การเริ่มต้นชีวิตทำงานสำหรับบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งหลาย ๆ คนก็ยังไม่มีประสบการณ์การทำงาน หรือการเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงานมากนัก บางคนมองว่า การหางานนั้นยากเสียยิ่งกว่าการทำงาน แต่จริง ๆ แล้ว การเริ่มต้นปรับตัวเข้ากับสังคมการทำงานสามารถสร้างความเครียดและวิตกกังวลที่เรียกว่า ความเครียดที่เกิดจากการทำงาน (Work-related stress) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้ เช่น ความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง เครียดจนคิดว่าไม่สามารถรับมือได้ ไม่สามารถควบคุมสมาธิได้ ขาดแรงจูงใจ กระทบความรับผิดชอบ ผิดหวัง จนกระทบด้านอารมณ์ได้ เช่น อารมณ์อ่อนไหว ร้องไห้ง่าย หงุดหงิด อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ไปจนถึงภาวะซึมเศร้า ซึ่งความเครียดเหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างรุนแรง เช่น อาการปวดหัวชั่วคราวไปจนปวดหัวไมเกรน นอนไม่หลับ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องเสียหรือท้องผูก ปวดตัว เป็นต้น เมื่อนำความเครียดเหล่านี้แพ็คกระเป๋ากลับบ้านไปทุกวัน ๆ ก็จะกลายเป็นโรคประจำตัวได้เลยนะ งั้นเรามาดู 8 วิธีที่จะช่วยให้เราจัดการกับความเครียดในช่วงเริ่มทำงานแรก ๆ กัน
1. รู้จักองค์กรให้เหมือนรู้จักเพื่อนสนิท
เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ก่อนที่เราจะเริ่มทำงานที่ไหน เราจำเป็นจะต้องทำความรู้จักกับองค์กรนั้น ๆ ให้ดี เพราะหลายบริษัทมักจะมีคำถามตอนสัมภาษณ์ว่า รู้จักบริษัทของเขาดีขนาดไหน และจะนำความสามารถอะไรของเรามาช่วยเติมเต็มบริษัทเขาได้ หลังจากเริ่มงานแล้ว เราก็ไม่ควรจะหยุดทำความรู้จักกับองค์กรที่เราทำงาน อย่าหยุดแค่หน้าเว็บไซต์เท่านั้น ลองเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน โครงการ และผลงานของบริษัทในเชิงลึก เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้เราอินและสร้างความรู้สึกผูกพันธ์อยากทำงาน เพื่อนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
2. สร้างความมั่นใจก่อนเริ่มงาน
ก่อนเริ่มทำงานวันแรก สิ่งที่ควรต้องเตรียมตัวอันดับต่อมาก็คือ เครื่องแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผม ลองหาดูในอินเทอร์เน็ตก็ได้ว่า ทำงานในองค์กรลักษณะนี้ ควรแต่งตัวแบบไหน มีกฎระเบียบเข้มงวดอย่างไร เพราะ
การแต่งตัวดีทำให้เรามีชัยไปกว่าครึ่งเลยนะ แล้วก็อย่าลืมที่จะหาความสุขจากการแต่งตัวไปทำงานด้วย เช่น ทำสีผม ตัดผมในแบบที่เสริมลุค สร้างความมั่นใจ หรือใส่นาฬิกาเรือนโปรดก็เป็นความคิดที่ดี
3. ผูกสัมพันธ์ดี ๆ กับเพื่อนร่วมงาน
เมื่อเริ่มการอบรมเข้าทำงานวันแรกแล้ว จากนั้นก็จะมีการพาไปแนะนำตัวกับพนักงานในแผนกเดียวกันและต่างแผนก ช่วงเวลานี้เอง นับเป็นโอกาสดีที่จะสร้าง First Impression กับเพื่อนร่วมงาน เพราะทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการทำงาน เพราะเพื่อนร่วมงาน คือ คนที่จะอยู่กับเราวันละหลาย ๆ ชั่วโมง ไปกินข้าวกลางวันด้วย หากสามารถสนิทสนมกับเพื่อนร่วมงานแล้ว ก็จะช่วยให้เรามีคนให้คำปรึกษาในเรื่องงานอีกด้วย
4. ทำงานให้เต็มที่ อย่าลนลาน อย่าช้าไป
เมื่อผ่านขั้นตอนแรก ๆ ของการเริ่มงาน ก็จะมีการมอบหมายหน้าที่ ส่งต่องานให้ ซึ่งแน่นอนว่า มือใหม่อย่างเราจะไม่มีทางเข้าใจขั้นตอนการทำงานทั้งหมด แนะนำให้ศึกษาจากเพื่อนร่วมงาน และสอบถามหัวหน้า อย่าเก็บปัญหาไว้กับตัว และทำงานชิ้นนั้นให้เต็มที่และดีที่สุด อย่ารีบร้อนเกินไป เพราะการทำงานด้วยความลนลานจะมีจุดตกหล่นค่อนข้างเยอะ ประสิทธิภาพของงานที่ออกมาก็จะต่ำไปด้วย
จบไปแล้วกับ 4 วิธีแรกที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ จัดการกับความเครียดก่อนจะก้าวเข้าสู่ชีวิตการทำงานของจริง ในตอนต่อไป เราจะมาพูดถึงอีก 4 วิธีที่เหลือกัน รับรองว่าวิธีที่ว่ามานี้ เวิร์คอย่างแน่นอน!