แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2568-2570: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

เครื่องดื่ม

เครื่องดื่ม

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมปี 2568-2570: อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

07 พฤศจิกายน 2567

EXECUTIVE SUMMARY


ปริมาณการผลิตเครื่องดื่มมีแนวโน้มขยายตัวฉลี่ย 3.5-4.5% ต่อปี ในช่วงปี 2568-2570 โดยยอดขายในประเทศจะขยายตัว 3.5-4.5% ต่อปี จาก 1) แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของกิจกรรมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะเอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจสันทนาการ 2) สภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นทุกปี 3) การเติบโตของเมือง ร้านสะดวกซื้อ และแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ที่เอื้อต่อการขยายช่องทางการจำหน่าย และ 4) การพัฒนาสินค้าหลากหลายเพื่อสุขภาพ โดยแรงขับเคลื่อนการเติบโตส่วนใหญ่จะมาจากกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  ส่วนปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต 2.0-3.0% ต่อปี จากการค้าตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การเข้าไปลงทุนของบริษัทของผู้ผลิตไทยในประเทศกลุ่ม CLMV อาจจำกัดการเติบโตของการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 

มุมมองวิจัยกรุงศรี


แนวโน้มผลประกอบการผู้ผลิตเครื่องดื่มโดยรวมของไทยในปี 2568-2570 มีทิศทางฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามสภาวะเศรษฐกิจ ภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ทยอยปรับดีขึ้น แต่อาจเผชิญต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนที่จะรุนแรงขึ้น

  • ผู้ผลิตน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด: คาดว่ารายรับจะเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยว นอกจากนี้พฤติกรรมการดื่มของผู้บริโภคที่รักสุขภาพจึงคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีมาตรฐานการผลิตสูงได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ ความต้องการน้ำสะอาดจากประเทศ CLMV ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักยังมีทิศทางขยายตัวได้ดี

  • ผู้ผลิตน้ำอัดลม: อุณหภูมิที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นทุกปีทำให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคเครื่องดื่มที่ทำให้รู้สึกสดชื่นมากขึ้น ท่ามกลางกระแสรักษ์สุขภาพ ผู้ผลิตหลายรายได้ปรับตัวหันไปใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สำหรับกลุ่มผู้ใส่ใจสุขภาพ ช่วยหนุนให้รายได้มีแนวโน้มปรับดีขึ้น

  • ผู้ผลิตเบียร์: รายได้ทยอยฟื้นตัวโดยมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์และแคลอรี่ต่ำสำหรับผู้บริโภคที่กังวลเรื่องสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นอาจกดดันความสามารถในการทำกำไร 

  • ผู้ผลิตสุรา: ปริมาณการบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวได้จำกัด จากความกังวลด้านสุขภาพ อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดที่มีเรื่องราวเบื้องหลังและมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ จะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและมีศักยภาพในการเติบโต


ข้อมูลพื้นฐาน


อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตในประเทศสัดส่วน 98.6% ของปริมาณเครื่องดื่มที่บริโภคในประเทศทั้งหมด ส่วนที่เหลือมาจากการนำเข้า (สัดส่วน 1.4%) ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสัดส่วน 58% ในเชิงปริมาณ และ 80% ในเชิงมูลค่า โดยตลาดในประเทศเป็นตลาดหลักสัดส่วน 83.7%1/ ของปริมาณจำหน่ายโดยรวม ในปี 2566 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มในไทยมีโรงงานที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 409 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลางเป็นหลัก โดยจังหวัดนครปฐมมีการจัดตั้งโรงงานเครื่องดื่มมากที่สุดจำนวน 40 โรงงาน รองลงมาได้แก่ ชลบุรี (30 โรงงาน) ปทุมธานี (29 โรงงาน) พระนครศรีอยุธยา (22 โรงงาน) สมุทรสาคร (21 โรงงาน) และกรุงเทพฯ (16 โรงงาน) จำนวนโรงงานเครื่องดื่มทั้งหมดแบ่งเป็น 1) โรงงานเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 349 แห่ง  คิดเป็น 85% ของจำนวนโรงงานผลิตเครื่องดื่มทั้งหมด และ 2) โรงงานผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 60 แห่ง คิดเป็น 15% ของจำนวนโรงงานผลิตเครื่องดื่มทั้งหมด

ในปี 2566 ปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศของไทยอยู่ที่ 13,022.9 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 25,314.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ2/ แบ่งเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คิดเป็นสัดส่วน 77:23 ในเชิงปริมาณ และ 36:64 ในเชิงมูลค่า (รูปที่ 1) มีรายละเอียดดังนี้

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศ 10,057 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 9,045.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์หลักเป็นน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดซึ่งมียอดจำหน่ายรวมกัน 6,182.7 ล้านลิตร คิดเป็นสัดส่วนรวมกัน 61.5% ของปริมาณจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ น้ำอัดลมและโซดา (24.0%) ชาพร้อมดื่ม (4.2%) น้ำผลไม้ (3.4%) เครื่องดื่มชูกำลัง (2.9%) และเครื่องดื่มอื่นๆ (4.0%) ตามลำดับ

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศ 2,965.9 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 16,268.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์หลักเป็นเบียร์ซึ่งมียอดจำหน่าย 2,181.6 ล้านลิตร คิดเป็น 73.5% ของปริมาณจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สุรา (24.5%) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม (1.0%) ไวน์ (0.9%)  และน้ำผลไม้ที่ผ่านกระบวนการหมักหรือบ่มกับยีสต์ (0.1%) ตามลำดับ


 

​ปริมาณการส่งออกเครื่องดื่มของไทยอยู่ที่ 2,540.6 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 2,781.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 (รูปที่ 2) ประเทศกัมพูชาเป็นคู่ค้าหลักในการส่งออกเครื่องดื่มของไทย มีสัดส่วน 18.4% ในเชิงปริมาณ ตามด้วย เวียดนาม (13.3%) เมียนมา (12.5%) จีน (11.2%) และสหรัฐฯ (10.9%) โดยผลิตภัณฑ์ส่งออกแบ่งเป็น 1) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 93.3% ในเชิงปริมาณ และ 84.6% ในเชิงมูลค่า ประเทศกัมพูชาเป็นคู่ค้าหลัก มีสัดส่วน 19.0% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ เวียดนาม (14.3%) จีน (11.9%) สหรัฐฯ (11.5%) และเมียนมา (10%) และ 2) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 6.7% ในเชิงปริมาณ และ 15.4% ในเชิงมูลค่า ประเทศเมียนมาเป็นคู่ค้าหลัก มีสัดส่วน 47.3% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด รองลงมา ได้แก่  สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (14.4%) กัมพูชา (9.7%) ญี่ปุ่น (5.5%) อิสราเอล (2.6%)


 

สถานการณ์ที่ผ่านมา


ในปี 2566 ปริมาณการผลิตเครื่องดื่มของไทยมีทิศทางทรงตัวโดยปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ก่อนขยายตัวเร่งขึ้น 4.3% YoY ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 และคาดว่าการผลิตโดยรวมทั้งปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.0-5.0% (รูปที่ 4) โดยจำแนกรายผลิตภัณฑ์ได้ดังนี้


 

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ น้ำดื่มบริสุทธิ์และน้ำแร่บรรจุขวด น้ำอัดลมและโซดา และเครื่องดื่มให้พลังงานรวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ โดยปริมาณการผลิตในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1.7% จากอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ลดลงตามราคาบรรจุภัณฑ์ (รูปที่ 5) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 การผลิตขยายตัว 3.8% YoY เป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการกลับมาใช้จ่ายและทำกิจกรรมนอกบ้านตามปกติมากขึ้นของผู้บริโภค รวมถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่า ปริมาณการผลิตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์โดยรวมของไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% ในปี 2567

    • น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด: ปี 2566 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 1.9% และยังคงเติบโตต่อเนื่อง 1.8% YoY ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 โดยคาดว่าการผลิตน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดทั้งปี 2567 จะสามารถขยายตัวได้ 1.5-2.5% (รูปที่ 6)

    • น้ำอัดลมและโซดา: ปี 2566 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 4.8% และขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.8% YoY ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 โดยคาดว่าการผลิตน้ำอัดลมและโซดาทั้งปี 2567 จะขยายตัวได้ 5.5-6.5% (รูปที่ 7)


  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ เบียร์ และสุรา โดยในปี 2566 ปริมาณการผลิตหดตัว -4.9% ก่อนที่กลับมาขยายตัว 6.2% YoY ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 โดยคาดว่าทั้งปี 2567 ปริมาณการผลิตจะขยายตัวได้ 6.0-7.0% แบ่งเป็น  

    • เบียร์: ปี 2566 ปริมาณการผลิตหดตัว -6.8% จากสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตเพื่อเร่งระบายสินค้าคงคลังที่ยังเหลืออยู่แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มมีทิศทางฟื้นตัว นอกจากนี้ยังเป็นผลจากต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาบรรจุภัณฑ์ (กระป๋องโลหะและขวดแก้ว) กดดันให้ผู้ผลิตทยอยปรับราคาสินค้าขึ้น 1.0-3.0% หลังจากที่ได้ชะลอการปรับราคาในปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตใน 9 เดือนแรกของปี 2567 กลับมาขยายตัว 6.9% YoY (รูปที่ 8)  เพื่อสะสมสต๊อก (Restocking) รองรับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่เน้นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากที่ผู้ผลิตได้มีการระบายสินค้าคงคลังจนใกล้สู่ระดับปกติ (รูปที่ 9) โดยทั้งปี 2567 คาดว่าปริมาณการผลิตเบียร์มีแนวโน้มขยายตัว 7.0-8.0%

    • สุรา: ปี 2566 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 2.9% ตามทิศทางการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการกลับมาให้บริการของธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจสันทนาการมากขึ้น แม้สินค้าคงคลังจะยังอยู่ในระดับสูง แต่ผู้ผลิตยังไม่จำเป็นต้องลดการผลิตเพื่อเร่งระบายสินค้า เนื่องจากสุรามีระยะเวลาของการเก็บรักษาได้ยาวนานกว่าเบียร์ (รูปที่ 11) โดยปริมาณการผลิตยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 3.5% YoY ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (รูปที่ 10) ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมในภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว และคาดว่าการผลิตสุราในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 3.5-4.5%




ปี 2566 ปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโดยรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้น 7.0%3/ จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ตามทิศทางภาวะเศรษฐกิจ การทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติของผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ผับ และบาร์กลับมาฟื้นตัว สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4.1% YoY จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกิจการรมสันทนาการที่ฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่า ปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มในประเทศทั้งปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 4.0-5.0% โดยสถานการณ์ความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศแต่ละประเภท จำแนกได้ ดังนี้

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ในปี 2566 ปริมาณจำหน่ายขยายตัว 7.0% และยังขยายตัวต่อเนื่อง 3.5% YoY ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 จากแรงหนุนของอากาศที่ร้อนกว่าปกติ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ผู้บริโภคต้องการเครื่องดื่มดับกระหายมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น น้ำดื่มหรือน้ำแร่ที่ผสมวิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงน้ำอัดลมที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญด้านสุขภาพและเน้นบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มากขึ้น โดยคาดว่าปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในปี 2567 จะเติบโต 3.5-4.5% โดยผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มนี้แบ่งเป็น  

    • น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด: ปี 2566 ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้น 10.5% โดยเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 50% ตามปริมาณจำหน่ายสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ สิงห์ คริสตัล และเนสท์เล่ และสำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณจำหน่ายยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 2.8% YoY (รูปที่ 12) โดยทั้งปี 2567 ปริมาณการจำหน่ายน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 3.0-4.0%

    • น้ำอัดลมและโซดา: ปี 2566 ปริมาณจำหน่ายขยายตัวเล็กน้อย 0.9% จากผลกระทบของภาษีน้ำตาลที่เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน  โดยเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 70% ตามปริมาณจำหน่ายสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ โค้ก เป๊ปซี่ และ แฟนต้า อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณจำหน่ายเติบโต 3.8% YoY โดยทั้งปี 2567 ปริมาณการจำหน่ายน้ำอัดลมและโซดามีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น 4.0-5.0%


  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ในปี 2566 ปริมาณจำหน่ายในประเทศขยายตัว 6.8% จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการกลับมาจัดคอนเสิร์ตและกิจกรรมสังคมต่างๆ ทำให้ผู้คนออกมาสังสรรค์กันมากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ผับ บาร์ และสถานบันเทิง โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวสำคัญอาทิ กรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณการจำหน่ายในประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง 6.5% YoY นอกจากเป็นผลของปัจจัยหนุนต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าแล้ว ยังมีปัจจัยบวกจากกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่อนุญาตให้สถานบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรมทั่วประเทศและสถานบริการในพื้นที่นำร่อง 5 พื้นที่ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ และเกาะสมุย สามารถเปิดบริการได้ถึง 04.00 น. (ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2566) รวมถึงเทศกาลหยุดยาวช่วงสงกรานต์ในปี 2567 ที่กลับมาคึกคักที่สุดนับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ทำให้มีอุปสงค์จากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติจำนวนมากที่ช่วยกระตุ้นการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น จึงคาดว่า ปริมาณจำหน่ายในประเทศของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมทั้งปี 2567 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 6.5-7.5% โดยผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มนี้แบ่งเป็น   

    • เบียร์: ปี 2566 ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้น 8.2% และสำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณการจำหน่ายขยายตัวต่อเนื่อง 6.0% YoY โดยคาดว่าปริมาณจำหน่ายเบียร์ทั้งปี 2567 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 6.0-7.0% (รูปที่ 14) เนื่องจากผู้ผลิตเบียร์มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมากขึ้น อาทิ เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์, เบียร์กลิ่นผลไม้, เบียร์คราฟต์, และเบียร์แคลอรี่ต่ำ โดยเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกือบ 90% ตามปริมาณจำหน่ายสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ลีโอ ช้าง และสิงห์ ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้ามาของผู้ผลิตรายใหม่อย่าง คาราบาว

    • สุรา: ปี 2566 ปริมาณจำหน่ายเพิ่มขึ้น 2.6% และสำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณการจำหน่ายยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 8.4% YoY โดยคาดว่าปริมาณการจำหน่ายสุราในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ 8.5-9.5% (รูปที่ 15) แรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และธุรกิจสถานบันเทิง นอกจากนี้ ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจและนิยมสุราที่เป็นผลิตภัณฑ์แฮนด์เมดท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติที่โดดเด่น และมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่เบื้องหลังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าส่วนแบ่งของตลาดสุราประเภทนี้จะยังคงมีสัดส่วนที่น้อย โดยเครื่องหมายการค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 70% ตามปริมาณจำหน่ายสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่  ได้แก่ รวงข้าว เบลนด์ 285 และหงส์ทอง



 

ในปี 2566 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 2.5 พันล้านลิตร (-1.5%) ขณะที่มูลค่าส่งออกอยู่ที่ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (+2.0%) (รูปที่ 16) โดยปริมาณการส่งออกที่หดตัวส่วนใหญ่มาจากน้ำอัดลมและโซดา (-11.9%) และ เบียร์ (-4.8%) สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณส่งออกขยายตัว 1.6% YoY แรงหนุนจากภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อาทิ เวียดนาม ลาว ที่เริ่มกระเตื้องขึ้น ส่วนมูลค่าส่งออกขยายตัว 8.8% YoY ตามราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่สูงขึ้น คาดว่า ทั้งปี 2567 ปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ 1.0-2.0% โดยจำแนกรายผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักได้ดังนี้


 

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ในปี 2566 ปริมาณการส่งออกหดตัว -1.3% ขณะที่มูลค่าการส่งออกขยายตัว +1.6% โดยปริมาณการส่งออกที่หดตัวส่วนใหญ่มาจากการลดลงของการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมและโซดาไปยังตลาดกัมพูชาและ สปป. ลาว ซึ่งมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น อีกทั้งกำลังซื้อสำหรับกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่จำเป็นยังฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี การส่งออกน้ำผลไม้ไปจีนมีแนวโน้มเติบโตได้ดี สะท้อนจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวถึง 115.1% ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดจีนที่หันมานิยมเพิ่มขึ้น สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณส่งออกขยายตัว 1.8% YoY ส่วนมูลค่าส่งออกขยายตัว 11.7% YoY โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะยังคงได้แรงหนุนจากน้ำผลไม้ที่ส่งออกไปจีน แม้ว่าปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มให้พลังงาน น้ำดื่ม และน้ำอัดลมโดยรวมอาจหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจของคู่ค้ายังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ทำให้คาดว่า ปริมาณส่งออกเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ทั้งปี 2567 คาดว่าจะเติบโต 1.5-2.5% แบ่งเป็น  

    • น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวด: ปี 2566 การส่งออกเพิ่มขึ้น 1.1% ในเชิงปริมาณ และ 10.5% ในเชิงมูลค่า จากการขยายตัวทั้งในตลาดลาว (+49.6%) และจีน (+13.2%) เป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 44% ของปริมาณส่งออกน้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดของไทย สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณการส่งออกหดตัว -3.5% YoY แต่มูลค่าส่งออกขยายตัว 12.9% YoY (รูปที่ 17) โดยปริมาณการส่งออกหดตัวจากลาว (-35.5%) กัมพูชา (-5.8%) และ เมียนมา (-33.1%) ตามลำดับ จากการเร่งส่งออกไปมากในช่วงปี 2565-2566 รวมถึงภาวะไม่สงบทางการเมืองในตลาดเมียนมา ในขณะที่มูลค่าส่งออกที่ขยายตัวได้ ส่วนใหญ่มาจากตลาดจีน (+23.0%) ซึ่งผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดที่นำเข้าจากไทย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าตลาดประเทศเพื่อนบ้านน่าจะเริ่มกระเตื้องขึ้นจากการเริ่มสะสมสต๊อกในช่วงเทศกาลท้ายปี ส่งผลให้ทั้งปี 2567 คาดว่าปริมาณส่งออกจะหดตัว -2.5% ถึง -3.5%

    • น้ำอัดลมและโซดา: ปี 2566 การส่งออกหดตัว -11.9% ในเชิงปริมาณ และ -7.2% ในเชิงมูลค่า ส่วนใหญ่มาจากการหดตัวของตลาดสปป.ลาว ซึ่งมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลง -30.5% และ -29.8% ตามลำดับ โดยคาดว่าประชาชนหันไปนิยมดื่มน้ำบริสุทธิ์ซึ่งราคาไม่สูงมากและเป็นสินค้าจำเป็น ทดแทนสินค้าฟุ่มเฟื่อยอย่างน้ำอัดลมที่มีราคาสูงขึ้น ท่ามกลางค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง และต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นจากเงินกีบอ่อนค่า สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณส่งออกยังคงหดตัว -24.9% YoY จากการเร่งส่งออกไปมากในปีก่อนหน้าและปัจจัยเชิงสุขภาพที่ยังคงกดดันให้ผู้บริโภคหันไปนิยมน้ำดื่มบริสุทธิ์ที่จำเป็นมากขึ้นแทน ขณะที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 12.3% YoY ตามแรงกดดันด้านต้นทุนที่หนุนให้ราคาปรับเพิ่มต่อเนื่อง (รูปที่ 18) โดยทั้งปี 2567 คาดว่าปริมาณส่งออกจะลดลง -21.0% ถึง -22.0%



 

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ในปี 2566 การส่งออกหดตัว -5.2% ในเชิงปริมาณ แต่ขยายตัว 4.3% ในเชิงมูลค่า โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ปริมาณการส่งออกยังคงหดตัว -1.3% YoY ส่วนมูลค่าส่งออกหดตัว -7.3% YoY  อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าปริมาณส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจได้รับอนิสงส์จากการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์เบียร์ในตลาดใหม่ๆ แม้ว่าปริมาณส่งออกสุรามีทิศทางหดตัวจากการระบายสต๊อกของผู้นำเข้า ทำให้คาดว่า ทั้งปี 2567 ปริมาณส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยจะทรงตัวหรือขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.0%-1.0% แบ่งเป็น  

    • เบียร์: ปี 2566 การส่งออกลดลง -4.8% ในเชิงปริมาณ แต่ขยายตัว 7.5% ในเชิงมูลค่า โดยปริมาณการส่งออกที่หดตัวส่วนใหญ่มาจากประเทศเมียนมา (-10.9%) ซึ่งเป็นตลาดหลักคิดเป็นสัดส่วนถึง 47.3 % ของปริมาณการส่งออกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด จากการที่รัฐบาลเมียนมาเข้มงวดการนำเข้าสินค้าต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่สามารถผลิตได้ในประเทศเอง รวมถึงสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ สำหรับ 9 เดือนแรกปี 2567 การส่งออกขยายตัว 3.5% YoY ในเชิงปริมาณ และ 2.6% YoY ในเชิงมูลค่า (รูปที่ 19) โดยการขยายตัวส่วนใหญ่มาจากตลาดใหม่ๆ ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (+19.7% YoY) ซึ่งรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมฟื้นตัวเต็มที่มากขึ้น  โดยทั้งปี 2567 คาดว่าปริมาณส่งออกจะขยายตัว 3.5-4.5%

    • สุรา: ปี 2566 การส่งออกขยายตัว 1.5% ในเชิงปริมาณ และ 6.9% ในเชิงมูลค่า โดยปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวมาจากตลาดเกาหลีใต้ (+714.0%) ซึ่งคาดว่าเป็นการเร่งนำเข้าเพื่อสต๊อกสินค้า ส่วนมูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจาก จีน (+211.0%), กัมพูชา (+276.7%), อินเดีย (+84.0%), มาเก๊า (+2,462.0%) และ รัสเซีย (+328.0%) จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อกระตุ้นความสนใจในตลาดส่งออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าระดับพรีเมียมที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง อย่างไรก็ตาม การส่งออกหดตัว -8.6% YoY ในเชิงปริมาณ และ -10.6% YoY ในเชิงมูลค่า ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 (รูปที่ 20) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบายสต๊อกที่มีการเร่งนำเข้าในปีก่อน ทำให้คาดว่า ทั้งปี 2567 ปริมาณส่งออกจะปรับลดลง -7.5% ถึง -8.5%



 

​แนวโน้มอุตสาหกรรม

 

ในช่วงปี 2568-2570 ปริมาณการผลิตเครื่องดื่มโดยรวมของไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.5-4.5% ต่อปี แรงหนุนจาก 1) แนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ และ 2) สินค้าคงคลังที่ลดลงหลังการเร่งระบายสต๊อกในช่วงที่ผ่านมา โดยเริ่มเข้าสู่การสะสมสินค้ารอบใหม่เพื่อรองรับทิศทางการฟื้นตัวต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ 3) การพัฒนาสินค้าหลากหลายเพื่อสุขภาพ พร้อมกลยุทธ์การทำตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกดดันการเติบโต ได้แก่ 1) ต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีทิศทางผันผวนมากขึ้นตามสภาพอากาศที่แปรปรวนจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน และ 2) ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่อาจปรับสูงขึ้นจากการหันไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ปริมาณการผลิตในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 4.0-5.0% ต่อปี โดยแนวโน้มของผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 1) น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดจะขยายตัว 4.0-5.0% ต่อปี และ 2) น้ำอัดลมและโซดาจะขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี ปัจจัยหนุนส่วนใหญ่มาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ (Demand Driven) โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกิจกรรมภายในประเทศที่จะขยายตัวมากขึ้น รวมถึงการออกมาทำกิจกรรมภายนอกเต็มที่ของผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้หนุนให้ผู้ผลิตมีแนวโน้มขยายกำลังการผลิตและเพิ่มการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงการนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เน้นด้านสุขภาพ

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ปริมาณการผลิตในประเทศโดยรวมคาดว่าจะเติบโตในอัตราต่ำที่ 1.0-2.0% ต่อปี โดยทั้งเบียร์ และสุรา มีแนวโน้มเติบโตในอัตราดังกล่าวเช่นกัน แรงหนุนการเติบโตมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางสังคมในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าพรีเมียมและคราฟต์ นอกจากนี้ นวัตกรรมด้านรสชาติและส่วนผสมใหม่ๆ จะช่วยขยายช่องทางตลาดครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอาจต้องปรับตัวต่อกฎระเบียบและภาษีที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงข้อจำกัดด้านอุปทานจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ เช่น อ้อยและข้าว ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน นอกจากนี้ การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นอาจเป็นอีกปัจจัยที่กดดันการผลิต


     

แนวโน้มปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มในประเทศ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5-4.5% ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นในแต่ละปีทำให้ความต้องการเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความสดชื่นยังคงมีทิศทางปรับสูงขึ้น 2) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ช่วยหนุนการเติบโตของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ผับ บาร์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง 3) การเติบโตของเมืองและการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และ 4) การเพิ่มขึ้นของช่องทางการจำหน่ายออนไลน์และบริการเดลิเวอรี่ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคมีความสะดวกในการซื้อเครื่องดื่มมากขึ้น (เฉพาะเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์)

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ปริมาณการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว 4.0-5.0% ต่อปี โดยแนวโน้มของผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 1) น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดจะขยายตัว 4.0-5.0% ต่อปี จากการที่ผู้บริโภคมีความสนใจในเรื่องสุขภาพและนิยมบริโภคน้ำดื่มบริสุทธิ์ที่ปราศจากสารปรุงแต่งมากขึ้น และ 2) น้ำอัดลมและโซดาจะขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี แรงหนุนมาจากการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ โดยการเพิ่มวิตามินหรือแร่ธาตุ พร้อมกับลดปริมาณน้ำตาลหรือใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ทำให้สินค้าตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการเข้มงวดในการควบคุมความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรอบต่อไปที่จะมีผลในเดือนเมษายน 25684/ ยังเป็นข้อจำกัดการเติบโตของเครื่องดื่มกลุ่มนี้ในตลาดในประเทศ แม้ว่าผู้ประกอบการบางรายจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อปรับตัวแล้วก็ตาม

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ปริมาณการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะขยายตัว ที่ 1.5-2.5% ต่อปี โดยผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น เบียร์ขยายตัว 1.5-2.5% ต่อปี และสุราขยายตัวเล็กน้อย 1.0-2.0% ต่อปี โดยมีแรงหนุนจาก 1) การฟื้นตัวต่อเนื่องของธุรกิจท่องเที่ยวและกิจกรรมทางธุรกิจ 2) การพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ที่มีแอลกอฮอล์และพลังงานลดลง รวมถึงการพัฒนาสุราและเบียร์คราฟต์ที่มีรสชาติหลากหลายมากขึ้นช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคที่มองหาตัวเลือกที่แตกต่างและมีความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตได้แก่ 1) การตระหนักถึงประเด็นเรื่องสุขภาพที่ส่งผลให้ผู้บริโภคบางส่วนลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 2) ช่องทางการจำหน่ายที่ยังถูกจำกัดจากกฎหมายควบคุมให้จำหน่ายผ่านร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Offline Retail) เท่านั้น รวมทั้งการห้ามโฆษณา ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคตามสื่อและช่องทางออนไลน์ต่างๆ

 

แนวโน้มปริมาณส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี จากการการค้าตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ดี มีปัจจัยกดดันจากการเข้าไปลงทุนของบริษัทของผู้ผลิตไทยในประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ปริมาณการส่งออกลดลงโดยแบ่งเป็นรายผลิตภัณฑ์ดังนี้

  • เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์: ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% ต่อปี โดยแนวโน้มของผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 1) น้ำดื่มและน้ำแร่บรรจุขวดจะขยายตัว 4.5-5.5% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการขยายช่องทางการค้าในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นตลาดที่ยังคงมีความต้องการน้ำดื่มสะอาดเพิ่มขึ้น จากการที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น 2) น้ำอัดลมและโซดาจะหดตัว -1.5% ถึง -2.5% ต่อปี เนื่องจากคู่ค้าหลักโดยเฉพาะกัมพูชาและเมียนม่า มีการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการไทย บริษัทข้ามชาติ และบริษัทท้องถิ่นมากขึ้น ประกอบกับราคาจำหน่ายเครื่องดื่มท้องถิ่นมีราคาต่ำกว่าสินค้านำเข้า อีกทั้งแนวโน้มการบริโภคหันไปนิยมเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพแทนน้ำอัดลมมากขึ้น 3) เครื่องดื่มให้พลังงานจะขยายตัว 3.0-4.0% ต่อปี โดยแรงขับเคลื่อนส่วนใหญ่มาจากประเทศเวียดนาม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในกลุ่มคนทำงานที่นิยมออกกำลังกาย ทำให้ต้องการแหล่งพลังงานที่สดชื่นและรวดเร็วตามวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และ 4) น้ำผลไม้จะขยายตัวที่ 4.0-5.0% ต่อปี โดยคาดว่าตลาดหลักอย่างจีนและสหรัฐฯ จะยังขยายตัวได้จากการที่ผู้บริโภคนิยมนำน้ำผลไม้ไปผสมเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ หรือบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากธรรมชาติเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากไทยมีชื่อเสียงทั้งด้านเอกลักษณ์ของรสชาดและวัตถุดิบจากผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ปริมาณการส่งออกคาดว่าจะหดตัว -1.0% ถึง -2.0% ต่อปี โดยผลิตภัณฑ์หลัก ทั้งเบียร์ และสุรา มีแนวโน้มจะหดตัวอัตราเท่ากันที่ -1.0% ถึง -2.0% ต่อปี เนื่องจาก 1) การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศเพื่อนบ้านที่รุนแรงขึ้นจากทั้งผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของผู้ผลิตไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณและมูลค่าการส่งออกจากไทยในอนาคต 2) ปัญหาการเมืองและความไม่แน่นอนของกฏระเบียบการค้าชายแดนของเมียนมาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ยังคงยืดเยื้อ แม้ว่าจะยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้างจาก 1) ภาวะเศรษฐกิจในตลาดประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ยังมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น และ 2) บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทยมีการลงทุนในการปรับปรุงกระบวนการผลิต รองรับการทำการตลาดเพื่อขยายฐานลูกค้าในตลาดต่างประเทศ



 

การปรับตัวสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจ (Sustainability)
 

ความยั่งยืนกลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเครื่องดื่มในประเทศไทย โดยปัจจัยด้าน ESG (Environmental, Social, and Governance) ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มปรับตัวสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้บริโภคและนักลงทุนต่างให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากยิ่งขึ้น ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว

  • ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment)

    • ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน: การเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ หรือการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ รวมถึงการร่วมมือกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ลดการใช้พลาสติกและวัสดุที่ไม่ย่อยสลายได้

    • ส่งเสริมการปลูกพืชอย่างยั่งยืน: การจัดหาและใช้วัตถุดิบที่มีความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญ ผู้ผลิตควรเลือกใช้วัตถุดิบที่ปลูกแบบออร์แกนิก ลดการใช้สารเคมี และสนับสนุนการปลูกพืชหมุนเวียน รวมถึงเลือกใช้วัตถุดิบที่มาจากฟาร์มที่มีการปลูกพืชหลากชนิดซึ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและการดูดซับคาร์บอน ซึ่งส่งผลดีต่อความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน

    • ใช้ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน: มีแนวทางการบริหารน้ำเพื่อลดการใช้น้ำในขั้นตอนการผลิต รวมถึงมีแนวทางการกำจัดน้ำเสียจากการผลิตอย่างถูกต้องและมีการใช้ระบบการรีไซเคิลน้ำที่มีประสิทธิภาพ

    • ลดการปล่อยคาร์บอน: ผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือการลงทุนในเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานน้อยลง เช่น เครื่องจักรประหยัดพลังงาน หรือการนำความร้อนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ใหม่ในโรงงาน

    • การจัดการของเสีย: การบริหารจัดการของเสียจากการผลิตโดยการลดปริมาณของเสียตั้งแต่ต้นทาง หรือการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่รวมถึงการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในกระบวนการผลิต จะช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ และนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ได้อีกครั้ง อาทิ บรรจุภัณฑ์ หรือผลพลอยได้จากภาคการผลิต

  • ด้านสังคม (Social)

    • ส่งเสริมตัวเลือกเครื่องดื่มสุขภาพ: ผ่านการใช้ฉลากที่มีข้อมูลละเอียดและถูกต้องเพื่อให้ข้อมูลโภชนาการที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค รวมถึงส่งเสริมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบผ่านการพัฒนาสินค้าที่มีแอลกอฮอล์ต่ำหรือไม่มีแอลกอฮอล์และสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมในการดื่มที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง

    • ความรับผิดชอบต่อสังคม: โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนตั้งแต่ก่อนตั้งโรงงานการผลิตและในช่วงที่มีการผลิต รวมถึงสนับสนุนโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคม เช่น การสร้างสถานพยาบาล การให้ทุนสนับสนุนเด็กยากไร้ในชุมชน

    • สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี: มีการดูแลและให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและสวัสดิการของพนักงาน เช่น การฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะ

    • การปลูกป่าและการฟื้นฟูพื้นที่ธรรมชาติ: ธุรกิจควรมีส่วนร่วมในการปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเสริมสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น รวมถึงสนับสนุนเกษตรกรให้ผลิตอาหารอย่างยั่งยืน

  • ด้านธรรมาภิบาล (Governance)

    • ความโปร่งใสและความรับผิดชอบ: บริษัทต้องมีการกำกับดูแลที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงาน เช่น การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน ESG รวมถึงสื่อสารเรื่อง ESG ให้พนักงานเข้าใจซึ่งจำทำให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของ ESG และบทบาทของตนเอง

    • ส่งเสริมความหลากหลายในองค์กร: การกำหนดเป้าหมายเพิ่มความหลากหลายของคณะกรรมการบริษัท พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้กับกลุ่มคนที่มีบทบาทน้อยในองค์กรหรือกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการแสดงศักยภาพ มาตรการเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคมและเพิ่มประสิทธิภาพในการสรรหาและรักษาบุคลากรในองค์กร

    • การจัดการความเสี่ยง: การประเมินและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน เช่น ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ






1/ ที่มา : Euromonitor, Ministry of Commerce
2/ อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยของธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2566 ที่ 34.81 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
3/ การจำหน่ายของปี 2566 ใช้ข้อมูลจาก Euromonitor และการจำหน่ายของ 9 เดือนแรกปี 2567 ใช้ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และคาดการณ์โดยวิจัยกรุงศรี
4/ การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มตามปริมาณความหวาน (ภาษีสรรพสามิตตามปริมาณ = (ภาษีตามปริมาณความหวาน × ปริมาตรสุทธิ(มิลลิลิตร) / 1,000 )) โดยอิงกับการกำหนดพิกัดภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 28 ปี 2565 (ล่าสุด) ที่มีการปรับโครงสร้างอัตราภาษีในส่วนของเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ แบ่งเป็น 1) จัดเก็บภาษีตามมูลค่าและตามปริมาณความหวานของเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งในระยะแรกภาษีเพิ่มขึ้นในอัตราไม่สูงนัก แต่จะปรับเพิ่มทุกๆ 2 ปี โดยระยะถัดไปนั้นจะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป 2) ยกเลิกเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟออกจากรายการเครื่องดื่มที่ได้รับการยกเว้นภาษีภายใต้เงื่อนไขด้านการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบการเกษตร และด้านการจัดเป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ มีผลให้เครื่องดื่มชาและกาแฟเข้าข่ายถูกจัดเก็บภาษีเพิ่ม (รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านต่อใน box 1)
5/ ที่มา: ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเสียภาษีในอัตราตามมูลค่าร้อยละศูนย์สำหรับเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้และน้ำพืชผัก
6/ ที่มา: ประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเสียภาษีในอัตราตามมูลค่าสำหรับเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่มีการเติมสารอาหารหรือสารอื่น

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา