ไทยยูเนี่ยนได้รับการสนับสนุนสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นครั้งแรก

16 กุมภาพันธ์ 2564

  • อัตราดอกเบี้ยจะอิงกับเกณฑ์ด้านความยั่งยืน 3 ข้อด้วย
  • ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามมากกว่าสองเท่าตัวจากจำนวนสินเชื่อที่ต้องการ ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น นับเป็นก้าวสำคัญไปสู่ Blue Finance
  • โดยมีธนาคารชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นและไทยเป็นผู้จัดการเงินกู้ร่วม และนักลงทุนสถาบันทั้งธนาคารชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นและไทย ได้เข้าร่วมในการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้

16 กุมภาพันธ์ 2564, กรุงเทพมหานครบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก ประสบความสำเร็จในการออกสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเป็นครั้งแรก ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ไทยยูเนี่ยนได้รับเป็นครั้งแรกนี้ แบ่งออกเป็น สินเชื่อที่ออกในประเทศไทยเป็นสกุลเงินไทยบาทและดอลล่าร์สหรัฐ เป็นจำนวนเทียบเท่า 6,500 ล้านบาท และสินเชื่อนินจา/ซามูไรเป็นสกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐและเยน เป็นจำนวนเทียบเท่า 183 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยสินเชื่อทั้งสองจำนวนนี้รวมกันเป็นจำนวน 12,000 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี

โดยการขอสินเชื่อในครั้งนี้ของไทยยูเนี่ยนได้รับการตอบรับมากกว่าสินเชื่อที่ต้องการมากกว่าสองเท่า ความสำเร็จในการรับสินเชื่อในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงก้าวสำคัญของบริษัทในการเป็นสู่ Blue Finance หรือการบริหารจัดการการเงินเพื่อโครงการและการทำงานในการอนุรักษ์มหาสมุทร ที่ยังประโยชน์ให้แก่ทั้งบริษัทและอุตสาหกรรมในภาพรวม

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด และธนาคาร เอ็มยูเอฟจี จำกัด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการเงินกู้ร่วม (Mandated Lead Arrangers and Bookrunners) รวมถึงเป็นผู้ประสานงานด้านดัชนีความยั่งยืน (Sustainability Coordinators) ของเงินกู้ร่วมในครั้งนี้ สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวของไทยยูเนี่ยนที่ได้รับสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจ โดยสินเชื่อที่ออกในประเทศไทย นอกจากผู้จัดการเงินกู้ร่วมแล้ว ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด และธนาคารบีเอ็นพี พารีบาร์ ได้เข้าร่วมในฐานะ Lead Arranger และธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีสแบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด สาขากรุงเทพฯ และธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมในฐานะ Arranger เพื่อสนับสนุนสินเชื่อในครั้งนี้ให้แก่ไทยยูเนี่ยน

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้ใช้เครือข่ายนักลงทุนของผู้จัดการเงินกู้ร่วม ในประเทศญี่ปุ่นในการเข้าถึงตลาดสินเชื่อญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จนได้รับผลตอบรับเป็นสินเชื่อจากต่างประเทศเป็นจำนวนถึง 183 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีทั้งหมด 19 สถาบันการเงินของญี่ปุ่นรวมถึงธนาคารจากประเทศต่างๆ ที่ตั้งสาขาในประเทศญี่ปุ่นร่วมอนุมัติสินเชื่อในครั้งนี้ร่วมกับผู้จัดการเงินกู้ร่วม

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนั้นมีความเชื่อมโยงกับตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ซึ่งหากบริษัทสามารถดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่ระบุไว้ ก็จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนสำหรับไทยยูเนี่ยนที่กำหนดไว้คือ การรักษาอันดับในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย และเพิ่มการกำกับดูแลในห่วงโซ่อุปทานด้วยการใช้การตรวจสอบด้วยวิธีอิเล็คทรอนิคให้มากขึ้น และ/หรือ มีการตรวจสอบบนเรือประมงปลาทูน่าให้มากยิ่งขึ้น1

Sustainalytics ได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจสอบให้ความคิดเห็นต่อตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนว่าสอดคล้องไปกับหลักการของสินเชื่อที่มีความเชื่อมโยงกับการทำงานด้านความยั่งยืนหรือไม่ โดยตัวบ่งชี้ในแต่ละข้อนั้นจะได้รับการยืนยันจากองค์กรอิสระเพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างยุติธรรม

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยนให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด ซึ่งสินเชื่อในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญของกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของเราหรือ SeaChange® ตอกย้ำความมุ่งมั่นของเราที่เชื่อว่าการทำงานด้านความยั่งยืนจะต้องนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรม การที่สถาบันการเงินต่างๆ ให้การตอบรับเป็นอย่างดีต่อสินเชื่อที่มีความเชื่อมโยงกับการทำงานด้านความยั่งยืน หมายความว่าความพยายามและการทำงานด้านความยั่งยืนที่ผ่านมาของไทยยูเนี่ยนเป็นที่ประจักษ์และประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ยังสะท้อนว่าทั่วโลกให้ความสำคัญกับจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจและนักลงทุนต้องการสนับสนุนบริษัทที่ตั้งใจจริงในการทำงานเพื่อให้เกิดผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลง”

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการจัดหาสินเชื่อที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อีกครั้ง โดยเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างไทยยูเนี่ยนให้บรรลุสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน ด้วยการผสานความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนเพื่อให้สินเชื่อที่มีความเชื่อมโยงกับการทำงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญนี้ประสบความสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ ท่ามกลางความท้าทายในหลากหลายด้าน ซึ่งร่วมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การกำหนดตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ต้องมีความเหมาะสมและเข้มงวด และสถานการณ์ตลาดสินเชื่อในญี่ปุ่นและไทย”


"สินเชื่อนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการผสานพลังความร่วมมืออันแข็งแกร่งของกรุงศรีและ MUFG โดยใช้ศักยภาพความพร้อมของทั้งสองสถาบันในการสนับสนุนและเชื่อมโยงทุกความต้องการของลูกค้าให้บรรลุเป้าหมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในโอกาสนี้เราขอร่วมแสดงความยินดีกับไทยยูเนี่ยนกับความสำเร็จครั้งใหญ่นี้ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของงานด้าน ESG บนเส้นทางสู่ความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน”

นายยาซูฮิโร่ คูโบตะ เจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการทั่วไป ธนาคาร มิซูโฮ จำกัด สาขากรุงเทพฯ กล่าวว่า “มิซูโฮขอแสดงความยินดีกับไทยยูเนี่ยนในความสำเร็จในครั้งนี้ เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จในการพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมอาหารทะเล มิซูโฮเชื่อว่าสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของไทยยูเนี่ยนในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ให้หมดไป ด้วยการตรวจสอบย้อนกลับของวัตถุดิบต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานได้ และนี่คือเหตุผลสำคัญทีมิซูโฮได้ให้การสนับสนุนร่วมกับธนาคารต่างๆ ในครั้งนี้”

นายริชาร์ด ยอร์ค กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายลูกค้าบรรษัทและวาณิชธนกิจ เอเชียแปซิฟิก ธนาคาร เอ็มยูเอฟจี จำกัด (MUFG Bank) กล่าวว่า “MUFG ยินดีที่ได้สนับสนุนไทยยูเนี่ยนในการขับเคลื่อนธุรกิจระดับโลกสู่ความยั่งยืน ในฐานะที่เป็นผู้จัดการเงินกู้ร่วมซึ่งมีบทบาทสำคัญในสินเชื่อครั้งนี้ MUFG ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรที่ดีให้กับลูกค้า เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีร่วมกัน แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้งในการสนับสนุนทางการเงินที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ทำให้เราสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงให้กับไทยยูเนี่ยนได้เป็นอย่างดี”

“ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถผสานพลังเครือข่ายซึ่งครอบคลุมอยู่ทั่วเอเชีย รวมทั้งกรุงศรี เพื่อร่วมกันสนับสนุนความต้องการลูกค้าทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นให้บรรลุผลสำเร็จ และยังสามารถขยายฐานนักลงทุนให้กับลูกค้า สะท้อนศักยภาพที่เข้มแข็งของเราในด้านตลาดทุน ทั้งนี้ เราขอร่วมแสดงความยินดีกับไทยยูเนี่ยนอีกครั้งสำหรับความสำเร็จที่สำคัญในครั้งนี้”

สามารถอ่านรายงานวิเคราะห์ด้านเกณฑ์ความยั่งยืนได้ที่นี่

[1] วิธีการตรวจสอบด้วยระบบอิเล็คทรอนิค มีวัตถุประสงค์ในการดูแลประเด็นต่างๆ ในอุตสาหกรรมประมง เช่น การปรับปรุงสภาพการทำงานบนเรือประมง และต่อสู้กับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมหรือ IUU ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ความหลากหลายของระบบนิเวศน์ทางทะเล และการปกป้องสิทธิแรงงาน ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา