หลายคนอาจจะคุ้นหูคุ้นตากับคำว่า
“เงินเฟ้อ” หรือ Inflation ที่เราพบในชีวิตประจำวัน จากคนดัง ๆ ในโซเชียลบอกว่าชีวิตการเงินเริ่มแย่แล้ว หรือเรื่องของสมาร์ทโฟนจาก Apple ที่ในปีนี้ราคาเปิดตัวแพงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ทั้ง ๆ ที่ราคาในต่างประเทศเท่าเดิม ถึงจะได้ยินมาเยอะแต่อาจจะยังไม่เข้าใจถึงความหมายของคำว่าเงินเฟ้อจริง ๆ ขนาดนั้น ข้าวของแพงขึ้นมันดีหรือไม่ดีกันแน่? หรือบางคนอาจจะเข้าใจว่าเงินเฟ้อคืออะไรแต่ยังมองภาพไม่ค่อยออกว่าแล้วมันสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันยังไง แล้วจะปรับตัวยังไงถ้าหากได้รับ
ผลกระทบจากเงินเฟ้อ
วันนี้มาลองไขข้อสงสัยเรื่องของเงินเฟ้อกันดีกว่า…
เงินเฟ้อ (Inflation) คืออะไร?
มาทำความรู้จัก “เงินเฟ้อ” กันเลยดีกว่า เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้า และบริการโดยทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในเชิงของมูลค่าของเงินกลับต่ำลงไปนั้นเอง คิดง่าย ๆ เงิน 100 บาทในวันนี้ มูลค่ามันน้อยกว่าในปีที่แล้วนั่นเอง
ตัวอย่างเรื่องเงินเฟ้อแบบเห็นชัดๆ
เพื่อให้เห็นภาพเงินเฟ้อแบบชัด ๆ ขอยกตัวอย่างเป็นราคาของโทรศัพท์ iPhone กันดีกว่า เพราะปัญหาเงินเฟ้อนี่ล่ะที่ทำให้ใครหลายคนต้องควักเงินซื้อสินค้าจาก Apple แพงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะราคา iPhone 13 มีราคาเปิดตัวในปี 2021 อยู่ที่ 799 ดอลลาร์ เทียบกับเงินบาทในตอนนั้นคือ 29,900 บาท
แต่ในปี 2022 iPhone 14 ก็มีราคาเปิดตัวในสกุลดอลลาร์ ที่เท่ากัน แต่เอ๊ะ! ทำไมราคาขายในบ้านเรามันสูงถึง 32,900 บาท ที่ราคาของ iPhone แพงขึ้นกว่าปีที่แล้วนี่ล่ะ คือผลที่ตามมาของปัญหาเงินเฟ้อ ลามมาจนทำให้
เงินบาทอ่อนค่า เราจึงต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าแพงขึ้นกว่าเดิมเยอะเลย
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อก็ไม่ได้แย่เสมอไป เพราะว่าตามทฤษฎีแล้ว เงินเฟ้อจะทำให้ผู้คนรู้สึกว่ามีเงินเพิ่มขึ้น คนซื้อก็จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งคนขายก็อยากจะเพิ่มการผลิตเพื่อนำไปขายมากขึ้น เศรษฐกิจก็เติบโตด้วยนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้ว อัตราเงินเฟ้อจะถูกควบคุมโดยธนาคารกลาง หรือธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านนโยบายการเงิน เพื่อไม่ให้เพิ่มขึ้นและเพื่อไม่ให้เกิดความผันผวนของค่าเงินที่เกิดจากเงินเฟ้อมากจนเกินไป ไม่งั้นจะเกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) เหมือนประเทศเวเนซุเอลาที่เงินแทบจะไร้ค่าไปเลยนั้นเอง เงินกองใส่กะละมัง แต่ซื้อได้แค่ไข่ไก่ 1 ฟองเหมือนที่เราเคยเห็นในข่าวนั่นล่ะ
สาเหตุการเกิดเงินเฟ้อมีอะไรบ้างนะ?
1. ประชาชนต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand – Pull Inflation)
โดยที่ประกอบกับสินค้า และบริการนั้น ๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นไปตาม ๆ กัน ตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้า EV ตอนนี้มีคนต้องการมากขึ้น แต่ของกลับมีขายในตลาดน้อย ทำให้โชว์รูมรถ ต้องขยับราคาขายขึ้นไป ทำให้รถไฟฟ้า EV มีราคาแพงขึ้น ใครที่อยากได้ก็ต้องจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อให้ได้สินค้านั้นมา
2. ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost – Push Inflation)
คือผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงส่งผลให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นนั้นเอง ตัวอย่าง ร้านอาหารเมื่อก่อนเราเคยกินที่ราคา 40 บาท แต่ผลของเงินเฟ้อ ทำให้วัตถุดิบ เนื้อสัตว์ ผัก เครื่องปรุง เพิ่มราคา อาหารในแต่ละเมนูต้องขยับราคาเพิ่มขึ้น เพื่อให้พอดีกับราคาต้นทุนนั่นเอง
เมื่อมีการเพิ่มก็ต้องมีการลดลงบ้างเมื่อถึงจุดที่ควร ดังนั้นหัวข้อถัดไปจะเป็นการพูดถึง “ภาวะเงินเฟ้อลดลง”
ภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) คือ การชะลอตัวของภาวะเงินเฟ้อที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไป หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ
ตัวอย่างเช่น ในปีแรก อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% แต่ปีถัดไป อัตราเงินเฟ้อตกไปที่ 1.5% เป็นสัญญาณของภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงนั้นเอง
โดยที่เงินเฟ้อจะแตกต่างจากเงินฝืด (Deflation) ที่เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการโดยทั่วไปต่ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และตัวเลขของอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 0% หรืออัตราเงินเฟ้อติดลบ สรุปคือเงินฝืดจะตรงกันข้ามกับเงินเฟ้อ (Inflation) โดยสิ้นเชิงเลย
แต่เมื่อเราเป็นคนธรรมดา มนุษย์เงินเดือนที่ต้องพบเจอกับปัญหาเงินเฟ้อ ปฏิเสธไม่ได้แน่นอนว่ามีผลกระทบโดยตรงอยู่แล้ว และมันพอที่จะมีทางออก หรือการปรับตัวยังไงดีล่ะใน “สภาวะเงินเฟ้อแบบนี้”
ผลกระทบที่ประชาชนทั่วไปจะได้รับจากเงินเฟ้อเลยก็คือ
รายจ่าย หรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อที่ลดน้อยลง มีความสามารถในการจับจ่ายซื้อสินค้า และบริการได้น้อยลง และนั่นอาจจะนำไปสู่การที่รายได้ที่ได้รับ หรือเงินที่หามาได้ ไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตประจำวันนั้นเอง ซึ่งเมื่ออัตราเงินเฟ้อยิ่งสูง จะมีผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า "อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง" จะมีค่าลดลงไปด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับน้อยลง เป็นที่เหตุทำให้เอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง ดังนั้นเมื่อรู้ถึงผลกระทบของเงินเฟ้อกันไปแล้ว ต่อไปเราไปดูถึงวิธีรับมือกับเงินเฟ้อกันต่อเลย...
4 วิธีรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ที่ไม่ว่าใครก็ทำได้
1. วางแผนการลงทุน
ในสถานการณ์ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อ จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งการวางแผนการลงทุน โดยนำเงินที่มีไป
ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น ลงทุนหุ้น, ลงทุนในกองทุนรวม หรือลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ประเภท บ้าน หรือคอนโด เป็นต้น
แต่การลงทุนในสินทรัพย์ใดก็ตามที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่านั้น ก็มักจะตามมาด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุนกันด้วยนะ
2. ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง
การเลือก
ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและปลอดภัย เช่น "ทองคำ" เพราะทองคำนับว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเองเสมอ และไม่เสื่อมสภาพตามกาลเวลา เช่น หากลงทุนเป็นทองคำแท่ง เมื่อเกิดเหตุจำเป็นต้องการใช้เงิน ก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเงินสดได้นั้นเอง
3. หลีกเลี่ยงการก่อ ‘หนี้เสีย’
หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่ทำให้เกิดรายได้หรือมีแต่สร้างหนี้เสียนั่นเอง โดยที่ควรมีความยั้งคิดยั้งทำในทุก ๆ ครั้ง ที่จะควักเงินออกจากกระเป๋า หลีกเลี่ยงการซื้อของที่ไม่จำเป็น และควรมีการวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้น หรือถ้าต้องจำเป็นต้องมีหนี้แล้วจริง ๆ ก็ควรสร้างหนี้ทีละก้อน และไม่ควรให้หนี้มีมากกว่า 30-40% ของรายได้ที่เราได้รับ จะได้มีสภาพคล่องทางการเงินอยู่บ้าง หากมีเงินหลังจากจ่ายหนี้ก็เอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
4. ติดตามข่าวสาร
ควรติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพราะเรื่อง "เงินเฟ้อ" ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน และการดำรงชีพของเราทุกคนอย่างมีนัยยะสำคัญเสมอ ควรติดตามภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมและรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
สรุปแล้ว ภาวะเงินเฟ้อ คือเมื่อความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ราคาสินค้าและบริการก็สูงขึ้น ถ้ามองอีกแง่มุมนึง เงินเฟ้อในระดับที่พอเหมาะจะดีต่อสภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้าเงินเฟ้อมากเกินไป ก็จะเป็นปัญหาแก่ประชาชนทั่วไป ที่ต้องคอยหาแนวตั้งรับกับภาวะเงินเฟ้อเหล่าหนี้ให้ได้เพื่อปากท้อง และความอยู่รอด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าใครยังไม่รู้ว่าจะลงทุนอะไร และที่ไหนดี กรุงศรีพร้อมให้คำปรึกษา และอยู่เคียงข้างเสมอไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อ หรือสถานการณ์ไหนก็ตาม แล้วพวกเราจะผ่านเหตุการณ์แบบนี้ไปด้วยกัน