EXECUTIVE SUMMARY
ปี 2566-2568 ธุรกิจวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามความต้องการทั้งจากตลาดในและต่างประเทศ ปัจจัยหนุน ได้แก่ 1) มูลค่าการลงทุนด้านก่อสร้างโดยรวมในไทยที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.0 – 3.5% ต่อปี ตามการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับ Eastern Economic Corridor (EEC) รวมถึงโครงการขยายเส้นทางคมนาคมขนส่งทางถนนและระบบรางทั่วประเทศ นอกจากนี้ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจ และ 2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลังวิกฤต COVID-19 รวมถึงการขยายตัวของการลงทุนภาคก่อสร้างทั้งโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในประเทศ CLM ซึ่งเป็นตลาดหลัก
รายได้ของผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัวท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากผู้ผลิตในประเทศและจากสินค้านำเข้า ทั้งนี้ ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะปรับกระบวนการผลิตด้วยการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพสูงและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มุ่งสู่ความยั่งยืนตาม ESG Model มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ค้าเร่งปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล เช่น การพัฒนาช่องทาง การจัดจำหน่าย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจวัสดุก่อสร้างยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจาก 1) การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น อาทิ เหล็กก่อสร้าง และกระเบื้องเซรามิก โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนามที่ได้เปรียบด้านราคา 2) ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านพลังงาน และ 3) ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งในภาคก่อสร้างและในสายการผลิตวัสดุก่อสร้าง
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ปี 2566-2568 ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามภาวะการก่อสร้างที่น่าจะทยอยฟื้นตัว ปัจจัยหนุนจาก 1) การขยายตัวของการลงทุนในโครงการก่อสร้างภาครัฐ (ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน) โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ 2) การฟื้นตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนหัวเมืองภูมิภาค และ 3) อุปสงค์ต่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่จะปรับตัวดีขึ้นจากกำลังซื้อที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ
กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง:
-
ปูนซีเมนต์: รายได้มีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของการลงทุนก่อสร้างโดยรวม ประกอบกับผู้ผลิตมีแนวโน้มขยายตลาดส่งออกใหม่ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จากเดิมที่พึ่งตลาด CLM เป็นหลัก
-
เหล็กก่อสร้าง (เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ): คาดว่ารายได้ของผู้ผลิตจะทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นหลังจากซบเซาในช่วงที่ผ่านมา แรงหนุนจากราคาเหล็กที่มีทิศทางฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังเผชิญภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนและเวียดนาม
-
กระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิก: คาดว่ารายได้ทยอยฟื้นตัว ตามทิศทางการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากสต็อกคงค้างที่ยังคงสูงในภาอสังหาริมทรัพย์ และแรงกดดันจากการแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน
กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง:
-
ร้านค้าสมัยใหม่: รายได้มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยได้ปัจจัยหนุนจาก 1) กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนในภาคก่อสร้างที่จะกระเตื้องขึ้น 2) การเพิ่มขึ้นของจำนวนสาขา และการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายโดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ 3) การผลิตสินค้าแบรนด์ของตนเอง (House brand) มากขึ้น และ 4) พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่นิยมซื้อสินค้าในร้านค้าสมัยใหม่ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายครบวงจร พร้อมมีบริการเสริมหลังการขาย อาทิ การซ่อมแซม/ต่อเติมบ้าน
-
ร้านค้าดั้งเดิม: ร้านค้าส่ง คาดว่ารายได้จะยังทรงตัวถึงกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แม้ทิศทางธุรกิจก่อสร้างจะทยอยฟื้นตัว แต่ยังต้องเผชิญภาวะการแข่งขันสูงจากทั้งกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่และกลุ่มผู้ผลิตที่หันมาจำหน่ายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง ร้านค้าปลีก รายได้มีแนวโน้มทรงตัว โดยรายได้จากสินค้าวัสดุก่อสร้างกลุ่มซ่อมแซมและต่อเติมยังขยายตัวได้บ้าง
ข้อมูลพื้นฐาน
ธุรกิจวัสดุก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญของภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โดยยอดขายวัสดุก่อสร้างผันแปรในทิศทางเดียวกับภาวะการลงทุนภาคก่อสร้าง (ภาพที่ 1) เนื่องจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างมีสัดส่วนสูงถึง 60% ของมูลค่าการก่อสร้าง (ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต, 2558) ทั้งนี้ ประเภทของวัสดุก่อสร้างหลัก แบ่งเป็น วัสดุประเภทงานโครงสร้าง (ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็กก่อสร้าง) มีมูลค่าจำหน่ายโดยรวมคิดเป็นสัดส่วน 39% ของมูลค่าการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างทั้งหมด และวัสดุประเภทงานตกแต่ง (ได้แก่ กระเบื้องเซรามิก เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก) สัดส่วน 10% (ภาพที่ 2) โดยวัสดุก่อสร้างประเภทหลัก (ยกเว้นเครื่องสุขภัณฑ์) มีสัดส่วนของปริมาณการจำหน่ายในประเทศมากกว่าการส่งออก (ภาพที่ 3)
โครงสร้างผู้ประกอบการในธุรกิจ
-
กลุ่มผู้ผลิต: ผู้ผลิตรายใหญ่และรายกลางซึ่งมีจำนวนรวมกันประมาณ 122 ราย (ข้อมูลปี 2565, เฉพาะที่มีงบการเงิน 5 ปีติดต่อกันช่วงปี 2561-2565) ส่วนใหญ่มีความได้เปรียบทั้งด้านขนาดของเงินทุน การบริหารจัดการด้านการผลิต และอำนาจต่อรองกับ Suppliers (เช่น ด้านราคาและการส่งมอบวัตถุดิบ) จึงมีศักยภาพในการผลิตสินค้าได้จำนวนมาก ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่ต่ำ (Economies of Scale) ขณะที่ผู้ผลิตรายเล็กซึ่งมีจำนวนประมาณ 205 ราย ส่วนใหญ่มีขนาดของเงินทุนจำกัดจึงยังผลิตปริมาณไม่มากด้วยต้นทุนการผลิตต่อหน่วยที่สูง ทั้งนี้ โครงสร้างธุรกิจวัสดุก่อสร้างประเภทหลัก สามารถสรุปรายละเอียด ดังตารางที่ 1
-
กลุ่มผู้ค้า: ปัจจุบัน (ปี 2565) มีจำนวนประมาณ 980 ราย1/ แบ่งเป็น ผู้ประกอบการรายใหญ่ 35 ราย รายกลาง 127 ราย และรายเล็ก 818 ราย โดยจำแนกตามลักษณะการจำหน่ายและรูปแบบการให้บริการ ดังนี้
-
กลุ่มผู้ค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้แก่ ร้านค้าวัสดุก่อสร้างที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่หน้าร้านจนถึงหลังร้าน จำหน่ายวัสดุก่อสร้างหลากหลายประเภท ตั้งแต่วัสดุก่อสร้างพื้นฐาน วัสดุซ่อมแซม/ตกแต่งบ้าน รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายกลางและรายใหญ่ ซึ่งมีความได้เปรียบจากฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและต้นทุนบริหารจัดการที่ดี ผู้ประกอบการมีการขยายสาขาในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้ง่าย โดยเฉพาะบริการหลังการขาย เช่น งานบริการซ่อมแซม งานติดตั้งวัสดุ/อุปกรณ์ทั้งในและนอกตัวอาคาร เป็นต้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น โฮมโปร (ร้านโฮมโปรเน้นขายปลีกและของตกแต่งบ้าน / เมกาโฮมเน้นขายส่งและงานรับเหมาก่อสร้าง) ไทวัสดุ สยามโกลบอลเฮาส์ ดูโฮม และบุญถาวร (ส่วนแบ่งตลาดรวมกัน 75% ของรายได้รวมในกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั้งหมด, ปี 2565)
-
กลุ่มผู้ค้าแบบดั้งเดิม (Traditional trade) ได้แก่ ร้านค้าวัสดุก่อสร้างทั่วไป ส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการแบบดั้งเดิม จำหน่ายสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างพื้นฐาน อาทิ ปูน ทราย และผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ (เช่น กลอนประตู ตะปู) จนถึงวัสดุซ่อมแซม/ตกแต่งที่อยู่อาศัย โดยเน้นกลุ่มลูกค้าภายในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงร้านค้า ผู้ค้าบางรายมีการบริหารจัดการที่ครบวงจรเพื่อให้สามารถแข่งขันกับร้านค้าสมัยใหม่ อาทิ มีสินค้าหลากหลายประเภท (ซึ่งรวมถึงสินค้าตกแต่งบ้าน) การปรับปรุงหน้าร้าน ระบบการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ ระบบตรวจสต๊อกสินค้าที่ทันสมัย ตลอดจนการให้บริการจัดส่งสินค้าที่เป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสียเปรียบกลุ่มผู้ค้าสมัยใหม่ในด้านเงินทุน การทำตลาด และความแข็งแกร่งของแบรนด์ผู้ค้า
สถานการณ์ที่ผ่านมา
กลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง
ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของวัสดุก่อสร้างหลักเกือบทุกประเภทในปี 2565 หดตัว ตามภาวะก่อสร้างโดยรวมที่ซบเซา ส่วนใหญ่เป็นผลจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ค่อนข้างล่าช้า ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภาคเอกชนโดยรวมขยายได้เพียงเล็กน้อย (ปี 2565 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างขยายตัวเพียง 0.2% โดยมูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐหดตัว -0.8% ขณะที่ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 1.6%) ขณะที่ปริมาณส่งออกลดลง4/ ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ
-
ปูนซีเมนต์
-
ปริมาณการผลิต (ไม่รวมปูนเม็ด) อยู่ที่ 42.7 ล้านตัน ลดลง -1.5% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องติดต่อกันนับจากปี 2563 ส่วนปริมาณการจำหน่ายในประเทศมีจำนวน 38.5 ล้านตัน ลดลง -3.2% หดตัวเป็นปีแรกนับจากปี 2561 (ภาพที่ 4) จากความต้องการใช้ที่ซบเซาตามภาวะการก่อสร้างที่ยังชะลอตัว และต้นทุนพลังงานที่ปรับสูงขึ้นทั้งด้านการผลิตและขนส่ง
-
ปริมาณการส่งออกมีจำนวน 2.2 ล้านตัน ลดลง -37.9% คิดเป็นมูลค่า 4.7 พันล้านบาท ลดลง -25.7% ตามการหดตัวของตลาดส่งออกหลัก อาทิ เมียนมา (สัดส่วน 42% ของปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ทั้งหมดของไทย) ลดลง -34.5% ผลจากความไม่สงบทางการเมืองในประเทศที่ยืดเยื้อ ทำให้โครงการก่อสร้างภาครัฐล่าช้า ส่วนตลาดเพื่อนบ้านอื่นๆ ยังคงผันผวน โดยกัมพูชา (สัดส่วน 24%) หดตัว -34.1% ขณะที่ สปป.ลาว (สัดส่วน 11%) เพิ่มขึ้น 2.5% (ภาพที่ 5)
-
-
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้นำเทคโนโลยี/นวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ด้วยการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic cement) ซึ่งใช้วัสดุอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly materials) แทนการใช้ปูนเม็ด (Clinker) ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ5/ (ภาพที่ 6) จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยกระทรวงอุตสาหกรรม (กุมภาพันธ์, 2566) ประเมินว่าการผลิตปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 1 ตัน สามารถลดการปล่อย CO2 ได้ 0.05 ตัน CO2 เมื่อเทียบกับการผลิตปูนซีเมนต์พอร์ตแลนด์ในปริมาณที่เท่ากัน ทำให้สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้รวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 3 แสนตัน CO2 ในปี 2564 [สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufacturers Association: TCMA)] (ภาพที่ 7) ทั้งนี้ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกสามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างประเภทต่างๆ ได้เช่นเดียวกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ซึ่งยังใช้ปูนเม็ดในสัดส่วนสูง
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง (Construction Materials Price Indexes: CMPI) ปรับเพิ่มขึ้น 5.7% ในปี 2565 ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้น 8.0% ในปี 2564 โดยดัชนีราคาเหล็กและปูนซีเมนต์ขยายตัว 8.3% และ 6.5% ตามลำดับ (ภาพที่ 13) แม้ว่าอุปสงค์จากภาคก่อสร้างยังชะลอตัว แต่มีแรงกดดันที่มีจากต้นทุนทั้งด้านพลังงานและวัตถุดิบ รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งโดย 1) ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ 2) การปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบ อาทิ แร่ยิปซั่ม เศษเหล็ก ตามต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น 3) การทยอยปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้า (ภาพที่ 14) 4) เงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบโดยเฉพาะเหล็กสูงขึ้น และ 5) การลดกำลังการผลิตเหล็กของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะจีนที่ประสบปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ (ปี 2565 จีนผลิตเหล็กดิบลดลง -1.7%) ทำให้อุปทานเหล็กในตลาดโลกยังคงชะลอตัว และราคาเหล็กยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สถานการณ์ด้านผลประกอบการปี 2565
รายได้ของกลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่7/ เพิ่มขึ้น 15.0% ส่วนอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 6.0% (ภาพที่ 16) อานิสงส์จาก 1) การขยายสาขาอย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด 2) การขยายช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ ตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ 3) การบริการครบวงจรครอบคลุมทุกขั้นตอนทั้งการก่อสร้าง ต่อเติม และตกแต่ง 4) การเติบโตของสินค้ากลุ่ม House brand ของ chain ผู้ค้าสมัยใหม่ที่มีราคาจูงใจกว่าสินค้าแบรนด์ทั่วไปจากต้นทุนด้านการตลาดที่น้อยกว่า
สถานการณ์ 5 เดือนแรก ปี 2566
มูลค่าการลงทุนภาคก่อสร้างโดยรวมในไตรมาส 1 ปี 2566 ขยายตัว 5.9% YoY มาจากการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐ 7.6% YoY และเอกชน 3.1% YoY หนุนให้ปริมาณการจำหน่ายเหล็กก่อสร้างในประเทศ 5 เดือนแรกปี 2566 เพิ่มขึ้น 13.0% YoY จากการลงทุนด้านงานโครงสร้างต่างๆ ที่อยู่ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ (+9.2% YoY) ตามแผนเร่งการลงทุน โดยเฉพาะงานโครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ EEC ระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายสุขภัณฑ์เซรามิกที่เพิ่มขึ้น 1.1% YoY ตามการฟื้นตัวของการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน (+4.6% YoY) อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และกระเบื้องเซรามิกในประเทศช่วง 5 เดือนแรกปี 2566 ลดลง -3.1% YoY และ -6.2% YoY ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดปรับปรุง/ซ่อมแซม (Renovation) ตามกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอลงจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น
ด้านการส่งออกโดยรวมยังคงหดตัว ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ ช่วง 5 เดือนแรกปี 2566 ลดลง -29.0% YoY อยู่ที่ 0.75 ล้านตัน โดยตลาดเมียนมา (ตลาดส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วน 49% ของปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ของไทย) หดตัว -26.0% YoY ตามภาวะซบเซาของการก่อสร้างที่ยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในประเทศ เหล็กก่อสร้าง ปริมาณการส่งออก -23.7% YoY โดยเป็นการหดตัวของเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ -39.3% YoY ขณะที่เหล็กเส้นขยายตัว 25.7% YoY กระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิก ปริมาณการส่งออกหดตัว -35.4% YoY และ -27.2% YoY ตามลำดับ (ตารางที่ 2) ตามการหดตัวของตลาดหลัก อาทิ เมียนมา (-28.6% YoY สำหรับตลาดกระเบื้องเซรามิก จากภาวะกำลังซื้อที่ซบเซา) และสหรัฐฯ (-49.3% YoY สำหรับตลาดสุขภัณฑ์เซรามิก จากตลาดที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวหลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายระลอก) ขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามามากขึ้น หลังจากจีนผ่อนคลาย Lockdown โดยปริมาณนำเข้าเหล็กก่อสร้าง (เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ) โดยรวม เพิ่มขึ้น 25.2% YoY กระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิก ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 12.7% YoY และ 19.2% YoY ตามลำดับ โดยปริมาณการนำเข้าจากจีนขยายตัวทั้งกระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกในอัตราการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 8.2% YoY และ 21.6% YoY ตามลำดับ
แนวโน้มธุรกิจ
ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างปี 2566-2568 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 1.5-2.0% ในปี 2566 และจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3.5-4.0% ต่อปี ในช่วงปี 2567-2568 (ภาพที่ 19)
ทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่มีแนวโน้มผลิตปูนซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นตามกระแสรักษ์โลกโดยมุ่งสู่การผลิต Green Cement ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปูนไฮดรอลิกซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในกระบวนการผลิตได้มากถึง 40% เมื่อเทียบกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ธรรมดาที่ปล่อย CO2 เกือบ 60% ในการผลิตปูนซีเมนต์แต่ละตัน (Verified Market Research, November 2022) สอดรับเป้าหมายของสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas)
10/ ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (t-CO2) ภายในปี 2566 (ภาพที่ 23) ตามแนวทาง ESG (Environment, Social and Governance Criteria) ที่เน้นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle)
-
-
เหล็กก่อสร้าง (เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ): คาดว่าปริมาณการจำหน่ายในประเทศจะยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในปี 2566 ก่อนที่จะกลับมาขยายตัว 5.5-6.0% ในปี 2567-2568 (ภาพที่ 24) อานิสงส์จากการลงทุนต่อเนื่องทั้งด้านโครงการภาครัฐและเอกชนที่อยู่ในช่วงขยายตัวในอัตราเร่ง ส่วนปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ปัจจัยหนุนจากการเร่งลงทุนก่อสร้างโครงการพื้นฐานในหลายประเทศหลังการคลี่คลายของ COVID-19 โดยเฉพาะอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย สอดคล้องกับ Worldsteel ที่คาดว่าความต้องการเหล็กในตลาดอาเซียนจะเติบโต 6.2% (ปี 2565 หดตัว -0.3%) และขยายตัว 5.7% ในปี 2567 (Worldsteel, April 2023) (ภาพที่ 25) ขณะที่ปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวตามภาคการก่อสร้างที่จะฟื้นตัวเป็นลำดับ
อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กในประเทศโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU-27) สำหรับสินค้านำเข้า หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM)11/ ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าของ EU ในสินค้าอุตสาหกรรมหนักรวมทั้งเหล็ก ต้องรายงานการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตจากประเทศต้นทางตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 หลังจากนั้นปี 2569 ผู้นำเข้าต้องซื้อ CBAM Certificateกรณีที่ยังปล่อยก๊าซเกินมาตรฐาน ทำให้ราคานำเข้าสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมของไทยไป EU ในปี 2565 มีมูลค่ารวม 9.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.0% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไป EU ขณะที่ประเทศที่ส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าไปยัง EU ในสัดส่วนสูง อาทิ ตุรเกีย รัสเซีย อินเดีย (ภาพที่ 26)
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าในกลุ่ม CBAM ไปยังตลาด EU อาจได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต และค่าตรวจประเมินให้ได้ตามมาตรฐาน CBAM ซึ่งอาจจะส่งผลให้สินค้าที่ต่ำกว่ามาตรฐาน CBAM ต้องหาตลาดส่งออกอื่นทดแทน คาดว่าผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มปรับตัวโดยปรับเปลี่ยนมาใช้เตาหลอมไฟฟ้า (Electric Arc Furnace: EAF) ในการผลิตมากขึ้น หลังจากที่ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายใหญ่ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนเตาเผามาเป็น EAF มาระยะหนึ่งแล้ว โดยการใช้ EAF นอกจากสามารถควบคุมคุณภาพน้ำเหล็กได้อย่างแม่นยำแล้ว (มีการกำจัดสิ่งปนเปื้อนออกจากเหล็กในระหว่างการหลอม) ยังช่วยประหยัดพลังงานเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการผลิตเหล็กแบบอื่นถึง 75% (มิลล์คอน สตีล, 2565) นับเป็นกลไกสำคัญที่สามารถลดการปล่อย GHG ได้ และยังได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือ Green Steel เมื่อเทียบกับเตาเผาแบบเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ ถ่านหิน ซึ่งทำให้เกิดคาร์บอนจำนวนมากในการกระบวนการผลิต โดยปัจจุบันประเทศผู้ผลิตเหล็กรายสำคัญของโลกใช้ EAF ในการผลิตเหล็กในสัดส่วนมากกว่า 20% ยกเว้นประเทศจีนซึ่งทำให้ทางการต้องออกมาตรการปิดโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงาน (ภาพที่ 27)
-
- กระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิก: คาดว่าปริมาณการจำหน่ายกระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกในประเทศช่วงปี 2566-2568 จะเติบโต 1.0-2.0% ต่อปี และ 2.5-3.0% ต่อปี ตามลำดับ (ภาพที่ 28-29) ตามการทยอยฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ จากภาวะกำลังซื้อที่จะกระเตื้องขึ้นตามกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ และการกลับเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้านการส่งออก คาดว่าปริมาณการส่งออกกระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกจะเติบโตเฉลี่ย 3.3% ต่อปี และ 0.8% ต่อปี ตามลำดับ ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะ สปป.ลาว และกัมพูชา โดยปี 2564 (ล่าสุด) ลาวนำเข้ากระเบื้องเซรามิกจากไทยในปริมาณมากที่สุดด้วยสัดส่วน 40% ของปริมาณการนำเข้ากระเบื้องเซรามิกทั้งหมดของลาว และยังมีแนวโน้มนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อใช้ในโครงการที่อยู่อาศัยที่กำลังเติบโต เช่นเดียวกับกัมพูชาที่คาดว่ามูลค่าตลาดก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะเติบโต 11.5% ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2564-2569 (Market and Research, พฤศจิกายน, 2565) ส่วนปริมาณการนำเข้ากระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิกของไทย คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 1.6% ต่อปี และ 2.0% ต่อปี ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม โดยจีนและเวียดนามยังคงเป็นแหล่งนำเข้าหลักของไทย
ในระยะปานกลางผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับกระบวนการผลิตโดยลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อผลิตสินค้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (ภาพที่ 30) อาทิ Green cement (Hydraulic cement) และ Green steel เป็นต้น รองรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ก่อสร้างอาคารที่เป็น Green building มากขึ้น (ภาพที่ 31) รวมถึงพัฒนาช่องทางการจำหน่ายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า (อาทิ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่) ทั้งด้านการออกแบบ ระยะเวลาก่อสร้าง ความแข็งแรงทนทาน ขณะเดียวกันผู้ค้าวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในโลกยุคดิจิทัล อาทิ บริการครบวงจร (End to End Service) การติดต่อกับลูกค้าได้หลากหลายช่องทางโดยการผสานทั้ง Online และ Offline (Omni channel marketing) และการทำตลาดเฉพาะบุคคล (Personalized marketing Platform) โดยนำเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ (Big data analytics) เข้าช่วยมากขึ้น ส่วนในระยะยาวทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างจะเป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable development) ตามแนวทาง ESG Framework (Environment, Social and Governance) ซึ่งกำลังเป็น Megatrends ที่สำคัญของโลก
ราคาวัสดุก่อสร้างปี 2566-2568 โดยรวมมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 32) จาก 1) การฟื้นตัวของอุปสงค์ในภาคก่อสร้าง โดยเฉพาะในปี 2567-2568 2) การปรับราคาเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า อาทิ เศษเหล็ก (Scrap) เหล็กแท่งเล็ก (Billet) ตามทิศทางราคาในตลาดโลก และ 3) ต้นทุนพลังงานที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดว่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง
1/เฉพาะบริษัทจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ที่มีงบการเงินครบต่อเนื่องติดต่อกัน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565
2/ Data from the Office of Industrial Economics on production capacity utilization and domestic consumption and production have been adjusted from 2016 onwards.
3/The move by Thai producers to establish production facilities overseas and then to reimport from there to Thailand has led to a large amount in the import figures.
4/ปริมาณส่งออกของวัสดุก่อสร้าง ประกอบด้วย ปูนซีเมนต์ เหล็กก่อสร้าง กระเบื้องเซรามิก และสุขภัณฑ์เซรามิก
5/วัสดุทดแทนปูนเม็ด เช่น หินปูน (นิยมในประเทศไทย เพราะมีปริมาณมากและคุณภาพดี) ปูนขาว เถ้าลอย ปอซโซลาน (อาทิ ซิลิกาฟูม เถ้าแกลบ และดินขาว) และกากถลุงจากเตาถลุงแบบพ่นลม เป็นต้น
6/ประกอบด้วย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 10 รายในกลุ่มปูนซีเมนต์ เหล็กก่อสร้าง กระเบื้องและสุขภัณฑ์เซรามิก
7/ประกอบด้วย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3 ราย และนอกตลาดฯ 1 ราย
8/ประกอบด้วย 9 รายในตลาดหลักทรัพย์ (ไม่รวม Lixil เนื่องจากไม่พบข้อมูลการเงินไตรมาส 1/2566)
9/ไม่รวม ซีอาร์ซี ไทยวัสดุ เนื่องจากไม่ได้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่พบข้อมูลการเงินไตรมาส 1/2566
10/ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) ที่สำคัญ อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเธน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) และกลุ่มก๊าซฟลูออริเนต เช่น ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) รวมถึงสารซีเอฟซี (CFCs) เป็นต้น
11/มาตรการ CBAM ในระยะเปลี่ยนผ่าน (ตุลาคม 2566-31 ธันวาคม 2568) มีผลบังคับใช้กับกลุ่มสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงในกระบวนการผลิต ได้แก่ ซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน (เพิ่มมาภายหลัง)