ในฐานะที่ผู้เขียนเป็น Social Media Influencer คนหนึ่งเหมือนกัน การที่จะเขียนถึงอาชีพนี้ก็ถือเป็นความท้าทายไม่ใช่น้อย แต่ด้วยการเติบโตของวงการ Influencer ที่เพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นเรื่อง ‘การเงิน’ และรายได้ของอาชีพนี้ก็เป็นที่จับตามองของหลาย ๆ คน วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจอาชีพ Influencer และเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของพวกเขากัน
ก่อนจะไปถึงคำถามที่ว่าพวกเขาทำเงินกันได้เท่าไร เรามาย้อนดูที่มาของอาชีพนี้กันหน่อย จริง ๆ แล้วคำว่า Influencer ไม่ได้มีขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่มันมาในรูปแบบของ ‘ต้นแบบ’ หรือ ‘role model’ ในสังคมของช่วงเวลานั้น ๆ มีคนเขียนบทความเล่าถึงที่มาของคำนี้ไว้อย่างละเอียด ถึงสมัยปี ค.ศ. 1760 ตั้งแต่ยุคช่างปั้นเซตถ้วยชาที่ทำเซตถ้วยชาพิเศษให้พระราชินี Queen Charlotte ขยับมาถึงเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงพลังของการเป็น Influencer ที่ชัดเจนอย่างทรงผมของ Jennifer Aniston เมื่อปี 1997 ที่ทำให้ทุกคนแห่ไปตัดทรงนั้นตาม สิ่งเหล่านี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวของคนทั่วไป ถ้าเราไม่ใช่ศิลปินดารานักร้องที่มีชื่อเสียง เราก็คงไม่น่าจะไป Influence ใครได้เท่าไรนัก
แต่แล้วภาพของวงการ Influencer ก็ค่อย ๆ ชัดเจน เมื่อเรามีสิ่งที่เรียกว่า Blog ในช่วงปี 2000 ต้น ๆ ที่อินเทอร์เน็ตเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมีพื้นที่โปรโมทตัวเอง (ถ้าเทียบแบบไทย ๆ คือยุคไดอารี่ออนไลน์ อย่าง Storythai อะไรอย่างนั้น) หลาย ๆ คนกลายเป็น Blogger ที่มีชื่อเสียงด้วยสไตล์ และ Content ของตัวเอง จนถึงปัจจุบันที่แบรนด์ต่าง ๆ หันมาพึ่ง Influencer partnerships หาตัวกลางที่เชื่อมแบรนด์เข้ากับ Influencer เหล่านี้เพื่อโปรโมทสินค้าของตัวเอง และแลกด้วยค่าจ้างในรูปแบบของเงิน หรือของสมนาคุณอื่น ๆ
แม้ช่วงแรกการโพสต์รูปหรือบทความลงบน Social Media Platform จะถูกแปลงมาเป็นจำนวนเงินที่ชัดเจนได้ยาก แต่ Digital Agency หลายที่ก็สามารถหาวิธีกำหนดเรตราคา (รวมถึง Social Media Platform ทั้งหลายเอง ไม่ว่าจะเป็น Youtube, Facebook หรือ Instagram ก็จัดแจงเตรียมข้อมูลเชิงลึกให้พร้อมใช้ประโยชน์เชิงการตลาด) แบรนด์ผู้จ้างเองก็สามารถตรวจสอบได้ว่าเขาได้เงินกลับจากการจ้างเท่าไร มีตัวเลขจากปี 2019 ที่ระบุว่าทุก ๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐที่แบรนด์จ่ายให้กับเหล่า Influencer ในการโปรโมท แบรนด์ทำเงินจากโพสต์เหล่านั้นได้ 5.20 ดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว
แต่รายได้ที่เหล่า Influencer แต่ละคนได้ก็ต่างกันไปขึ้นอยู่กับตัวเลขหลายตัว อย่างจำนวนยอดคนติดตาม จำนวนคนกดไลก์ ไปจนถึงเปอร์เซ็นต์ Engagement Rate ซึ่งถ้าใครอยากลองเข้าไปเสิร์ชดูเล่น ๆ ว่า Instagram Account ไหน ‘น่าจะ’ ได้เงินค่าจ้างเท่าไร ก็ลองเข้าไปเสิร์ชผ่านเว็บนี้
https://influencermarketinghub.com แต่ต้องขอย้ำว่าตัวเลขนี้เป็นการ ‘คาดการณ์’ เท่านั้น เพราะเรตต่าง ๆ ยังขึ้นอยู่กับแบรนด์, โลเคชั่น, และปัจจัยอื่น ๆ ด้วย
จากบทสัมภาษณ์เจ้าของ Media Agency จากแคนาดา ‘Viral Nation’ ในเว็บไซต์
Vox เมื่อปี 2018 ระบุว่าถ้า Account นั้น ๆ อยู่ในระดับ Micro-influencer คือมียอดผู้ติดตามใน Instagram อยู่ที่ 10,000-50,000 คน สามารถได้รับค่าจ้างอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ ส่วนถ้าเป็น Account ที่มียอดผู้ติดตามถึงล้าน ก็สามารถทำเงินได้ถึง 10,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์เลยทีเดียว (และแน่นอน ยังมีบุคคลอย่าง Kylie Jenner ที่ทำเงินได้ถึง 1,266,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ หรือประมาณ 37 ล้านบาทไทย ข้อมูลจาก
https://www.hopperhq.com)
เอาเป็นว่าอาชีพ Influencer ก็ถือเป็นอาชีพที่ทำเงินได้พอสมควร และอาจจะกลายเป็นอาชีพในฝันของเยาวชนยุคถัดไปได้ง่ายเหมือนกัน แต่อีกมุมที่อาจจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงสักเท่าไร (เพราะมักจะมีแต่คนถามว่าเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้เงินเท่าไรมากกว่า) คือประเด็นการบริหารเงินของอาชีพนี้นี่ล่ะ แม้ดูเผิน ๆ จะคล้ายกับอาชีพฟรีแลนซ์ทั่วไป แต่ด้วยรายรับที่บางทีก็น้อย บางทีก็สูงจนน่าตกใจ หลักฐานการรับจ้างจากบริษัทที่อาจจะได้รับความน่าเชื่อถือแตกต่างกันไป รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ของชาว Influencer ที่ต้อง Keep Look ให้ดูปังตลอดเวลาบน Social Media ก็อาจจะสร้างปัญหาได้เหมือนกัน
ทำให้ปัจจุบันเราเห็นบริษัทหน้าใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุน และแก้ไขปัญหาให้เหล่า Influencer นอกจาก Digital Agency แล้ว ยังมีบริษัทบริหารการเงินให้กับเหล่า Influencer โดยเฉพาะ อย่าง ‘Semaphore’ บริษัทจากแคลิฟอร์เนีย ที่ตอนแรกเป็นที่ปรึกษาด้านธุรกิจ แต่ปัจจุบันผันตัวมาให้บริการด้านการจัดการภาษี บัญชีให้กับ Influencer และยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ช่วยเชื่อมต่อ Influencer เข้ากับแบรนด์ด้วย เรียกได้ว่าทำทุกหน้าที่ที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของอาชีพ Influencer เลยทีเดียว Spencer Donnelly หรือ Youtuber ที่ใช้ชื่อว่า TheRussianBadger ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Wired ว่าเขาจ่ายเงินรายเดือนให้กับบริการอย่าง Semaphore “พวกเขาจัดการเอกสารทุกอย่างของบริษัทคุณ รายงานการประชุม เงินภาษี เอกสารที่ต้องยื่นกับองค์กร การกระจายผลกำไร เงินเดือนพนักงาน ทุกอย่างเลย” ซึ่งการให้ Semaphore มาบริหารการเงินและจัดการด้านบัญชีของเขา ช่วยเซฟเงินภาษีที่ต้องจ่ายได้เกือบห้าแสนเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
อีกหนึ่งสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่เข้ามาตอบโจทย์ให้วงการ Influencer แบบชัดเจน คือ Karat พร้อม โปรดักต์เปิดตัวอย่าง Karat Black Card บัตรเครดิตสำหรับ Influencer โดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าฉลาดและมองเกมขาดมาก ๆ เพราะด้วยความที่ Influencer ไม่ได้มีตำแหน่งการทำงานที่ผูกกับบริษัทใดชัดเจน และอาจส่งผลทำให้การขอวงเงินบัตรเครดิตนั้นยากขึ้น (แม้จะมีเงินให้ใช้เยอะ) ในขณะที่การใช้จ่ายแบบไลฟ์สไตล์ของ Influencer ก็ต้องอาศัยความหรูหราแบบรูดบัตรได้วงเงินเยอะ ๆ อีก ทำให้ Karat Black Card เปิดวงเงินเริ่มต้นให้ถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเปิดโอกาสให้ Influencer ปรับแต่งสิทธิประโยชน์จากบัตรได้เอง เช่น ถ้าเป็น Gamer ก็สามารถรับ cash back จากบริการ Steaming หรือ Beauty Blogger ก็สามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์จากการซื้อของแทน โดยการสมัคร Karat ก็ไม่ได้แคร์ Credit Scoring อะไรเท่าไร แต่กลับสนใจยอดผู้ติดตามในแต่ละ Platform ของเจ้าของบัตรมากกว่า
มีรายงานที่ระบุว่า Influencer Marketing จะเติบโตขึ้นจนมีมูลค่าสูงถึง 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 นี้และมีท่าทีจะโตขึ้นอีกเรื่อย ๆ ด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เรามีโอกาสได้เห็น Startup ทางการเงินหน้าใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทในวงการ Influencer ต่อไปในอนาคตได้เช่นเดียวกัน