ภาพรวมอุตสาหกรรมไบโอดีเซลในประเทศมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าปริมาณการใช้ไบโอดีเซลในปี 2563-2565 จะอยู่ที่ 5.8-6.5 ล้านลิตรต่อวัน หรือเติบโตในช่วง 5-10% ต่อปี ปัจจัยหนุนจาก 1) การเติบโตของภาคขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งทางบก จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค 2) จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 5-6% ต่อปี 3) นโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้ B10 (ใช้ไบโอดีเซเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลในสัดส่วน 10%) เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานในปี 2563 และการผลักดันให้มีการใช้น้ำมันดีเซล B20 เพื่อใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถบรรทุกขนาดเล็ก (รถปิกอัพ) ต่อเนื่องจากปี 2562
อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลในปี 2563-2565 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 65-70% ของกำลังการผลิตทั้งหมด เนื่องจากผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่ยังไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ทันกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจยังคงเป็นภาวะไม่แน่นอนของผลผลิตปาล์มน้ำมันและราคาที่อาจถูกแทรกแซงจากทางการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
ข้อมูลพื้นฐาน
ไบโอดีเซล หรือที่เรียกว่า B100 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตมาจากน้ำมันพืช ไขมันจากสัตว์ หรือน้ำมันที่เหลือใช้ในการปรุงอาหาร โดยผ่านกระบวนการทำให้โมเลกุลเล็กลงและอยู่ในรูปของเอทิลเอสเทอร์ (Ethyl ester) หรือเมทิลเอสเตอร์ (Methyl ester) สามารถใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล จึงเป็นการเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน
ความต้องการใช้และการผลิตไบโอดีเซลในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยคาดว่าปริมาณการใช้ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 19.5 พันล้านลิตรในปี 2553 เป็น 43.5 พันล้านลิตรในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 10% ต่อปี (ภาพที่ 1) ไบโอดีเซลมีการใช้อย่างแพร่หลายทั้งในยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา ละตินอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมทั้งบางประเทศในเอเชีย ขณะที่ปริมาณการผลิตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 20.0 พันล้านลิตร เป็น 43.1 พันล้านลิตรในช่วงเวลาเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยสหรัฐฯ บราซิล และอาร์เจนตินา เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก (ภาพที่ 2) พืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตส่วนใหญ่มาจาก เรปซีด เมล็ดทานตะวัน มะพร้าว ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน และสบู่ดำ ส่วนไทยเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลอันดับ 5 ของโลก วัตถุดิบที่ไทยใช้ผลิตส่วนใหญ่มาจากน้ำมันปาล์มดิบ (Crude palm oil)
การผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้ผสมในน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ของไทยเริ่มต้นขึ้นในปี 2550 ในระยะแรกภาครัฐกำหนดให้มีการผสมในอัตรา 2-3% เรียกว่า B2 ในปี 2555 การผสมไบโอดีเซลเพิ่มเป็น 5% (B5) และเพิ่มเป็น 7% (B7) ในปี 2557 ส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลลงในบางช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศมีไม่เพียงพอ (ปี 2558-59) และปรับเพิ่มสัดส่วนในช่วงที่มีผลผลิตส่วนเกินของปาล์มน้ำมัน (ปี 2561-62, ภาพที่ 3) ทั้งนี้ การผลิตไบโอดีเซลจะเน้นเพื่อใช้ในประเทศเกือบทั้งหมด ขณะที่การนำเข้าไบโอดีเซลจากต่างประเทศจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมธุรกิจพลังงาน
นโยบายและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ (ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ Alternative Energy Development Plan: AEDP) มีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมไบโอดีเซล โดยเฉพาะการจัดการผลผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศให้เพียงพอสำหรับการผลิตไบโอดีเซล ทั้งนี้ อุตสาหกรรมไบโอดีเซลยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เช่น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี รวมถึงได้รับการลดหย่อนภาษีสำหรับกำไรสุทธิในอัตรา 50% ของอัตราปกติเป็นเวลา 5 ปี และยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร เป็นต้น
การผลิตไบโอดีเซลของไทยใช้น้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) เป็นวัตถุดิบหลัก นอกจากนี้ ยังสามารถผลิตได้จากน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (Refined Bleached and Deodorized Palm Oil : RBDPO) ไขน้ำมันปาล์ม (Palm stearin) หรือน้ำมันพืช (ภาพที่ 4) ในปี 2561 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน 5.76 ล้านไร่ ให้ผลผลิตปาล์มดิบ 15.38 ล้านตัน นำมาผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ 2.78 ล้านตัน ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมไบโอดีเซล 1.2 ล้านตัน (สัดส่วน 43% ของปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศทั้งหมด)
อุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซลในช่วงที่ผ่านมายังมีการแข่งขันไม่สูงมากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงพัฒนา จึงยังมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายที่ผลผลิตผ่านเกณฑ์มาตรฐานของยุโรป จากข้อมูลล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2562 โรงงานผลิตไบโอดีเซลที่ขึ้นทะเบียนกับกรมธุรกิจพลังงาน มีจำนวน 12 ราย กำลังการผลิตรวม 8.31 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 7.68 ล้านลิตรต่อวันในปี 2561 ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้จากการกลั่น และการผลิตเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สำคัญคือ บจ.น้ำมันพืชปทุม รองลงมาได้แก่ บมจ.โกลบอลกรีนเคมีคอล บจ.นิว ไบโอดีเซล บจ.บางจากไบโอฟูเอล และ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ตามลำดับ (ตารางที่ 1) การผลิตไบโอดีเซลจะเน้นเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ส่วนการผลิตเพื่อใช้เองในชุมชนบ[1]ส่วนมากใช้ในภาคเกษตรและอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เป็นหลัก
ในด้านโครงสร้างต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลในประเทศ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันปาล์มดิบ (CPO)[2] ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของต้นทุนการผลิต นอกจากนั้นเป็นค่าสารเคมี 20% และค่าดำเนินการ 10% สำหรับการกำหนดราคาไบโอดีเซล (B100) ในประเทศนั้น จะเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และใช้เป็นราคาอ้างอิง[3] ในการขายให้กับโรงกลั่นน้ำมันและ/หรือผู้ค้าน้ำมันตามพ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
ผลประกอบการของธุรกิจขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) นโยบายพลังงานทดแทนของประเทศ[4] ในการบริหารจัดการสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลให้สอดคล้องกับความเพียงพอของวัตถุดิบ[5] และ 2) ส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาวัตถุดิบ (โรงกลั่นน้ำมัน/ผู้ค้าน้ำมันมักมีอำนาจต่อรองเหนือผู้ผลิตไบโอดีเซลโดยการกำหนดราคารับซื้อมาก/น้อยกว่าราคาอ้างอิงได้ตามภาวะตลาด)
สถานการณ์ที่ผ่านมา
ช่วงปี 2554-2560 อุตสาหกรรมไบโอดีเซลของไทยเติบโตตามปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลจาก 2% เป็น 5% ในปี 2555 และเพิ่มเป็น 7% ในปี 2557 ส่งผลให้ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจาก 1.72 ล้านลิตรต่อวันในปี 2554 เป็น 4.1 ล้านลิตรต่อวันในปี 2560
ในปี 2561 การใช้ไบโอดีเซลเพื่อเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 4.4 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 7.3% YoY ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจ และยอดขายรถเครื่องยนต์ดีเซลที่เพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว อีกทั้งราคาน้ำมันดีเซลที่ทรงตัวในระดับที่ยังเอื้อต่อผู้ใช้ โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 63.3 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.8% จากปีก่อนหน้า ด้านการผลิตไบโอดีเซลในปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.3 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 10.3% YoY โดยมีกำลังการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้านลิตรต่อวัน กำลังการผลิตรวมในระบบจึงเพิ่มขึ้นเป็น 7.68 ล้านลิตรต่อวันในปี 2561ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลลดลงจาก 59% ในปี 2560 เป็น 56% ในปี 2561 (ภาพที่ 5)
สำหรับสถานการณ์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพื่อเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยอยู่ที่ 4.9 ล้านลิตรต่อวัน ขยายตัว 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 (ภาพที่ 6) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก
- การขยายตัวของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศ ตามการเติบโตของภาคขนส่ง และจำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลจดทะเบียนสะสมทั้งรถเพื่อการพาณิชย์ อาทิ รถปิกอัพ รถยนต์อเนกประสงค์ประเภท PPV (Pick-up Passenger Vehicle) รถบรรทุก รถโดยสาร ในช่วง 9 เดือนของปี 2562 มีจำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 11.2 ล้านคัน เมื่อเทียบกับ 10.8 ล้านคัน ณ สิ้นปี 2561 โดยยอดจำหน่ายน้ำมันดีเซลหมุนเร็วโดยรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 64.3 ล้านลิตรต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 1.9% YoY (ภาพที่ 7)
- การสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซลในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น 20% (B20) เพื่อใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ (เริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา) อีกทั้งการสนับสนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ให้ต่ำกว่าราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลมาตรฐาน (B7) 5 บาทต่อลิตร[6] หนุนการใช้น้ำมันดีเซล B20 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ภาพที่ 8) โดยการจำหน่ายน้ำมันดีเซล B20 เฉลี่ย 9 เดือนแรก อยู่ที่ 3.4 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นสัดส่วน 5% ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วทั้งหมด
- การผลักดันการใช้น้ำมันดีเซล B10[7] ในระยะแรกทางการจูงใจด้วยมาตรการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล B10 ต่ำกว่า B7 ลิตรละ 2 บาท (เริ่ม 1 ตุลาคม 2562) อีกทั้งปตท.และบางจาก ได้มีการขยาย/เพิ่มหัวจ่ายในสถานีบริการน้ำมันเพื่อรองรับดีมานด์การใช้ B10 ที่เพิ่มขึ้นทั้งนี้ คาดว่าปัจจัยหนุนดังกล่าว จะส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเฉลี่ยในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 5.2 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 8 แสนลิตรต่อวัน จากในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 18% YoY
การผลิตไบโอดีเซลในปี 2562 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามปริมาณการใช้ไบโอดีเซลที่เติบโตในอัตราสูง ด้านกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 8.2% จากปี 2561 (ในปี 2562 มีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ระบบ 6.3 แสนลิตรต่อวัน) ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 62% จาก 56% ในปี 2561
จากสถานการณ์ข้างต้นคาดว่ามาร์จินของผู้ผลิตไบโอดีเซลมีแนวโน้มเติบโตดี โดยราคาขายอ้างอิงที่ผู้ผลิตไบโอดีเซลขายให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 เฉลี่ยอยู่ที่ 21.2 บาทต่อลิตร หรือ 24.5 บาทต่อกิโลกรัม[8] (-17.3% YoY) ขณะที่ราคาวัตถุดิบจากน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เฉลี่ยอยู่ที่ 16.7 บาทต่อกิโลกรัม (-18.2% YoY) และไขน้ำมันปาล์ม (Palm stearin) เฉลี่ยอยู่ที่ 17.0 บาทต่อกิโลกรัม (-17.8 YoY) จากราคาขายไบโอดีเซลที่ปรับลดลงในอัตราที่น้อยกว่าการลดลงของราคาวัตถุดิบ จึงทำให้ผู้ผลิตไบโอดีเซลยังคงสามารถรักษามาร์จินไว้ได้ โดยส่วนต่างระหว่างราคาขายไบโอดีเซลกับราคาวัตถุดิบ CPO (Spread) 9 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 7.8 บาทต่อกิโลกรัม (ภาพที่ 9)
แนวโน้มอุตสาหกรรม
ภาพรวมอุตสาหกรรมไบโอดีเซลในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าปริมาณการใช้ในปี 2563-2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.8-6.5 ล้านลิตรต่อวัน หรือเติบโตในช่วง 5-10% ต่อปี (ภาพที่ 10) โดยมีปัจจัยหนุนจาก
- การเติบโตของภาคขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งทางบกและทางราง (รถไฟดีเซล) จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ขยายมากขึ้นจะส่งผลให้ความต้องการใช้รถเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 5-6% ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วในประเทศจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปีระหว่างปี 2563-2565
- นโยบายของภาครัฐในการกำหนดให้ใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานแทนน้ำมันดีเซล B7 ในปี 2563 และการผลักดันให้มีการใช้น้ำมันดีเซล B20 เพื่อใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ รถโดยสารประจำทาง และรถบรรทุกขนาดเล็ก (รถปิกอัพ[9]) ต่อเนื่องจากปี 2562 คาดว่าจะมีผลให้การใช้ไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นอย่างมาก
วิจัยกรุงศรี ประมาณว่าภายในปี 2565 ปริมาณการใช้น้ำมันดีเซล B10 จะอยู่ที่เฉลี่ย 60 ล้านลิตรต่อวัน B20 อยู่ที่เฉลี่ย 5 ล้านลิตรต่อวัน และ B7 ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับรถยนต์เก่าจะมีปริมาณการใช้ลดลงอยู่ที่เฉลี่ย 2-5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นอยู่ที่เฉลี่ย 6.2-6.5 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2565
ความต้องการใช้ไบโอดีเซลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตทั้งจากผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ (อาทิ โรงกลั่นน้ำมัน โรงสกัดน้ำมันปาล์ม) จึงคาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลในปี 2563-2565 จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 65-70% ของกำลังการผลิตทั้งหมด (ภาพที่ 11)
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ในปี 2563-2565 คาดว่าอุตสาหกรรมไบโอดีเซลจะเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มความต้องการใช้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนุนจาก 1) การเติบโตของภาคขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งทางบก และจำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลสะสมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 5-6% ต่อปี 2) นโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการใช้ใบโอดีเซลผสมในน้ำมันดีเซลในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยกำหนดให้ใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานแทนน้ำมันดีเซล B7 ในปี 2563 และผลักดันให้มีการใช้ B20 เพื่อใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ รถโดยสารประจำทาง และรถบรรทุกขนาดเล็กต่อเนื่องจากปี 2562 ซึ่งจะมีผลให้การใช้ไบโอดีเซลเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของปริมาณวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบและราคาที่อาจถูกแทรกแซงจากทางการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อาจกระทบต่อความสม่ำเสมอของรายได้ผู้ประกอบการ จึงคาดว่าผลประกอบการของผู้ผลิตไบโอดีเซลยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
[1] มีจำนวนกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นศูนย์การเรียนและโครงการส่งเสริมการผลิตและการใช้ไบโอดีเซลในชุมชน
[2] อ้างอิงราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ประกาศโดยกรมการค้าภายใน
[3] หลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซลเพื่อให้สะท้อนราคาวัตถุดิบหรือต้นทุนการผลิตที่แท้จริง โดยคำนึงถึงวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล 3 ชนิด ซึ่งได้แก่ น้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ และไขน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นราคาประกาศรายสัปดาห์และขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาดโดยรวม
[4] ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 หรือ AEDP 2018
[5] กรมธุรกิจพลังงานจะมีหน้าที่ในการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลตามปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบซึ่งจะต้องจัดสรรสำหรับผลิตเพื่อการบริโภคก่อน
[6] รัฐบาลขยายการสนับสนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 จาก 3 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร ในช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง กรกฎาคม 2562 เป็นสิ้นเดือนกันยายน 2562
[7] กระทรวงพลังงานจะกำหนดให้การใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นน้ำมันดีเซลมาตรฐานแทนน้ำมันดีเซล B7 ทั่วประเทศในเดือนมีนาคม 2563
[8] คำนวณจาก 0.865 ตัน เท่ากับ 1,000 ลิตร
[9] กระทรวงพลังงาน ประกาศยี่ห้อรุ่นรถบรรทุกขนาดเล็ก เช่น รถปิกอัพกระบะ ที่สามารถใช้น้ำมัน B20 ได้แก่ รถยนต์กระบะของค่ายอีซูซุและ โตโยต้า ซึ่งเป็น 2 ค่ายรถยนต์กระบะรายใหญ่ ที่มีรถกระบะรวมกันมากถึง 70% ของรถกระบะทั้งประเทศ