การรับประทานอาหารเจและมังสวิรัติ เป็นเทรนด์การรับประทาน
อาหารเพื่อสุขภาพของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า Veggie ซึ่งเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน โดยพวกเขาจะเลือกรับประทานเฉพาะผักและผลไม้แทนเนื้อสัตว์ แต่อีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนกำลังให้ความสนใจและมีอัตราการเพิ่มขึ้นของคนกลุ่มนี้แบบก้าวกระโดดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานั่นคือ วีแกน (Vegan)
คำถามก็คือ วีแกน แตกต่างจากการรับประทานมังสวิรัติและอาหารเจอย่างไร?
โดยปกติแล้วกลุ่ม Veggie หรือมังสวิรัติ จะงดเว้นเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่ยังคงรับประทานไข่ ชีส เนย นม ส่วนกลุ่มคนที่รับประทานเจจะงดการบริโภคเนื้อสัตว์ ไข่ เนย นม ชีส และผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียวหรือกระเทียมโทนจีน กุยช่าย และใบยาสูบ ที่เชื่อว่าจะทำลายพลังธาตุในร่างกาย และปรุงแต่งรสชาติอาหารให้น้อยที่สุด แต่วีแกน มีกฎเกณฑ์มากกว่านั้น เพราะนอกจากจะเน้นการรับประทานเฉพาะ
ผักผลไม้ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์แล้ว ยังต้องงดการเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยงดการบริโภคนม เนย ชีส ไข่ รวมถึงน้ำผึ้ง ยีสต์ และเจลาติน อาจมีบางคนเคร่งครัดมากถึงขนาดหลีกเลี่ยงเครื่องแต่งกายที่ทำมาจากสัตว์ เช่น รองเท้าหนัง กระเป๋าหนัง รวมถึง
เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากส่วนใดส่วนหนึ่งของสัตว์ หรือแม้แต่การใช้สัตว์ในการทดลองก็ถือเป็นของต้องห้ามเช่นกัน
ปัจจุบันวีแกนได้กลายเป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตโดยไม่เบียดเบียนสัตว์ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นได้ และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ รวมถึงต้องการ
ลดน้ำหนักโดยไม่อดอาหาร
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เริ่มสนใจและต้องการก้าวเข้าสู่เทรนด์วีแกน แต่ยังมีความกังวลว่าจะสามารถอยู่ในวิถีเช่นนี้ได้จริงหรือไม่ ขอบอกไว้เลยว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแม้แต่ดาราสาวที่ต้องใช้ชีวิตในรูปแบบที่หลากหลายในวงการบันเทิงอย่าง ยิปโซ อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์ ก็ได้ปรับวิถีชีวิตเป็นชาววีแกนอย่างเต็มตัว และได้เคยให้สัมภาษณ์ในรายการพระอาทิตย์ LIVE ทาง Youtube Channel ไว้ว่า
“ยิปคิดว่าวีแกนไม่ใช่การแบ่งแยกโลกของพวกเรากับคนอื่น ๆ ออกจากกัน แต่เป็นทางเลือกที่จะไม่เบียดเบียนและไม่ทำให้คนอื่นลำบาก วีแกนเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราเลือกและตั้งใจเดินทางนี้ ซึ่งท้ายที่สุดเราก็ดำเนินชีวิตร่วมกับส่วนรวมได้”
เมื่อตัดสินใจเข้าสู่การเป็นวีแกนแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือโภชนาการ เนื่องจากเมนูส่วนใหญ่ที่รับประทานได้มักเป็นผัก ผลไม้ และหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีน ดังนั้นควรชดเชยโปรตีนจากเนื้อสัตว์ด้วยผักที่เป็นเมล็ดซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ได้แก่ ถั่วเหลือง เมล็ดเจีย ผักโขม เมล็ดฟักทอง คีนัว ถั่วพิสตาชิโอ เติมธาตุเหล็กด้วย ข้าวโอ๊ต กะหล่ำปลี โหระพา และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ส่วนกรดไขมันที่มีประโยชน์ก็สามารถหาได้จาก ถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลา ถั่วแระ ที่สำคัญควรรับประทานอาหารเสริมเพื่อเพิ่มวิตามินบี 12 ที่โดยปกตินั้นร่างกายได้รับมาจากการรับประทานอาหารประเภทไข่ เป็นต้น ส่วนเคล็ดลับในการปรุงอาหารแบบวีแกนที่ดีคือการใช้ความร้อนให้น้อยที่สุดเพื่อรักษาคุณค่าทางโภชนาการ ชาววีแกนส่วนใหญ่จึงมักตระเตรียมวัตถุดิบและปรุงอาหารด้วยตนเอง ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ควรทำควบคู่ไปกับ
การออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุด
ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจดูยากสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารแบบปกติ แต่ผู้ที่ผันตัวเองสู่การเป็นวีแกนแล้วแนะนำว่านี่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ควรเริ่มต้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการรับประทานอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตที่เราเคยชินและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ควรทำทุกอย่างให้ยืดหยุ่น ไม่สร้างกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดมากเกินไปจนกลายเป็นการเบียดเบียนตนเอง เพราะ Vegan คือการใช้ชีวิตภายใต้กฎแห่งการไม่เบียดเบียนผู้อื่นที่ช่วยสร้างความสุขให้แก่ตนเองได้ทั้งกายและใจ