6 กรกฎาคม 2566
(ซ้าย) นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
(ขวา) นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
กรุงเทพฯ (6 กรกฎาคม 2566) –
กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) โดย
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์มุ่งนำเสนอโซลูชันทางการเงินเพื่อให้การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องง่ายขึ้น ผ่าน Foreign Exchange Digital Platform แพลตฟอร์มที่ช่วยลูกค้าบริหารความเสี่ยงด้วยตัวเองได้ตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีโอกาสแข็งค่าขึ้น คาดระดับการซื้อขายสิ้นปี 2566 อยู่ที่ราว 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายฮิโรทากะ คุโรกิ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์มุ่งนำเสนอโซลูชันทางการเงินเพื่อช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจของลูกค้าทุกกลุ่มผ่าน 3 มุมมองหลัก ซึ่งได้แก่ Digitalization, ESG และ AEC ในมุมมองแรก Digitalization กรุงศรีพร้อมที่จะช่วยลูกค้าทุกกลุ่มในการดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนผ่าน FX Digital Platform ซึ่งครอบคลุมตลอดเส้นทางประสบการณ์ของลูกค้า ตั้งแต่การอัปเดตข่าวสาร การทำธุรกรรม จนถึงการยืนยันธุรกรรม โดยเริ่มต้นจาก Krungsri FX ซึ่งเป็นบัญชีทางการบน LINE แอปพลิเคชันที่ลูกค้าสามารถเช็กข่าวสารตลาดการเงินและประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีการนำเสนอทั้งในรูปแบบของบทวิเคราะห์ และคลิปวิดีโอ หลังจากนั้น ลูกค้าสามารถเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ของธนาคาร ซึ่งได้แก่ FX@Krungsri โมบายแอปพลิเคชัน และบนกรุุงศรีบิซออนไลน์ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม FX@Krungsri ซึ่งปัจจุบันได้ให้บริการแก่ลูกค้านิติบุคคลในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศมากถึง 28 สกุลเงินทั่วโลกได้ตั้งแต่เวลา 06.00 – 24.00 น. โดยลูกค้าสามารถตั้งคำสั่งซื้อขายอัตโนมัติในราคาที่ต้องการเมื่อตลาดเคลื่อนไหวถึงราคาที่ตั้งไว้ และเมื่อทำธุรกรรม FX เสร็จสิ้นแล้ว ลูกค้ายังสามารถยืนยันธุรกรรมผ่านระบบ e-FX confirmation ได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สาขา เพื่อยื่นเอกสารยืนยันธุรกรรม ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตลูกค้าง่ายขึ้น ประหยัดทั้งทรัพยากรและเวลาได้อีกด้วย
ในมุมมองที่สอง ESG (Environment, Social and Governance) ในเดือนที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล (Blue Bond) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยได้ระดมเงินทุนจาก IFC มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นจำนวนเงินที่ออกตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับ ESG สูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเคยออกมา ในปี 2562 กรุงศรีประสบความสำเร็จในการออกตราสารหนี้ Women Entrepreneurs Bonds เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น การออก Green & Blue Bond ในเดือนที่ผ่านมา จึงเป็นการเพิ่มการสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกรุงศรีจะยังคงยึดมั่นพันธกิจในการสนับสนุนการขยายธุรกิจ ESG ของลูกค้าต่อไปในอนาคต
ในมุมมองที่สาม AEC (ASEAN Economic Community) ธนาคารกรุงศรียังได้สนับสนุนการขยายธุรกิจของลูกค้าไปยังภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย การที่กรุงศรีเป็นสมาชิกของ MUFG ทำให้ธนาคารสามารถใช้เครือข่ายสาขาของ MUFG และธนาคารพันธมิตรที่ตั้งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านในการให้บริการที่หลากหลายแก่ลูกค้าที่มีความต้องการในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพื่อการชำระเงินในภูมิภาค ทั้งนี้ กรุงศรีจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการ FX ที่มีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจของลูกค้าไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในอนาคต”
นอกจากนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ยังได้ให้ภาพรวมของสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยระบุว่า “ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับค่าเงิน โดยในช่วงครึ่งปีแรกเงินบาทเคลื่อนไหวในโซนอ่อนค่า แต่ยังเกาะกลุ่มไปกับสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนถ่วงค่าเงินหยวนลง ดังนั้น หากมองไปข้างหน้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นี้ คาดการณ์ว่า แม้ธนาคารกลางชั้นนำของโลกยังยืนยันว่าการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อยังเป็นเป้าหมายหลัก แต่เราเห็นว่าการคุมเข้มทางการเงินอย่างแข็งกร้าวในช่วงที่ผ่านมาจะบั่นทอนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยใกล้สุดทางแล้ว อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งลดลงช้าจะส่งผลให้ดอกเบี้ยค้างอยู่ที่ระดับสูงต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง”
นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าว
“ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางแข็งค่า เราคาดหวังระดับการซื้อขายสิ้นปี 2023 ที่ราว 33.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ บนสมมติฐานที่ว่าสหรัฐฯ ใกล้ยุติการขึ้นดอกเบี้ย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ได้แรงส่งเชิงบวกจากภาคท่องเที่ยว นอกจากนี้ คาดว่าภาพการเมืองในประเทศจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยดึงดูดกระแสเงินทุนให้ไหลกลับเข้ามาในสินทรัพย์สกุลเงินบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในนโยบายด้านเศรษฐกิจและเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ด้วย สำหรับประเด็นเรื่องความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเหวี่ยงตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง” นางสาวรุ่ง กล่าวทิ้งท้าย