งานดี ลงทุนเด่น ของคน 4 เจนเนอเรชั่น

งานดี ลงทุนเด่น ของคน 4 เจนเนอเรชั่น

By นิ้วโป้ง อธิป กีรติพิชญ์
โลกปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่มประชากรแบบใช้ช่วงอายุเป็นเครื่องมือ โดยแบ่งผู้คนตามยุคเป็น 4 ช่วงวัย หรือที่เรียกว่า 4 เจนเนอเรชั่น (4 เจน) ได้แก่ เจนเบบี้บูมเมอร์, เจน X , เจน Y และ เจน Z คนแต่ละกลุ่มมีช่วงเวลาการเติบโต ปัจจัยสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน มีทัศนคติต่ออาชีพการงานและการลงทุนไม่เหมือนกัน
40 ปีก่อน คำว่า “งานดี” ในสายตาคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (หรือเจน BB ช่วงอายุ 57- 75 ปี) แตกต่างจากยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่มีคำสอนว่า จงตั้งใจเรียนในห้อง จบมารับราชการ ทำงานรัฐวิสาหกิจ เป็นเจ้าคนนายคน งานมั่นคงที่สุด ไม่มีเลย์ออฟไล่ออก ชามข้าวเหล็กตกไม่แตก บางคนขับรถหลวง มีบ้านหลวงอยู่อาศัยได้ทั้งชีวิต เงินเดือนแม้ขึ้นน้อยแต่ก็ขึ้นตลอด มั่นคงและมีเกียรติ ดูดีกว่าการค้าขาย ถึงกับมีคำกล่าวว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง”
ในยุคปัจจุบัน..ความท้าทายคือ การเข้าทำงานในระบบราชการหรือรัฐวิสาหกิจแบบบรรจุเป็นข้าราชการ ไม่ใช่เรื่องง่ายด้วยหลายปัจจัย อีกทั้งเงินเดือนเริ่มต้นของงานราชการ งานรัฐวิสาหกิจ ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเอกชน โอกาสในการเติบโตก็ยากกว่าเพราะมีโครงสร้างระบบอาวุโสที่เคร่งครัด โอกาสในการแสดงความสามารถขออาสารับงานสำคัญของคนรุ่นใหม่ก็ยาก เพราะมีระดับชั้นบังคับบัญชาที่ลึกล้ำ และระบบอุปถัมภ์ค่อนข้างลึกซึ้ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุที่ “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องการความสำเร็จเร็ว ๆ จึงมักจะไม่เลือกงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เป็นอันดับแรก
20-30 ปีก่อน คำว่า “งานดี” ในสายตาคนรุ่นเจนเนอเรชั่น X (ช่วงอายุ 41-56 ปี) คืองานในองค์กรเอกชน ที่ใหญ่โต ให้เงินเดือนสูง ยิ่งถ้ามีความมั่นคงด้วยแบบงานธนาคาร บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ บริษัทโรงไฟฟ้า ยิ่งเป็นองค์กรใหญ่ก็ยิ่งเป็นงานในฝัน โอกาสในการไต่เต้า (career path) ยังเปิดกว้างเพราะกิจการขยายตัว ทำงานซัก 15 ปีก็ได้ขึ้นเป็นผู้จัดการ ผู้อำนวยการ หลังอายุ 50 ปี มีทั้งเงินเดือนสูง ทั้งตำแหน่งสูง
งานดี ลงทุนเด่น ของคน 4 เจนเนอเรชั่น
แต่ในยุคปัจจุบัน..ความท้าทายคือ องค์กรเอกชนที่ใหญ่และมั่นคง ส่วนมากผ่านช่วงเติบโตสูงสุดไปแล้ว เงินเดือนเริ่มต้นที่เคยสูง กลับไม่สูงอย่างอดีต อีกทั้งโอกาสในการไต่เต้าก้าวหน้าก็ตีบตันลง เพราะคนปลายยุคเบบี้บูมเมอร์ และคนยุคเจน X ตอนต้น ยึดกุมตำแหน่งสำคัญในองค์กรเอกชนใหญ่ ๆ ไว้เกือบหมด แถมในระหว่างทางก็มีความเสี่ยงจากผู้บริหารต่างชาติย้ายมานั่งแทนที่ หรือเสี่ยงที่จะถูกปลด ลดคนลงจากโครงการร่วมใจจาก (Early Retirement) เพื่อลดจำนวนประชากรอายุ 50 กว่า บั้นปลายชีวิตการทำงานที่หลายองค์กรในยุคโควิด เริ่มมองพนักงานเป็นภาระมากกว่าสินทรัพย์องค์กร และที่สำคัญที่สุด อัตราการขึ้นเงินเดือนที่เคยมีอย่างน้อย 10% ในอดีต ตอนนี้ถ้าไม่ได้รับการโปรโมทในตำแหน่งสูง ก็เฉลี่ยขึ้นเงินเดือนกันที่ 1-3% เท่านั้น มิได้จูงใจเหมือนในอดีต
10 ปีก่อน คำว่า “งานดี” ในสายตาคนรุ่นเจนเนอเรชั่น Y (ช่วงอายุ 25-40 ปี) เริ่มเบนออกจากคำว่า “งานประจำ” เพราะการตรากตรำทำงาน 20 ปี กว่าจะได้ลืมตาอ้าปาก คนเจน Y ที่เติบโตมาพร้อมกับการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดคงรอไม่ไหว อีกทั้งงานประจำเอกชนสมัยนี้เงินเดือนขึ้นช้า โบนัสน้อยลงมาก แถมยังมีความมั่นคงในตำแหน่งหน้าที่การงานน้อยลงมาก องค์กรข้ามชาติหลายแห่งนิยมส่งผู้บริหารต่างชาติมาทดแทน องค์กรรุ่นใหม่นิยม Outsourcing งานให้ซับคอนฯ หรือฟรีแลนซ์นอกบริษัททำแทนเพื่อลดต้นทุน หรือแม้แต่ เทคโนโลยีดิสรัปชั่น ทำให้หลายองค์กรใช้เทคโนโลยี ออโตเมชั่น Robotic เพื่อลดจำนวนพนักงานประจำที่ปรับตัวไม่ได้ลง จึงมีข่าวการเลย์ออฟไล่ออกให้ได้ยินเป็นระยะๆ ในช่วงโควิด19 และช่วงเศรษฐกิจไม่ดี
คนเจน Y อยากได้การยอมรับ อยากจับงานใหญ่ อยากแสดงฝีมือพิสูจน์ตัวเอง ต้องการทุ่มเททำงานหนักเพื่อแสดงความสามารถเต็มที่ ทำงานหนัก 5-10 ปี แล้วคุ้มค่ากับการทุ่มเท... นี่จึงเป็นที่มาของอาชีพ “ฟรีแลนซ์” ที่คนทำงานประจำเริ่มออกมารับงานอิสระ คนเก่งได้งานมาก คนไม่เก่งได้งานน้อย... ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย
งานดี ลงทุนเด่น ของคน 4 เจนเนอเรชั่น
คนเจน Y จำนวนไม่น้อยเชื่อว่า สิ่งนี้คุ้มค่าน่าเสี่ยง เพราะถ้าเมื่อไหร่ได้แสดงฝีมือกระทั่งเป็นมือวางแถวหน้าของความเชี่ยวชาญในสายงาน ทั้งเงินและงานจะไหลมาเทมา แทบต้องทำหามรุ่งหามค่ำ ห้ามป่วยห้ามพักกันเลยทีเดียว กระแสการทำงานฟรีแลนซ์เริ่มมีมากขึ้น งานฟรีแลนซ์ที่เรามักได้ยินกันก็หลากหลาย เช่น ถ่ายภาพ พัฒนาโปรแกรม ที่ปรึกษาธุรกิจ วิทยากร กราฟฟิกดีไซน์ 3D อนิเมชั่น โปรแกรมมิ่ง การตลาดและโฆษณา ฯลฯ มีเว็บไซต์ที่เป็นศูนย์กลางหาคนหางานฟรีแลนซ์อย่าง Fastwork (https://fastwork.co/start-selling) โดยสรุป อาชีพฟรีแลนซ์ก็คือ ผู้เชี่ยวชาญในสายอาชีพนั้น ที่ผันตัวเองจากลูกจ้างประจำบริษัท มาเป็นผู้รับจ้างอิสระ
เข้าสู่ยุคปัจจุบัน คนเจนเนอเรชั่นล่าสุดในตลาดแรงงานคือ เจน Z (ช่วงอายุ 9-24 ปี) คนเจน Z เกิดและเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว ทุกอย่างมีความรวดเร็วฉับไว มีโทรศัพท์มือถือทุกบ้านตั้งแต่พวกเขาเกิดไม่นาน พร้อมพัฒนาการของสมาร์ทโฟน เป็นกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์แท็บเลต, สื่อสังคมออนไลน์ (เช่น Facebook, Twitter, IG, Tiktok, LINE), ไม่ชอบเล่นเกมคนเดียว แต่เล่นเกมออนไลน์ที่เล่นบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีผู้เล่นหลายคนพร้อมกัน เป็นคนรุ่นที่ใช้ Search Engine ค้นคว้าข้อมูลอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มหลักที่กำหนด Google Trend หรือแฮชแท็กเทรนด์ทวิตเตอร์ และใช้เวลาในแต่ละวันอยู่บนโลกออนไลน์สูง
คนเจน Y ที่ว่าต้องการความสำเร็จเร็วแล้ว คนเจน Z ยิ่งต้องการความสำเร็จเร็วยิ่งกว่าคนเจน Y ซะอีก แต่นี่ไม่ใช่เพราะเจน Z มีความอยากสำเร็จแบบเลื่อนลอย แต่เพราะพวกเขาทราบดีว่าเขาเกิดมาในโลกยุคที่เปลี่ยนไว ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ (VUCA: Volatility Uncertainty Complexity Ambiguity) ที่ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และเป็นยุคที่เทคโนโลยีดิสรัปชั่นจะทำงานอย่างรุนแรงโดยเฉพาะใน 5 ปีที่ผ่านมาและอีก 10 ปีข้างหน้า แม้จะเป็นเด็กจบใหม่ทำงานไม่ถึง 2 ปี แต่พวกเขารู้ดีว่า วิชาความรู้ที่ได้เรียนมาตลอด 4 ปีจากรั้วมหาวิทยาลัย กว่าครึ่งจะล้าสมัย พวกเขาต้องตามเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา คนขยับตัวช้าจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
หนึ่งในวิธีที่จะสร้างโอกาสให้ชีวิต คือความคิดริเริ่มธุรกิจของตัวเองพร้อมกลุ่มเพื่อนฝูงเป็นทีมเล็ก ๆ และเร่งทำมันให้สำเร็จด้วยกำลังสติปัญญา ความสามารถและเครือข่ายที่มี นี่เป็นยุคสตาร์ทอัพ (Start-Up) ที่เป็นเรื่องของยุคสมัย จนกลายเป็นซีรีย์ดังของเกาหลี สะท้อนช่วงวัยฝันมุ่งสร้างธุรกิจ ที่เป็นหนึ่งงานในฝันของคนเจน Z
หากคนเจน Y คือคนรุ่นใหม่ ที่นิยมลาออกจากงานประจำ มาทำฟรีแลนซ์รับงานอิสระพิสูจน์ฝีมือในโลกกว้าง คนเจน Z คือคนรุ่นใหม่กว่า ที่อาจจะทำงานเพียงแค่ปีสองปีพอให้รู้ระบบ หรืออาจไม่ปรารถนาเข้ามาเริ่มทำงานประจำในระบบเลยด้วยซ้ำ แต่จะมุ่งตรงไปที่การเป็นฟรีแลนซ์ หรือเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพไปเลย
นอกจากมีความฝันหลักในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพกับกลุ่มเพื่อน เจน Z ก็ยังมีความฝันในการทำอาชีพอิสระอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งคนรุ่นก่อนอาจจะฟังแล้วไม่เข้าใจว่า อาชีพพวกนี้ทำงานทำเงินอย่างไรเลยก็ได้ เช่น ยูทูปเบอร์ บล็อคเกอร์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ เกมแคสเตอร์ (นักพากย์เกม) นักกีฬาอีสปอร์ต นักขับโดรน นักวิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ นอกจากนี้ก็อาจจะรับงานอื่น ๆ อีกหลายจ๊อบ ทั้งขายของในไอจี (Instagram), แต่งบ้านตัวเองเป็นพื้นที่ให้เช่าใน AirBnB และรับติววิชาภาษาเกาหลีให้กลุ่มนักเรียนม.ปลายทางออนไลน์ โดยงานทุกชิ้นใช้ “เทคโนโลยี” และมี “อินเทอร์เน็ต” เป็นเครื่องมือสำคัญ เทรนด์นี้มาถึงแล้วในหลายประเทศ และจะทวีความสำคัญต่อคนรุ่นใหม่อย่างมากในอนาคต
งานดี ลงทุนเด่น ของคน 4 เจนเนอเรชั่น
ในแง่การลงทุน คนแต่ละรุ่นมีความเชื่อในสินทรัพย์การลงทุนที่ไม่เหมือนกัน
เจน BB Baby Boomer
  • เติบโตมาพร้อมกับการทำงานหนัก มีความอดทนสูง มีความประหยัดและรอบคอบ
  • สินทรัพย์ลงทุนของคนเจนนี้ ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้และใช้ประโยชน์ได้ เช่น ทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ อัญมณี ที่ดิน บ้าน สวนเกษตร และบางคนก็ชอบสะสมสินทรัพย์ลงทุนทางเลือก อย่าง ภาพเขียน งานศิลปะ นาฬิกา พระเครื่อง ของโบราณ ฯลฯ
  • ปัจจุบันคนกลุ่มนี้เริ่มเข้าสู่วัยชรากันแล้ว แม้แต่เจน BB ที่เด็กที่สุดก็กำลังจะเกษียณภายใน 3 ปีนี้ ดังนั้นแผนการออมเงินเพื่อเกษียณอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนจึงวางแผนออมเงินเก็บไว้ในรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำ เน้นความมั่นคง เช่น เงินฝากประจำ พันธบัตร ประกันชีวิตแบบบำนาญ ตราสารหนี้เอกชน เป็นต้น
เจน X
  • เติบโตมาในยุคที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มคนวัยทำงานที่อยู่ในช่วงสร้างครอบครัว อยู่ในช่วงอายุที่หาเงินได้มาก แต่ก็มีภาระต่าง ๆ มากตามวัยเช่นกัน เป็นเจนที่ยังมีความเชื่อเรื่องการมีบ้านมีรถเป็นของตนเอง เป็นคนรุ่นท้าย ๆ ที่ยังนิยมซื้อบ้านหลังที่สอง รวมทั้งที่ดินเปล่ามาเก็บไว้ในแง่การลงทุน
  • คนเจนนี้ ส่วนใหญ่จัดสรรเงินออมสมดุลกับการใช้ชีวิตของตัวเอง มีการลงทุนที่สม่ำเสมอผ่านการทำงานในองค์กรระยะยาว โดยเฉพาะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประหยัดภาษีอย่าง SSF และ RMF เพื่อเป็นเงินออมเตรียมการเกษียณอายุ ส่วนที่เหลือค่อยแบ่งมาลงทุนสร้างผลตอบแทนที่งอกเงย เช่น หุ้น หรือ กองทุนรวมหุ้น และบางกลุ่มเริ่มสนใจลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสด เช่น ลงทุนในกอง REIT ลงทุนในสินทรัพย์ให้เช่า ลงทุนในหุ้นปันผลสูง เป็นต้น
เจน Y
  • เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว เล่นโซเชียลมีเดีย มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ยึดติดกับค่านิยมเดิม ๆ มีความเชื่อเรื่อง work life balance ต้องการทำงานไป เที่ยวไป และลงทุนไป อย่างสมดุล
  • เจน Y กล้าใช้เงินไปกับการท่องเที่ยว กินดื่มราคาแพง (กว่าเจน X) กล้าได้กล้าเสีย ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จึงเป็นกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่ใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้น กล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น หุ้นต่างประเทศ ETF ต่างประเทศ หรือแม้แต่เครื่องมือการลงทุนที่มีการ Leverage อย่าง TFEX DW Option ยินดีรับความเสี่ยงได้มากกว่า เพื่อผลตอบแทนที่งอกเงย
เจน Z
  • เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายในยุค Digital Transformation เรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้รวดเร็ว มีความเชี่ยวชาญในโลกออนไลน์ ชื่นชอบความสะดวกสบาย และความรวดเร็ว
  • เป็นกลุ่มที่เข้าถึงการลงทุนได้ง่ายและรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เปิดบัญชีหุ้นออนไลน์ เปิดบัญชีกองทุนออนไลน์ เปิดบัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงออนไลน์ (e-saving) และติดตามข่าวสารการลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook YouTube Twitter และสื่ออื่น ๆ
  • ด้วยความที่เป็นเจนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน มีความอิสระสูง รายได้จึงถูกนำมาใช้ในส่วนของการเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตและเหลือจากนั้นจึงนำมาลงทุน ทำให้เม็ดเงิน เจน Z นี้จึงยังมีไม่มากในระบบ แต่ความกล้าเสี่ยง กล้าทดลองมีมากกว่าทุกเจน กล้าลงทุนกับสินทรัพย์ใหม่ ๆ อย่าง คริปโทเคอร์เรนซี หลากหลายสกุลอย่าง Bitcoin Ethereum XRP Dogecoin ฯลฯ รวมทั้งหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศก็อยู่ในขอบข่ายความสนใจเช่นกัน
การลงทุนในแต่ละเจนเนอเรชั่น แม้จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งสำคัญก็เพื่อให้เงินทำงาน และเป้าหมายชีวิตวัยเกษียณที่เป็นสุข มีความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก: -
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Follow us on
ลงทะเบียนรับข่าวสาร
บริการส่งข้อมูลความรู้ ให้ลูกค้าธุรกิจผ่านอีเมล์
บริการจัดส่งบทวิเคราะห์และข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจผ่านทาง E-mail
  • บทวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสัปดาห์จากศูนย์วิจัยกรุงศรี
  • ผลการสำรวจดัชนีภาวะธุรกิจ SME รายไตรมาส โดยกรุงศรี
  • ข่าวสาร และกิจกรรมของธนาคาร
  • บริการทางการเงิน และโปรโมชั่นใหม่ๆ ของธนาคาร
Powered by
© 2567 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
Follow