EXECUTIVE SUMMARY
ผลผลิตข้าวของไทยในปี 2567 คาดว่าจะหดตัว โดยมีแรงฉุดจากปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Niño) ส่งผลให้ปริมาณฝนลดต่ำลงและเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ผลผลิตบางพื้นที่จึงเสียหายจากการขาดแคลนน้ำหรืออัตราผลผลิตต่อไร่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม ในปี 2568-2569 ผลผลิตมีทิศทางขยายตัวจากการเข้าสู่ลานีญา (La Niña) ในไตรมาส 3 ของปี 2567 ทำให้ไทยได้อานิสงส์จากปริมาณฝนที่มากขึ้น ประกอบกับแรงจูงใจด้านราคาทำให้เกษตรกรหันกลับมาเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตยังเผชิญต้นทุนที่ทรงตัวสูง ด้านความต้องการบริโภคข้าวในประเทศปี 2567-2569 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ในอัตราต่ำในปี 2567 อานิสงส์จากการระงับการส่งออกของอินเดีย ขณะที่คู่ค้ายังมีอุปสงค์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารจากความกังวลในภาวะยืดเยื้อของสงครามและภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาจเข้าสู่ภาวะหดตัวในปี 2568-2569 จากแนวโน้มการกลับมาส่งออกของอินเดีย ท่ามกลางอุปทานของโลกที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งที่ได้เปรียบด้านราคา ขณะที่ราคาข้าวของไทยยังมีแนวโน้มทรงตัวสูงในปี 2567 ก่อนจะเริ่มปรับลดลงตามผลผลิตที่ทยอยออกมากขึ้นในช่วงปี 2568-2569
มุมมองวิจัยกรุงศรี
อุตสาหกรรมข้าวโดยรวมเผชิญปัจจัยท้าทายมากขึ้นโดยเฉพาะในปี 2567 ที่เผชิญสภาพอากาศที่แปรปรวนจากภาวะภัยแล้งในช่วงต้นปีและความเสี่ยงภาวะน้ำท่วมในช่วงครึ่งหลังของปี ก่อนที่ผลผลิตจะกลับมาขยายตัวในปี 2568-2569 แม้ราคาจะยังทรงตัวสูง แต่การปรับเพิ่มของต้นทุนยังเป็นแรงกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิตข้าวของไทย ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ไซโล และร้านค้าปลีกข้าว โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
-
ชาวนา: ปริมาณผลผลิตข้าวคาดว่าจะได้แรงหนุนจากสภาพอากาศและระดับน้ำในเขื่อนที่มีแนวโน้มดีขึ้นในปี 2568-2569 รวมถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวที่ช่วยหนุนรายได้ของชาวนา อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่ยังคงทรงตัวสูงทั้งค่าแรงงาน พลังงาน และปุ๋ย และความเสียเปรียบด้านอำนาจต่อรองทางการตลาด โดยเฉพาะการถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางยังคงเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจ
-
โรงสีข้าว: แม้ปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่โอกาสในการทำกำไรยังมีข้อจำกัดจากปัญหากำลังสีข้าวส่วนเกินในระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มักเสียเปรียบรายกลาง-ใหญ่ด้านอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบ ทำให้มีต้นทุนรับซื้อข้าวสูงกว่า กลุ่มที่แข่งขันได้จึงเป็นโรงสีข้าวขนาดใหญ่/ครบวงจร และโรงสีข้าวขนาดกลางที่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี
-
ผู้ผลิตข้าวถุง: รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบครบวงจร (มีทั้งโรงสีและบริษัทส่งออกข้าว) ตามความต้องการบริโภคจากภาคครัวเรือน ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข่งขันยังมีทิศทางรุนแรงจากผู้เล่นรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาด ขณะที่ต้นทุนการนำสินค้าเข้าตลาดผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งค่าการตลาดและค่าวางสินค้า
-
ร้านขายปลีกข้าว (แบบดั้งเดิม): แนวโน้มรายได้และความสามารถในการทำกำไรยังถูกจำกัดจากการแข่งขันของตลาดข้าวถุงที่รุนแรง ทั้งด้านราคาและระบบบริหารจัดการซึ่งรวมถึงความสะดวกและคุณภาพการเก็บรักษา โดยร้านค้าแบบดั้งเดิมมักจะเสียเปรียบร้านค้าสมัยใหม่ และช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลาย ทำให้แข่งขันได้ยากขึ้น
-
ผู้ส่งออกข้าว: ปริมาณส่งออกข้าวของไทยยังได้อานิสงส์จากความต้องการข้าวของประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารรองรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและสงคราม แต่แนวโน้มการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นในปี 2568-2569 จากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นหลังจากอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกและไทยอาจกลับมาเสียเปรียบด้านราคากับคู่แข่ง ผู้ส่งออกจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีโดยเฉพาะด้านต้นทุนจัดซื้อวัตถุดิบข้าว ต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนค่าขนส่งเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร
-
ไซโล: รายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจไซโลคาดว่าจะทยอยฟื้นตัวจากความต้องการเช่าที่มีทิศทางขยายตัวตามปริมาณผลผลิตข้าวและธัญพืชประเภทอื่นที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม อุปทานพื้นที่เก็บไซโลที่มีอยู่มากโดยผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออกและโรงสีต่างก็มีไซโลเป็นของตนเองมากขึ้น ประกอบกับลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูง ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงและกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ
ข้อมูลพื้นฐาน
“ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของประเทศที่ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด (คิดเป็น 49.1% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของประเทศ1/) และครอบคลุมครัวเรือนถึง 5.2 ล้านครัวเรือน (คิดเป็น 67.1% ของจำนวนครัวเรือนภาคเกษตรทั้งหมด2/) ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นกลุ่มที่ได้รับโครงการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป็นต้น
ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก โดยปี 2565/2566 ไทยมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นสัดส่วน 4.1% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก (รองจากจีน อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนามซึ่งมีสัดส่วนผลผลิต 28.3%, 26.3%, 7.0%, 6.6% และ 5.2% ตามลำดับ) และไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 16.0% รองจากอินเดียที่มีส่วนแบ่งตลาด 37.1% โดยมีคู่แข่งอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ เวียดนาม ปากีสถาน และกัมพูชา เป็นต้น (ภาพที่ 1) อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกข้าวทั่วโลกมีสัดส่วนเพียง 10.6% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก (ภาพที่ 2) เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่ปลูกเพื่อความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ปริมาณการค้าข้าวระหว่างประเทศจึงเป็นผลผลิตส่วนเกินจากการบริโภคในแต่ละประเทศ โดยตลาดนำเข้าข้าวส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคแอฟริกา และเอเชีย ตามลำดับ (ภาพที่ 3)
ในรอบปีเพาะปลูก 2565/663/ ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งสิ้น 73.44 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง (ภาพที่ 4) โดยการปลูกข้าวของไทยเน้นพึ่งน้ำฝน มีช่วงเวลาเพาะปลูกสำคัญตั้งแต่ช่วงเข้าหน้าฝน (นิยมปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมของทุกปี) และเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปี (เดือนพฤศจิกายน) เรียกว่า “ข้าวนาปี”4/ ผลผลิตมีทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และข้าวเหนียว ซึ่งมีปริมาณรวมกันกว่า 79% ของผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศในแต่ละรอบปีการเพาะปลูก ส่วนที่เหลือประมาณ 21% เป็น “ข้าวนาปรัง”4/ คือ ข้าวที่เพาะปลูกในฤดูแล้งซึ่งต้องอาศัยน้ำจากระบบชลประทาน5/ โดยเกษตรกรนิยมเพาะปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคมของปีถัดไป ส่วนใหญ่ปลูกในภาคกลางและภาคเหนือ6/
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละ 31-32 ล้านตัน ซึ่งนำไปสีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 20-21 ล้านตัน ใช้บริโภคภายใน ประเทศเฉลี่ย 10-11 ล้านตัน (ส่วนที่เหลือส่งออกและสต๊อก) ในจำนวนนี้แบ่งเป็น
1) ข้าวเพื่อใช้บริโภคโดยตรง มีสัดส่วน 30% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย7/ ปัจจุบันมีช่องทางจำหน่ายสู่ผู้บริโภค 3 ช่องทาง คือ
1.1) การจำหน่ายในลักษณะข้าวบรรจุถุง (สัดส่วน 49.8% ของปริมาณจำหน่ายข้าวสำหรับบริโภคโดยตรงของไทยทั้งหมด) โดยช่องทางจำหน่ายหลักของข้าวสารบรรจุถุงสำหรับบริโภคของไทย ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต (สัดส่วน 30.6% ของปริมาณจำหน่ายข้าวสำหรับบริโภคโดยตรงของไทยทั้งหมด) รองลงมาเป็น ร้านสะดวกซื้อ (12.2%) และซูเปอร์มาร์เก็ต (7.0%)
1.2) ร้านขายของชำในท้องถิ่นขนาดเล็ก (Small Local Grocers) และร้านค้าจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่าง8/ มีสัดส่วน 37.9% และ 10.1% ตามลำดับ
1.3) การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) และที่ไม่ได้เป็นร้านค้า (Non-Grocery) มีสัดส่วนรวมกัน 2.2%
2) ข้าวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วน 25% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย7/ จำแนกตามประเภทอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้ดังนี้
2.1) อุตสาหกรรมแปรรูปข้าวมีสัดส่วนราว 15% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย อาทิ แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว โจ๊กกึ่ง สำเร็จรูป เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมขบเคี้ยว แอลกอฮอล์เครื่องดื่ม น้ำมันรำข้าว และ
2.2) อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (ส่วนใหญ่เป็นอาหารปศุสัตว์ อาทิ สุกร ไก่ เป็ด) มีสัดส่วนราว 10%
3) ข้าวเพื่อใช้ทำเมล็ดพันธุ์ มีสัดส่วนประมาณ 5% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย7/ ข้าวเพื่อการส่งออก มีสัดส่วนประมาณ 40% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย7/ (ภาพที่ 6)
4 ) ข้าวเพื่อการส่งออก มีสัดส่วนประมาณ 40% ของปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของไทย7/ (ภาพที่ 6)
ด้านผู้ประกอบการโรงงานสีข้าวในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,477 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งเพาะปลูกเนื่องจาก (1) ความสะดวกในการจัดหาวัตถุดิบ (2) การประหยัดต้นทุนขนส่ง และ (3) ความสะดวกในการติดต่อ ส่งเสริม หรือให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร โดยภาคกลางมีจำนวนโรงสีข้าวมากที่สุด 542 โรงงาน รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (447 โรงงาน) ภาคเหนือ (407 โรงงาน) และภาคใต้ (81 โรงงาน) หากพิจารณารายจังหวัด นครสวรรค์มีจำนวนโรงสีข้าวมากที่สุด 98 โรงงาน รองลงมาเป็นสุพรรณบุรี (76 โรงงาน) นครปฐม (64 โรงงาน) นครราชสีมา (55 โรงงาน) และเชียงใหม่ (52 โรงงาน) (ภาพที่ 5)
ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยในปี 2566 มีสัดส่วนประมาณ 39.7% ของปริมาณผลผลิตข้าวสารทั้งหมดของไทย โดยข้าวไทยยังคงได้รับการยอมรับด้านคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ อิรัก สหรัฐฯ จีน ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ทั้งนี้ ประเภทข้าวที่ไทยส่งออกปริมาณมาก คือ ข้าวขาว (White Rice) รองลงมาเป็น ข้าวนึ่ง (Parboiled Rice)9/ ข้าวหอมมะลิ (Jasmine Rice) ปลายข้าว/ข้าวหัก (Broken Rice)10/ ข้าวเหนียว (Glutinous Rice) และข้าวกล้อง (Brown Rice) และข้าวอื่นๆ ตามลำดับ (ภาพที่ 6) ดังนี้
-
ข้าวขาว เป็นประเภทของข้าวที่มีปริมาณการค้าสูงสุดในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 4.83 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 55.1% ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ข้าวทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกหลักอยู่ในภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา โดยส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซียสูงสุดที่ 25.7% ของตลาดข้าวขาวทั้งหมด รองลงมาเป็นอิรัก (17.6%) ฟิลิปปินส์ (8.3%) มาเลเซีย (8.2%) ญี่ปุ่น (6.7%) และโมซัมบิก (4.1%) ตามลำดับ ทั้งนี้ ข้าวขาวจะแบ่งเป็นเกรดต่างๆ ที่มีราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสัดส่วนข้าวหัก โดยหากมีข้าวหักปนอยู่มากราคาจะต่ำลง11/
-
ข้าวนึ่ง ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.38 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 15.7% ตลาดส่งออกหลักอยู่ในภูมิภาคแอฟริกา โดยปริมาณส่งออกไปยังประเทศแอฟริกาใต้สูงถึง 60.6% ของตลาดข้าวนึ่งทั้งหมด รองลงมาเป็นเยเมน (10.8%) บังกลาเทศ (8.4%) เบนิน (7.7%) และแคเมอรูน (2.2%) ตามลำดับ
-
ข้าวหอมมะลิ ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.32 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 15.1% ตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ (สัดส่วน 41.0% ของปริมาณส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย) รองลงมาเป็นจีน (13.5%) ฮ่องกง (9.2%) และแคนาดา (7.2%) และสิงคโปร์ (3.8%) ตามลำดับ
-
ปลายข้าว ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 1.02 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 11.6% ตลาดส่งออกหลัก คือ เซเนกัล (สัดส่วน 27.5% ของปริมาณส่งออกปลายข้าวของไทย) รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย (16.5%) จีน (15.1%) โกตดิวัวร์ (10.8%) และปาปัวนิวกินี (4.9%) ตามลำดับ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตแป้งและอาหารสัตว์
-
ข้าวเหนียว ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 0.14 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 1.6% ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน (สัดส่วน 42.9% ของปริมาณส่งออกข้าวเหนียวของไทย) รองลงมาเป็นสหรัฐฯ (13.0%) สปป.ลาว (12.5%) เวียดนาม (5.6%) และญี่ปุ่น (4.5%) ตามลำดับ
-
ข้าวกล้องและข้าวอื่นๆ12/ ปริมาณการส่งออกของไทยอยู่ที่ 0.08 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นสัดส่วน 0.9% ตลาดส่งออกหลัก คือ เกาหลีใต้ (สัดส่วน 51.7% ของปริมาณส่งออกข้าวกล้องและข้าวอื่นๆทั้งหมดของไทย) รองลงมาเป็นสหรัฐฯ (10.4%) นิวแคลีโดเนีย (6.1%) สิงคโปร์ (5.2%) และจีน (3.7%) ตามลำดับ
สถานการณ์ที่ผ่านมา
ปี 2566 อุตสาหกรรมข้าวไทยมีทิศทางขยายตัวทั้งด้านผลผลิต และปริมาณส่งออก (ภาพที่ 7) ผลจากสภาพอากาศและปริมาณน้ำในเขื่อนที่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตในประเทศ ขณะที่การส่งออกยังคงได้แรงหนุนจาก (1) อุปสงค์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) รองรับความกังวลด้านอุปทานที่อาจไม่เพียงพอจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพอากาศแปรปรวนในหลายพื้นที่ทั่วโลก (2) การคลี่คลายของปัญหาด้านการขนส่งทั้งความแออัดที่ท่าเรือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือ รวมถึง (3) ราคาส่งออกข้าวไทยที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับคู่แข่ง หนุนให้ไทยสามารถส่งออกได้ดีขึ้น
-
ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 33.6 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 21.9 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 2.0% ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ (1) การขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยพื้นที่ปลูกข้าว (Planted Area) ปี 2566 อยู่ที่ 73.4 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 1.2% จากปี 2565 จากแรงจูงใจด้านราคาข้าวที่มีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารของตลาดโลก ส่งผลให้เกษตรกรหันกลับมาเพาะปลูกหรือเพิ่มการผลิต สะท้อนจากจำนวนครัวเรือนผู้ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น 1.0% อยู่ที่ 5.2 ล้านครัวเรือน13/ และ (2) สภาพอากาศ ปริมาณฝน และระดับน้ำในเขื่อนเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ส่งผลให้ผลผลิตข้าวต่อไร่เพิ่มขึ้น 1.5% อยู่ที่ 479.9 กิโลกรัม14/ ทั้งนี้อัตราผลผลิตต่อไร่โดยรวมทั้งปีไม่ได้เร่งขึ้นมากนักจากภาวะฝนทิ้งช่วงในครึ่งปีหลังและแรงกดดันด้านต้นทุนที่สูงขึ้น อาทิ ปุ๋ย สารเคมี และเชื้อเพลิง ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนลดการดูแลรักษา
-
ความต้องการในประเทศลดลง อยู่ที่ 13.3 ล้านตันข้าวสาร หดตัว -7.1% ส่วนหนึ่งจากการเปรียบเทียบกับฐานสูงในปี 2565 ซึ่งมีการสำรองวัตถุดิบของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศปี 2566 ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจท่ามกลางค่าครองชีพที่ยังสูง โดยระดับราคาเฉลี่ยข้าวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นราว 17.3% โดยราคาข้าวขาวเพิ่มขึ้น 13.3% อยู่ที่ 11,128 บาท/ตัน ราคาข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น 6.2% อยู่ที่ 14,307 บาท/ตัน และราคาข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น 8.5% อยู่ที่ 11,741 บาท/ตัน (ภาพที่ 8) ตามทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาข้าวโดยรวมในตลาดโลก
-
ตลาดส่งออกปี 2566 ขยายตัวต่อเนื่อง ปริมาณส่งออกข้าวอยู่ที่ 8.8 ล้านตันข้าวสาร ขยายตัว 13.7% คิดเป็นมูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 29.4% จากความต้องการสต๊อกข้าวของประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จากสาเหตุของ (1) ปัญหาภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อาทิ ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง น้ำท่วม ที่สร้างความเสียหายด้านผลผลิตแก่ประเทศผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกสำคัญ อาทิ จีน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย โดยเฉพาะอินเดีย15/ ที่มีการระงับการส่งออกข้าว (ภาพที่ 9) (2) สต๊อกข้าวโลกลดลงที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่โดยเฉพาะฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย16/ มีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น (3) ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน17/ ตลอดจนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ18/ และการเมืองโลก (4) ภาวะผ่อนคลายของปัญหาการขนส่งทั้งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เรือเทกอง ค่าระวาง และมาตรการในการตรวจสินค้าบริเวณท่าเทียบเรือ และ (5) ค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออกข้าว ทำให้ระดับราคาใกล้เคียงหรือต่ำกว่าประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามในบางช่วง (ภาพที่ 10)
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 อุปทานข้าวไทยหดตัวจากผลกระทบของเอลนีโญ อย่างไรก็ตาม แรงบวกด้านราคาช่วยหนุนให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย
-
ผลผลิตข้าวหดตัว สภาพอากาศร้อนและปริมาณฝนที่ลดลงจากภาวะเอลนีโญในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตข้าวเปลือกหดตัว -8.1% YoY ตามการเพาะปลูกข้าวนาปรังซึ่งเป็นข้าวเปลือกเจ้าเป็นหลัก (-8.2% YoY) สวนทางกับความต้องการจากต่างประเทศที่ขยายตัวสูง ทำให้ดัชนีราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น 10.0% YoY ทั้งจากราคาข้าวขาว (+13.3% YoY) ข้าวหอมมะลิ (+6.2% YoY) และข้าวเหนียว (+8.5% YoY) การหดตัวของผลผลิตกดดันให้ดัชนีรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% YoY (ภาพที่ 11-13) อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังคงเผชิญต้นทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทั้งด้านราคาพลังงาน ปุ๋ย และแรงงาน ลดทอนความสามารถในการทำกำไร
-
ตลาดส่งออกโดยรวมยังขยายตัวได้ เนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญยังคงระงับการส่งออกข้าว ประเทศคู่ค้าจึงหันมานำเข้าข้าวจากไทยมากขึ้น ประกอบกับความต้องการสำรองไว้เพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ยังคงมีอยู่ ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงจากภาวะเอลนีโญ โดยปริมาณส่งออกข้าวของไทยใน 6 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ 5.1 ล้านตันข้าวสาร ขยายตัว 25.3% YoY คิดเป็นมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 48.1% ประเทศที่เป็นตลาดหลัก คือ อินโดนีเซีย มีสัดส่วน 20.5% ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย รองลงมาเป็นอิรัก (9.9%) สหรัฐฯ (7.9%) แอฟริกาใต้ (7.2%) และฟิลิปปินส์ (5.7%) ตามลำดับ โดยแรงหนุนหลักมาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทข้าวขาว ปลายข้าว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ซึ่งไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพและชื่อเสียง (ตารางที่ 1) โดยมีรายละเอียดดังนี้
-
ข้าวขาว: มีปริมาณส่งออก 3.1 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 1,937.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 38.4% YoY และ 74.8% YoY ตามลำดับ ราคาส่งออกเฉลี่ยที่ 618.8 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (+26.3% YoY) ตลาดหลัก คือ อินโดนีเซีย (31.8% ของปริมาณส่งออกข้าวขาวของไทย) รองลงมาเป็นอิรัก (16.0%) ฟิลิปปินส์ (8.7%) โมซัมบิก (5.6%) และญี่ปุ่น (4.6%) ตามลำดับ
-
ข้าวนึ่ง: มีปริมาณส่งออกอยู่ที่ 0.5 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 311.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -23.8% YoY และ -1.5% YoY ตามลำดับ ราคาส่งออกเฉลี่ยที่ 603.3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (+28.2% YoY) ตลาดหลัก คือ แอฟริกาใต้ (64.7% ของปริมาณส่งออกข้าวนึ่งของไทย) รองลงมาเป็นเยเมน (12.2%) แอลจีเรีย (4.3%) เบนิน (3.6%) และตูนิเซีย (2.6%) ตามลำดับ
-
ข้าวหอมมะลิ: มีปริมาณส่งออกอยู่ที่ 0.7 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 621.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 17.3% YoY และ 19.6% YoY ตามลำดับ ราคาส่งออกเฉลี่ยที่ 951.0 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (+2.0% YoY) ตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ (45.7% ของปริมาณส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย) รองลงมาเป็นฮ่องกง (9.4%) แคนาดา (6.8%) จีน (4.7%) และสิงคโปร์ (4.3%) ตามลำดับ
-
ปลายข้าว: มีปริมาณส่งออก 0.7 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 346.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 57.6% YoY และ 75.1% YoY ตามลำดับ ราคาส่งออกเฉลี่ยที่ 523.8 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (+11.3% YoY) ตลาดหลัก คือ เซเนกัล (28.1% ของปริมาณส่งออกปลายข้าวของไทย) รองลงมาเป็นโกตดิวัวร์ (22.1%) จีน (9.9%) อินโดนีเซีย (6.5%) และปาปัวนิวกินี (5.8%) ตามลำดับ
- ข้าวเหนียว: มีปริมาณส่งออก 0.09 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 66.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 8.2% YoY และ 17.9% YoY ตามลำดับ ราคาส่งออกเฉลี่ยที่ 786.0 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (+10.3% YoY) ตลาดหลัก คือ ประเทศจีน (54.7% ของปริมาณส่งออกข้าวเหนียวของไทย) รองลงมาเป็นสหรัฐฯ (10.7%) ญี่ปุ่น (6.7%) ฮ่องกง (5.3%) และเวียดนาม (3.4%) ตามลำดับ
-
ข้าวกล้องและข้าวอื่นๆ: มีปริมาณส่งออกอยู่ที่ 0.02 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 20.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -64.0% YoY และ -37.7% YoY ตามลำดับ ราคาส่งออกเฉลี่ยที่ 1,207.1 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (+35.4% YoY) ตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ (29.4% ของปริมาณส่งออกข้าวกล้องและข้าวอื่นๆ ของไทย) รองลงมาเป็นสิงคโปร์ (12.1%) อิตาลี (8.2%) ไต้หวัน (6.8%) และแคนาดา (6.3%) ตามลำดับ
แนวโน้มอุตสาหกรรม
-
ผลผลิตข้าวของไทยในปี 2567 คาดว่าจะหดตัว -5.0% ถึง -6.0% อยู่ที่ระดับ 31.6-31.9 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 20.6-20.8 ล้านตันข้าวสาร โดยมีแรงฉุดจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ทำให้ปริมาณฝนลดลง และฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำจนต้องปล่อยพื้นที่ว่างไว้ อัตราผลผลิตต่อไร่ (Yield) จึงต่ำลงโดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2568-2569 ผลผลิตมีทิศทางขยายตัว 4.0-5.0% อยู่ที่ระดับ 34.4-35.1 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือประมาณ 22.4-22.8 ล้านตันข้าวสาร (ภาพที่ 14) โดยมีปัจจัยบวกจาก (1) แนวโน้มปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ที่เริ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 คาดว่าจะทำให้สภาพอากาศ ปริมาณฝน และน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับสูงเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น (ภาพที่ 15) (2) ราคาที่เกษตรกรได้รับในปี 2567 ยังจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาเพาะปลูกมากขึ้น และ (3) แรงหนุนจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ อาทิ สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม แผนรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมข้าว มาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต และแผนการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับภาคเกษตร19/ ยังคงจูงใจให้เกษตรกรบางรายขยายการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตที่ทรงตัวสูง อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชโดยเฉพาะราคาปุ๋ย ทำให้เกษตรกรบางส่วนลดการใช้ปุ๋ยซึ่งอาจทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงและผลผลิตโดยรวมขยายตัวได้จำกัด
-
ความต้องการบริโภคในประเทศคาดว่าจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี จากระดับ 13.3 ล้านตันข้าวสารในปี 2566 (2565/2566) สู่ระดับ 14.2-14.6 ล้านตันในปี 2568-2569 โดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว20/ หนุนความต้องการจากธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม (2) อุปสงค์จากอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่จะมีความต้องการข้าวเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูปอาหารมากขึ้น และ (3) การทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์เพื่อการบริโภคจากกำลังซื้อที่จะเริ่มกระเตื้องขึ้นตามทิศทางการจ้างงานในภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ ร้านอาหารเครือข่าย/แฟรนไชส์/ไลเซนส์ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล โรงงานอุตสาหกรรม แม้จะยังมีปัจจัยท้าทายจากค่าครองชีพที่ทรงตัวสูงบั่นทอนให้กำลังซื้อยังฟื้นตัวได้ช้าในปี 2567
-
การส่งออกข้าวปี 2567 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8.8-9.0 ล้านตัน เติบโต 0.5-2.5% โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่ (1) อินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญยังคงระงับการส่งออกข้าวทุกประเภท (ยกเว้นข้าวบาสมาติ) อย่างต่อเนื่อง (นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566) เพื่อควบคุมราคาอาหารและสร้างความมั่นใจว่าจะมีอุปทานข้าวเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ซึ่งเปิดโอกาสให้ไทยขยายตลาดมากขึ้น (2) การบรรลุข้อตกลงซื้อขายข้าวระหว่างไทยและอินโดนีเซีย21/ จำนวนมาก (3) สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตข้าวในหลายประเทศเสียหาย ทำให้ต้องเร่งนำเข้าหรือเติมสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร22/ และ (4) ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้มีความต้องการข้าวและปลายข้าวเพื่อเป็นวัตถุดิบของทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนธัญพืชและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีอุปทานลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวในปี 2568-2569 มีแนวโน้มปรับลดลงสู่ระดับ 7.8-8.0 ล้านตัน หดตัว -5.0% ถึง -6.0% ต่อปี ผลจาก (1) การเข้าสู่ภาวะลานีญา ซึ่งเอื้อต่อการเพาะปลูกทำให้ผลผลิตโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้อินเดียกลับมาส่งออกได้ตามปกติ และ (2) ประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะอินเดีย เวียดนาม และปากีสถานมีแนวโน้มกลับมาได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา เมื่อปัญหาด้านอุปทานเริ่มคลี่คลายลง
-
ราคาส่งออกข้าวไทยคาดว่าจะทรงตัวสูงในปี 2567 สาเหตุจากสต๊อกข้าวของโลกที่ลดลง ขณะที่ความต้องการข้าวของโลกเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 16) ทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งกันรับซื้อข้าวเพื่อส่งมอบให้ประเทศคู่ค้า หนุนให้ราคาข้าวไทยในปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ขณะที่ปี 2568-2569 ราคาข้าวไทยมีทิศทางลดลงตามอุปทานข้าวในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 จากการเข้าสู่ภาวะลานีญาที่จะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ระดับราคาคาดว่าจะยังคงทรงตัวสูงจากปัจจัยหนุนของอุปสงค์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารในช่วงที่โลกยังมีความเสี่ยงจากภาวะสงคราม
แนวทางการปรับตัวของอุตสาหกรรมข้าวในระยะถัดไป
-
มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานสินค้า ขยายฐานลูกค้า และเพิ่มทางเลือก ข้าวเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคและอยู่ในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfect Competition) ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตจึงต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพข้าวให้มีความแตกต่าง (อาทิ ข้าว GI23/ ข้าวเพื่อสุขภาพที่มีน้ำตาลต่ำ ข้าวที่เน้นรักษาคุณภาพการเก็บรักษา) เพื่อสร้างตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) หรือสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคจนเกิดเป็นความภักดีในแบรนด์ (Brand Loyalty) ด้านการตลาดมุ่งเน้นการเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยจำหน่ายผ่านทั้งช่องทางออฟไลน์ (ช่องทางค้าปลีกทั้งแบบสมัยใหม่และดั้งเดิม) และออนไลน์ ประกอบกับการสร้างขนาดบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อให้สอดรับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม อาทิ บรรจุภัณฑ์ข้าวขนาดเล็กสำหรับจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ บรรจุภัณฑ์กระสอบใหญ่สำหรับธุรกิจร้านอาหาร
-
การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในองค์กร อาทิ การใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) เพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต การใช้ AI เพื่อลดเวลาในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ การใช้เครื่องจักรกลที่ใช้ไฟฟ้าในกระบวนการผลิตหรือขนส่งทดแทนเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิง
- สนับสนุนเป้าหมาย ESG และ SDGs24/ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ
-
สิ่งแวดล้อม (Environment): ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดสรรพลังงาน เชื้อเพลิง และน้ำให้มีประสิทธิภาพ การบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐาน การแยกขยะและของเสียที่มาจากทุกขั้นตอนของห่วงโซ่ธุรกิจ
-
สังคม (Social): การส่งเสริมความรู้ด้านการเพาะปลูกให้แก่ชุมชน การร่วมจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยแก่ชุมชน การสนับสนุนจัดซื้อจัดจ้างจากชุมชน การปฎิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น และให้ความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ชุมชน
-
ธรรมาภิบาล (Governance): เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ทุกกระบวนการจัดซื้อ จัดหา และจัดจ้าง การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม การสนับสนุนผู้พิการ การสร้างกฎระเบียบต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันในองค์กร
1/ สัดส่วนเนื้อที่ปลูกข้าวต่อเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรปี 2565 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
2/ จำนวนครัวเรือนผู้ปลูกข้าวนาปีและนาปรังปี 2565/66 ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
3/ ผลผลิตข้าวปี 2566 คำนวณจากข้าวนาปรังและข้าวนาปีในปีเพาะปลูก 2565/66
4/ ข้าวนาปี จะใช้พันธุ์ข้าวที่ออกดอกตามเดือนที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากใช้ช่วงของปริมาณแสงแดดในแต่ละวันกำหนดการเติบโต ดังนั้น เมื่อช่วงเวลาแสงแดดของวันสั้นลง โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว ข้าวนาปีจะเปลี่ยนจากการเจริญเติบโตทางลำต้นมาเป็นเจริญพันธุ์ (ออกรวง) ข้าวประเภทนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อว่า ข้าวไวแสง ซึ่งพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก อาทิ ขาวดอกมะลิ105 กข15 กข6 และปราจีนบุรี1 ขณะที่ข้าวนาปรัง เป็นนาข้าวที่ทำนอกฤดูทำนา แสงไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอก เป็นข้าวที่ออกรวงตามอายุ (เฉลี่ย 90-150 วัน) เมื่อครบอายุก็จะเก็บเกี่ยวได้ พันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก อาทิ พิษณุโลก2 สุพรรณบุรี1 ปทุมธานี1 และชัยนาท1
5/ พื้นที่ชลประทานหลักของไทย (สัดส่วน 80-90% ของพื้นที่ชลประทานทั้งหมด) รับน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา
6/ สำหรับภาคใต้ฝั่งตะวันออก 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะทำการเพาะปลูกข้าวนาปีช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ส่วนข้าวนาปรังจะเพาะปลูกช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน
7/ ที่มา : แผนปฏิบัติงานแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 และการประมาณการโดยวิจัยกรุงศรี
8/ ร้านค้าจำหน่ายสินค้าเฉพาะอย่าง (Food/Drink/Tobacco Specialists) เช่น ร้านเบเกอรี่ ร้านผักผลไม้สด เป็นต้น
9/ ข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำข้าวเปลือกมาแช่ในน้ำจนมีความชื้นประมาณ 30-40% แล้วนึ่งหรือต้มจนสุก จากนั้นจึงนำมาทำให้แห้ง (Dehydration) แล้วจึงสีเอาเปลือกออก การทำข้าวนึ่งเป็นวิธีการปรับปรุงคุณภาพการสีข้าว ทำให้ข้าวหักน้อยลงและปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการของข้าว เพราะสารอาหารจากชั้นเปลือกจะซึมเข้าไปในเนื้อระหว่างขั้นตอนการแช่ข้าวและการนึ่งข้าว จึงทำให้ข้าวที่ได้มีสีเหลืองอ่อน
10/ ปลายข้าวหรือข้าวหัก คือ ข้าวที่ได้จากข้าวที่หักระหว่างกระบวนการผลิต โดยเมล็ดข้าวหักจะมีความยาวตั้งแต่ 2.5 ส่วนขึ้นไป รวมถึงเมล็ดข้าวแตกเป็นซีกที่มีเนื้อเหลืออยู่ไม่ถึงร้อยละ 80 ของเมล็ด ทั้งนี้ ปลายข้าวส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตข้าว 25% อย่างไรก็ตาม ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆที่ใช้ปลายข้าว อาทิ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แป้ง และเบียร์ เป็นต้น
11/ ตัวอย่างคุณภาพข้าวของไทย อาทิ 1) ข้าว 100% เป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุด ซึ่งตามมาตรฐานของข้าว 100% จะมีข้าวหักปนเพียงเล็กน้อย เช่น ข้าวขาว 100% ชั้น 1 มีข้าวหักปนได้ไม่เกิน 4% 2) ข้าว 5% มีข้าวหักปนอยู่ 5-7% 3) ข้าว 25% มีข้าวหักปนอยู่ 25-28% เป็นต้น (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องมาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ. 2540)
12/ ส่วนใหญ่เป็นข้าวกล้อง ที่เหลือเป็นข้าวอื่นๆ ซึ่งเป็นข้าวเปลือกเพื่อการเพาะปลูก
13/ คำนวนจากจำนวนครัวเรือนผู้ปลูกข้าวทั้งประเภทนาปีและนาปรัง อ้างอิงข้อมูลจำนวนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
14/ ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ไทยได้อานิสงส์จากลานีญา (La Niña) และน้ำในเขื่อนทำให้ข้าวนาปรังมีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าช่วงครึ่งปีหลังเริ่มเผชิญคลื่นความร้อน ฝนทิ้งช่วง และภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปีบ้าง
15/ อินเดียระงับการส่งออกข้าวทุกสายพันธุ์ ยกเว้นข้าวบาสมาติ ทั้งนี้ยังได้กำหนดราคาข้าวบาสมาติขั้นต่ำไว้ที่ตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่งในอัตรา 20% โดยมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 และยังคงระงับต่อเนื่องในปี 2567
16/ ฟิลิปปินส์ต้องนำเข้าข้าวเพื่อรักษาสต๊อกข้าวสารไว้ที่ 90 วัน หรือปริมาณขั้นต่ำราว 3.4 ล้านตัน สำหรับอินโดนีเซียนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับสต๊อกข้าวให้อยู่ที่ระดับ 1.0-1.5 ล้านตัน และเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาข้าวในประเทศ (ที่มา : Reuter, The Jakarta)
17/ สงครามเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2565 ส่งผลให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกปรับสูงขึ้น อาทิ ข้าวโพด ข้าวสาลี ผู้บริโภคจึงเปลี่ยนมาซื้อข้าวซึ่งเป็นสินค้าทดแทน รวมถึงผู้นำเข้าบางรายที่ต้องนำเข้าข้าวมากขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในประเทศหันไปปลูกข้าวโพดและข้าวสาลีทดแทน จึงเป็นอีกแรงหนุนให้ไทยส่งออกได้มากขึ้น
18/ อาทิ นโยบายห้ามส่งออกข้าวจากภาวะเงินเฟ้อ ผลกระทบจากการอุดหนุนหรือยกเลิกนโยบายของภาครัฐ
19/ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้านหลัก ได้แก่ 1) การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2) การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต 3) การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4) การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ 5) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และ 6) การบริหารจัดการ
20/ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ประเมินความต้องการบริโภคข้าวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 อยู่ที่ 0.05 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 24%
21/ ในปี 2567 อินโดนีเซียมีความต้องการข้าวเพื่อจัดหาให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในประเทศกว่า 20 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 10 กิโลกรัมต่อเดือน โดยจะสิ้นสุดโครงการในเดือนธันวาคม 2567 (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
22/ อาทิ ฟิลิปปินส์เผชิญภัยแล้งทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ จึงออกมาตรการกระตุ้นการนำเข้าโดยลดภาษีการนำเข้าข้าวทั้งในรูปแบบโควตาและนอกโควตาจาก 35% เหลือเพียง 15% จนถึงปี 2571 เช่นเดียวกับเม็กซิโก และบราซิลที่ประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ต้องเร่งนำเข้าเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ขณะที่เคนยาเผชิญน้ำท่วมจึงต้องออกมาตรการปลอดภาษีการนำเข้าข้าวจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 (ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติฟิลิปปินส์) (ที่มา : กระทรวงการคลังเคนยา)
23/ ข้าวที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) ปัจจุบันมี 23 สินค้า อาทิ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวเหลืองประทิวชุมพร ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวไร่ลืมผัวเพชรบูรณ์ ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ ข้าวก่ำล้านนา (ที่มา : กรมทรัพย์สินทางปัญญา ข้อมูล ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2567)
24/ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ประกอบด้วยการพัฒนาใน 5 มิติ (5P) ได้แก่ 1) การพัฒนาคน (People) ให้ความสำคัญกับการขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 2) สิ่งแวดล้อม (Planet) ให้ความสำคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อประชากรโลกรุ่นต่อไป 3) เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ 4) สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก และ 5) ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน (ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)