ภาพรวมอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าความต้องการใช้เอทานอลในปี 2562-2564 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.30-4.54 ล้านลิตรต่อวัน หรือเติบโตเฉลี่ยประมาณ 2.4-3.2% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก 1) การขยายตัวของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (Gasoline) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ย 2.4-2.9% ต่อปีในช่วงปี 2562-2564 2) จำนวนรถยนต์สะสมที่อยู่ในระดับสูงและการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถรองรับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอลสูง (เช่น E20 และ E85)
ธุรกิจยังเผชิญปัญหาทั้งด้านการแย่งชิงวัตถุดิบโดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง และด้านการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเองจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานจากผู้ผลิตรายใหม่ 1-2 ราย ที่มีแผนเข้าสู่ตลาดในปี 2562 ทำให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 2% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่า จึงคาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเอทานอลจะอยู่ในช่วง 72-75% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2562-2564 เพิ่มขึ้นจาก 69% ในปี 2561
ข้อมูลพื้นฐาน
เอทานอล (Ethanol) หรือเอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) ถูกผลิตมาจากพืชจำพวกแป้งและน้ำตาล รวมทั้ง Cellulose และ Hemicellulose โดยผ่านกระบวนการหมัก (Fermentation) ให้ได้เอทานอลบริสุทธิ์ 99.5% เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงและ/หรือเป็นส่วนผสมในเชื้อเพลิงยานยนต์และในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมบางประเภท อาทิอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอุตสาหกรรมยา เป็นต้น วัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากพืชผลเกษตร ได้แก่ อ้อย ข้าว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด และมันสำปะหลัง
ความต้องการใช้และการผลิตเอทานอลในตลาดโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณการใช้และปริมาณการผลิตในปี 2561-2562 คาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 124 และ 123 พันล้านลิตร ตามลำดับ เทียบกับปริมาณการใช้และปริมาณการผลิตในระดับใกล้เคียงกันที่เฉลี่ย 111.7 และ 111.8 พันล้านลิตรในปี 2554-2560 ตามลำดับ (ภาพที่ 1) ผู้บริโภคและผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของโลกคือ สหรัฐฯ บราซิล และจีน มีสัดส่วนรวมกันประมาณ 80% ของปริมาณการบริโภคและการผลิตทั้งโลก (ภาพที่ 2) วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ประเทศเหล่านี้ใช้ในการผลิตเอทานอลมาจากข้าวโพดและอ้อยเป็นหลัก
ไทยเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตเอทานอลลำดับที่ 7 และ 6 ของโลก ตามลำดับ เอทานอลในประเทศไทยถูกผลิตเพื่อใช้ผสมในน้ำมันเบนซิน[1] เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (Gasohol) เป็นหลัก โดยปริมาณการผลิตขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายสนับสนุนการใช้เอทานอลของภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีการผสมเอทานอลในน้ำมันเบนซินในอัตราส่วน 10% เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไป เรียกว่า แก๊สโซฮอล์ 91 (E10), 95 (E10) ในปี 2551 มีแก๊สโซฮอล์ชนิดผสมเอทานอล 20% (E20) และ 85% (E85) ส่งผลให้การใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายเอทานอลในประเทศยังถูกจำกัดจากนโยบายภาครัฐที่อนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะแก่ผู้ค้าน้ำมันตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น ส่วนการนำเอทานอลไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมยังคงเกิดขึ้นได้ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากจะต้องผ่านการอนุมัติจากองค์การสุรา (กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง)
ไทยมีการส่งออกเอทานอลไปยังตลาดโลกตั้งแต่ปี 2550 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอังกฤษ (ภาพที่ 3) การส่งออกจะต้องยื่นขออนุญาตเป็นครั้งคราวต่ออธิบดีกรมสรรพสามิต แต่หลังจากรัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ทำให้ความต้องการใช้เอทานอลในประเทศเพิ่มขึ้นมาก ทางการจึงออกมาตรการระงับการส่งออกเพื่อให้มีเอทานอลใช้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ จึงทำให้ไม่มีการส่งออกเอทานอลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 เป็นต้นมา
ปัจจุบันการผลิตเอทานอลของไทยใช้กากน้ำตาล มันสำปะหลัง และน้ำอ้อย เป็นวัตถุดิบหลัก ในสัดส่วน 65 : 30 : 5 (ข้อมูล ณ ปี 2561) เทียบกับปี 2560 ที่ 60 : 35 : 5 โดยสัดส่วนการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคากากน้ำตาลที่ปรับลดลงในปี 2561 ขณะที่ราคามันสำปะหลังปรับเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว อีกทั้งการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลยังมีความได้เปรียบด้านปริมาณวัตถุดิบ เนื่องจากผู้ผลิตมักเป็นรายใหญ่ที่ต่อยอดธุรกิจจากโรงงานน้ำตาล ส่วนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังมักเกิดปัญหาการแย่งชิงวัตถุดิบกับอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงความไม่แน่นอนด้านต้นทุนวัตถุดิบจากการแทรกแซงราคาของทางการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในบางช่วงเวลา
โครงสร้างต้นทุนการผลิตเอทานอลในประเทศ จำแนกตามประเภทวัตถุดิบที่ใช้ ได้ดังนี้
- การผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล ต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่จะเป็นกากน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60-70% ของต้นทุนการผลิตรวม ที่เหลือเป็นต้นทุนดำเนินการ 25-35% และต้นทุนคงที่ 5%
- การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง ต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 55-60% ของต้นทุนการผลิตรวม ต้นทุนดำเนินการ 35-40% และต้นทุนคงที่ 5% การที่ต้นทุนดำเนินการในการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังมีสัดส่วนสูงกว่าการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล เนื่องจากกระบวนการผลิตมีขั้นตอนเพิ่มจากการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล
ปัจจุบันมีโรงงานผลิตเอทานอลที่เดินเครื่องผลิตแล้วจำนวน 26 ราย กำลังการผลิตรวม 5.89 ล้านลิตรต่อวัน (ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2562) เพิ่มขึ้นจาก 5.79 ล้านลิตรต่อวันในปี 2561 แยกเป็นกำลังการผลิตจากโรงงานที่ใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาล 2.68 ล้านลิตรต่อวัน จากมันสำปะหลัง 2.08 ล้านลิตรต่อวัน จากทั้งมันสำปะหลังและกากน้ำตาล 0.90 ล้านลิตรต่อวัน และจากน้ำอ้อย 0.23 ล้านลิตรต่อวัน (ภาพที่ 4-5) สถานที่ตั้งของโรงงานจะกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงงานส่วนใหญ่ที่เข้ามาลงทุนผลิตเอทานอลจะเป็นโรงงานที่ต่อยอดจากธุรกิจเดิม เช่น โรงงานนํ้าตาล โรงงานมันสำปะหลัง (BOX 1)
การกำหนดราคาขายเอทานอลอ้างอิงตามข้อมูลการซื้อขายเอทานอลระหว่างผู้ผลิตเอทานอลกับผู้ค้าน้ำมันจากกรมสรรพสามิต เป็นราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามปริมาณการซื้อขายจริง โดยจะมีการประกาศราคาอ้างอิงทุกวันที่ 1 ของเดือน เริ่มใช้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุนการผลิต (มาร์จิน) ของผู้ผลิตเอทานอลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 1) ต้นทุนราคาวัตถุดิบ 2) ราคาอ้างอิงซึ่งผันแปรตามสัดส่วนการใช้กากน้ำตาลและมันสำปะหลัง และ 3) ค่าการตลาดประมาณ 1-2 บาทต่อลิตร
นโยบายและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP) มีความสำคัญมากต่อการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมเอทานอล ซึ่งได้แก่ 1) การส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 2) การส่งเสริมค่ายรถในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้ E85 3) การผลักดันให้มีการเพิ่มสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ (E20, E85) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยนโยบายนี้จะช่วยหนุนการเติบโตของธุรกิจเอทานอลในระยะยาว
สถานการณ์ที่ผ่านมา
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเอทานอลของไทยมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินทยอยบรรเทาลง
- ช่วงปี 2550-2555 อุตสาหกรรมเอทานอลมีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินสูง โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยต่ำกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เนื่องจากมีโรงงานเอทานอลเพิ่มขึ้นมากตามนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในช่วงเวลาดังกล่าวการพัฒนารถยนต์รุ่นที่จะรองรับการใช้น้ำมันที่มีสัดส่วนเอทานอลสูงยังมีน้อยและไม่เป็นที่นิยม อีกทั้งการดำเนินการของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์และการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินค่อนข้างล่าช้า
- ในช่วงปี 2556-2560 อุตสาหกรรมเอทานอลมีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง กำลังการผลิตส่วนเกินที่เป็นปัญหาต่อเนื่องมานานในอุตสาหกรรมทยอยบรรเทาลง โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับสูงขึ้นมากมาอยู่ที่ระดับ 78% ในช่วงต้นปี 2557 หลังรัฐบาลยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 (สัดส่วน 41% ของการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินทั้งหมด) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนจาก 1) ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงช่วงปี 2556-2557 หนุนให้มีการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 2) การขยายตัวของรถยนต์จดทะเบียนใหม่ที่เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์จากโครงการรถยนต์คันแรกของภาครัฐ 3) การพัฒนารถยนต์สำหรับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ออกสู่ตลาดมากขึ้น และ 4) การเพิ่มขึ้นของสถานีบริการน้ำมันที่จำหน่าย E20 และ E85 ส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลเพื่อนำมาผสมในน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 3.94 ล้านลิตรต่อวันในปี 2560 จากที่ใช้เพียง 1.4 ล้านลิตรต่อวันในปี 2555 (ภาพที่ 6)
- ปี 2561 ปริมาณการใช้เอทานอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 4.20 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 6.6% YoY ปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่เพิ่มขึ้น สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตดี และการเพิ่มขึ้นของยอดขายรถยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถรองรับการใช้แก๊สโซฮอล์ในสัดส่วนสูงมากขึ้นทำให้ยอดจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 (สัดส่วน 19% ของปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์) อยู่ที่ 5.8 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 11.5% YoY และการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ E85 (สัดส่วน 4.0%) อยู่ที่ 1.2 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 13.9% YoY ส่วนแก๊สโซฮอล์ E10 (สัดส่วน 77% ) อยู่ที่ 23.0 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นเพียง 1.8% YoY (ภาพที่ 7)
ด้านการผลิตเอทานอลในปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.02 ล้านลิตรต่อวัน (ใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ 4.01 ล้านลิตรต่อวัน) จำแนกเป็นปริมาณเอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาล 2.62 ล้านลิตรต่อวัน (+16.5% YoY) จากมันสำปะหลัง 1.20 ล้านลิตรต่อวัน (-9.0% YoY) และจากน้ำอ้อย 0.20 ล้านลิตรต่อวัน (+4.4% YoY) คิดเป็นสัดส่วน 65 : 30 : 5 ตามลำดับ (ภาพที่ 8)
ทั้งนี้ แม้ความต้องการใช้เอทานอลจะสูงกว่าปริมาณการผลิต แต่สต็อกเอทานอลที่มีอยู่ 135.8 ล้านลิตร (ณ ไตรมาส 4/2561) ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในปี 2561 ทรงตัวอยู่ในระดับเคียงกับปี 2560 ที่ 69% ของกำลังการผลิตเอทานอลทั้งหมด
ผลประกอบการในปี 2561 ผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลมีผลประกอบการดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ขณะที่ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ แต่มาร์จินโดยรวมยังดีกว่าผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (ภาพที่ 9)
- ผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล มาร์จินปรับดีขึ้นจากปีก่อน ราคากากน้ำตาลซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักปรับลดลง เนื่องจากผลผลิตกากน้ำตาลที่ออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นทั้งในอุตสาหกรรมเอทานอลและอุตสาหกรรมอื่นๆ (อาทิ สุรา อาหารสัตว์) ทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลโดยเฉลี่ยลดลง 8.5% YoY อยู่ที่ 24.52 บาทต่อลิตร (คำนวณจากราคากากน้ำตาลในปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.10 บาทต่อกก.) ขณะที่ราคาขายเอทานอลในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 25-26 บาทต่อลิตร (ราคาขายเอทานอลอ้างอิงที่ 23.70 บาทต่อลิตร บวกค่าการตลาด 1.5-2.0 บาทต่อลิตร) ทำให้ผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลในปี 2561 มีผลประกอบการที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีมาร์จินน้อยมากถึงติดลบในบางช่วง
- ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง มาร์จินลดลงจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูง ราคามันสำปะหลังที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก (ณ ปี 2561 ราคาหัวมันสดและมันเส้นเฉลี่ยอยู่ที่ 2.38 และ 5.44 บาทต่อกก. เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 1.40 และ 3.93 บาทต่อกก.ในปี 2560) เนื่องจากเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกหลังราคามันสำปะหลังตกต่ำในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า ขณะที่ความต้องการใช้มันสำปะหลังมีเพิ่มขึ้นในหลายอุตสาหกรรมทั้งใช้เพื่อบริโภคในครัวเรือนและเป็นอาหารสัตว์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลจากหัวมันสดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 23.48 บาทต่อลิตร (+37.5% YoY) ส่วนต้นทุนการผลิตจากมันเส้นเฉลี่ยอยู่ที่ 22.20 บาทต่อลิตร (+21.7% YoY) เมื่อเทียบกับราคาขายเอทานอลในตลาดเฉลี่ยที่ 25-26 บาทต่อลิตร ทำให้ผู้ผลิตเอทานอลจากหัวมันสดมีมาร์จินลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560
แนวโน้มอุตสาหกรรม
ภาพรวมอุตสาหกรรมเอทานอลในประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าความต้องการใช้เอทานอลในปี 2562-2564 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.30-4.54 ล้านลิตรต่อวัน หรือเติบโตเฉลี่ยประมาณ 2.4-3.2% ต่อปี (ภาพที่ 10) โดยประเมินจากสัดส่วนการจำหน่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 23% ของปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ทั้งหมดในปี 2561 เป็น 25% ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผลให้สัดส่วนการใช้เอทานอลเพื่อผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 รวมกันเพิ่มขึ้นเป็น 55% ของปริมาณการใช้เอทานอลทั้งหมด จาก 49% ในปี 2561 โดยความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 พิจารณาจาก
- แนวโน้มการขยายตัวของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง[2] (Gasoline) คาดว่าจะอยู่ในอัตราเฉลี่ย 2.4-2.9% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นในปี 2563-2564 และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหนุนกิจกรรมการค้าและการท่องเที่ยว
- จำนวนรถยนต์สะสมที่อยู่ในระดับสูงและการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ใหม่ที่สามารถรองรับการใช้แก๊สโซฮอล์ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอลสูง (เช่น E20 และ E85)
ความต้องการใช้เอทานอลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ (ในปี 2562 จะมีผู้ประกอบการใหม่ 1-2 ราย มีแผนเข้าสู่ตลาด) ทำให้กำลังการผลิตรวมในปี 2562 เพิ่มขึ้น 1.9% เป็น 5.9 ล้านลิตรต่อวัน เทียบกับ 5.79 ล้านลิตรต่อวันในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงกว่า ทำให้คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเอทานอลในปี 2562-2564 จะอยู่ในช่วง 72-75% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 69% ในปี 2561 (ภาพที่ 11)
สำหรับการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังคาดว่ายังเผชิญกับปัญหาการแย่งวัตถุดิบ แม้คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะทยอยเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป แต่ความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อเป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และยา/เครื่องสำอาง ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานผลิตเอทานอลจะมีความต้องการใช้มันสำปะหลังอยู่ที่ระดับ 3.5 ล้านตันในปี 2564 ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังคงเหลือเพื่อผลิตเอทานอลคาดว่าอยู่ที่ระดับเพียง 3 ล้านตันในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและการระบาดของเพลี้ยแป้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะ จึงอาจทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอ ส่วนโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลอาจเผชิญแรงกดดันด้านวัตถุดิบไม่มากนัก เนื่องจากผลผลิตกากน้ำตาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตน้ำตาลหลังมีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยทำให้ราคากากน้ำตาลมีแนวโน้มลดลง
ทิศทางธุรกิจในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในด้านการส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และการส่งเสริมค่ายรถยนต์ในการพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้แก๊สโซฮอล์ที่มีส่วนผสมของเอทานอลสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้น้ำมันหรือใช้น้ำมันน้อย อาทิ รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ทยอยเข้ามามีบทบาทในตลาดรถยนต์ไทยมากขึ้น รวมถึงการเปิดใช้รถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทาง อาจส่งผลต่อการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) และอาจมีผลกระทบต่อความต้องการใช้เอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในระยะยาวได้
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ในปี 2562-2564 คาดว่าอุตสาหกรรมเอทานอลจะเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ระบบ และปัญหาด้านความเพียงพอของวัตถุดิบมันสำปะหลัง อาจมีผลกระทบต่อความสม่ำเสมอของรายได้ของธุรกิจทำให้ผลประกอบการของผู้ผลิตยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
- ผู้ผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล: คาดว่าผลประกอบการจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลมักเป็นการต่อยอดธุรกิจจากโรงงานน้ำตาลจึงมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบ อีกทั้งราคากากน้ำตาลที่ยังอยู่ในระดับต่ำหรือลดลงบ้างในบางช่วงจากผลผลิตกากน้ำตาลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามโรงงานน้ำตาลใหม่ที่ทยอยเข้าระบบ จะทำให้ต้นทุนการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลมีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลง ขณะที่ความต้องการใช้เอทานอลที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผลประกอบการมีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากที่มีมาร์จินน้อยมากถึงติดลบในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
- ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง: คาดว่ารายได้จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะได้แรงหนุนจากตลาดที่เติบโตขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตยังมีแรงกดดันด้านความไม่เพียงพอของวัตถุดิบอยู่บ้างเป็นระยะทำให้อาจต้องแย่งชิงวัตถุดิบกับอุตสาหกรรมอื่น หรือแย่งชิงวัตถุดิบกับโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังขนาดใหญ่รายใหม่ที่กำลังเตรียมเข้าสู่ตลาด แนวโน้มผลประกอบการจึงน่าจะยังทรงตัว
[1] ทดแทนสารเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันเบนซิน หรือ MTBE (Methyl Tertiary Butyl Ether)
[2] ได้แก่ น้ำมันเบนซิน และกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์