เมื่อสมัยจูนยังเป็นนักเรียนแฟชั่นดีไซน์ 4-5 ปีที่แล้ว จูนมีโอกาสได้ไปเรียนคลาสเรียนนอกสถานที่ ซึ่งเป็นห้องสตูดิโอของอาจารย์ผู้สอน เป็นห้องเต็มไปด้วยกองหนังสือนิตยสารแฟชั่น กองกระดาษสเก็ตซ์ หุ่นลองชุด และโต๊ะสำหรับทำ workshop ตรงกลางห้อง นักเรียนทุกคนเตรียมบอร์ดกระดาษแข็งขนาด A2 ไว้บนโต๊ะ สิ่งที่อาจารย์ให้เราทำคือ เปิดนิตยสาร ดูว่าเราชอบรูปไหน รูปไหนมันสื่อสารกับเรา จงฉีกรูปนั้น แล้วเอามาแปะไว้ในกระดาษที่เตรียมมา เวลาผ่านไปเกือบหนึ่งชั่วโมง บอร์ดของทุกคนเต็มไปด้วยรูปคอลลาจหลายสิบรูปแปะทับกัน ในบอร์ดของจูน มีทั้งรูป บ้านในสวน รูปเตียงนอนผ้าลินินสีขาว ผู้ชายอุ้มเด็ก ผู้หญิงนั่งทำงาน ต้นไม้ ไปจนถึงรูปอาหารที่ดูไม่เข้าพวกอย่างหอยนางรมดิบ
สิ่งที่อาจารย์บอกกับทุกคนในวันนั้นคือภาพที่เราเลือกฉีกมา มันบอกอะไรได้หลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับเรา มันคือสิ่งที่สะท้อนความเป็นเรา ความฝันของเรา ความสุขของเรา และภาพชีวิตที่เราเห็นตัวเองในอนาคต พูดง่าย ๆ ในภาษาเด็กเรียนออกแบบ มันก็คือ Mood Board นั่นแหละ แต่เรานำมาใช้ในการปรับให้ภาพที่เราเห็นตัวเองมันชัดยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเรารู้จักตัวเองมากขึ้นเท่าไร เราก็สามารถตั้งเป้าหมายได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
ทำความรู้จักทฤษฎี ‘Self-Concept’ ที่จะช่วยให้เราเจอทั้ง ‘ตัวเอง’ และ ‘ความสุข’
การหาเป้าหมายความสุขของตัวเอง คือ การค้นหาตัวเอง และทำความรู้จักตัวเองให้ดีก่อน ซึ่งทางจิตวิทยานั้นจะมีทฤษฎีที่มีชื่อว่า ‘Self-Concept’ ที่ว่าด้วยเรื่องการนิยามตัวเองด้วยตัวเอง การมองกลับมาที่ตัวเองแล้วตอบคำถามง่าย ๆ ที่ว่า ฉันคือใคร? Self-Concept อาจเป็นการนิยามตัวเองจากภายนอก ทางจิตใจ ทางอุปนิสัย หรืออะไรก็ตามที่เราคิดว่ามันประกอบกันแล้ว ออกมาเป็นตัวเรา
René Descartes นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวว่าการมีอยู่ของคน ๆ หนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าเขารับรู้ตัวเขาเองอย่างไร (a person’s existence depended on how he perceives so) ซึ่งนั่นแปลว่าบางคนอาจจะบอกว่า ฉันคือแม่ ฉันคือเจ้าของธุรกิจที่มีความสามารถ หรือ ฉันคือคนที่ใจเย็นและละเอียดอ่อน ก็ได้ โดยสิ่งเหล่านี้ถูกพัฒนาตั้งแต่เรายังเล็ก ๆ และถูกปรับแต่งมาเรื่อย ๆ จนถึงวัย 12-18 ปี หรือวัยที่หลาย ๆ คนชอบเรียกว่า วัยค้นหาตัวเอง ที่เราสนุกกับการทดลอง การเรียนรู้ตัวตน เปรียบเทียบตัวเองกับคนรอบข้าง และค่อย ๆ พัฒนามาเป็นการตั้ง Self-concept ในช่วงวัย 25-44 ปี ก่อนจะเข้าสู่ช่วงคงสภาพเดิมในวัย 45-64 ปี และหลังจากนั้น self-concept อาจมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณต่อไป
ข้อดีของการมี ‘Self-Concept’ ที่ชัดเจน
การตอบได้อย่างมั่นใจว่าฉันคือใคร ฉันชอบอะไรและไม่ชอบอะไร คือ การมี Self-concept ที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งนี้จะถูกชี้วัดได้ และมันถูกเรียกว่าค่า ‘Self-concept clarity’ (SCC) ถ้าค่าของ SCC สูงมากเท่าไรจะส่งเสริม self-esteem ที่มากขึ้นเท่านั้น จากการศึกษาของ Paula M. Niedenthal และ Marc B. Setterlund เมื่อปี 1993 ระบุว่าคนที่มี SCC สูงจะมีความสามารถในการตัดสินใจได้ดีกว่า ในขณะที่คนที่มี SCC ต่ำ จะไม่ค่อยมั่นใจในการตัดสินใจ และไม่สามารถประเมินสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ ยังมีการศึกษาที่ใช้ชื่อว่า The Role of Self-concept Clarity in Relationship Quality โดย Gary W Lewandowski Jr. (Monmouth University) และ Natalie Nardone (University of California, San Francisco) ที่พบว่า SCC ที่สูง จะส่งผลโดยตรงต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ และคุณภาพของความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นไปด้วย
แต่แน่นอนว่าทุกอย่างมีสองด้าน นอกจาก Self-concept ด้านดีแล้ว ยังมีคนที่มี Self-concept แบบ Negative Self-concept เช่น คนที่มองว่าตัวเองไม่ฉลาดและเรียนรู้ช้า คนที่มองว่าตัวเองเป็นภาระของครอบครัว เป็นต้น Negative Self-Concept เหล่านี้ ที่ทำให้เราลิมิตความเป็นตัวเอง และไม่สามารถพัฒนาให้ตัวเองก้าวผ่านคำจำกัดความนั้นออกไปได้ เช่น เด็กที่เคยสอบตกวิชาคณิตศาสตร์ ก็อาจจะโตมากับ Self-concept ที่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนไม่เก่งเลข ซึ่งสามารถทำให้เขาไม่ชอบการคิดเลขในระยะยาวไปโดยปริยาย
การหา ‘Self-Concept’ ที่ว่าด้วยเรื่องการนิยามตัวเองด้วยตัวเอง
เริ่มแรกในวัยเด็กกิจกรรมการทำ Mood Board คือ หนึ่งในกิจกรรมที่ถูกใช้กับเด็กวัยก่อนเข้าเรียน - วัยมัธยมปลาย บางทีกิจกรรมนี้ถูกเรียกว่า Self-Collages ที่เปิดโอกาสให้เด็กในวัยเรียนทำความรู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านรูปภาพ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เราสร้าง self-concept ของตัวเองให้ชัดขึ้น เช่น การผลัดกันสัมภาษณ์ตัวเองและเพื่อน, การเขียนบันทึกไดอารี่ของตัวเอง, การทำ worksheet ที่ให้เราตอบคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับตัวเอง (ลองเข้าไปทำ worksheet ง่ายๆ ได้ที่นี่) และที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงการสร้าง negative self-concept ที่อาจจะเป็นตัวขัดขวางความสำเร็จของเราในอนาคตด้วย
Self-Concept ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการสร้างตัวตนของเราขึ้นมา ซึ่งมันยังส่งผลต่อการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตของเรามาโดยตลอดไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และถ้าก่อนหน้านี้ self-concept ของเราอาจจะยังไม่ชัดเจน จนทำให้เรามองหนทางข้างหน้าไม่ค่อยเห็นเท่าไร แต่หากเราเข้าใจ self-concept อย่างแท้จริงแล้ว เราจะสามารถเคลียร์พื้นที่ภายในใจของเราให้โล่งขึ้น มองเห็นจิตใต้สำนึกของตัวเอง และสามารถเปลี่ยนอุปนิสัย และความเชื่อของเราให้เป็นไปตาม Self-Concept ที่เราต้องการได้ในที่สุด
Thomas Szasz นักจิตวิทยาชื่อดัง เคยกล่าวไว้ว่า “The self is not something that one finds. It is something that one creates.” หรือแปลง่าย ๆ ว่าเราไม่ได้หาตัวตนของเราเจอ แต่เราสร้างมันขึ้นมาต่างหาก เพราะฉะนั้นใครที่กำลังค้นหาเป้าหมายความสุขในชีวิตของตัวเองอยู่ตอนนี้ ลองเริ่มจากการฉีกรูปที่ชอบจากแมกกาซีนมาทำคอลลาจดู เราอาจจะเห็นภาพความสุขของตัวเองชัดเจนขึ้นก็ได้ค่ะ