แนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรม ปี 2561-2563: ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป

ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป

ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป

แนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรม ปี 2561-2563: ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป

18 ตุลาคม 2561

อุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและแปรรูปของไทยในปี 2561-2563 มีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นตามตลาดส่งออกที่คาดว่าจะเติบโตเร่งขึ้นอานิสงส์จาก 1) ประเทศคู่ค้าทยอยยกเลิกมาตรการระงับนำเข้าไก่แช่แข็งจากไทยอย่างต่อเนื่อง 2) การขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง และ 3) พบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศจึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกไก่แช่แข็งและแปรรูปเพิ่มขึ้น
 

ข้อมูลพื้นฐาน

 

ผลผลิตไก่เนื้อของโลกมีปริมาณปีละ 85-90 ล้านตัน ประเทศผู้ผลิตหลัก คือ สหรัฐฯ บราซิล และจีน สัดส่วนการผลิตรวมกันประมาณ 50% ของผลผลิตทั่วโลก ผลผลิตไก่เนื้อในแต่ละประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่ใช้บริโภคในประเทศ การค้าไก่เนื้อในโลกจึงมีสัดส่วนเพียง 10-15% ของผลผลิตไก่เนื้อทั้งหมด โดยผลิตภัณฑ์ไก่ที่มีการค้าขายในตลาดโลกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1) ไก่แช่แข็ง ในลักษณะไก่สดทั้งตัว ไก่ชำแหละ และไก่สดหมักเกลือ และ 2) ไก่แปรรูป หรือไก่ปรุงสุก/ปรุงรสก่อนนำไปแช่เยือกแข็งเป็นอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปที่สำคัญ ได้แก่ ไก่ชุบแป้งทอด ไก่หมักซอส นักเก็ตไก่ สเต็กไก่
เป็นต้น


 

การค้าผลิตภัณฑ์ไก่ในตลาดโลกอยู่ในรูปของไก่แช่แข็ง คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 88% ในเชิงปริมาณ และ 75% ในเชิงมูลค่า ประเทศผู้ส่งออกหลัก คือ บราซิล ซึ่งส่งออกไก่ชำแหละแช่แข็ง สัดส่วน 31.7% ของปริมาณการส่งออกไก่แช่แข็งในตลาดโลก รองลงมา คือ สหรัฐฯ และ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเน้นส่งออกไก่ทั้งตัวแช่แข็ง (เป็นผลิตภัณฑ์ไก่ที่นิยมบริโภคในประเทศตะวันตก) มีสัดส่วน 13.8% และ 10.5% ตามลำดับ ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพียง 1.7% โดยไทยเน้นส่งออกไก่ชำแหละแช่แข็งเช่นเดียวกับบราซิล ส่วนการค้าไก่แปรรูปซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มในตลาดโลก มีสัดส่วนส่งออก 12% ในเชิงปริมาณ และ 25% ในเชิงมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ในตลาดโลก มีประเทศผู้ส่งออกหลัก คือ ไทย มีสัดส่วน 27.8% ของปริมาณการส่งออกไก่แปรรูปทั้งหมดในตลาดโลก รองลงมาได้แก่ จีน บราซิล เยอรมนี เนเธอร์แลนด์  มีสัดส่วน 12.2%, 9.6%, 8.7% และ 6.3% ตามลำดับ

ประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่ของโลกค่อนข้างกระจายตัว แต่ละประเทศมีส่วนแบ่งการนำเข้าในเชิงปริมาณไม่มากนัก โดยประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ (ข้อมูลจาก Trademap ในปี 2560) คือ ญี่ปุ่น สัดส่วนนำเข้า 7.1% ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่ทั่วโลก ฮ่องกง (6.0%) เม็กซิโก (5.4%) สหราชอาณาจักร (5.1%) ซาอุดิอาระเบีย (4.8%) เยอรมนี (4.3%) เนเธอร์แลนด์ (4.1%) แอฟริกาใต้ (3.5%) อิรัก (3.1%) จีน (3.0%) และ สหรัฐอาหรับเอมิเรต (2.9%)
 


 

สำหรับประเทศไทย เป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับ 10 ของโลก มีผลผลิตประมาณปีละ 2.0-2.1 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของผลผลิตไก่เนื้อทั่วโลก ขณะที่การบริโภคเนื้อไก่ของไทยมีปริมาณเฉลี่ยเพียงปีละ 1.2-1.3 ล้านตัน หรือประมาณ 60% ของผลผลิตไก่เนื้อทั้งหมดของไทย ส่วนใหญ่เป็นการบริโภคในรูปเนื้อไก่สดชำแหละ ขณะที่ผลผลิตไก่เนื้อส่วนเกินประมาณ 40% ของผลผลิตรวมในประเทศจะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมไก่แช่เข็งและแปรรูปซึ่งมีตลาดหลักเป็นตลาดส่งออก และบริโภคในประเทศบางส่วนโดยมีช่องทางจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่  
 

โครงสร้างอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย

 

อุตสาหกรรมไก่เนื้อในประเทศไทยในปัจจุบันถูกครองตลาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ 7 ราย ประกอบด้วย บจก.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร บจก.เบทาโกร บจก.สหฟาร์ม บจก.คาร์กิล บจก.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป บจก.จีเอฟพีที และ บจก.แหลมทองอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทใหญ่เหล่านี้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องครบวงจรตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มไก่เนื้อ (ทั้งที่เป็นฟาร์มของบริษัท และฟาร์มของเกษตรกรภายใต้พันธสัญญากับบริษัท หรือเรียกว่า Contract Farming) และโรงงานแปรรูป จึงสามารถบริหารต้นทุนได้ดี เกิดการประหยัดต่อขนาด และมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเพื่อส่งออก

ทั้งนี้ ฟาร์มไก่เนื้อของบริษัทรายใหญ่ มีผลผลิตไก่เนื้อคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของผลผลิตไก่เนื้อทั้งหมด ซึ่งผลผลิตในส่วนนี้นำไปเข้ากระบวนการชำแหละ แช่แข็ง และแปรรูปเพื่อส่งออก ส่วนผลผลิตไก่เนื้อจากฟาร์มเลี้ยงไก่ของเกษตรกรภายใต้พันธสัญญา (Contract Farming) กับบริษัทรายใหญ่ [1] มีผลผลิตสัดส่วน 40% ของผลผลิตไก่เนื้อทั้งหมด ส่วนใหญ่ใช้บริโภคในประเทศ ทั้งในภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรม ผู้บริโภคทั่วไป และบางส่วนถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม  ขณะที่ผลผลิตเนื้อไก่จากฟาร์มเลี้ยงไก่ของเกษตรกรรายย่อย มีสัดส่วนเพียง 10% ของผลผลิตไก่เนื้อทั้งหมด ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและแปรรูป โดยผลผลิตทั้งหมดส่งให้โรงชำแหละรายย่อยสำหรับบริโภคในประเทศ
 


โครงสร้างอุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและแปรรูปส่งออกของไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญนับจากปี 2547 ที่เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกรุนแรงในไทย [2] ผลจากความกังวลในความปลอดภัยด้านอาหาร (Food safety) ทำให้ประเทศคู่ค้าระงับการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยนับจากนั้น (การส่งออกไก่แช่แข็งมีสัดส่วนถึง 75% ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ทั้งหมดของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว) ผู้ประกอบการไทยจึงหันไปขยายการผลิตและส่งออกไก่แปรรูปหรือไก่ปรุงสุกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังคงเป็นที่ยอมรับจากคู่ค้า[3] ทำให้การส่งออกไก่แปรรูปของไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง และไก่แปรรูปกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักของอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน
 


 

สำหรับการส่งออกไก่แช่แข็งของไทยกลับมาส่งออกได้อีกครั้งหลังไทยปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในไทยคลี่คลาย และฟาร์มไก่เนื้อของไทยมีการพัฒนาเป็นระบบปิด (EVAP: Evaporative Air Cooling System)[4] โดยเฉพาะในฟาร์มของบริษัทรายใหญ่และฟาร์มที่เป็น Contract farming ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและไก่แปรรูป ทำให้ผู้บริโภคในตลาดโลกมีความเชื่อมั่นในการบริโภคไก่แช่แข็งของไทยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ในปี 2560 โครงสร้างการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยแบ่งเป็นไก่แปรรูปและไก่แช่แข็ง คิดเป็นสัดส่วน 70:30 ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่สำคัญของไทยอันดับหนึ่ง คือ ญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยทั้งในการส่งออกไก่แช่แข็งและไก่แปรรูป สัดส่วน 63% และ 56% ในเชิงมูลค่าตามลำดับ รองลงมาคือ EU ส่วนใหญ่ไทยส่งออกไก่แปรรูป (EU เป็นตลาดส่งออกไปแปรรูปที่สำคัญของไทย มีสัดส่วน 32% ของการส่งออกไก่แปรรูปของไทย) ส่วนตลาดส่งออกอื่นๆ ประกอบด้วย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ลาว มาเลเซีย เป็นต้น โดยประเทศคู่แข่งหลักในตลาดส่งออกไก่แช่แข็งและแปรรูปของไทยคือ บราซิลที่ขยายการส่งออกมายังเอเชียเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 4)
 




 

สถานการณ์ที่ผ่านมา

 

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและแปรรูปทั่วโลกประสบปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกมีผลให้ผลผลิตไก่เสียหายเป็นระยะๆ (ภาพที่ 5) ขณะที่ไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในไทยมาตั้งแต่ปี 2550 จึงเป็นโอกาสให้ไทยขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ได้อย่างต่อเนื่อง การส่งออกไก่แช่แข็งของไทยกลับมาขยายตัวชัดเจนนับจากปี 2556 หลังคู่ค้าทยอยยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้าไก่แช่แข็งจากไทย มีผลให้ปริมาณการส่งออกไก่แช่แข็งของไทยกลับมาเติบโตในอัตราสูงเฉลี่ย 28.7% ต่อปีในช่วงปี 2557-2559 ขณะที่การส่งออกไก่แปรรูปมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยถึง 7.2% ต่อปีในช่วงดังกล่าว โดยตลาดส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวสูง คือ ญี่ปุ่นและอาเซียน ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก เนื่องจากให้โควตานำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่ทุกประเภทจากไทยเพียง 2.52 แสนตันต่อปี 5/ (เทียบกับบราซิลได้โควตาจากสหภาพยุโรปสูงถึง 5 แสนตันต่อปี) นอกจากนี้ ตลาดสหภาพยุโรปยังเข้มงวดในการสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์และให้ความสำคัญกับมาตรฐานแรงงานในกระบวนการผลิตสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปมากขึ้น ทำให้ต้นทุนในการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดนี้สูงขึ้น

ภาวะตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่องข้างต้น ประกอบกับความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ไก่ในประเทศในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นมากตามการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด และการบริโภคผลิตภัณฑ์ไก่ของภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและแปรรูปของไทยเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง และยังมีผลให้ธุรกิจฟาร์มไก่เนื้อที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและแปรรูปขยายตัวดีตามไปด้วย
 



 

ในปี 2560 อุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและแปรรูปของไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยความต้องการบริโภคในประเทศขยายตัวประมาณ 2% YoY ตามการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด ส่วนการส่งออกเติบโตดี อานิสงส์จากความต้องการบริโภคไก่เนื้อทั่วโลกที่เติบโตต่อเนื่อง ประเทศคู่ค้าทยอยยกเลิกมาตรการระงับการนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย ประกอบกับการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ อาทิ จีน เมียนมา เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน แอฟริกา รัสเซีย และสหรัฐฯ ทำให้มีความต้องการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อของไทยขยายตัว 11.0% YoY ในเชิงปริมาณ และ 18.4% YoY ในเชิงมูลค่า โดยสถานการณ์การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่แต่ละประเภทของไทย มีรายละเอียดดังนี้
 

  • ไก่แช่แข็ง: มีปริมาณส่งออก 2.25 แสนตัน ขยายตัว 5.6% YoY มูลค่าส่งออก 597.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 18.9% YoY โดยเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นมากในตลาดญี่ปุ่น (ขยายตัว 27.5% YoY ในเชิงมูลค่า) และ ฮ่องกง (ขยายตัว 40.8% YoY) ซึ่งนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีนที่มีปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก อีกทั้งพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในอีกหลายประเทศในเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ทำให้มีความต้องการนำเข้าไก่เพื่อทดแทนผลผลิตในแต่ละประเทศที่ลดลงจากการทำลายไก่ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกจำนวนมาก มีผลให้ราคาส่งออกไก่แช่แข็งปรับเพิ่มขึ้นถึง 13.1% YoY
  • ไก่แปรรูป: มีปริมาณส่งออก 5.32 แสนตัน เติบโต 11.3% YoY มูลค่าส่งออก 2,250.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3.0% YoY โดยการส่งออกเติบโตดีในตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และ สิงคโปร์ (ขยายตัว 15.1% YoY, 101.6% YoY,  17.7% YoY และ 9.9% YoY ในเชิงมูลค่า ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ผลผลิตไก่ที่เพิ่มขึ้นมากในบราซิลและมีการขยายการส่งออกไก่แปรรูปในตลาดเอเชียมากขึ้น ทำให้การแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกรุนแรง และราคาไก่แปรรูปมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่อง โดยราคาส่งออกไก่แปรรูปเฉลี่ยในปี 2560 ลดลง 1.0% YoY

เมื่อพิจารณาผลประกอบการของอุตสาหกรรมไก่สดแช่แข็งและแปรรูปในปี 2560 พบว่าอัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง (ราคาไก่เนื้อลดลง 3.4% YoY - ภาพที่ 8)


 

แนวโน้มอุตสาหกรรม

 

คาดว่าภาวะอุตสาหกรรมไก่แช่แข็งและแปรรูปของไทยในระยะ 1-3 ปีข้างหน้าจะขยายตัวดีต่อเนื่องตามความต้องการบริโภคที่ขยายตัว คาดว่าตลาดในประเทศจะขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อนเฉลี่ย 2-3% ต่อปี โดยความต้องการบริโภคของภาคครัวเรือนจะขยายตัว 1-2% ต่อปี และการบริโภคในธุรกิจฟาสต์ฟู้ดจะขยายตัว 3-4% ต่อปี ตามความนิยมของผู้บริโภคและแผนการลงทุนขยายสาขาร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดประเภทไก่ ขณะที่คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่อง แต่การเปรียบเทียบกับฐานสูงในปี 2560 (การกลับมานำเข้าหลังประเทศคู่ค้าหลัก อาทิ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ยกเลิกมาตรการระงับนำเข้าไก่แช่แข็งจากไทย) อาจทำให้การส่งออกในช่วงปี 2561-2563 ขยายตัวในอัตราชะลอลง เฉลี่ยที่ 5-8% ต่อปี ปัจจัยหนุนการขยายตัวมาจาก

  • ความต้องการบริโภคเนื้อไก่ในตลาดโลกที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 1.5-2% (ข้อมูลจาก OECD-FAO Agricultural Outlook 2017-2026) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่น  (ภาพที่ 9)



 

  • ยังมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกต่อเนื่องในหลายประเทศ ขณะที่ไม่พบการกลับมาระบาดในไทย เนื่องจากผลผลิตไก่ของไทยสัดส่วนถึง 90% มาจากฟาร์มของผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีระบบป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่ดี และกระบวนการแปรรูปไก่ของไทยได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ จึงเป็นโอกาสในการขยายการส่งออกของไทย ทั้งนี้ จากรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (United States Department of Agriculture: USDA) ปัจจุบันยังพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้เป็นเป็นประเทศผู้นำเข้าไก่สุทธิ ทำให้มีแนวโน้มต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น
  • การเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ ของไทย อาทิ ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมทั้งจีนที่คาดว่าจะกลับมานำเข้าไก่แช่แข็งจากไทยมากขึ้น หลังผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยทยอยได้รับการรับรองจากสำนักงานการขึ้นทะเบียนหรือรับรองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Certification and Accreditation Administration of the People's Republic of China: CNCA) ซึ่งปัจจุบันมีการรับรองแล้ว 7 โรงงาน (ข้อมูล ณ มีนาคม 2561)
  • การส่งออกไก่แปรรูปไปญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากจากกระแสรักษ์สุขภาพ [6] ประกอบกับมีการขยายการลงทุนโรงงานแปรรูปไก่เนื้อของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในไทยเพื่อผลิตเนื้อไก่แปรรูปป้อนให้กับธุรกิจอาหารในญี่ปุ่น


 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาจมีความเสี่ยงจากต้นทุนการผลิต (ราคาไก่เนื้อ) ที่เพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งกากถั่วเหลืองและข้าวโพด ประกอบกับมีการต่อรองราคาของประเทศคู่ค้าเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันในตลาดโลกรุนแรงหลังหลายประเทศมีผลผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้นและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไก่เพื่อส่งออก อาทิ บราซิล จีน ยูเครน เวียดนาม แนวโน้มเช่นนี้อาจมีผลให้อัตรากำไรของอุตสาหกรรมชะลอลงบ้าง แต่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี




 

ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ไทยอาจเสียเปรียบในการแข่งขันส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ เนื่องจากต้นทุนแรงงานและปัจจัยการผลิตต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่บราซิลมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าไทยค่อนข้างมาก ทั้งจากขนาดการผลิตที่ใหญ่กว่าและระบบการผลิตสมัยใหม่ (ไม่เน้นใช้แรงงานคน) ต้นทุนต่อหน่วยจึงต่ำกว่าไทย นอกจากนี้ อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยยังมีความเสี่ยงจากพึ่งพาการนำเข้าพันธุ์ไก่จากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่นำเข้าจากยุโรปและสหรัฐฯ) ดังนั้น หากเกิดโรคระบาดในแหล่งผลิตพันธุ์ไก่เป็นระยะเวลานานอาจมีผลให้ไทยประสบปัญหาในการขยายการผลิตไก่เนื้อในบางช่วงเวลา

[1] ฟาร์มเลี้ยงไก่ของเกษตรกรภายใต้พันธสัญญา (Contract Farming) กับบริษัทรายใหญ่จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงไก่และมีการทำสัญญาประกันราคาและปริมาณรับซื้อผลผลิตที่แน่นอน
[2] โรคไข้หวัดนกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่พบในสัตว์ปีก ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง อาทิ H5N1 และ H7N1 ที่มีการแพร่ระบาดจากสัตว์ปีกสู่คนได้จากการสัมผัสสัตว์ป่วย
[3] ตามหลักวิชาการ เชื้อไวรัสไข้หวัดนกไม่สามารถทนต่อความร้อนที่สูงเกิน 70 องศาเซลเซียสได้ ดังนั้นการปรุงสุกด้วยการทอด ต้ม นึ่ง อบ หรือย่าง จะสามารถฆ่าเชื้อได้ จึงปลอดภัยในการบริโภค (ที่มา: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข)
[4] ฟาร์มระบบปิด หรือ EVAP คือโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ที่มีระบบทำความเย็นควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้อยู่ในระดับเหมาะสม จึงช่วยลดอัตราการเกิดโรคและอัตราการตาย นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มจำนวนการเลี้ยงสัตว์ต่อพื้นที่ เพิ่มน้ำหนักต่อตัว และป้องกันสัตว์]แมลงที่เป็นพาหะนำโรคอื่นๆ
[5] สหภาพยุโรปให้โควตานำเข้าไก่จากไทย แบ่งเป็น (1) ไก่แปรรูป 1.6 แสนตัน เก็บภาษีนำเข้าที่ 8% ของมูลค่าการนำเข้า และ 1,024 ยูโรต่อตัน ในส่วนที่เกินโควตา และ (2) ไก่หมักเกลือแช่แข็ง 92,610 ตัน เก็บภาษีนำเข้าที่ 15.4% ของมูลค่าการนำเข้า และ 1,300 ยูโรต่อตัน ในส่วนที่เกินโควตา โดยในปี 2560 ไทยส่งออกไก่แปรรูปไปตลาดสหภาพยุโรปเกินโควตา 5 แสนตัน จึงถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสูงในส่วนที่เกินโควตาในอัตราสูง
[6] จากการศึกษาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประจำมลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา พบว่า การบริโภคเนื้อไก่จะทำให้สุขภาพแข็งแรงและอายุยืนกว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่น และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งและโรคหัวใจลงได้ เนื่องจากเนื้อไก่มีไขมันคอเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อแดง (อาทิ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ) อีกทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ต่างๆ (เช่น เหล็ก สังกะสี) และกรดอะมิโนลิวซีนที่จำเป็นต่อร่างกาย

 

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา