ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 Ida Tin เจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพที่โฟกัสไปที่สุขภาพร่างกายของผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างแอปพลิเคชัน “Clue” ได้ไปเข้าร่วมประชุม TechCrunch Disrupt ในซานฟรานซิสโก และสังเกตเห็นว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักจะมีหมวดหมู่ของมันชัดเจน และเป็นที่คุ้นหูของหลายๆ คน อย่าง Fintech ที่เป็นสายการเงิน หรือ Cleantech (เทคโนโลยีสะอาด) ก็ตาม แต่ทำไมสตาร์ทอัพในหมวดการดูแลตนเองของผู้หญิง เช่นเดียวกับแอปพลิเคชันของเธอ จึงไม่มีชื่อเรียก และดูกระจัดกระจายไม่เป็นหมวดหมู่ชัดเจนเหมือนคนอื่น
ตอนนั้นเองที่ Ida Tin ตัดสินใจสร้างคำศัพท์ใหม่ที่ชื่อว่า Femtech ซึ่งหมายถึง นวัตกรรมที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พัฒนา และผลักดันกระแสการดูแลสุขภาพร่างกายของผู้หญิงโดยเฉพาะ จนมาถึงในปัจจุบัน ที่มีรายงานจาก Research2Guidance ระบุว่าบริษัทที่จัดว่าอยู่ในหมวด Femtech นั้น สามารถระดมเงินลงทุนได้มากถึง 220 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่ปี 2011 และมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขจะเติบโตไปถึง 297 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2024 เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นบริษัทเหล่านี้ถือว่าน่าจับตามองสำหรับคนที่อยากลงทุน และอินกับเทคโนโลยีที่ใกล้ตัวสาว ๆ มากขึ้น วันนี้จูนเลยหยิบเอาแบรนด์ในหมวด Femtech ที่น่าสนใจมาให้ทำความรู้จักกันคร่าว ๆ ดังนี้ค่ะ
Peanut
หนึ่งในวงสังคมที่แน่นแฟ้นและแข็งแรงมาก ๆ คือสังคมคุณแม่ ยิ่งคุณแม่มือใหม่ที่ต้องการหาข้อมูลการเลี้ยงลูก ไปจนถึงเพื่อนที่สามารถแชร์ประสบการณ์ร่วมกันได้ Peanut ทำหน้าที่เป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยให้เหล่าแม่ ๆ มาพูดคุย พบปะนัดเจอ กับคนกลุ่มเดียวกัน เปรียบเทียบแล้วน่าจะคล้าย ๆ กับ Tinder แต่แทนที่จะเลื่อนหาคนโสด แต่เป็นการหาเพื่อนให้กับคุณแม่ ที่มีความชอบ ความสนใจตรงกัน และอยู่ในละแวกบ้านเดียวกันแทน โดย Peanut ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ในลอนดอน โดยหนึ่งในผู้ก่อตั้งก็เป็นผู้หญิงเหมือนกันคือ Michelle Kennedy ซึ่งแอปพลิเคชันนี้ยังติดลิสต์ Best App of 2017 ของ Apple ด้วย
Emjoy
เรื่องเพศและความสุขทางเพศอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สาว ๆ หรือคนทั่วไปกล้าเอามาพูดกันตรง ๆ เท่าไรนัก แต่สิ่งเหล่านี้กลับเป็นต้นตอสำคัญที่จะพาเราไปสู่การให้เกียรติตัวเอง ความมั่นใจในตัวเอง และการยอมรับตัวเอง Emjoy จึงเข้ามาทำหน้านี้ช่วยให้ผู้หญิงหันมาใส่ใจกับความรู้สึกเรื่องเพศของตัวเองมากขึ้น ผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้ เสียง เป็นตัวช่วยให้ร่างกายและจิตใจของสาว ๆ ทำงานเกี่ยวกับเพศได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โดยในแอปพลิเคชันก็จะแบ่งเป็นเพลย์ลิสต์ที่สามารถเปิดฟังได้ ตั้งแต่หัวข้อที่เป็นการให้ความรู้อย่างการดูแลร่างกายตนเอง ไปจนถึงคำแนะนำที่ช่วยให้เรามีความมั่นใจในร่างกายของตนเองมากขึ้น ซึ่ง Emjoy ร่วมก่อตั้งขึ้นโดย Andrea Oliver ในเมืองบาร์เซโลนาและระดมทุนได้ถึง 1 ล้านยูโรในเดือนกรกฎาคมปี 2019
Ava
นอกจากแอปพลิเคชันแล้ว Femtech ยังมาในรูปแบบนวัตกรรมที่จับต้องได้ด้วย Ava เป็นกำไลข้อมือที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการออกแบบเพื่อช่วยให้ผู้หญิงรู้ระยะวันไข่ตก (ovulation) ของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น และเพิ่มโอกาสที่จะมีบุตรได้มากขึ้น ซึ่งมีการรับรองว่าได้ความแม่นยำถึง 89% ซึ่งวิธีการก็ง่ายมาก ๆ คือใส่กำไลข้อมือ Ava ขณะนอนหลับ จากนั้นเมื่อตื่นมา ให้ซิงค์ข้อมูลเข้ากับแอปพลิเคชัน โดยแอปพลิเคชันจะทำการประเมินวันที่เหมาะสมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์เพื่อการมีบุตรมากที่สุด 5 วัน ซึ่งกำไลข้อมือตัวนี้จะวัดข้อมูลอย่างอุณหภูมิชั้นผิวหนัง การหายใจ และการเต้นของหัวใจ เป็นต้น Ava ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในสวิสเซอร์แลนด์ และระดมเงินลงทุนได้ถึง 42 ล้านยูโรเลยทีเดียว
Tia
Tia เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มหน้าใหม่ที่ได้รับความสนใจ และเก๋ที่สุดในยุคนี้ เพราะนอกจากจะเป็นแบรนด์สัญชาติอเมริกันก่อตั้งโดยสองสาว Carolyn Witte และ Felicity Yost แล้ว ล่าสุด Tia ยังขยับจากแอปพลิเคชันเล็ก ๆ ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพของผู้หญิงทั้งแบบ Virtual และ In-person อย่างเต็มตัว
ก่อนหน้านี้ Tia เป็นแอปพลิเคชันที่ตามแทรคช่วงรอบเดือน ช่วงอารมณ์เหวี่ยงของสาว ๆ ไปจนถึงอาการทางร่างกายอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากฮอร์โมน โดยมาในรูปแบบของการแชทส่งข้อความคุยกันกับ Health Advisor ของตัวเอง และยังมีออพชั่นอื่น ๆ อย่างการที่ผู้ใช้งานสามารถทักไปบ่นได้ว่า “ทำไมช่วงนี้ท้องป่องจัง” แล้วระบบก็จะหาคำตอบมาให้ทันที ซึ่งล่าสุด Tia ได้เปิดคลินิกจริง ๆ ทั้งใน Los Angeles และ New York พร้อมกับให้บริการแบบสมาชิกรายเดือน สำหรับสาว ๆ ที่อยากพบแพทย์ส่วนตัวได้ด้วย
Clementine
บริษัท Femtech จากลอนดอนที่ได้เงินลงทุน 1 ล้านจากเฟิร์ม Fortunis Capital และยังได้รับตำแหน่ง top 20 UK Impact Investment Fund ด้วย โดย Clementine เป็นแอปพลิเคชันด้านการดูแลจิตใจ และสภาพอารมณ์ของผู้หญิง ซึ่งส่งผลที่ดีต่อความมั่นใจในการทำงาน โดยผู้ก่อตั้ง Kim Palmer ระบุไว้ว่า Clementine เป็นมากกว่าแค่แอปพลิเคชัน แต่เป็น movement ยิ่งในช่วงที่โลกกำลังเจอกับโรคระบาด สิ่งนี้คือสิ่งที่ผู้หญิงเราต้องการจริง ๆ โดย Clementine ใช้วิธีอย่าง hypnotherapy (การสะกดจิตบำบัด) และการบำบัดการนอน เพื่อพัฒนาสภาพอารมณ์และจิตใจของผู้ใช้งาน
นอกจาก 5 บริษัท femtech เหล่านี้แล้ว ยังมีอีกกว่า 200 บริษัทรอบโลกที่จัดอยู่ในหมวดหมู่ Femtech ซึ่งก็มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าการเติบโตของบริษัทเหล่านี้ จะส่งผลที่ยิ่งใหญ่ต่อวงการ Healthcare และมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนี้
อย่างไรก็ตามในเว็บไซต์ของ Forbes ก็มีการเขียนถึง Femtech ไว้ว่า “คำว่า Femtech เป็นเสมือนกล่องที่ครอบวงการสุขภาพของผู้หญิงเอาไว้ในที่เล็ก ๆ โฟกัสในสิ่งที่ยุ่งเหยิงอย่าง ประจำเดือน หรือการคุมกำเนิด และทำให้วงการสุขภาพของผู้หญิงกลายเป็นเรื่อง niche และเฉพาะกลุ่มจนเกินไป ทั้ง ๆ ที่สุขภาพของผู้หญิงส่งผลกระทบต่อประชากรกว่าครึ่งบนโลกโดยตรง และอีกครึ่งหนึ่งทางอ้อม ทำไมเราถึงไม่หันมาเรียกมันว่า “การรักษาสุขภาพ” เฉยๆ กันล่ะ?
แล้วคุณมีความเห็นคิดอย่างไรกับธุรกิจเพื่อผู้หญิงอย่าง Femtech กันบ้าง?