จากมุมมองของผู้หญิงคนหนึ่งที่เริ่มจากการเป็นพนักงานประจำ มองเห็นลู่ทางและโอกาสจนวันหนึ่งเธอเติบโตจนกลายเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนวงการสตาร์ทอัพในประเทศไทยกับเรื่องราวเส้นทางและประสบการณ์ที่ผ่านมา เธอคิดอย่างไร ทำแบบไหน จึงประสบความสำเร็จได้อย่างในทุกวันนี้
อะไรคือแรงบันดาลใจให้คุณกลายเป็นผู้ก่อตั้ง Techsauce.co
“ส่วนตัวเรียนจบทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าแล้วก็ทำงานเป็นพนักงานบริษัทอยู่มาประมาณ 12 ปี ในช่วงปี 2011 เราเห็นว่า
ตลาดในประเทศไทยยังไม่มีสื่อไหนที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ ถ้าอยากจะอ่านก็ต้องไปหาอ่านในเว็บไซต์ของต่างประเทศ จึงมาคิดว่าจะดีกว่าไหม ถ้าเราสร้างแพลทฟอร์มข่าวที่เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ ให้คนไทยได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น ทำบทความต่าง ๆ เราก็เปิดเว็บไซต์แรกขึ้นร่วมกับเพื่อน ๆ โดยใช้ชื่อว่า Thumbsup เซคชั่นสตาร์ทอัพ ก็เป็นส่วนหนึ่งของเว็บเรา ปี 2012 เรามีการจัดอีเวนต์เพื่อสร้างความแข็งแรงให้คอนเน็คติ้งเพราะเราเชื่อว่าการที่มีแค่ออนไลน์มันไม่พอ ต้องมีออฟไลน์ด้วย เราเลยไปจัดอีเวนต์ที่ Hubba มันประสบความสำเร็จด้วยดี มีคนเข้าร่วมงานร้อยกว่าคน ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพอีเวนต์แรกในประเทศไทย และมันทำให้เราได้รู้จักกับ คุณชาล และคุณเอม สองพี่น้อง
Coworking Space ซึ่งเรามีวิสัยทัศน์ที่ตรงกันคือทำอย่างไรก็ได้ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่พอเวลาพูดถึง เท็คอีโคซิสเต็มส์ เขาจะนึกถึงประเทศไทย เราต้องการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้มีโอกาสเติบโตในต่างประเทศด้วย จากวันนั้นเราเลยตั้งใจที่จะสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเพื่อโฟกัสด้านนี้ ก็คือ Techsauce
จุดมุ่งหมายของ Techsauce ในอนาคต
“มันคือความตั้งใจตั้งแต่แรกของเราที่ต้องการจะผลักดันให้สตาร์ทอัพของไทยเติบโต แต่เราไม่ได้มองแค่ในไทยอย่างเดียว เรามองว่าการสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่แข็งแรงเราต้องการการสนับสนุนและทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ในเอเชียด้วยกัน ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งในเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดใน Southeast Asia เราก็เลยพยายามจะครอบคลุมเนื้อหาที่ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย และมีความเป็น International”
จุดเด่นของสตาร์ทอัพต่าง ๆ ในประเทศไทยคืออะไร
“ในประเทศไทยมีสตาร์ทอัพเก่ง ๆ หลายคน ยกตัวอย่าง เช่น คุณโบ๊ท (ไผท ผดุงถิ่น) ที่ทำ Builk.com หรืออย่าง คุณแจ็ค อรุณสวัสดิ์ ที่มีความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งโดยตรงมาก่อน (Domain Expertise) จะเห็นว่าปัญหาในภาคธุรกิจของเขาคืออะไร แล้วจะเอาอะไรเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ จนเกิดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ หลายธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแรงในตลาดไทย ซึ่งบางธุรกิจผู้เล่นต่างประเทศก็ไม่สามารถเข้ามาร่วมแข่งขันได้ง่าย ๆ อย่างธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้าง บ้านเราก็มีความเฉพาะทาง คนไทยที่คลุกคลีในวงการนี้ย่อมทำได้ดีกว่า”
คิดว่าต้องใช้เวลาอีกนานไหม วงการสตาร์ทอัพไทยถึงจะสร้าง Unicorn ตัวแรกออกมาได้
“ถามว่า Unicorn ดีไหม มันก็ดีในส่วนที่เป็นแรงกระตุ้นและผลักดันให้คนรุ่นใหม่สนใจ แต่ส่วนตัวลึก ๆ แล้ว เรามองว่าการเป็น Unicorn ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าเขาประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจระยะยาวได้ทุกกรณี เพราะหากดูในหลาย ๆ ประเทศ อย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา Unicorn หลายบริษัทก็ยังมีประสบปัญหาได้เช่นกัน ในมุมมองส่วนตัวเลยอยากให้โฟกัสการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรงด้วยตัวเองมากกว่า หากถามว่าอีกนานแค่ไหน ที่บ้านเราจะมี Unicorn ก็คงต้องตอบว่า คงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง แต่อยากให้สังคมสนใจที่คุณค่ากับการสร้างธุรกิจที่แข็งแรงมั่นคงในระยะยาวมากกว่าการเน้นสร้าง Unicorn”
อยากให้เล่าถึงความสำคัญของการริเริ่มจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ ในไทย เช่น Techsauce Global Summit
“สตาร์ทอัพต้องอยากเจอกับนักลงทุน อีเวนต์ก็คือทางที่คุณจะได้เจอกับนักลงทุนและได้เจอกับองค์กรต่าง ๆ ที่มีโอกาสเป็นพาร์ทเนอร์หรือลูกค้า แถมได้ทดสอบโปรดักต์กับตลาดอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้เรียนรู้จากห้องสัมมนาต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญระดับ World class ที่มาแบ่งปันประสบการณ์จากทั่วโลก ถือได้ว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกพร้อมกันหลาย ๆ ตัว ซึ่งนักลงทุนหรือองค์กรต่าง ๆ ที่มางานเราก็ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีมาจากต่างประเทศด้วย หลาย ๆ คนที่มาเจอกันเขาก็ไปคุยกันต่อ ในปีที่ผ่าน ๆ มาสตาร์ทอัพหลายรายที่ได้รับเงินทุน ก็มาจากการได้เจอนักลงทุนที่งานนี้ เราเป็นเสมือนฮับที่เชื่อมโยงให้หลาย ๆ ฝ่ายได้มีโอกาสมาเจอกัน การจะมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็แนะนำว่าอยากให้มีเป้าหมายในใจชัดเจนก่อนว่าการมาร่วมงานในครั้งนี้เรามีเป้าหมายหรือต้องการอะไรเป็นหลัก และคุณจะใช้เวลาในอีเวนต์นี้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง
“อย่างแรกเลยคือผู้ประกอบการต้องมีความกล้าในระดับหนึ่ง และเราต้องมีความเชี่ยวชาญในภาคธุรกิจนั้นมากกว่าคนอื่น ต้องรู้ว่าปัญหาธุรกิจนั้นคืออะไร แล้วเราก็สร้างโปรดักต์ที่มันตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาธุรกิจนั้น ๆ ขึ้นมา อีกเรื่องหนึ่งก็คงเป็นเรื่องแคชโฟร์
การบริหารการเงิน ถ้าบริหารไม่ดีเงินหมดก็ทำอะไรยาก เรื่องการระดมทุนก็สำคัญ ถ้าเราเอาเงินมาจาก
นักลงทุน แต่เราวางแผนการบริหารจัดการเงินได้ไม่ดี มันก็เหมือนการฆ่าตัวตายเหมือนกัน นอกจากนี้แนะนำว่าในตอนที่หานักลงทุนอย่ามองที่ตัวเงินอย่างเดียว แต่ให้ดูที่นักลงทุนคนนั้นต้องสามารถช่วยเราในเรื่องของคำแนะนำ การขยายธุรกิจ เรื่องของคอนเน็กชั่นได้ด้วย เรื่องสุดท้ายคงเป็นเรื่องของ Co-Founder ต้องยอมรับว่าบางคนเป็นผู้ประกอบการที่ดี แต่ไม่ได้เป็นผู้บริหารที่ดี เมื่อวันหนึ่งที่ธุรกิจโตขึ้น คุมคนมากขึ้น จากเดิมที่เราเก่งเรื่องการพัฒนาโปรดักต์ แต่เราอาจรู้ตัวว่าเราไม่ใช่คนที่จัดการบริหารได้ดีเสมอไป เราอาจต้องหาคนมาช่วยเราในเรื่องนี้ เพื่อทำให้ธุรกิจเราเติบโตไปได้ ต้องเก่งทั้งการจัดการ เก่งทั้งเรื่องคน ถ้าเราไม่ถนัดเรื่องไหน ก็ต้องหาคนมาเติมเต็มเรา ถึงจะประสบความสำเร็จในระยะยาว”
ตอนที่เริ่มทำธุรกิจต้องเจอกับอุปสรรคอะไรมาบ้าง
“เจอมาเยอะมาก มันไม่ได้มีแต่ภาพที่สวยงามอยู่แล้ว เราต้องเจอทั้งความกดดันในตอนที่เริ่มต้นทำแรก ๆ เพราะเราไม่ได้มีเงินเดือนประจำเหมือนแต่ก่อน ต้องวางแผนให้ดีว่าถ้าเราจะเริ่มต้นทำธุรกิจอะไร เราจะพร้อมไหม ถ้ามันไม่ได้ทำรายได้ให้เราตั้งแต่ต้น แล้วเราจะอยู่ได้ยังไง จะเอาเงินที่ไหนผ่อนบ้าน จะเอาเงินที่ไหนเลี้ยงแม่ ก็ต้องเตรียมเงินส่วนนี้ไว้ก่อน ถึงจะกล้าออกมาทำได้ หรือแม้กระทั่งตอนนี้ก็ต้องเจอกับปัญหา ต้องแก้
ปัญหาต่าง ๆ ที่มีเข้ามามากมาย”
ในฐานะที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้หญิงเก่งแห่งวงการสตาร์ทอัพ คุณคิดอย่างไรกับการที่คนมองว่า เรื่องของสตาร์ทอัพเป็นโลกของผู้ชาย
“เราไม่ได้มองตัวเองเก่งอะไร เราเป็นแค่จิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนวงการมากกว่า ส่วนเรื่องผู้หญิงผู้ชาย แบคกราวเราเรียนวิศวะมาตั้งแต่เด็ก ๆ มันเลยไม่ได้รู้สึกว่ามีความเหลื่อมล้ำในเชิงของหญิงชาย แต่ถ้าเป็นในภาคธุรกิจที่ต้องใช้แรงอย่างโยธา เครื่องกลแบบนี้พอเข้าใจได้ เพราะร่างกายผู้หญิงมันไม่ได้รองรับอะไรแบบนั้น แต่ถ้าเป็นในเชิงของไอที มันก็ไม่ได้มีความต่างอะไร มันเป็นค่านิยมมากกว่าที่ทำให้ในวงการมีผู้หญิงน้อย แต่ตอนนี้เราก็เห็นว่ามันมีมากขึ้น แต่ละเพศจะมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ผู้ชายอาจจะดูมีความกล้าและความเด็ดขาดในการตัดสินใจ แต่ผู้หญิงเองก็มีความละเอียดรอบคอบ และมีทักษะในการต่อรองเจรจา ในโลกธุรกิจหญิงและชายต่างมีจุดเด่นที่ต่างกัน มันก็มาเสริมกันได้”
มีอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ และมีอะไรที่คิดว่าไม่น่าจะทำได้ แต่ทำออกมาได้
“เอาสิ่งที่อยากทำละกันคือ อยากสอนเด็ก จริง ๆ แล้วเราอยากส่งต่อความรู้ของเราให้กับคนอื่นที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ในเรื่องต่าง ๆ และเรื่องธุรกิจ อยากส่งต่อประโยชน์อันนี้คืนแก่สังคมให้เขาไปสร้างอะไรดี ๆ ต่อไป”
ฝากถึงคนที่กำลังจะลงมือทำสตาร์ทอัพ
“ขอแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ สำหรับคนที่กำลังทำงานประจำอยู่แล้วอยากออกมาทำ
ธุรกิจของตัวเอง สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องถามตัวเองให้ได้ว่า พร้อมรับความเสี่ยงและความท้าทายแค่ไหน แรงบันดาลใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคุณต้องเผชิญปัญหาและจุดวัดใจในหลาย ๆ ครั้ง ส่วนน้อง ๆ ที่พึ่งจบใหม่อย่าใจร้อน รีบทำธุรกิจจนเกินไป จริงอยู่ว่ามีหลายคนที่ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานประจำแต่ไปทำธุรกิจเลย แต่มันก็มีปัจจัยหลายอย่างช่วยส่งเสริมการทำงานประจำกับองค์กรอื่นก่อน เพื่อเรียนรู้ระบบและค้นหาความเชี่ยวชาญของตัวเองให้เจอ ก็เป็นเรื่องสำคัญ”
หากเปรียบโลกธุรกิจเป็นการแข่งขันวิ่งรายการหนึ่ง เส้นชัยของนักกีฬาแต่ละคนนั้นคงมีความหมายที่ต่างกัน จำนวนกำไร การสร้างปรากฏการณ์ให้กับโลก เพื่อนร่วมทาง ถ้วยรางวัลแห่งความสำเร็จในรายการนี้คงไม่ได้มีแค่ความรวยอย่างปัจจุบันทันด่วนเป็นเป้าหมาย แต่สำหรับ มิหมี อรนุช เลิศสุวรรณกิจ เธอสอนเราว่า การเติบโตอย่างแข็งแรงและมั่นคงต่างหาก ที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจ ซึ่งเราเห็นด้วยอย่างที่สุด