12 ตัวช่วยประหยัดภาษี เพื่อเงินออมงอกเงย
รอบรู้เรื่องภาษี
icon-Facebook icon-Twitter icon-line

12 ตัวช่วยประหยัดภาษี เพื่อเงินออมงอกเงย

icon-access-time Posted On 19 ตุลาคม 2558
By Maibat
มนุษย์เงินเดือนเป็นอาชีพที่มีรายได้สม่ำเสมอทุกเดือน กู้เงินธนาคารก็มีโอกาสอนุมัติผ่านมากกว่าอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอน แต่รายได้ที่แน่นอนนี้เอง มนุษย์เงินเดือนจึงต้องรับหน้าที่เป็นผู้เสียภาษีเงินได้หลักของประเทศ ไม่สามารถเอาค่าใช้จ่ายจริงมาลดหย่อนภาษีได้เหมือนอาชีพอื่น ที่สำคัญเวลาเงินเดือนออกต้องถูกหักภาษีให้กับรัฐก่อนที่จะได้รับเงินเดือนเสียอีก ยิ่งมีเงินเดือนสูงยิ่งต้องเสียภาษีมาก โดยอัตราภาษีเงินได้ปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 35% เลยนะครับ เพราะจากสถิติฐานข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้ปี 2557 คนไทย 65.7 ล้านคน เสียภาษีเงินได้ให้กรมสรรพากรมีแค่ 4 ล้านคน จำนวนเงินภาษี 302,491 ล้านบาท (ข้อมูลจาก thaipublica.org) หมายความว่า สัดส่วนคนที่ต้องเสียภาษีเงินได้จริงยังมีเพียง 6% ของประชากร และเสียภาษีเฉลี่ยกันคนละประมาณ 75,000 บาทต่อปี
การที่บริษัทหักภาษีเงินได้ก่อนที่จะจ่ายเงินเดือนมาทำให้มนุษย์เงินเดือนหลายคนไม่สนใจเงินภาษีก้อนนี้ พลาดโอกาสในการเพิ่มเงินออม ทั้งที่ ๆ รัฐก็เปิดช่องให้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีอย่างถูกวิธี
ดังนั้นผมขอแนะนำ 12 ตัวช่วยประหยัดภาษีเพื่อเงินออมงอกเงย โดยจัดแบ่งกลุ่มตามประเภทรายการลดหย่อน ดังนี้

รายการลดหย่อนนิยมใช้กัน

  • เงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 500,000 บาท หากบริษัทมีให้เลือกหลายอัตราก็ควรเลือกหักเข้ากองทุนในอัตราสูงสุด
  • เงินบริจาค ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้ ทั้งนี้บริจาคเพื่อการศึกษาสามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่จ่ายจริง
  • ค่าเบี้ยประกันชีวิต ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยระยะเวลาคุ้มครองในกรมธรรม์ต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี นอกจากนี้สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
  • ดอกเบี้ยกู้บ้าน ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หากกู้ร่วม 2 คนแยกยื่นก็นำไปลดหย่อนได้คนละครึ่ง

รายการลดหย่อนกลุ่มครอบครัว

  • ค่าเลี้ยงดูบุตร ใช้ลดหย่อนภาษีจากการเลี้ยงดูบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่คนละ 30,000 บาทแบบไม่จำกัดจำนวนบุตร ทั้งนี้บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 20 ปี และมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น (บุตรอายุระหว่าง 21-25 ปีและกำลังศึกษาในระดับอนุปริญญาขึ้นไป กับบุตรอายุ 25 ปีขึ้นไปและเป็นบุคคลไร้ความสามารถ ก็สามารถใช้สิทธิ์ได้เช่นกัน) หากเป็นบุตรบุญธรรมสามารถนำมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน
  • ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา ใช้ลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท มากสุดคือ 4 คน ไม่เกิน 120,000 บาท ทั้งนี้บิดา-มารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น
  • ค่าประกันสุขภาพบิดา-มารดา ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้บิดา-มารดาต้องอยู่ในไทยไม่ต่ำกว่า 180 วันและมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้น

รายการลดหย่อนกลุ่มออมและลงทุน

  • ดอกเบี้ยจากเงินฝากประจำ หุ้นกู้ หรือพันธบัตรรัฐบาล เวลาได้รับดอกเบี้ยจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หากฐานภาษีสูงสุดที่ถูกเรียกเก็บน้อยกว่า 15% ก็สามารถขอคืนภาษีที่จ่ายเกินไปได้
  • เงินปันผลจากกองทุนรวม เวลาได้รับเงินปันผลจากกองทุนรวมจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% หากฐานภาษีสูงสุดที่ถูกเรียกเก็บน้อยกว่า 10% ก็สามารถขอคืนภาษีที่จ่ายเกินไปได้
  • ค่าซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยกองทุนจะนำเงินไปลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% และขายคืนกองทุนได้เมื่อถือครองครบ 7 ปีปฏิทิน
  • ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และยอดซื้อกองทุน RMF บวกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บวกประกันบำนาญต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยกองทุนมีทางเลือกหลากหลายในการลงทุนมากกว่า LTF แต่ต้องซื้ออย่างน้อยปีเว้นปี 5,000 บาทขึ้นไปหรือขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดจะน้อยกว่ากัน และขายคืนกองทุนได้ตอนอายุ 55 ปีกับถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 5 ปี
  • เงินปันผลจากหุ้น เวลาได้รับเงินปันผลจากหุ้นจะถูกหักภาษีนิติบุคคลและหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ทำให้ถูกหักภาษีซ้ำซ้อน ดังนั้นสามารถขอเครดิตภาษีคืนในส่วนที่ถูกหักภาษีนิติบุคคลไป แล้วนำเงินจำนวนนี้มาคำนวณเป็นรายได้บุคคลธรรมดาอีกที หากเป็นเงินปันผลจากหุ้นที่ได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลก็ไม่ควรนำมาใช้ แต่ถ้าเป็นเงินปันผลจากหุ้นที่เสียภาษีนิติบุคคลยิ่งเสียอัตราสูงยิ่งดีก็ควรนำมาใช้

ตัวอย่างวิธีประหยัดภาษี เพื่อเงินออมงอกเงย

 
สมมุติ นาย ก มีรายได้จากงานประจำทั้งปี 900,000 บาท เมื่อถึงเวลาต้องเสียภาษีเงินได้ทางเลือกแรกก็คือ ยอมจ่ายภาษีโดยใช้สิทธิ์ลดหย่อนเท่าที่มี ทำให้ต้องเสียภาษี 62,150 บาท ส่วนทางเลือกสองก็คือ ต้องการจ่ายภาษีให้น้อยที่สุดโดยหาทางลดหย่อนภาษีอย่างเต็มที่ ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีเลยแถมได้เงินภาษีคืน 272 บาทอีกด้วย ซึ่งเงินที่ประหยัดภาษีประมาณ 60,000 บาทนี้ก็ช่วยให้เงินออมเพิ่มขึ้นนั่นเอง ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ทุกปีเงินออมเพิ่มเป็นหลักล้านได้สบายครับ
  แบบยอมจ่ายภาษี แบบลดหย่อนภาษี
รายการรายได้    
รายได้จากงานประจำ
900,000
900,000
ดอกเบี้ยจากเงินฝากประจำ 0 5,000
เงินปันผลกองทุนรวม 0 5,000
เงินปันผลหุ้น 0 10,000
เครดิตภาษีจากเงินปันผลหุ้น 0 4,286
รายการค่าใช้จ่ายและลดหย่อน    
หัก ค่าใช้จ่าย -100,000 -100,000
หัก ลดหย่อนส่วนตัว -60,000 -60,000
หัก ประกันสังคม -9,000 -9,000
หัก เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 0 -45,000
หัก เงินบริจาค 0 -10,000
หัก ค่าเบี้ยประกันชีวิต 0 -100,000
หัก ดอกเบี้ยกู้บ้าน 0 -50,000
หัก ค่าเลี้ยงดูบุตร 0 -30,000
หัก ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดา 0 -60,000
หัก ค่าซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว 0 -135,000
หัก ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 0 -50,000
รายการภาษี    
รายได้สุทธิที่นำมาคำนวณภาษี 731,000 275,286
ภาษีเงินได้ 62,150 6,264
หัก ภาษีชำระแล้วจากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0 -750
หัก ภาษีชำระแล้วจากเงินปันผลกองทุนรวม 0 -500
หัก ภาษีชำระแล้วจากเงินปันผลหุ้น 0 -1,000
หัก เครดิตภาษีจากเงินปันผลหุ้น 0 -4,286
ภาษีเงินได้สุทธิ 62,150 -272
อัตราภาษีเงินได้สุทธิต่อรายได้ 7% 0%
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เปิดโอกาสให้แชร์แนวคิดประหยัดภาษี เงินออมงอกเงย เพื่อใช้เป็นทุนในการสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น รายละเอียดและเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีควรศึกษาเพิ่มเติมดูนะครับ ขอให้ประสบความสำเร็จในชีวิตกันนะครับ
pym logo
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
บทความที่เกี่ยวข้อง
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา