“วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไป มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอดเนื่องจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่น ๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่ โดยประหยัดเพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้าต่อไปได้โดยสวัสดี”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑
โลกเราทุกวันนี้หมุนเร็วมาก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาโลกเรายังเป็นโลกยุคอนาล็อก เป็นโลกที่คอมพิวเตอร์ยังมีบทบาทไม่มาก ใครใช้คอมพิวเตอร์เป็นถือว่าเป็นคนที่พิเศษ และค่อนข้างจะแปลกกว่าคนส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันเป็นโลกของดิจิทัล ใครใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นถือว่าแปลก และถือว่าตกยุค
ต่อมาก็เข้าถึงยุคแห่งสมาร์ทโฟน ทีแรกก็มีคนใช้ไม่มาก ใครใช้ถือว่าแปลกกว่าคนอื่นเช่นกัน แต่ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนถือว่าเป็นเรื่องทั่วไปแล้ว ใครไม่ใช้คงต้องมีคนอื่นมองว่าเราตกยุค และเกิดสิ่งใหม่ ๆ ตามมามากมาย เช่น Social Media ต่าง ๆ คลิป
YouTube ข้อดีก็คือ มันสะดวกรวดเร็ว ความรู้กลายเป็นสิ่งที่หาง่าย แต่ข้อเสียก็คือ มันไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองใด ๆ เลย และคนที่ไม่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอาจจะตกเป็นเหยื่อของสังคมออนไลน์ได้ง่าย ๆ
การดำรงความเป็นอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง ตามพระราชดำริ นั้นเปรียบเหมือนเกราะป้องกันทางใจให้กับคนทั่วไป คำที่พระองค์ท่านสอนเราไว้มีประโยชน์ต่อการปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในกระแสของโลกที่สับสนวุ่นวายใบนี้ แนวคิดของในหลวงที่จะช่วยให้เรารู้เท่าทันโลกยุคใหม่มีอะไรบ้าง ติดตามกันครับ
แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น แบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกัน โดยหลักทั้ง 3 ประการนี้จะช่วยให้ใจเราสงบขึ้น เพราะหากเรามีความพอประมาณเราจะไม่ร้อนใจ ไม่ทำสิ่งใดเกินตัวมากจนเกินขอบเขต หรือเกินความรู้ความสามารถของเราเร็วจนเกินไป และถ้าเรามีเหตุผล อารมณ์ก็จะไม่ส่งผลต่อชีวิตของเรา หรือส่งผลน้อย ทำให้เรามีความยับยั้งชั่งใจมากขึ้น
เมื่อเรามีความพอประมาณ และมีเหตุผลแล้ว เราก็จะมีภูมิคุ้มกัน คือ เราจะไม่อ่อนไหวง่าย ๆ ไม่อ่อนแอมากจนเกินไป เพราะสมัยนี้มีสิ่งที่เรียกว่า Social Media ที่กิเลสติดความเร็วแสง ใครมีอะไร ไปเที่ยวไหน กินอะไร ก็จะนำมาโพสผ่านสังคมออนไลน์ ทำให้เราจิตใจไม่สงบ เกิดกิเลส อยากได้อยากมีเหมือนคนอื่นบ้าง แต่ถ้าเรามีภูมิคุ้มกันแล้ว เรื่องราวเหล่านี้ก็จะทำอะไรเรายากขึ้น เราจะมีความสุขได้จากภายในนั่นเองครับ
แนวคิดการประหยัด
แนวคิดการประหยัดของพระองค์ท่านนั้นสอนให้เราใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เนื่องจากในโลกสมัยใหม่นั้นจะกลายเป็นยุค
“บริโภคนิยม” ไม่เหมือนกับในอดีตที่อาหารเป็นของหายาก ยิ่งถ้าย้อนกลับไปยุคสงครามแล้วนั้นการขาดแคลนอาหารถือเป็นเรื่องธรรมดาเลยทีเดียว
แต่ในปัจจุบันอาหารมีอย่างล้นเหลือ หลายคนกินมากเกินความจำเป็นทำให้เกิดโรคอ้วน และการใช้ทรัพยากรก็ถูกใช้อย่างสิ้นเปลืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เราจะเห็นได้ว่าอัตราการใช้กระแสไฟฟ้าในประเทศไทยพุ่งสูงทุบทุกสถิติ ทำให้หน่วยงานรัฐต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน แม้แต่การใช้ทรัพยากรน้ำก็ใช้กันอย่างสิ้นเปลือง และหากอัตราการบริโภคทรัพยากรของเรายังเป็นแบบนี้ จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และในวันหนึ่งทรัพยากรก็จะหมดไป
พระองค์ท่านสอนเราเหมือนกับเป็นภาพอนาคตว่าในวันข้างหน้าทรัพยากรจะถูกใช้อย่างสิ้นเปลืองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคก่อนที่แล้วมา และแนวคิดให้ประหยัด ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าจะช่วยชะลอการเกิดเหตุการณ์ขาดแคลนในอนาคตได้ แถมยังทำให้ค่าใช้จ่ายในครอบครัวของเราลดลง สร้างความมั่นคงด้านการเงินให้กับชีวิตครอบครัว ไม่เป็นหนี้โดยไม่จำเป็น ด้วยการอยู่อย่างพอเพียง การที่เรารู้จักใช้ ประหยัดในสิ่งที่ควรประหยัด ทำบ่อย ๆ มันจะกลายเป็นหลักประกันความมั่นคง แถมยังจะกลายเป็นความมั่งคั่งได้ในอนาคต ถ้าเรารู้จักนำเงินออมที่ได้จากการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ไปต่อยอดให้งอกเงยได้อีกด้วย
ข้อสรุปของคำสอนที่เราทุกคนควรน้อมนำไปปฏิบัติ
ตามพระราชดำรัสของในหลวงนั้น หากเราต่างน้อมนำปฏิบัติตามจะช่วยให้เราสามารถดำรงชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยในสภาวะการแข่งขันรุนแรงของสังคม ในห้วงของการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของสังคมยุคใหม่ พระองค์ท่านพระราชทานคำสอนไว้เป็นมรดกทางปัญญาให้กับเรา เหมือนพระองค์เห็นอนาคตว่าคนในสังคมยุคใหม่จะเป็นคนที่สุขยาก แต่ทุกข์ง่าย ต้องเผชิญกับกิเลสที่ติดความเร็วแสง คอยยั่วยวนใจให้ทุกข์ทรมานอยู่ตลอดเวลา
สำหรับคำสอนของพระองค์ท่านนั้นท่านสอนจากการตกผลึกทางความคิด โดยพระองค์ท่านไม่ได้สอนเราเพียงอย่างเดียว แต่ได้ทรงปฏิบัติให้เห็นจริงด้วยพระองค์เองอีกด้วย