แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2566-2568 : มันสำปะหลัง

มันสำปะหลัง

มันสำปะหลัง

แนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรม 2566-2568 : มันสำปะหลัง

07 กุมภาพันธ์ 2566

EXECUTIVE SUMMARY


วิจัยกรุงศรีคาดว่าอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในปี 2566-2568 มีแนวโน้มเติบโตดี ตามทิศทางการขยายตัวของความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศ (โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเอทานอล) และตลาดส่งออก ตามการขยายตัวของตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก จากแรงหนุนของ (1) ความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องของจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเอทานอลที่ยังเติบโตตามการใช้พลังงาน อาหารสัตว์ และแอลกอฮอล์ที่ยังขยายตัวจากการระบาดของ COVID-19 เป็นระยะ และ (2) ความต้องการสต๊อกสินค้าเพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงานในตลาดส่งออกที่น่าจะยังมีอยู่จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ปัจจัยท้าทายของอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ ปริมาณผลผลิตที่มีความไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด (โรคใบด่างมันสำปะหลัง) รวมถึงด้านการตลาดที่ยังต้องพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลัก
 

มุมมองวิจัยกรุงศรี


คาดว่าผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุตสาหกรรมมันสำปะหลังโดยรวมจะได้แรงหนุนจากความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เอื้อให้ผลประกอบการในปี 2566-2568 มีทิศทางเติบโต

  • ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดิบ: รายได้มีแนวโน้มดี ตามความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กระดาษ และอุตสาหกรรมเอทานอล (ใช้น้ำแป้งเป็นวัตถุดิบ)

  • ผู้ผลิตมันเส้น: รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามการขยายตัวของความต้องการในตลาดจีนเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เอทานอล แอลกอฮอล์ และอาหารสัตว์ ทำให้ผู้ประกอบการยังมีโอกาสในการทำกำไร อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกมันเส้นยังมีความเสี่ยงจากการแย่งชิงวัตถุดิบหัวมันสดภายในประเทศซึ่งอาจมีอุปทานไม่เพียงพอ ประกอบกับการพึ่งพาตลาดจีนในสัดส่วนสูง ทำให้ธุรกิจมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อของจีน และการเข้ามาแย่งตลาดจีนของประเทศ CLMV

  • ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปร: รายได้ยังคงขยายตัวดี ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมขั้นปลายโดยเฉพาะความต้องการในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ยา เครื่องสำอาง อาหาร กระดาษ สารให้ความหวาน และเคมีภัณฑ์ รวมถึงการขยายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ แต่อาจต้องเผชิญปัจจัยท้าทายจากการแข่งขันกับแป้งของธัญพืชอื่นที่มีคุณลักษณะหลากหลายมากขึ้น

  • ผู้ผลิตมันสำปะหลังอัดเม็ด: รายได้มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของตลาด โดยความต้องการจะสูงเฉพาะช่วงที่เกิดปัญหาขาดแคลนธัญพืชชนิดอื่นๆ เช่น ช่วงภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งหากสถานการณ์เหล่านี้คลี่คลายลงคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการมันอัดเม็ดเพื่อใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและอาหารสัตว์มีแนวโน้มลดลง

  • ผู้ค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง: รายได้มีทิศทางกระเตื้องขึ้น ตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรจากราคาที่ยังจูงใจและทิศทางความต้องการใช้มันสำปะหลังทั้งในประเทศและตลาดส่งออกที่จะยังขยายตัวดี ส่งผลให้ผู้ประกอบการยังมีโอกาสทำกำไรได้

  • เกษตรกรชาวสวนมันสำปะหลัง: รายได้ทยอยปรับตัวดีขึ้นจากราคารับซื้อหัวมันสดที่สูงขึ้น ตามความต้องการวัตถุดิบหัวมันสดจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบกับมาตรการภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง (อาทิ โครงการประกันรายได้ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการดูดซับปริมาณผลผลิต) ทำให้เกษตรกรมีโอกาสทำกำไรได้ แม้ว่าเกษตรกรจะยังมีความเสี่ยงจากโรคระบาดใบด่างฯ และต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นตามราคาปุ๋ยและค่าจ้างแรงงานเก็บเกี่ยว


ข้อมูลพื้นฐาน


มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีปริมาณแป้งสูง (Carbohydrate-rich crops) สามารถนำไปใช้ประโยชน์ใน 4 ด้านหลัก (4F) ประกอบด้วย 1) Food อาหารสำหรับมนุษย์ 2) Feed อาหารเลี้ยงสัตว์ 3) Fuel วัตถุดิบในการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นพลังงานชีวภาพ และ 4) Factory ภาคอุตสาหกรรม อาทิ แอลกอฮอล์ กรดมะนาว เครื่องนุ่งห่ม ยา กระดาษ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มันสำปะหลังมักมีราคาถูกกว่าพืชอาหารที่ให้แป้งประเภทอื่น อีกทั้งสามารถใช้เป็นวัตถุดิบในภาค อุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้ความต้องการมันสำปะหลังในตลาดโลกเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้มันสำปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจากข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวเจ้า และมันฝรั่ง

ในปี 2563 ผลผลิตมันสำปะหลังทั่วโลกมีประมาณ 303 ล้านตัน (รูปที่ 1) ทวีปแอฟริกาเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็น 64.0% ของผลผลิตทั่วโลก รองลงมาคือทวีปเอเชีย[1] (27.0%) อเมริกา (8.9%) และโอเชียเนีย (0.1%) หากพิจารณาเป็นรายประเทศ ไนจีเรียเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก (สัดส่วน 19.8% ของผลผลิตทั่วโลก) รองลงมาเป็นคองโก (13.6%) ไทย (9.6%) กานา (7.2%) อินโดนีเซีย (6.1%) และบราซิล (6.0%) (รูปที่ 2) ขณะที่กัมพูชาและเวียดนามมีผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นมากในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ผลจากการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการจากประเทศไทยและจีน


 

แม้กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาจะเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ของโลก แต่ยังเน้นผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหาร คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ โดยผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ หัวมันสดและผลิตภัณฑ์แปรรูป ขณะที่ไทยเน้นผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก และเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในตลาดโลก (รูปที่ 2) โดยความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังของโลก ส่วนใหญ่มาจากประเทศในทวีปเอเชียโดยเฉพาะจีนซึ่งมีปริมาณการนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 41.3% ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั่วโลก (รูปที่ 3)


 

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังตามความต้องการในตลาดส่งออก ในปี 2564 พื้นที่เก็บเกี่ยวมีขนาดประมาณ 10.4 ล้านไร่ ให้ผลผลิตมันสำปะหลังประมาณ 35.1 ล้านตันบ2ล (รูปที่ 4) โดยกระจุกตัวในจังหวัดนครราชสีมามากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 14.1% ของพื้นที่เก็บเกี่ยวทั่วประเทศ รองลงมาเป็นกำแพงเพชร (7.3%) กาญจนบุรี (5.8%) และชัยภูมิ (5.5%)


ในปี 2565 โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,205 โรงงาน[3]  ซึ่งมักตั้งอยู่ใกล้แหล่งเพาะปลูกเพื่อความสะดวกและประหยัดต้นทุนการขนส่ง โดยจังหวัดนครราชสีมามีจำนวนโรงงานแปรรูปมากที่สุด 162 โรงงาน รองลงมาเป็นกำแพงเพชร (151 โรงงาน) นครสวรรค์ (88 โรงงาน) ชัยภูมิ (59 โรงงาน) ขณะที่ผู้ประกอบการบางกลุ่มเลือกที่ตั้งโรงงานใกล้เคียงแหล่งวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปขั้นต้นในประเทศเหล่านี้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ อาทิ อุบลราชธานี (76 โรงงาน) กาญจนบุรี (62 โรงงาน) และศรีสะเกษ (33 โรงงาน) รวมถึงการตั้งโรงงานใกล้ท่าเรือขนส่งเพื่อการส่งออกได้แก่ ชลบุรี (26 โรงงาน) ระยอง (14 โรงงาน) ฉะเชิงเทรา (14 โรงงาน) (รูปที่ 5)


 

ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ผลิตในไทยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังตากแห้ง (Dried Cassava) ผลิตภัณฑ์หลักได้แก่ มันเส้น (Cassava Chip) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ แอลกอฮอล์ และกรดมะนาว โดยปัจจุบันไทยมีโรงงานมันเส้น 1,025 โรงงาน คิดเป็น 96% ของจำนวนโรงงานในกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ทั้งหมด ที่เหลือได้แก่ โรงงานมันอัดเม็ด 28 โรงงาน[4] (2.6%) ลานตากมันสำปะหลัง 12 โรงงาน4/ (1.0%) และมันสำปะหลังแปรรูปอื่นๆ (อาทิ มันสำปะหลังแผ่น มันสำปะหลังบดหรือโม่เพื่อเป็นอาหารสัตว์) 8 โรงงาน

  • ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง (Cassava Starch) ผลิตภัณฑ์ขั้นต้น คือ แป้งมันสำปะหลังดิบ (Native Starch) สามารถใช้บริโภคโดยตรงในครัวเรือน (เพื่อประกอบ/ปรุงอาหาร) และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปร (Modified Starch)[5] ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง อีกทั้งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้หลากหลาย อาทิ ผงชูรส สารให้ความหวาน ซอสปรุงรส เครื่องสำอาง และยา เป็นต้น ปัจจุบันโรงงานแป้งมันสำปะหลังดิบในไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 105 โรงงาน และโรงงานแป้งมันสำปะหลังดัดแปร 27 โรงงาน โดยทั่วไปการผลิตมันสำปะหลังแปรรูปขั้นต้นส่วนใหญ่จะดำเนินการในช่วงปลายปีถึงต้นปีถัดไปโดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวของผลผลิตสะท้อนจากดัชนีการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตมันสำปะหลังแปรรูปที่อยู่ในระดับสูงสุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของแต่ละปี (รูปที่ 6)


 

เมื่อพิจารณาโครงสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทย พบว่า ในปี 2564 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังใช้วัตถุดิบที่มาจากผลผลิตในประเทศ 77.0% นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน 13.8% การนำเข้าส่วนใหญ่เป็นมันเส้น 2.4 ล้านตัน[6] และหัวมันสด 0.4 ล้านตัน (สัดส่วนรวมกัน 99.3% ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมด) ที่เหลืออีก 9.2% เป็นสต๊อกของปีก่อน ทั้งนี้ 72.7% ของปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังจะถูกใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปใช้ผลิตเพื่อบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศ (รูปที่ 7)


จากความพร้อมด้านแหล่งผลิตวัตถุดิบมันสำปะหลังของไทย ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบอยู่ที่ 72% มันเส้น 64% และแป้งมันสำปะหลังดัดแปร 33% ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์มันอัดเม็ดมีปริมาณน้อยมาก ผลจากการที่สหภาพยุโรปซึ่งนำเข้ามันอัดเม็ดเป็นหลัก และเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีนโยบายลดการนำเข้ามันอัดเม็ดและหันไปใช้ธัญพืชอื่นทดแทนตั้งแต่ปี 2548[10] (รูปที่ 8) และส่งผลให้มูลค่าส่งออกมันอัดเม็ดของไทยลดลงเป็นลำดับ โดยโครงสร้างตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในปัจจุบันพึ่งพาตลาดภูมิภาคเอเชียเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะจีน[11] ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 80% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย (รูปที่ 9)


 

  • มันเส้น มีสัดส่วน 50.7% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทยในปี 2564 (รูปที่ 8) โดยส่งออกไปจีนเกือบทั้งหมด (สัดส่วนเกือบ 100% ของปริมาณส่งออกมันเส้นทั้งหมดของไทยในปี 2564) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ เอทานอล อาหารสัตว์[12] และกรดมะนาว จากโครงสร้างตลาดส่งออกที่กระจุกตัวทำให้ไทยมีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าต่ำและมีความเสี่ยงด้านตลาดสูงหากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2561-2563 จีนลดการนำเข้ามันเส้นโดยหันไปใช้ข้าวโพดในประเทศ ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก

  • แป้งมันสำปะหลังดิบ มีสัดส่วน 35.2% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกหลักคือ จีน (สัดส่วน 71% ของปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบของไทย) รองลงมาเป็นไต้หวัน (7%) มาเลเซีย (4%) ญี่ปุ่น (4%) และสหรัฐอเมริกา (3%) ทั้งนี้ความต้องการขึ้นอยู่กับทิศทางอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร กระดาษ เครื่องดื่ม และสิ่งทอ เป็นต้น

  • แป้งมันสำปะหลังดัดแปร มีสัดส่วน 10.8% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ความต้องการบริโภคในตลาดโลกขยายตัวค่อนข้างดีตามทิศทางของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ ญี่ปุ่น (สัดส่วน 28% ของปริมาณส่งออกแป้งมันสำปะหลังดัดแปรของไทยในปี 2564) ตามด้วยจีน (26%) อินโดนีเซีย (9%) และเกาหลีใต้ (7%)

  • มันอัดเม็ด มีสัดส่วนเพียง 0.2% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ผลจากสหภาพยุโรปมีนโยบายลดการนำเข้ามันอัดเม็ดจากไทยตั้งแต่ปี 2548[13] ประกอบกับราคามันอัดเม็ดของไทยไม่สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากธัญพืชทดแทนอย่างอื่น (เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์)

  • ผลิตภัณฑ์แปรรูปประเภทอื่นๆ มีสัดส่วน 3.1% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ประกอบด้วย หัวมันสำปะหลัง สาคูที่ทำจากแป้งมันสำปะหลัง และกากมันสำปะหลัง ตลาดส่งออกสำคัญ คือ เกาหลีใต้ (สัดส่วน 38% ของปริมาณส่งออกผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ของไทยในปี 2564) ตามด้วยนิวซีแลนด์ (29%) และจีน (25%)

สำหรับความต้องการใช้มันสำปะหลังภายในประเทศ นอกจากจะใช้เพื่อการบริโภคโดยตรงในครัวเรือนและเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์แล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ และแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายรายมีการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจโดยการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง รวมถึงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากกากมันสำปะหลังและของเสียจากโรงงานเพื่อใช้เองและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ (ตารางที่ 1)


 

สถานการณ์ที่ผ่านมา


ปี 2565 อุตสาหกรรมมันสำปะหลังมีทิศทางขยายตัว โดยอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เป็นสินค้าทดแทนพืชอื่นและใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ทยอยฟื้นตัว รวมถึงเพื่อความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ขณะที่ผลผลิตลดลงจากอุทกภัย แม้จะมีปัจจัยหนุนจากราคาที่จูงใจ มาตรการสนับสนุนภาครัฐฯ และสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย

  • ผลผลิตมันสำปะหลังมีทิศทางลดลง คาดว่าจะอยู่ที่ 34.0 ล้านตัน ลดลง -3.1% เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนเสียหายจากอุทกภัยในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2564 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินพื้นเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง (Harvested Area) ในปี 2565 อยู่ที่ 9.9 ล้านไร่ ลดลง -4.7%  แม้ว่าเกษตรกรได้รับแรงจูงใจจากการปรับขึ้นของราคาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังปี 2563 (รูปที่ 10) และโครงการสนับสนุนภาคเกษตรจากรัฐบาลโดยเฉพาะโครงการประกันรายได้ สำหรับผลผลิตต่อไร่ (Yield) มีแนวโน้มเพิ่มเป็น 3,428 กิโลกรัมต่อไร่ (+1.7%) แรงหนุนจาก (1) ปริมาณน้ำและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย (2) การปรับปรุงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคใบด่างมันสำปะหลังและการใช้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงของเกษตรกร


 

  • ปริมาณส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัว ในปี 2565 ปริมาณส่งออกมันสำปะหลังอยู่ที่ 11.2 ล้านตัน ขยายตัว 6.9% มูลค่า 4,411.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.2% ผลจาก (1) ความต้องการของตลาดจีนที่ขยายตัวสูง เนื่องจาก (1.1) ความต้องการใช้ผลิตแอลกอฮอล์ และเอทานอลเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ตามมาตรการ Zero-COVID (1.2) อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ (สุกร) ที่ทยอยฟื้นตัวจากโรคระบาด African Swine Fever (ASF) และ (1.3) ใช้เป็นสินค้าทดแทนหรือชดเชยสต๊อกข้าวโพดในจีนที่ลดลง และ (2) ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารและพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้หลายประเทศนำเข้ามันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แบ่งเป็น

​            - แป้งมันสำปะหลังดิบ: ปี 2565 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 3.8 ล้านตัน มูลค่า 1,836.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.0% ในเชิงปริมาณและ 8.2% ในเชิงมูลค่าตามลำดับ เนื่องจากราคาแป้งธัญพืชอื่นๆที่เป็นสินค้าทดแทนมันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้นตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ ราคาข้าวบาร์เล่ย์ (+30.1%) ข้าวโพด (+22.8%) และข้าวสาลี (+36.4%) (รูปที่ 12) ขณะที่ราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าเฉลี่ยที่ 4.6% ทำให้ผู้นำเข้าหลัก อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ หันมานำเข้าแป้งมันสำปะหลังดิบมากขึ้น เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม กระดาษ กาว สิ่งทอ และไม้อัด เป็นต้น ส่งผลให้ราคาส่งออกแป้งมันสำปะหลังดิบของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.2% อยู่ที่ 490 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

           - มันเส้น: ปี 2565 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 5.9 ล้านตัน มูลค่า 1,501.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.3% ในเชิงปริมาณและ 13.6% ในเชิงมูลค่าตามลำดับ ปัจจัยหนุนมาจาก (1) การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้มันเส้นผลิตเป็นแอลกอฮอล์ และเอทานอลในจีนเพิ่มขึ้น และ (2) การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และ (3) สต๊อกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชที่จีนใช้ทดแทนมันสำปะหลังลดลงในช่วงปี 2561-2562 ส่งผลให้ราคาส่งออกมันเส้นเพิ่มขึ้น 4.4% อยู่ที่ 260 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

 



 

            - แป้งมันสำปะหลังดัดแปร: ปี 2565 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 1.14 ล้านตัน มูลค่า 956.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.4% ในเชิงปริมาณและ 11.9% ในเชิงมูลค่า ตามการขยายตัวของความต้องการในตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร สารให้ความหวาน กระดาษ ยาและเครื่องสำอางที่ยังคงเติบโตแต่ในอัตราไม่สูงนักตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าดังกล่าว (รูปที่ 13) รวมทั้งแป้งมันสำปะหลังดัดแปรเผชิญการแข่งขันด้านราคากับแป้ง (Starch) จากธัญพืชอื่นๆที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมากขึ้น (รูปที่ 14) แต่ราคาส่งออกยังขยายตัว 10.4% เฉลี่ยที่ 839 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน

            - มันอัดเม็ด: ปี 2565 ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 7.8 หมื่นตัน มูลค่า 22.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 251.0% ในเชิงปริมาณและ 243.0% ในเชิงมูลค่า อานิสงส์จากตลาดเนเธอร์แลนด์ จีน และญี่ปุ่น ที่ต้องการนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และพลังงานเพิ่มขึ้นท่ามกลางความเสี่ยงของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้านราคาส่งออกเพิ่มขึ้น 10.0% เฉลี่ยที่ 346 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน


  • ความต้องการในประเทศมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะอาหาร และเอทานอล ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้หัวมันสดปี 2565 จะอยู่ที่ 14.2-14.5 ล้านตัน ขยายตัวประมาณ 15.0-17.0% แบ่งเป็น (1) การใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอยู่ที่ 10.9-11.1 ล้านตันหัวมันสด เพิ่มขึ้น 17.0-20.0% โดยเฉพาะสำหรับการผลิตแอลกอฮอล์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อฆ่าเชื้อโรค และ (2) การใช้ในภาคพลังงานที่ 3.35-3.38 ล้านตันหัวมันสด เพิ่มขึ้น 7.0-8.0% อยู่ตามการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดจากภาครัฐโดยเฉพาะน้ำมันก๊าซโซฮอล์ E20 และ E85 ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น รวมทั้งโรงงานเอทานอลบางส่วนได้หันมาใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนอ้อยและกากน้ำตาลที่มีราคาสูง (รูปที่ 15)

  • ราคาหัวมันสดในประเทศปี 2565 อยู่ที่ระดับ 2.52 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 22.0% ตามความต้องการทั้งจากในประเทศที่เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปผลิตแอลกอฮอล์ เอทานอล พลังงาน รวมถึงการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และจากตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะจีนที่ต้องการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลและอาหารสัตว์ทดแทนสต๊อกข้าวโพดที่ลดลง[14]

แนวโน้มธุรกิจ


ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยในปี 2566-2568 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้

การผลิต: ในปี 2566 คาดว่าผลผลิตมันสำปะหลังจะอยู่ที่ 34.5-34.9 ล้านตันหัวมันสด เพิ่มขึ้น 1.5-2.5% ปัจจัยหนุนหลักมาจากราคาที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อทำให้หลายประเทศมีอุปสงค์เพื่อความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เพิ่มขึ้น สำหรับปี 2567-2568 คาดว่าผลผลิตจะอยู่ที่ระดับ 35.5-36.5 ล้านตันหัวมันสด เพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 2.0-3.0% โดยมีแรงหนุนจาก (1) ปริมาณน้ำและสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก และ (2) แนวโน้มความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะขยายตัวตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า (รูปที่ 16) ทั้งนี้ คาดว่าราคาหัวมันสดน่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับเฉลี่ยที่ 2.4-2.6 บาท/กก.ในปี 2566 ก่อนปรับขึ้นเล็กน้อยอยู่ในระดับ 2.5-2.8 บาท/กก. ในปี 2567-2568 จากแรงหนุนของตลาดส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น

ตลาดในประเทศ: ความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี โดยมีแรงหนุนหลักมาจาก (1) อุตสาหกรรมอาหารที่คาดว่าจะใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง (2) ความต้องการใช้เอทานอลที่มีแนวโน้มจะใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 3.0-4.0% ต่อปี เพื่อใช้ในการผลิตน้ำมันแก๊ซโซฮอล์ E20 และ E85 ตามนโยบายสนับสนุนของภาครัฐรองรับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและขนส่ง (3) การให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยที่มากขึ้นของประชาชนจะกระตุ้นความต้องการแอลกอฮอล์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ และ (4) อุตสาหกรรมเอทานอลที่หันมาใช้มันสด มันเส้น และน้ำแป้งมันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบมากขึ้นแทนอ้อยและกากน้ำตาลที่มีปริมาณผลผลิตลดลงหรือมีราคาเพิ่มสูงขึ้น


 

ตลาดส่งออก: คาดว่าปริมาณส่งออกโดยรวมจะเติบโตเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี โดยอาจจะยังเติบโตไม่มากนักในปี 2566 ก่อนที่จะเร่งขึ้นในปี 2567-2568 ตามทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศคู่ค้า (รูปที่ 17) โดยรายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

  • แป้งมันสำปะหลังดิบ: คาดปริมาณส่งออกอยู่ที่ 3.9-4.1 ล้านตัน ขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังเผชิญปัจจัยท้าทายจาก (1) การแข่งขันด้านราคาจากแป้งธัญพืชอื่น (โดยเฉพาะแป้งข้าวโพดที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 71% ของมูลค่าตลาดแป้งของโลก) ที่ราคาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน (2) จีนสามารถใช้ผลผลิตข้าวโพดในประเทศเพื่อทดแทนหรือสลับกับการใช้มันสำปะหลังมากขึ้น (รูปที่ 18) และ (3) การนำเข้าของจีนจากประเทศเพื่อนบ้าน[15] กลุ่ม CLMV ซึ่งจีนได้เข้าไปลงทุนในพื้นที่เพาะปลูกและโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังขั้นต้น

  • มันเส้น: คาดปริมาณส่งออกจะอยู่ที่ 5.8-6.0 ล้านตัน เติบโต 1.0-2.0% ต่อปี ตามความต้องการนำเข้าจากจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก แรงหนุนจาก (1) ความต้องการใช้เพื่อการผลิตแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อจากการระบาดของ COVID-19 ที่จะยังมีเป็นระลอก (2) การผลิตเอทานอลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและพลังงานตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ (3) การผลิตเป็นอาหารสัตว์หลังสถานการณ์โรคระบาดในสุกรทยอยปรับดีขึ้น

  • แป้งมันสำปะหลังดัดแปร: คาดปริมาณส่งออกจะอยู่ในระดับ 1.2-1.3 ล้านตัน เติบโต 3.0-3.5% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในปี 2567-2568 โลกและการขยายตัวของอุตสาหกรรมขั้นปลาย อาทิ ยา เครื่องสำอาง อาหาร กระดาษ สารให้ความหวาน และสิ่งทอ โดย Mordor Intelligence คาดว่ามูลค่าตลาดอนุพันธ์ของแป้งดัดแปร (Starch Derivatives) และสารให้ความหวานทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ย (CAGR Growth : 2022-2025) ราว 5.2% ต่อปี[16]

  • มันสำปะหลังอัดเม็ด: คาดปริมาณส่งออกจะอยู่ในระดับประมาณ 1.5 แสนตัน แม้จะมีการนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพและอาหารสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น แต่การส่งออกมันอัดเม็ดยังมีทิศทางผันผวนและไม่สม่ำเสมอ โดยจะมีความต้องการสูงเฉพาะช่วงที่เกิดปัญหาขาดแคลนธัญพืชชนิดอื่นๆ เช่น ช่วงภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือช่วงสถานการณ์ COVID-19


ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับปรุงสายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น (อาทิ กลุ่ม Bio-plastic หรือ Renewable bio-polymer) หรือลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดซึ่งกำลังมีทิศทางเติบโตเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยในการผลิต (อาทิ โรงงานผลิตเอทานอล โรงงานไฟฟ้าชีวมวล) ทั้งนี้เพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไร อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากการแย่งชิงวัตถุดิบมากขึ้นตามความต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆที่เพิ่มขึ้น และการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล มาตรการด้านปริมาณการใช้น้ำ (Water Footprint) และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) เป็นต้น




 

 

[1] ประเทศในทวีปเอเชียมีความต้องการใช้มันสำปะหลังเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากกว่าการบริโภคโดยตรง อย่างไรก็ดี ในระยะหลังหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะในอินเดีย รวมถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ซึ่งมีนโยบายเน้นบริโภคมันสำปะหลังทดแทนข้าว ขณะที่ทวีปละตินอเมริกามีนโยบายส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังเชิงพาณิชย์เพื่อป้อนให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นหลัก
[2] ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร มันสำปะหลังเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและทนแล้งได้ดี ทำให้สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ในไทยมักปลูกในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และมีฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีถัดไป
[3] ข้อมูล ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2565 ซึ่งไม่รวมถึง โรงงานที่ยังไม่แจ้งประกอบ หยุดชั่วคราว หรือเลิกประกอบกิจการ และมีขนาดตาม พรบ.โรงงาน ฉบับที่ 2 โดยข้อมูลประกอบด้วยโรงงานมันสำปะหลังแปรรูปหลายประเภท อาทิ มันอัดเม็ด มันเส้น แป้งมันสำปะหลัง กากมันสำปะหลัง และอื่นๆ (ที่มา: กรมโรงงานอุตสาหกรรม)
[4] ไม่รวมการแปรรูปมันเส้น หรือธุรกิจอื่นๆ
[5] สตาร์ชดัดแปร (Modified Starch) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำแป้งสตาร์ชหรือแป้งมันสำปะหลังดิบมาเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางเคมีหรือทางฟิสิกส์ด้วยความร้อน เอนไซม์ หรือสารเคมี ชนิดต่างๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติเฉพาะ เช่น ความหนืดที่คงตัวมากขึ้น ความคงตัวสูงต่ออุณหภูมิ สภาพความเป็นกรด และแรงเฉือน เป็นต้น เพื่อให้แป้งมีความเหมาะสมในการนำไปใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ
[6] เท่ากับหัวมันสดประมาณ 5.8 ล้านตันหัวมันสด
[7] Producing 1 liter of ethanol requires 6.25 kilograms of fresh cassava.
[8] Producing 1 kilogram of cassava chip or pellets requires 2.42 kilograms of fresh cassava.
[9]  Producing 1 kilogram of cassava starch requires 4.20 kilograms of fresh cassava.
[10] ผลจากการปฎิรูปนโยบายการเกษตรร่วม (The Common Agricultural Policy Reform หรือ CAP Reform) ของสหภาพยุโรปในปี 2548 ทำให้สหภาพยุโรปเน้นการขยายพื้นที่เพาะปลูกธัญพืชเพื่อใช้ทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ประกอบกับราคาธัญพืชที่สหภาพยุโรปใช้ทดแทนอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจปศุสัตว์ในสหภาพยุโรปเปลี่ยนสูตรอาหารสัตว์จากที่เคยใช้มันอัดเม็ดหันมาใช้ธัญพืชอื่นๆทดแทนโดยเฉพาะมันฝรั่ง
[11] จีนเน้นนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ อาหาร พลังงาน เอทานอล และอาหารสัตว์ เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ เกษตรกรจีนไม่นิยมปลูก (ต้นทุนสูง แรงจูงใจต่ำ ไม่สามารถใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน) ขณะที่การนำเข้าได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี China - ASEAN Free Trade Area (แต่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อัตรา 9% สำหรับหัวมันดิบและมันเส้น และอัตรา 13% สำหรับแป้งสตาร์ช) ทำให้จีนเน้นนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน)
[12] การผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์จะใช้มันเส้นผสมกับกากถั่วเหลืองในสัดส่วน 87:13 เพื่อให้คุณค่าทางสารอาหารเทียมเท่ากับข้าวโพด
[13] ผลจากการปฎิรูปนโยบายการเกษตรร่วมของสหภาพยุโรป ทำให้ผู้ประกอบการมันอัดเม็ดของไทยเปลี่ยนมาผลิตมันเส้นเพื่อการส่งออกมากขึ้น
[14] สำนักงานรัฐบาลกลางและสำนักงานรัฐสภาแห่งรัฐจีนได้ตีพิมพ์แผนปฏิบัติการประหยัดอาหาร (Action Plan on Saving Food) โดยให้ลดธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารสัตว์และหันไปใช้สิ่งอื่นทดแทน ตั้งแต่ปี 2561 ส่งผลให้มีการลดการปลูกข้าวโพด (วัตถุดิบหลักในการผลิตเอทานอล) โดยหันไปปลูกถั่วเหลืองเพื่อทดแทนการนำเข้า ส่งผลให้สต๊อกข้าวโพดลดลง
[15] จีนได้ลงทุนเพาะปลูกพืชและตั้งโรงงานแปรรูปขั้นต้นในหลายประเทศ อาทิ กัมพูชา (ปลูกยางพารา อคาเซีย มันสำปะหลัง และอ้อย) ลาว (ส่วนใหญ่ลงทุนในจังหวัดทางตอนเหนือของลาวซึ่งติดชายแดนจีน โดยปลูกยางพารา อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล้วย มันสำปะหลัง และพืชไม้สักและยูคาลิปตัส) เมียนมา (ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ผลไม้ประเภทกล้วย และแตงโม) ที่มา: Chinese Agriculture in Southeast Asia: Investment, Aid and Trade in Cambodia, Laos and Myanmar
[16] มูลค่ารวมอุตสาหกรรมแป้งหลายประเภท อาทิ แป้งข้าวโพด แป้งข้าวสาลี แป้งมันสำปะหลัง แป้งมันฝรั่ง และแป้งอื่นๆ เป็นต้น ที่มา: Mordor Intelligence Analysis

Tag:
ย้อนกลับ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา