จูนมักได้ยินคนทักบ่อย ๆ ว่าหน้าเหมือนกับแฟนมาก บ้างก็บอกว่ายิ่งคบกันนาน ยิ่งหน้าเหมือนกันมากขึ้นไปทุกวัน เช่นเดียวกับคนอีกหลาย ๆ คู่ที่มักถูกทักว่า “หน้าเหมือน
คนรักของตัวเอง” ซึ่งความสงสัยนี้ก็เป็นที่มาให้เกิดการศึกษาตามมาหลายชิ้นเพื่อหาคำตอบว่า คนคบกันหน้าเหมือนกันจริงรึเปล่า มันเหมือนตั้งแต่ต้น หรือยิ่งคบกันยิ่งเหมือน?
ความน่าจะเป็นแรกเลยคือ เราอาจจะดึงดูดคนที่มีอะไรคล้าย ๆ กันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว Justin Lehmiller นักจิตวิทยาสังคมที่เป็นที่รู้จักจากผลงานการศึกษาด้านความสัมพันธ์ และเซ็กส์ เจ้าผลงานหนังสืออย่าง Tell Me What You Want: The Science of Sexual Desire and How It Can Help You Improve Your Sex Life and The Psychology of Human Sexuality เคยกล่าวไว้ว่า อะไรที่ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคย มักจะเป็นอะไรที่สามารถดึงดูดเราได้ เช่นเดียวกันกับที่เราอาจจะเผลอมองหาคนรักที่มีอะไรคล้าย ๆ กันกับเรา
ไม่นานมานี้ยังมีผลการศึกษาเมื่อปี 2010 ที่ให้ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนความสวยหล่อจากภาพถ่ายของบุคคลแปลกหน้าที่ถูกจัดหามาให้แบบแรนดอม โดยบางภาพถ่ายจะถูกตัดเข้าภาพพ่อหรือแม่ของผู้เข้าร่วมการทดลองนั้น ๆ แบบชั่วแวบเดียวแทรกเข้ามา และทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองให้คะแนนความสวยหล่อของบุคคลแปลกหน้านั้น ๆ สูงกว่าคนอื่น ๆ จึงทำให้เกิดบทสรุปว่ามนุษย์จะรู้สึกดึงดูดกับบุคคลที่มีความคล้ายคลึงกับผู้ปกครองเพศตรงข้ามของตัวเอง!
แต่บางคนอาจจะเถียงว่าตอนคบแรก ๆ หน้าก็ไม่ได้เหมือนกันนะ? แต่คบไปเรื่อย ๆ ต่างหากที่จะเริ่มมีคนทัก เพราะฉะนั้นเลยมีอีกหนึ่งผลการศึกษาที่ถูกหยิบมายกตัวอย่างอยู่บ่อยครั้งเมื่อพูดถึงประเด็นนี้ นั่นคือการศึกษาเมื่อปี 1987 ที่ใช้ชื่อว่า “Convergence in the physical appearance of spouses” โดยใช้หลักฐานจากรูปภาพของคู่รักที่แต่งงานกันเมื่อ 25 ปีก่อนหน้านั้น เทียบกับภาพล่าสุดในช่วงระยะเวลาของการศึกษาเพื่อเปรียบเทียบความเหมือนบนใบหน้าของคนทั้งคู่ ซึ่งผลก็ออกมายืนยันว่าความเหมือนกันบนใบหน้าของคู่รักเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นหลังจากใช้ชีวิตคู่หลังสมรสมาได้ 25 ปีจริง ๆ แถมยังมีความเชื่อมโยงกันระหว่างความหน้าเหมือน และความสุขในชีวิตสมรสอีกด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ ยิ่งหน้าคล้ายกันไปเท่าไร ก็แสดงว่ายิ่งมีความสุขกับชีวิตคู่มากเท่านั้น
ซึ่งคำอธิบายจากผลการศึกษานี้ก็ดูมีความเป็นไปได้ เพราะกระบวนการแสดงออกทางอารมณ์ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด และเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงบนกล้ามเนื้อใบหน้าในที่สุด นั่นแปลว่ายิ่งเราใช้เวลาอยู่กับใครสักคนหนึ่งมาก ๆ เราก็มักจะแสดงอารมณ์ออกมาทางสีหน้าคล้าย ๆ กัน และมีความรู้สึกตอบสนองกับเรื่องอะไรคล้าย ๆ กัน (empathic mimicry) และเมื่อทำซ้ำ ๆ ทุกวัน ก็ส่งผลต่อกล้ามเนื้อบนใบหน้า และทำให้ใบหน้าของเราและอีกฝ่ายคล้ายกันในที่สุด
แต่เดี๋ยวก่อน! เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จูนไปเจออีกหนึ่งงานวิจัยจาก
Stanford Graduate School of Business ที่ออกมาแย้งความเชื่อเหล่านี้ โดยมีการระบุว่า งานวิจัยเมื่อปี 1987 นั้นอาจจะยังเชื่อถือไม่ได้ เพราะเป็นการใช้ตัวอย่างจากคู่รักเพียง 12 คู่เท่านั้นเอง ทำให้การศึกษาใหม่ในครั้งนี้มีการเก็บรวบรวมตัวอย่างจำนวนมากขึ้น จาก
คู่สมรสจำนวน 12 คู่ เป็น 517 คู่ บวกกับความสามารถของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันอย่างระบบอัลกอริธึมจดจำใบหน้าที่มีชื่อว่า VGGFace2 ซึ่งมีความละเอียดแม่นยำกว่าสายตามนุษย์ และเมื่อมีกลุ่มตัวอย่างที่มากขึ้น และเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้มากขึ้น ผลที่ออกมาก็คือ คู่สมรสเหล่านั้นไม่ได้หน้าเหมือนกันมากขึ้นหลังจากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเลย แต่พวกเขาคอนเฟิร์มว่าคู่สมรสเหล่านี้ก็มีความคล้ายคลึงกันแต่แรกอยู่แล้วต่างหาก
เพราะฉะนั้นก่อนที่บางคนจะหันไปมองหน้าแฟนแล้วตั้งคำถามว่าทำไมฉันหน้าไม่เห็นเหมือนเธอเลย เรารักกันไม่พอรึเปล่า ก็ลองเช็กงานวิจัยเหล่านี้ใหม่ดู เพราะความเหมือนไม่เหมือนบนใบหน้านั้นมาจากหลายปัจจัย ยิ่งในปัจจุบันที่คู่รักต่างมีความหลากหลายมากขึ้น ความเปิดกว้างทางเพศสภาพ สัญชาติ และไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ด้วย หน้าไม่เหมือนกัน ก็อาจจะไม่ได้แปลว่าไม่รักกันนะ!