เตรียมตัวยังไงดี? เมื่อคิดจะเลี้ยงสัตว์ในบ้าน

เตรียมตัวยังไงดี? เมื่อคิดจะเลี้ยงสัตว์ในบ้าน

By Krungsri Plearn Plearn
การเลี้ยงสัตว์เปรียบเสมือนการดูแลคนในครอบครัว เมื่อตัดสินใจรับเข้ามาเลี้ยงแล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่จะดูแลเขาไปตลอดชีวิต การเลี้ยงตามแฟชั่น หรือการเลี้ยงเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ จะนำมาซึ่งปัญหาของสังคมมากมาย โดยเฉพาะปัญหาสัตว์เลี้ยงจรจัด ดังนั้นก่อนจะเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด ควรศึกษาและเตรียมความพร้อมให้ดีเสียก่อน ซึ่งโดย หลัก ๆ แล้วจะมีปัจจัยพื้นฐานที่เราในฐานะเจ้าของต้องเตรียมตัวอยู่ 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

1. สถานที่

มนุษย์อย่างเราต้องมีที่อยู่ สัตว์เลี้ยงของเราก็เช่นกัน ควรศึกษาให้ดีเสียก่อนว่าสัตว์ที่เราจะเลือกเลี้ยง ต้องการสถานที่แบบไหน พื้นที่มากน้อยเพียงใด เช่น ถ้าเลี้ยงสุนัขควรมีพื้นที่สำหรับวิ่งเล่น หรือการเลี้ยงหนูแฮมเตอร์อาจจะเลี้ยงในกรงเล็ก ๆ ที่ไม่ต้องใช้พื้นที่มาก เป็นต้น นอกจากนี้ควรตรวจสอบด้วยว่าสถานที่ที่เราจะเลี้ยงมีเงื่อนไขอะไรบ้าง เช่น ห้ามเลี้ยงสุนัข, ห้ามเลี้ยงแมว ไปจนถึงการสอบถามความคิดเห็น หรือขออนุญาตคนในครอบครัวด้วย เพราะหากรับมาเลี้ยงแล้ว แต่ไม่สามารถเลี้ยงได้ จะกลายเป็นภาระอันหนักหน่วงของเรา

2. เวลา

เพราะการเลี้ยงสัตว์แต่ละชนิดล้วนต้องใช้เวลาในการดูแลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตรง เช่น การพาไปเดินเล่น, การฝึกสอน, การรักษาความสะอาด, การอาบน้ำ, การให้อาหารสัตว์, การพาไปฉีดวัคซีน, การพาไปรักษาพยาบาล และทางอ้อม เช่น การซื้ออาหารสัตว์, การซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น ดังนั้นถ้าเราไม่สามารถแบ่งเวลาให้สัตว์เลี้ยงได้ ก็ไม่ควรเลี้ยงเด็ดขาด

3. ค่าใช้จ่าย

ปัจจัยเบอร์ 1 ของการเลี้ยงสัตว์ไม่ได้มีแค่ค่าอาหารเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งค่าอุปกรณ์ (ที่นอน, เสื้อผ้า, ของเล่น), ค่ารับบริการ (อาบน้ำสัตว์, ตัดแต่งขนสัตว์, ฝากเลี้ยงสัตว์), ค่ารักษาพยาบาล (ค่ายา, ค่าวัคซีน, ค่าสัตวแพทย์) ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงของแต่ละคน เอาเป็นว่าลองไปศึกษาและคำนวณกันดูก่อนนะ
ตัวอย่างตารางค่าใช้จ่ายประมาณการโดยเฉลี่ยของการเลี้ยงสุนัข
รายการ ประมาณการค่าใช้จ่าย
ค่าอาหารสัตว์ 500 – 3,000 บาท (ต่อเดือน)
ค่าอุปกรณ์ (ที่นอน, เสื้อผ้า, ของเล่น) 100 – 2,000 บาท (ต่อครั้ง)
ค่ารับบริการ (อาบน้ำสัตว์, ตัดแต่งขนสัตว์, ฝากเลี้ยงสัตว์) 500 – 3,000 บาท (ต่อครั้ง)
ค่ารักษาพยาบาล (ค่ายา, ค่าวัคซีน, ค่าสัตวแพทย์) 500 – 50,000 บาท (ต่อครั้ง)
สำหรับผู้ที่ต้องการเลี้ยงสุนัขและแมว ยังต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการขึ้นทะเบียน ประกอบไปด้วยค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท, ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท, ค่าเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ตัวละ 300 บาท เบ็ดเสร็จแล้ว 450 บาท ซึ่งหากฝ่าฝืนอาจโดนโทษปรับสูงถึง 25,000 บาทเลยทีเดียว
ทีนี้เมื่อทราบค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสัตว์กันแล้ว ก็ถึงเวลาวางแผนเก็บเงินให้เพียงพอต่อการเลี้ยงสัตว์ของเรา โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเปิดบัญชีออมทรัพย์ และเปิดบัญชีฝากประจำสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะแบ่งการออมออกเป็น 3 ช่วงดังนี้
  • ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าก่อนเลี้ยง
    เมื่อแพลนแล้วว่าจะเลี้ยงสัตว์ ก็ควรเก็บเงินเป็นค่าใช้จ่ายล่วงหน้าไว้ก่อน 3 – 6 เดือน เช่น หากสัตว์ที่เราจะเลี้ยงมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 2,000 บาท ก็ควรเก็บเงินล่วงหน้าอย่างน้อย 6,000 – 12,000 บาท จะได้มีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน
  • ค่าใช้จ่ายต่อเดือน
    ควรแบ่งสันปันส่วนให้ดีจากค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของเรา และต้องมีวินัยในการออมให้มาก เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีเงินสำรองที่เก็บล่วงหน้าไว้บางส่วนแล้ว แต่หากไม่เก็บสะสมอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดผลกระทบต่อการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงและเงินในกระเป๋าของเราได้ ดังนั้นเมื่อเงินเดือนออก ก็ควรแบ่งเงินในส่วนนี้แยกออกมาไว้เลยจะดีกว่า
  • ค่าใช้จ่ายเพื่ออนาคต
    แน่นอนว่ายิ่งสัตว์เลี้ยงมีอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย การเก็บเงินอีกก้อนหนึ่งไว้สำหรับดูแลในยามสัตว์เลี้ยงแก่ ก็เป็นอีกเรื่องที่ควรวางแผนอย่างเป็นระบบคล้ายกับเตรียมความพร้อมหลังเกษียณของมนุษย์อย่างเรา อาจจะเก็บเงินเดือนละ 10 - 50% ของค่าใช้จ่ายสัตว์เลี้ยง แล้วเปิดบัญชีฝากประจำไว้ก็ได้ เมื่อสัตว์เลี้ยงแก่ตัวลง เราจะได้มีเงินในส่วนนี้มาซัพพอร์ตในการดูแลเพิ่มเติมนั่นเอง
สุดท้ายเมื่อมีครบทั้ง 3 ปัจจัยที่ประกอบไปด้วยสถานที่, เวลา และค่าใช้จ่าย ก็นับเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกว่าเราพร้อมแล้วที่จะเลี้ยงสัตว์สักหนึ่งตัว ว่าแต่เมื่อรับเขาเข้ามาเลี้ยงแล้ว ก็อย่าลืมให้ความรัก และรับผิดชอบเขาไปตลอดชีวิตกันด้วยนะ อย่าเลี้ยงตามแฟชั่น หรือเลี้ยงเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบ เหมือนที่กล่าวไปตอนต้นเด็ดขาด เพราะสัตว์เลี้ยงก็มีหัวใจที่ต้องการคนดูแลเหมือนกับเรานั่นเอง
ที่มา :
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow