วิจัยกรุงศรีมองเศรษฐกิจไทยใช้เวลา 2 ปีครึ่งในการฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19

18 มิถุนายน 2563

กรุงเทพฯ (18 มิถุนายน 2563) – วิจัยกรุงศรี คาดการณ์เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในรูปแบบตัวยู (U-shaped Recovery) และอาจต้องใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่งกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดได้ในไตรมาสที่ 4/2565 โดยแต่ละอุตสาหกรรมจะใช้เวลาในการฟื้นตัวไม่เท่ากัน

ดร.สมประวิณ มันประเสิรฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน โดยวิจัยกรุงศรียังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5% ในปี 2563 โดยมีความเป็นไปได้มากที่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ และภาคธุรกิจต่างๆ จะเริ่มปรับตัวรับเทรนด์ใหม่ๆ ที่จะชัดเจนมากขึ้นในปี 2564”

ผลกระทบของโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ แต่ยังส่งผลในระยะ ปานกลางและระยะยาวจาก 4 ปัจจัยหลักคือ การปิดการดำเนินงานของภาคธุรกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ การปรับตัวลดลงของอุปสงค์โดยรวม การชะงักงันของระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจัยทั้ง 4 จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์จะมีการหดตัวมากในช่วงนี้ แต่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจอื่นโดยเปรียบเทียบ ในขณะที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคจะใช้เวลายาวนานกว่าในการปรับตัว มาตรการช่วยเหลือในด้านต่างๆ และวิธีการปรับตัวของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในแต่ละกลุ่มจึงควรมีรูปแบบที่แตกต่างกันตามลักษณะการฟื้นตัวของธุรกิจ

ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรี ได้วิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ พบว่า ภาคธุรกิจ 26 ประเภทจากทั้งหมด 60 ประเภท หรือคิดเป็น 46% ของผลผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจ 24 ประเภท หรือคิดเป็น 43.1% ของผลผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบปานกลาง และมีภาคธุรกิจเพียง 10 ประเภท หรือ คิดเป็น 10.9% ของผลผลิตทั้งหมด ได้รับผลกระทบจากโควิดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น วิจัยกรุงศรีมองว่า ธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจด้านการผลิตอาหารมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในปี 2564 ขณะที่ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง พลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักแต่จะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ ส่วนภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ อาทิ การขนส่งทางอากาศ และอุตสาหกรรมการบริการ จะใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสทางกายหรือการรวมตัวกันในที่สาธารณะจะใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่นกัน

“โดยภาพรวม อุตสาหกรรมเกือบทุกกลุ่มจะไม่สามารถฟื้นตัวไปอยู่ที่ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้ในปี 2564 แม้ว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพในการจัดการด้านระบบสาธารณสุขได้เป็นอย่างดีและทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังได้รับผลกระทบอย่างหนักและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก เราคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะแตะระดับต่ำสุดในไตรมาส 2 แต่การถดถอยของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงปีหน้า สำหรับประเทศไทย คาดว่าเม็ดเงินจากมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเข้าสู่ระบบมากขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ แต่ยังต้องติดตามความชัดเจนของมาตรการต่างๆ ในเรื่องประสิทธิภาพการฟื้นฟูเศรษฐกิจว่าจะสามารถทำให้เกิดการจ้างงานเพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ช่วยหนุนภาคครัวเรือนให้มีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ลดความเสี่ยงแก่ภาคการเงิน และมีมาตรการที่เหมาะกับรูปแบบการฟื้นตัวในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมากเพียงใด” ดร.สมประวิณกล่าวเพิ่มเติม
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา