ต้นปีแบบนี้ถือว่าเป็นฤดูแห่งการโยกย้ายงานเลยก็ว่าได้ครับ เพราะหลังจากได้รับโบนัสตอนสิ้นปีและมีเวลาพักผ่อนช่วงวันหยุดยาว หลายคนอาจจะมีเวลาตั้งคำถามกับตัวเองว่า
“งานที่เราทำอยู่ตอนนี้...ตอบโจทย์เราแล้วหรือยัง”
“ถ้าย้ายงานไป เงินเดือนดีกว่าเดิม แต่จะทนสังคมของที่ใหม่ได้หรือเปล่า”
หลายคนคงขยาดกับการเปลี่ยนงานที่เหมือนหนีเสือปะจระเข้ อยากเปลี่ยนบรรยากาศไปที่ใหม่ ๆ ด้วยความหวังว่าจะดีกว่าเก่า แต่กลับผิดหวัง ทำให้ต้องหางานใหม่ ไป ๆ มา ๆ รู้ตัวอีกทีก็มีประวัติย้ายงานหลายที่ซะแล้ว วันนี้เราเลยมีวิธีการตั้งคำถามกับตัวเอง ก่อนที่จะเปลี่ยนงานใหม่มาเล่าสู่กันฟัง
หากตัดเรื่องผลตอบแทนหรือเงินเดือนของที่ใหม่ออกไป เรายังต้องแคร์เรื่องอะไรอีกบ้าง?
1. สังคมของที่ใหม่เป็นอย่างไร?
เรื่องนี้อาจดูไม่สำคัญในตอนแรก ๆ ของการย้ายงาน แต่หากเราอยากจะทำงานที่หนึ่งนาน ๆ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ สภาพสังคมขององค์กรนั้นว่าเป็นอย่างไร มีระบบเจ้านาย-ลูกน้องที่เคร่งครัดหรือไม่ มีจุดไหนในวัฒนธรรมองค์กรที่จะทำให้เรารู้สึกอึดอัดหรือเปล่า มีเพื่อนร่วมงานเก่ง ๆ ที่ช่วยให้เราพัฒนาขึ้นไหม การแข่งขันเป็นอย่างไร งานหนักเกินไปจนรบกวนชีวิตส่วนตัวไหม ฯลฯ
วิธีที่จะทำให้เราทราบข้อมูลเหล่านี้ได้ก็คือ การลองสืบถามจากเพื่อนหรือคนรู้จักที่เป็นคนจากวงใน ก่อนตัดสินใจเข้าทำงานที่นั่นครับ
2. เราพร้อมจะออกจาก Comfort Zone หรือยัง?
หากที่ทำงานที่เก่า...เราจะคุ้นเคยกับเนื้องานที่ทำ สนิทกับเพื่อนร่วมงาน ได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้างานแล้ว การทำงานของคุณก็มักจะราบรื่น อยากลางาน หรือลาพักร้อนก็จะเป็นที่เข้าใจได้
แต่เมื่อเราเปลี่ยนงาน ย้ายงานไปที่ใหม่ แน่นอนว่าเราต้องเรียนรู้เนื้องานใหม่ ความรู้ใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ และสังคมใหม่ ๆ ต้องพิสูจน์ผลงานของตัวเองใหม่ ต้องทำให้เพื่อนร่วมงานและหัวหน้าประทับใจ...
ช่วงแรกของการเปลี่ยนงานจึงเป็นช่วงที่คุณอาจรู้สึกกดดัน และเก็บไปเครียดได้ เราต้องถามตัวเองว่า “พร้อมไหมสำหรับความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น”
3. เราชอบงานใหม่มากกว่าหรือเปล่า? หรือแค่อยากหนีจากที่เก่าอย่างเดียว?
งานที่เก่าเราอาจจะมีปัญหาแตกต่างกันไปตามแต่ละคน เช่น บางคนรู้สึกว่า
งานมีความจำเจน่าเบื่อทำให้เราไม่พัฒนาไปไหน บางคนรู้สึกว่างานที่เก่าหนักเกินไป ทนแรงกดดันไม่ไหวจึงอยากลาออก บางคนรู้สึกว่าความสามารถกับเงินเดือนที่สมควรได้รับไม่สอดคล้องกัน ฯลฯ
วิธีเช็คว่างานที่ใหม่จะตอบโจทย์เรามากกว่าที่เก่า คือ การ “สัมภาษณ์คนที่กำลังสัมภาษณ์เรา” หรือให้ “สังเกตนัยที่ซ่อนอยู่ในคำถามสัมภาษณ์” ที่เขาถามเรา เช่น หากเขาถามว่า
“คุณทำงานล่วงเวลาได้ไหม กลับดึกได้รึเปล่า” = งานที่ใหม่ต้องทำงานล่วงเวลาบ่อยแน่นอน หากเราไม่มีปัญหาเรื่องนี้ อย่าอายที่จะถามว่า มีสวัสดิการสำหรับพนักงานที่ทำงานล่วงเวลาหรือไม่
“คุณรับแรงกดดันได้ดีแค่ไหน” = งานที่ใหม่มีแรงกดดันสูง อาจต้องใช้ทักษะในการต่อรองขั้นเทพ หากเราไม่ได้ชอบงานที่ดูวุ่นวาย งานนี้ก็คงไม่เหมาะกับเรานัก
“คุณทำงานหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันได้ไหม” = งานที่ใหม่ของคุณคงยุ่งมากแน่ ๆ ถึงขั้นต้องการพนักงานที่ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ ถ้าเราเป็นคนชอบทำงานละเอียด งานคราฟท์ หรือโฟกัสที่งานใดงานหนึ่งมากกว่า งานนี้อาจไม่เหมาะกับเรา
นอกจากนี้ การซักถามผู้สัมภาษณ์เรื่องเนื้องาน และความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่เราจะทำอย่างละเอียด ก็จะช่วยให้เรารู้ได้ว่างานนั้นเหมาะกับเราหรือไม่ครับ
4. มองให้ไกล ๆ: ที่ใหม่ ตอบโจทย์ชีวิตเราดีกว่าที่เก่า จริงหรือ?
อยากให้ลองคิดในระยะยาวสักนิดว่า ที่ทำงานใหม่เหมาะที่จะอยู่กันไปนาน ๆ หรือแค่เป็นที่พักใจ หรือที่อัพฐานเงินเดือนชั่วคราว?
ที่ใหม่จะช่วยพัฒนาความสามารถของเราหรือไม่ เราจะเก่งขึ้นไหม
ขัดกับไลฟสไตล์เราหรือเปล่า?
สุดท้าย ลองถามตัวเองดูอีกสักคำถามว่า
ที่ใหม่...ตอบโจทย์ความฝันที่วางไว้หรือเปล่า
เท่านี้ ก็น่าจะช่วยให้เราตัดสินใจได้แม่นยำขึ้นกว่าเดิมครับ