พอใกล้สิ้นปี หัวข้อการตั้งปณิธานปีใหม่ หรือ New Year’s Resolution ก็เป็นเรื่องที่หลายคนต้องพูดถึง ยิ่งปีที่ผ่านมาเราทุกคนฝ่าอุปสรรคกันมาอย่างยากลำบาก หรืออย่างจูนเองที่แทบจะไม่ได้เริ่มทำอะไรใหม่ ๆ หรือพัฒนาตัวเองด้านไหนเลย เดือนมกราคมปี 2022 จึงกลายเป็นความหวังของเราว่าปีหน้าชีวิตฉันจะต้องดีขึ้น และมันจะดีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรามี New Year’s Resolution ของตัวเองนี่ล่ะ!
แต่ก่อนจะเข้าเรื่องเคล็ดลับการเตรียม
New Year’s Resolution นั้น ต้องขอใช้ประสบการณ์จากการจัดพอดแคสต์ New Year New You ของ The Standard เรื่องการตั้งปณิธานปีใหม่ และเขียนเอาไว้ตั้งแต่ต้นบทความไว้เลยว่า ปณิธานปีใหม่นั้นมีหลากหลายมาก และไม่มีสูตรตายตัวว่ามันจะต้องเพิ่มคุณค่าในตัวเราด้านใดเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้น New Year’s Resolution ที่ดี ไม่ควรมาจากเสียงบรรทัดฐานของสังคม จากการนั่งอ่านเว็บไซต์ Self-Help หรือนิตยสารใด ๆ ที่แนะนำว่าเราควรทำแบบนั้นแบบนี้ แต่ควรมาจากตัวเราเองจริง ๆ มากกว่า
เช่นเดียวกันกับบทความนี้ หากข้อไหนที่รู้สึกว่าเป็นประโยชน์ ก็ลองหยิบไปทำตามกันดู ข้อไหนที่ทำไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว และถ้าเราไม่ได้อยากตั้งปณิธานปีใหม่ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร แต่ถ้าใครสนใจตั้งเป้าหมายให้ตัวเองปีหน้า จูนรวบรวมเคล็ดลับมาแชร์กันค่ะ
มองปีนี้ ก่อนมองปีหน้า
ก่อนที่เราจะตั้งปณิธานปีใหม่ขึ้นมาได้สักข้อ การวิเคราะห์ตัวเอง และสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้มาก่อนจะช่วยให้เราเลือกปณิธานข้อนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้น ลองเริ่มจากการถามตัวเองอย่าง “ปีที่ผ่านมาตลอด 12 เดือนเกิดอะไรขึ้นกับฉันบ้าง?” “ปีที่ผ่านมาฉันได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญอะไรบ้าง?” หรือ “ปีที่ผ่านมาฉันรู้สึกว่าตัวเองยังขาดอะไรไปบ้าง?”
หลังจากทบทวนตัวเองไปแล้ว ตอบคำถามตัวเองว่าอะไรที่สำคัญกับเราจริง ๆ เป้าหมายอะไรมีความหมายสำหรับเรามากที่สุด และคำถามที่จูนชอบมากที่สุดคือ “
เรามองเห็นตัวเองในอนาคตเป็นแบบไหน?” เพราะมันจะช่วยให้เราเห็นภาพของตัวเองได้ชัดขึ้น และนำมาสู่การตั้งปณิธานปีใหม่ที่เป็นของเราอย่างแท้จริง โดยนอกจากเราจะเห็นภาพชัดเจนแล้ว เรายังมีแรงผลักดันในตัวเองให้ทำให้สำเร็จด้วย
The same old ‘SMART’ practice
ไม่พูดถึงข้อนี้ไม่ได้เลย เพราะการตั้งปณิธานปีใหม่เป็นเรื่องท้าทาย และน้อยคนที่จะสำเร็จ จนมีนักวิจัยเมื่อปี 1981 ที่ออกมาหาสูตรสำเร็จให้ New Year’s Resolution ด้วยการบัญญัติตัวย่ออย่างคำว่า SMART ที่ย่อมาจาก Specific (ชัดเจน), Measurable (วัดค่าได้), Achievable (ทำสำเร็จได้จริง), Relevant (ตอบโจทย์ตรงประเด็น), และ Time-bound (กำหนดเวลา)
- Specific : เป้าหมายของเราควรจะชัดเจน ไม่ใช่แค่การตั้งกว้าง ๆ ว่า ฉันอยากหุ่นดีขึ้น แต่ควรจะกำหนดไปเลยว่า ฉันจะลดน้ำหนักให้ได้ 5 กิโลกรัม และถ้าจะให้ดีก็ควรกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนเอาไว้ด้วย
- Measurable : นอกจากการลดน้ำหนักที่สามารถตั้งเป้าเป็นตัวเลขที่วัดค่าได้แน่นอนแล้ว เป้าหมายอื่น ๆ อย่างการเลิกดื่มแอลกอฮอล์ หรือฝึกอ่านหนังสือให้มากขึ้น ก็ควรใช้การวัดที่แน่นอนมาเป็นกรอบเช่นกัน เช่นจดไว้เลยว่าใน 1 อาทิตย์ ดื่มแอลกอฮอล์ไปกี่แก้ว หรือฝึกอ่านหนังสือได้แล้วกี่เล่ม
- Achievable : ข้อนี้เป็นข้อที่อาจจะยากหน่อย เพราะเป้าหมายของเราควรจะเกิดขึ้นได้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ควรท้าทายมากพอที่จะทำให้เราตั้งใจที่จะทำมันด้วยเช่นกัน เช่น หากเราเพิ่งเรียนจบ และกำลังจะหางานทำ การตั้งเป้าว่าจะได้เป็นผู้จัดการสาขาในบริษัทหนึ่ง ก็อาจจะดูเกิดขึ้นได้ยากไปสักหน่อย แต่หากเราปรับให้เป้าหมายยังคงความท้าทาย แต่เกิดขึ้นได้จริง เช่น ภายใน 6 เดือน ฉันจะต้องได้งานในบริษัทสักที่ และภายใน 1 ปี ฉันจะต้องทำยอดขายให้บริษัทตามเป้า แม้จะฟังดูท้าทายแต่เป้าหมายเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้เราตั้งใจ และโฟกัสกับมันมากขึ้น
- Relevant - เช่นเดียวกับที่บอกไปในหัวข้อแรก การตั้งปณิธานปีใหม่ควรจะมีคุณค่า และตอบโจทย์สำหรับเราโดยตรง เราคงไม่อยากตั้งเป้าที่จะวิ่งให้ได้ 5 กม. ในเวลา 30 นาที ถ้าเราไม่ใช่คนชอบออกกำลังกายแบบวิ่ง เพราะฉะนั้นเป้าหมายของเราควรมาจากตัวเรา และเพื่อตัวเราจริง ๆ
- Time-bound : ถึงจะเรียกว่าเป็น New Year’s Resolution ที่แทนการตั้งเป้าหมายสำหรับทั้งปี แต่เคล็ดลับจริง ๆ ของการบรรลุปณิธานคือการตั้งกรอบเวลาที่ชัดเจน เวลาที่ควรตั้งคือประมาณ 3 เดือนแรก จะยิ่งทำให้เราไม่มีเวลามาผัดวันประกันพรุ่ง และยังคงมีแรงวิ่งตามเป้าหมายของเราอยู่ อย่างไรก็ตามการกำหนดเวลาก็ควรเชื่อมโยงกับความยากง่ายของเป้าหมายของเราด้วยนะ
ทำซ้ำจนเป็นนิสัย
แน่นอนว่าหลาย ๆ ปณิธานไม่ใช่เป้าหมายที่ทำครั้งเดียวสำเร็จได้เลย แต่ต้องเกิดจากการทำซ้ำ ๆ เป็นกิจวัตร แต่การจะสร้างอุปนิสัยใหม่ได้ให้ตัวเองชิน และยอมทำทุกวันมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จูนเคยเขียนบทความถึงการสร้างนิสัยที่ดีง่าย ๆ ผ่านการ
เข้าใจการทำงานสมอง ซึ่งบอกถึงวิธีสร้าง “คิว” ให้ตัวเองด้วยการผูกกิจกรรมใหม่นั้นเข้ากับกิจกรรมที่เราทำอยู่แล้วเป็นกิจวัตร เช่น หากเราตั้งเป้าที่จะหัดใช้ไหมขัดฟัน ก็ควรฝึกทำทุกครั้ง “หลัง” แปรงฟัน เพื่อสร้างคิวให้ตัวเองชินว่าแปรงฟันเสร็จ ต้องต่อด้วยการใช้ไหมขัดฟันทันที เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เราชินกับการทำกิจกรรมใหม่ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
สะดุดได้ไม่เป็นไร
การที่เราตั้งใจตั้งเป้าพัฒนาตัวเองนั้น ถือว่าเป็นเรื่องน่าชื่นชมมาก ๆ แล้ว แต่หากวันไหนเกิดหมดไฟ หรือเผลอสะดุดไปบ้าง เช่น ลืมตื่นมาวิ่งตอนเช้า หลังจากทำมาได้ 2 อาทิตย์ เพราะดันไปเที่ยวกับเพื่อนจนดึก ก็อย่ารู้สึกผิดจนถึงขั้นล้มเลิกความตั้งใจไปซะหมด เราสามารถเผลอกินชานมไข่มุกทั้ง ๆ ที่ตั้งเป้าจะลดน้ำหนักได้ หรือเราอาจจะเผลอช้อปปิ้งรองเท้าใหม่ ทั้ง ๆ ที่ตั้งเป้าจะเก็บเงินก็ได้ แต่อย่าล้มเลิกปณิธานปีใหม่ของเราก็พอ ทำต่อไปตามเป้าหมาย และอย่าใจร้ายกับตัวเองเกินไปนะ
จากผลการศึกษาของ University of Scranton ระบุว่ามีคนเพียงแค่ 8% เท่านั้นที่สามารถบรรลุปณิธานปีใหม่ของตัวเองได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นการที่ปีผ่าน ๆ มาเราไม่เคยทำปณิธานปีใหม่สำเร็จกันสักทีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราเคยล้มเหลวไปแล้ว จะมาเริ่มต้นใหม่กันไม่ได้ ถ้าใครจะเริ่มตั้ง New Year’s Resolution ใหม่ในปี 2022 นี้ ลองหยิบเทคนิคข้างบนที่เขียนมาไปลองปรับใช้กันดู แล้วขอให้ทำสำเร็จกันทุกคนนะคะ!