ทุกวันนี้คนเราต้องเจอกับความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่นับวันยิ่งมีโรคอุบัติใหม่หรือโรคแปลก ๆ มากขึ้น เพราะมลพิษที่มนุษย์เราสร้างขึ้นกันอย่างไม่หยุดหย่อน ไหนจะภัยจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนน เนื่องจากรถรามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย หรือภัยจากธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เนปาลที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ เพื่อน ๆ คงเห็นแล้วว่าชีวิตคนเรานี้มีความไม่แน่นอนเลย ฉะนั้นทุกคนคงอยากมีอะไรที่ช่วยลดความไม่แน่นอนของชีวิตกันใช่ไหมครับ ผมจึงอยากขอแนะนำให้เพื่อนๆ รู้จักคำว่า “ประกันภัย” ว่ามีความสำคัญอย่างไร และเราควรเลือกประกันภัยแบบไหนดีเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับการใช้ชีวิตมากที่สุด
การประกันภัย คือ การบริหารความเสี่ยงภัยวิธีหนึ่ง ซึ่งจะโอนความเสี่ยงภัยของผู้เอาประกันภัยไปสู่บริษัทประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งจะมีหลายแผนความคุ้มครองให้เลือกว่าจะทำประกันแบบไหนดี ส่วนการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยจะจ่ายในจำนวนที่เล็กน้อย เมื่อเทียบกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงช่วยป้องกันไม่ให้ต้องเสียเงินเยอะในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นจริง โดยบริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายแทน อย่างไรก็ตาม แม้การประกันภัยไม่ได้เป็นการทำให้ความเสี่ยงหรืออุบัติเหตุหายไป แต่การประกันภัยจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้านการเงิน หรือถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพ การประกันภัย ก็คือแผนเฉลี่ยความเสี่ยงภัยร่วมกัน โดยบุคคลจำนวนหนึ่งตกลงกันว่า หากบุคคลในกลุ่มนั้นได้รับการสูญเสียเนื่องจากภัยที่กำหนดไว้ ทุก ๆ คนในกลุ่มจะเฉลี่ยค่าสูญเสียให้แก่ผู้ประสบภัย ทีนี้ เราจะเลือกทำประกันภัยแบบไหนดีล่ะ ถึงจะเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ และช่วยให้เราอุ่นใจมากที่่สุด?
ใครอยากรู้ว่าทำประกันภัยแบบไหนดีกว่า ต้องมาดูรูปแบบการประกันภัย ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสองแบบหลัก ๆ ครับ ได้แก่
1. การประกันชีวิต (Life Insurance)
การประกันชีวิต หมายรวมถึง การสร้างหลักประกันให้แก่บุคคลที่อยู่ในอุปการะของเราและแก่ตัวเราเอง เป็นการประกันต่อความสูญเสียและเสียหายอันจะเกิดแก่บุคคล หรือกลุ่มบุคคล โดยสัญญาจักชดเชยเมื่อมีการเสียชีวิต และอาจมีความคุ้มครองอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การประกันอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะ การประกันกรณีทุพพลภาพ หรือการประกันสุขภาพ เพราะเมื่อบริษัทได้รับใบคำขอทำประกันชีวิตและเบี้ยประกันของผู้เอาประกันแล้ว และถ้าบริษัทตกลงรับประกันชีวิต บริษัทจะออกกรมธรรม์ให้ ซึ่งถือเป็นสัญญาที่บริษัทประกันสัญญาว่าจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์หรือผู้เอาประกันภัยตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์นั้น อย่างไรก็ตาม หลายคนลังเลว่าซื้อประกันชีวิตดีหรือเปล่า หรือควรทำประกันภัยแบบไหนดีถึงจะครอบคลุม เพราะกลัวไม่ได้รับความคุ้มครองเต็มที่เหมือนประกันประเภทอื่น แต่ความจริงแล้วเราไม่ได้ซื้อประกันชีวิตเพราะคนเราต้องเสียชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่วัตถุประสงค์หลักของการซื้อประกันชีวิตก็เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้รายได้ของเราสูญสิ้นไป โดยเฉพาะในยามที่เราเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควร และหากยังมีชีวิตอยู่ เมื่อพ้นระยะเวลาที่สามารถทำงานได้ ก็ยังได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นกัน
2. การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)
นอกจากประกันชีวิต อีกหนึ่งรูปแบบสำหรับคนที่กำลังหาข้อมูลว่าทำประกันภัยแบบไหนดีกว่า ก็คือประกันวินาศภัย ซึ่งหมายถึง การที่ผู้รับประกันภัยทำสัญญายินยอมที่จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือชดใช้เงินจำนวนหนึ่งในกรณีที่เกิดความเสียหายเกี่ยวกับที่เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยตกลงจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้รับประกันภัย การประกันวินาศภัยมีประโยชน์ในการคุ้มครองทรัพย์สิน และกิจการของผู้เอาประกันภัย สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าจะทำประกันภัยแบบไหนดี การประกันวินาศภัยนั้นแบ่งออกเป็นสี่ประเภท คือ
- การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)
- การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance)
- การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance)
- การประกันเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous/Casualty Insurance)
ประโยชน์อันมากมายของการประกันภัย
ไม่ว่าจะเลือกทำประกันภัยแบบไหน การมีประกันเอาไว้ก็ช่วยสร้างความอุ่นใจได้ทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น
- เป็นการให้หลักประกันต่อบุคคลและครอบครัวของผู้เอาประกันภัยเมื่อมีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตไป เช่น กรณีการประกันชีวิต เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต ทายาทหรือผู้รับประโยชน์ก็จะได้รับเงินประกันภัย
- การเลือกอย่างรอบคอบว่าจะทำประกันภัยแบบไหนดีที่เหมาะสม จะช่วยให้เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินของผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายนั้นจากผู้รับประกันภัย
- ช่วยปลูกฝังให้เกิดนิสัยการประหยัดและการออมทรัพย์ ซึ่งการออมทำให้มีเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ยามชรา
- สามารถนำไปลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา
- ช่วยให้เกิดความมั่นคงในการประกอบธุรกิจ ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น
- ช่วยในการขยายเครดิต ลดความเสี่ยงของผู้ให้กู้จากหนี้สูญ คือ ถ้านักธุรกิจจะกู้เงินจากธนาคาร ต้องทำประกันชีวิตเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องการกู้ ถ้าผู้กู้เกิดเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ธนาคารก็จะสามารถเรียกเงินกู้คืนได้ เพราะมีหลักประกันว่าจะได้รับชดใช้คืน
- ช่วยสร้างความมั่นคงในสังคม ทำให้สังคมมีหลักประกันความปลอดภัย มีความมั่นใจว่าเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้วตนก็จะได้รับการชดใช้
- ช่วยให้มีการระดมทุน เพื่อพัฒนาประเทศ เพราะบริษัทประกันภัยเป็นสถาบันหนึ่งในหลายสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารพาณิชย์ การประกันภัยจึงช่วยให้มีการระดมทุน
จากประโยชน์อันมากมายของการประกันภัยที่ผมยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น เพื่อน ๆ คงเห็นความสำคัญของการประกันภัยใช่ไหมครับ เพราะความเสี่ยงภัยต่าง ๆ อาจจะเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า อุบัติเหตุต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่ว่ากับตัวเองหรือแม้แต่คนที่เรารัก การทำประกันภัยจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้อุดรอยรั่วของเงินในกระเป๋าของเราไม่ให้รั่วไหล ช่วยลดปัญหาที่ตามมาจากความเสี่ยงภัยต่าง ๆ ให้น้อยที่สุดได้ โดยถ้าความเสี่ยงภัยหรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดนั้นมาถึง เมื่อทำประกันภัยไว้ เราก็จะมีบริษัทประกันภัยมาช่วยดูแล ชดใช้ค่าเสียหายให้ ซึ่งการจะทำประกันภัยแบบไหนให้เหมาะสมและครอบคลุมนั้นก็ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือความเสี่ยงที่แต่ละคนอาจพบเจอไม่เหมือนกันนั้นเองครับ
การทำประกันภัยก็เปรียบเสมือนร่ม เพราะเวลาที่ฝนไม่ตก การพกร่มไว้ก็อาจดูจะเป็นภาระ เกะกะ ไม่คล่องตัว แต่เมื่อเวลาฝนตกหรือมีพายุลมแรง การมีร่มไว้ก็สามารถป้องกันไม่ให้เราเปียกฝนได้นะครับ การทำประกันภัยจึงจำเป็นที่จะต้องซื้อก่อนที่จะใช้ หรือเพื่อมีไว้ก่อนยามฉุกเฉิน เพราะเมื่อยามจำเป็นนั้นมาถึง เช่น กรณีเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุที่เราไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด หากเพื่อน ๆ ทำประกันภัยไว้ ก็จะมีเงินสำรองไว้สำหรับภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงทีครับ ถ้าเพื่อน ๆ สนใจที่จะทำประกันภัยแต่ยังไม่มีข้อมูลว่าควรทำประกันภัยแบบไหนที่เหมาะกับเราดี ควรหาข้อมูลและศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประกันภัยที่ครอบคลุมทั้งประกันชีวิต ประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ หรือผลประโยชน์ด้านต่าง ๆ ให้ละเอียดเพื่อเป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจทำประกันภัยนะครับ