EXECUTIVE SUMMARY
อุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมปี 2568-2570 มีทิศทางขยายตัวทั้งด้านผลผลิต และความต้องการใช้ โดยผลผลิตมีแนวโน้มขยายตัวจากผลของปรากฏการณ์ La Niña ที่เอื้ออำนวยต่อการเพิ่มผลผลิต การขยายพื้นที่เพาะปลูก และการดูแลบำรุงรักษาของเกษตรกรเพื่อเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตจากราคาที่จูงใจ ขณะที่อุปทานโลกจากอินโดนีเซียและมาเลเซียยังกลับมาไม่เต็มที่จากปัญหาขาดแคลนแรงงานและปัญหาโรคใบร่วงยางพารา ส่วนปริมาณจำหน่ายในประเทศและส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจัยหนุนของความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และล้อยาง ตามภาวะฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยวในและต่างประเทศ 2) ภาคก่อสร้าง จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มเร่งตัวมากขึ้น และ 3) ผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ โดยเฉพาะถุงมือยาง ตามการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุและความเสี่ยงต่อโรคอุบัติใหม่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมยางพารายังมีความเสี่ยงทั้งด้านการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งใน CLMV ที่มีแนวโน้มขยายส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้น หลังจีนเข้าไปขยายการลงทุนเพาะปลูก และมาตรการกีดกันการค้าระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ในช่วงปี 2568-2570 ผลประกอบการของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางโดยรวมมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น แต่อาจเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น มาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี และปัญหาความไม่แน่นอนด้านผลผลิต
-
เกษตรกรสวนยาง : รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นจากภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย แม้ว่าระดับราคาอาจมีทิศทางปรับลดลง แต่คาดว่าจะลดลงในอัตราเล็กน้อย จากแรงหนุนของความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีแนวโน้มขยายตัว อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังมีความเสี่ยงด้านอุปทานจากต้นทุนเพาะปลูกโดยเฉพาะต้นทุนแรงงาน และราคาปุ๋ยที่ยังทรงตัวสูง รวมถึงต้นทุนบริหารจัดการโรคใบร่วงยางพาราที่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นเป็นระยะ อาจมีผลต่อความสามารถในการทำกำไร
-
ผู้ค้ายางพารา : รายได้มีแนวโน้มไม่แน่นอน เนื่องจากช่องทางการตลาดแคบลง โดยโรงงานอุตสาหกรรมมีแนวโน้มรับซื้อผลผลิตยางพาราโดยตรงจากเกษตรกร ตลาดกลาง หรือสหกรณ์มากขึ้น อีกทั้งผู้ค้าอาจได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการจีนเข้ามาติดต่อรับซื้อยางพาราจากกลุ่มเกษตรกรของไทยโดยตรง ซึ่งเป็นการตัดห่วงโซ่วัตถุดิบของพ่อค้าไทย รวมถึงการเปลี่ยนตลาดนำเข้าโดยเฉพาะจีนที่หันไปนำเข้าจากกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น
-
ผู้ผลิตยางพาราขั้นกลาง : รายได้มีแนวโน้มขยายตัวแต่ในอัตราไม่สูงนัก โดย
-
ผู้ผลิตยางแผ่น (Ribbed smoked sheet: RSS) และยางแท่ง (Technically specified rubber: TSR): ผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวจากความต้องการนำเข้าของจีน และยุโรป ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ล้อรถยนต์ และรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาจเผชิญการแข่งขันจากคู่แข่งโดยเฉพาะ CLMV ที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น
-
ผู้ผลิตน้ำยางข้น (Concentrated latex): ผลประกอบการมีโอกาสเติบโตตามทิศทางความต้องการของอุตสาหกรรมขั้นปลาย โดยเฉพาะถุงมือยาง และผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ แต่ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากกำลังการผลิตส่วนเกินจากการเร่งขยายกำลังการผลิตในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรค COVID-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
-
ผู้ผลิตยางคอมพาวด์ (Compound Rubber) และยางผสม (Mixed Rubber): ผลประกอบการมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนจากประเทศจีนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิตในประเทศคู่ค้าสำคัญ (อาทิ มาเลเซีย อินเดีย สหรัฐฯ ยุโรป)
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการผู้ผลิตยางพาราขั้นกลางอาจเผชิญภาวะต้นทุนที่ยังสูง โดยเฉพาะจากสารเคมีและยางสังเคราะห์ที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตตามทิศทางราคาน้ำมัน ภายใต้สถานการณ์ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับจีนขยายการลงทุนผลิตยางพารามากขึ้นทั้งต้นน้ำและกลางน้ำ อาจเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวในการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทย
ข้อมูลพื้นฐาน
ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยางพาราไทย ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมขั้นต้น (Upstream rubber industry) หมายถึงเกษตรกรสวนยาง ซึ่งเป็นผู้ปลูกยางพารา (Natural rubber) กรีดน้ำยางสด และบางรายมีการแปรรูปยางเบื้องต้นในรูปของยางแห้ง (อาทิ ยางก้อนถ้วย เศษยาง ยางแผ่นดิบ ยางเครพ1/) ซึ่งผลผลิตยางขั้นต้นเกือบทั้งหมดของไทยใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางในประเทศ
2) อุตสาหกรรมขั้นกลาง หรืออุตสาหกรรมยางพาราแปรรูป (Intermediate rubber industry) เป็นการนำผลผลิตยางขั้นต้นจากเกษตรกร2/ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลาง อาทิ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางคอมพาวด์ ยางผสม ยางสกิม ที่มีลักษณะและคุณสมบัติเหมาะสำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลาย และ 3) อุตสาหกรรมขั้นปลาย หรืออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (Downstream rubber industry) อาทิ ยางรถยนต์ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ยางยืด เป็นต้น โดยในการผลิตยางขั้นปลายบางประเภทอาจใช้ยางสังเคราะห์ (Synthetic rubber: SR) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี3/ เป็นวัตถุดิบร่วมเพื่อให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายแต่ละประเภท
ผลผลิตยางขั้นกลางของไทยส่วนใหญ่ส่งออกเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายในต่างประเทศ (สัดส่วนส่งออก 76.4% ของผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางทั้งหมด ข้อมูล ณ ปี 2566) โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน (สัดส่วน 60.2% ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางทั้งหมด) มาเลเซีย (8.4%) สหรัฐอเมริกา (5.4%) ญี่ปุ่น (4.7%) และ อินเดีย (3.3%) ส่วนผลผลิตที่เหลือ (สัดส่วน 23.6%) ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายภายในประเทศ โดยใช้ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์เป็นหลัก (สัดส่วน 53.5% ของความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางทั้งหมดในประเทศ) รองลงมา คือ ยางยืด (9.8%) ถุงมือยางทางการแพทย์ (9.0%) และอื่นๆ อาทิ อะไหล่ยานยนต์ ถุงยางอนามัย ท่อยาง ยางรัด เป็นต้น (Box 1)
ในปี 2566 อุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางของไทยมีมูลค่าตลาด (รวมส่งออกและใช้ในประเทศ) ประมาณ 252.0 พันล้านบาท4/ โดยไทยสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางหลากหลายประเภท เนื่องจากยางพาราขั้นต้นของไทยส่วนใหญ่เป็นการผลิตน้ำยางพาราสด (Field latex) มีสัดส่วนเฉลี่ย 90% ของผลผลิตยางพาราขั้นต้นทั้งหมด ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางได้ทุกประเภท ส่วนที่เหลือเป็นยางแห้งโดยผลิตในรูปของยางก้อนถ้วย (Cup lump) รวมถึงเศษยางและขี้ยาง ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลางของไทย ประกอบด้วยยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางคอมพาวด์ ยางผสม และอื่นๆ โดยยางแท่งเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางที่ไทยมีปริมาณการผลิตสูงสุด สัดส่วนประมาณ 32.4% ของปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางทั้งหมดของไทย
-
อุตสาหกรรมน้ำยางข้น (Concentrated latex) ของไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 38.2 พันล้านบาทในปี 2566 โดยเน้นส่งออกในสัดส่วน 60.4% ของปริมาณจำหน่ายน้ำยางข้นทั้งหมดของไทย โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกราว 44.0% ของปริมาณการค้าน้ำยางข้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งของไทยในตลาดโลกปรับลดลงตั้งแต่ปี 2562 (ภาพที่ 4) จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ตลาดในประเทศมีความต้องการใช้น้ำยางข้นมากขึ้นจากเดิมเฉลี่ยที่ 20% ของปริมาณจำหน่ายน้ำยางข้นทั้งหมดของไทย หรือ 1.8-1.9 แสนตัน/ปี ในช่วงปี 2558-2561 มาอยู่ที่ระดับ 24.1-39.6% หรือ 2.2-2.9 แสนตัน/ปี ในปี 2562-2566 ส่วนใหญ่เพื่อนำไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และถุงมือยางในประเทศ ทำให้ตลาดส่งออกหลักคือมาเลเซียที่มีสัดส่วนถึง 43.9% ของปริมาณส่งออกน้ำยางข้นทั้งหมด และจีน (34.7%) บางส่วนหันมานำเข้าจากเวียดนามทดแทน (Box 1) ทั้งนี้ ความต้องการใช้น้ำยางข้นในอุตสาหกรรมขั้นปลายของตลาดส่งออกส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมถุงมือยางและถุงยางอนามัย
-
อุตสาหกรรมยางอื่นๆ ที่สำคัญ คือ ยางคอมพาวด์ (Compound rubber) และยางผสม (Mixed rubber/Mixture rubber) ซึ่งอุตสาหกรรมยางคอมพาวด์และยางผสมของไทยมีมูลค่าตลาดราว 76.7 พันล้านบาทในปี 2566 โดยตลาดส่งออกมีสัดส่วนถึง 90.5% ของปริมาณจำหน่ายยางคอมพาวด์และยางผสมทั้งหมดของไทย โดยตลาดส่งออกแบ่งออกได้ ดังนี้
-
ยางคอมพาวด์ ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกอยู่ในอันดับ 5 รองจากเยอรมนี สหรัฐฯ อิตาลี และแคนาดา ตามลำดับ (ภาพที่ 5) อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งตลาดของไทยลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 5.5-6.0% ในช่วงปี 2562-2566 (จากประมาณ 8.0-10.0% ในช่วงปี 2559-2561) เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนปรับลดการผลิตยางคอมพาวด์โดยหันไปผลิตน้ำยางข้นตามความต้องการใช้ในการผลิตถุงมือยางมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยในปี 2566 อินเดียเป็นตลาดส่งออกหลักคิดเป็นสัดส่วนราว 34.1% ของปริมาณส่งออกยางคอมพาวด์ทั้งหมดของไทย รองลงมาเป็นสหรัฐฯ (15.0%) และจีน (14.5%) (Box 1)
-
ยางผสม ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นเวียดนาม มาเลเซีย และเมียนมา ตามลำดับ (ภาพที่ 6) โดยส่วนแบ่งตลาดของไทยเร่งตัวขึ้นมากในปี 2558 มาเฉลี่ยอยู่ที่ 45.0-48.0% ในช่วงปี 2562-2566 (จาก 4.0%-23.0% ในช่วง 2552-2557) โดยจีนเป็นตลาดหลักของโลกในสัดส่วนกว่า 99.2% รองลงมาเป็นอิตาลี (0.4%) และอินเดีย (0.1%) ในปี 2566 จีนเป็นตลาดส่งออกเกือบทั้งหมดของไทยคิดเป็นสัดส่วนราว 98.8% ของปริมาณส่งออกยางผสมทั้งหมดของไทย รองลงมาเป็นอินเดีย (1.2%) (Box 1) อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนนำเข้ายางผสมจากไทยเพียง 45.5% ของความต้องการยางผสมทั้งหมดของจีน ที่เหลือจีนนำเข้าจากเวียดนาม (39.0%) และมาเลเซีย (9.8%) (ภาพที่ 7) ทั้งนี้ การผลิตยางผสมของไทยส่วนใหญ่มียางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักสัดส่วนประมาณ 90-95% ของปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทั้งหมด ที่เหลือเป็นยางสังเคราะห์ และ/หรือสารเคมี ทั้งนี้สัดส่วนการผสมจะขึ้นอยู่กับความต้องการของลักษณะผลิตภัณฑ์ที่อุตสาหกรรมขั้นปลายประเทศต้องการใช้
จากลักษณะธุรกิจที่เน้นพึ่งพาตลาดส่งออก ทำให้ภาวะอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางของไทยผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมขั้นปลายในประเทศคู่ค้า การที่ลักษณะสินค้าเป็นการแปรรูปอย่างง่ายและสินค้ามีความแตกต่างกันน้อย (Low product differentiation) ทำให้อุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลางของไทยเผชิญการแข่งขันรุนแรงในตลาดโลก ในปี 2566 ผลผลิตยางพาราธรรมชาติทั่วโลกมีปริมาณทั้งสิ้น 14.8 ล้านตัน โดยประเทศไทยมีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 34.9% ของผลผลิตโลก รองลงมา ได้แก่ อินโดนีเซีย โกตดิวัวร์ เวียดนาม อินเดีย และจีน ตามลำดับ สะท้อนว่าภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก (สัดส่วนมากกว่า 84% ของผลผลิตยางพาราทั่วโลก) คู่แข่งหลักของไทยจึงเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศกลุ่ม CLMV (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam) (ภาพที่ 8) ซึ่งมีผลผลิตยางพาราส่วนเกินในระดับสูงและส่งออกเช่นเดียวกับไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังคงสถานะเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลาง (Intermediate Rubber Industry) สำคัญของโลก โดยเฉพาะน้ำยางข้น ยางแผ่นรมควัน และยางผสมที่ไทยมีการส่งออกมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนยางแท่งส่งออกเป็นอันดับสองของโลก
ด้านปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางทั่วโลกในปี 2566 อยู่ที่ 15.3 ล้านตัน โดยความต้องการใช้ยางพาราส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์และถุงมือยางเพื่อใช้ป้องกันโรคและสุขอนามัยทั่วไป และกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างทั่วไปตลอดจนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยจีนเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนสูงถึง 45.7% และ 45.9% ของปริมาณการบริโภคและนำเข้าของโลกตามลำดับ รองลงมาได้แก่ อินเดีย ไทย สหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม (ภาพที่ 8 และ 9) ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยจึงมีลักษณะกระจุกตัวอยู่ในประเทศผู้บริโภครายใหญ่ โดยในปี 2566 ไทยพึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนถึง 60.2% และมาเลเซีย 8.4% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะการส่งออกยางผสมที่ส่งออกไปจีนเกือบทั้งหมด (98.8%) ขณะที่ยางแท่งกระจุกตัวในตลาดจีนเกือบกึ่งหนึ่งของตลาดส่งออกยางแท่งของไทย (สัดส่วน 45.9%) และการส่งออกน้ำยางข้นกระจุกตัวในตลาดมาเลเซีย (43.9%) และจีน (34.7%) ทำให้อุตสาหกรรมยางพารามีความเสี่ยงสูงต่อภาวะผันผวนทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกหลัก
นอกจากนี้ การที่จีนได้เข้าไปลงทุนขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในประเทศ CLMV ในช่วงปี 2549-2555 ทำให้มีปริมาณผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น ไทยจึงเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศคู่แข่งดังกล่าว ส่วนหนึ่งสะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกของกลุ่มประเทศ CLMV ที่เพิ่มขึ้น (ภาพที่ 2) โดยในช่วงปี 2561-2566 กลุ่มประเทศ CLMV ส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21.0% ต่อปี จาก 1.2 ล้านตันในปี 2561 เป็น 3.1 ล้านตันในปี 2566 ปริมาณการรับซื้อยางพาราของจีนจากแหล่งประเทศ CLMV ที่จีนเข้าไปลงทุนเองเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงอำนาจต่อรองของจีนในการรับซื้อยางพาราในตลาดโลกมากขึ้นเป็นลำดับ
สถานการณ์ที่ผ่านมา
ปี 2566 ประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกยางพาราโดยรวม 24.0 ล้านไร่ (-0.9%) ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้คิดเป็นสัดส่วนราว 57.5% ของพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวปรับลดลงต่อเนื่องจากที่เคยสูงถึง 63.3% ในช่วง 11 ปีก่อน เนื่องจากมีการปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น (26.0% ของพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศ) (ภาพที่ 10) โดยผลผลิตยางพาราขั้นต้น 4.7 ล้านตัน ลดลง -1.6% ผลจาก 1) พื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงจากเกษตรกรโค่นต้นยางอายุมากซึ่งให้ผลผลิตน้อย แล้วปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน อาทิ ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน 2) ผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดลดลงทั่วทุกภาค5/ สาเหตุจากหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาภัยแล้งจากเอลนีโญทำให้ผลผลิตลดลง การระบาดของโรคใบร่วงยางพาราทั้งสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์ใหม่ การลดใส่ปุ๋ยจากราคาปุ๋ยที่ทรงตัวสูงตามราคาพลังงาน และ 3) การขาดแคลนแรงงานในการกรีดยางบางพื้นที่ โดยนำไปแปรรูปเป็นผลผลิตยางพาราขั้นกลางได้จำนวน 5.15 ล้านตัน ทรงตัว (ขยายตัวเพียง 0.1%) (ภาพที่ 11) ส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวของผลผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราอื่นๆ (อาทิ ยางเครพ ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นผึ่งแห้ง เศษยาง และขี้ยาง) ที่ขยายตัวกว่า 515.2% ขณะที่ผลิตภัณฑ์หลักหดตัวทั้งหมด อาทิ ยางแผ่น (-45.2%) น้ำยางข้น (-28.2%) ยางแท่ง (-16.1%) ยางคอมพาวด์ (-2.2%)
ความต้องการใช้ยางพาราขั้นกลางในประเทศขยายตัว 18.7% อยู่ที่ 1.2 ล้านตัน6/ ในปี 2566 ส่วนใหญ่จากการเร่งตัวของความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางแท่ง 6.2 แสนตัน (+60.3%) และน้ำยางข้น 2.9 แสนตัน (+31.7%) แม้มีการหดตัวของบางผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กลุ่มยางคอมพาวด์และยางผสมซึ่งรวมกันเหลือ 1.7 แสนตัน (-20.5%) ยางแผ่นรมควัน 1.1 แสนตัน (-11.7%) และยางประเภทอื่นๆ 3.9 หมื่นตัน (-57.2%) แรงหนุนการเติบโตมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศที่ใช้วัตถุดิบยางพารา โดยเฉพาะ 1) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิ อะไหล่รถยนต์ (+198.7%) ล้อยางรถยนต์ (+8.5%) และ 2) อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ตามการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และงานด้านสุขอนามัยต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น อาทิ ถุงมือยาง (+4.9%) ถุงยางอนามัย (+17.4%) และยางยืด (ส่วนที่ถูกนำมาใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์) (+25.3%) (ภาพที่ 12)
ปริมาณส่งออกยางพาราขั้นกลางของไทยหดตัว -11.2% อยู่ที่ 4.5 ล้านตัน7/ คิดเป็นมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (-23.9%) ในปี 2566 โดยหดตัวจากผลิตภัณฑ์หลักเกือบทั้งหมด อาทิ ยางแผ่น (-22.6%) ยางแท่ง (-5.1%) น้ำยางข้น (-30.0%) และยางผสม (-0.4%) ซึ่งหดตัวจากจีนที่เป็นตลาดหลัก (-0.5%) และตลาดรอง อาทิ มาเลเซีย (-30.2%) สหรัฐฯ (-15.7%) ญี่ปุ่น (-9.5%) เกาหลีใต้ (-48.7%) ฝรั่งเศส (-52.4%) แรงฉุดจาก 1) กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ลดลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ 2) ความต้องการสินค้าขั้นปลายลดลง อาทิ รถยนต์ อะไหล่ยานยนต์ ถุงมือยาง และอุปกรณ์ทางการแพทย์8/ ส่งผลให้ความต้องการวัตถุดิบของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากประเทศผู้ผลิตลดลง 3) ภาคการผลิตชะลอตัวส่งผลให้ความต้องการสต๊อกยางของประเทศคู่ค้าลดลง โดยสต๊อกยางพาราในตลาดล่วงหน้าเซี่ยงไฮ้และญี่ปุ่นในปลายปี 2566 ทรงตัวอยู่ที่ 0.19 ล้านตัน และ 5.2 พันตัน ตามลำดับ ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.19 ล้านตัน และ 5.0 พันตัน (ภาพที่ 13) และ 4) จีนนำเข้ายางพาราจากประเทศคู่แข่งทดแทนโดยเฉพาะโกตดิวัวร์ (+81.2%) รองลงมาเป็นเวียดนาม (+12.3%) และอินโดนีเซีย (+30.8%) ซึ่งได้เปรียบจากราคายางที่ต่ำกว่าของไทย9/ โดยสถานการณ์ส่งออกในปี 2566 ของแต่ละผลิตภัณฑ์ (ภาพที่ 14-15) มีรายละเอียดดังนี้
-
ยางแผ่นรมควัน : ปริมาณส่งออก 0.35 ล้านตัน (-22.6%) คิดเป็นมูลค่า 566.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-35.3%) ตามการส่งออกไปจีนที่หดตัวถึง -26.2% ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอคำสั่งซื้อ ประกอบกับจีนหันไปนำเข้าจากประเทศเมียนมา (+13.8%) ตามการเข้าไปลงทุนเพาะปลูกยางพาราของผู้ประกอบการจีนซึ่งมีระดับราคายางแผ่นรมควันต่ำกว่าของไทย เช่นเดียวกับปริมาณส่งออกไปตลาดสำคัญอื่นๆ ที่ลดลง อาทิ สหภาพยุโรป (-37.7%) สหรัฐฯ (-19.9%) และญี่ปุ่น (-13.3%) ตามลำดับ จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สอดคล้องกับราคาส่งออกปรับลดลงอยู่ที่ตันละ 1,598.6 ดอลลาร์สหรัฐ (-16.3%)
-
ยางแท่ง : ปริมาณการส่งออก 1.58 ล้านตัน (-5.1%) คิดเป็นมูลค่า 2,254.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-20.0%) โดยส่วนใหญ่เป็นการหดตัวของตลาดรอง อาทิ เกาหลีใต้ (-52.8%) สหภาพยุโรป (-24.5%) สหรัฐฯ (-12.8%) และอินเดีย (-19.6%) ตามลำดับ ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการผลิตรถยนต์ ทำให้ราคาส่งออกยางแท่งลดลงอยู่ที่ตันละ 1,429.8 ดอลลาร์สหรัฐ (-15.7%) (ภาพที่ 15) อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักยังขยายตัวได้ 35.1% อยู่ที่ 0.72 ล้านตัน จากนโยบายการอยู่ร่วมกับ COVID-19 และการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนบางส่วนกลับมาดำเนินการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางรถยนต์รองรับการขนส่งและเดินทางที่เริ่มกระเตื้องขึ้น
-
น้ำยางข้น : ปริมาณส่งออก 0.77 ล้านตัน (-30.0%) คิดเป็นมูลค่า 805.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-41.8%) ตามการหดตัวของ 2 ตลาดหลักได้แก่ จีนที่ลดลง -37.4% เหลือ 0.27 ล้านตัน และมาเลเซียที่ลดลง -29.6% เหลือ 0.34 ล้านตัน ผลจากสถานการณ์โรค COVID-19 เริ่มคลี่คลายลงทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และถุงมือยางลดลง นอกจากนี้ สหรัฐซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักของถุงมือยางได้ออกมาตรการห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติเพื่อเลี่ยงการแพ้สารโปรตีนในถุงมือของผู้บริโภค ส่งผลให้ราคาส่งออกปี 2566 ลดลงอยู่ที่ตันละ 1,042.2 ดอลลาร์สหรัฐ (-16.9%)
-
ยางคอมพาวด์ : ปริมาณส่งออก 0.11 ล้านตัน (+2.7%) คิดเป็นมูลค่า 273.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-10.8%) จากการขยายตัวในตลาดหลักโดยเฉพาะอินเดีย (+29.8%) รองลงมาเป็นอิตาลี (+158.2%) เม็กซิโก (+99.5%) และออสเตรเลีย (+14.0%) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปริมาณส่งออกไปยังบางตลาดสำคัญหดตัว อาทิ สหรัฐฯ (-24.0%) สหภาพยุโรป (-19.7%) และจีน (-7.5%) ตามภาวะการผลิตที่ยังซบเซาสะท้อนจากดัชนี Purchasing Manager Index (PMI) ภาคการผลิตของประเทศเหล่านี้ที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 จุด (ภาพที่ 16) ส่งผลให้ราคาส่งออกเฉลี่ยโดยรวมลดลงอยู่ที่ตันละ 2,425.0 ดอลลาร์สหรัฐ (-13.2%)
-
ยางผสม : ปริมาณส่งออก 1.62 ล้านตัน (-0.4%) คิดเป็นมูลค่า 2,244.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (-15.3%) จากการหดตัวของตลาดจีน (-0.9%) ซึ่งครองส่วนแบ่งถึง 98.8% ของการส่งออกยางผสมของไทยทั้งหมด โดยการส่งออกยางผสมไปจีนส่วนใหญ่เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์10/ แม้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ของจีนเริ่มมีสัญญานกระเตื้องขึ้นจากการเปิดประเทศ และการเร่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้มูลค่านำเข้ายางผสมของจีนยังคงขยายตัวกว่า 10.2% แต่จีนหันไปนำเข้ายางผสมที่ราคาถูกจากเวียดนาม และลาวมากขึ้น สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยที่ลดลง
สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 อุตสาหกรรมยางพาราขั้นต้นหดตัว โดยดัชนีผลผลิตแผ่นยางพาราไม่รมควันชั้น 3 ลดลง -0.5% YoY จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเข้าสู่ช่วงภาวะ El Niño ปริมาณฝนที่ลดลง ปัญหาโรคใบร่วงยางพารา ส่งผลให้การผลิตยางพาราขั้นกลางหดตัวตามไปด้วย โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางผสมลดลง -10.1% YoY -1.5% YoY -10.9% YoY และ -17.4% YoY ตามลำดับ สวนทางกับทิศทางความต้องการใช้ทั้งในประเทศและส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งโรงงานล้อยาง การลงทุนของค่ายรถยนต์ไฟฟ้า ความต้องการชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์เพื่อซ่อมบำรุงจากการเปิดประเทศในภาคท่องเที่ยวและพาณิชย์ โดยภาวะที่อุปทานมีทิศทางลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการ (Supply shortage) ประกอบกับปัจจัยหนุนด้านนโยบาย อาทิ การเปิดประมูลยางพาราตามเกณฑ์ EUDR11/ การพัฒนาการคำนวณราคาอ้างอิงยางพารา (Rubber reference price)12/ และการปราบปรามผู้ค้ายางเถื่อนที่ราคาถูกอย่างต่อเนื่อง หนุนให้ราคายางพาราโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้น โดยค่าดัชนีราคาแผ่นยางพาราไม่รมควันชั้น 3 เพิ่มขึ้นถึง 57.8% YoY ดัชนีรายได้เกษตรกรชาวสวนยางจึงปรับสูงถึง 53.9% YoY (ภาพที่ 17) ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องทำให้ดัชนีผลผลิตปี 2567 จะลดลงราว -0.5% ถึง -1.5% ขณะที่ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นราว 57.0-59.0% ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรขยายตัวราว 53.0-54.0% ขณะที่ผลผลิตยางพาราขั้นกลางคาดว่าจะอยู่ที่ -3.5% ถึง -4.5%
ปริมาณการจำหน่ายยางพาราขั้นกลางในประเทศช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 หดตัว ตามภาวะขาดแคลนอุปทานวัตถุดิบ โดยผลิตภัณฑ์ยางแผ่น และน้ำยางข้นหดตัว -2.7% YoY และ -9.7% YoY ตามลำดับ แต่ยางแท่งและยางผสมยังเติบโตได้ 2.7% YoY และ 9.6% YoY ตามลำดับ แม้ว่าทิศทางความต้องการใช้ยางพาราจากอุตสาหกรรมปลายน้ำยังคงเติบโตได้สะท้อนจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ โดยเฉพาะ 1) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนที่เร่งตัวจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมบริการและขนส่งต้องมีการซ่อมบำรุงยานยนต์ อาทิ อะไหล่รถยนต์ (+6.7% YoY) ล้อยางรถยนต์ (+4.2% YoY) ล้อยางรถบรรทุก (+5.2% YoY) ยางหล่อดอก (+3.0% YoY) และ 2) อุตสาหกรรมทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง (+13.1% YoY) ถุงยางอนามัย (+77.8% YoY) แต่จากปัญหาขาดแคลนอุปทาน ทำให้คาดว่าปริมาณจำหน่ายยางพาราขั้นกลางในประเทศทั้งปี 2567 จะหดตัว -3.0% ถึง -6.0% เฉลี่ยอยู่ที่ 1.1-1.2 ล้านตัน13/
ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ 3.5 ล้านตัน หดตัว -5.3% YoY คิดเป็นมูลค่า 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.3% YoY โดยประเทศจีนยังคงเป็นตลาดหลักมีสัดส่วน 50.9% ของปริมาณส่งออกยางพาราขั้นกลางทั้งหมดของไทย รองลงมาเป็นมาเลเซีย (8.9%) สหรัฐฯ (6.7%) ญี่ปุ่น (5.9%) และอินเดีย (4.5%) ตามลำดับ โดยปริมาณการส่งออกหดตัวจากผลิตภัณฑ์ยางผสมเป็นหลักโดยอยู่ที่ 1.04 ล้านตัน (-24.6% YoY) รองลงมาเป็นน้ำยางข้นอยู่ที่ 0.56 ล้านตัน (-14.8% YoY) และยางแผ่นอยู่ที่ 0.28 ล้านตัน (-4.8% YoY) ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ยังเติบโต ได้แก่ ยางแท่งอยู่ที่ 1.53 ล้านตัน (+19.5% YoY) และยางคอมพาวด์อยู่ที่ 0.09 ล้านตัน (+0.7% YoY) โดยภาพรวมตลาดส่งออกหดตัวจากประเทศจีนเป็นหลัก (-20.7% YoY) ทั้งผลิตภัณฑ์ยางแผ่น (-56.2% YoY) น้ำยางข้น (-43.8% YoY) ยางคอมพาวด์ (-18.2% YoY) และยางผสม (-25.6% YoY) อย่างไรก็ตาม การส่งออกยางแท่งไปจีนยังขยายตัวได้ (+4.2% YoY) จากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าในจีนที่สูงเป็นประวัติการณ์จากการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ และชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อใช้ซ่อมบำรุงของภาคบริการ ท่องเที่ยว และขนส่ง ขณะที่ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลางไปตลาดรองยังขยายตัวได้ อาทิ สหรัฐฯ (+23.5% YoY) อินเดีย (+29.9% YoY) ญี่ปุ่น (+25.1% YoY) จากภาวะเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ยังเติบโตได้เล็กน้อย ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณส่งออกทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ 4.1-4.2 ล้านตัน หดตัว -6.0% ถึง -7.0%
การเคลื่อนไหวของราคายางพารา การเปลี่ยนแปลงของราคายางพาราในปัจจุบัน นอกจากจะขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านอุปสงค์ อุปทาน และสต๊อกของอุตสาหกรรมยางพาราในตลาดโลกแล้ว ยังผันแปรตามราคาน้ำมันมากขึ้น พิจารณาจากค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation coefficient) ของราคาน้ำมันดูไบและราคายางธรรมชาติโดยเฉลี่ย (รายเดือน) ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.73 ในปี 2565-2566 (สูงสุดในรอบ 15 ปี) (ภาพที่ 18) เนื่องจากราคายางสังเคราะห์ (ที่ได้จากน้ำมันดิบ) มีราคาสูงตามความต้องการในตลาดโลกส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ยางธรรมชาติทดแทนมากขึ้น ขณะที่ผลผลิตยางโลกมีทิศทางลดลงจากปัญหาภัยแล้ง โรคใบร่วงยางพารา และการขาดแคลนแรงงานกรีดยาง ซึ่งผลผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการยางธรรมชาติโลกที่ยังมีต่อเนื่อง ปัญหาขาดแคลนอุปทาน (Supply shortage) ส่งผลให้ราคายางพาราโลกและของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยางแผ่นดิบชั้น 3 ไม่รมควันของไทยอยู่ที่ 70.2 บาท/กก. (+54.6% YoY) เช่นเดียวกับราคาส่งออกยางแผ่นรมควันอยู่ที่ 2,244.5 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น +40.2% YoY ยางแท่งอยู่ที่ 1,775.3 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (+25.4% YoY) น้ำยางข้นอยู่ที่ 1,363.4 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (+31.9% YoY) ยางคอมพาวด์อยู่ที่ 2,630.4 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (+8.5% YoY) และยางผสมอยู่ที่ 1,643.8 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (+19.4% YoY) สอดคล้องกับทิศทางของราคายางในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นโดยราคายางแท่ง TSR 20 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,711.8 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (+25.4% YoY)
แนวโน้มอุตสาหกรรม
ปี 2568-2570 ภาพรวมอุตสาหกรรมยางพาราของไทยมีแนวโน้มขยายตัวทั้งด้านผลผลิต ปริมาณจำหน่ายในประเทศ และส่งออก โดย
- ผลผลิตยางพาราขั้นกลางของไทยคาดว่าจะขยายตัวในทิศทางและอัตราเดียวกับผลผลิตยางพาราโลก โดยจะเติบโตในอัตราเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี14/ แรงหนุนหลักจาก 1) สถานการณ์ La Niña ที่คาดว่าจะยังคงมีผลต่อเนื่องราว 1-2 ปี 15/ ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศและอุณหภูมิเอื้ออำนวยต่อการให้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น (ภาพที่ 19) ทำให้คาดว่าผลผลิตยางพาราขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.5-1.5% ต่อปี 2) การขยายพื้นที่ปลูกในช่วงปี 2546-255616/ และการปลูกยางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือในช่วงปี 2558 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตน้ำยางต่อไร่สูง17/ และ 3) แรงจูงใจในการดูแลรักษาและเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกรจากทิศทางราคายางพาราที่สูงกว่าในรอบ 12 ปี (ช่วงปี 2556-2567) อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของผลผลิตในประเทศยังมีความเสี่ยงจากโรคที่ยังระบาดต่อเนื่องโดยเฉพาะโรคใบร่วงยางพาราทั้งสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์ใหม่18/ เกษตรกรบางส่วนจึงหันไปปลูกพืชหรือสัตว์เศรษฐกิจอื่นทดแทน (อาทิ ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน โคเนื้อ แพะ)
ประเด็นท้าทายของอุตสาหกรรมยางพารา ได้แก่ 1) จีนหันไปนำเข้าจากกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้นหลังจากที่กลุ่มนักลงทุนจีนได้ขยายการเพาะปลูกยางพาราใน CLMV อย่างต่อเนื่อง และผลผลิตเริ่มเข้าสู่ตลาด อาจทำให้จีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยมีความต้องการนำเข้ายางพาราจากไทยลดลง 2) การกีดกันการนำเข้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศผู้นำเข้า รวมถึงการบังคับใช้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากล หรือระบบการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน อาทิ กฎระเบียบของยุโรปว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR)21/ กฎระเบียบการจัดการความยั่งยืนของยุโรป (CSDDD)22/ รวมถึงมาตรฐานการผลิตหรือการใช้สินค้าขั้นปลายที่รักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ สหรัฐฯออกกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติในธุรกิจบริการ อุตสาหกรรมอาหาร และภาคบริการทางการแพทย์ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิล การลดคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนสูงขึ้นในการปรับตัวตามมาตรการดังกล่าว 3) ปัญหาขาดแคลนอุปทาน (Supply shortage) ทั้งจากปัจจัยเสี่ยงทางธรรมชาติและการปรับตัวของอุตสาหกรรม อาทิ สภาพอากาศแปรปรวน โรคระบาดโดยเฉพาะโรคใบร่วงยางพาราทั้งสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์ใหม่ การขาดแคลนแรงงานกรีดยาง เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางพาราลดลง และ 4) ปัญหาต้นทุนการผลิต (อาทิ ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี23/ และพลังงาน) ที่อาจยังเผชิญภาวะผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลกท่ามกลางความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่น่าจะยังมีต่อเนื่อง
แนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมยางพาราในระยะถัดไป
-
มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของยุโรป (The EU Deforestation Regulation: EUDR)
-
ภาครัฐ มุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราของไทยให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (มอก. 14061) โดยครอบคลุมตั้งแต่การเพาะปลูก การดูแล การเก็บเกี่ยวผลผลิต การลงทะเบียนเกษตรกรและพื้นที่ปลูก การลงทะเบียนผู้ประกอบการและสถานที่ตั้งโรงงาน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุตสาหกรรมสามารถใช้แสดงเอกสารทางกฎหมาย ติดตามแหล่งที่มาและตรวจสอบอนกลับ ตลอดจนการบริหารจัดการเพื่อให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ยางพารา ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)
-
ภาคเอกชน การสรรหาวัตถุดิบ การปรับปรุงกระบวนการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดรับกับมาตรฐานสินค้าทั้งของไทย และของประเทศคู่ค้า เพื่อให้เข้าถึงตลาดได้อย่างต่อเนื่อง และเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจสีเขียว ESG หรือ SDGs
-
สนับสนุนกระแส ESG และ SDGs เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ
-
สิ่งแวดล้อม (Environment): กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดสรรพลังงาน เชื้อเพลิง และน้ำให้มีประสิทธิภาพ การบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐาน การปลูกป่า สร้างฝาย การปล่อยพันธ์สัตว์น้ำและสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ การใช้ตัวกรองกลิ่นในการจัดการคุณภาพอากาศ การแยกขยะและของเสียที่มาจากทุกขั้นตอนของห่วงโซ่ธุรกิจ
-
สังคม (Social): การส่งเสริมความรู้ การจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย การปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบสิ่งแวดล้อม มาตรฐานชีวอนามัย การช่วยเหลือสนับสนุน และมีส่วนร่วมกับชุมชน อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างจากชุมชน การช่วยเหลือด้านอาหารเมื่อเกิดภัยพิบัติ การทำความสะอาดและสนับสนุนอุปกรณ์การศึกษา การบริจาคผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ชุมชน
-
ธรรมาภิบาล (Governance): เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกกระบวนการจัดซื้อ จัดหา และจัดจ้าง การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเหมาะสม การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ตลอดจนการสร้างกฎระเบียบต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบในองค์กร
1/ ยางเครพ (Crepe rubber) เป็นการนำยางก้อนถ้วยและเศษยางมาทำความสะอาดและรีดเป็นแผ่น แล้วนำไปผึ่งแห้ง หรืออบแห้งด้วยลมร้อน ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่เป็นยางเครพสีน้ำตาล (Brown crepe rubber) ทั้งนี้ การแปรรูปยางของกลุ่มเกษตรกรสวนยางในลักษณะนี้ยังคงอยู่ในภาคใต้เป็นหลักแต่เริ่มมีมากขึ้นในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
2/ เกษตรกรสวนยางอาจขายผ่านพ่อค้าคนกลางหรือขายตรงให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราขั้นกลาง
3/ ในการผลิตยางสังเคราะห์มีสารตั้งต้นที่สำคัญ คือ บิวทาไดอีน (Butadiene) ซึ่งเป็นผลผลิตจากน้ำมัน ทั้งนี้ ประเภทยางสังเคราะห์ที่สำคัญ ได้แก่ Styrene Butadiene Rubber (SBR), Butadiene Rubber (BR), Ethylene Propylene-diene Rubber (EPDM), Nitrile Butadiene Rubber (NBR) Chloroprene Rubber (CR), Isoprene Rubber (IR), Isobutylene Isoprene Rubber (IIR) และ Styrene Block Copolymer (SBC) เป็นต้น
4/ ประกอบด้วยยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น ยางคอมพาวด์ และยางผสม โดยประเมินจากมูลค่าการส่งออกยางพาราและมูลค่ายางพาราที่ใช้ภายในประเทศ
5/ ปี 2566 ผลผลิตต่อไร่ภาคเหนือลดลง -4.8 กก./ไร่ ภาคใต้ลดลง -4.1 กก./ไร่ ภาคกลางลดลง -3.8 กก./ไร่ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง -3.8 กก./ไร่
6/ คำนวณจากปริมาณเนื้อยางแห้ง (Dry Rubber Content : DRC) เท่านั้น ไม่รวมส่วนที่เป็นน้ำ สารเคมีอื่นๆผสม
7/ น้ำหนักผลิตภัณฑ์ยางพาราที่ชั่งตวงวัดหน้าด่านศุลกากร ทั้งนี้หากนำมาคำนวณเฉพาะปริมาณยางแห้ง (DRC) จะอยู่ที่ 4.0 ล้านตัน โดยพิจารณา DRC ของน้ำยางข้นเฉลี่ย
อยู่ที่ 60% ส่วนยางคอมพาวด์และยางผสมเฉลี่ย DRC อยู่ที่ 80%-95%
8/ จากการผ่อนคลายมาตรการ COVID-19 ในหลายประเทศ การเข้าถึงวัคซีนป้องกันที่ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะจีนที่ปรับลดนโยบายการควบคุมโรค COVID-19 และเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566
9/ ราคายางแผ่นรมควันเฉลี่ยปี 2566 ของสปป.ลาวอยู่ที่ 1,344 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน เมียนมาอยู่ที่ 1,179 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และเวียดนามอยู่ที่ 1,040 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ส่วนหนึ่ง
เป็นผลจากต้นทุนการผลิตยางแผ่นและยางแท่งของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะน้ำยาเคมี (แอมโมเนีย และน้ำกรด) ทำให้ต้นทุนการผลิตแปรรูปยางรมควันเพิ่มขึ้น (ที่มา Trademap, และจากการคำนวณโดยวิจัยกรุงศรี)
10/ จีนใช้ยางพาราไปผลิตในอุตสาหกรรมยางล้อราว 76% ของปริมาณการใช้ยางพาราในจีนทั้งหมด รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ถุงมือยาง หมอนยางพารา ถุงยางอนามัย ในสัดส่วน 12% และนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ อาทิ สายพาน ท่อ รองเท้ายาง โช้คอัพ และอื่นๆ ในสัดส่วน 12% ตามลำดับ (ที่มา : xueqiu, DIPT)
11/ ยางพาราที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาตามกฎ European Union Deforestation Free Regulation (EUDR) ของสหภาพยุโรป
12/ Thailand Futures Exchange (TFEX) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) จัดทำราคายางอ้างอิง (Rubber Reference Price) ได้แก่ ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแท่ง และน้ำยางข้นเพื่อใช้อ้างอิงในการทำธุรกรรมซื้อขายทั้งในและต่างประเทศ
13/ คำนวณจากปริมาณเนื้อยางแห้ง (Dry Rubber Content : DRC) เท่านั้น ไม่รวมส่วนที่เป็นน้ำ สารเคมีอื่นๆผสม
14/ กรณีไม่มีการตัดต้นยางแบบถาวรและไม่มีความร่วมมือในการลดอุปทานยางพาราของประเทศผู้ผลิตยางพาราในเอเชีย
15/ จากข้อมูลของ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) El Niño เกิดขึ้นล่าสุดในช่วงปี 2566-2567 ส่งผลให้ความน่าจะเป็นในการเกิดภาวะ La Niña ในปี 2568 มีค่อนข้างสูง ซึ่งวิจัยกรุงศรีคาดว่าจะคงอยู่ต่อเนื่อง 1-2 ปี
16/ ช่วงของโครงการส่งเสริมปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ของรัฐบาลไทยในปี 2546-2556
17/ โดยทั่วไปต้นยางพาราจะเริ่มให้ผลผลิตน้ำยางสูงเมื่อมีอายุ 7 ปีขึ้นไป
18/ เริ่มระบาดในไทยปี 2562 ถึงปัจจุบันปี 2567 การระบาดของโรคใบร่วงยางพาราสามารถพบทั้งสายพันธุ์เดิมและสายพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นได้ในทุกพันธุ์ของยางที่ปลูก ยากต่อการควบคุมโรคและป้องกันกำจัดโรค โดยสายพันธุ์โรคใบร่วงยางพาราในปัจจุบันเป็นเชื้อรา Pestalotiopsis sp. หรือเชื้อรา Colletotrichum sp. สามารถแพร่ระบาดได้โดยการพัดไปตามกระแสลม และน้ำฝน รวมถึงการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ หรือวัสดุปลูกจากแปลงที่เกิดโรค ส่งผลให้การเติบโตของต้นยางพาราหยุดชะงัก และทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงราว 30-50%
19/ ในปี 2566 อัตราส่วนการใช้ยางธรรมชาติต่อยางสังเคราะห์ คาดว่าจะอยู่ที่ 50.7% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ 49.7%
20/ สหรัฐฯเป็นผู้นำเข้าถุงมือยางธรรมชาติมากที่สุด และเป็นประเทศที่นำเข้าถุงมือยางทางการแพทย์และถุงมือทั่วไปอันดับ 2 ของไทย โดยการสั่งห้ามใช้จะเริ่มมีผลบังคับในธุรกิจอาหารตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 และอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 (ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย)
21/ กฎระเบียบของยุโรปว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products Regulation: EUDR) หรือ Regulation (EU) 2023/1115 เริ่มบังคับในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดย สหภาพยุโรปจะกำหนดให้บริษัท EU ที่นำเข้าสินค้าที่เป็นสาเหตุหลักของการทำลายป่าตามที่ระบุในกฎหมายฯ จำนวน 7 รายการ ได้แก่ ไม้ วัว โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง จะต้องจัดทำรายงานหรือ Due Diligence Statement เพื่อยืนยันว่าได้ตรวจสอบและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมว่าสินค้าเหล่านั้นเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า
22/ กฎระเบียบของยุโรปว่าด้วยการจัดการความยั่งยืน (EU Directive on Corporate Sustainability Due Diligence: CSDDD) เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 23 มิถุนายน 2567 โดยกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบขององค์กรในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต (อาทิ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า แร่ธาตุ น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน ป่าไม้ ยางพารา ปศุสัตว์ เกษตรกรรม อาหาร) รวมไปถึงห่วงโซ่จากการผลิตถึงการกระจายสินค้า
23/ ราคาสารเคมีที่ใช้ในการแปรรูปยางดิบ/ยางแผ่นรมควันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเกษตรกรทำให้เกษตรกรบางส่วนปรับลดการใส่ปุ๋ยต้นยางพารา ส่งผลให้น้ำยางสดมีค่าเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้งลดลงจาก 30-35% อาจลดลงมาเหลือ 25-29%