รู้ไหมครับว่าคนส่วนใหญ่มักจะตั้งเป้าหมายปีใหม่อะไรกันบ้าง แน่นอน มีเรื่องที่เราน่าจะคุ้น ๆ อยู่แล้วอย่างเช่น ลดน้ำหนัก, ออกกำลังกาย, เก็บเงิน ฯลฯ แต่มีเรื่องอื่น ๆ อีกหรือเปล่าที่คนมักจะหยิบมาตั้งเป็นเป้าหมายปีใหม่กัน ถ้าใครได้อ่านในบทความ “ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงทำ Year Goals ไม่สำเร็จ” ก่อนหน้าที่ผมเขียนไว้ ก็น่าจะยังคงจำกันได้ดีว่ามี 8% เท่านั้นของคนที่ตั้งเป้าหมายในปีใหม่แล้วทำสำเร็จ แล้ว Goals อะไรกันนะ ที่คนส่วนใหญ่มักจะนิยมตั้งเป็น New Year's Resolutions
ผมหยิบข้อมูลการสำรวจของ inc.com ที่ได้รวบรวมข้อมูลจากคนกว่า 2,000 และลิสต์ออกมาเป็นหัวข้อยอดนิยมในการตั้งเป้าหมายปีใหม่หรือ New Year's Resolutions มีทั้งหมด 10 ข้อด้วยกันครับ
- กินอาหารที่ดีขึ้น (ลด junk food และเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ): 71%
- ออกกำลังกายให้มากขึ้น: 61%
- ลดน้ำหนัก: 51%
- ออมมากขึ้น และควบคุมการใช้จ่ายให้ดีขึ้น: 32%
- เรียนรู้ Skill ใหม่ หรือหางานอดิเรกใหม่: 26%
- เลิกสูบบุหรี่: 21%
- อ่านหนังสือให้มากขึ้น: 17%
- เปลี่ยนงาน หรือหางานใหม่: 16%
- ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง: 15%
- ใช้เวลากับครอบครัวและเพื่อนให้มากขึ้น: 13%
ประเด็นที่เราจะมาพูดถึงกันในบทความนี้ก็คือเรื่องของการ “เปลี่ยนงาน หรือหางานใหม่” เนี่ยล่ะครับ เพราะไม่ว่าผลสำรวจของที่ไหน หรือจากประเทศไหน ก็มักจะมีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ แล้วถ้าหากคุณเองก็มีเรื่องของ “การหางานหรือเปลี่ยนงานใหม่” เป็นหนึ่งใน New Year's Resolutions บทความนี้เหมาะกับคุณแน่นอนครับ
เอาล่ะ ถ้าเป้าหมายชีวิตต้อนรับปีใหม่ของคุณคือการเปลี่ยนงานจริง ๆ เราจะเริ่มยังไงดีนะ…
ต้องเปลี่ยนงานจริงๆ หรือเปล่า?
ก่อนจะพูดถึงข้อนี้อยากให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า... ผมไม่ต้องการบอกว่าคุณไม่ควรเปลี่ยนหรือห้ามเปลี่ยนงาน แต่อยากให้คุณลองคิดดูดี ๆ ก่อนว่า ที่คุณตั้งเป้าหมายเปลี่ยนงานช่วงปีใหม่แบบนี้มันเป็นเพราะอารมณ์หรือเปล่า และมันเป็นการตัดสินใจที่ไม่มีอารมณ์อื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง (จริง ๆ) ใช่ไหม
เช่น คุณอาจจะมีความเครียดในเรื่องส่วนตัวอื่น ๆ อยู่ที่ไม่ใช่เรื่องงาน แต่มันส่งผลมาถึงการทำงานของคุณ และมันก็ส่งผลต่อเนื่องมาถึงงานของคุณ ทั้งที่จริง ๆ แล้วทุกอย่างก็ปกติดี แต่พอคุณมีความเครียดกังวล หรืออยู่ในสภาวะอารมณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เมื่อมีการประชุม มีการคุยกับลูกค้า คุยกับหัวหน้า-ลูกน้อง ทุกอย่างก็อาจจะดูแย่ดูไม่ได้ดั่งใจไปซะหมด และมันอาจจะพาลทำให้คุณรู้สึกว่าทำไม “งานนี้มันห่วยมันแย่แบบนี้” แต่ถ้าคุณได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนโดยปราศจากอารมณ์หรืออคติแล้ว ผมก็ขอยกตัวอย่างสัญญาณที่บอกว่านี่ (อาจ) เป็นเวลาที่คุณควรจะต้องเปลี่ยนงาน ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูว่ามีข้อไหนที่ตรงกับที่เป็นอยู่บ้างหรือเปล่า
1. ไม่มีอะไรที่คุณสามารถเรียนรู้ได้จากที่นี่ (จริงๆ):
มีงานศึกษามากมายที่บ่งชี้ว่าการได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ถือได้ว่าเป็นความสุขที่สำคัญในการทำงาน และนอกเหนือไปจากนั้นการได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้คุณมีโอกาสที่เติบโตในอนาคตด้วย
2. งานที่ทำอยู่นั้นต่ำกว่า performance ของตัวเองมาก ๆ:
หากงานที่คุณทำอยู่นั้นไม่ได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่ของคุณเลย และคุณกำลังทำมันไปอย่างอัตโนมัติ หรืออยู่ในโหมด autopilot หรือมันง่ายจนคุณสามารถทำมันได้แม้ตอนที่กำลังหลับ ถ้าคุณทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ที่สุดแล้วคุณก็จะเบื่อหน่ายงานที่ทำ หนึ่งในแรงจูงใจของคนที่ตั้งเป้าหมายช่วงปีใหม่ว่าจะต้องเปลี่ยนงานให้ได้ก็คือข้อนี้แหละครับ
3. ไม่รู้สึกถึงคุณค่าในงานที่ทำอยู่ (เลย):
แม้ว่าคนทำงานจะรู้สึกดีกับการได้รับเงินและการโปรโมต แต่คนทำงานส่วนใหญ่จะไม่มีความสุขหรือรู้สึกยินดีกับงาน (จริง ๆ) จนกว่าเขาจะสามารถรับรู้ได้ถึง “คุณค่าของงานที่ทำอยู่” และหากคน ๆ หนึ่งทำงานที่ตัวเองไม่ได้รับรู้ถึงคุณค่าต่อไปเรื่อย ๆ ก็มักจะนำไปสู่การ Burnout ในที่สุด
จริง ๆ อันนี้อาจจะเริ่มจากลองค้นหาคุณค่าในงานที่ตัวเองทำอยู่ดูก่อน (เพราะเอาจริง ๆ ผมค่อนข้างเชื่อว่างานทุกงานนั้นมีคุณค่าในตัวมันเอง) อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่าเป้าหมายปีใหม่นี้ฉันจะต้องเปลี่ยนงานให้ได้โดยใช้อารมณ์น้อยใจมาครอบงำครับ
4. คุณมีเจ้านายที่แย่:
อันนี้เรียกได้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากทีเดียวที่ทำให้คนตั้งเป้าหมายอยากเปลี่ยนหรือย้ายงานช่วงปีใหม่ เพราะจากข้อมูล Research ของ mtmcoach.com พบว่ากว่า 75% ของผู้ใหญ่วัยทำงาน บอกว่าหนึ่งในส่วนที่เครียดมากที่สุดในการทำงานของพวกเขาคือ “หัวหน้างาน” หรือ “ผู้จัดการ” ที่เขาขึ้นตรงด้วย
5. เงินไม่พอใช้:
อันนี้ชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุด เพราะแต่ละคนก็มีภาระหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบไม่เท่ากัน ถ้าหากว่ารายได้ที่เรามีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับเราได้
หลายข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจเปลี่ยนงาน เราอาจจะเดินเข้าไปคุยกับหัวหน้าเพื่อหาทางออกร่วมกันดูก่อน (แต่แน่นอนว่าถ้าหากคุณจะขอขึ้นเงิน คุณเองก็ต้องมี Value อะไรบางอย่างคุ้มค่ากับเงินที่ขอด้วย) แต่ที่สุดถ้าไม่ได้จริง ๆ การเริ่มต้นมองหางานใหม่ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยล่ะครับ
ตัดสินใจจะเปลี่ยนงานแล้วเลือกยังไงดี?
เอาล่ะ เมื่อถามตัวเองจนมั่นใจและตั้งเป้าหมายแล้วว่า ปีใหม่นี้ “ฉันจะเปลี่ยนงานแน่ ๆ” แล้วอะไรที่เราควรจะมองหาจากงานใหม่กันนะ หรือมันมีข้อสังเกตอะไรไหมที่พอจะบอกได้ว่าตำแหน่งงานที่เราเข้าไปสมัครนั้นเหมาะสมกับเรา หรือเป็นงานที่เราอยากทำจริง ๆ อยู่หรือเปล่า
1. ถ้าเงินไม่ใช่เป้าหมายของคุณ คุณยังอยากที่จะทำงานนี้ไหม?:
มันอาจจะฟังดู extreme ไปสักหน่อย แต่อยากให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูนะครับว่า... ถ้าเงินไม่ใช่จุดประสงค์หลักในการทำงานแล้ว คุณยังรู้สึกอยากที่จะทำงานที่คุณกำลังจะเข้าไปสมัครหรือเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ไหม
2. ลองทำแบบทดสอบ “Job Test”:
หากเรายังไม่แน่ใจในเป้าหมายว่า ปีใหม่นี้ สิ่งที่เราอยากจะทำจริง ๆ คืออะไร คืองานลักษณะไหนที่เราชอบ เราอาจจะลองเริ่มต้นหาแบบทดสอบทางบุคลิกภาพ อย่าง MBTI หรือ DISC เพื่อลองค้นหาดูก่อนก็ได้ครับว่าเราน่าจะเหมาะกับงานแบบไหน
3. วัฒนธรรมองค์กรเหมาะกับเราหรือเปล่า?:
เรื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากทีเดียว เพราะหากเราเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานที่เราไม่ชอบ ไม่เหมาะกับเรา ที่สุดแล้วเราก็จะเริ่มรู้สึกอึดอัด ไม่อยากที่จะทำงานที่นั่นอยู่ดี ลงท้ายที่คุณต้องเปลี่ยนงานหนีไปเรื่อย ๆ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ ว่าวัฒนธรรมองค์กรของที่ที่เรากำลังจะเข้าไปทำงานนั้นเหมาะกับเราไหม อันนี้บอกอย่างตรงไปตรงมาเลยว่าค่อนข้างยากมาก แต่ที่เราทำได้คือการหาข้อมูลเท่าที่หาได้ครับ
4. รายได้ตรงกับที่เราต้องการไหม:
แม้ในข้อแรกเราจะให้ลองถามตัวเองว่าถ้าเงินไม่ใช่เป้าหมายหลัก เราจะยังอยากทำงานในตำแหน่งนี้ไหม แต่ในโลกของความเป็นจริงก็ต้องยอมรับ หลายครั้งปัจจัยด้านการเงินก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอยู่มากทีเดียว ฉะนั้น เรื่องของรายได้และสวัสดิการต่าง ๆ ก็เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่เราควรคำนึงในเป้าหมายปีใหม่ข้อนี้เช่นกันครับ
5. ตอนสัมภาษณ์ถามข้อมูลให้เยอะ:
จริง ๆ แทบทุกบริษัทล่ะครับ ที่อยากให้ผู้สมัครสอบถามเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะในแง่มุมไหนก็ตาม นั่นก็เป็นเพราะทางบริษัทเองก็อยากได้คนที่เหมาะ และคนสมัครก็จะได้รู้ด้วยว่าหากรูปแบบการทำงาน หรือลักษณะการบริหารต่าง ๆ ของที่นี่เป็นอย่างนี้จะสามารถร่วมงานกันได้หรือเปล่า
6. โอกาสในการเติบโตหรือการต่อยอดในตำแหน่งเป็นอย่างไร:
ในตำแหน่งงานที่เรากำลังจะสมัครหรือกำลังเข้าไปทำนั้น มีโอกาสเติบโตในอนาคตหรือสามารถนำไปต่อยอดแค่ไหน หลายคนที่ตั้งเป้าหมายวันปีใหม่เป็นเรื่องเปลี่ยนงานก็เพราะมองไกลไปถึงอนาคตนี่แหละครับ
และนี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าคนทำงานทุกคนควรที่จะคิด และตอบตัวเองให้ได้ก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มต้นหางานใหม่ หรือเปลี่ยนสายอาชีพของตัวเอง
ไม่ว่าสุดท้ายแล้วเป้าหมายปีใหม่ของคุณจะเป็นงานใหม่หรือเปล่า ผมขอให้โชคดีกับทางที่เลือกนะครับ ^^