ก่อนหน้านี้เราจะคุ้นชินกับภาวะซึมเศร้าที่มีชื่อว่า
SAD (Seasonal Affective Disorder) หรือภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ที่มักพบบ่อยในฤดูหนาว หรือฤดูใบไม้ร่วง และส่วนใหญ่อาการก็จะดีขึ้นในช่วงฤดูร้อน โดยภาวะซึมเศร้าเมื่อฤดูกาลเปลี่ยนแปลงก็มีทั้ง
ความรู้สึกหมดหวัง, ไร้ค่า, อ่อนเพลีย จนไม่มีแรงจะทำกิจกรรมใด ๆ หรือหมดความสนใจในสิ่งที่เคยสนใจ เป็นต้น ซึ่งก็มีการคาดการณ์ว่าแสงอาทิตย์ในช่วงเวลากลางวันที่น้อยลงในฤดูหนาว อาจจะส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าว และในสหรัฐอเมริกาก็มีประชากรที่มีภาวะ SAD ถึง 4-6%
แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ในฤดูหนาวเท่านั้น แต่ Summertime Sadness ก็เกิดขึ้นได้เหมือนกันนะ โดยมีชื่อเรียกว่า “
Summertime SAD” นั่นเอง Ian A. Cook ผู้อำนวยการโครงการวิจัยภาวะซึมเศร้าที่มหาวิทยาลัย Univerisity of California, Los angeles (UCLA) ระบุว่าในประเทศที่อยู่บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร อย่างประเทศอินเดีย หรือประเทศไทย อาการ Summertime SAD นั้นกลับพบบ่อยกว่า winter SAD เสียอีก โดยผู้ที่เผชิญสภาวะ Summertime SAD มักจะมีอาการอย่าง เบื่ออาหาร, นอนหลับไม่เพียงพอ, สภาพอารมณ์แปรปรวน, มีความกังวลบ่อยครั้ง, มีอาการเช่นเดียวกับภาวะซึมเศร้า และมักมีอาการเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน ติดต่อกันมากกว่า 2 ปี ซึ่งอาการที่ว่ามานั้นเป็นผลของความร้อน และความชื้นของอากาศในหน้าร้อนนั่นเอง
นอกจากตัวการอย่างสภาพอากาศที่ร้อนแล้ว ช่วงเวลาซัมเมอร์ก็มักจะมาพ่วงกับวันหยุดยาวอย่างเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนต้องแบ่งค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งไว้สำหรับทริปท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้เกิด
ความกังวลด้านการเงินได้เช่นกัน รวมไปถึงความรู้สึกต่อรูปลักษณ์ทางร่างกาย จากการที่ต้องใส่ชุดว่ายน้ำ หรือเสื้อผ้าสำหรับฤดูร้อน ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งรู้สึกไม่มั่นใจในรูปร่างของตัวเอง และอีกส่วนก็หลีกเลี่ยงที่จะออกไปทำกิจกรรม หรือพบเจอผู้คนในช่วงฤดูร้อนนั่นเอง
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสภาวะ Summertime SAD คือการเปลี่ยนแปลงตารางเวลา และการไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ เช่น พ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกที่บ้านในช่วงที่โรงเรียนปิดเทอมหน้าร้อน ทำให้กระทบกับตารางการทำงานปกติของตนเอง หรือสภาพอากาศที่ร้อนจนทำให้ไม่สามารถออกกำลังกาย หรือทำงานบ้านได้ตามปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมานั่นเอง
Samar McCutcheon, MD นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Ohio State University ระบุว่าการเริ่มต้นรักษาอาการ Summertime SAD คือการระบุต้นตอที่ก่อให้เกิดภาวะดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้น ลองสำรวจตัวเราเองว่าเรามักมีอาการเมื่ออากาศร้อนจนร่างกายรู้สึกไม่สบายตัว, มีความเครียดเพราะค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน, หรือเพราะความกังวลในรูปร่างของตัวเองกันแน่ รวมไปถึงการสร้างกิจวัตรประจำวัน และเวลาเข้านอนที่แน่นอนและสม่ำเสมอ รวมไปถึงการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้สูงจนเกินไป ผ่านการดื่มน้ำบ่อย ๆ สวมหมวก หรือสวมแว่นตากันแดดเมื่อต้องออกจากบ้านก็สามารถช่วยได้นิด ๆ หน่อย ๆ เช่นกัน
แม้ว่าเรามักจะผูกความรู้สึกสดชื่น แฮปปี้ กระตือรือร้น เข้ากับฤดูร้อน และความเศร้า เหงา ซึม เข้ากับฤดูหนาว แต่หากเรากำลังเผชิญสภาวะซึมเศร้าในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ ก็ไม่ต้องรู้สึกกังวลไป เพราะ Summertime Sadness นั้นมีอยู่จริง ๆ ใครที่กำลังกังวลช่วงนี้ ลองติดต่อรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และใช้เวลา
ดูแลสภาพจิตใจของตัวเองกันเยอะ ๆ นะคะ!