รับมือกับความกังวลเมื่อต้อง Work From Home

รับมือกับความกังวลเมื่อต้อง Work From Home

By รวิศ หาญอุตสาหะ
แม้ Work From Home จะอยู่กับเรามาปีกว่าและมีทีท่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกพักใหญ่ หลายคนก็ยังไม่สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะการทำงานเช่นนี้ได้อย่างจริงจัง บางคนชื่นชอบบรรยากาศที่ได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานต่อหน้าในออฟฟิศ บางคนชอบทำงานที่ออฟฟิศเพราะรู้สึกว่าสามารถแบ่งเวลาส่วนตัวและเวลางานได้ง่ายกว่าทำงานที่บ้าน รวมถึงปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดภาวะเครียดและความกังวล ส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ ลามไปถึงลดทอนคุณภาพของงานและสร้างความลำบากในการใช้ชีวิต

การรับมือกับความกังวลเมื่อต้อง Work From Home แม้จะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายสำหรับทุกคน เพราะความกังวลนั้นเกิดจากหลายปัญหาทับถมซ้อนกัน เราจึงต้องมองให้ออกว่าต้นตอของปัญหาเกิดจากอะไรแล้วค่อยวางแผนหาวิธีแก้ไข ปัญหาเหล่านั้นจะได้ไม่เกิดซ้ำสอง

แน่นอนว่าวิธีแก้ปัญหานั้นไม่ตายตัว แถมแต่ละคนก็ประสบปัญหาแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามแม้ปัญหาจะต่างกันแค่ไหน อย่างน้อยที่สุดก็จะมีปัจจัยหรือต้นตอที่คล้ายกัน หนึ่งในนั้นคือ แนวคิด ใช่แล้วครับ แนวคิดของเราส่งผลต่อมุมมองในการทำงานและใช้ชีวิต ถ้าเรากำหนดแนวคิดให้เหมาะสมกับตัวเราแล้วล่ะก็ การแก้ปัญหาก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นครับ ลองมาดูกันว่าเราควรปรับแนวคิดอย่างไรที่จะช่วยให้เรารับมือกับความกังวลเมื่อต้อง Work From Home ครับ
กำหนดขอบเขตการทำงานกับเพื่อนร่วมงานและองค์กรให้ชัดเจน

1. กำหนดขอบเขตการทำงานกับเพื่อนร่วมงานและองค์กรให้ชัดเจน

บางครั้งต้นตอของความกังวลก็มาจากเพื่อนร่วมงานหรือองค์กรที่เราทำงาน จากที่เมื่อก่อนเข้างานตามกะเป็นเวลา ตอนนี้ต้องทำงานได้ทุกเวลาตามที่องค์กรต้องการ แน่นอนบางครั้งอาจจำเป็นต้องทำงานนอกเวลาเพราะเป็นงานด่วน แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องตื่นตัวพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมงขนาดนั้น นี่คือจุดที่สร้างความกังวลให้กับหลาย ๆ คน เพราะต้องคอยเช็กอีเมลหรือข้อความตลอดเวลาว่าจะมีงานเข้ามาเมื่อไหร่ กลายเป็นรบกวนเวลาพักผ่อน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง

ดังนั้น ทั้งตัวเราและองค์กรจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตเวลาการทำงานให้ชัดเจน อาจจะไม่ต้องเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว แต่ต้องมีกรอบหลวม ๆ ในระดับหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคนสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและมีเวลาพักผ่อนเพียงพอ เพราะทุกคนต่างมีเวลาของตนเอง การจะอยู่ร่วมกันได้จำเป็นต้องเคารพเวลาซึ่งกันและกัน หากไม่เคารพเวลาของอีกฝ่ายแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่จะทำงานด้วยกันไปตลอดรอดฝั่งได้
อย่ากลัวที่จะปฏิเสธงานหากเราทำงานไม่ไหว

2. อย่ากลัวที่จะปฏิเสธงานหากเราทำงานไม่ไหว

สิ่งหนึ่งที่เป็นผลเสียของ Work From Home คือ ภาระงานที่ต้องทำเพิ่มมากกว่าปกติ เนื่องจากการทำงานที่บ้านนั้นมีขอบเขตที่ไม่ตายตัว บางคนเลยเกิดความกังวลว่า ทำงานเท่าเดิมอาจจะดีไม่พอ เพราะตอนนี้เรามีเวลาทำงานมากขึ้น จึงเลือกที่จะรับงานเพิ่มหรือตกปากรับคำทำงานให้คนอื่น ๆ เพื่อกลบความรู้สึกนี้ของตนเอง กลายเป็นเพิ่มภาระให้ร่างกายเพราะทำงานเกินขีดจำกัด แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธเพราะกลัวโดนมองว่าไม่ตั้งใจทำงาน

แต่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ ที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องทำให้เยอะหรือใช้เวลากับมันมากเกินไป เราควรที่จะทำงานให้เสร็จและมีคุณภาพให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ในเวลาที่กำหนด การโหมงานให้คนอื่นมองว่าเราขยันแต่บริหารเวลาไม่เป็นจนเสียสุขภาพไม่ใช่เรื่องดี ถ้าอยากทำงานเยอะ ๆ ต้องจัดสรรเวลาให้เป็นเสียก่อน และอย่ารู้สึกกลัวที่ต้องปฏิเสธงาน ถ้าสุขภาพไม่ดีงานที่ทำก็จะออกมาดีได้ยากครับ
แยกให้ออกระหว่างงานที่ซับซ้อนและงานที่ยุ่งยาก

3. แยกให้ออกระหว่างงานที่ซับซ้อนและงานที่ยุ่งยาก

เมื่อเราเจองานยาก ๆ หลายคนก็เกิดความกลัวและความกังวล ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดได้ทั่วไป แต่เราต้องแยกให้ออกก่อนว่า งานที่เราทำนั้นยากเพราะซับซ้อน หรือยากเพราะวุ่นวายที่จะจัดการ

งานที่ซับซ้อน คือ งานที่ต้องการทักษะเฉพาะด้านในการลงมือทำ ถ้าหากเราไม่มีทักษะตามที่ต้องการก็ต้องทำงานร่วมกับคนที่มีทักษะนั้น หรือไปเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติม ซึ่งในสภาวะ Work From Home เช่นนี้ การเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ สำหรับบางคนต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ดังนั้น หากเจองานที่ซับซ้อนเกินความสามารถ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อให้งานสำเร็จ แล้วเรียนรู้ทักษะนั้นไปพร้อมกับทำงานชิ้นนั้น ๆ เพื่อเตรียมตัวสำหรับงานในอนาคต ขณะที่งานที่ยุ่งยากเพราะวุ่นวายเกินจะจัดการนั้นอาจไม่ได้ต้องการทักษะเฉพาะ แต่เกิดจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น งานลูกค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือเกิดเหตุสุดวิสัยจนทำให้งานไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดแล้วกระทบกับตารางงานของเรา ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามสถานการณ์

ดังนั้น ก่อนจะเป็นกังวลว่าจะทำงานนี้ได้หรือเปล่า ให้สำรวจก่อนว่างานที่ต้องทำเป็นประเภทใด จะได้จัดวิธีรับมือได้ถูกซึ่งจะช่วยลดความกังวลไปได้มากเลยทีเดียว
หากเราเข้าใจถึงต้นตอที่มาของความกังวล การรับมือก็จะเป็นเรื่องง่ายต่อการจัดการ แม้เราต้องอยู่กับ Work From Home ไปอีกสักพักใหญ่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะถ้ารู้วิธีรับมือแล้ว การปรับตัวและความกังวลก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลอีกต่อไปครับ

อ้างอิง:
https://bit.ly/3v4qN1m
https://bit.ly/3ykzUNz
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow