ทำงานซ้อนกันแบบ Multitasking อย่างไรไม่ให้เหนื่อยฟรี

ทำงานซ้อนกันแบบ Multitasking อย่างไรไม่ให้เหนื่อยฟรี

By จูนจูน พัชชา เฮงษฎีกุล
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 เว็บไซต์แห่งอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่าง Business of Fashion ได้ปล่อยหนังสือชุดพิเศษ (special print edition) ด้วยหัวข้อ The Polymaths & Multitaskers พร้อมปกหนังสือดึงดูดสายตาด้วยรูปของดีไซน์เนอร์ระดับตำนาน Karl Lagerfeld ที่ถูกตัดต่อให้มีแขนโผล่มาถึง 8 ข้าง แสดงท่าทางต่างกันออกไป เพื่อแสดงให้เห็นถึงบริบทของการทำงานแบบ ‘multitasking’ อย่างตรงตัว เนื้อหาด้านในยังเล่าถึงความสำเร็จของบุคคลในวงการแฟชั่นที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘multitasker’ ซึ่งมีทักษะรอบด้าน มุมมองที่หลากหลาย และทำให้พวกเขาสามารถทำหลาย ๆ สิ่งได้พร้อมกัน จนทำให้พวกเขามีไอเดียที่สดใหม่ ไม่เหมือนใคร มานำเสนอให้กับวงการ
เพราะฉะนั้น คำว่า การทำงานแบบ multitasking ไม่ใช่เรื่องใหม่เลยจริง ๆ เราต่างเคยรับรู้ถึงเทรนด์ความเก๋ของมัน และความเชื่อว่าคนยุคมิลเลนเนียลอย่างเราต้องรับผิดชอบหลาย ๆ หน้าที่ในเวลาเดียวกัน แต่สิ่งที่เราอาจจะมองข้ามไปของอุปนิสัยการทำงานประเภท multitasking คือการที่เราค่อย ๆ เคยชินกับพฤติกรรมอย่าง “ขอพักเช็กเมลดีกว่า” หรือ “ขอแวะเข้าไปตอบไลน์ลูกค้านิดนึง” ระหว่างทำงานใดงานหนึ่งอยู่ และแม้ว่าเราจะเชื่อว่าเรากำลังโฟกัสกับงานที่ทำอยู่ตรงหน้า แต่การ ‘Switch’ หรือเปลี่ยนจุดความสนใจอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราลดได้เหมือนกัน
หลักฐานสำคัญที่ถูกนำมาพูดถึงบ่อยครั้ง คือการศึกษาเมื่อปี 2009 ที่ชื่อว่า “Why Is It So Hard to Do My Work?” โดย Sophie Leroy ซึ่งศึกษาพฤติกรรมผ่านการมอบหมายหน้าที่ให้ผู้ร่วมการศึกษาแก้ไขโจทย์ปริศนาคำใบ้ แต่ระหว่างที่พวกเขายังทำไม่เสร็จ ก็มอบหมายงานใหม่แทรกเข้าไปด้วยการอ่านและตรวจสอบเรซูเม่ ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการให้ทำงาน Multitasking ในขณะที่พวกเขาทำงานแรกยังไม่เสร็จ และแทรกงานที่สองไปนั้น พวกเขาจะยังคงคิดถึงงานแก้ปริศนาคำใบ้ที่ตัวเองยังทำไม่เสร็จอยู่ และยิ่งพวกเขายังคาใจกับงานแรกเท่าไร ประสิทธิภาพในการทำงานที่สองก็ต่ำลงเท่านั้น Sophie Leroy เรียกสิ่งนี้ว่า ‘Attention Residue’ หรืออาการที่เรายังคงจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งหลังจากที่เราเปลี่ยนกิจกรรมฉับพลัน ซึ่งส่งผลกระทบกับความสามารถในการทำงานโดยรวมไปโดยปริยาย
แต่การทำงานแบบ Multitasking ก็ยังคงจำเป็นสำหรับหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่า ทำงานประจำอย่างเดียวไม่พอ ต้องรับฟรีแลนซ์ด้วย หรือด้วยไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่อการทำงานสไตล์ Multitasking มากขึ้น การมีความรับผิดชอบในการทำงานหลายอย่างก็ดูจะเป็นช่องทางการทำเงินที่สมเหตุสมผล แต่เราจะนำมันมาประยุกต์ใช้อย่างไร ไม่ให้มีผลกระทบต่องานล่ะ?

1. น้อมรับ Multitasking

เมื่อปี 1958 มีนักจิตวิทยาที่ชื่อว่า Bernice Eiduson ได้ทำการศึกษาที่ใช้เวลานานมาก (นานจนเธอเสียชีวิตไปก่อน แต่เพื่อนร่วมงานของเธอก็ขุดเอาผลการศึกษามาเล่าให้เราฟังต่อกันได้) เธอทำการศึกษาพฤติกรรมการทำงานของนักวิทยาศาสตร์จำนวน 40 คน เธอสัมภาษณ์พวกเขาเพื่อสังเกตพฤติกรรมการทำงานอย่างละเอียด เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี นักวิทยาศาสตร์บางคนก็ออกจากสายอาชีพ บางคนก็ประสบความสำเร็จได้รางวัล Nobel Prize และแพทเทิร์นที่ถูกค้นพบในการศึกษาของเธอคือ ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จทางสายอาชีพทุกคนนั้น มีการเปลี่ยนหัวข้องานวิจัยอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งครอบคลุมถึงรายงานหัวข้อแขนงต่างกันกว่า 5 หัวข้อ และสลับประเด็นงานวิจัยไปมาจำนวนเฉลี่ยถึง 43 ครั้ง พวกเขามักจะตีพิมพ์งานวิจัยของเขา เปลี่ยนหัวข้องานวิจัยเป็นเรื่องใหม่ แล้วก็ตีพิมพ์ใหม่ไปเรื่อย ๆ จนทำให้เราพบว่าความลับของความสำเร็จในสายอาชีพวิทยาศาสตร์ อาจจะเป็นการทำงานแบบ Multitasking นี่แหละ
เพราะฉะนั้นสไตล์การทำงานแบบ Multitasking ก็ยังมีแง่มุมที่ดีของมัน ถ้าเราจัดสรรเวลาให้แต่ละหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายอย่างเหมาะสม

2. รับหลายงานได้ แต่ต้องฝึก Deep Work

Deep Work คือคำที่ถูกนำมาสู้กับการทำงานแบบ Multitasking ซึ่งถูกพูดถึงโดย Cal Newport ในหนังสือ ‘Deep Work: Rules for Focused Success in a Distracted World’ ของเขา Cal Newport เชื่อว่าการ switch กิจกรรมอย่าฉับพลัน (แม้เราจะอ้างกับตัวเองว่าหยิบโทรศัพท์มาตอบไลน์ลูกค้า แค่ 10 วินาที ไม่น่าส่งผลอะไร) จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง เพราะฉะนั้นหากจะเข้าโหมด Deep work ก็ต้องลด ละ เลิก ปิดโซเชียลมีเดีย และตั้งใจทำกิจกรรมเพียง 1 กิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลดีที่สุด และนั่นไม่ได้หมายความว่าเวลาในการทำงานแต่ละอย่างจะต้องมากขึ้นเท่าตัว แต่อยู่ที่การโฟกัสที่ งาน ๆ นั้นให้ได้มากที่สุด และหากเราฝึกจนชำนาญแล้ว เราก็อาจจะใช้เวลาในการทำงานแต่ละอย่างน้อยลงด้วย
Deep work อาจจะไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ ถ้าเจ้านายเรารักการสั่งทำงานแบบ Multitasking โดยคอยป้อนงานเพิ่มตลอดเวลา หรือไลน์ลูกค้าเด้ง ทุก ๆ สิบห้านาที แต่เทคนิคจาก Cal Newport คือการจัดตารางชีวิตในแต่ละสัปดาห์ให้มี ‘Deep work’ อยู่ในนั้น เริ่มจากเป้าหมายง่าย ๆ อย่างการเซตชั่วโมง Deep work ให้ได้ถึง 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และแต่ละครั้งควรใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 90 นาที

3. เรื่องเงินต้องโฟกัส

Alexa Mason นักเขียนด้านการเงินจากเว็บไซต์ Single Moms Income เคยกล่าวว่าหากนำสไตล์การทำงาน Multitasking มาประยุกต์กับเรื่องการจัดการเงินจะกลายเป็นเรื่องที่อันตราย และการจัดการการเงินด้วยเป้าหมายหลายอย่างนั้นอาจจะทำให้ทุกอย่างยากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่ควรประยุกต์ใช้เพื่อประสิทธิภาพในการจัดการการเงินที่ดีขึ้นคือการวางแผนให้มีการจัดการแบบอัตโนมัติ เช่น บัญชีที่ได้รายรับทุกเดือน จะถูกโอนส่วนหนึ่งเข้าบัญชีเงินเก็บทันที หรือบางส่วนจะถูกโอนเป็นเงินหลังเกษียณทุกเดือน รวมถึงการตั้งเป้าหมายทางการเงินเพียงเป้าหมายเดียว จะทำให้เราโฟกัสได้มากกว่า
ขั้นตอนง่าย ๆ คือการลิสต์เป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ เช่น เคลียร์หนี้บัตรเครดิตที่มี เก็บเงิน รีโนเวทบ้านใหม่ จากนั้นจัดการทีละข้อให้เสร็จก่อน แล้วจึงขยับไปเป้าหมายต่อ ๆ ไป การให้เวลากับการเงินอย่างจริงจังก็สำคัญเช่นเดียวกัน เราอาจจัดสรรเวลาเดือนละครั้ง (ซึ่งควรเป็นวันที่เดียวกันของทุกเดือน) ในการ deep work กับการเงินของตัวเอง โดยดูรายงานการใช้เงินว่ามีแพทเทิร์นแบบไหน จะปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้สำเร็จได้เร็วขึ้น เป็นต้น
เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องควบทั้งงานออฟฟิศ และงานฟรีแลนซ์อยู่ตามแบบไลฟ์สไตล์คนทำงานในยุค Multitasking Era ก็ต้องแบ่งเวลามาฝึกโฟกัสกับงานแบบ Deep Work อย่างต่อเนื่อง และไม่เผลอไป Multitasking ใส่บัญชีเงินเก็บของตัวเองก็พอ ถ้าทำได้แบบนี้ ต่อให้ไม่มีแขนเพิ่มอีก 8 ข้างแบบ Karl Legerfled เราก็ประสบความสำเร็จในการทำงานได้เหมือนกัน!
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow