แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2567-2569: อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน

โรงกลั่นน้ำมัน

โรงกลั่นน้ำมัน

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม ปี 2567-2569: อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน

20 ธันวาคม 2566

EXECUTIVE SUMMARY

 

ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2567-2569 โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว ตลอดจนการเติบโตของภาคการค้าออนไลน์และความเชื่อมโยงของภาคการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่จะหนุนความต้องการเดินทางและความต้องการใช้น้ำมันในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ด้านผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกมีแนวโน้มจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันให้สอดคล้องกับอุปสงค์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบมีทิศทางทรงตัวที่ระดับสูงต่อเนื่อง ช่วยหนุนค่าการกลั่นอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 6.0-7.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 6.3 ดอลลาร์ฯ ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากการขาดทุน Stock จากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่มีอยู่ต่อเนื่องและนโยบายการปรับลดอุปทานน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งจะสร้างความผันผวนแก่ทิศทางราคาน้ำมันดิบเป็นระยะ


มุมมองวิจัยกรุงศรี


วิจัยกรุงศรีประเมินความต้องการใช้น้ำมันในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยราคาน้ำมันที่คาดว่าจะทรงตัวระดับสูงจากการพยุงราคาของผู้ผลิตน้ำมันกลุ่ม OPEC+ จะเป็นปัจจัยบวกต่อผลประกอบการของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจต่อเนื่องในช่วงปี 2567-2569

  • โรงกลั่นน้ำมัน คาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถทำกำไรได้ในระดับที่ดีต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำมันในประเทศที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และค่าการกลั่นที่เอื้อให้การทำกำไรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีแผนขยายการลงทุนโดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาด (Clean energy) ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าสูงขึ้น และเป็นการขยายฐานรายได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ผันผวนยังเป็นความเสี่ยงด้าน Stock loss

  • การขายส่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมและการขายส่งน้ำมันและเชื้อเพลิงเหลวอื่นๆ คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความต้องการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจากโครงสร้างผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่เป็นกิจการในเครือของโรงกลั่นน้ำมันจึงมีความเสี่ยงด้านการตลาดค่อนข้างต่ำ

  • สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศที่เพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยบวกต่อสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายการลงทุนสถานีบริการน้ำมันสีเขียว และการลงทุนในธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับน้ำมันมากขึ้นเพื่อขยายฐานรายได้ต่อเนื่องในระยะยาว อาทิ การให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก การติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าภายในปั๊มน้ำมัน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและโอกาสการรับรู้รายได้

 

ข้อมูลพื้นฐาน


โรงกลั่นน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูงเพื่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of scale) และพึ่งพิงเทคโนโลยีระดับสูง ทำให้มีระยะเวลาคืนทุนนาน การเข้า-ออกจากธุรกิจจึงทำได้ยาก กระบวนการกลั่นน้ำมัน (รูปที่ 1) เป็นการแปรรูปหรือแยกส่วนประกอบน้ำมันดิบเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่างๆ ได้แก่ LPG แนฟทา แก๊สโซลีน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ยางมะตอยและอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ตามคุณสมบัติที่ต่างกัน ซึ่งสัดส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้จากการกลั่นขึ้นกับแหล่งผลิตน้ำมันดิบ

โรงกลั่นแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ โรงกลั่นแบบธรรมดา (Simple refinery) ซึ่งมีกระบวนการกลั่นแบบ Distillation ที่ทำการแยกส่วนประกอบน้ำมันดิบเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามองค์ประกอบของน้ำมันดิบแต่ละชนิด และโรงกลั่นแบบคอมเพล็กซ์ (Complex refinery) ซึ่งมีต้นทุนการลงทุนสูงกว่า และเป็นโรงกลั่นที่มีหน่วยเปลี่ยนสภาพของผลิตภัณฑ์ (Cracking units) อันเป็นกระบวนการเพิ่มเติมจากกระบวนการกลั่นแบบDistillation จึงสามารถปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดหนักที่มีมูลค่าต่ำให้เป็นน้ำมันชนิดเบาที่มีมูลค่าสูงกว่าได้ ทั้งนี้ โรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์แต่ละแห่งจะมีความสามารถในการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ต่างกัน วัดได้จาก Nelson Complexity Index (NCI) โรงกลั่นน้ำมันที่มีค่า NCI สูงสะท้อนความสามารถในการเปลี่ยนสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงตามความต้องการได้ดีกว่า และยังมีความยืดหยุ่นในการรองรับน้ำมันดิบแต่ละแหล่งที่มีส่วนประกอบของน้ำมันต่างกัน1/ ทำให้เลือกแหล่งน้ำมันดิบได้มากกว่า (ภาพที่ 3)




 

แม้อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันจะใช้เงินลงทุนสูง แต่มีระยะเวลาการใช้งานนานถึง 30-50 ปี ดังนั้น ต้นทุนคงที่ต่อหนึ่งหน่วยการผลิตจึงอยู่ในระดับต่ำ โดยต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมันมากกว่า 95% เป็นต้นทุนผันแปร ในจำนวนนี้ประมาณ 75-80% เป็นต้นทุนน้ำมันดิบ ที่เหลือ คือ ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการกลั่นน้ำมันมีสัดส่วน 10% และต้นทุนอื่นๆ (อาทิ ค่าเสื่อมราคา) มีสัดส่วน 10-15% (ภาพที่ 4)

ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมถูกกำหนดโดยภาวะอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงต้นทุนน้ำมันดิบด้วย อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมขึ้นกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยประมาณ 70% ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมทั้งหมดถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบ (Spread) จึงถูกใช้เป็นเครื่องวัดความสามารถในการทำกำไรหรือมาร์จิ้นของแต่ละผลิตภัณฑ์


 

ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน จะพิจารณาจากค่าการกลั่นรวม (Gross Refinery Margins: GRM) (คำนวณจากมูลค่ารวมของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นทั้งหมดหักลบด้วยต้นทุนรวมต่อการกลั่นน้ำมัน 1 บาร์เรล) โดยปัจจัยกำหนดค่าการกลั่นรวม ประกอบด้วย (1) ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งค่าการกลั่นจะเพิ่มขึ้นใน 2 กรณี คือ กรณีที่อุปสงค์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมขยายตัวหนุนทั้งราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและราคาน้ำมันดิบให้สูงขึ้น แต่ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมขยับขึ้นมากกว่าต้นทุนน้ำมันดิบ หรือกรณีที่อุปทานน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นกดดันราคาน้ำมันดิบให้ลดลง โดยต้นทุนน้ำมันดิบปรับลดลงมากกว่าราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (2) ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (3) อัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity utilization) หากอัตราการใช้กำลังการผลิตสูง ค่าการกลั่นจะสูงตามไปด้วย ซึ่งโดยทั่วไปโรงกลั่นน้ำมันที่มีประสิทธิภาพสูงจะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่า 80%2/ (4) ความสามารถในการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น (จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า NCI ของโรงกลั่นน้ำมันไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง) (รูปที่ 4) และ (5) การจัดการด้านต้นทุนและแหล่งน้ำมันดิบ โดยโรงกลั่นที่ใช้น้ำมันดิบชนิดหนักมักมีค่าการกลั่นต่ำกว่าโรงกลั่นที่ใช้น้ำมันดิบชนิดเบา (โรงกลั่นที่ใช้น้ำมันดิบชนิดเบาจะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงกว่า) ซึ่งการที่ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางสูงถึง 62% และเป็นน้ำมันชนิดหนัก ทำให้ในกระบวนการกลั่นน้ำมันจะได้ผลิตภัณฑ์หนักค่อนข้างมาก เช่น น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา (ภาพที่ 5)

นอกจากนี้ ความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันแต่ละแห่งยังขึ้นกับปัจจัยเสริมดังต่อไปนี้ (1) การขยายธุรกิจครบวงจรจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำรวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่อง จะช่วยลดต้นทุนและทำให้การวางแผนการผลิตทำได้ดีขึ้น และ (2) ทำเลที่ตั้งของโรงกลั่นน้ำมัน โดยทำเลที่สะดวกหรือใกล้แหล่งทรัพยากรและตลาดจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งให้แก่ธุรกิจ


 

ปัจจุบัน โรงกลั่นน้ำมันของไทยมีกำลังการกลั่นสูงเป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ มีกำลังการผลิตราว 1.243 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นโรงกลั่นแบบ Complex ทั้งหมด มีจำนวนผู้ประกอบการ 7 ราย ได้แก่ PTT Global Chemical (PTTGC), ThaiOil (TOP), IRPC Public Company Limited (IRPC), ESSO3/, Star Petroleum Refining Public Company (SPRC), Bangchak Petroleum (BCP) และ FANG โดยกลุ่มปตท. ถือเป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเนื่องจาก PTT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน PTTGC, TOP และ IRPC (ภาพที่ 6)

ราคาหน้าโรงกลั่น (Ex-refinery prices) ของน้ำมันที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมันในไทยจะอ้างอิงตามราคาตลาดสิงคโปร์ (SIMEX) ที่เรียกว่า Mean of Platts Singapore (MOPS) และใช้หลักการ Import Price Parity ในการกำหนดเพดานราคาหน้าโรงกลั่นของไทย โดยคำนวณจากราคาที่ตลาดสิงคโปร์ (FOB) รวมค่าขนส่ง ซึ่งจากกลไกการกำหนดราคาแสดงให้เห็นว่าค่าการกลั่นในตลาดสิงคโปร์มีผลต่อค่าการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยค่อนข้างมาก (ภาพที่ 7)




 

การกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในไทยไม่เพียงจะขึ้นกับต้นทุนน้ำมันดิบ ค่าการกลั่น ต้นทุนการกลั่น และค่าการตลาด (มาร์จิ้นของผู้ค้าน้ำมัน) เท่านั้น ภาครัฐของไทยยังมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางราคาผ่านการเรียกเก็บภาษีและเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ค้าน้ำมัน (ภาพที่ 8) ซึ่งเงินกองทุนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อลดความผันผวนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศยามที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกผันผวน นอกจากนี้ ยังใช้เป็นกลไกสนับสนุนการใช้น้ำมันบางประเภทตามนโยบายรัฐ อาทิ น้ำมัน E20 และ B7

น้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 86% ของผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมดถูกใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ ในจำนวนนี้ประมาณ 79% ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง (เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด และน้ำมันดีเซล) 11% ใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า (เช่น น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตา) 6% ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เช่น LPG และแนฟทา) และ 3% เป็นยางมะตอยใช้ในการก่อสร้างถนน ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีสัดส่วน14% โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ อาเซียน (ประมาณ 75% ของมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป) และเอเชียตะวันออก (ภาพที่ 9)




 

 

สถานการณ์ที่ผ่านมา

 

ปี 2565 เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะฟื้นตัวหลังวิกฤต COVID-19 คลี่คลาย ผลจากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมเกือบทั่วโลก ทำให้หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางข้ามพรมแดน ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาดำเนินการใกล้เคียงระดับปกติ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการรวมถึงพลังงานประเภทนํ้ามันเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนํ้ามันอากาศยานซึ่งได้อานิสงส์จากความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่สะสมมาตั้งแต่ช่วง COVID ผนวกกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนผลักดันให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้น 40.5% จากปี 2564 ที่ระดับเฉลี่ย 97.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และเพิ่มขึ้นเกือบ 75.0% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2558–2562 (55.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอลงโดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยเฉลี่ยที่ 20.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับ 3-5 ดอลลาร์ฯในช่วงก่อน COVID (ภาพที่ 10)

ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดสู่ระดับเฉลี่ย 82.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือลดลง -17.9% YoY ผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหลังธนาคารกลางทั่วโลกเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกแผ่วลง ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันทยอยปรับลดกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับอุปสงค์ โดยเฉพาะกลุ่ม OPEC+ มีมติปรับลดกำลังการผลิตหลายครั้งรวมกันมากกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่ต้นปี 2566 อีกทั้งมีอุปทานน้ำมันบางส่วนหายไปจากตลาดตามมาตรการควํ่าบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก ซึ่งห้ามประเทศสมาชิกนำเข้านํ้ามันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปจากรัสเซีย นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนและอิสราเอล-ฮามาส (ต้นเดือนตุลาคม 2566) ยังสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดน้ำมันดิบโลกเป็นระยะ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบโลกทรงตัวที่ระดับสูงต่อเนื่อง แม้จะเผชิญภาวะชะลอตัวของอุปสงค์


 

ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่ชะลอลง กดดันให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูป (ตลาดสิงคโปร์) ปรับลดในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การปรับลดของราคาน้ำมันสำเร็จรูปถูกจำกัดจากการที่ EU หันมานำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากเอเชียเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลเพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ประกอบกับประเทศในเอเชียทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระตุ้นให้มีการเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น หนุนอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปมีอยู่ต่อเนื่อง โดยช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ราคาน้ำมันดีเซลที่ตลาดสิงคโปร์ลดลง -20.8% YoY (เฉลี่ย 105.8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) และน้ำมันเบนซิน -19.4% YoY (เฉลี่ย 94.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) ด้านค่าการกลั่นรวมที่ตลาดสิงคโปร์ (9 เดือนแรกปี 2566) เฉลี่ยที่ 7.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจาก 12.2 ดอลลาร์ฯ ในปี 2565

ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 โรงกลั่นน้ำมันของไทยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจนำโดยภาคท่องเที่ยว
ช่วยหนุนรายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องปรับดีขึ้น รวมถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินมีมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูป (นํ้ามันเบนซิน นํ้ามันดีเซล นํ้ามันอากาศยาน และนํ้ามันเตา) เพิ่มขึ้น 2.4% YoY (ภาพที่ 11) ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นทรงตัวในระดับสูง (ภาพที่ 12) อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ทำให้ค่าการกลั่นเฉลี่ยของไทยลดลง -32.1% YoY โดยอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 8.2 บาทต่อลิตร




 

สำหรับทั้งปี 2566 คาดว่าค่าการกลั่นเฉลี่ยจะทยอยกลับสู่ระดับใกล้เคียงปกติ (6-10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) หลังจากทะยานขึ้นผิดปกติในปี 2565 ผลจากอุปสงค์และอุปทานที่มีความสอดคล้องกันมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปหลายผลิตภัณฑ์ปรับลดลง (ภาพที่ 13) จากอุปทานที่เพิ่มขึ้น อาทิ ราคาน้ำมันเบนซินลดลงเนื่องจากจีนมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลลดลงเนื่องจากรัสเซียมีการส่งออกน้ำมันประเภทดังกล่าวไปประเทศอื่น (ในเอเชีย) แทนสหภาพยุโรป และราคาน้ำมันเตาลดลงเนื่องจากโรงกลั่นใหม่ในคูเวตมีการผลิตและส่งออกมากขึ้น โดยวิจัยกรุงศรีประเมินเครื่องชี้ภาวะอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันของไทยที่สำคัญในปี 2566 ดังนี้

  • ราคาหน้าโรงกลั่นปรับลดต่อเนื่องโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลปรับลดกว่า -21% YoY ขณะที่ต้นทุนราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงในอัตราที่น้อยกว่า (-15% YoY) ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นและน้ำมันดิบดูไบลดลงสู่ระดับ 6 บาทต่อลิตร จาก 9.5 บาทต่อลิตรปี 2565 ด้านส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินหน้าโรงกลั่นและน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 4.2 บาทต่อลิตร ลดลงจาก 4.4 บาทต่อลิตรปี 2565

  • ราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศปรับลดตามราคาหน้าโรงกลั่น โดยราคาน้ำมันดีเซลลดลง -2.3% YoY เฉลี่ยที่ 32 บาทต่อลิตร ผลจากภาครัฐทยอยปรับลดราคาโดยใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และล่าสุด มีมติปรับลดราคาให้อยู่ระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร (20 กันยายน-31 ธันวาคม 2566) ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินลดลง -0.3% YoY เฉลี่ยที่ 45 บาทต่อลิตร

  • การบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 2.2% จากปี 2565 ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคขนส่ง ดังนี้ (1) ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.5% ผลจากภาคส่งออกซบเซาลดทอนความต้องการใช้น้ำมันของภาคอุตสาหกรรม (2) ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซีนขยายตัว 5.0% จากปี 2565 จากการกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้น (3) การบริโภคน้ำมัน Jet เร่งขึ้นถึง 60% จากปี 2565 จากการฟื้นตัวของจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น 36.8% ในปี 2566 และ (4) การบริโภค LPG เติบโต 2.5% จากปี 2565 โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันเบนซีนที่แพงขึ้น ทำให้ภาคขนส่งหันมาใช้ LPG มากยิ่งขึ้น

  • การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น 1.5% จากปี 2565 จากการส่งออกน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นถึง 30% YoY อย่างไรก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นๆ อาทิ น้ำมันเบนซิน น้ำมัน Jet และ LPG หดตัว -6.0% YoY -22% YoY และ -32% YoY ตามลำดับ

  • การผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตขยายตัวสอดคล้องกับความต้องการบริโภคน้ำมัน โดยการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปขยายตัว 1.0% YoY แบ่งเป็น น้ำมันเบนซีนเพิ่มขึ้น 2.7% YoY น้ำมัน Jet 47% YoY และน้ำมันดีเซล 0.5% YoY ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 85% ซึ่งใกล้เคียงระดับก่อนแพร่ระบาดของ COVID-19 ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ค่าการกลั่นรวมปี 2566 อยู่ที่ระดับ 6.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจาก 11.3 ดอลลาร์ฯในปี 2565


แนวโน้มธุรกิจ

 

ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2567-2569 มีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อเนื่องที่ระดับเฉลี่ย 80-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเศรษฐกิจโลกเติบโตช้า ขณะที่อุปทานน้ำมันจะถูกจำกัดจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโดยเฉพาะ OPEC+ (กำลังการผลิตประมาณ 40% ของการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก) ที่ต้องการให้อุปทานน้ำมันสมดุลย์กับอุปสงค์เพื่อพยุงราคาไม่ให้ปรับลดลงกว่าระดับที่ต้องการ (อาทิ ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจ 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวันมีผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 - ธันวาคม 2567) โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันปี 2567 จะอยู่ที่ 102.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงกับปริมาณการผลิตที่ระดับ 102.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่วิจัยกรุงศรีคาดว่าปี 2568-2569 ความต้องการใช้น้ำมันจะทยอยปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่คลี่คลายจะทำให้อุปทานน้ำมันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 80 และ 76 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ จากเฉลี่ย 87 ดอลลาร์ฯ ในปี 2567 ซึ่งจะช่วยหนุนผลประกอบการของโรงกลั่นน้ำมันเข้าสู่วัฎจักรขาขึ้น (ภาพที่ 14)


 

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์มีแนวโน้มปรับลดตามราคาน้ำมันดิบโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอุปทานที่จะเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะจีนและอินเดีย อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันจะทยอยฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจและภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย (IMF ประเมินเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย (Emerging and Developing Asian Countries) จะเติบโตในช่วง 4.5% ถึง 5.5% ในช่วงปี 2567-2569) ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปไม่ปรับลดลงมาก ขณะที่ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบดูไบจะกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ค่าการกลั่น ณ ตลาดสิงคโปร์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 6.0-7.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วง 3 ปีข้างหน้า

ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีแนวโน้มขยับในทิศทางเดียวกันกับราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยคาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเฉลี่ยในช่วง 42.0-46.0 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 31.5-33.5 บาทต่อลิตร ด้านส่วนต่างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นกับน้ำมันดิบดูไบจะทรงตัวที่ระดับประมาณ 3.5-4.5 บาทต่อลิตร (ภาพที่ 15)

อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 2.5-3.5% ต่อปี ผลจาก (1) การเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจไทย โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยว หนุนความต้องการใช้น้ำมันในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งปรับสูงขึ้น (2) การขยายตัวต่อเนื่องของธุรกิจ E-commerce (คาดจะเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี) หนุนความต้องการใช้น้ำมันในภาคคมนาคมขนส่งต่างๆ และ (3) ความเชื่อมโยงของภาคการค้าและการลงทุนใน ASEAN จะส่งเสริมการใช้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ปัจจัยข้างต้นทำให้คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดีเซลจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2.5% ต่อปี ขณะที่การใช้น้ำมันเบนซีนจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.5-3.5% ต่อปี นอกจากนี้ การทยอยกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ (คาดจะอยู่ที่ระดับ 40 ล้านคนในปี 2568) จะหนุนปริมาณการใช้น้ำมัน Jet เติบโตเฉลี่ย 10.0-20.0% ต่อปี (ภาพที่ 16)



 
ความต้องการบริโภคน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะหนุนการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปให้เพิ่มขึ้นประมาณ 4.0-5.0% ต่อปี และอัตราการใช้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 87-91% (ภาพที่ 17) ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะทรงตัวสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าการกลั่นจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 6.0-7.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5.0 ดอลลาร์ฯ ในช่วงก่อนเกิด COVID-19 (ระหว่างปี 2555-2562) (ภาพที่ 18)





 
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางการตลาด ผู้ประกอบการบางรายมีแผนขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กลั่นน้ำมันดิบได้หลากหลายชนิดมากขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of scale) และช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด (Clean energy) อาทิ การเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่ำ (เช่น น้ำมันเตา) เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีมูลค่าสูงกว่า (เช่น น้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานกำมะถันต่ำ) หรือการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (SAF-Sustainable Aviation Fuel) ซึ่งภายใต้ Oil Plan และ AEDP ฉบับใหม่อาจกำหนดให้เพิ่มการใช้ SAF ในเครื่องบินเป็น 1% ในปี 2570 ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นไปในทางเดียวกับโรงกลั่นน้ำมันในหลายประเทศทั่วโลก





1/ น้ำมันดิบมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนประเภทแอลเคนและไซโคลแอลเคน (Alkanes and Cycloalkanes) นอกจากนี้ยังมีสารประกอบอื่นๆ เช่น กำมะถัน ไนโตรเจน และโลหะอื่นๆ ปนอยู่เล็กน้อย โดยน้ำมันดิบแต่ละแหล่งจะมีสัดส่วนของสารประกอบต่างกัน อาทิ น้ำมันแหล่ง Bakken (รัฐ North Dakota) จะมีสัดส่วนของน้ำมันชนิดเบามากกว่า 60% ขณะที่น้ำมันแหล่ง Urals ในรัสเซียมีน้ำมันชนิดเบาเพียง 30% ซึ่งน้ำมันชนิดเบาเป็นน้ำมันที่มีความหนาแน่นต่ำ เนื่องจากประกอบด้วยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีจำนวนอะตอมคาร์บอนน้อย ให้เผาไหม้ได้ดีกว่า และให้พลังงานมากกว่าน้ำมันชนิดหนัก
2/ โดยปกติโรงกลั่นน้ำมันจะเดินเครื่องผลิตตลอดเวลา เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเปิดปิดเครื่องค่อนข้างสูง ยกเว้นช่วงปิดซ่อมบำรุงประจำปีหรือที่เรียกว่า Planned maintenance ซึ่งมักกินเวลาประมาณ 1-2 เดือน
3/ ปี 2566 บางจากซื้อหุ้น ESSO 65.99% จาก ExxonMobil และจะทำคำเสนอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด คาดทำธุรกรรมแล้วเสร็จภายในปี 2567

 
Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา