กรุงศรีเผยผลกำไรครึ่งแรกปี 2564 จำนวน 21,048 ล้านบาท หนุนช่วยฟื้นฟูธุรกิจ-เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

20 กรกฎาคม 2564

กรุงเทพฯ (20 กรกฎาคม 2564) – กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 2564 โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 21,048 ล้านบาท หลังออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาภาระทางการเงินแก่ลูกค้าผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างต่อเนื่อง หนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 3.5% ภายใต้การบริหารความเสี่ยงด้วยความรอบคอบระมัดระวัง โดยมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งและอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ในระดับต่ำเพียง 2.03%

ธนาคารเดินหน้าดำเนินมาตรการช่วยเหลือในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ครอบคลุมการปรับโครงสร้างหนี้ การขยายเวลาพักชำระหนี้ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและสนับสนุนด้านสภาพคล่องทางการเงินสำหรับผู้ประกอบธุรกิจและครัวเรือน

สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2564
  • กำไรสุทธิ จำนวน 21,048 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นอย่างแข็งแกร่ง 55.5% สำหรับครึ่งแรกของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในไตรมาสสองของปี 2564
  • หากไม่รวมการบันทึกกำไรพิเศษ กำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติสำหรับครึ่งแรกของปี 2564 ลดลง 5.0% หรือจำนวน 678 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าธุรกิจและลูกค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยืดเยื้อ
  • เงินให้สินเชื่อรวม สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ 3.5% หรือจำนวน 9,775 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกรุงศรีในการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SME ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเพื่อรายย่อยลดลง 1.2% และ 1.6% ตามลำดับ
  • เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 56,434 ล้านบาทจากสิ้นเดือนธันวาคม 2563 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินรับฝากออมทรัพย์
  • ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.08% ในครึ่งแรกของปี 2564
  • รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจำนวน 11,913 ล้านบาท หรือ 75.0% จากช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ)
  • อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 43.4% เทียบกับ 41.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ทั้งนี้ หากรวมกำไรจากการขายหุ้นเงินติดล้อ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 37.1%
  • อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.03% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 เมื่อเทียบกับ 2.00% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563
  • อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ อยู่ในระดับสูงที่ 175.8% เมื่อเทียบกับ 175.1% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563
  • อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.80% ลดลงจาก 17.92% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรียังคงให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจผ่านมาตรการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสนับสนุนด้านสภาพคล่องและสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มเติมตามความจำเป็น”

“นอกจากนี้ ธนาคารจะดำเนินการติดตามและจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างรอบคอบระมัดระวังเพื่อความแข็งแกร่งของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร และมุ่งเน้นที่การกำกับดูแลด้วยความเข้มงวดเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าธนาคารมีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองอยู่ในระดับสูงและเพียงพอที่จะรองรับกับความท้าทายทางการเงินและเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า”

“แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัสใน ไตรมาสที่สองของปี 2564 ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความล่าช้าและเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กรุงศรีจึงปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จาก 2.0% มาอยู่ที่ 1.2% ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564”

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินฝาก และเป็นหนึ่งในห้าสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.82 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.89 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.66 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 275.46 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.80% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นของเจ้าของคิดเป็น 12.76%
พิมพ์สิ่งที่ต้องการค้นหา