จาก New Normal สู่ Now Normal ในวันนี้สร้างความเคยชินใหม่ให้กับเรามากแค่ไหน หากเรามองย้อนกลับไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน ในช่วงที่เราต้องเผชิญเข้ากับวิกฤตโรคระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่ทำให้เราทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวในการใช้ชีวิต จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ทุกอย่างเริ่มกลายเป็นความเคยชินของเราจนเรียกได้ว่าเป็น Now Normal ไปแล้ว
ซึ่งถ้าหากเรามานึกย้อนกลับอีกครั้งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเราไปหลัก ๆ เลยคงหนีไม่พ้นวิถีของการทำงานแบบ “Work Form Home” หรือการทำงานจากที่บ้านที่ไม่เพียงกลุ่มคนทำงานเท่านั้นที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับมัน แต่เมื่อทุกคนเริ่มเกิดความเคยชิน และปรับตัวเข้ากับการทำงานในรูปแบบ WFH ได้แล้วนั้น ทำให้จากผลสำรวจของ ‘People at Work 2022: A Global Workforce View’ ที่ได้สำรวจพนักงานทั่วไปโดยผลลัพธ์ คือ มากถึง 64% ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่อยากกลับไปทำงานในออฟฟิศอีก หรือบางคนถึงขั้นยอมลาออกหากต้องกลับไปทำงานออฟฟิศเต็มรูปแบบ แต่บางคนก็ยอมเข้าออฟฟิศสลับกับการทำงานจากที่บ้านเช่นเคย
ซึ่งจริง ๆ แล้วการ Work Form Home ก็มีข้อดีอยู่มากมาย อย่างการมีสุขภาพดีขึ้น มีความยืดหยุ่นด้านเวลาทำงาน ไม่ต้องเผื่อเวลาเดินทาง แต่มองกลับมาก็มีข้อเสียที่ร้ายแรงเหมือนกัน อาทิ การติดต่อสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมงานน้อยลง อารมณ์อ่อนไหว สมาธิสั้น หรืออาการที่พบเห็นได้บ่อยในช่วงนี้คือ “
หมดไฟ”
เรามาทำความรู้จักอาการ “หมดไฟ” หรือที่เรียกว่า Burnout กันก่อน จริง ๆ แล้วอาการหมดไฟเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Burnout Syndrome หรือการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงานและไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งแบ่งลักษณะอาการออกเป็น 3 กลุ่มย่อย ได้แก่
- มีความรู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง สูญเสียพลังจิตใจ
- มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตัวเอง ไม่มั่นใจในตัวเองเหมือนอย่างก่อน
- มีประสิทธิภาพการทำงานที่น้อยลง ไม่สนิทกับใครในที่ทำงาน และคิดลบกับพวกเขา
หลังจากที่เรารู้ถึงอาการของ
Burnout Syndrome เรามารู้ถึงสัญญาณเตือนที่หลาย ๆ คนยังไม่รู้ว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะหมดไฟอยู่หรือเปล่า เราขอให้คุณเช็กด่วน! และคำถามที่ตามมาหลังจากนี้คงหนีไม่พ้นคำถามที่ว่า อาการหมดไฟ แก้อย่างไร
โดยเราจะมาลองแบ่งการเช็กหลัก ๆ ออกเป็น 3 ด้าน
- ด้านอารมณ์
- รู้สึกหดหู่
- ซึมเศร้า
- ทำอะไรก็หงุดหงิด โมโหง่าย
- อารมณ์แปรปรวน
- ไม่พอใจในงานที่ทำ
- ด้านความคิด
- มองคนอื่นในแง่ร้าย
- โทษคนอื่นมากกว่าตัวเอง
- ระแวงทุกสิ่ง
- หนีปัญหา ไม่ยอมจัดการปัญหาที่เจอ
- ด้านพฤติกรรม
- ขาดความกระตือรือร้น
- บริหารจัดการเวลาไม่ได้
- ไม่อยากตื่นไปทำงาน
- ไม่มีสมาธิในการทำงาน
- ไม่มีความสุขในการทำงาน
นับอาการ Burnout ที่คุณกำลังประสบไว้ในใจ หากใครที่กำลังมีคำถามกับตัวเองว่า หมดไฟ แก้ยังไง เราขอดูแลคุณต่อด้วย “วิธีแก้อาการหมดไฟ”
วิธีแก้อาการหมดไฟ Burnout ที่เราจะหยิบยกมาให้คุณง่ายๆ มีเพียง 4 วิธี
1. จัดระเบียบชีวิตใหม่ ให้ไม่ยุ่งเหยิง
หากใครที่กำลังสงสัยอาการหมดไฟ แก้ยังไง เริ่มด้วยวิธีนี้ดีที่สุด คือการเริ่มจัดระเบียบชีวิตมันก็เป็นสิ่งง่ายๆ ที่เราสามารถทำได้เลยทันที โดยเราอาจจะเริ่มจากจัดสิ่งของที่เราจำเป็นต้องใช้ ในชีวิตประจำวันให้เป็นระเบียบ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เราปล่อยมันไว้ ไม่เป็นที่เป็นทางแล้วหากเมื่อไหร่ที่เราจำเป็นต้องหยิบใช้มัน เราก็มักจะหามันไม่เจอ ก็จะส่งผลให้เรานั้น หงุดหงิด ร้อนรนจนทำให้รู้สึกอารมณ์ไม่ดี และผลที่ตามมาคงหนีไม่พ้น เรื่องของสุขภาพจิตที่แย่ลง เพราะฉะนั้นหากเราจัดระเบียบสิ่งของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ก็จะช่วยให้เราลดความเครียดเวลาหาของไม่เจอไปได้ และมันก็ยังช่วยให้เราได้ฝึกสมาธิ ในช่วงเวลาการจัดระเบียบสิ่งของอีกด้วย “ก้าวเล็กๆ ที่เราเริ่มในเรื่องเล็กๆ จะกลายเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้าของคุณ
2. ออกไปทำในสิ่งที่อยากจะทำ
เราเชื่อว่าหลายๆ คนคงมีแพลนหรือกิจกรรมอะไรสักอย่าง ที่อยากจะทำ แต่ด้วยชีวิตที่มันยุ่งอยู่ตลอดเวลา จนไม่มีเวลาไปทำสิ่งเหล่านั้นสักที จริงๆ แล้วถ้าหากเราสามารถจัดระเบียบชีวิตใหม่ได้แล้ว มันก็จะทำให้เรานั้นมีเวลามากขึ้น พร้อมทั้งเพียงพอที่จะออกไปทำในสิ่งที่อยากทำ ท้ายที่สุดแล้วมัน ก็จะส่งผลให้สภาพร่างกายและจิตใจของเราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ พักทุกเรื่องราวทิ้งไป พร้อมทั้งเราจะเดินก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมีความสุขได้
3. ไม่แบกรับทุกสิ่งเอาไว้คนเดียว
หลายๆคน อาจมีความรู้สึกมากมายในใจ แต่เลือกที่จะเก็บไว้คนเดียว เพราะมีความคิดที่ว่าหากเราเล่าให้ใครฟังเราจะเพิ่มภาระให้เขาหรือเปล่า แต่ในทางกลับกัน การที่เราจะไม่ต้องแบกรับมันไว้คนเดียวนั้น มันคือการที่มีคนช่วยแชร์ความรู้สึกของเรา อีกทั้งเขาอาจจะมีคำพูดที่ให้กำลังใจคนที่มีอาการ Burnout หมดไฟ และแบ่งภาระทางความคิดของเราได้ หากใครสักคนได้รับฟังแล้ว อาจจะทำให้เราได้เจอทางออกที่เราต้องการคำตอบอยู่ หรือเราอาจจะได้แนวคิดใหม่ ๆ มุมมองความคิดที่ต่างจากเราออกไปนั่นเอง
4. ออกจากที่ที่ไม่ใช่ที่ของเรา
หากเราต้องการเลือกที่จะเดินออกมา มันไม่ใช่ว่าเรานั้นจะกลายเป็นผู้แพ้หรือยอมรับความพ่ายแพ้เสมอไป แต่มันคือการก้าวเดินออกมาและการมองหาเส้นทางใหม่ ที่เราจะต้องเดินไปข้างหน้า ซึ่งมันอาจจะยากหรือง่ายกว่า แต่เชื่อเถอะว่า มันจะรู้สึกดีกว่าเส้นทางเก่าที่มันไม่ใช่เส้นทางของเราอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากเราวางแผนกับเส้นทางใหม่ให้ดี ไม่ว่าทางข้างหน้าเราจะเจออะไร เราจะรับมือกับมันได้เสมอ
หรือถ้าหากใครกำลังตัดสินใจลาออกจากงาน เราขอแนะนำการเตรียมตัวออกจากงานอย่างไรให้ใจเป็นสุข
1. วางแผน
เมื่อตัดสินใจลาออกจากงานแล้วเราอาจจะลองมองเรื่องของงานในอนาคต เพราะบางคนก็ย้ายจากการเป็นพนักงานออฟฟิศ สู่การเป็นนายจ้างตัวเอง หรือบางคนเปลี่ยนสายงาน หากเราวางแผนให้ดี เราจะเจองานที่เราทำแล้วมีความสุขนั่นเอง
2. วางแผนผ่อนชำระหนี้ ไม่ให้มีผลกระทบต่อเงินเก็บออม
หนี้ถือว่าเป็นรายจ่ายประจำ ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เราอาจจะลองวางแผนเพื่อไม่ให้กระทบเงินออมของเราให้ได้มากที่สุด
3. เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน
โดยปกติถ้ามีงานอยู่แล้วควรต้องมีเงินสำรองประมาณ 3-6 เดือนเผื่อไว้สำหรับฉุกเฉิน แต่ถ้าลาออกความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่ม เนื่องจากการขาดรายได้ในช่วงระหว่างการหางานใหม่ ดังนั้นหากเรามีเงินสำรองไว้จะอุ่นใจกว่า
4. มีรายได้เสริม
ระหว่างช่วงก่อนลาออก และระหว่างที่ว่างงาน ควรมีช่องทางรายได้เสริมด้วยจะยิ่งดี อาจเริ่มจากสิ่งที่เราถนัด หรืองานที่สามารถทำได้จากที่บ้าน
5. ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน กรณีคนว่างงาน
สำหรับพนักงานบริษัท ที่จ่ายประกันสังคมมาไม่น้อยกว่า 6 เดือนและภายใน 15 เดือน ก่อนว่างงาน อย่าลืมไปลงทะเบียนผู้ประกันตน กรณีคนว่างงาน ภายใน 30 วัน เพื่อรับสิทธิเงินชดเชยระหว่างว่างงานนั่นเอง เพียงเท่านี้เราก็สามารถเตรียมตัวออกจากงานให้ใจเป็นสุขได้แล้ว จงเชื่อมั่นในทุกการตัดสินใจของตัวเอง เพราะคุณยังสามารถเรียนรู้ ค้นพบตัวเองไปได้อีกเรื่อย ๆ เสมอ
และเรื่องราวทั้งหมดก็มาถึงบทสรุปสุดท้ายในบทความนี้กันแล้ว สำหรับคำพูดที่ให้กำลังใจคนหมดไฟได้ดีที่สุดในตอนนี้คงจะเป็นประโยคที่ว่า “เราหมดไฟได้ แต่เราต้องไม่หมดหวัง” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนอยู่ตรงนี้เสมอ