จูนเป็นตัวอย่างของคนที่ลืมอะไรอยู่เสมอ ๆ ตั้งแต่ชื่อคนที่ต้องติดต่องานด้วย ธุระที่รับปากกับคนอื่นไปแล้วว่าจะทำให้ หรือแม้กระทั่งอาหารที่เพิ่งกินไปเมื่อเช้า ฯลฯ ทำให้คนใกล้ตัวตำหนิเสมอ ๆ ว่าเป็นคนขี้ลืมเหลือเกิน สุดท้ายเลยอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมตัวเองจำอะไรไม่เคยได้สักที และจะมีวิธีไหนรึเปล่าที่จะให้เราจำอะไรได้มากขึ้น
ก่อนจะเข้าใจการ “ลืม” ของสมอง ก็ต้องเข้าใจหลักการทำงานของการ “จำ” เสียก่อน...
ถ้าอธิบายง่าย ๆ สั้น ๆ กันลืม ความทรงจำของเราจะถูกแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ประเภทแรกคือ “Short-Term Memory” หรือที่หลัง ๆ มักถูกเรียกว่า “Working Memory” ซึ่งคือความทรงจำระยะสั้น ๆ ที่ถ้าเปรียบเป็น usb ก็จะมีหน่วยความจำต่ำมาก จำได้ที่ละน้อย ๆ เรียกกลับมาใช้ได้ทันทีหากไม่ทิ้งไว้นานเกิน ยกตัวอย่างเช่น เวลาเรากำลังเถียงกับใครอยู่ สมองของเราต้องจำข้อมูลก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน ระหว่างที่ฟังอีกฝ่ายหนึ่งพูดให้จบประโยค แล้วเราจึงสวนกลับได้โดยยังไม่ลืมว่าตัวเองจะพูดอะไร หรือการจำของสมองเวลาคิดเลขที่ต้องทดเลขอะไรไว้ในใจ
ส่วนความทรงจำอีกประเภทคือ Long-Term Memory หรือความทรงจำระยะยาวที่อยู่กับเรานานกว่า ซึ่งรวมไปถึงความรู้ทั่ว ๆ ไป เช่น สมัยเรียนเราต้องท่องชื่อเมืองหลวงแต่ละประเทศให้ได้ จนตอนโตก็ยังจำได้อยู่ การที่เราจำได้อัตโนมัติว่าขี่จักรยานยังไง เพราะขี่ตั้งแต่เด็กจนไม่ต้องรื้อฟื้นความจำใหม่ ไปจนถึงความทรงจำที่เราไม่ได้อยากจะจำแต่ดันจำได้ เช่น เคยกระโดดลงสระแล้วจมน้ำตอนเด็ก ๆ โตขึ้นมาก็ยังฝังใจถึงตอนสำลักน้ำ จนไม่ค่อยชอบการว่ายน้ำไปโดยปริยาย
ปัญหาที่ทำให้เกิด “การลืม” มันอยู่ตรงนี้นี่แหละ เมื่อเรารับข้อมูลอะไรมาก ๆ เข้ามาพร้อมกัน บางทีสมองของเราก็ไม่ได้ใส่ใจ และไม่ตั้งใจตีความสิ่งนั้น ๆ เพื่อนำมาเก็บไว้ในหน่วยความทรงจำของเราด้วยซ้ำ (สมองก็ต้องคัดว่าจะจำอะไรไม่จำอะไรดี) ซึ่งก็ทำให้เราลืมสิ่งนั้น ๆ ไป เช่น หากตอนเช้าเรากำลังยุ่งกับการเตรียมตัวไปทำงานเพราะออกจากบ้านสายกว่าปกติ เพื่อนก็โทรเข้ามาเพื่อปรึกษาเรื่องส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบอีเมลลูกค้าไปด้วย ก็ไม่แปลกที่หากย้อนกลับมาถามตัวเองว่าเมื่อเช้าเรากินอะไรไป หรือขึ้นแท็กซี่สีอะไรมาทำงาน เราก็อาจจะจำอะไรไม่ได้เลย
อีกหนึ่งสาเหตุของการลืมคือสิ่งที่เรียกว่า ‘Storage Decay’ หรือ ‘The Decay Theory of Forgetting’ หรือการที่สมองของเราไม่ได้เรียกเอาความทรงจำ Short Term Memory เหล่านั้นกลับมาทวนใหม่ ซึ่งมีการระบุว่าหากช่วงระยะระหว่างเวลาที่เราจดจำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กับเวลาที่เราเรียกคืนความทรงจำนั้นกลับมาใช้ใหม่ยิ่งสั้นมากเท่าไร ยิ่งทำให้เราจำสิ่ง ๆ นั้นได้มากขึ้น แต่หากทิ้งไว้นาน เราก็ยิ่งลืมสิ่งนั้น ๆ ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
และสาเหตุสุดท้ายของการลืมคือทฤษฎี “The Retrieval Failure Theory” เช่นเวลาที่เพื่อนร้องเพลงเก่าเพลงหนึ่งขึ้นมา แล้วเรานึกชื่อศิลปินไม่ออกทั้ง ๆ ที่มั่นใจว่ารู้จักและต้องจำได้ แต่ชื่อกลับติดที่ริมฝีปาก อาการแบบนี้เกิดขึ้นได้จากการที่สมองเราเบลอจนดึงความทรงจำออกมาจากหน่วยความจำในสมองไม่ได้เพราะข้อมูลเก่าใหม่มันซ้อนทับกันไปหมด หรือขาดสิ่งที่เรียกว่า “retrieval cues” ที่จะช่วยให้เรานึกออก เช่น เพื่อนอาจจะตะโกนบอกมาว่าชื่อนักร้องคนนั้นน่าจะขึ้นต้นด้วย ม.ม้านะ ก็อาจจะช่วยให้เรานึกชื่อออกได้ทันทีว่าเพลงนั้นคือเพลงของใคร
พอรู้หลักการทำงานของการจำ-การลืมแบบนี้แล้ว วิธีที่จะช่วยให้เรา “ลืมให้น้อยลง” กลับไม่ใช่การพยายามจดทุกอย่างเข้าปฏิทิน หรือถ่ายรูปเสาในลานจอดรถเพื่อกันตัวเองลืมที่จอด แต่เป็นการพยายามนำข้อมูลที่ได้รับนั้น ตั้งใจกลั่นกรองประมวลผล (decode) และนำไปวางในหน่วยความจำ Long Term Memory ให้ได้มากที่สุด และดึงความทรงจำส่วนนั้นกลับมาใช้บ่อย ๆ เพื่อฝึกให้สมองของเราให้ใช้งานอยู่เสมอ และจะได้ไม่ลืมอะไรง่าย ๆ นั่นเอง
นอกจากนี้ใครที่มักลืมอะไรบ่อย ๆ การนอนหลับให้เพียงพอ หรือแค่เพียงการงีบสั้น ๆ ก็จะช่วยให้เราขี้ลืมน้อยลงได้เหมือนกันนะ เพราะยิ่งเรารับข้อมูลเข้าไปมาก ๆ โดยที่สมองไม่ได้พัก ก็ทำให้ข้อมูลบางอย่างหายไปจากความทรงจำ การงีบหลับเป็นช่วงเวลาที่สมองได้ทบทวนข้อมูลที่ได้รับมานั่นเอง หรือการนั่งสมาธิก็สามารถช่วยการทำงานของ Working Memory ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
อ่านจบแล้ว “อย่าลืม” แชร์ให้เพื่อนที่ขี้ลืมอ่านต่อด้วยนะ...