เรามีชีวิตอยู่ ... เพื่ออะไร ?
Ikigai … มาจากคำว่า Ikiru แปลว่า มีชีวิตอยู่ Gai แปลว่า คุณค่า Ikigai (อิคิไก) จึงแปลว่า คุณค่าของการมีชีวิตอยู่
กล่าวให้ง่ายกว่านั้น ... อะไรที่ทำให้เรามี
ความสุข และอยากมีชีวิตต่อ
มันอาจจะเป็นการได้ทำกับข้าวให้
ลูกสาวที่กำลังเติบโต การได้ยินเสียงนกร้องและใบไม้ขยับรับแดด หรือการได้ชิมกาแฟดี ๆ ตามที่ต่าง ๆ
นอกจากชีวิตส่วนตัวแล้ว เรายังสามารถสร้าง “อิคิไก” ให้เกิดขึ้นกับอาชีพที่ทำอยู่ได้เช่นกัน ด้วยเทคนิคง่าย ๆ 3 ข้อนี้ค่ะ
1. จินตนาการถึงผู้ใช้
ลองจินตนาการดูว่า ลูกค้าเราเป็นใคร ก่อนเขามาซื้อสินค้าหรือบริการของเรา เขาผ่านอะไรมาบ้าง หรือหลังจากซื้อสินค้า/บริการไปแล้ว ชีวิตเขาจะเป็นอย่างไร
ว่าแต่ ... คุณผู้อ่านเดาได้ไหมคะว่า ในภาพนี้ ขาฝั่งไหนเป็นขาจริงหรือขาปลอม?
คำตอบก็คือ จากในภาพซ้ายมือเป็นขาปลอมค่ะ
ฟุคุชิม่า ยุคาโกะ เป็นช่างฝีมือที่รับทำอวัยวะปลอม แขนปลอม ขาปลอม เธอทำได้หมด หากเธอคิดเพียงแค่ว่า เธอมีหน้าที่หล่ออวัยวะคนไปวัน ๆ คุณผู้อ่านคงไม่ได้เห็นขาที่เหมือนตั้งแต่เส้นเลือด สีเนื้อ กล้ามเนื้อ
อิคิไกของฟุคุชิม่า คือ ตอนที่เธอได้เห็นสีหน้าเป็นประกาย เวลาลูกค้าได้ลองอวัยวะปลอม และพบว่า มันแทบไม่ต่างกับอวัยวะจริง ฟุคุชิม่ามีความสุข
เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ได้พบลูกค้า ฟุคุชิม่าจะไม่ถามแค่ว่า ลูกค้าสนใจทำอวัยวะปลอมแบบไหน แต่เธอพยายามฟัง “เรื่องราว” ของลูกค้าจริง ๆ ทำไมแต่ละคนถึงอยากทำอวัยวะปลอม พวกเขาใช้ชีวิตแบบไหน มีความฝันอะไรบ้าง
นั่นทำให้ตอนที่เธอทำขาปลอมให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เธอสามารถจินตนาการสีหน้าของเด็กสาวคนนั้น และรู้ว่า ขาปลอมอันนี้ จะทำให้เด็กผู้หญิงคนนี้กล้าขึ้นเครื่องบินและเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ หรือมือปลอมอันนั้น จะทำให้พ่อ สามารถยื่นมือให้ลูกจับ และจูงลูกไปโรงเรียนได้อย่างมั่นใจ
พลังของจินตนาการนี้ ที่ทำให้ฟุคุชิม่าสามารถทุ่มเทให้กับงานได้เต็มที่ จนผลงานของเธอ แทบแยกความแตกต่างไม่ออกจากอวัยวะจริง ๆ
ลองเงี่ยหูฟังเรื่องของลูกค้า และจินตนาการดูว่า
ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเรา เขาซื้อไปทำอะไร หรือมอบให้ใคร แล้วท่านจะเห็นคุณค่าของสินค้า ตลอดจนงานที่ท่านทำได้ง่ายขึ้นค่ะ
2. สร้างประโยชน์เพื่อผู้อื่น
ดิฉันเคยเจอผู้เรียนบางท่านบอกว่า “อิคิไกตนเอง คือ การทำธุรกิจให้ยิ่งใหญ่มาก ๆ ระดับพันล้าน”
นั่น ... คือ เป้าหมาย แต่ไม่ใช่อิคิไกในแง่การทำงานที่ดีค่ะ
อิคิไกที่จะสร้างพลังให้ตนเองได้ในระยะยาวนั้น ควรเป็นอิคิไกที่สร้างประโยชน์เพื่อผู้อื่น เช่น Tokido …โปรเกมเมอร์ นักเล่นเกมมืออาชีพชาวญี่ปุ่น เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาฝันอยากให้ e-sports หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์นี้ เป็นที่นิยมมากขึ้นในญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นล้าหลังกว่าประเทศอื่น ๆ ในด้านนี้มาก Tokido จึงมุ่งมั่นเล่นเกม ชิงรางวัล และสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง เพื่อจะได้สร้างการรับรู้ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นหลังในญี่ปุ่น
จากกรณีผู้เรียนข้างต้น ดิฉันถามต่อว่า “ทำไมถึงอยากทำธุรกิจให้ยิ่งใหญ่มาก ๆ คะ?” เขาตอบว่า “อยากให้สินค้าตัวนี้เข้าถึงคนได้มาก ๆ เพราะมันดีจริง ๆ ครับ” อิคิไกใหม่ของผู้ชายท่านนี้ จึงเปลี่ยนเป็น การทำให้คนจำนวนมากได้มีความสุขผ่านสินค้าตัวนี้แทน
3. เป็นสิ่งที่เราอิน
ยูจิ ซากาโมโต้ เป็นนักเขียนบทละคร ละครที่เขาเขียนนั้น มักจะเป็นแนวหนัก ๆ เช่น เรื่องของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เหน็ดเหนื่อยกับการเลี้ยงลูก หรือครอบครัวของผู้ต้องหา ชีวิตของพวกเขาหลังเกิดคดีจะเป็นอย่างไร
ตัวซากาโมโต้เองก็รู้ว่า ละครที่เป็นที่นิยมนั้น มักจะเป็นแนวความรัก สนุกสนาน เนื้อหาไม่หนักจนเกินไป แต่ตัวเขาเอง ก็ยังพยายามเขียนบทละครในแบบของเขา เนื่องจากเขาเชื่อว่า มีผู้ชมอยู่กลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อ โหยหาแรงบันดาลใจ ... เขาจึงเขียนบทละครเพื่อส่งพลังไปให้คนกลุ่มนั้น
เพราะฉะนั้น อิคิไกของคนแต่ละคนจึงแตกต่างกัน แม้จะเป็นคนในวงการเดียวกันก็ตาม อิคิไกของนักเขียนบทคนหนึ่ง อาจเป็นการสร้างรอยยิ้มให้คนดู เพราะเห็นว่า ตลอดวัน คนก็เครียดกับการทำงานอยู่แล้ว แต่อิคิไกของซากาโมโต้ คือ การส่งพลังให้คนกลุ่มเล็กในสังคม
อิคิไกของเราจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ลองนึกสิ่งที่ท่านอินที่สุด เป็นความเชื่อบางอย่าง หรือสิ่งที่ท่านอยากเห็น อยากลงมือทำ รู้สึกเกิดแรงบันดาลใจ ... สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นอิคิไกของท่านใน
การทำงานก็ได้ค่ะ
จากเทคนิค 3 ข้อข้างต้น ลองนึกถึงหน้า “ลูกค้า” ของเรา ... คิดวิธีช่วยเหลือหรือทำให้คนคนนั้นมีความสุข และเป็นสิ่งที่ท่านรู้สึกอินมาก ๆ แล้วเรียบเรียงเป็นสโลแกนประจำตัวนะคะ นั่นอาจเป็นอิคิไกของท่านค่ะ