาดเล็ก หรือการเปิดร้านค้าปลีกไซส์เล็กใกล้บ้าน ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ลดความถี่ในการไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และหันมาซื้อสินค้าจากร้านค้าใกล้บ้าน
-
การพัฒนาช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มโชเชียลมีเดียและการใช้ช่องทางการขายออนไลน์ตรงถึงผู้บริโภค (Direct to Consumer: D2C)[10] เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์แบบใหม่ ขณะที่รูปแบบการจัดส่งสินค้าแบบ Quick commerce จะเป็นที่นิยมมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการซื้อสินค้าแบบ On demand ซึ่งเป็นการซื้อแบบตะกร้าขนาดเล็ก และจัดส่งภายในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง
-
ผู้ประกอบการดิสเคาท์สโตร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต/ซูเปอร์เซ็นเตอร์ มีแนวโน้มขยายเครือข่ายผ่านร้านค้าปลีกดั้งเดิมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ในระดับตำบลและหมู่บ้านในอีกทางหนึ่ง ผู้ประกอบการจะมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์มากขึ้นตามมา จึงถือเป็นช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ในระยะยาว
-
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อาทิ การใช้ AI ช่วยออกแบบส่วนลดและสิทธิพิเศษที่เหมาะสมกับความต้องการและพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละราย (Personalization) และ
-
การขยายสาขาในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจที่เติบโตดีและมีประชากรจำนวนมาก จะช่วยขยายฐานรายได้ในระยะยาวให้แก่ธุรกิจ อาทิ กลุ่ม Central มีแผนขยายการลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามมูลค่า 3.0 หมื่นล้านบาทภายในปี 2569
ประเด็นท้าทายของธุรกิจในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรง จากจำนวนร้านค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจประเภทเดียวกัน และข้าม Segment รวมถึงคู่แข่งรายใหม่จากในและต่างประเทศที่เห็นช่องทางการเติบโตของภาคค้าปลีกไทย (2) คู่แข่งจากร้านค้าออนไลน์ที่มีจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงคู่แข่งในตลาด C2C[11] (Consumer to Consumer) ทั้งคนไทยและต่างชาติบน E-marketplace (เช่น Lazada, Alibaba.com, Shopee, JD.com, ebay และ amazon.com เป็นต้น) ทั้งนี้ ข้อมูลจาก e-Conomy SEA 2021 ประเมินมูลค่าตลาด E-commerce ของไทยปี 2568 จะอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 66.7% จากปี 2564 (ภาพที่ 16) ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของ E-commerce ให้มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจรวมถึงการเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการด้านขนส่ง เพื่อให้การซื้อขายออนไลน์เป็นไปอย่างราบรื่น และ (3) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เช่น (i) การพัฒนาแพลตฟอร์ม Omnichannel บนเทคโนโลยี 5G (ii) การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อประมวลความต้องการและพฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้า รวมถึงการเช็คสินค้า/สต็อกสินค้า เป็นต้น และ (iii) การใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เพื่อสร้างประสบการณ์ในการเลือกซื้อให้มีความเสมือนจริงมากที่สุด
[1] ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่สามารถใช้กลยุทธ์ขายสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าร้านค้าปลีกดั้งเดิม เนื่องจากมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขและเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายที่ต้องการวางสินค้าจำหน่ายในร้านค้า อาทิ 1) ค่าแรกเข้าเมื่อวางสินค้าครั้งแรก 2) ค่าสนับสนุนกิจกรรมการตลาดและบริการ อาทิ ค่าเช่าที่วางของ ค่าหิ้งวาง ค่าติดป้าย ค่าธรรมเนียมพิเศษจากยอดขายรายเดือนกรณีขายได้ตามเป้า ค่าจัดส่งและกระจายสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าไปสาขาของห้าง 3) ค่าใช้จ่ายการส่งเสริมการขายที่พบในแผ่นพับ ใบปลิว ฯลฯ รวมทั้งขอสินค้าแถมและส่วนลดเพิ่มตามโอกาส เช่น ครบรอบปี เปิดสาขาใหม่ ปรับโฉมกิจการ เทศกาล 4) เครดิตชำระค่าสินค้า 90-120 วัน และ 5) มีสัญญาบอกเลิกธุรกิจฝ่ายเดียว
[2] พรบ.คนต่างด้าว พ.ศ.2542 ระบุว่าคนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง (ซึ่งถือเป็นอาชีพสงวนในบัญชีแนบท้าย 3) ได้หากลงทุนตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยต้องยื่นขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
[3] คณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จัดให้ร้านค้าส่งขนาดใหญ่บริการตนเอง (Cash & Carry) ได้แก่ Makro เป็นประเภทหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง แต่ในบทความฉบับนี้จะศึกษาเฉพาะธุรกิจค้าปลีก
[4] ศูนย์การค้า (Shopping center/Shopping mall) เป็นอาคารที่มีการขายสินค้าและบริการแบบขายปลีกอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่ขายขึ้นกับผู้เช่าพื้นที่หรือทำเลที่ศูนย์การค้าได้จัดสรรไว้ให้ มีการทำสัญญาเพื่อเก็บค่าเช่าพื้นที่ตามระยะเวลาที่กำหนด
[5] ปี 2564 กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ซื้อกิจการ Tesco Lotus และ Rebrand ร้านค้าทุก Format เป็น Lotus’s ยกเว้น Tesco Lotus Express เป็น Lotus’s go fresh
[6] ฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
[7] Omnichannel หมายถึง รูปแบบการตลาดและการขายที่เป็นออนไลน์ (เว็บไซต์, Social Media, E-commerce) และออฟไลน์ (หน้าร้านจริง) โดยข้อมูลของลูกค้าจากแต่ละช่องทางจะถูกรวมเก็บไว้ด้วยกันที่เดียวเพื่อให้ธุรกิจเห็นภาพรวมการซื้อ-ขาย เข้าใจลูกค้า สามารถอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้า/บริการและให้ความช่วยเหลือได้ครบวงจร
[8] O2O Marketing คือโมเดลธุรกิจแบบ Online to Offline เป็นการผสมผสานข้อดีของการขายออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อยกระดับการให้บริการ เพิ่มยอดขายและฐานลูกค้า
[9] ได้แก่ 1) ผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen) 2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner) 3) ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional) และ 4) ผู้ที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (Highly skilled professional)
[10] D2C หรือ Direct to Consumer คือ ช่องทางการขายออนไลน์ตรงถึงผู้บริโภค ทั้งผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน โดยไม่ผ่านคนกลาง
[11] C2C หรือ Consumer to Consumer คือ โมเดลธุรกิจ E-commerce ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถซื้อขายสินค้ากันได้โดยตรง